- นายกฯ ห่วงภาคอุตสาหกรรม สั่ง กกพ. ทบทวนค่า Ft
- มติ ครม. จัดงบฯ 6,693 ล้าน ให้ กฟน.-กฟภ. ลดค่าไฟบ้าน
- ไฟเขียว “ช้อปดีมีคืน” ลดหย่อนภาษี 4 หมื่นบาท
- พลังงานตรึงราคาน้ำมันทุกชนิด เริ่ม 24 ธ.ค. 65 ถึง 3 ม.ค. 66
- ตปท. เว้นค่าธรรมเนียมทำพาสปอร์ตด่วน 3-13 ม.ค. ปีหน้า
- ยกเว้นค่าทางด่วน-มอเตอร์เวย์-รถไฟฟ้าสายสีแดง 7 วัน
- “ดีอีเอส” ลดค่าส่ง EMS ลง 19-48%
- พม. เปิดบริการซ่อมบ้านให้กลุ่มเปราะบาง 5 หมื่นหลัง
- ตั้ง “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” นั่งเลขาธิการนายกฯ
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอกประยุทธ์ มอบหมายให้ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ
นายอนุชา กล่าวว่า ก่อนเริ่มเข้าวาระการประชุม ครม. ในวันนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีเรื่องแจ้งเพื่อทราบ และข้อสั่งการดังต่อไปนี้
1. เมื่อช่วงเช้านี้ นายกรัฐมนตรีและภริยาเป็นประธานพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนา พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีและคู่สมรส เพื่อถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และน้อมถวายกำลังพระทัยให้ทรงแข็งแรงโดยเร็ว
แจงผลประชุมสุดยอดอาเซียน-ยุโรป
2.นายกรัฐมนตรีได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทราบถึงผลสำเร็จในการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ โดยมีผู้นำอาเซียน 9 ประเทศและผู้นำยุโรป 27 ประเทศ ร่วมหารือ ซึ่งผู้นำหลายประเทศได้แสดงความชื่นชมในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2022 ของไทย รวมทั้งการแก้ปัญหาโควิด-19 และ การฟื้นฟูการท่องเที่ยว โดยปัจจุบันไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแล้วกว่า 10 ล้านคน
ทั้งนี้ ในที่ประชุม นายกรัฐมนตรีได้เสนอ 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ การรับมือความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์และความท้าทายด้านความมั่นคง ด้วยการแยกความขัดแย้งออกจากความร่วมมือเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสีเขียวเพื่อความยั่งยืน สร้างความเป็นหุ้นส่วนสีเขียวอาเซียน-สหภาพยุโรป และการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล พร้อมมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ การทรวงดีอีเอส กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ติดตามความร่วมมือในประเด็นดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป
ห่วงภาคอุตสาหกรรม สั่ง กกพ.ทบทวนค่า Ft
3.นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกพบว่า ภูมิภาคยุโรปกำลังเผชิญกับปัญหา ทั้งราคาพลังงาน และเงินเฟ้อที่หนักกว่าบ้านเรา ซึ่งผู้นำยุโรปชื่นชมไทยที่สามารถบริหารจัดการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจได้ดี อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้กำชับกระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชน์ ติดตามดูแลราคาพลังงานที่เหมาะสม รวมทั้งหาแนวทางลดผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนให้เดือดร้อนน้อยที่สุด
โอกาสนี้ นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีถึงการประกาศปรับอัตราค่า Ft ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ล่าสุดนั้น เป็นการปรับขึ้นตามต้นทุนการผลิตและไม่กระทบต่อภาคครัวเรือน อย่างไรก็ตามสำหรับข้อห่วงใยของภาคอุตสาหกรรมนั้น กระทรวงพลังงานได้ประสาน เพื่อขอความร่วมมือไปยังสำนักงาน กกพ. ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยขอให้พิจารณาการปรับค่า Ft นอกจากสะท้อนต้นทุนการผลิตแล้ว ขอให้คำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ต้องรักษาระดับอัตราค่าไฟฟ้าไทยในระดับที่เหมาะสม
4. นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยกำลังพลของกองทัพเรือ ที่ประสบเหตุเรือหลวงสุโขทัยอัปปาง โดยให้หน่วยงานระดมเข้าไปช่วยเหลือกำลังพลของเรือหลวงสุโขทัยทุกคนให้กลับขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย รวมถึงดูแลและประสานกับครอบครัวผู้ประสบภัยอย่างใกล้ชิดด้วย
ระดมทุกหน่วยช่วยผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้
5.นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ เข้าไปช่วยติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ และกำชับให้หน่วยงานทุกภาคส่วนช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัย แก้ไขคลี่คลายสถานการณ์ตามแผนการช่วยเหลือ ให้จัดกำลังสนับสนุนส่วนราชการท้องถิ่นดูแลประชาชนที่ศูนย์อพยพชั่วคราว โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีน้ำท่วม ช่วยขนย้ายคนและสิ่งของจำเป็นไปยังพื้นที่ปลอดภัย ช่วยรับส่งประชาชน รวมทั้งร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่ มอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบภัย ปรุงอาหารแจกจ่ายประชาชน ย้ำให้ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่
มติ ครม. มีดังนี้
ไฟเขียว “ช้อปดีมีคืน” ลดหย่อนภาษี 4 หมื่นบาท
ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบมาตรการการดำเนินโครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ให้แก่ประชาชน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
1. มาตรการ “ช้อปดีมีคืน ปี 66” เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566 ถึงวันที่ 15 ก.พ.2566 โดยกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 40,000 บาท โดยแบ่งเป็น
-
1.1 ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวน 30,000 บาทแรก ออกใบกำกับภาษีแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์
1.2 ค่าซื้อสินค้าหรือบริการ อีกจำนวน 10,000 บาท ออกใบกำกับภาษีรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับสินค้าที่เข้าร่วมมาตรการ เช่น ค่าซื้อสินค้า และค่าบริการทุกประเภทที่ซื้อจากผู้ประกอบการ ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงค่าสินค้า OTOP แต่ไม่รวมถึงสินค้าและบริการ 10 ประการ ดังนี้ ค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ค่าซื้อยาสูบ ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ ค่าซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต ค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว ซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 ม.ค. 66 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 ก.พ. 66 และค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากมาตรการ “ช้อปดีมีคืน ปี 66” จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมูลค่าประมาณ 56,000 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ มวลรวมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.16 และ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษี และสนับสนุนการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์
2. มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2566 โดยลดภาษีให้ในอัตราร้อยละ 15 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของปีภาษี พ.ศ.2566
3. มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยปี 2566 โดยลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 1 และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม ร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัย ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุด (ทั้งบ้านมือ 1และมือ 2) เฉพาะที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท ต่อสัญญา
4. มาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิต สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานภายในประเทศ โดยลดอัตราภาษีตามปริมาณของน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับเครื่องบินไอพ่นที่ใช้บินในประเทศ จากลิตรละ 4.726 บาท เหลือลิตรละ 0.20 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 30 มิถุนายน 2566 เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและบริการให้มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและบรรเทาผลกระทบการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและสายการบินภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19
5. มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ตาม พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ให้สิทธิยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 สำหรับผู้ประกอบการที่ประสงค์จะประกอบกิจการต่อเนื่อง ณ สถานประกอบการเดิม ประเภทใบอนุญาตเดิม ที่ยื่นคำขอระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2566 เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องภายหลังสถานการณ์โควิด19
ส่วนมาตรการและโครงการของขวัญปีใหม่ พ.ศ.2566 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ
-
1. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เช่น โครงการชำระดีมีคืน ลดดอกเบี้ยแก้หนี้ภาคครัวเรือน มาตรการส่งเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟู
2. ธนาคารออมสิน เช่น โครงการวินัยดี มีเงิน
3. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เช่น ยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs
4. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศ (ธพว.) เช่น ผ่อนดีมีคืน (บัตรกำนันสูงสุด 300 บาท) มาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า ยังมีมาตรการและโครงการของขวัญปีใหม่ 2566 จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง 5 โครงการ ได้แก่
-
1) มาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ.2566 จากกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
2) มาตรการของขวัญปีใหม่ปี 2566 ให้กับลูกค้ารายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน/ผู้ค้ำประกัน จากบริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (บสอ.)
