ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สรรหา ‘ผู้ว่า กฟผ.’ คุณสมบัติต้องการ… “มืออาชีพหรือคนของใคร?”

สรรหา ‘ผู้ว่า กฟผ.’ คุณสมบัติต้องการ… “มืออาชีพหรือคนของใคร?”

24 ตุลาคม 2023


เปรียบเทียบการสรรหา-แต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. กับเลขาธิการ ก.ล.ต. มีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร คุณสมบัติที่ต้องการ ‘มืออาชีพหรือคนของใคร?’

หลังจากที่นำเสนอข่าวการสรรหาผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าการ กฟผ.) ที่ยืดเยื้อมานานถึง 7 เดือน ทั้งที่ผ่านกระบวนการสรรหามาอย่างถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 โดยคณะกรรมการสรรหาลงคะแนนเสียง 3 ต่อ 2 เลือกนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด กฟผ. เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 จนมีมติแต่งตั้งนายเทพรัตน์เป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 จากนั้นก็มีการเจรจาต่อเงินเดือนผลตอบแทนต่างๆ ตรวจสอบประวัติการกระทำผิด ยกร่างสัญญาจ้าง พร้อมเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่เข้าที่ประชุม ครม. วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 มีมติแต่งตั้งนายเทพรัตน์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. ตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 และเนื่องจากการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. ครั้งนั้นเกิดขึ้นช่วงยุบสภา ที่ประชุม ครม. ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน จึงให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ทำเรื่องไปขอความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามแนวทางปฏิบัติและขั้นตอนการดำเนินการที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 169 (2)

ครั้งแรก กกต. เสียงข้างมากไม่เห็นด้วย เพราะผู้ว่าการ กฟผ. คนก่อนยังไม่หมดวาระ ต่อมากระทรวงพลังงานได้ทำเรื่องเสนอที่ประชุม ครม. เป็นครั้งที่ 2 ก่อนผู้ว่าการ กฟผ. คนเก่าครบวาระ โดยที่ประชุม ครม. วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ได้มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. และให้กระทรวงพลังงานส่งข้อมูล เหตุผล และความจำเป็นที่ต้องแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. เพิ่มเติมส่งไปให้ กกต. พิจารณา

ปรากฏว่าเรื่องนี้เงียบหายไปเกือบ 2 เดือน จนกระทั่งสำนักงาน กกต. มีหนังสือด่วนที่สุด ส่งถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ระบุว่า “เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดินสืบต่อไปแล้ว จึงขอส่งเรื่องดังกล่าวคืนให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้ง เพื่อทราบและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป” ทาง สลค. ได้นำความเห็นของ กกต. ในครั้งที่ 2 นี้ทำเป็นหนังสือแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานทราบ และระบุต่อไปอีกว่า “หากกระทรวงพลังงานประสงค์จะเสนอเรื่องดังกล่าวต่อ ครม. ขอได้โปรดดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ตลอดจนมติคณะรัฐมนตรีและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย” โดยสาระสำคัญของหนังสือ สลค. ที่ทำถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คือ ขอให้กระทรวงพลังงานยืนยันว่าผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ยังคงเป็นนายเทพรัตน์หรือไม่ ปรากฏว่ากระทรวงพลังงานตัดสินใจส่งเรื่องนี้กลับไปให้บอร์ด กฟผ. ยืนยันแทน และในจังหวะเดียวกันที่บอร์ด กฟผ. ชุดก่อนยื่นใบลาออกกันทั้งคณะ ซึ่งกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วการเมือง ในขณะนี้อยู่ระหว่างการสรรหากรรมการชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน ด้วยเหตุเองนี้จึงทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยและคำถามในใจว่า นายเทพรัตน์จะถูกเทและกลับไปเริ่มต้นกระบวนการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. กันใหม่ หรือ ไม่ อย่างไร

ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน จึงต้องออกมาชี้แจงสื่อมวลชน โดยนายประเสริฐยืนยันว่า “ไม่ได้เท ยังสามารถที่จะเสนอชื่อนายเทพรัตน์เป็นผู้กว่าการ กฟผ. ได้ ส่วนเรื่องอายุการทำงานของนายเทพรัตน์ เหลือไม่ถึง 2 ปีก็ไม่เป็นประเด็น เพราะนับจากวันที่ยื่นใบสมัคร” พร้อมกับชี้แจงเหตุผลที่ต้องส่งเรื่องนี้กลับไปให้บอร์ด กฟผ. ชุดใหม่ยืนยันการแต่งตั้งนายเทพรัตน์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่อีกครั้งว่า “เป็นเรื่องมารยาทในการแต่งตั้งผู้บริหารของ กฟผ. ทั้งนี้ เนื่องจากบอร์ด กฟผ. ชุดใหม่จะต้องทำงานร่วมกับผู้ว่าการ กฟผ. อย่างใกล้ชิด หากกระทรวงพลังงานไปยืนยันหรือแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. โดยไม่ให้โอกาสบอร์ด กฟผ. ชุดใหม่ได้พิจารณา จะถือเป็นการผิดมารยาทหรือไม่” ตามคำแนะนำของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างไม่เป็นทางการ

คำกล่าวอ้างเรื่อง ‘การผิดมารยาทหากไม่ถามบอร์ดชุดใหม่’ ถ้าหากบอร์ดชุดเก่าถามกลับบ้าง การทำเช่นนี้ เป็น “การผิดมารยาทกับบอร์ดชุดเก่าด้วยหรือไม่” คงต้องขอคำตอบด้วยเช่นกัน

เพราะถ้าผู้มีอำนาจรัฐไม่ได้สับสนระหว่าง “มืออาชีพ” กับ “คนของใคร” น่าจะได้คำตอบที่ชัดเจน

เพราะกระบวนการสรรหาและขั้นตอนปฏิบัติไม่ได้ซับซ้อน แต่จะซ่อนเงื่อนหรือไม่คงต้องถามกระทรวงพลังงานและกลุ่มบิ๊กพลังงาน ว่ากระบวนการสรรหาและกระบวนการแต่งตั้ง ไม่ชอบธรรมและไม่โปร่งใสอย่างไร!!!

อย่าทำให้ระบบมันบิดเบี้ยวจนรู้สึกได้ว่าผู้มีอำนาจและผู้ใช้อำนาจรัฐ “ดูถูกประชาชน” อย่างรุนแรง

……

หากเปรียบเทียบกรณีการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่กับกระบวนการสรรหาเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แทนนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อดีตเลขาธิการ กลต. คนก่อนที่ครบวาระ ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน โดย กฟผ. เปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นผู้ว่าการ กฟผ. ในช่วงวันที่ 5 มกราคม – วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ส่วนสำนักงาน ก.ล.ต. เปิดรับสมัครเลขาธิการ ก.ล.ต. ในช่วงวันที่ 7-27 กุมภาพันธ์ 2566 จนกระทั่งคณะอนุกรรมการสรรหาของ ก.ล.ต. คัดเลือกผู้สมัครที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ และคุณสมบัติเหมาะสม 2 ราย คือ นางพรอนงค์ บุษราตระกูล และนางวรัชญา ศรีมาจันทร์ ส่งให้ที่ประชุมบอร์ด กลต. เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 มีมติเห็นชอบ เพื่อส่งรายชื่อผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเหมาะสมทั้ง 2 ราย ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเลือกเพียง 1 รายชื่อ เสนอให้ที่ประชุม ครม. มีแต่งตั้งเลขาธิการ กลต. คนใหม่ ปรากฏว่ามีผู้สมัครบางรายไปร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองกลาง ดร.อาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น จึงไม่ได้นำเรื่องนี้นำเสนอให้ที่ประชุม ครม. รักษาการพิจารณา

เรื่องการแต่งตั้งเลขาธิการ กลต. ถูกลากยาวมาจนถึงรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เข้ามาบริหารประเทศ กระทรวงการคลังได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค 1004/2001 ลงวันที่ 15 กันยายน 2566 ส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ตัดสินใจเลือกนางพรอนงค์ บุษราตระกูล เป็นเลขาธิการ ก.ล.ต. ตามมติเสียงข้างมากของคณะกรรมการ ก.ล.ต. และได้คะแนนเป็นอันดับสูงสุด พร้อมแนบผลการตรวจสอบประวัติการกระทำผิดจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แบบข้อมูลประกอบการเสนอเรื่องการแต่งตั้งผู้บริหารหน่วยงานของรัฐ กฎหมาย และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้อง เสนอที่ประชุม ครม. นัดที่ 3 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 แต่งตั้งนางพรอนงค์ บุษราตระกูล เป็นเลขาธิการ ก.ล.ต. ไปเป็นที่เรียบร้อย ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาและแต่งตั้งเลขาธิการ ก.ล.ต. ที่ระบุในช่วงท้ายของประกาศรับสมัครเลขาธิการ ก.ล.ต. ที่ว่า “คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. จำนวนไม่เกิน 2 ราย เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาให้เหลือ 1 ราย เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ต่อไป…”

