ThaiPublica > สู่อาเซียน > “ก๋าลิ” เมืองการศึกษาใจกลางรัฐฉาน

“ก๋าลิ” เมืองการศึกษาใจกลางรัฐฉาน

22 กันยายน 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

รุ่นพี่ของโรงเรียนเชื้อชาติไต ผูกข้อมือรับน้องใหม่ที่เพิ่งเข้าเรียนในปีการศึกษา 2565-2566 ที่มาภาพ : เพจ Shan National School Kar Li

วันที่ 10 กันยายน 2565 โรงเรียนเชื้อชาติไต(Shan National School) ได้จัดงานต้อนรับนักเรียนใหม่ สำหรับปีการศึกษา 2565-2566

เพจ Shan National School Kar Li ให้รายละเอียดงานรับน้องใหม่ครั้งนี้ว่า

กิจกรรมช่วงกลางวัน เริ่มตั้งแต่เช้ามืด รุ่นพี่ผูกข้อมือต้อนรับน้องใหม่ จากนั้นตอนสายๆ รุ่นพี่มอบของขวัญให้กับน้องๆโดยใช้วิธีจับฉลาก ต่อด้วยการร่วมกันเล่นเกม และแบ่งทีมแข่งขันกีฬากันในตอนบ่าย

กิจกรรมช่วงค่ำ รุ่นพี่ รุ่นน้อง กินอาหารร่วมกัน โดยมีการแสดงบนเวที เป็นการแสดงตามประเพณีไทใหญ่ เช่น ฟ้อนโต กาปั๋นกอง ร้องเพลง ฯลฯ

ถัดมาอีก 1 สัปดาห์ วันที่ 18 กันยายน 2565 Shan National School Kar Li เสนอภาพพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่นักเรียนที่เพิ่งสำหรับผู้ที่จบการศึกษาชั้นประถมจากโรงเรียนเชื้อชาติไต และกำลังจะขึ้นเรียนต่อชั้นมัธยมต้นในโรงเรียนเดียวกัน ในปีการศึกษานี้

……

โลโก้โรงเรียนเชื้อชาติไต

โรงเรียนเชื้อชาติไตตั้งอยู่ในเมืองก๋าลิ อำเภอกุ๋นเหง จังหวัดดอยแหลม รัฐฉานใต้ เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย นักเรียนในโรงเรียนเชื้อชาติไตส่วนใหญ่เป็นเยาวชนไทใหญ่ในรัฐฉาน ที่มาจากทุกเมือง ทุกจังหวัด รวมถึงมีเด็กชาติพันธุ์อื่น และเด็กจากต่างรัฐ ต่างภาคในเมียนมาอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งพ่อแม่ ผู้ปกครองส่งให้เข้ามาเรียนหนังสือในโรงเรียนแห่งนี้ด้วย

โรงเรียนเชื้อชาติไตก่อตั้งและดำเนินการโดย “ก๋อไต” องค์กรไม่แสวงหากำไร ที่เคลื่อนไหวด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในรัฐฉาน

จุดเริ่มต้นของโรงเรียนเชื้อชาติไต เกิดจากกลุ่มอาสาสมัคร “ก๋อไต” ที่มาช่วยสอนความรู้เบื้องต้นให้แก่เหล่าเด็กกำพร้า และลูกหลานผู้อพยพภายในค่ายผู้ลี้ภัยจากการสู้รบในรัฐฉาน เมื่อปี 2549 โดยเปิดเป็นห้องเรียนเล็กๆ มีเด็กๆเข้ามาเรียนประมาณ 20-30 คน

แต่ไม่กี่ปีต่อมา ห้องเรียนที่นี้เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น มีพ่อแม่ ผู้ปกครอง จากพื้นที่อื่นๆทั่วรัฐฉาน ตั้งใจส่งลูกหลานมาเรียนกับครูอาสาเหล่านี้ ทำให้ก๋อไตต้องปรับปรุง พัฒนาทั้งหลักสูตร รูปแบบการเรียนการสอน และครูผู้สอนให้เป็นระบบขึ้น

การเรียนการสอนในโรงเรียนเชื้อชาติไต ที่มาภาพ : เพจ Shan National School Kar Li

ทุกวันนี้ โรงเรียนเชื้อชาติไตได้สร้างหลักสูตรการเรียนการสอนของตนเองขึ้นมา เนื้อหาวิชาหลักๆที่สอนให้กับเด็กๆ ประกอบด้วย ความรู้เกี่ยวกับชนชาติไต หรือไทใหญ่ ประวัติศาสตร์ไต สภาพภูมิศาสตร์ของรัฐฉาน ภาษาไทใหญ่ ภาษาพม่า ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ความรู้ทั่วไปในการดำรงชีวิตฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมนอกห้องเรียนที่สนับสนุนให้นักเรียนได้รู้จักการทำงานเป็นทีม เช่น การทำเกษตรกรรม การทำอาหาร ศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี และการฟ้อนตามประเพณีต่างๆของไต

