ThaiPublica > เกาะกระแส > วัดใจรัฐบาลเศรษฐา ตั้ง-ไม่ตั้ง “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” ผู้ว่า กฟผ. ผ่านสรรหาโดยชอบธรรมมาแล้ว 7 เดือน

วัดใจรัฐบาลเศรษฐา ตั้ง-ไม่ตั้ง “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” ผู้ว่า กฟผ. ผ่านสรรหาโดยชอบธรรมมาแล้ว 7 เดือน

9 ตุลาคม 2023


นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. ปฏิบัติงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ “EGCO”

วัดใจรัฐบาลเศรษฐาตั้ง-ไม่ตั้ง ‘เทพรัตน์ เทพพิทักษ์’ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 วันอังคารที่ 10 ต.ค. นี้ หลังผ่านกระบวนการสรรหาโดยชอบธรรมมาแล้ว 7 เดือน ด้านอดีตผู้บริหารและ สร.กฟผ. ออกแถลงการณ์จี้ รมว.พลังงาน เสนอ ครม. แต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ ลุยแก้ค่าไฟแพง

7 เดือน นับจากวันที่คณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) มีมติเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 เลือกนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 ตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ ผ่านกระบวนการเจรจาต่อรองผลตอบแทนมาเรียบร้อย ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการมาแล้ว 1 ครั้ง โดยเลขาธิการ ครม. ทำเรื่องไปขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อีก 2 ครั้ง ได้รับคำยืนยันจาก กกต. ว่าให้เสนอรัฐบาลชุดใหม่เป็นผู้พิจารณา

จนกระทั่งมาถึงรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน จัดประชุม ครม. กันไป 5 ครั้ง ปรากฏว่ากระทรวงพลังงานยังไม่ได้นำเรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. พร้อมกำหนดอัตราผลตอบแทนเสนอที่ประชุม ครม. ตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 2511

นายกฯ เชื่อพลังงานชง ครม. ตั้งผู้ว่า กฟผ. สัปดาห์นี้

ต่อประเด็นเรื่องนี้ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ภายหลังการประชุม ครม. ถึงเรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ.ว่าติดปัญหาอะไร ทำไมถึงล่าช้า นายเศรษฐา ตอบว่า “ต้องขอโทษจริงๆ เรื่องนี้ยังไม่มีการรายงานเข้ามา แต่ผมเชื่อว่าในการประชุม ครม. สัปดาห์หน้า กระทรวงพลังงานคงจะมีการรายงานเข้ามา” ซึ่งก็คือวันอังคารที่ 10 ตุลาคม 2566

ดังนั้นวันอังคารที่ 10 ตุลาคม 2566 วาระครม.จะมีเรื่องนี้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

สำหรับกระบวนการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. แทนนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ที่จะครบวาระในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 เริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นปี 2566 กฟผ. ได้ออกประกาศเปิดรับสมัครผู้ว่าการ กฟผ. ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม – วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีนางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา มีผู้สมัคร 4 คน ทั้งหมดล้วนเป็นลูกหม้อ กฟผ. อันได้แก่ 1. นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการปฏิบัติงานบริษัทในเครือ 2. นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง 3. นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน และ 4. น.ส.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ปรากฏว่านายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ ผ่านกระบวนการสรรเข้ามาได้ด้วยคะแนนเสียง 3 ต่อ 2 ซึ่งตามประเพณีปฏิบัติของ กฟผ. คณะกรรมการสรรหาต้องเสนอชื่อผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดเพียงชื่อเดียว ทำให้ที่ประชุมบอร์ด กฟผ. ไม่สามารถพิจารณาเป็นอื่นได้ ต้องลงมติแต่งตั้งนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 ตามที่คณะกรรมการสรรหา นำเสนอ