3) โครงการเที่ยวปีใหม่สุขใจไปกับพิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ.2566 ให้แก่ประชาชน จากกรมธนารักษ์
4) โครงการสนับสนุนตลาดทุนและเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนลดภาระแก่ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อความสุขที่มั่นคงของทุกภาคส่วน จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทัพย์ (ก.ล.ต.)
5) โครงการส่งเสริมให้ประชาชนและผู้ลงทุนมีศักยภาพในการสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดี และมีภูมิคุ้มกัน ไม่ถูกหลอกลวง จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทัพย์ (ก.ล.ต.)
6) โครงการกรมธรรม์ประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) สำหรับเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2566 จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกบิธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
7) โครงการ “ชม ชิม ช็อป ยาสูบเชียงราย” จากการยาสูบแห่งประเทศไทย
ต่ออายุสินเชื่อธุรกิจชายแดนใต้อีก 30 เดือน
ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบขยายระยะเวลาโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา นราธิวาส ปัตตานี) วงเงิน 25,000 ล้านบาท ภายใต้มาตรการด้านการเงินสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไปอีก 2 ปี 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 – 30 มิถุนายน 2568 (จากเดิมที่สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2565) หรือจนกว่าจะเต็มวงเงิน พร้อมกันนี้ ครม. เห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการ อาทิ ขยายพื้นที่เป้าหมายครอบคลุม 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา เพื่อให้ครอบคลุมผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบและเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น และอนุมัติงบประมาณวงเงิน 1,250 ล้านบาท สำหรับชดเชยต้นทุนเงินให้กับธนาคารออมสินในการดำเนินโครงการด้วย
โครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีเงินทุนเพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจ เกิดความมั่นใจในการประกอบกิจการ และมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารออมสินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี และสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อปี และธนาคารออมสินให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการโดยตรงในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อปี โครงการนี้ ดำเนินการมาแล้ว 5 ปี ตั้งแต่ปี 1 มกราคม 2561 – 31 ธันวาคม 2565 อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว (ณ 24 พฤศจิกายน 2565) จำนวน 4,890 ราย รวมวงเงิน 20,872 ล้านบาท จากวงเงินโครงการทั้งหมด 25,000 ล้านบาท มีวงเงินคงเหลือจำนวน 4,128 ล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการให้สินเชื่อต่อไป
สำหรับหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการส่วนใหญ่ยังคงเดิม แต่มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์บางประการ อาทิ
-
1. คุณสมบัติของผู้สินเชื่อ 1) ขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมผู้ประกอบการที่มีสถานประกอบการอยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอ จังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอเทพา อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย จากเดิมที่ให้ความช่วยเหลือเฉพาะผู้ประกอบการในจังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และ 2)ผู้ ขอสินเชื่อต้องเป็นผู้ที่ยังไม่เคยได้รับสินเชื่อตามโครงการ หรือเคยได้รับสินเชื่อตามโครงการมาแล้วไม่เกิน 5 ปี เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
2. กำหนดวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น จากเดิมที่ไม่ได้กำหนดวงเงินกู้ต่อราย
3. รัฐบาลชดเชยต้นทุนเงินให้กับธนาคารออมสิน ในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี 6 เดือน รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,250 ล้านบาท โดยให้ธนาคารออมสิน เบิกจ่ายตามที่เกิดขึ้นจริง
เดินหน้าศูนย์ธุรกิจ EEC – เมืองอัจฉริยะวงเงินกว่า 1 ล้านล้าน
ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 3/2565 เรื่อง ร่างแผนปฏิบัติการด้านโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ กรอบวงเงินลงทุน 1.35 ล้านล้านบาท ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
ร่างแผนปฏิบัติการนี้ มีวิสัยทัศน์ “เพื่อเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการเงินระดับภูมิภาค มาตรฐานเทียบเท่าสากลภายในปี 2570 และเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 1 ใน 10 ของโลกในปี 2580” โดยมีเป้าหมายเป็นศูนย์ธุรกิจและเมืองน่าอยู่อัจฉริยะต้นแบบ สำหรับการพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะทั่วประเทศไทยในอนาคต ซึ่งดำเนินการด้วยพันธกิจ คือ 1) พัฒนาพื้นที่ศูนย์ธุรกิจศูนย์การเงิน 2) พัฒนาพื้นที่สำหรับศูนย์ราชการสำคัญ ศูนย์วิจัยและพัฒนา สถาบันการศึกษา 3) พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย น่าอยู่สำหรับคนทุกกลุ่ม 4) เป็นศูนย์ธุรกิจและเมืองน่าอยู่อัจฉริยะนำร่องที่รัฐเป็นเจ้าของที่ดิน เอกชนเป็นผู้ร่วมลงทุน และประชาชนเจ้าของพื้นที่มีส่วนร่วมในการลงทุน ส่วนการขับเคลื่อนร่างแผนปฏิบัติการ ดำเนินการภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
-
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ออกแบบวางแผนเชิงพื้นที่เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าประสงค์
ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างแพลตฟอร์มข้อมูลและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างระบบเทคโนโลยีความน่าอยู่อัจฉริยะ ครบทั้ง 7 ด้าน คือ การสัญจรอัจฉริยะ (Smart Mobility) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)
ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างสภาพแวดล้อมรองรับธุรกิจ เศรษฐกิจนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา
ยุทธศาสตร์ที่ 5 สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน และ
ยุทธศาสตร์ที่ 6 สร้างธรรมาภิบาลมาตรฐานสากล ความร่วมมือระดับนานาชาติ