ที่สำคัญ เด็กนักเรียนทุกคน ต้องเรียนรู้วิชาการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

ประมาณว่า ช่วง 10 ปีแรกหลังเริ่มพัฒนาการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ มีเด็กๆในรัฐฉานอย่างน้อย 270 คน ที่จบจากโรงเรียนเชื้อชาติไต

……

โลโก้ก๋อไต

“จายพงข่อง และ “จายแสงฟ้า” อดีตนักกิจกรรมเพื่อผู้พลัดถิ่นฐานที่จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มก่อตั้ง องค์กร “ก๋อไต” ขึ้นในรัฐฉาน เมื่อปี 2542

คำว่า “ก๋อ” ในภาษาไทใหญ่ แปลว่ารวมกัน สมทบกัน หรือลักษณะการรวมตัวเป็นกลุ่ม เป็นก้อน หรือเป็นกอ

“ไต” เป็นชื่อเรียกกลุ่มคนที่ใช้ภาษาตระกูลไต ไท ในรัฐฉานและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งมีอยู่หลายกลุ่ม เช่น ไตโหลง ไตลื้อ ไตขืน ไตยวน ไตมาว ไตเหนือ ไตแดงฯลฯ คนไทยส่วนใหญ่มักเข้าใจหรือเรียกโดยรวมว่าชาวไทใหญ่

“ก๋อไต” จึงมีความหมายว่ากลุ่มก้อนคนไต ที่มารวมตัวกัน

วัตถุประสงค์เบื้องแรกของ “ก๋อไต” คือทำกิจกรรมเพื่อสนับสนุนให้เกิดเสรีภาพและประธาธิปไตยขึ้นในรัฐฉาน ผลักดันให้ชาวไทใหญ่ได้มีสิทธิ อิสรภาพในการดำรงชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทใหญ่ที่ดีขึ้น

หลังเริ่มต้นองค์กรมาได้ประมาณ 5 ปี ทีมงานก๋อไตพบว่า ปัจจัยหลักที่จะทำให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือการสร้าง “ปัญญาความรู้” ให้กับคนไทใหญ่ เพราะสงครามและการสู้รบที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานนับสิบปีในรัฐฉานก่อนหน้านั้น เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเรียนรู้ ครอบครัวชาวไทใหญ่ที่มีเด็กเล็ก ไม่มีโอกาสได้ส่งลูกหลานให้เข้าไปเรียนหนังสือ เพราะต้องออกมาช่วยกันทำกินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ตั้งแต่เริ่มโตขึ้น

องค์กรก๋อไตจึงปรับแนวกิจกรรม หันมาเน้นพัฒนาการศึกษาให้กับคนไทใหญ่ เริ่มต้นด้วยการส่งอาสาสมัครไปสอนหนังสือแก่เด็กๆในค่ายผู้ลี้ภัยในปี 2549 ก่อนพัฒนาขึ้นเป็นโรงเรียนเชื้อชาติไตในภายหลัง

……

ที่ตั้งเมืองก๋าลิ อยู่เกือบกึ่งกลางของรัฐฉาน

เมือง “ก๋าลิ” ที่ตั้งของโรงเรียนเชื้อชาติไต เป็นเขตปกครองระดับตำบล ขึ้นอยู่กับอำเภอกุ๋นเหง จังหวัดดอยแหลม รัฐฉานใต้

แม้ถูกกำหนดให้อยู่ในภาคใต้ แต่ตำแหน่งที่ตั้งของจังหวัดดอยแหลม และเมืองก๋าลิ เป็นบริเวณกึ่งกลางของรัฐฉาน เป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่าง 3 ภาค ได้แก่ รัฐฉานเหนือที่มี “ล่าเสี้ยว” เป็นเมืองหลวง รัฐฉานใต้ที่มีเมืองหลวงคือ “ตองจี” และรัฐฉานตะวันออก ที่เมืองหลวงคือ “เชียงตุง” (ดูแผนที่ประกอบ)

“กุ๋นเหง” ซึ่งเป็นชื่ออำเภอที่เมืองก๋าลิสังกัดอยู่นั้น เป็นพื้นที่ซึ่งมีแม่น้ำ “ป๋าง” ไหลผ่าน ก่อนลงไปบรรจบกับแม่น้ำสาลวินที่ด้านล่าง

ความสวยงามของแม่น้ำป๋าง ช่วงผ่านเมืองกุ๋นเหง ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองพันเกาะ ที่มาภาพ : เพจ Know Shan State