หลังจากนายเทพรัตน์ผ่านการสรรหา ขั้นตอนต่อไปบอร์ด กฟผ. ต้องเจรจาต่อรองเรื่องผลตอบแทน ช่วงนั้นมีกระแสข่าวว่ามีใบสั่งจาก ‘บิ๊กพลังงาน’ ให้ผลตอบแทนให้ต่ำที่สุด โดยให้ใช้เกณฑ์อัตราเงินเดือนขั้นต่ำสุด เพื่อกดดันให้นายเทพรัตน์ถอดใจ ขอถอนตัวไปเอง ปรากฏว่านายเทพรัตน์ยอมรับผลตอบแทนดังกล่าว และได้จัดทำร่างสัญญาจ้างแล้วเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566

จากนั้นบอร์ด กฟผ. ได้ส่งเรื่องให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อเสนอต่อที่ประชุม ครม. นัดสุดท้าย แต่ปรากฏว่าไม่มีวาระนี้โดยระบุว่าเป็นความผิดพลาดของผู้บริหารในกระทรวง หลังจากนั้น ครม. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 จึงมีสถานภาพเป็นรัฐบาลรักษาการ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 (2) ไม่ให้แต่งตั้งข้าราชการหรือผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต.

วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ที่ประชุม ครม. รักษาการมีมติเห็นชอบการแต่งตั้งนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่า กฟผ. คนใหม่ ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ และมอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทำเรื่องไปถามความเห็น กกต.

ปรากฏว่าที่ประชุม กกต. ครั้งที่ 48/2566 วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 มีมติเสียงข้างมาก ไม่เห็นชอบให้นายเทพรัตน์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. ตามที่ ครม. เสนอ เนื่องจากนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. คนก่อน จะหมดวาระในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ยังไม่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ควรรอรัฐบาลชุดใหม่มาพิจารณา ทางสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงนำความเห็นของ กกต. รายงานให้ที่ประชุม ครม. รับทราบผลการพิจารณาของ กกต. เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566

ยื้อตั้งผู้ว่า กฟผ. จนผู้บริหารระดับสูงเกษียณกว่า 12 คน

จากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป จนกระทั่งนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ.หมดวาระ วันที่ 21 สิงหาคม 2566 ที่ประชุมบอร์ด กฟผ. มีมติแต่งตั้งนายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง รองผู้ว่าการอาวุโส ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้ว่าการ กฟผ. มีผลตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 จนกว่าจะมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 ต่อไป ปรากฏนายณัฐวุฒิเกษียณ ที่ประชุมบอร์ด กฟผ. จึงมีมติแต่งตั้ง ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้ว่าการ กฟผ. มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 จนกว่าจะมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 ต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา มีผู้บริหารระดับสูงของ กฟผ. ในตำแหน่งรองผู้ว่าการเกษียณไป 6 คนจากทั้งหมด 12 คน ได้แก่ นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง รองผู้ว่าการอาวุโส, นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์, นายกิตติ เพ็ชรสันทัด รองผู้ว่าการระบบส่ง, นางสาวนพวรรณ กาญจนะวรรณ รองผู้ว่าการบริหาร, นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. และนายบัณฑิต อัมพรศรีสุภาพ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. นอกจากนี้ ยังมีผู้บริหารระดับผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟผ. เกษียณไปอีก 5 คน ได้แก่ นายสมเกียรติ พนัสชัย ผู้ช่วยผู้ว่าการปฏิบัติการและบริหารสินทรัพย์ระบบส่ง, นายสุชีพ มีถม ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน, นายปิยพงศ์ วรกี ผู้ช่วยผู้ว่าการเทคโนโลยีดิจิทัล, นายประจวบ ดอนคำมูล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ และนายสมคิด ประดิษฐ์เสรี ผู้ช่วยผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ.