แตกต่างจากกรณีการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. ซึ่งในประกาศคณะกรรมการสรรหาฯ ข้อที่ 8 เรื่องการแต่งตั้งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาฯ ระบุว่า “คณะกรรมการสรรหาฯ จะเสนอชื่อผู้มีความเหมาะสมให้คณะกรรมการ กฟผ. พิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการ กฟผ. ตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2543 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2550 (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) 2535 ต่อไป” แต่กระทรวงพลังงานกลับส่งเรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. กลับไปให้บอร์ด กฟผ. ชุดใหม่ซึ่งยังไม่รู้ว่ามีใครบ้าง ทำหน้าที่ยืนยันการแต่งตั้งนายเทพรัตน์เป็นผู้ว่า กฟผ. แทนกระทรวงพลังงาน โดยอ้างถึงเรื่องมารยาท ทั้งๆ ที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทำหนังสือแจ้งกระทรวงพลังงานให้ยืนยันการแต่งตั้งผู้ว่า กฟผ. และเรื่องนี้ก็ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด กฟผ., ครม. และ กกต. มาแล้ว

เรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. ที่ยืดเยื้อมานานถูกลากยาวต่อไป ทำให้สังคมยังเกิดข้อสงสัย ทำไมกระทรวงพลังงานไม่ยืนยันการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. แล้วเสนอ ครม. ตามความเห็นของ กกต. เหมือนกับกรณีกระทรวงการคลังที่ยืนยัน และนำชื่อนางพรอนงค์ บุษราตระกูล ให้ที่ประชุม ครม. แต่งตั้งเป็นเลขาธิการ ก.ล.ต. ก็จบ เบื้องลึกแล้วมีเจตนาอะไรกันแน่ แต่ถ้าไม่ยืนยันการแต่งตั้งนายเทพรัตน์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. ก็ต้องมีเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะไปกลับมติบอร์ด กฟผ. ชุดก่อน และกระทรวงพลังงานที่เคยทำเรื่องยืนยันการแต่งตั้งนายเทพรัตน์เป็นผู้ว่า กฟผ. เสนอที่ประชุม ครม. เห็นชอบไปแล้ว 2 ครั้ง คำตอบต้องมีเหตุผลที่ชัดเจนว่าตกคุณสมบัติข้อไหน…เสื่อมเสียร้ายแรงอย่างไร

จึงขอย้ำอีกครั้งว่าการหยิบเรื่องนี้มาพูดถึง เพราะต้องการถามหาความเป็นธรรมและโปร่งใส รวมถึงความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าของประเทศในอนาคต!!!

หากผู้ใช้อำนาจรัฐ ‘ไม่โปร่งใสและเป็นคนของใคร’ อยู่แล้ว เราน่าจะได้คำตอบเร็วๆนี้ว่า ‘ใคร’คือชื่อที่ต้องการ!!!

  • กระทรวงพลังงานโต้ ปมตั้ง ‘ผู้ว่า กฟผ.’ ล่าช้า
  • ยื้อแต่งตั้ง ผู้ว่า กฟผ. “เข้าข่ายการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ 157” หรือไม่!!!
  • วัดใจรัฐบาลเศรษฐา ตั้ง-ไม่ตั้ง “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” ผู้ว่า กฟผ. ผ่านสรรหาโดยชอบธรรมมาแล้ว 7 เดือน
  • แถลงการณ์ สร.กฟผ.เรื่อง “สถานการณ์พิสูจน์ผู้นำ”
  • นายกฯเคลียร์ปม “บิ๊กต่อ – บิ๊กโจ๊ก” แค่ลิ้นกับฟัน – มติ ครม. ตั้ง ‘เศรษฐา’ ประธานบอร์ด “ดิจิทัล วอลเล็ต”
  • นายกฯ เยือนสหรัฐฯ ดึงต่างชาติตั้งฐานผลิต-ส่งออก – มติ ครม.เพิ่มงบฯปี’67 อีก 1.3 แสนล้านบาท