คำว่า “กุ๋น” ภาษาไทใหญ่แปลว่า “เกาะ” ส่วน “เหง” เป็นหลักนับเลขหลัก “พัน” ชื่อกุ๋นเหงจึงเป็นการเรียกชื่อพื้นที่ตามสภาพภูมิประเทศ แปลความหมายตรงๆคือเมือง “พันเกาะ” หรือดินแดนที่มีเกาะแก่งในสายน้ำป๋างอยู่เป็นจำนวนมาก นับเป็นพันๆเกาะ

กุ๋นเหงถือเป็นสถานที่ซึ่งมีธรรมชาติสวยงาม ในอนาคต หากรัฐฉานมีโอกาสเปิดประเทศให้คนเข้ามาเที่ยวได้อย่างเสรี เชื่อว่ากุ๋นเหงต้องเป็นปลายทางที่ขึ้นชื่อ ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากจากทั่วโลก

ระยะห่างระหว่างเมืองก๋าลิ กับตัวอำเภอกุ๋นเหง

เมืองก๋าลิ อยู่ทางทิศตะวันออกของกุ๋นเหง มีเส้นทางหลวงหมายเลข 4(ตองจี-เชียงตุง) พาดผ่าน สำหรับเป็นเส้นทางเชื่อมต่อพื้นที่ทั้ง 2 แห่ง

โรงเรียนเชื้อชาติไตอยู่เหนือขึ้นไปจากตัวเมืองก๋าลิ ในเขตพื้นที่บ้านดอยผา

บริเวณใกล้เคียงกับโรงเรียนเชื้อชาติไต ถัดขึ้นไปทางทิศเหนืออีกเล็กน้อย เป็นที่ตั้งของของวิทยาลัยชุมชนไต(Shan Community Colledge) ซึ่งก๋อไตก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 ถือเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งล่าสุดที่ตั้งขึ้นใจกลางรัฐฉาน

วิทยาลัยชุมชนไตเปิดการเรียนการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 มีหลักสูตรปริญญาตรี 2 สาขาคือ สังคมศาสตร์กับบริหารธุรกิจ และมีแผนเปิดสอนระดับปริญญาตรีสาขาภาษาไทใหญ่เพิ่มอีก 1 สาขา ในอนาคต

นักศึกษารุ่นแรกของวิทยาลัยชุมชนไตมีประมาณ 50 คน มีอาจารย์ประจำ 9 คน เรียนปีละ 2 เทอม เทอมแรกระหว่างเดือนกันยายน-มกราคม เทอมที่ 2 เดือนมีนาคม-กรกฏาคม เรียนเฉลี่ยเทอมละประมาณ 5 วิชา

ค่าเล่าเรียนของวิทยาลัยชุมชนไตในช่วงแรก ตกประมาณปีละ 2 ล้านจั๊ต หรือไม่ถึง 4 หมื่นบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินปัจจุบัน การจ่ายเป็นลักษณะเหมารวม ครอบคลุมทั้งหนังสือ อุปกรณ์การเรียน และชุดประจำชาติไทใหญ่ ซึ่งวิทยาลัยชุมชนไตใช้เป็นเครื่องแบบนักศึกษา

วิทยาลัยชุมชนไตยังได้ทำบันทึกความเข้าใจ(MOU) ไว้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย โดยนักศึกษาจากคณะสังคมศาสตร์ของที่นี่ เมื่อเรียนจบชั้นปีที่ 2 แล้ว สามารถถ่ายโอนหน่วยกิจ เพื่อข้ามมาเรียนต่อจนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายได้อีกด้วย

……

บัณฑิตรุ่นแรกของวิทยาลัยชุมชนไต ในพิธีรับปริญญาบัตร เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 ที่มาภาพ : สำนักข่าว Shan News

วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม 2565 วิทยาลัยชุมชนไตได้จัดพิธีมอบปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจบใหม่รุ่นที่ 1 ซึ่งเป็นพิธีมอบปริญญาบัตรครั้งแรกของวิทยาลัยแห่งนี้ มีบัณฑิตมาเข้ารับปริญญาครั้งนี้ 54 คน

มีญาติพี่น้องของบัณฑิต แขกเชิญของวิทยาลัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวแทนของสถาบันการศึกษาหลายแห่งในรัฐฉาน นักศึกษาปัจจุบัน นักเรียนจากโรงเรียนเชื้อชาติไต รวมถึงกลุ่มคนที่ทำงานด้านการศึกษาทั่วรัฐฉานมาร่วมในพิธีด้วย มากกว่า 1,000 คน

บัณฑิตวิทยาลัยชุมชนไต และนักเรียนโรงเรียนเชื้อชาติไต เดินเรียงแถวอย่างเป็นระเบียบจากใจกลางหมู่บ้านเพื่อไปยังลานพิธีรับปริญญา ที่มาภาพ : สำนักข่าว Shan News
นักเรียนโรงเรียนเชื้อชาติไตในชุดประจำชาติ ที่มาภาพ : สำนักข่าว Shan News

พิธีเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้ามืด บัณฑิต นักศึกษาปัจจุบันของวิทยาลัยชุมชนไต นักเรียนจากโรงเรียนเชื้อชาติไต แต่งกายในชุดประจำชาติ ตั้งขบวนเดินเรียงแถวอย่างเป็นระเบียบจากใจกลางหมู่บ้านมายังลานพิธีซึ่งจัดขึ้นบนดอยไตหลี มีวงดุริยางค์ของโรงเรียนเชื้อชาติไต บรรเลงเพลงมาร์ช นำขบวน

ชุดรับปริญญาของบัณฑิตวิทยาลัยชุมชนไตทั้งหญิงและชาย ทุกคนสวมชุดประจำชาติไตไว้ด้านใน ผู้ชายเคียนหัวด้วยผ้าสีม่วงอ่อน ด้านนอกมีเสื้อครุยสีขาวสวมคลุมไว้ บนเสื้อครุยมีแถบ 3 สี ทอง ดำ และน้ำเงิน

คณะอาจารย์วิทยาลัยชุมชนไต ในวันรับปริญญาของบัณฑิตรุ่นแรก ที่มาภาพ : สำนักข่าว Shan News

ทั้งอาจารย์ บัณฑิต นักศึกษาปัจจุบัน ตลอดจนนักเรียน ผู้ปกครอง และแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน ล้วนหน้าตาอิ่มเอิบด้วยความยินดี…

เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ที่รัฐฉานต้องตกอยู่ภายใต้ภาวะสงคราม หลายพื้นที่มีการสู้รบกันอย่างรุนแรง จากความขัดแย้งของกองกำลังติดอาวุธที่มีอยู่หลากหลายกลุ่มในพื้นที่

สถานการณ์เหล่านี้ นอกจากสร้างความตึงเครียดให้กับผู้คนในรัฐฉานแล้ว ยังตัดโอกาสการพัฒนา รวมถึงช่องทางเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชน

ก่อนหน้าการเกิดขึ้นของวิทยาลัยชุมชนไต สถาบันการศึกษาที่เปิดสอนถึงระดับปริญญาตรีในรัฐฉาน มีอยู่เพียงใน 3 เมืองหลัก ที่เป็นเมืองหลวงของแต่ละภาค คือ ตองจี ล่าเสี้ยว และเชียงตุง

เด็กไทใหญ่และเยาวชนในรัฐฉานที่เรียนจบเกรด 10(เทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนปลาย) และต้องการศึกษาต่อถึงระดับปริญญาตรี ถ้าไม่ไปเรียนยังสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ใน 3 เมืองหลวงที่กล่าวถึงข้างต้น ก็มักลงไปเรียนยังกรุงย่างกุ้ง หรือกรุงมัณฑะเลย์

ส่วนเด็กที่มีโอกาสมากกว่า เลือกเดินทางออกไปเรียนต่อในต่างประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไทยและจีน

วิทยาลัยชุมชนไต ในเมืองก๋าลิ จึงเป็นโอกาสที่เพิ่มเข้ามาให้กับเด็กและเยาวชนเหล่านี้

……

ปาฐกถาเนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปีของการก่อตั้งโรงเรียนเชื้อชาติไต เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 ที่มาภาพ : เพจ Shan National School Kar Li
เดือนกันยายน 2565 เทอมแรกของปีการศึกษา 2565-2566 ของทั้งโรงเรียนเชื้อชาติไตและวิทยาลัยชุมชนไต ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

วิทยาลัยชุมชนไตได้จัดสอบเอ็นทรานซ์ คัดเลือกนักศึกษาใหม่สำหรับปีการศึกษานี้ไปเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2565 มีเยาวชนที่จบเกรด 10 จำนวนหลายร้อยคนจากทั่วรัฐฉานเดินทางมาสอบ ผลการสอบประกาศเพิ่งออกมาเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2565 มีผู้สอบผ่าน 95 คน

วันที่ 20 กันยายน 2565 โรงเรียนเชื้อชาติไตเพิ่งจัดปาฐกถาเนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปีของการก่อตั้งโรงเรียน มีนักเรียนปัจจุบันทั้งชั้นประถมและมัธยมมากกกว่า 100 คน มาร่วมรับฟัง

ในอนาคต ถ้าสถานการณ์ตึงเครียดในรัฐฉานและเมียนมาคลี่คลายลง เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้น่าจะได้รับบทบาทมากขึ้นในการร่วมพัฒนารัฐฉาน บ้านเกิดของพวกเขา…