ThaiPublica > เกาะกระแส > กระทรวงพลังงานโต้ ปมตั้ง ‘ผู้ว่า กฟผ.’ ล่าช้า

กระทรวงพลังงานโต้ ปมตั้ง ‘ผู้ว่า กฟผ.’ ล่าช้า

18 ตุลาคม 2023


กระทรวงพลังงานโต้ ปมตั้ง ‘ผู้ว่า กฟผ.’ ล่าช้า แจงเหตุผลทำไมต้องส่งเรื่องกลับไปให้ บอร์ด กฟผ.พิจารณา เกรงผิดมารยาท ยืนยันไม่ได้ “เท” – เรื่องอายุการทำงานไม่ถึง 2 ปี ไม่เป็นประเด็น ยังสามารถเสนอชื่อ ‘เทพรัตน์ เทพพิทักษ์’ ได้

หลังจากที่นำเสนอข่าวการสรรหาผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ล่าช้ามานานกว่า 7 เดือน ทั้ง ๆที่ผ่านกระบวนการสรรหามาอย่างถูกต้องและชอบธรรม จนกระทั่งคณะกรรมการสรรหา ตัดสินใจเลือกนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการ กฟผ. นำเสนอที่ประชุมบอร์ด กฟผ.มีมติแต่งตั้งนายเทพรัตน์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ.คนที่ 16 จากนั้นได้นำเสนอต่อที่ประชุม ครม.รักษาการมีมติเห็นชอบการแต่งตั้งนายเทพรัตน์ไป 2 ครั้ง และได้นำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาไปอีก 2 ครั้ง ตามแนวทางปฏิบัติและขั้นตอนการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 169 (2) โดยครั้งแรก กกต.เสียงข้างมากไม่เห็นด้วย แต่ครั้งที่ 2 กกต. มีหนังสือแจ้งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขอให้ส่งเรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. คืน ครม. ชุดใหม่ เพื่อทราบ และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ปรากฏว่ากระทรวงพลังงานไม่ยืนยันชื่อนายเทพรัตน์ แต่ส่งชื่อนายเทพรัตน์กลับไปให้บอร์ด กฟผ.ยืนยัน แต่บังเอิญบอร์ด กฟผ.ตอนนี้อยู่ระหว่างการสรรหากรรมการเข้ามาทำหน้าที่แทนบอร์ด กฟผ.ชุดก่อนที่ลาออก เนื่องจากนายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน เกษียณ ซึ่งการแต่งตั้งบอร์ด กฟผ.ชุดใหม่ คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 เดือน ทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยในกระบวนการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ.ครั้งนี้

ล่าสุด นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ชี้แจงประเด็นนี้ผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่าน ทั้งรัฐบาล , คณะรัฐมนตรี (ครม.) , ปลัดกระทรวงพลังงาน และบอร์ด กฟผ. จึงทำให้เกิดปัญหาขลุกขลักในเรื่องของขั้นตอนต่าง ๆ หากย้อนหลังกลับไปดูเมื่อมีการยุบสภาแล้ว การแต่งตั้งอธิบดี หรือ ปลัดกระทรวงอะไรต่าง ๆ ก็หยุดชะงักลง และต้องรอให้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเรียบร้อย ถึงจะมาดูว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หรือ ครม. ชุดใหม่จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร

นายประเสริฐ กล่าวถึงประเด็นที่มีการนำเสนอข่าวกันไปก่อนหน้านี้ว่า ตนก็ไปดูข่าวย้อนหลัง พบข้อเท็จจริงถูกต้องประมาณ 95% แต่มีอยู่ประมาณ 2- 3 ประเด็นที่คลาดเคลื่อนนิดหน่อย ซึ่งตนขอชี้แจงดังนี้

