ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ยื้อแต่งตั้ง ผู้ว่า กฟผ. “เข้าข่ายการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ 157” หรือไม่!!!

ยื้อแต่งตั้ง ผู้ว่า กฟผ. “เข้าข่ายการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ 157” หรือไม่!!!

16 ตุลาคม 2023


นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการ กฟผ.ฯ

เปิดหนังสือ กกต. ด่วนที่สุด จี้ รมว.พลังงงาน ชง ครม.เศรษฐา ตั้ง ผู้ว่า กฟผ. คนที่ 16 สวนปลัดพลังงาน พร้อมถามดังๆ…ยื้อแต่งตั้ง ‘เทพรัตน์ เทพพิทักษ์’ เข้าข่ายการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ 157 หรือไม่!!!

เมื่อกระบวนการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ.หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยคนที่ 16 เป็นเรื่องที่ต้องพูดถึง

เพราะกระบวนการ ‘ยื้อ’ ที่ลากยาวมานานกว่า 7 เดือน กำลังจะ ‘ยื้อ’ ต่อ อย่างบิดเบี้ยว ให้กลับไปนับหนึ่งใหม่ ที่คณะกรรมการหรือบอร์ด กฟผ.ชุดใหม่ ที่รอการแต่งตั้งอยู่ โดยปลัดกระทรวงพลังงานระบุว่า ต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการกฟผ.ชุดใหม่่ อีกครั้ง

ทั้งที่กระบวนการจบแล้ว รอเสนอครม.แต่งตั้งเท่านั้น!!!

นับเป็นปรากฏการณฺ์ “กติกู” ไม่ใช่ “กติกา” ที่พึงปฏิบัติสืบต่อกันมาของการสรรหาผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ

การหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดถึง ต้องการถามหาความโปร่งใสและความชอบธรรมของระบบการสรรหาที่พึงปฏิบัติ จากผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและนักการเมืองผู้มีอำนาจ

ยิ่งหากข้าราชการด้วยกันเอง ยังไม่รักษากติกา เพื่อปกป้อง สร้างความเชื่อถือและความมั่นใจให้กับพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐด้วยกัน นับเป็นข้อกังขาถึงความโปร่งใสที่หน่วยงานภาครัฐพึงมีพึงปฏิบัติให้เป็นตัวอย่างที่ดี กรณีที่ยอมให้เกิดการครอบงำ เป็นการทำเพื่อประโยชน์พวกพ้องหรือไม่ จนลืมว่าบ้านเมืองยังมีกฏหมาย มีกฏกติกาต้องปฏิบัติ หากข้าราชการ นักการเมืองผู้มีอำนาจและใช้อำนาจเกินเลย จะถามหาความชอบธรรมได้ที่ไหน!!!

การสาบานตน การปฏิญาณตนว่าจะทำเพื่อประเทศชาติ เพื่อประชาชน จึงเป็นเพียงลมปากที่สักแต่พูดปาวๆไปเท่านั้น

……

ตามที่ได้นำเสนอเรื่องการสรรหาผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 7 เดือน จนกระทั่งผู้บริหารระดับสูงของ กฟผ. ในระดับรองผู้ว่าการฯ และผู้ช่วยผู้ว่าการฯ ปลดเกษียณกันไป 12 คน ยังไม่นับรวมผู้บริหารระดับผู้อำนวยการและพนักงาน กฟผ. อีกหลายร้อยคนที่กำลังรอคอยผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่เข้ามาพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย ล่าสุดเริ่มมีสัญญาณจากกระทรวงต้นสังกัดว่านายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ว่าที่ผู้ว่าการ กฟผ. ซึ่งผ่านกระบวนการสรรหามาโดยชอบธรรมเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ 2518 มีแนวโน้มว่าจะถูกเท ไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 และนำไปสู่การเปิดสรรหากันใหม่

จากกรณีที่นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “ในวันที่ 16 ตุลาคม 2566 กระทรวงพลังงานจะนำรายชื่อผู้บริหารระดับสูงเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย ยกเว้นตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าการ กฟผ.) ต้องเสนอคณะกรรมการ กฟผ. ชุดใหม่ (บอร์ด กฟผ.) พิจารณาตรวจสอบความถูกต้อง โดยเฉพาะประเด็นอายุการทำงานของนายเทพรัตน์ ซึ่งตามระเบียบของ กฟผ. กำหนดอายุการทำงานของผู้ว่า กฟผ. ต้องมีอายุงานก่อนเกษียณไม่น้อยกว่า 2 ปี และยืนยันการแต่งตั้งนายเทพรัตน์เป็นผู้ว่าการ กฟผ. อีกครั้งก่อนเสนอที่ประชุม ครม. ผ่านความเห็นชอบ คาดว่ากระบวนการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่จะใช้เวลามากกว่า 1 เดือน