ดร.รัชดา กล่าวว่า ระยะเวลาในการพัฒนาโครงการ รวม 10 ปี โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2566 – 2570) พัฒนาพื้นที่ 5,795 ไร่ (ร้อยละ 40 ของพื้นที่โครงการ) เช่น พัฒนาย่านศูนย์กลางธุรกิจและศูนย์กลางการเงิน ย่านสำนักงานภูมิภาค สถานที่ราชการ และที่อยู่อาศัย ระยะที่ 2 (พ.ศ.2571 – 2572) พัฒนาพื้นที่ 4,254 ไร่ (ร้อยละ 29 ของพื้นที่โครงการ) เช่น พัฒนาส่วนต่อขยายย่านศูนย์ธุรกิจเฉพาะด้านศูนย์การแพทย์แม่นยำและการแพทย์เพื่ออนาคต ศูนย์การศึกษา ระยะที่ 3 (พ.ศ.2573 – 2575) พัฒนาพื้นที่ 4,570 ไร่ (ร้อยละ 31 ของพื้นที่โครงการ) เช่น พัฒนาพื้นที่ผสมผสานเชิงพาณิชย์และที่อยู่อาศัยและกิจการเป้าหมายต่อเนื่องจนเต็มพื้นที่โครงการ
สำหรับกรอบวงเงินลงทุนประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท ตลอดระยะเวลาโครงการ 10 ปี มีสัดส่วนการลงทุนมาจาก 3 แหล่ง คือ 1. เงินลงทุนโดยภาครัฐ ประมาณ 37,674 ล้านบาท (ร้อยละ 2.8) เช่น ค่าชดเชยที่ดิน ค่าดำเนินการปรับพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคส่วนกลาง 2. รัฐวิสาหกิจหรือเอกชนหรือร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ประมาณ 131,119 ล้านบาท (ร้อยละ 9.7) เช่น ระบบดิจิทัล ระบบบริหารจัดการอัจฉริยะ และระบบขนส่งสาธารณะในเมือง ระบบจัดการขยะ และ 3. ภาคเอกชน ประมาณ 1.18 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 87.5)
ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากการสร้างเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะของ EEC อาทิ 1.เมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ สามารถรองรับประชากรประมาณ 350,000 คน ภายในปี 2575 รวมทั้งคนในพื้นที่เดิม 2.สร้างงานทางตรงไม่น้อยกว่า 200,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2575 มีแรงงานทักษะสูง มีรายได้ที่สูงขึ้น และมีมูลค่าการจ้างงานกว่า 1.2 ล้านล้านบาท มีธุรกิจและบริการตามมาตรฐานสากล มีวิสาหกิจเริ่มต้น (Start-up) ประมาณ 150 -300 กิจการ 3.จากมูลค่าการลงทุนโดยรวมประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท จะสามารถช่วยกระตุ้นการขยายตัวของ GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปี และสร้างพลังทางเศรษฐกิจให้ประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 และ 4.สินทรัพย์ที่โอนกรรมสิทธิ์กลับมาเป็นของรัฐ เมื่อสิ้นสุดสัญญา 50 ปี จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า
แรงงานจัดสินเชื่อบ้าน ดบ.ต่ำให้ผู้ประกันตน 1.5 หมื่นราย
นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 เห็นชอบและรับทราบมาตรการของขวัญปีใหม่ 2566 “ให้ ฟรี ลด แรงงานสุขใจ” ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ จำนวน 6 กิจกรรม
1. ให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ตาม ม.33 ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 15,000 ราย ไม่เกินรายละ 2 ล้านบาท ตั้งแต่มกราคม 2566 เป็นต้นไป
2. ให้เข้าถึงสิทธิการรักษา 5 โรค ตามโรงพยาบาลที่กำหนด 7,500 คน ได้แก่ โรคมะเร็งเต้านม ก้อนเนื้อที่มดลูก โรคนิ่ว โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจและหลอดเลือด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป
3. ให้งานทำ “ต้องการทำงาน ต้องได้งานทำ” โดยมีตำแหน่งงานว่าง ที่หลากหลายไว้ให้บริการ รวม 613,754 อัตรา แบ่งเป็นต่างประเทศ 50,000 อัตราและในประเทศ 563,784 อัตรา
4. ฟรี ค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจในสถานประกอบการสำหรับผู้ประกันตน 300,000 คน ใน 7 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จ. สมุทรปราการ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ระยอง พระนครศรีอยุธยา และสมุทรสาคร ให้ได้รับการตรวจสุขภาพ โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกันตนต่อหัว เฉลี่ยรายละ 910 บาท (กลุ่มเสี่ยง) และ 340 บาท (กลุ่มไม่เสี่ยง) ตั้งแต่มกราคม 2566 เป็นต้นไป
5. ฟรี อบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง และระดับวิชาชีพ 10,000 คน โดยมีหลักสูตรการอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัย ในการทำงาน เช่น กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม ในการทำงานและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และทักษะการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย ในการทำงาน ตั้งแต่มกราคม – มีนาคม 2566
6. ลดอัตราค่าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ คงเหลือ 1 – 3 บาท นาน 3 เดือน มีผู้เข้าร่วมทดสอบ 5,000 คน ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2566
ยุติธรรมจัดกิจกรรมไกล่เกลี่ยหนี้
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการของขวัญปีใหม่ 2566 ตามที่กระทรวงยุติธรรม เสนอ จำนวน 24 กิจกรรม อาทิ เช่น
1. บริการสานสุข 10 กิจกรรม เช่น
-
1.1 ไกล่เกลี่ยทั่วไทยสุขใจปีใหม่ เปิดโอกาสให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ได้เจรจากัน ด้วยความพึงพอใจทั้งสองฝ่าย ลดปัญหาหนี้สิน ส่งผลให้ลูกหนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
1.2 กิจกรรม “LED-Care” ลงพื้นที่พบปะประชาชน ให้คำปรึกษากฎหมาย ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ บทบาท ภารกิจ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
1.3 แอปพลิเคชัน “เช็คดิ” DSI ตรวจสอบการหลอกชักชวนลงทุนเฉพาะกิจแชร์ลูกโซ่ โดยสามารถประเมินความเสี่ยงที่บุคคล บริษัท หรือองค์กรที่เข้ามาชักชวน ให้เข้าร่วมลงทุนว่าเข้าข่ายลักษณะแชร์ลูกโซ่หรือไม่ แบบเบ็ดเสร็จในแอปพลิเคชันเดียว
1.4 กิจกรรมการลดราคาผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์และบริการอาหารเครื่องดื่ม โดยให้เรือนจำ/ทัณฑสถาน ดำเนินการลดราคาผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์และบริการอาหารเครื่องดื่มตามความเหมาะสม
2. ปีใหม่…ให้ความรู้คู่ความสุข 7 กิจกรรม เช่น
-
2.1 ยุติธรรมสร้างสุข ส่งสุขให้กับประชาชน โดยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงช่องทางการขอรับคำปรึกษากฎหมายและการยื่นคำขอรับบริการ เช่น สายด่วน 1111 กด 77 แอปพลิเคชัน Justice care หรือศูนย์ยุติธรรมชุมชน และผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ
2.2 สนับสนุนการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน ในเดือน ธ.ค. 65 – ม.ค. 66 และพัฒนาระบบยื่นคำขอ กรณีสนับสนุนโครงการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน
2.3 ส่งความสุข ส่งความรู้กฎหมายกลับบ้าน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 66 โดยการนำสื่อความรู้กฎหมายในรูปแบบสมุดอินโฟกราฟฟิกกฎหมาย ฉบับพกพา และสื่อความรู้กฎหมายอื่นๆ มอบให้กับประชาชน รวมถึงแนะนำช่องทาง การเข้าถึงความรู้กฎหมาย และการขอรับความช่วยเหลือบริการงานยุติธรรมของ ยธ.