    ประเด็นแรก เรื่องการเซ็นสัญญาจ้างแล้วนั้น ตนได้ตรวจสอบกลับไปแล้ว และได้รับการยืนยันว่า “ยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญาจ้าง” เพราะถ้าเซ็นสัญญาจ้างไปแล้ว ก็จบ ต้องจ่ายเงินเดือน แต่ตอนนี้ยังไม่ได้เซ็นสัญญาจ้าง
    ประเด็นที่ 2 เรื่องอายุการทำงานของนายเทพรัตน์ ตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ 2518 กำหนดว่า ผู้บริหารที่จะมาสมัครเป็นผู้ว่าการ กฟผ.ต้องมีอายุไม่ถึง 58 ปี ในวันที่ยื่นใบสมัคร ดังนั้น การเข้ารับตำแหน่งของนายเทพรัตน์ จึงไม่เกี่ยวกับเรื่องอายุการทำงาน เพราะในวันที่ยื่นใบสมัครนายเทพรัตน์มีคุณสมบัติครบถ้วน ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่เป็นประเด็น
    ประเด็นที่ 3 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ทำหนังสือแจ้งกลับมาที่กระทรวงพลังงานว่า เรื่องนี้ขอให้กระทรวงพลังงานยืนยัน ยังจะเป็นนายเทพรัตน์ หรือ ไม่ แต่ไม่ได้บอกว่าให้ส่งชื่อนายเทพรัตน์ ซึ่งเรื่องนี้มันมีขั้นตอนตามกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ และที่สำคัญคือเรื่องมารยาทในการแต่งตั้งผู้บริหารของ กฟผ.

“กระทรวงพลังงานจึงมาดูว่า แล้วใครจะยืนยัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานก็เพิ่งเข้ามาใหม่ ซึ่งท่านอาจจะไม่รู้จักนายเทพรัตน์เลยก็ได้ แต่ผมโดยส่วนตัวรู้จักนายเทพรัตน์ดี แม้จะไม่เคยทำงานร่วมกัน แต่รู้จักว่าคนนี้ คือ นายเทพรัตน์ และก็เคยมีการพูดคุยกันบ้าง ดังนั้น ทั้งผม หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะยืนยันได้อย่างไร เราจึงต้องกลับไปดูกระบวนการ และการได้มาของนายเทพรัตน์นั้น พบว่ามาจากบอร์ด กฟผ.ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ เป็นประธานบอร์ด กฟผ. แต่ตอนนี้ลาออกไปแล้ว รวมทั้งกรรมการ กฟผ.ท่านอื่นๆด้วย ในความเป็นจริงแล้ว ควรให้บอร์ด กฟผ.เป็นผู้ยืนยัน ด้วยเหตุผลคือ 1. ที่มาของการเสนอชื่อนายเทพรัตน์ 2. กรรมการชุดใหม่ของ กฟผ.ต้องทำงานร่วมกับผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่อย่างใกล้ชิด หากเราไปยืนยัน หรือ แต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. โดยไม่ให้โอกาสกรรมการ กฟผ.ชุดใหม่ได้พิจารณาจะผิดมารยาทหรือไม่” นายประเสริฐ กล่าว

ดังนั้น จึงควรจะส่งเรื่องให้บอร์ด กฟผ.เป็นผู้พิจารณา แต่บังเอิญนายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงานคน เกษียณอายุราชการ เพื่อเปิดทางให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาทำงานต่อ จึงตัดสินใจลาออก และกรรมการ กฟผ.ทั้งคณะก็ลาออกตาม ตอนนี้ก็เลยเป็นสุญญากาศ ส่วนเรื่องการสรรหาคณะกรรมการการ กฟผ. ตน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อ ทาบทาม และพิจารณาคุณสมบัติ เพื่อนำรายชื่อเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถของกรรมการ กฟผ. ซึ่งต้องมีความพร้อม ทั้งในเรื่องวิศวกรรมด้านพลังงาน ด้านการลงทุน กฎหมาย บัญชี และการบริหารบุคคล

