ThaiPublica > สู่อาเซียน > ร้านข้าวแกง 500 จัต… รูปธรรมความทุกข์ของชาวเมียนมา

ร้านข้าวแกง 500 จัต… รูปธรรมความทุกข์ของชาวเมียนมา

7 ธันวาคม 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

เด็กน้อยกับเงินจ่ายค่าแกงถุงละ 200 จัต ตกประมาณ 4 บาท สะท้อนสภาพความเป็นจริงในการดำรงชีพของชาวเมียนมาทุกวันนี้ ที่มาภาพ: 36 Myanmar Channel https://www.facebook.com/kochue72/posts/4691531987600529

ภาพเด็กหญิงตัวน้อย มือซ้ายถือถุงน้ำแกง มือขวากำลังยื่นแบงก์ใบละ 200 จัต ส่งให้กับแม่ค้า มองเผินๆ อาจเป็นเรื่องปกติ

แต่หากพิจารณาค่าเงินจัตทุกวันนี้ ภาพของเด็กคนนี้กำลังสะท้อนความเป็นจริงหลายๆ ประการ ที่ชาวเมียนมาต่างต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

เงิน 200 จัต เมื่อเทียบเป็นเงินบาท คิดเป็นตัวเลขกลมๆ ตกอยู่เพียง 4 บาท

ในประเทศไทยทุกวันนี้ ถ้าจะไปหาซื้อแกงหรือกับข้าว 1 ถุง ในราคาถุงละ 4 บาท เชื่อว่าไม่มีผู้ใดสามารถหาได้พบ ไม่ว่าจะเป็นที่ตลาดไหนๆ ก็ตาม

แต่ในชุมชนออนไลน์ของเมียนมา ภาพแบบนี้กำลังปรากฏให้เห็นอยู่ทุกวัน!!!

……

ตลอด 2 สัปดาห์มานี้ นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจไม่น้อย เมื่อเครือข่ายชุมชนออนไลน์หลายสำนักในเมียนมา ต่างพร้อมใจกันเสนอเรื่องราวที่ในอยู่ประเด็นเดียวกัน

เนื้อหาที่นำเสนอ มีลักษณะกับคล้ายการแนะนำร้านข้าวแกงราคาถูก เพื่อเป็นทางเลือกในการดูแลปากท้องของผู้คนที่อาศัยอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ

ภาพคนทำงานจากหลากหลายอาชีพกำลังต่อคิวซื้อข้าวราดแกงที่ขายในราคาจานละ 500 จัต ถูกเผยแพร่ไปตามเพจข่าวหลายแห่งบนเฟซบุ๊ก ร้านข้าวแกงแบบนี้ไม่ได้มีเพียง 1-2 ร้าน แต่ได้กระจายไปตั้งอยู่ในจุดต่างๆ ทั่วทุกมุมตามเมืองใหญ่ ทั้งย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ อิรวดี หรือแม้แต่ท่าขี้เหล็ก ที่อยู่ตรงข้ามกับอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ของไทย

ร้านข้าวแกงจานละ 500 จัต หรือประมาณ 10 บาท ในย่านดะโกงเหนือ ที่เพจ 36 Myanmar Channel นำเสนอไว้เป็นสื่อแรกๆ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564 จากนั้น ร้านค้าแบบนี้ก็กระจายเปิดทั่วไปในเมืองใหญ่ๆ อีกหลายแห่ง

ข้าวราดแกง 1 อย่าง ขายในราคา 500 จัต เมื่อคิดเป็นเงินไทย ตกจานละไม่ถึง 10 บาท

แม้แต่สำนักข่าวใหญ่ อย่าง Eleven Media Group ก็ลงมาให้ความสำคัญกับการนำเสนอเรื่องราวนี้…

36 Myanmar Channel เพจภาพข่าวเชิงสังคมซึ่งมีผู้ติดตามประมาณ 108,000 คน เป็นสื่อแห่งแรกที่นำประเด็นนี้มาบอกกล่าวแก่สังคม โดยได้เสนอเนื้อหาที่เป็นการแนะนำร้านอาหารแห่งหนึ่งในย่านดะโกงเหนือ กรุงย่างกุ้ง เอาไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564