3. ปีใหม่ปลอดภัย 3 กิจกรรม เช่น การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 66 โดยนำผู้ถูกคุมความประพฤติทำงานบริการสังคมปรับภูมิทัศน์ ตัดแต่งต้นไม้ บริเวณทางแยกและจุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับ การบังคับใช้กฎหมายและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขับรถขณะเมาสุรา และรณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และการสุ่มตรวจปัสสาวะ ในผู้ขับขี่รถโดยสารประจำทาง ภายใต้หัวข้อ “ปีใหม่สุขใจ เดินทางปลอดภัยไร้ยาเสพติด” ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (หมอชิต) จตุจักร
4. กฎหมายดี… รับปีใหม่ 4 กิจกรรม เช่น
-
4.1 คุมประพฤติห่วงใย สร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน โดยเตรียมการรองรับการมีผลบังคับใช้ของพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 ให้กรมคุมประพฤติเป็นหน่วยงานหลักในการติดตามเฝ้าระวังพฤติกรรมของผู้พ้นโทษในความผิด 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มความผิดเกี่ยวกับเพศ กลุ่มความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย และกลุ่มความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ
4.2 กิจกรรม “เร่งรัดผลักดันการแก้ไขกฎหมายลดค่าธรรมเนียมในชั้นบังคับคดี” โดยดำเนินการผลักดันให้มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉ. ..) พ.ศ. …. (ในส่วนของการลดค่าธรรมเนียมในชั้นบังคับคดี) ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้ในการลดภาระทางการเงินของลูกหนี้ ลดความเหลื่อมล้ำ ในสังคม ทำให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้มากขึ้น
“ดีอีเอส” ลดค่าส่ง EMS ลง 19 – 48%
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการของขวัญปีใหม่ 2566 ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ จำนวน 24 กิจกรรม อาทิ เช่น
1. แจ้งเตือนภัยจากการหลอกลวงทางออนไลน์และข่าวปลอม ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ตั้งแต่เดือน ม.ค. 66 เป็นต้นไป ให้ประชาชนรู้เท่าทันและสามารถรับมือกับการหลอกลวงรูปแบบใหม่ได้
2. ยกเว้นบริการค่าโทร เช่น บริการ NT Voice ยกเว้นค่าโทรที่โทรไปยังเลขหมายปลายทางที่เป็น Fixed Line/IP Phone ของ NT ทั่วไทย (วันที่ 30 ธ.ค. 65 – 2 ม.ค. 66) และบริการ my โทรฟรีในเครือข่าย และส่ง SMS ฟรี ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (วันที่ 31 ธ.ค. 65 – 1 ม.ค. 66)
3. ส่วนลดค่าบริการไปรษณีย์ไทยด่วนพิเศษ (EMS) ในประเทศ ร้อยละ 19-48 สำหรับประชาชนที่ใช้บริการแบบ Walk In (วันที่ 26 ธ.ค. 65 – 5 ม.ค. 66)
4. ให้ผู้ประกอบการ SMEs ยื่นขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ช่วยลดค่าใช้จ่ายร้อยละ 250 ในการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษา/ฝึกอบรม หรือในการจัดฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้าง โดยเฉพาะทักษะดิจิทัล
5. จัดให้มีบริการ/นวัตกรรมด้านดิจิทัลภาครัฐสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ เช่น ระบบการหางาน ห้องสมุดออนไลน์ ระบบการเดินทาง และระบบสวัสดิการด้านสุขภาพ
6. เพิ่มจำนวนเว็บไซต์และแอปพลิเคชันให้สามารถรองรับการใช้งานของคนพิการและคนทุกกลุ่ม
7. ยกเว้นค่าบริการข้อมูลสารสนเทศด้านอุตุนิยมวิทยาและสถิติภูมิอากาศของประเทศ (1-15 ม.ค. 66) ผ่านเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา
8. ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมให้ดาวโหลดสติ๊กเกอร์ “อัศวินต่อต้านข่าวปลอม” ฟรี ผ่าน Line Sticker Shop @antifakenewscenter สามารถใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 90 วัน
9. จัดงาน NSO Data Camp งานประชุมเสวนาวิชาการและนิทรรศการการใช้ประโยชน์ข้อมูลสถิติ และกิจกรรมนักสถิติรุ่นเยาว์สัญจร เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากข้อมูลสถิติ (เดือน ม.ค. – ก.พ. 66)
10. สร้างความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้กับประชาชน ผ่านสื่อวีดิทัศน์ และอินโฟกราฟิก ผ่านสื่อส่วนกลางของ สนง. คกก. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (วันที่ 28 ธ.ค. 65 – 3 ม.ค. 66)
11. ส่งเสริมการมี Digital ID เพื่อให้ประชาชนประหยัดเวลา/ค่าใช้จ่าย และปลอดภัยในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนสามารถยืนยันตัวตนได้สะดวก ลดความเสี่ยงการถูกปลอมแปลงตัวตน (คาดว่าจะประกาศใช้ภายในเดือน ม.ค. 66)
12. นำผลสำรวจความต้องการของประชาชน สำหรับการวางแผนช่วยเหลือประชาชนของหน่วยงานรัฐ ปี 66เสนอ ครม. ต่อไป เช่น เรื่องควบคุมราคาสินค้าอุปโภค – บริโภค ลดค่าไฟฟ้า/ค่าน้ำประปา/ค่าอินเทอร์เน็ต และแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร
อว.จัด 14 กิจกรรม ส่งเสริมการเรียนรู้แก่ ปชช. – เกษตรกร- SMEs
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการของขวัญปีใหม่ 2566 ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ เพื่อประชาชนทุกช่วงวัย 14 กิจกรรม โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้
1. กิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย 11 กิจกรรม แบ่งเป็น
1.1 กิจกรรมเกี่ยวกับการเรียนรู้เกี่ยวกับอวกาศและภูมิสารสนเทศและดาราศาสตร์ 3 กิจกรรม คือ 1.ให้บริการแหล่งการเรียนรู้ด้านอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Space Inspirium) ระหว่างวันที่ 31 ธ.ค. 65 – 1 ม.ค. 66 ณ Space Inspirium ในพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ. ศรีราชา จ. ชลบุรี 2.ชมนิทรรศการด้านดาราศาสตร์ Night at the Museum เปิดประสบการณ์ชมนิทรรศการดาราศาสตร์และท้องฟ้าจำลองรอบพิเศษยามค่ำคืนและกิจกรรมดูดาวผ่านท้องฟ้าจริง ระหว่างวันที่ 23-25 ธ.ค. 65 และ 3.NARIT Public Night Countdown 2023 ชมพาเหรดดาวเคราะห์ (อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ ยูเรนัส) ดูดาวข้ามปี และร่วมนับถอยหลังเริ่มศักราชใหม่ ในวันที่ 31 ธ.ค. 65 ณ อุทยานดาราศาสตร์ สิรินธร จ. เชียงใหม่ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ. นครราชสีมา จ. ฉะเชิงเทรา และ จ. สงขลา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
-
1.2 จัดเต็มความสนุกสนาน ฟรี! โดยจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ ในพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 65 – 8 ม.ค. 66 ได้แก่ 1.กิจกรรมห้องทดลองวิทยาศาสตร์ (Science Lab) ณ อพวช. คลองห้า จ. ปทุมธานี และจัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. (เดอะสตรีท รัชดา กรุงเทพฯ จ. เชียงใหม่ และ จ. นครราชสีมา) และ 2.การแสดง ทางวิทยาศาสตร์ Science Show โชว์สุดมหัศจรรย์ ณ อพวช. คลองห้า ปทุมธานี
1.3 เปิดตัวแพลตฟอร์ม Traffy Fondue 2023 ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมืองเวอร์ชันใหม่ที่ใช้งานง่ายขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งเปิดตัวไลน์แชทบอท Fondue Manager เพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนให้สะดวกง่ายขึ้นผ่านทาง LINE และเจ้าหน้าที่สามารถบริหารจัดการปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา “ฟรี” ทุกหน่วยงานทั่วประเทศ
1.4 จัดทำแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันเกี่ยวกับสุขภาพ ได้แก่ 1. A-MED Telehealth แพลตฟอร์มดิจิทัลดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เป็นระบบบริการทางการแพทย์ทางไกล และ 2. “แอปพลิเคชันรู้ทัน” สื่อสารความเสี่ยง ด้านสุขภาพ ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงหรือรับการแจ้งเตือนข้อมูลข่าวสาร ที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้อย่างสะดวกและรวดเร็วจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น การแพร่ระบาดของไข้เลือดออก สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และดัชนีความร้อน ที่นำไปสู่โรคลมแดด และพร้อมขยายผลสู่ความเสี่ยงสุขภาพอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
