ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” แย้ม เป็นนายกฯ ต่อ 2 ปี – มติ ครม. ไฟเขียว กฟผ. ซื้อหุ้น “LNG หนองแฟบ” 1.6 หมื่นล้าน

“บิ๊กตู่” แย้ม เป็นนายกฯ ต่อ 2 ปี – มติ ครม. ไฟเขียว กฟผ. ซื้อหุ้น “LNG หนองแฟบ” 1.6 หมื่นล้าน

6 ธันวาคม 2022


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

“บิ๊กตู่” แย้มเป็นนายกฯต่อ 2 ปี จนกว่าจะมีคนใหม่มาทำแทน – ส่งสัญญาณไปรวมไทยสร้างชาติ แต่ยังไม่พูด – สั่งคมนาคมเจรจา ตปท.- เพิ่มเที่ยวบินรับนักท่องเที่ยว – มติ ครม. ไฟเขียว กฟผ.ซื้อหุ้น “คลังเก็บ LNG หนองแฟบ” 1.63 หมื่นล้านบาท – ปรับราคากลางซื้อนมโรงเรียนเพิ่ม 0.31 บาท/กล่อง -รับทราบประชุม รมต.พลังงานอาเซียน – เดินหน้าเชื่อมสายส่ง-ท่อก๊าซข้ามพรมแดน- แบ่งงาน “ธนกร” สั่งการแทนนายกฯ คุมกรมประชาฯ – อสมท.

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พลเอก ประยุทธ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าว กรณีที่มีข่าวนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ จะเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ พลเอก ประยุทธ์ ตอบสั้นๆ ว่า “ก็ยินดีด้วย”

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หลังจากเดินทางกลับจากการประชุมที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม จะมีความชัดเจนทางการเมืองเลยใช่หรือไม่ ประเด็นนี้พลเอก ประยุทธ์ ไม่ตอบ

เผยทำงานต่อได้ถึงปี ’68

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าตั้งเป้าหมายการทำงานในปีหน้าเอาไว้อย่างไร พลเอก ประยุทธ์ ตอบว่า “ก็ผม ก็อยู่ สมมุติว่าถ้าผมต้องอยู่ ก็อยู่ได้แค่ปี 2568 เท่านั้น”

ถามว่านายกฯมีความตั้งใจที่จะเดินหน้าทางการเมืองต่อไปใช่หรือไม่ พลเอก ประยุทธ์ ตอบว่า “เมื่อถึงวันนี้ ก็น่าจะรู้แล้ว”

แย้มเป็นนายกฯต่อ 2 ปี จนกว่าจะมีคนใหม่มาทำแทน

ถามว่า ถึงแม้จะมีเวลาทำงานต่อได้อีก 2 ปี ก็จะไปต่อใช่หรือไม่ พลเอก ประยุทธ์ ตอบว่า “ก็ 2 ปี ก็ต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ถึงตอนนั้นก็จะมีคนใหม่ที่เหมาะสม ประชาชนยอมรับ มาทำต่อเท่านั้นเอง”

ส่งสัญญาณไปรวมไทยสร้างชาติ แต่ยังไม่พูด

ถามต่อว่ามีข่าวนายกฯจะย้ายไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ ตอนนี้ชัดเจนแล้วใช่ หรือไม่ พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “เออ ก็เดี๋ยวผมยังไม่ได้พูดเท่านั้นเอง เดี๋ยวค่อยพูด”

ถามต่อว่า แสดงว่ารอให้กฎหมายผ่านให้เรียบร้อยก่อนใช่หรือไม่ พลเอก ประยุทธ์ ไม่ตอบ และก่อนที่พลเอก ประยุทธ์ เดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า ผู้สื่อข่าวขอให้นายกฯ ตอบคำถามว่าจะย้ายเข้าพรรคการเมืองหรือไม่ พลเอก ประยุทธ์ พยักหน้า แล้วตอบว่า “เออๆ ”

สั่งคมนาคมเจรจา ตปท.- เพิ่มเที่ยวบินรับนักท่องเที่ยว

นายอนุชา กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ ได้มีการรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัว จากภาคการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทยตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2565 จะมีนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 10 ล้านคน ตามเป้าหมายของรัฐบาล