ทั้งนี้การแต่งตั้งบอร์ด กฟผ. ชุดใหม่อยู่ระหว่างการนำรายชื่อกรรมการส่งให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณา ก่อนเสนอให้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแต่งตั้งบอร์ด กฟผ. ชุดใหม่ ถึงแม้ในขณะนี้มีผู้บริหาร กฟผ. ปลดเกษียณไปแล้วหลายคน แต่เชื่อว่าไม่มีผล กระทบต่อการบริหารงานของ กฟผ. เพราะรักษาการตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. และรักษาการรองผู้ว่าการ กฟผ. มีอำนาจเต็มในการลงนามเรื่องสำคัญต่างๆ ได้”

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน

คำสัมภาษณ์ของปลัดกระทรวงพลังงานตามที่กล่าวข้างต้นนี้ สวนทางกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ครั้งที่ 2 ตามมติ ครม. ที่ให้กระทรวงพลังงานจัดส่งข้อมูล เหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ ส่งไปให้ กกต. พิจารณาอีกครั้ง จนกระทั่งล่าสุด สำนักงาน กกต. ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดส่งถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) และ สลค. ได้ทำหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร 0508/19808ลงวันที่ 18 กันยายน 2566 ส่งถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. (นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์) พร้อมแนบสำเนาหนังสือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ด่วนที่สุดที่ ลต 0019/16111 ลงวันที่ 6 กันยายน 2566 มีใจความว่า

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 เห็นชอบแต่งตั้งนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 (2) แล้ว ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ครั้งที่ 48/2566 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยที่ประชุม กกต. มี “มติเสียงข้างมาก ไม่เห็นชอบกรณีการแต่งตั้งนายเทพรัตน์เป็นผู้ว่าการ กฟผ.” เนื่องจากนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. คนก่อน จะหมดวาระในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ยังไม่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ควรรอรัฐบาลชุดใหม่มาพิจารณา

ต่อมา กระทรวงพลังงานได้เสนอเรื่องการแต่งตั้งนายเทพรัตน์เป็นผู้ว่าการ กฟผ. ให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้กระทรวงพลังงานเสนอข้อมูลข้อเท็จจริง และเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนในการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. ไปให้ กกต. พิจารณาเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง และเห็นชอบให้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติว่า กรณีที่หน่วยงานเจ้าของเรื่องได้เสนอเรื่องใดๆ เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ หรือพนักงานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน นำเสนอต่อ ครม. ตามนัยของมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 เรื่อง แนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเห็นชอบหรืออนุมัติในเรื่องนั้น และให้ดำเนินการต่อไปได้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 169 (2) แล้ว “หากเรื่องใด กกต. พิจารณาแล้วไม่เห็นชอบด้วยกับมติ ครม. แต่หน่วยงานเจ้าของเรื่องยังคงเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรีบดำเนินการ หากล่าช้าออกไปจะเกิดความเสียหายต่อหน่วยงาน และอาจส่งผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องหรือประชาชนโดยรวมได้ รวมทั้งไม่สามารถจะชะลอเรื่องไว้จนกว่า ครม. ชุดใหม่จะเข้ามาบริหารประเทศได้ ก็ให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องทำหนังสือแจ้งยืนยันข้อมูล ข้อเท็จจริง และเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการเรื่องนั้นอย่างเร่งด่วนไปยัง กกต. เพื่อขอให้ กกต. พิจารณาทบทวนผลการพิจารณาของ กกต. ในเรื่องดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งต่อไป”

ตามรายละเอียดดังกล่าวนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) จึงได้จัดส่งข้อมูล ข้อเท็จจริง และเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการเพิ่มเติม กรณีการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. (นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์) ให้ กกต. พิจารณาอีกครั้งหนึ่งแล้ว

ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทำหนังสือแจ้ง สลค. ว่า “เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งรัฐมนตรี เพื่อบริหารราชการแผ่นดินสืบต่อไปแล้ว จึงขอส่งเรื่องดังกล่าวคืนให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้ง เพื่อทราบ และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ทาง สลค. จึงทำหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร 0508/19808 แจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานรับทราบ ทั้งนี้ หากกระทรวงพลังงานประสงค์จะเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี ขอได้โปรดดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ตลอดจนมติคณะรัฐมนตรีและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย”

จากการที่กระทรวงพลังงานทำเรื่องนำเสนอที่ประชุม ครม. พร้อมบรรยายเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนในการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. ถึง 2 ครั้ง เช่น ความจำเป็นเร่งด่วนในการเข้ามาบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ภาระหนี้สินที่ กฟผ. เข้าไปแบกรับภาระค่าไฟฟ้าแทนประชาชนกว่า 1 แสนล้านบาท การบริหารจัดการสภาพคล่อง และการแก้ปัญหาค่าไฟแพงในระยะยาว จนที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแต่งตั้งนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 2511 มาตรา 19 วรรคท้าย รวมทั้งได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 169 (2) ครบถ้วน โดยการส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาถึง 2 ครั้ง แม้ครั้งแรก กกต. มีมติเสียงข้างมาก ไม่เห็นชอบแต่งตั้งนายเทพรัตน์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. แต่ครั้งที่ 2 ไม่เหมือนครั้งแรก โดย กกต. มีหนังสือด่วนที่สุด ขอให้ส่งเรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. คืน ครม. ชุดใหม่ คือรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เพื่อทราบ และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