1.5 แพลตฟอร์ม BrighterBee Talent Solution ที่เปิดให้นักศึกษาสามารถค้นหาโอกาสทางอาชีพ ทั้งในองค์กรขนาดใหญ่ และ Start Up ในหลากหลายอุตสาหกรรม ช่วยสร้างโปรไฟล์อย่างมืออาชีพ รวมทั้งมีหลักสูตรที่รวบรวม ไว้ในแพลตฟอร์มนี้กว่า 250 หลักสูตร ให้เข้าไปเรียนรู้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
1.6 กิจกรรม ณ สถานีวิจัยลำตะคอง ระหว่างเดือน ธ.ค. 65 – ม.ค. 66 โดยให้บริการจุดพักรถในช่วงการเดินทางไปภาคอีสาน เส้นทาง ถ. มิตรภาพ และจุด check-in ทุ่งดอกผักเสี้ยนบานและซุ้มดอกไม้นานาพรรณให้เข้าชมฟรี
2. กิจกรรมเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรม 3 กิจกรรม แบ่งเป็น
-
2.1 ลดค่าบริการในการทดสอบและสอบเทียบแบบปกติ ร้อยละ 30 ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.- 31 มี.ค. 66 เพื่อสนับสนุนบริการทางวิทยาศาสตร์และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ SME ภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป
2.2 ไลน์บอทโรคข้าว (Rice Disease Linebot) : โมบายแอปพลิเคชันเพื่อการวินิจฉัยโรคข้าว เพื่อให้เกษตรกรหรือผู้ใช้งานที่พบต้นข้าวที่สงสัยว่าจะเป็นโรค สามารถถ่ายรูปแล้วอัปโหลดรูปเข้าในกลุ่มไลน์บอท เพื่อวิเคราะห์โรคข้าว และระบบจะส่งคำวินิจฉัยตอบกลับมาพร้อมคำแนะนำในการแก้ไข
2.3 การจัดการความรู้เพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวปิ่นเกษตรและการปลูกพืชหลังนา โดยจัดกิจกรรมการบริการวิชาการในการพัฒนาการผลิตข้าวและชาวนาไทยในพื้นที่ชุมชน 5 จังหวัด (นครปฐม ราชบุรี ชัยนาท อุทัยธานี และนครศรีธรรมราช) เพื่อเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพด้านแรงงาน การนำผลผลิตมาพัฒนาต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับรายได้และลดต้นทุนสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน
พม.เปิดบริการซ่อมบ้านให้กลุ่มเปราะบาง 5 หมื่นหลัง
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ให้แก่ประชาชน ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอเพื่อให้ประชาชนมีบ้านอยู่อาศัยที่อบอุ่นและมีรายได้จากการสร้างอาชีพ โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. ซ่อมบ้าน สร้างสุข จำนวน 50,000 หลัง ให้บ้านของเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ และครอบครัวผู้มีรายได้น้อยมีความมั่นคงปลอดภัย มีมาตรฐาน มีสภาพแวดล้อมและระบบสาธารณูปโภคที่เหมาะสม ตามหลักการการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ทุกกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น และภาคประชาสังคม โดยบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนในการดำเนินการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย
2. บ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อย 15,000 หน่วย โดยแบ่งออกเป็นโครงการบ้านเช่า 1,500 บาทต่อเดือน (50 บาทต่อวัน) จำนวน 5,000 หน่วยของการเคหะแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ดี สังคมที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และโครงการบ้านเช่าซื้อ จำนวน 10,000 หน่วย ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพื่อส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เข้าถึงแหล่งเงินเพื่อที่อยู่อาศัยได้อย่างเสมอภาค
3. สร้างอาชีพ สร้างรายได้ จำนวน 15,300 คน โดยแบ่งออกเป็น 3 โครงการ คือ
3.1.สร้างผู้ดูแลเด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบางติดเตียง (Care Giver) จำนวน 10,000 คน โดยการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะในการดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบางติดเตียง ให้แก่กลุ่มเป้าหมายใน 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรพื้นฐาน (18 ชั่วโมง) หลักสูตรระยะกลาง (70 ชั่วโมง) และหลักสูตรระยะยาว (420 ชั่วโมง) ที่ผ่านการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในกลุ่ม 10,000 คนนี้นอกจากจะมีอาชีพและรายได้แล้วยังสามารถสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับกลุ่มเปราะบางที่ดูแลด้วย
3.2.สร้างอาชีพธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและบริการ สำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยว กลุ่มเปราะบาง และผู้ว่างงาน จำนวน 5,000 คน โดยการส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะในธุรกิจการท่องเที่ยว สถาบันเสริมความงาม ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม และร้านสปา พร้อมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้โดยส่งเสริมทักษะที่ครบวงจรในการประกอบอาชีพเพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
3.3.สร้างนักขายมือทอง จำนวน 300 คน โดยพัฒนาทักษะด้านการขายไปสู่การเป็นนักขายมืออาชีพให้แก่นักเรียน นักศึกษา และผู้ว่างงานที่สนใจได้เข้าร่วมแนะนำโครงการคหะแห่งชาติทั่วประเทศ โดยได้รับค่าตอบแทนเหมาะสม เพื่อส่งเสริมให้ประชานมีรายได้
แจงโครงการสร้างพิพิธภัณฑ์องค์ความรู้เรื่องไม้มีค่า
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าโครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์องค์ความรู้เรื่องไม้มีค่าเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน และหอประชุมอเนกประสงค์นานาชาติเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยมีความคืบหน้าสรุปรายละเอียดได้ดังนี้
โครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์องค์ความรู้เรื่องไม้มีค่าเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน ได้ย้ายพื้นที่ก่อสร้างโครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ฯ ไปยังที่ดินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ เขตวังทองหลาง เนื้อที่ 79 ไร่ 2 งาน 60.9 ตารางวา ซึ่งมีขนาดพื้นที่เพิ่มมากขึ้นจากเดิม ดังนั้นจึงจะขยายขนาดอาคารเป็น 25,000 ตารางเมตรและปรับปรุงแนวคิดในการออกแบบให้รองรับการสื่อความหมายในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้และคุณค่าของทรัพยากรป่าไม้ และยังมีการขยายขนาดสัดส่วนความสูงเพื่อให้สอดคล้องกับภูมิทัศน์ ประโยชน์ใช้สอย และความงาม เนื่องจากสถานที่ตั้งอาคารแห่งใหม่มีสภาพภูมิทัศน์โดยรอบแตกต่างจากพื้นที่เดิม ซึ่งระยะเวลาก่อสร้างและตกแต่งตามแบบของกรมศิลปากร รวม 5 ปี
สำหรับโครงการจัดสร้างหอประชุมอเนกประสงค์นานาชาติเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีการดำเนินการ 2 ส่วน คือ หอประชุมอเนกประสงค์ฯ จะเป็นอาคารสูง 3 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น ประกอบด้วย สำนักงานห้องแถลงข่าว โถงพักคอย ห้องจัดเลี้ยง และห้องประชุมขนาดใหญ่ โดยมีผลการก่อสร้างคิดเป็นร้อยละ 91.24 ช้ากว่าแผนร้อยละ 6.16 และในส่วนของอาคารกรมสวัสดิการทหารบกที่เป็นอาคารสำนักงานสูง 7 ชั้นพร้อมที่จอดรถมีหลังคา 33 คัน โรงอาหารจุคนได้ 250 คน มีผลการก่อสร้างดำเนินการแล้วเสร็จตามสัญญา
นางสาวทิพานัน กล่าว สำหรับพิพิธภัณฑ์องค์ความรู้เรื่องไม้มีค่าเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินแห่งนี้นั้น รัฐบาลตั้งใจจัดสร้างขึ้นเพื่อจัดแสดงสมบัติของชาติ แสดงองค์ความรู้เรื่องไม้มีค่าของประเทศไทย ให้ประชาชนเกิดความรัก หวงแหนในทรัพยากรป่าไม้ เกิดจิตสำนึกร่วมกันในการพิทักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของชาติ อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ในการจัดแสดงงานศิลปะ ด้านประติมากรรม จิตรกรรม งานฝีมือต่างๆ ของช่างไทย จะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทยที่สร้างโดยคนไทยเอง มีความยิ่งใหญ่อลังการ ถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใช้ไม้มีค่าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
