ThaiPublica > คนในข่าว > “บิ๊กพลังงาน” กับปฏิบัติการแทรกแซง กระบวนการสรรหา “ผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่”

“บิ๊กพลังงาน” กับปฏิบัติการแทรกแซง กระบวนการสรรหา “ผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่”

21 มีนาคม 2023


นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ.

หลัง บอร์ด กฟผ. มีมติเลือก “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” เป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ “บิ๊กพลังงาน” แทรกแซงต่อ ลุยกดผลตอบแทนให้ขั้นต่ำสุด-ไม่ยอมเสนอชื่อให้ครม. นัดสุดท้ายพิจารณา ขณะที่สหภาพแรงงานฯออกโรง “เผยไต๋การเมืองเอื้อทุนใหญ่”

ภายหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ ได้มีมติเห็นชอบให้นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. ปฏิบัติงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ “EGCO” ขึ้นเป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ แทนนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ที่จะครบวาระในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ตามที่นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. นำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด กฟผ.

  • “กุลิศ สมบัติศิริ” ปลัดกระทรวงพลังงาน ความท้าทาย “ยุคเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด”
  • ตัวอย่าง “การฉ้อฉลเชิงอำนาจ”: มหกรรม ‘กินรวบ’ โรงไฟฟ้า
  • ดึง 8 Shipper เข้า “Pool Gas” ใครได้ประโยชน์ – ตั้ง “พัฒน์ ศิริโมชดารา” ผอ.จัดหา – กำหนดราคา
  • แหล่งข่าวจากคนแวดวงพลังงานให้ข้อมูลว่าหลังมติบอร์ดจบลง ประธานกรรมการ กฟผ. ได้รับโทรศัพท์จาก “บิ๊กพลังงาน” ทันทีที่ทราบผลการคัดเลือก เพราะก่อนหน้านี้มีการล็อบบี้กันมาแล้ว ต้องเลือกเด็กปั้นของบิ๊กพลังงาน ซึ่งอาวุโสน้อยกว่า ทั้งในแง่คุณวุฒิ วัยวุฒิและประสบการณ์ แต่ไม่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาด้วยคะแนนเสียง 3 ต่อ 2 จึงมากดดันบอร์ด กฟผ. ไม่ให้รับชื่อผู้สมัครที่คณะกรรมการสรรหาเสนอมาเพียงชื่อเดียว คือนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์

    แต่โดยอำนาจของบอร์ด กฟผ. ไม่สามารถพิจารณาเป็นอื่นได้ จึงมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการสรรหานำเสนอ ให้นายเทพรัตน์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนต่อไป

    ขณะที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของ กฟผ. (สร.กฟผ.) ออกโรงสนับสนุนการดำเนินการของคณะกรรมการสรรหา ที่นำเสนอชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ตามประเพณีปฏิบัติของ กฟผ. ที่สืบทอดกันมา คณะกรรมการสรรหาควรเสนอเพียงชื่อเดียวส่งให้ที่ประชุมบอร์ด กฟผ. และ ครม. ผ่านความเห็นชอบนั้นถูกต้องแล้ว

    เมื่อเด็กปั้นของ ‘บิ๊กพลังงานสอบตก’ แต่กระบวนการกดดันยังคงเดินหน้าต่อ จากนั้นเมื่อเข้าสู่การเจรจาต่อรองผลตอบแทน ตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 2511 กำหนดให้บอร์ด กฟผ. มีหน้าที่กำหนดผลตอบแทนของผู้ว่าการ กฟผ. ระหว่างทางมีกระแสข่าวว่ามีใบสั่งจากบิ๊กพลังงานให้กดผลตอบแทนให้ต่ำที่สุด โดยให้ใช้เกณฑ์อัตราเงินเดือนขั้นต่ำสุด เพื่อบีบจนกว่านายเทพรัตน์จะถอดใจ ขอถอนตัวไปเอง ปรากฏว่านายเทพรัตน์ยอมรับการเจรจาเงินเดือนซึ่งเป็นอัตราเริ่มต้นของขั้นต่ำที่สุดของผู้ว่าการ กฟผ. นายเทพรัตน์ และได้ยกร่างสัญญาว่าจ้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันจันทร์ที่ 13 มีนาคม 2566 และบอร์ด กฟผ. ได้ส่งเรื่องให้กระทรวงพลังงานเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.พิจารณา