ร้านแห่งนี้เปิดเป็นเพิงเล็กๆ ริมถนนใกล้กับโรงภาพยนตร์ฉ่วยยะดะนา เจ้าของร้านขึ้นป้ายไว้ว่า ข้าวสวย 1 กะละมังใหญ่ ราดแกง 1 อย่าง แถมน้ำแกงร้อนๆ และผักแกล้มฟรี ขายในราคากะละมังละ 500 จัต เปิดขายตั้งแต่เวลา 11.00 น.-14.00 น.

เนื้อข่าวเขียนว่าร้านนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างมากจากคนทำงานทุกสาขาอาชีพในกรุงย่างกุ้ง ทั้งพนักงานบริษัท คนขับรถแท็กซี่ ไรเดอร์ของฟู้ดแพนด้า แรงงานชายหญิง รวมถึงเจ้าของกิจการ ต่างพากันมาฝากท้องในช่วงมื้อกลางวันไว้ประจำกับร้านแห่งนี้

เรื่องราวของร้านข้าวแกงราคาถูก จานละ 500 จัต ถูกเว้นว่างไปจากชุมชนออนไลน์ของเมียนมาไปช่วงหนึ่ง แต่หลังจากเข้าสู่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 เพจข่าวหลากหลายสำนักกลับมาร่วมแรงร่วมใจ แนะนำร้านอาหารหลายแห่ง ตามจุดต่างๆ ทั่วเมืองย่างกุ้ง

ทุกร้านที่ได้รับการแนะนำมีลักษณะเดียวกัน คือ ขายข้าวราดแกงจานละ 500 จัต ให้บริการแก่ผู้คนที่กำลังเผชิญกับความทุกข์ยากจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงตกต่ำ

เรื่องของร้านข้าวแกง 500 จัต ที่ย่านดะโกงเหนือ ถูกเสนออีกครั้งจาก Eleven Media Group ในปลายเดือนพฤศจิกายน ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ร้านใหญ่ขึ้น ลูกค้ามากขึ้น และอาหารมีให้เลือกหลากหลายขึ้น แต่ยังยืนราคาที่ 500 จัต ต่อข้าวราดแกง 1 อย่าง เหมือนเดิม

จากร้านในย่านดะโกงเหนือ ในกรุงย่างกุ้งมีร้านใหม่ๆ เปิดเพิ่มในอีกหลายย่าน เช่น ย่านอ๊กกะลาปะเหนือ ตาเกต๊ะ ติงกานจูน ฯลฯ ทุกร้านใช้จุดขายเดียวกัน คือข้าวสวยชามใหญ่ๆ ราดด้วยแกงหรือกับข้าวในปริมาณที่พอเหมาะ ที่ตักจากทัพพีขนาดใหญ่ แถมน้ำแกง ผักแกล้ม และน้ำเปล่าฟรี

24 พฤศจิกายน 2564 Eleven Media Group ได้นำเรื่องราวของร้านข้าวแกง 500 จัต ในย่านดะโกงเหนือมารายงานอีกครั้ง

ภาพประกอบที่ปรากฏในรายงานชิ้นนี้ ทำให้เห็นความแตกต่างจากเมื่อครั้งที่เพจ 36 Myanmar Channel เคยเสนอไว้เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะลูกค้าที่เพิ่มจำนวนขึ้น จนต้องยืนเข้าแถวต่อคิวสั่งอาหาร จำนวนโต๊ะนั่งที่ขยายกว้างขึ้น แกงและกับข้าวที่เพิ่มจำนวนและมีความหลากหลายขึ้น แต่ยังคงยืนราคาขายไว้ที่ข้าวราดแกง 1 อย่าง กะละมังละ 500 จัตเช่นเดิม

ร้านชเวโบตู่ ย่านอ๊กกะลาปะเหนือ ใช้ภาชนะเป็นถาดหลุม แต่ขายในราคา 500 จัตเหมือนกับที่อื่น ที่มาภาพ: Myanmar Live