จัดงบฯ 6,693 ล้าน ให้ กฟน.-กฟภ.ลดค่าไฟบ้าน
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการเร่งด่วนด้านพลังงานเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงาน สำหรับค่าไฟฟ้าประจำเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2565 ตามที่กระทรวงมมหาดไทยเสนอ โดยพิจารณาอนุมัติให้การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคใช้จ่ายในวงเงินรวม 6,693.31 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินจากงบประมาณปี 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับค่าไฟฟ้าเดือน ต.ค. – ธ.ค. 2565 เพื่อให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วย/เดือน โดยให้การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเบิกจ่ายเงินจากสำนักงบประมาณต่อไป
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการของมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านไฟฟ้า โดยให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน เป็นเวลา 4 เดือน สำหรับค่าไฟฟ้าประจำเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2565 แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ส่วนลด 92.04 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย (กลุ่มเปราะบาง) ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน และกลุ่มที่ 2 ส่วนลดค่า Ft แบบขั้นบันไดร้อยละ 15-75 (จำนวน 10.30-51.50 สตางค์ต่อหน่วย) สำหรับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301-500 หน่วยต่อเดือน ซึ่ง ครม. มีมติเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 อนุมัติงบกลางปี 2565 ให้การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ใช้จ่ายในวงเงิน 2,231.10 ล้านบาท เพื่อให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าของเดือนกันยายน 2565 ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน
“สำหรับส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าของเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2565 ที่ทางการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ประมาณการงบประมาณที่ใช้ดำเนินการ 6,693.31 ล้านบาทนั้น ครม. เห็นชอบให้ใช้จ่ายจากงบประมาณกลางปี 2566 โดยจะเบิกจ่ายจากงบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป ซึ่งทางการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไปด้วย” นางสาวทิพานัน กล่าว
ไฟเขียวงบฯจัดงาน “Expo 2025 Osaka Kansai” 973 ล้าน
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแผนการดำเนินงานและกรอบงบประมาณ การจัดงาน Expo 2025 Osaka Kansai ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ
สำหรับสาระสำคัญในเรื่องนี้ ประเทศไทยมีกำหนดจะเข้าร่วมงาน Expo 2025 Osaka Kansai ระหว่างวันที่ 13 เม.ย. -13 ต.ค. 2568 รวมระยะเวลา 6 เดือน ณ เกาะยูเมะชิมะ นครโอซากา ซึ่งเป็นงานแสดงนิทรรศการระดับโลก หรือ World Expo ที่จัดขึ้นทุก 5 ปี ภายใต้การดูแลขององค์การนิทรรศการนานาชาติ(BIE) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบ เนื่องจากหัวข้อหลักของงานครั้งนี้เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การแพทย์ และสาธารณสุข ซึ่งประเทศไทยจะดำเนินการภายใต้แนวคิด สร้างสรรค์ชีวิตเพื่อความสุขที่ยิ่งใหญ่ (THAILAND Empowering Lives for Greatest Happiness)
ทั้งนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสิ้น 8 ครั้ง และสรุปรูปแบบการจัดนิทรรศการ แผนงานและกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อเสนอให้ ครม. อนุมัติในครั้งนี้ โดยในส่วนของรูปแบบการจัดนิทรรศการ ประเทศไทยจะจัดแสดงศาลาไทย (Thailand Pavilion) ซึ่งเป็นอาคารทรงไทยชื่อว่า วิมานไทย (VIMAN THAI) ดำเนินการจัดแสดงทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ นำศิลปะชั้นสูงมาใช้ในการออกแบบอาคารการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ รักษาความปลอดภัย ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นใช้พลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาด
ศาลาไทยจะจัดแสดงบนพื้นที่ A13 โซน Connecting Lives ขนาดพื้นที่ 3,500 ตารางเมตร ในรูปแบบ Type A Pavilion :Self-Built Pavilion ที่ผู้เข้าร่วมงานต้องก่อสร้างอาคารนิทรรศการเองตามผังผู้จัดงานและรับผิดชอบการรื้อถอน เคลื่อนย้ายอาคาร ปรับภูมิทัศน์ เมื่อเสร็จสิ้นงาน แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 5 โซน โดยใช้ชื่อ S.M.I.L.E.ประกอบด้วย
โซนที่ 1 S : SIAM จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทย
โซนที่ 2 M: Medical Hub เป็นโซนไฮไลต์ของนิทรรศการ แสดงการเป็นศูนย์กลางการแพทย์นานาชาติ เป็นผู้นำด้านการผลิตวัคซีนแห่งหนึ่งของโลกและเน้นการจัดแสดงนวัตกรรมการแพทย์ของไทย เทคโนโลยีการจัดการทางสาธารณสุขและการรับมือกับวิกฤตโควิด19
โซนที่ 3 I:Intelligence toward innovation แสดงเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะศักยภาพการผลิตอาหารและสมุนไพร
โซนที่ 4 L : Living Lab จำลองวิถีไทยรูปแบบ Workshop และแบบเชิงพาณิชย์ด้านต่างๆ โดยเป็นกิจกรรมหมุนเวียนแต่ละสัปดาห์หรือเดือนไม่ซ้ำกัน และโซนที่5 E:Enhanceand Enjoy our family แสดงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่น(ประเทศเจ้าภาพ) ที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันยาวนานกว่า 600 ปี
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า แผนการดำเนินงาน จะแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1.การเตรียมการเข้าร่วมงาน ซึ่งส่วนนี้หลังจาก ครม. ให้ความเห็นชอบแล้วช่วงปี 2566 จะดำเนินการจัดจ้างผู้รับจ้างจัดงาน ยื่นแบบก่อสร้างและเซ็นสัญญาเข้าร่วมจัดนิทรรศการ ประชุมกับ BIE ตามกำหนด จากนั้นปี 2567 จะเป็นช่วงการก่อสร้าง Thailand Pavilion ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. 2567 และเริ่มเผยแพร่สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ 2.ระยะดำเนินการเข้าร่วมจัดนิทรรศการ ในปี 2568 และ 3.ระยะหลังดำเนินการเข้าร่วมจัดนิทรรศการ ในปี 2569 ที่จะดำเนินการื้อถอน Thailand Pavilion และขนส่งวัสดุจัดแสดงกลับประเทศไทย
สำหรับกรอบงบประมาณจะใช้จ่ายจากงบประมาณประจำปี 2566-2569 รวม 4 ปี รวม 973.48 ล้านบาท แยกเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการบริหารและเตรียมงานรวม 105.60 ล้านบาท และสำหรับดำเนินการจัดงานนิทรรศการ รวม 867.88 ล้านบาท โดยหากแยกเป็นการใช้จ่ายงบประมาณรายปีจำแนกเป็นปี 2566 จำนวน 89.64 ล้านบาท ปี 2567 จำนวน 331.31 ล้านบาท ปี 2568 จำนวน 507.61 ล้านบาท และ ปี 2569 จำนวน 44.91 ล้านบาท
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า การเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการในงาน Expo 2025 Osaka Kansai ถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ Medical Hub ในภูมิภาค บนเวทีโลก ส่งเสริมความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือกับนานาประเทศ เปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์กับนานาชาติ การขยายตลาดอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ให้ผู้ประกอบการไทย ส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในอนาคต
ยกเว้นค่าทางด่วน – มอเตอร์เวย์ – รถไฟฟ้าสายสีแดง 7 วัน
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบการจัดของขวัญปีใหม่เพื่อมอบแก่ประชาชนของหลายหน่วยงาน โดยส่วนของกระทรวงคมนาคมได้เสนอของขวัญปีใหม่ที่จะมอบให้กับประชาชนหลายโครงการด้วยกัน อาทิ เปิดให้วิ่งฟรีทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 6 สายบางปะอิน – สระบุรี -นครราชสีมา ช่วงอำเภอปากช่อง – อำเภอสีคิ้ว – อำเภอขามทะเลสอ และยกเว้นค่าผ่านทาง มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 และหมายเลข 9 และ ยกเว้นค่าผ่านทาง ทางพิเศษบูรพาวิถีและกาญจนาภิเษก ระหว่างเวลา 0.01 น. ของวันที่ 29 ธันวาคม 2565 จนถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 4 มกราคม 2566
