ThaiPublica > สู่อาเซียน > เดินหน้าระเบียงเศรษฐกิจ “จีน-เมียนมา” กรุยเส้นทางสั้นที่สุดสู่มหาสมุทรอินเดีย

เดินหน้าระเบียงเศรษฐกิจ “จีน-เมียนมา” กรุยเส้นทางสั้นที่สุดสู่มหาสมุทรอินเดีย

6 กันยายน 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

เส้นทางออกจากจีนสู่มหาสมุทรอินเดีย ที่สั้นที่สุด

แม้สถานการณ์ 6 เดือนหลังการรัฐประหารในเมียนมายังไม่นิ่งสนิท แต่หลายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2564 ล้วนมีนัยสำคัญ และดูไม่น่าเป็นเรื่องบังเอิญ โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวจาก “จีน”

เมียนมาถูกวางบทบาทเป็นช่องทางเชื่อมต่อแผ่นดินใหญ่ของจีนกับมหาสมุทรอินเดีย ตามข้อริเริ่ม “1 แถบ 1 เส้นทาง”

ความเคลื่อนไหวในเดือนสิงหาคม 2564 บอกแนวโน้มว่าจีนกำลังเริ่มต้นกระบวนการกรุยทางออกสู่มหาสมุทรอินเดีย ซึ่งย่อมมีผลต่อหลายพื้นที่ของเมียนมา นับจากนี้

……

เต็นท์ของชาวบ้านเมืองป่างซ้าย จังหวัดหมู่เจ้ ที่พากันไปพักแรมแนบชิดแนวรั้วกั้นเขตแดนรัฐฉาน-จีน ชาวบ้านเหล่านี้ได้อพยพ เพื่อหนีภัยจากการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับทหารโกก้าง ที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม ที่มาภาพ: เพจ Lashio Media

ต้นเดือนสิงหาคม 2564 หลายพื้นที่ตามแนวชายแดนเมียนมา-จีน ภาคเหนือของรัฐฉานตกอยู่ในสภาพตึงเครียด

เกิดการสู้รบกันอย่างหนักระหว่างทหารของกองทัพพม่ากับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ โดยเฉพาะกองทัพโกก้าง (MNDAA: Myanmar National Democratic Alliance Army) ชาวบ้านหลายร้อยคนต้องละทิ้งบ้านเรือน ไร่นา อพยพไปกางเต็นท์หลับนอนอยู่ติดกับแนวรั้วกั้นเขตแดนที่ทางการท้องถิ่นของจีนได้สร้างไว้ เพื่อหลบภัยจากการสู้รบครั้งนี้

ปลายเดือนสิงหาคม 2564 มีความเคลื่อนไหวซึ่งมีนัยสำคัญจากฝั่งจีน หลายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญ!!!

จีนกำลังเดินหน้าอย่างเป็นจริงเป็นจัง เพื่อเร่งเปิดเส้นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดีย ผ่านทางชายแดนรัฐฉาน ข้ามดินแดนเมียนมาไปถึงชายฝั่งทะเลที่เมืองเจ้าก์ผิ่ว รัฐยะไข่

เมืองหลิงชาง มณฑลยูนนาน ถูกกำหนดให้เป็นเมืองหลักสำหรับเส้นทางออกสู่ทะเลด้านนี้ และ “ชิงส่วยเหอ” เมืองชายแดนในเขตปกครองตนเองโกก้าง กำลังถูกเพิ่มบทบาทให้เป็นช่องทางเข้า-ออกของสินค้าที่มีความสำคัญมากขึ้น ตามข้อริเริ่ม “1 แถบ 1 เส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) นอกเหนือจากด่านชายแดนหมู่เจ้-รุ่ยลี่

[อ่านเพิ่มเติม “หมู่เจ้” ประตูการค้าจีน-เมียนมา ที่ “ใหญ่” ที่สุด]
ซุน กั๋วเสียง(ซ้าย) เมื่อครั้งพบปะกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย(ขวา) ในกรุงเนปิดอ เมื่อปี 2560 ที่มาภาพ: สำนักข่าวซินหัว

ระหว่างวันที่ 21-28 สิงหาคม 2564 ซุน กั๋วเสียง ผู้แทนพิเศษกิจการอาเซียน กระทรวงต่างประเทศจีน ได้เดินทางไปเยือนเมียนมาอย่างเงียบๆ