แต่เรื่องนี้ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 อดีตผู้บริหาร กฟผ. และอดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) และภาคประชาชน จึงร่วมกันลงชื่อและทำหนังสือถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ขอให้นำผลการคัดเลือกผู้ว่าการ กฟผ. เสนอที่ประชุม ครม. ผ่านความเห็นชอบ

การแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. ที่ยืดเยื้อมานานถึงเดือนตุลาคม 2566 จนกระทั่งบัดนี้ผู้บริหารของ กฟผ. ตั้งแต่ระดับผู้ช่วยผู้ว่าการขึ้นไปจนถึงผู้ว่าการ กฟผ. เกษียณ หรือหมดวาระการทำงานไปทั้งสิ้น 12 คน ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมผู้บริหารในระดับผู้อำนวยการฝ่ายอีก 15 คน แต่ก็ยังไม่มีการแต่งตั้งผู้นำองค์กรแต่อย่างใด

โดยที่รัฐบาลเศรษฐายังถือว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ในภาวะที่องค์กรขาดผู้นำ ท่ามกลางปัญหาค่าไฟแพง สวนทางกันอย่างยิ่งกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาค่าไฟแพง

ขณะที่การประชุมครม.รัฐบาลเศรษฐา 5 ครั้ง ที่ผ่านมา มีการแต่งตั้งผู้บริหารในหน่วยงานต่างๆมากมาย แต่กลับไม่มีรายชื่อผู้ว่ากฟผ.คนใหม่แต่อย่างใด ทั้งๆที่ผ่านการสรรหาและจัดทำร่างสัญญาเรียบร้อยมาแล้ว 7 เดือน

จึงนับเป็นความพยายามอย่างมากของ ‘กลุ่มบิ๊กพลังงาน’ ที่พยายามหาช่องโหว่ว่าการสรรหาในครั้งนี้ว่าไม่ชอบธรรมและยื้อเวลาการแต่งตั้ง เพื่อใช้เป็นเหตุผลในการสรรหาใหม่ โดยเฉพาะประเด็น “อายุการทำงานของนายเทพรัตน์เหลือไม่ถึง 2 ปี” ในวันที่ครม.ผ่านการพิจารณา แต่ตามเงื่อนไขของกฟผ. ประเด็นอายุการทำงาน 2 ปี ให้นับตั้งแต่วันที่ผ่านการสรรหาเรียบร้อย

ดังนั้นการยื้อเวลาการแต่งตั้ง และพยายามที่หาเหตุเพื่อสรรหาคนใหม่ ให้ได้คนของ ‘บิ๊กพลังงาน’ จึงเป็นความต้องการที่ไม่ได้นึกถึงความมั่นคงของประเทศชาติแต่อย่างใดเลย มีแต่ผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องเท่านั้น

จึงขอตั้งคำถามกับรัฐบาลเศรษฐาทั้งคณะว่า ถ้าไม่มีวาระซ่อนเร้น ทำไมต้องยื้อการแต่งตั้ง และถามต่อว่ายังมีความรักชาติ รักษาผลประโยชน์ของประชาชนคนไทยตามที่ได้ประกาศไว้หรือไม่

เพราะการกระทำบ่งชี้พฤติกรรม หยุดคำพูดหรูๆสวยๆเสียที!!!

  • โครงสร้างผู้บริหาร กฟผ.
  • …………….

    ชำแหละต้นต่อค่าไฟแพง

    ส่วนเรื่องค่าไฟฟ้าแพงนั้น อดีตผู้บริหารและอดีตประธาน สร.กฟผ. ให้ความเห็นว่า ความเป็นจริงมีต้นกำเนิดมาจากในอดีตภาครัฐและกระทรวงพลังงาน เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีบทบาท และกำหนดนโยบายในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้ามากเกินไป โดยขาดการสร้างความสมสมดุลด้าน demand และ supply จะเห็นจากปัจจุบัน supply มีมากกว่า demand เกินครึ่งหนึ่ง ซ้ำยังกำหนดให้ กฟผ. ทำสัญญาจ่ายค่าความพร้อม (AP) และอื่นๆ ตลอดจนปล่อยปละละเลยกำหนดนโยบายให้ใช้พลังงานหมุนเวียนมากเกินไป โดยอ้างปัญหาโลกร้อน และไปลงนามสัญญาร่วมกับประเทศต่างๆ โดยไม่ดูข้อจำกัดต่างๆ ภายในประเทศ จนเป็นเหตุให้เกิดข้อครหารัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนพลังงานจากสื่อต่างๆ ที่ออกมา