ยกเว้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ระหว่างเวลา 12.00 น. ของวันที่ 31 ธ.ค.2565 ถึงเวลา เวลา 12.00 น. ของวันที่ 1 ม.ค. 2566, เรือไฟฟ้า (EV Boat) จะให้บริการฟรี ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2565 -1 มกราคม 2566, ลดค่าโดยสาร บขส. 10% ทุกเส้นทาง สำหรับผู้โดยสารที่จองตั๋วรถ บขส. ล่วงหน้าผ่านช่องทางออนไลน์ ตรวจรถฟรี โดยกรมการขนส่งทางบก ตลอดเดือนธ.ค. 2565
ขยายเวลาการเดินรถเมล์ ในเขตกรุงเทพฯ ในเส้นทางที่ผ่านสถานที่จัดงานเคานท์ดาวน์ (Count Down) เช่น สยามพารากอน ไอคอนสยาม และเอเชียทีค ถึงเวลา 02.00 น. ของวันที่ 1 ม.ค. 2566 ขยายเวลาเปิดให้บริการเดินรถของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ของวันที่ 31 ธ.ค. 2565 จนถึงเวลา 02.00 น. ของวันที่ 1 ม.ค. 2566 และขยายเวลาให้บริการของอาคารและลานจอดรถ MRT ทั้ง 2 สาย ตั้งแต่เวลา 05.00 น. ของวันที่ 31 ธ.ค. 2565 จนถึงเวลา 03.00 น. ของวันที่ 1 ม.ค. 2566 บริการจอดรถฟรี ณ ลานจอดรถระยะยาว โซน C ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ ท่าอากาศยานภูเก็ต 29 ธ.ค. 2565 ถึงวันที่ 3 ม.ค. 2566
พลังงานตรึงราคาน้ำมันทุกชนิด เริ่ม 24 ธ.ค.65 – 3 ม.ค.66
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า กระทรวงพลังงานจะดำเนินมาตรการตรึงราคาน้ำมันทุกชนิดในช่วงวันที่ 24 ธ.ค. 2565- 3 ม.ค. 2566 เตรียมการขอขยายระยะเวลาคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG โดยกำหนดราคาขายปลีกอยู่ที่ 408 บาท/ถัง 15 กก. ตั้งแต่ 1-31 ม.ค. 2566, ให้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม (LPG) แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 100 บาท/คน/3เดือน และให้แก่ร้านค้าหาบเร่ จำนวน 100 บาท/คน/เดือน ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 2566, บริการตรวจสภาพรถโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย, รวมถึงแจกส่วนลดครึ่งราคาที่พักที่เขื่อน กฟผ. จำนวน 30,000 สิทธิ์
ตปท.เว้นค่าธรรมเนียมทำพาสปอร์ตด่วน 3-13 ม.ค.ปีหน้า
ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศ จะให้บริการหนังสือเดินทางด่วนภายในวันเดียว (ทำเช้า รับบ่าย) โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมเล่มด่วนตั้งแต่วันที่ 3-13 ม.ค. 2566 (ยกเว้นวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ), บริการแปลเอกสารภาษาอังกฤษโดยไม่คิดค่าบริการ (จำกัดคนละ 1 เอกสาร) ตั้งแต่วันที่ 3-31 ม.ค. 2566 ณ กรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ และในช่วงเวลาและสถานที่เดียวกันนี้ยังจะมีบริการรถทะเบียนเคลื่อนที่ของ กทม. ณ กรมการกงสุล โดยรถทะเบียนเคลื่อนที่ของ กทม. จะจอดให้บริการที่ลาดจอดรถกรมการกงสุล เพื่อให้บริการทำบัตรประชาชนใหม่ การคัดสำเนาเอกสารทะเบียนราษฎรภาษาไทย-อังกฤษ 3 ประเภท ได้แก่ ทะเบียนบ้าน สูติบัตร และมรณบัตร
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่กระทรวงการต่างประเทศจะให้บริการตลอดปี คือ บริการหนังสือเดินทางวันหยุดสุดสัปดาห์ (เสาร์-อาทิตย์) ณ สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวปทุมวัน(ศูนย์การค้า MBK Center) และบางใหญ่ (ศูนย์การค้า Central Plasa West Gate) ทั้งรูปแบบบูธปกติและเครื่องทำหนังสือเดินทางด้วยตนเอง และ การให้บริการกงสุลสัญจร ของขวัญตลอดปี เพื่อให้บริการหนังสือเดินทางเคลื่อนที่ในพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ เดือนละ 1 ครั้ง รวม 12 ครั้ง เพื่อให้บริการประชาชนในพื้นที่จังหวัดที่ไม่มีสาขาสำนักงานหนังสือเดินทางตั้งอยู่
สั่ง กฟผ.ยุติโครงการไฟฟ้าพลังน้ำบ้านจันเดย์
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยุติการดำเนินโครงการไฟฟ้าพลังน้ำบ้านจันเดย์ ซึ่งตามโครงการฯ จะมีการก่อสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อจ่ายไฟใช้ในภาคตะวันตก มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 2×9 เมกะวัตต์ (รวม 18 เมกะวัตต์)
ทั้งนี้ โครงการการไฟฟ้าพลังน้ำบ้านจันเดย์ เคยได้รับการอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2559 มีวงเงินลงทุนตามโครงการ 3,542 ล้านบาท โดยโครงการฯ ได้รับการบรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-79 (แผน PDP2015) มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2562 และต่อมาได้รับการบรรจุในแผน PDP ปี 2561-80 หรือ แผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ซึ่งมีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2566
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า คณะกรรมการ กฟผ. ได้มีมติให้ กฟผ.ยุติการดำเนินโครงการฯ และนำเสนอกระทรวงพลังงานเสนอให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบตามขั้นตอน เนื่องด้วยที่ผ่านมา กฟผ. มีอุปสรรคเกี่ยวกับการดำเนินการจัดหาที่ดินสำหรับดำเนินโครงการฯ ซึ่งตามแผนจะตั้งอยู่บนลำน้ำแควน้อย บริเวณตอนล่างของเขื่อนวชิราลงกรณ โดยอยู่ห่างจากท้ายเขื่อนวชิราลงกร เป็นระยะทางตามลำน้ำประมาณ 22.5 กิโลเมตร และอยู่เหนือบ้านจันเดย์ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ประมาณ 2 กิโลเมตร ใช้พื้นที่ก่อสร้างประมาณ 180 ไร่ บนที่ดินที่มีเอกสารสิทธิทั้งหมด แต่ปรากฎว่า กฟผ. ไม่สามารถซื้อที่ดินเพื่อดำเนินโครงการตามรายงานศึกษาความเหมาะสมโครงการได้ เนื่องจากเจ้าของที่ดินมีความประสงค์ขายในราคาที่ต่อรองจนถึงที่สุดและสูงกว่าราคาที่ประเมินไว้ในรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการถึง 2 เท่า
ประกอบกับ กฟผ. มีข้อจำกัดทางเทคนิคในการคัดเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสมทางวิศวกรรมสำหรับก่อสร้างเขื่อนสำหรับโครงการฯ ทำให้ไม่สามารถหาพื้นที่อื่นทดแทนได้ และเนื่องด้วยโครงการฯ จะต้องใช้ระยะเวลาเตรียมการและก่อสร้างประมาณ 5 ปี โดยสภาพการณ์ในปัจจุบันจึงไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จเพื่อจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ทันภายในปี 2566 ตามแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่1 กำหนดได้
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า เมื่อพิจารณาถึงประเด็นความคุ้มค่าของการลงทุนตามโครงการฯ ในสถานการณ์ด้านพลังงานปัจจุบันแล้ว กฟผ. ยังพบว่าไม่มีความคุ้มค่ากับการลงทุน เทียบกับช่วงที่เริ่มศึกษาความเหมาะสมของโครงการในปี 2556 ที่ขณะนั้นยังพบว่ายังมีความคุ้มค่า เมื่อเทียบกับการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนอื่น แต่เมื่อการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ด้านพลังงานเปลี่ยนไป พบว่า ณ ปัจจุบันค่าไฟจากโครงการฯ มีราคาสูงกว่าพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เช่น โครงการพลังไฟฟ้าแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเศรษฐกิจฐานรากกำลังการผลิตมากกว่า 3 เมกะวัตต์ เป็นต้น
นอกจากนี้ กฟผ. รายงานว่า เมื่อยกเลิกโครงการฯ แล้วไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เนื่องจากระบบไฟฟ้าในภาคตะวันตก มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หลายแห่ง และมีปริมาณไฟฟ้าสำรองเพียงพอกับการใช้ไฟฟ้า ขณะเดียวกันประเทศไทยมีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ อีก โดย กฟผ. ได้วางแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอื่นที่มีเสถียรภาพและคุ้มค่าในการลงทุนมากกว่า
เห็นชอบ ขรก.อุปสมบทถวายพระพร “เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา” ไม่ถือเป็นวันลา