    แต่ปรากฏว่ากระทรวงพลังงานไม่ได้นำเสนอวาระนี้เข้าครม.แต่อย่างใด กลับโยนบาปไปให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานว่าทำผิดขั้นตอน ทั้งๆที่ดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้อง และทั้งๆที่กระทรวงพลังงานรู้ว่าเป็นครม.นัดสุดท้าย แต่ไม่เร่งรีบแต่อย่างใด เมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องอื่นๆมากมายที่ไม่ควรจะเข้าครม.แต่กลับได้เสนอเข้าครม.พิจารณา

    นี่เป็นอีกความพยายามของ ‘บิ๊กพลังงาน’เพื่อสร้างความกดดันต่อว่าที่ผู้ว่า กฟผ.คนใหม่…การประชุม ครม. นัดสุดท้ายวันที่ 14 มีนาคม 2566 จึงไม่มีวาระพิจารณาแต่งตั้งนายเทพรัตน์ขึ้นเป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ แต่อย่างใด เพราะลึกๆแล้วต้องการสร้างแรงกดดันให้ว่าที่ผู้ว่าการคนใหม่ “ถอดใจ” เสียเอง

    ดังนั้นการแต่งตั้งนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. จึงต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ เนื่องจากระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ ครม. รักษาการเอาไว้ โดยห้ามแต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ยกเว้นได้รับความเห็นชอบจาก กกต.

    แหล่งข่าวในแวดวงพลังงานให้ข้อมูลว่าสาเหตุที่นายเทพรัตน์ยอมมารับเงื่อนไขข้อตกลงเรื่องผลตอบแทนที่ต่ำและแรงกดดันต่างๆจากกลุ่มบิ๊กพลังงาน เพราะได้รับการร้องขอจากบรรดาอดีตผู้ว่าการ กฟผ.ในอดีต ให้เข้ามาบริหาร ก่อนที่กฟผ.จะถูกกลืนสภาพโดย “บิ๊กพลังงาน” และไม่สามารถดำรงสถานะผู้ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไว้ได้อีกต่อไป เพราะปัจจุบัน กฟผ.ควรมีกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 51% ตามที่รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2560 กำหนด แต่ที่ผ่านมา กฟผ.ไปซื้อไฟฟ้าจากเอกชน จนทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ลดลงเหลือ 30%

    อย่างไรก็ตามการเดินเกมลับลวงพรางสำหรับตำแหน่ง ‘ผู้ว่า กฟผ.คนใหม่’ ได้มีการขับเคลื่อนเพื่อสร้างกระแสถึงความไม่ชอบธรรมในการคัดเลือก โดยในวันที่ 14 มีนาคม 2566 เป็นที่คาดกันว่าจะมีการนำชื่อนายเทพรัตน์เสนอที่ประชุม ครม. นัดสุดท้ายผ่านความเห็นชอบ ปรากฏว่านายกิตติกร โล่ห์สุนทร ส.ส.ลำปาง พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร แถลงที่รัฐสภา ขอให้รัฐบาลชะลอการพิจารณาแต่งตั้งนายเทพรัตน์ขึ้นดำรงผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ เนื่องจาก กฟผ. มีแผนที่จะเตรียมแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าออกจาก กฟผ. มาตั้งเป็นองค์กรนิติบุคคลใหม่ จึงมีความเป็นห่วงเกรงว่าจะถูกควบคุมโดยคนบางกลุ่ม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง จึงอยากจะได้รับคำชี้แจงว่าการแยกตัวออกมาเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศ และทำให้ประชาชนมีค่าไฟถูกลงหรือไม่ ขณะที่นายชัยยันต์ ผลสุวรรณ์ ส.ส. จังหวัดปทุมธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขานุการ กมธ. การพลังงาน อ้างเหตุที่เปิดแถลงข่าวครั้งนี้ เพราะได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ. และผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าหลายแห่ง โดยมีตั้งข้อสังเกตกระบวนการสรรหาครั้งนี้รีบเร่ง ลุกลี้ลุกลน และไม่ชอบมาพากล จึงขอให้รัฐบาลชะลอการแต่งตั้งผู้ว่า กฟผ. คนนี้ออกไปก่อน