    แนะรื้อสัญญาซื้อไฟ ค่าพร้อมจ่าย เปิดเสรีนำเข้า LNG

    จากนโยบายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประกาศลดค่าไฟตามข่าวที่ออกมา เป็นเรื่องที่ดี แต่เป็นการแก้ไขปัญหาปลายเหตุ ซึ่งปัญหาจะไม่สามารถแก้ได้อย่างยั่งยืนแน่นอน ดังนั้น การแก้ปัญหาค่าไฟแพงควรแก้ไขที่ต้นเหตุ คือ การแก้ไขสัญญาที่รัฐเสียเปรียบกับเอกชนใหม่ เช่น ค่าความพร้อมจ่าย เป็นต้น แก้ไขสัญญาให้เป็นประโยชน์ต่อรัฐและประชาชนสำหรับรายใหม่ สร้างความสมดุล demand และ supply อย่างสมเหตุสมผล เปิดเสรีการนำเข้าเชื้อเพลิง แก๊ส (LNG) เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง กำหนดให้ภาคเอกชนสามารถขอใช้ท่อแก๊สจาก ปตท. ได้โดยไม่มีเงื่อนไข โดยการสนับสนุนจากรัฐบาล ควรให้ กฟผ. เป็นองค์กรหลักในการนำเสนอ และจัดทำแผน PDP เพื่อนำเสนอรัฐบาลได้อย่างถูกต้อง

  • อ่าน อดีตผู้บริหาร-ประธาน สร.กฟผ. ทำหนังสือถึง รมว.พลังงาน
  • สร.กฟผ. ออกแถลงการณ์จี้ ‘พีระพันธุ์’ ชง ครม. ตั้งผู้ว่า กฟผ.

    ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “สถานการณ์พิสูจน์ผู้นำ” มีใจความว่า ตามที่ “กลุ่มอดีตผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. และภาคประชาชน” ได้เปิดแถลงข่าวที่หน้าประตูป้อมยาม 1 ของ กฟผ. ในวันที่ 2 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 น. นั้น สร.กฟผ. ได้เชิญกลุ่มอดีตฯ เข้าร่วมประชุมหารือถึงวัตถุประสงค์ของกลุ่มอดีตฯ ได้รับความชัดเจนว่า ทางกลุ่มอดีตผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. มีความห่วงใยในความเป็นไปในอนาคตของ กฟผ. และการเปลี่ยนแปลง กฟผ. เนื่องจากนโยบายของรัฐที่เอื้อเอกชนที่ผ่านมา ทำให้ กฟผ. อยู่ในภาวะถดถอยในทุกด้านจากการผ่องถ่ายกิจการไฟฟ้าจากรัฐไปสู่เอกชน ซึ่งเป็นรูปแบบการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างหนึ่ง อันจะทำให้ประเทศชาติและประชาชนเดือดร้อน ในสถานการณ์เฉพาะหน้า ทางกลุ่มอดีตฯ ให้ความสำคัญสองประเด็นหลัก คือ การแต่งตั้งผู้ว่าการฯ คนที่ 16 และค่าไฟฟ้าแพง

    ประเด็นแรก เรื่องผู้ว่าการฯ กฟผ. คนที่ 16 ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับการแต่งตั้ง สร.กฟผ. ได้ทำการวิเคราะห์ถึงปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการฯ เห็นว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าบิ๊กพลังงานจะมีอิทธิพลในวงการพลังงานมากมายก็ตาม เนื่องจากท่านรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานปัจจุบัน (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) ซึ่งเป็นนักกฎหมาย มีประวัติการทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างชัดเจน เช่น ตรวจสอบการทุจริตกรณี “ค่าโง่ทางด่วนบูรพาวิถี” เพื่อปกป้องเงินภาษีประซาชนเกือบ 10,000 ล้านบาท ตรวจสอบและรื้อฟื้นคดี “ค่าโง่โฮปเวลล์” เพื่อปกป้องเงินภาษีประชาชนกว่า 25,000 ล้านบาท และอื่นๆ มีมากมาย ถือว่าเป็นนักการเมืองน้ำดี