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ให้ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว ของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ลาเข้าร่วมชัยมงคลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ณ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก โดยไม่ถือเป็นวันลา เสมือนเป็นการปฏิบัติราชการและได้รับเงินเดือนตามปกติ ระหว่างวันที่ 26 ธ.ค. 2565 – 9 ม.ค. 2566
ทั้งนี้ โครงการบรรพชาอุปสมบทฯ ครั้งนี้ จะดำเนินการโดยกรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ให้หายจากอาการประชวรและมีพระพลานามัยแข็งแรงโดยเร็ววัน และเป็นการแสดงความจงรักภักดีโดยการเจริญจิตภาวนา อีกทั้งเป็นโอกาสให้ผู้เข้าร่วมอุปสมบทได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมวินัยและปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา โดยการบรรพชาอุปสมบทจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 26 ธ.ค. 2565 – 9 ม.ค. 2566 รวมเวลา 15 วัน
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่เคยลาบรรพชาอุปสมบทระหว่างรับราชการมาแล้วก็สามารถบรรพชาอุปสมบทในครั้งนี้ได้อีก และการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้จะไม่เป็นเหตุให้เสียสิทธิในการลาบรรพชาอุปสมบทตามปกติในอนาคตด้วย
สำหรับขั้นตอนดำเนินโครงการ กรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม จะเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการฯ ระหว่างวันที่ 19-22 ธ.ค. 2565 และมีการเตรียมการก่อนบรรพชาอุปสมบท ในวันที่ 23-24 ธ.ค. 2565 มีพิธีปลงผม ในวันที่ 25 ธ.ค. 2565 และบรรพชาอุปสมบทในวันที่ 26 ธ.ค. 2565 ต่อไป
ตั้ง “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” นั่งเลขาธิการนายกฯ
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐดังนี้
1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงวัฒนธรรม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้งนายมณเฑียร ชูเสือหึง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจิตรกรรม (จิตรกรเชี่ยวชาญ) สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านช่างศิลปกรรม (ช่างศิลปไทย) (นักวิชาการช่างศิลป์ทรงคุณวุฒิ) กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้
-
1. ร้อยโท พรหเมศ พหลพลพยุหเสนา รองอธิบดีกรมอาเซียน ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นางสาวพินท์สุดา ชัยนาม รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงยุติธรรม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้
-
1. นายเสกสรร สุขแสง รองอธิบดีกรมบังคับคดี ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นางสาวพัชรศรี ศรีเมือง ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
4. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงแรงงาน)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงแรงงาน ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้
-
1. นางสาวบุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
2. นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
5. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
6. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
7. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้ง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป
8. การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง จำนวน 7 คน เพื่อบริหารและดำเนินกิจการของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงให้เกิดความต่อเนื่อง และบรรลุตามวัตถุประสงค์ของสถาบันอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
-
1. นายชวลิต ชูขจร เป็น ประธานกรรมการ
2. นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ เป็น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเกษตร
3. นายดนุชา สินธวานนท์ เป็น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาสังคม
4. นางสาวลดาวัลย์ คำภา เป็น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ
5. นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เป็น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจและการตลาด
6. นายสมชาย พฤติกัลป์ เป็น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารจัดการ
7. นายนนทิกร กาญจนะจิตรา เป็น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารงบประมาณ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป
9. แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน จำนวน 2 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ดังนี้ 1. นายอนุชา เศรษฐเสถียร 2. นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ในครั้งต่อๆ ไป ให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดด้วย ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 (เรื่อง การดำเนินการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย)
10. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย พ.ศ. 2551
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย จำนวน 12 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 ดังนี้
1. ผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านศิลปะร่วมสมัย
-
1.1 นางกนกวลี กันไทยราษฎร์ สาขาวรรณศิลป์
1.2 ผู้ช่วยศาสตราจารย์โสภาวรรณ บุญนิมิตร สาขาภาพยนตร์
1.3 นายพิชิต วีรังคบุตร สาขาเรขศิลป์
1.4 นายศิริชัย ทหรานนท์ สาขาออกแบบเครื่องแต่งกาย
1.5 นายสมเถา สุจริตกุล สาขาดนตรี
1.6 นางมาริษา เจียรวนนท์ สาขาทัศนศิลป์
1.7 นางเยาวณี นิรันดร สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม ประติมากรรม)
1.8 นายณรงค์ ปรางค์เจริญ สาขาดนตรี
2. ผู้ทรงคุณวุฒิจากนักวิชาการด้านศิลปะร่วมสมัยจากสถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน
-
2.1 ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง สาขาศิลปะการแสดง
2.2 ศาสตราจารย์เอกชาติ จันอุไรรัตน์ สาขามัณฑนศิลป์
2.3 ศาสตราจารย์ศุภกรณ์ ดิษฐพันธุ์ สาขาทัศนศิลป์ (มีเดียอาร์ตและสื่อผสม)
2.4 ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญเสริม เปรมธาดา สาขาสถาปัตยกรรม
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป
11. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ดังนี้
-
1. นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง
2. นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง
3. นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
12. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงอุตสาหกรรม)
คณะรัฐมนตรีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 4 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งว่าง และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้
-
1. นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดี (นักบริหาร ระดับต้น) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงอุตสาหกรรม
2. นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดี (นักบริหาร ระดับต้น) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงอุตสาหกรรม
3. นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม
4. นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการ (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้น
13. แต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ดังนี้
-
1. นายแสน บานแย้ม ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายสุนทร ปานแสงทอง))
2. นายพิริยะ โตสกุลวงศ์ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายสุนทร ปานแสงทอง))
อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 20 ธันวาคม 2565เพิ่มเติม