ข่าวการมาเยือนของซุน กั๋วเสียง ถูกเผยแพร่ออกมาหลังจากที่เขาเดินทางกลับจากเมียนมาแล้ว 3 วัน ผ่านเอกสารแถลงข่าวของสถานทูตจีนในเมียนมา จากนั้นจึงค่อยถูกกระจายสู่สาธารณะโดยสำนักข่าวตะวันตก

เนื้อข่าวระบุว่า ซุน กั๋วเสียงได้พบปะกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) และนายกรัฐมนตรีเมียนมา อู วุณณะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ พล.ท. หย่าปยิ รัฐมนตรีสำนักงานรัฐบาลสหภาพ และประธานคณะกรรมการเจรจาสันติภาพกับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์

มีการสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา โดยจีนยืนยันสนับสนุนการฟื้นฟูเสถียรภาพทางการเมืองในเมียนมาให้กลับคืนสู่ปกติโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ยังพูดคุยกันถึงความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19

ที่สำคัญ มีการย้ำถึงบทบาทและความสำคัญของเมียนมา บนข้อริเริ่ม “1 แถบ 1 เส้นทาง”…

ซุน กั๋วเสียง เป็นตัวแทนของจีนที่ได้เข้าไปมีบทบาทในหลายๆ เรื่องของกระบวนการสันติภาพในเมียนมา ตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่นำโดยพรรค NLD ของอองซาน ซูจี

เขาเป็น 1 ใน 6 ตัวแทนประเทศ/องค์กร ที่ได้รับเชิญให้เป็นสักขีพยานอย่างเป็นทางการ ในการลงนามสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ที่รัฐบาลพรรค NLD ทำเพิ่มเติมกับพรรครัฐมอญใหม่ (NMSP) และกลุ่มลาหู่ (LDU) ระหว่างวันที่ 12-13 กุมภาพันธ์ 2561 หลังจากเคยลงนามกับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 8 กลุ่มไปแล้วเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 ในสมัยประธานาธิบดีเตงเส่ง

นอกจากนี้ ซุน กั๋วเสียง ยังเป็นตัวแทนของจีนที่เข้าไปมีบทบาทในสถานการณ์ความขัดแย้งในรัฐยะไข่ นับแต่เริ่มเกิดความรุนแรงขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2559 โดยเป็นผู้ประสานงานให้รัฐบาลบังกลาเทศเปิดเจรจากับรัฐบาลเมียนมาในประเด็นนี้…

ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเที่ยวปฐมฤกษ์ “หลินชาง-เฉิงตู” ถูกปล่อยออกจากท่าบกหลินชาง เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ที่มาภาพ เพจสถานทูตจีนประจำเมียนมา

วันที่ 25 สิงหาคม 2564 ขณะที่ ซุน กั๋วเสียง อยู่ระหว่างการเยือนเมียนมา ที่จังหวัดหลินชาง มณฑลยูนนาน ได้มีพิธีปล่อยขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเที่ยวปฐมฤกษ์ ที่วิ่งออกจากท่าบก (dry port) หลินชาง ขึ้นไปสู่เฉิงตู เมืองหลักของมณฑลเสฉวน ระยะทางยาว 1,170 กิโลเมตร

[คลิปพิธีเปิดเดินรถไฟขนส่งสินค้าจากหลินชาง-เฉิงตู https://www.facebook.com/watch/?v=544959580257658 ]

สินค้าที่ส่งไปกับรถไฟขบวนนี้ ถูกนำเข้ามาจากประเทศต่างๆ ทางเรือ ผ่านมหาสมุทรอินเดีย มาขึ้นบกยังท่าเรือย่างกุ้ง ก่อนลำเลียงต่อโดยรถบรรทุกไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 2 และ 3 จากกรุงย่างกุ้ง ผ่านมัณฑะเลย์ ปินอูลวิน หนองเขียว จ๊อกแม ล่าเสี้ยว แสนหวี กุ๋นโหลง ข้ามชายแดนที่ด่านชิงส่วยเหอ ต่อขึ้นไปถึงเมืองหลินชาง

Yang Haodong เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประจำเมืองหลินชาง กล่าวว่า ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเที่ยวปฐมฤกษ์ “หลินชาง-เฉิงตู” ถือเป็นการเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมของระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา ซึ่งมีเป้าหมายออกสู่มหาสมุทรอินเดีย เป็นการเปิดหน้าใหม่ในความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง “pauk-phaw” ของทั้ง 2 ประเทศ