    “เมื่อขั้นตอนการสรรหาผู้ว่าการฯ ถูกต้องเป็นธรรม การเปลี่ยนแปลงผลการสรรหาผู้ว่าการฯ จึงเป็นไปไม่ได้ เมื่อผู้นำมีจุดยืนที่ชัดเจน การที่ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นแสดงถึงการไม่ลงตัว มีอุปสรรค ซึ่งอาจเกิดจากความพยายามของบิ๊กพลังงานในการยึดครองกิจการพลังงาน เข้าแทรกแซงควบคุมกิจการภายใน กฟผ. ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่พิสูจน์ความเป็นผู้นำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ สร.กฟผ. เชื่อมั่นในความเป็นผู้นำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบันนี้”

    ประเด็นที่สอง คือ เรื่องค่าไฟแพง ซึ่งเป็นความเดือดร้อนของคนทั้งชาติอยู่ขณะนี้ เป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต้องแก้ไข แน่นอนว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้แก่ประชาชนก่อน ซึ่งจะมีผลกระทบกับ กฟผ. โดยตรง เพราะเป็นองค์การที่รับผิดชอบด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ

    สร.กฟผ. เชื่อมั่นว่าท่านจะมีนโยบายปกป้องรัฐวิสาหกิจ กฟผ. เพราะ กฟผ. เป็นสมบัติของประเทศชาติประชาชน เป็นองค์การที่รักษาความมั่นคงของพลังงานไฟฟ้า มีภารกิจเพื่อประเทศชาติประชาชน เช่นเดียวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในการแก้ไขปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าในระยะยาว ต้องอาศัยบทบาทของรัฐวิสาหกิจเป็นสำคัญ ซึ่งต้องสวนทางกับนโยบายเอื้อต่อเอกชนที่ผ่านมา จนทำให้ประเทศชาติและประชาชนเดือดร้อนกันทั่วหน้า

    การจะแก้ไขได้ต้องอาศัยบุคคลที่มีลักษณะเป็นผู้นำอย่างแท้จริง จึงจะแก้ไขปัญหาได้ เรียกได้ว่า “สถานการณ์พิสูจน์ผู้นำ” ในการนี้ สร.กฟผ. ร่วมกับเครือข่ายปกป้องไฟฟ้า ประปา และยา เพื่อชาติประชาชน (คฟปย.) ได้ทำหนังสือขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแล้ว เพื่อขอแสดงความยินดี และเรียนปรึกษาหารือในการร่วมกันแก้ไขปัญหาค่าไฟแพง และปัญหาของประเทศชาติประชาชนต่อไป.. .ลงชื่อ นางณิชารีย์ กิตตะคุปต์ ประธาน สร.กฟผ.

  • แถลงการณ์ สร.กฟผ.เรื่อง “สถานการณ์พิสูจน์ผู้นำ”
  • นายกฯเคลียร์ปม “บิ๊กต่อ – บิ๊กโจ๊ก” แค่ลิ้นกับฟัน – มติ ครม. ตั้ง ‘เศรษฐา’ ประธานบอร์ด “ดิจิทัล วอลเล็ต”
  • “บิ๊กพลังงาน” กับปฏิบัติการแทรกแซง กระบวนการสรรหา “ผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่”
  • ตัวอย่าง “การฉ้อฉลเชิงอำนาจ”: มหกรรม ‘กินรวบ’ โรงไฟฟ้า
  • ดึง 8 Shipper เข้า “Pool Gas” ใครได้ประโยชน์ – ตั้ง “พัฒน์ ศิริโมชดารา” ผอ.จัดหา – กำหนดราคา