เมื่อปลัดกระทรวงพลังงานออกมาแสดงเจตนารมณ์ผ่านสื่อมวลชนว่า จะยังไม่เสนอเรื่องการแต่งตั้งนายเทพรัตน์ เป็นผู้ว่า กฟผ. ให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาเห็นชอบ และจะนำเรื่องนี้ย้อนกลับไปให้บอร์ด กฟผ. ชุดใหม่พิจารณาตรวจสอบความถูกต้อง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องอายุการทำงาน ทั้งๆ ที่ประกาศคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. ในข้อ 1 และ ข้อ 1.2 กำหนดคุณสมบัติทั่วไปของผู้สมัครว่าต้องมีอายุไม่เกิน 58 ปีบริบูรณ์ในวันที่ยื่นใบสมัคร ซึ่ง ณ วันที่ยื่นใบสมัครนายเทพรัตน์อายุไม่ถึง 58 ปี และได้ผ่านกระบวนการสรรหาตรวจสอบคุณสมบัติ จากคณะกรรมการสรรหาจนมีมติ 3 ต่อ 2 เลือกนายเทพรัตน์เป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นผู้ว่าการ กฟผ. และได้มีการนำเสนอที่ประชุมบอร์ดของ กฟผ. และที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ รวมทั้งผ่านการพิจารณาจาก กกต. ให้เสนอที่ประชุม ครม.เศรษฐา พิจารณาเห็นชอบ

ถ้าหากปลัดกระทรวงพลังงานทำตามเจตนารมณ์ตามที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน กรณีนี้ไม่แน่ใจว่าการดำเนินการในลักษณะนี้ อาจจะเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่ การที่กระทรวงพลังงานไม่นำเรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. ส่งให้ที่ประชุม ครม.เศรษฐา ตามความเห็นของ กกต. ที่ ครม. และกระทรวงพลังงงานทำเรื่องสอบถามไป 2 ครั้ง ตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนด อาจเข้าข่ายเป็นการประวิงเวลาจนไปกระทบกับสิทธิ์ของผู้ที่ผ่านการสรรหามาโดยชอบธรรม และได้ทำสัญญาจ้างมาเรียบร้อยแล้ว เสียโอกาส รวมถึงผลกระทบต่อประชาชนที่เสียหายต้องจ่ายค่าไฟแพง หรือไม่ อย่างไร?

ทั้งนี้ จึงขอถามหาความโปร่งใส ความชอบธรรม คุณธรรม ที่ข้าราชการทุกคนพึงมีติดตัว ในฐานะข้าราชการ การปฏิบัติหน้าที่มีผลเกี่ยวเนื่องถึงประโยชน์ของบ้านเมืองและประชาชนทุกคน ขออย่าได้รับใช้กลุ่มคนที่มุ่งหาผลประโยชน์ส่วนตน จักไม่แล้ว ก็จะถือว่าเป็นกลุ่มคนเดียวกัน หาใช่ข้าราชการที่ต้องทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติและประชาชนไม่

ดังนั้นหากไม่แล้ว ถ้าปฏิญาณตนครั้งใด ก็อย่าได้บังอาจว่าจะทำเพื่อประเทศชาติอีกเลย

  • วัดใจรัฐบาลเศรษฐา ตั้ง-ไม่ตั้ง “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” ผู้ว่า กฟผ. ผ่านสรรหาโดยชอบธรรมมาแล้ว 7 เดือน
  • แถลงการณ์ สร.กฟผ.เรื่อง “สถานการณ์พิสูจน์ผู้นำ”
  • นายกฯเคลียร์ปม “บิ๊กต่อ – บิ๊กโจ๊ก” แค่ลิ้นกับฟัน – มติ ครม. ตั้ง ‘เศรษฐา’ ประธานบอร์ด “ดิจิทัล วอลเล็ต”
  • “บิ๊กพลังงาน” กับปฏิบัติการแทรกแซง กระบวนการสรรหา “ผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่”
  • ตัวอย่าง “การฉ้อฉลเชิงอำนาจ”: มหกรรม ‘กินรวบ’ โรงไฟฟ้า
  • ดึง 8 Shipper เข้า “Pool Gas” ใครได้ประโยชน์ – ตั้ง “พัฒน์ ศิริโมชดารา” ผอ.จัดหา – กำหนดราคา