ถามว่าจะต้องส่งชื่อนายเทพรัตน์ให้บอร์ด กฟผ.ชุดใหม่ยืนยันอีกครั้งหนึ่งใช่หรือไม่ นายประเสริฐ ตอบว่า ก็ได้สอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า กระทรวงพลังงานสามารถยืนยันชื่อนายเทพรัตน์ได้เลยหรือไม่ แต่ก็ต้องเข้าใจว่า ตนกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไม่ได้อยู่ในกระบวนการสรรหาตอนนั้น หากจะให้ยืนยันชื่อนายเทพรัตน์ ตนต้องขอมาดูว่าการสรรหาเป็นอย่างไร และตนมองว่ากรรมการ กฟผ.ต้องมาทำงานร่วมกับผู้ว่าการ กฟผ.อย่างใกล้ชิด จึงควรให้เป็นหน้าที่ของบอร์ด กฟผ.พิจารณาจะดีกว่าหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่าตนมีความสนิทชิดเชื้อกับนายเทพรัตน์ จึงยืนยัน หรือ ตนมีความบาดหมางกับนายเทพรัตน์ จึงไม่ยืนยัน อะไรประมาณนี้ ซึ่งต้องดูประเด็นเรื่องมารยาท และข้อกฎหมายด้วย

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน

“ยืนยันผมไม่ได้เทนะครับ และยังสามารถที่จะเสนอชื่อนายเทพรัตน์เป็นผู้กว่าการ กฟผ.ได้ ส่วนเรื่องอายุการทำงานของนายเทพรัตน์ ไม่เป็นประเด็น”

ถามว่าต้องรอให้บอร์ด กฟผ.ชุดใหม่ยืนยันชื่อนายเทพรัตน์เอง แต่บังเอิญบอร์ด กฟผ.ลาออก จึงต้องตั้งบอร์ดใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการตั้งบอร์ด กฟผ. ซึ่งยังไม่เสร็จ ทำให้เรื่องนี้ยืดเยื้อและลากยาวออกไป นายประเสริฐ ตอบว่า “ถูกต้อง จึงทำให้เกิดข้อสงสัยอะไรต่างๆ”

ส่วนประเด็นที่ว่ากระทรวงพลังงานได้สอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาว่ากระทรวงพลังงานสามารถยืนยันชื่อนายเทพรัตน์เป็นผู้ว่า กฟผ.ได้เลยหรือไม่ ประเด็นนี้กระทรวงพลังงานได้ทำหนังสือไปหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วหรือยัง

นายประเสริฐ ตอบว่าไม่ได้ทำเป็นหนังสือ แต่ได้มีการพูดคุยกันกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งแนะนำว่าควรให้บอร์ด กฟผ.ยืนยัน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานก็เคยให้สัมภาษณ์ประเด็นนี้ไปแล้ว เพราะที่มานั้นมาจากบอร์ด กฟผ. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานก็ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของการสรรหา ควรให้บอร์ด กฟผ.ยืนยันว่า บอร์ด กฟผ.พร้อมที่จะทำงานกับนายเทพรัตน์ อย่างนี้ก็จบ เป็นเรื่องรอยต่อจริง ๆ ซึ่งตนก็ลุ้นอยู่เหมือนกันอยากให้ทุกอย่างเรียบร้อย จริง ๆก็รู้จักกันทั้งนั้น

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตอบคำถามผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 กรณีที่สำนักงาน กกต.ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ขอให้ส่งเรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. คืน ครม. ชุดใหม่ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

โดยนายพีระพันธุ์ ชี้แจงว่า เรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ.ไปเกี่ยวข้องอะไรกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ขอเรียนว่า หลังจากที่ตนได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีแล้ว ปรากฏเอกสารที่ส่งกันไป กันมา รายงานอัพเดทเรื่องนี้เพิ่งมาถึงตนเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 เอกสารจะเดินมาเมื่อไร ตนไม่ทราบ แต่มาถึงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ตนก็ให้ไปตรวจสอบ และเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ตนได้เชิญปลัดกระทรวงพลังงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาสอบถาม และแจ้งให้ทราบเรื่องนี้ ตนได้รับแจ้งกลับมาจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ว่า สำนักงาน กกต. ที่เคยรับเรื่องนี้มาในช่วงเลือกตั้งได้ส่งเรื่องกลับคืน และจะต้องทำอย่างไร ตนก็ได้รับคำตอบจากผู้เกี่ยวข้องว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีหน้าที่เพียงแค่นำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรี แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ตัดสินว่าจะเลือกใคร หรือ ไม่เลือกใคร