ข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ในพิธีเปิดเดินรถไฟขนส่งสินค้าเที่ยวปฐมฤกษ์ “หลินชาง-เฉิงตู” ระบุว่า เส้นทางสายนี้ถูกกำหนดให้เป็นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียที่สั้นที่สุดของจีน โดยมีปลายทางอยู่ที่ท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว รัฐยะไข่ ซึ่งเป็นโครงการลงทุนของจีน และเจ้าก์ผิ่วยังเป็นต้นทางของท่อก๊าซและน้ำมัน เมียนมา-จีน ยาว 770 กิโลเมตร รวมถึงกำลังมีก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าก์ผิ่วของจีนอยู่ในขณะนี้อีกด้วย

ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา บนเส้นทางเฉิงตู-เจ้าก์ผิ่ว จะมีการพัฒนารูปแบบการคมนาคมที่ผสมผสาน ระหว่างเรือ ทางรถไฟ และถนน โดยมีหลินชางเป็นเมืองหลัก

ในอนาคตเมื่อสินค้าได้ขึ้นบกที่ท่าเรือเจ้าก์ผิ่ว จะถูกส่งต่อขึ้นไปยังหลินชางผ่านช่องทางชิงส่วยเหอ จากหลินชางสินค้าจะถูกส่งต่อไปยังเมืองเฉิงตู โดยใช้เวลาเดินทางเพียง 3 วัน ลดลงถึง 25 วัน จากเวลาที่เคยใช้ช่วงก่อนหน้านี้ จากนั้นสินค้าจะถูกกระจายจากเฉิงตูออกไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศจีน

พิธีเปิดงานแสดงสินค้าชายแดน “หลินชาง-ล่าเสี้ยว” ผ่านทางออนไลน์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ที่มาภาพ: เพจสถานทูตจีนประจำเมียนมา

วันที่ 26 สิงหาคม 2564 หลังเปิดเดินรถไฟขนส่งสินค้าเที่ยวปฐมฤกษ์ “หลิงชาง-เฉิงตู” ได้ 1 วัน มีการเปิดงานแสดงสินค้าชายแดน “ล่าเสี้ยว-หลินชาง” ผ่านทั้งทางระบบออนไลน์และออฟไลน์ งานนี้ได้จัดต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2564

งานแสดงสินค้าชายแดน “ล่าเสี้ยว-หลินชาง” ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 หลังจากเคยประสบความสำเร็จในการจัดครั้งแรกมาแล้วเมื่อปี 2562
……

ขบวนรถไฟขนส่งสินค้า “หลิงชาง-เฉิงตู” เป็นความคืบหน้าต่อเนื่อง หลังจากเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 บริษัท Railway No. 10 Engineering Group เพิ่งประสพความสำเร็จในการเจาะอุโมงค์ “ต้าโพหลิ่ง” อุโมงค์รถไฟยาว 14.66 กิโลเมตร ในตำบลหย่งผิง เขตปกครองตนเองชาติพันธุ์ไป๋ ต้าลี่ หลังต้องใช้เวลาเจาะยาวนานถึง 14 ปี เพราะตั้งอยู่บนแนวแผ่นดินไหว

[คลิปข่าวความสำเร็จในการเจาะอุโมงค์รถไฟต้าโพหลิ่ง https://www.xinhuathai.com/vdo/218484_20210730 ]

อุโมงค์ต้าโพหลิ่งอยู่บนเส้นทางรถไฟสายต้าลี่-รุ่ยลี่ ความยาว 331 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางหนึ่งของโครงข่ายทางรถไฟฝั่งตะวันตกที่เชื่อมจีนกับเมียนมา ถูกออกแบบให้เป็นทางรถไฟความเร็วปานกลาง ใช้ความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ประชุมกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า “จีน-เมียนมา” ที่นครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน ได้เร่งรัดเดินหน้าวางรางรถไฟระหว่างเมืองต้าลี่ถึงเมืองหลินชาง หรือที่เรียกว่าเส้นทาง Dalin (Dali-Lincang) ระยะทาง 202 กิโลเมตร โดยในที่ประชุมกำหนดให้การรถไฟแห่งประเทศจีน สาขาคุนหมิง สร้างทางรถไฟ Dalin ให้เสร็จภายในปี 2564

ส่วนทางรถไฟช่วงจากหลินชางไปยังเมืองรุ่ยลี่ เขตปกครองตนเองชนชาติไต เต๋อหง อีก 130 กิโลเมตร ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะสร้างเสร็จเมื่อใด