    ทั้งๆที่กระบวนการสรรหาเดินหน้าตามขั้นตอนปกติ เพียงแต่ ‘เด็กของบิ๊กพลังงาน’ สอบตก จึงต้องออกแรงกดดันในทุกทาง

    วันที่ 15 มีนาคม 2566 นางณิชารีย์ กิตตะคุปต์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ. ออกแถลงการณ์ หัวข้อ “เผยไต๋การเมืองเอื้อทุนใหญ่” โดยยืนยันว่า “สร.กฟผ. มิได้ร้องเรียนใดๆ กับ กมธ.ฯ เป็นการกล่าวตู่เอาแบบดื้อๆ ในทางกลับกัน สร.กฟผ. กลับทำหนังสือเร่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนำเสนอชื่อผู้ว่า กฟผ. ให้ทันกับการประชุม ครม. นัดสุดท้ายด้วย…”

    “การแถลงข่าวของ กมธ. พลังงานครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำถึงการครอบงำของ “บิ๊กพลังงาน” ที่มีอิทธิพลในทุกส่วนงานของกิจการพลังงาน ในการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. เป็นความพยายามแผ่อิทธิพลภายใน กฟผ. โดยไม่สนใจถึงแรงกดดัน ที่มีผลกระทบต่อผู้สมัครเป็นผู้ว่าการที่ได้รับการสนับสนุนจากบิ๊กพลังงานตามข่าว เพราะถึงแม้ว่าจะได้เป็นผู้ว่าการ กฟผ. ตามที่บิ๊กพลังงานต้องการ แต่จะบริหารงานภายใต้ที่มาของกระบวนการคัดเลือกบนข่าวสารการแทรกแซงจากบิ๊กพลังงานที่มีอิทธิพล และนำไปสู่ไม่ยอมรับจากพนักงานได้อย่างไร?”

    แถลงการณ์ สร.กฟผ. ตอนสุดท้ายระบุว่า “การกล่าวอ้างดังกล่าวของกรรมาธิการการพลังงานเป็นความเท็จ ทางสหภาพ แรงงานฯ ไม่เคยมีการเรียกร้องใดๆ ในกรณีการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. ต่อ กมธ. การพลังงาน ดังนั้น จึงขอให้ กมธ. การพลังงานหยุดการกล่าวอ้างดังกล่าว อันส่งผลให้มีการชะลอการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. พฤติกรรมดังกล่าวมีลักษณะเป็นการแทรกแซงกระบวนการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. ส่อไปในทางรับใช้ทุนใหญ่ บิ๊กพลังงานให้คนของเขาได้ขึ้นเป็นผู้ว่าการ กฟผ. และทำลายความเชื่อถือ กมธ.ฯ พลังงาน นั่นเอง”

    อนึ่ง รายชื่อผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็น “ผู้ว่าการ กฟผ.” ครั้งนี้มี 4 คน ทั้งหมดล้วนเป็นคนใน กฟผ. ได้แก่ 1. นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการปฏิบัติงานบริษัทในเครือ 2. นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง 3. นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน 4. น.ส.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยคณะกรรมการสรรหามีมติ 3 ต่อ 2 เลือกนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่

    สำหรับนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เกิดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2508 ปัจจุบันอายุ 57 ปี สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระดับปริญญาโท วิศวกรรมศาสตร์ สาขา Electricity Industry Management and Technology มหาวิทยาลัยสแตรทไคลด์ (University of Strathclyde) ประเทศสกอตแลนด์ รวมทั้งผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงจากสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมาย ด้านประสบการณ์ทำงาน ปี 2561 ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นรองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียนของ กฟผ. ช่วงกลางปี 2563 ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ “เอ็กโก กรุ๊ป” ก่อนที่จะถูกโยกให้มาดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการปฏิบัติงานบริษัทในเครือจนถึงปัจจุบัน