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้เคยเสนอคณะรัฐมนตรีมาแล้วเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 มติ ครม.วันนั้นว่าอย่างไร ถ้ามติ ครม.วันนั้นยุติแล้ว ผมมาเป็นรัฐมนตรีวันนี้ ผมก็ต้องมีหน้าที่นำกลับเข้าที่ประชุม ครม. แต่ปรากฏว่าเมื่อไปตรวจสอบมติ ครม.เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 แล้ว มติ ครม.วันนั้น บอกแต่เพียงว่า ครม. เห็นชอบ แต่ให้ส่งเรื่องให้ กกต. ให้ความเห็นชอบก่อน แปลว่ามติเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 เป็นมติ ครม. ที่มีเงื่อนไข ยังไม่ได้เห็นชอบ 100%

“ผมได้ถามเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า กรณีอย่างนี้ต้องทำอย่างไร ทั้งผู้แทนที่มาร่วมประชุม และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา บอกว่า ถ้าแบบนี้ ผมต้องส่งเรื่องกลับคืนไปที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เพื่อให้การไฟฟ่าฝ่ายผลิตฯยืนยันกลับมาให้รัฐบาลชุดนี้ ซึ่งเป็นรัฐบาลชุดใหม่ดำเนินการต่อ หากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯยืนยันกลับมา ผมก็เอาเข้า ครม. ตามหน้าที่”

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า ฉะนั้นวันนี้ ผมส่งเรื่องทั้งหมดกลับไปที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯเรียบร้อยแล้ว ว่าให้พิจารณายืนยันมา ถ้า กฟผ.ยืนยัน ตนก็นำเข้า ครม. เพราะว่ามติ ครม. ครั้งแรก เป็นมติของรัฐบาลชุดที่แล้ว และไม่เป็นมติ ครม. ที่จบเด็ดขาดในตัวเอง แต่เป็นมติ ที่มีเงื่อนไขว่า กกต. ต้องเห็นชอบ สุดท้ายเมื่อ กกต. ไม่พิจารณาส่งเรื่องกลับคืน และแจ้งว่า ให้รัฐบาลชุดใหม่เป็นคนทำ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องส่งเรื่องกลับคืนให้ กฟผ. ยืนยันกลับมา เริ่มต้นใหม่เท่านั้นเอง เป็นแค่ตามขั้นตอน

ถามว่าชื่อบุคคลไม่น่าจะเปลี่ยนใช่ไหม นายพีระพันธุ์ ตอบว่า “อันนี้ต้องถาม กฟผ. ไม่เกี่ยวกับผม ส่งชื่อใครมา ทาง กฟผ.เป็นผู้พิจารณาส่งเรื่องมา ผมก็เอาเข้า ครม. เท่านั้นเอง ผมไม่ได้เป็นคนเลือกเอาคนนั้น คนนี้”

ถามว่าไม่ได้มีนโยบายให้ กฟผ.ไปสรรหาใหม่ใช่หรือไม่ นายพีระพันธุ์ ตอบว่า “ไม่เกี่ยวกับผม ผมให้เขายืนยันมาว่าจะเอาอย่างไร เพราะผมเป็นรัฐบาลใหม่ และมติ ครม. ที่เคยมีไว้ ไม่จบ”

  • ยื้อแต่งตั้ง ผู้ว่า กฟผ. “เข้าข่ายการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ 157” หรือไม่!!!
  • วัดใจรัฐบาลเศรษฐา ตั้ง-ไม่ตั้ง “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” ผู้ว่า กฟผ. ผ่านสรรหาโดยชอบธรรมมาแล้ว 7 เดือน
  • แถลงการณ์ สร.กฟผ.เรื่อง “สถานการณ์พิสูจน์ผู้นำ”
  • นายกฯเคลียร์ปม “บิ๊กต่อ – บิ๊กโจ๊ก” แค่ลิ้นกับฟัน – มติ ครม. ตั้ง ‘เศรษฐา’ ประธานบอร์ด “ดิจิทัล วอลเล็ต”