การเปิดเดินรถไฟขนส่งสินค้าจากหลินชางขึ้นไปยังเฉิงตู แสดงว่าเส้นทาง Dalin ได้สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว…

แนวเส้นทางรถไฟในเมียนมา มีจุดเริ่มต้นจากเมืองหมู่เจ้ ตรงข้ามกับรุ่ยลี่ ผ่านเมืองแสนหวี ล่าเสี้ยว จ๊อกแม หนองเขียว ปินอูลวิน ไปจนถึงมัณฑะเลย์

โครงข่ายทางรถไฟและถนน คุนหมิง-ต้าลี่-หลินชาง-รุ่ยลี่ เข้าสู่เมียนมาทางหมู่เจ้และชิงส่วยเหอ จากนั้นลงไปยังล่าเสี้ยว-มัณฑะเลย์-เจ้าก์ผิ่ว

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2561 กระทรวงการขนส่งทางราง เมียนมา ได้เซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัท China Railway Eryuan Engineering Group จากจีน ที่กรุงเนปิดอ ให้เป็นผู้สร้างทางรถไฟช่วงนี้

ทางรถไฟหมู่เจ้-มัณฑะเลย์ ยาว 431 กิโลเมตร ต้องสร้างสะพานข้ามหุบเหว 77 แห่ง เจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาอีก 77 จุด มีสถานีรับส่งสินค้าและผู้โดยสารรวม 12 แห่ง มีจุดตัดทางรถไฟ 24 จุด เมื่อสร้างเสร็จ คาดว่าการเดินทางจากหมู่เจ้ลงไปยังมัณฑะเลย์ จะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง

ระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน ถึง 2 กรกฎาคม 2562 การรถไฟเมียนมาพื้นที่ภาคเหนือ ได้จัดประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการทางรถไฟสายหมู่เจ้-มัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม ก่อนจะเริ่มลงมือก่อสร้าง การประชุมถูกจัดขึ้นตามเมืองที่เส้นทางรถไฟจะสร้างผ่าน ตั้งแต่หมู่เจ้ แสนหวี ล่าเสี้ยว จ๊อกแม หนองเขียว และมัณฑะเลย์

วันที่ 10 มกราคม 2564 ก่อนการรัฐประหารในเมียนมาไม่นาน กระทรวงคมนาคมและสื่อสาร เมียนมา เพิ่งเซ็น MOU ให้บริษัท China Railway Eryuan Engineering Group ศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างทางรถไฟต่อจากเมืองมัณฑะเลย์ลงไปถึงเมืองเจ้าก์ผิ่ว รัฐยะไข่ พิธีเซ็น MOU ถูกจัดขึ้นที่สถานทูตจีน ประจำเมียนมา…

พิธีเซ็น MOU ระหว่างกระทรวงคมนาคมและสื่อสาร เมียนมา กับบริษัท China Railway Eryuan Engineering Group เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการทางรถไฟมัณฑะเลย์-เจ้าก์ผิ่ว เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2564 ที่มาภาพ: สำนักข่าวซินหัว

หลังการเปิดเดินรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างหลินชาง-เฉิงตู เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ในเมียนมา ได้มีการคาดหมายถึงทิศทางความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไป นับจากนี้

ทิศทางแรก เชื่อว่าจะมีการเร่งรัดให้เริ่มต้นการก่อสร้างทางรถไฟจากหมู่เจ้ ผ่านเมืองแสนหวี ล่าเสี้ยว มัณฑะเลย์ ไปยังปลายทางที่ท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว โดยเร็ว

อีกทิศทางหนึ่ง เชื่อว่าต้องมีการปรับปรุงเส้นทางหรืออาจมีการสร้างทางรถไฟสายใหม่ จากเมืองหลินชาง ข้ามชายแดนที่ชิงส่วยเหอ ผ่านเมืองกุ๋นโหลง แสนหวี เพื่อไปบรรจบกับเส้นทางรถไฟที่มาจากหมู่เจ้ที่เมืองล่าเสี้ยว เพราะเป็นเส้นทางตรงที่สั้นกว่า หากเทียบกับเส้นทางรถไฟจากหลินชาง ที่ต้องเลี้ยวไปทางทิศตะวันตกเพื่อผ่านหมู่เจ้ ก่อนลงไปถึงล่าเสี้ยว

อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนของการคาดหมายทั้ง 2 ทิศทางดังกล่าว ปรากฏออกมา

……

ชิงส่วยเหอเป็นเมืองชายแดนของเขตปกครองตนเองโกก้าง ภาคเหนือของรัฐฉาน อยู่ตรงข้ามกับเขตปกครองตนเองชนชาติว้าและไต กึ่งม้า ซึ่งเป็นหน่วยการปกครองระดับอำเภอหนึ่งของจังหวัดหลินชาง

ชิงส่วยเหออยู่ห่างจากเมืองล่าเสี้ยวประมาณ 160 กิโลเมตร และห่างจากท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว ที่รัฐยะไข่ 983 กิโลเมตร

เมื่อปี 2556 ทางการท้องถิ่นกึ่งม้าและเขตปกครองตนเองโกก้าง ได้เห็นพ้องกันให้เปิดช่องทางชิงส่วยเหอ เป็นประตูการค้าหลักระหว่างจีนและเมียนมาอีกแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากช่องทางหมู่เจ้-รุ่ยลี่

สินค้าหลักจากเมียนมาที่ส่งเข้าไปขายในจีนผ่านช่องทางชิงส่วยเหอ ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ประมง และอาหารทะเลที่จับได้จากมหาสมุทรอินเดีย ขณะที่สินค้าที่ส่งผ่านช่องทางหมู่เจ้ เป็นผลผลิตทางการเกษตร ประเภทผักและผลไม้

ส่วนเมียนมานำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตรจากจีน ผ่านทั้งช่องทางหมู่เจ้และชิงส่วยเหอ

รถสินค้าจอดรอคิวผ่านสะพานข้ามแม่น้ำผาเหอ จุดแบ่งเขตแดนระหว่างชิงส่วยเหอ กับเขตปกครองตนเองกึ่งม้า จังหวัดหลินชาง ที่มาภาพ: สำนักข่าว BETV Business

ก่อนหน้านี้ การขนส่งสินค้าจากกรุงย่างกุ้งกว่าจะมาถึงชิงส่วยเหอ ต้องใช้เวลาเดินทางอย่างน้อย 11 ชั่วโมง หรืออาจนานกว่านั้นหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นบนเส้นทางข้ามสะพานก๊กตวิน ในหุบเขาก๊กเทค หรือเกิดการสู้รบกันระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ หรือระหว่างกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ด้วยกันเอง

ปี 2560 จีนได้มีแนวคิดที่จะใช้ชิงส่วยเหอเป็นช่องทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียแล้ว โดยในปีนั้น ทางการจีนได้เสนอต่อรัฐบาลรัฐฉานว่าจะเข้ามาพัฒนาเส้นทางจากชิงส่วยเหอไปยังเมืองกุ๋นโหลง แสนหวี จนถึงล่าเสี้ยวให้

แต่ยังไม่ทันได้มีการตอบรับจากรัฐบาลรัฐฉาน ก็เกิดสถานการณ์ตึงเครียดขึ้นในภาคเหนือของรัฐฉานเสียก่อน มีการสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 4 กลุ่ม ที่รวมตัวกันในนามพันธมิตรภาคเหนือ ประกอบด้วย กองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) กองทัพโกก้าง (MNDAA) กองทัพตะอั้ง (TNLA) และกองทัพอาระกัน (AA)

จนถึงวันนี้ มีเพียงกองทัพอารกันเพียงกลุ่มเดียวที่ได้สงบศึกอย่างไม่เป็นทางการกับกองทัพพม่าแล้ว ส่วนอีก 3 กลุ่มที่เหลือยังคงมีปฏิบัติการสู้รบอยู่ในหลายพื้นที่

……

การเดินหน้าระเบียงเศรษฐกิจ “จีน-เมียนมา” เปิดทางออกที่สั้นที่สุดสู่มหาสมุทรอินเดียให้กับจีน ย่อมต้องเกิดความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ ตามแนวเส้นทางตั้งแต่ชายแดนรัฐฉานลงไปจนถึงชายฝั่งทะเล ยะไข่

เป็นแนวเส้นทางที่ต้องผ่านพื้นที่อิทธิพลของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ และกองกำลังติดอาวุธภาคประชาชน (PDF) ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามและกำลังต่อสู้อยู่กับรัฐบาลทหารพม่า หลากหลายกลุ่มทีเดียว…