จากในกรุงย่างกุ้ง เริ่มมีร้านข้าวแกง 500 จัต กระจายออกไปเปิดยังเมืองใหญ่อีกหลายเมืองของเมียนมา ทั้งมัณฑะเลย์ พะโค พะสิม รวมถึงท่าขี้เหล็ก

จากภาพผู้คนนั่งกินข้าวเป็นแถวในร้านข้าวแกง 500 จัต เริ่มมีการนำเสนอภาพร้านที่ขายเฉพาะแกงหรือกับข้าว ตักขายเป็นถุงๆ ในราคาถุงละ 200 จัต คิดเป็นเงินไทยประมาณถุงละ 4 บาท มีผู้คนยืนต่อแถวรอซื้อยาวเหยียด

ข้าว 1 กะละมังใหญ่ พร้อมแกง 1 ทัพพีใหญ่ เสิร์ฟบนถาดหลุม เป็นจุดขายของร้านข้าวแกง 500 จัต ในมัณฑะเลย์ ที่มาภาพ: Myanmar Live
ร้านอาหารในที่ทำการสมาคมสวัสดิการสังคม “อู ละโม” ท่าขี้เหล็ก ขายอาหาร 1 มื้อ กินได้เต็มอิ่มในราคา 15 บาท ที่มาภาพ: Tachileik News Agency (https://www.facebook.com/TachileikNewsAgency/posts/4760403240648145)

สำหรับในท่าขี้เหล็ก ร้านที่เพิ่งเปิดใหม่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 เป็นของสมาคมสวัสดิการสังคม “อู ละโม” ซึ่งอยู่ในตัวเมือง ได้ขึ้นป้ายไว้ด้านหน้าที่ทำการสมาคมว่า ขายอาหาร 1 มื้อ กินได้อย่างเต็มอิ่ม ในราคามื้อละ 15 บาท

ร้านนี้รับเป็นเงินบาท เพราะอยู่ติดกับประเทศไทย

เหตุการณ์เหล่านี้ปรากฏขึ้นต่อเนื่องทุกวันตลอด 2 สัปดาห์ ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา

……

ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยนักที่สื่อจากหลายค่ายโหมนำเสนอเนื้อหาประเด็นเดียวกัน ต่อเนื่องหลายวัน เป็นเวลาร่วมสัปดาห์เช่นนี้

เรื่องราวของร้านข้าวแกง 500 จัต แหล่งที่ให้ชาวเมียนมาได้มาฝากท้องเอาไว้ ในราคาที่ไม่เป็นภาระแก่พวกเขา ถือเป็นภาพสะท้อนความเป็นจริงที่ชาวเมียนมาจำนวนมากกำลังเผชิญอยู่

นั่นคือความยากลำบากในการดำรงชีพ อันเป็นผลพวงจากปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำ!

ร้านข้าวแกง 500 จัต กลายเป็นแหล่งฝากท้องสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย และทุกชาติพันธุ์ ในเมียนมา ที่มาภาพ: 36 Myanmar Channel

เศรษฐกิจเมียนมาอยู่ในช่วงขาลงต่อเนื่องมาเกือบ 2 ปีเต็มแล้ว นับแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ในเดือนมีนาคม 2563 และเริ่มดิ่งลึกลงเมื่อเกิดการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564

ธุรกิจ ห้างร้าน โรงงานหลายแห่งทั่วประเทศ ต่างปิดกิจการ ผู้คนต้องตกงาน หลายคนยอมเสี่ยง ลักลอบเดินทางข้ามชายแดนมายังประเทศไทย โดยหวังเพียงเพื่อจะได้รับโอกาสที่ดีกว่า

  • “ความมั่นคงของธุรกิจในเมียนมา 9 เดือนหลังรัฐประหาร ใครถอนตัวบ้าง!!”
  • วันที่ 1 ธันวาคม 2564 สำนักข่าวรอยเตอร์สได้รายงานผลการสำรวจประชากรเมียนมา 1,200 ครัวเรือน โดยสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) พบว่าการระบาดของโควิด-19 และการรัฐประหาร ส่งผลให้เมียนมา กำลังก้าวลงไปสู่ระดับของความด้อยโอกาสที่ไม่เคยเห็นมาก่อนตั้งแต่ปี 2548