นายอนุชา รายงานว่า นายกฯ มีข้อสั่งการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเพิ่มเที่ยวบิน โดยให้เจรจากับประเทศต่างๆ ที่จะสามารถเพิ่มไฟล์ทการบินเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น เพราะได้ทราบมาว่านักท่องเที่ยวหลายประเทศต้องการเข้ามาในไทย แต่ในไม่สามารถหาตั๋วเครื่องบินได้ และมีข้อสั่งการให้เพิ่มงานบริการภาคพื้นดิน ไม่ว่าจะเป็น การบริการจัดการสัมภาระ หรือการเดินทางด้านยานพาหนะต่างๆ ตลอดจนการขนส่งผู้โดยสารที่เข้ามาทั้งบริเวณด้านในและด้านนอกของสนามบิน

ปลื้ม Fitch Ratings คงอันดับความน่าเชื่อถือไทย

นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกฯ พูดถึงการจัดอันดับโดย Fitch Ratings เรื่องอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) โดยประเทศไทยได้รับอันดับ “Triple B+” หรือ “BBB+” และ คงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระดับมีเสถียรภาพ หรือ Stable Outlook

ทั้งนี้ Fitch Ratings คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวที่ 3.3% และขยายตัวเพิ่มเป็น 3.8% ในปี 2566 จากปัจจัยการท่องเที่ยว และอุปสงค์ภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐและอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มผ่อนคลาย

ฝาก สธ.รณรงค์ “กลุ่ม 608” ฉีดวัคซีน

นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกฯ ฝากให้ทุกหน่วยงาน รวมถึงประชาชนให้เฝ้าระวังตนเอง เนื่องจากช่วงนี้ยังคงมีการระบาดของโควิด-19 และได้ให้กระทรวงสาธารณสุขยังคงรณรงค์เรื่องการฉีดวัคซีนเข้มกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608

กำชับดูแลมาตรฐานมลพิษโรงงาน

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ นายกฯ กล่าวถึงปัญหาการขยายกิจการ โดยเฉพาะส่วนโรงงานอุตสาหกรรม ต้องให้ให้มีการปฏิบัติโดยไม่ให้เกิดมลพิษทางอุตสาหกรรมต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะให้ดูแลจังหวัดพื้นที่เขตอุตสาหกรรมเรื่องระเบียบและข้อบังคับต่างๆ เพื่อให้นโยบาย BCG เป็นรูปธรรม โดยกำชับถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ย้ายเครนท่าเรือกรุงเทพไปประจำการท่าเรือเชียงแสน

นายอนุชา กล่าวถึงการลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายเพื่อตรวจราชการ โดยนายกฯ ได้พูดเรื่อง “การทำอย่างไรให้การขนส่งที่ท่าเรือเชียงแสนมีประสิทธิภาพมากขึ้น” โดยกระทรวงคมนาคมรายงานว่าได้ประสานงานไปท่าเรือกรุงเทพ เพื่อย้ายเครนปั้นจั่นบางส่วนไปติดตามเพิ่มเติมที่ท่าเรือเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เพื่อให้บริการการขนส่ง และการเดินเรือในแม่น้ำโขง และพิจารณาให้สอดคล้องกับปริมาณสินค้าที่มาเทียบท่าเรือ

อังคารหน้า “บิ๊กป้อม” นั่งหัวโต๊ะ ครม.

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ในช่วงสัปดาห์หน้า ระหว่างวันที่ 13-14 ธันวาคม 2565 นายกฯ มีกำหนดการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนสหภาพยุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม โดยเป็นการเดินทางเพื่อประชุมร่วมกับสหภาพยุโรปในนามประเทศสมาชิกอาเซียน

ทั้งนี้ นายกฯ ได้มอบหมายให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ดำเนินการเป็นประธานการประชุม ครม. ในวันอังคารที่ 13 ธันวาคม 2565

มติ ครม. มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกฯ, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (ซ้ายไปขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ปรับราคากลางซื้อนมโรงเรียนเพิ่ม 0.31 บาท/กล่อง

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติปรับเพิ่มราคากลางในการจําหน่าย ผลิตภัณฑ์นม โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เพิ่มขึ้นถุงหรือกล่องละ 0.31 บาท โดย มีผลตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติอนุมัติเป็นต้นไป ดังนี้