    UNDP ประเมินว่า กรณีเลวร้ายที่สุด ผู้ที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนในเมียนมาอาจเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวจาก 24.8% เป็น 46.3% ขณะที่ความยากจนในเมืองใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า อยู่ที่ 37.2% ภายในปี 2565 เทียบกับ 11.3% ในปี 2562

    ในเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ ซึ่งเคยเป็นบ้านของชนชั้นกลางที่กำลังเติบโต ได้พบเห็นการปิดตัวของธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึงกิจการต่างๆ ตั้งแต่ รับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจบริการ ไปจนถึงค้าปลีก โรงงานสิ่งทอ ฯลฯ ทำให้คนจำนวนมากต้องเจอกับปัญหาจากการตกงานและการถูกลดค่าจ้าง

    ครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจในเขตเมืองหลักกล่าวว่า พวกเขาไม่มีเงินเก็บเหลืออยู่อีกแล้ว ขณะที่ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ตอบบอกว่า เขาได้ขายรถจักรยานยนต์ไปแล้ว

    สำหรับในเมียนมาแล้ว รถจักรยานยนต์ถือเป็นพาหนะหลักของหลายครอบครัวทีเดียว

    นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ครัวเรือนที่จะได้กินอาหารน้อยลง และอัตราการหยุดเรียนกลางคันของเยาวชนในเมียนมา กำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

    ผลการสำรวจของ UNDP ยังระบุอีกว่า สภาพการณ์เช่นนี้ อาจหมายถึงการหายไปของชนชั้นกลาง ซึ่งถือเป็นลางร้ายสำหรับการที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจากวิกฤติ

    ในเนื้อข่าวของรอยเตอร์สยังได้บอกอีกว่า ก่อนการรัฐประหาร ธนาคารโลกเคยคาดการณ์เศรษฐกิจเมียนมาว่าจะยังคงเติบโตแม้ต้องเผชิญกับโควิด-19

    แต่ขณะนี้ การคาดการณ์นั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว กลายเป็นบอกว่าเศรษฐกิจเมียนมาปีนี้ จะหดตัวลงมากกว่า 18%…

    วันที่ 2 ธันวาคม 2564 News Watch News Watch เพจข่าวที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1.5 ล้านคน ได้เสนอภาพชุดที่สะท้อนสถานการณ์ธุรกิจภายในกรุงย่างกุ้งได้อย่างแจ่มแจ้ง เป็นภาพของบิลบอร์ดโฆษณาซึ่งตั้งอยู่ในจุดเด่นๆ ตามมุมต่างๆ ทั่วตัวเมืองย่างกุ้ง

    บิลบอร์ดทุกแห่งในภาพชุดนี้ล้วนว่างเปล่า ไม่มีสินค้าใดเช่าไว้เพื่อลงโฆษณาสินค้า!

    บิลบอร์ดโฆษณาที่ว่างเปล่าทั่วกรุงย่างกุ้ง สะท้อนภาพความเป็นจริงของความตกต่ำทางเศรษฐกิจ ที่เมียนมากำลังเผชิญ ที่มาภาพ: News Watch


    ……

    หลายเดือนมาแล้ว นับแต่เกิดการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา ข่าวคราวของเมียนมาที่ปรากฏอยู่บนหน้าสื่อหลัก ล้วนกระจุกอยู่ในประเด็นของการต่อสู้ ต่อต้านการรัฐประหาร การสู้รบกันระหว่างกองกำลังติดอาวุธภาคประชาชน กับตำรวจ-ทหารเมียนมา

    แต่ภาพที่ปรากฏอยู่บนชุมชนออนไลน์ของเมียนมาตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนรูปธรรมได้ชัดเจนยิ่งกว่า

    เป็นรูปธรรมที่ชี้ว่า เศรษฐกิจของเมียนมาขณะนี้ กำลังอยู่ในช่วงดิ่งเหวอย่างแท้จริง…