  • นมโรงเรียนชนิดพาสเจอร์ไรส์ ราคากลางเดิม 6.58 บาท/ถุง ราคากลางใหม่ 6.89 บาท/ถุง
  • นมโรงเรียนชนิด ยู เอช ที ราคากลางเดิม 7.82 บาท/กล่อง ราคากลางใหม่ 8.13 บาท/กล่อง
  • สำหรับการปรับเพิ่มราคากลางในการจําหน่ายนมโรงเรียนถุง หรือ กล่องละ 0.31 บาท ในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากมติ ครม. ก่อนหน้านี้ (23 ส.ค. 2565) ปรับราคารับซื้อน้ำนมโคจากเกษตรกรเพิ่มขึ้น 1.5 บาท /กก. ตามต้นทุนการผลิตน้ำนมโคที่เพิ่มขึ้นจากค่าอาหารสัตว์ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่เกิดปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลก และวิกฤตพลังงานสืบเนื่องจากสงครามรัสเซีย – ยูเครน ส่งผลให้ต้นทุน การผลิตนมโรงเรียนในส่วนของค่าน้ำนมโคเพิ่มขึ้น โดยการคํานวณราคากลางนมโรงเรียนใหม่ยังสอดคล้องกับแนวทางการอนุญาตปรับราคานมพาณิชย์ ของกรมการค้าภายในที่อนุญาตให้ปรับราคาเฉพาะต้นทุนน้ำนมดิบน้ำนมโค 1 กก. สามารถนําไปผลิตนมโรงเรียนได้ประมาณ 5 ถุง/กล่อง (ปริมาณ 200 กก./ถุง/กล่อง ต้นทุนการผลิตนมโรงเรียนเพิ่มขึ้นประมาณ 0.31 บาท ถุง/กล่อง) ทั้งนี้ มติคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนได้เห็นชอบการปรับเพิ่มราคากลางนมโรงเรียนดังกล่าวแล้ว และสําหรับ ภาคเรียนที่ 2/65 (เดือน พ.ย. 65 – มี.ค. 66) และภาคเรียนที่ 1/66 (เดือน พ.ค. 66 – ก.ย. 66)

    ในกรณีที่มีการปรับเพิ่มราคากลางนมโรงเรียน ในส่วนงบประมาณ สำหรับโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน สำหรับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำนักปลัด กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาจะมีภาระงบประมาณในปี 2566 เพิ่มขึ้นภาพรวม 301,539,100 บาท ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แจ้งว่า การปรับเพิ่มราคากลางจําหน่ายนมโรงเรียนดังกล่าว ไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดซื้อนมโรงเรียนในส่วนของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (เช่น ศูนย์เด็กเล็ก) โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และโรงเรียนเอกชน ยังมีงบประมาณเพียงพอสําหรับบริหารจัดการ จําหน่ายนมโรงเรียนในครั้งนี้ เนื่องจากมีจํานวนนักเรียนน้อยกว่าที่ประเมินไว้ในช่วงขอตั้งงบประมาณปี 2566 ยกเว้น โรงเรียนในสังกัด กทม. และเมืองพัทยา ที่มีกรอบงบประมาณ ไม่เพียงพอ คณรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้หน่วยงานภายใต้ ปรับแผนปฏิบัติการหรือใช้งบประมาณของหน่วยงานมาดำเนินการก่อน หากยังไม่ เพียงพอ จึงให้เสนอของบกลางจากสำนักงบประมาณต่อไป

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เป็นนโยบายของรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2535เพื่อแก้ปัญหาขาดสารอาหารในเด็กวัยเรียนและสนับสนุน อุตสาหกรรมโคนมไทย โดยใช้น้ำนมดิบจากเกษตรกรในประเทศในการผลิต ซึ่งปัจจุบันโครงการฯครอบคลุมนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษา และจัดสรรนมโรงเรียนให้นักเรียนเป็นเวลา 260 วัน ต่อปีการศึกษา และรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อ นมโรงเรียนดังกล่าว ซึ่งนายรัฐมนตรียังสนับสนุนให้เด็กไทยได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาร่างกายเจริญเติบโตอย่างเต็มที่

    รับทราบมาตรการป้องกันโกง VAT

    นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบการดำเนินงานของกระทรวงการคลังร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมศุลกากร และกรมสรรพากร รายงานสรุปผลการพิจารณาในภาพรวมต่อ มาตรการเพื่อป้องกันการทุจริตในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม เสนอโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คกก. ป.ป.ช.) สรุปได้ ดังนี้

    1. การเชื่อมโยงข้อมูลและระบบแจ้งเบาะแส (1) การเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบดิจิทัลระหว่างหน่วยงานจัดเก็บภาษี หน่วยงานที่เกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออก และหน่วยงานด้านการจดทะเบียนพาณิชย์ เป็นนิติบุคคล (2) มีระบบการแจ้งเบาะแสที่มีประสิทธิภาพและมีสินบน นำจับในกรณีมีผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตเกี่ยวกับภาษี

    2. กำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการทุกราย ต้องจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และรายงานภาษีซื้อ-ภาษีขายในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    3. เพิ่มกลไกการตรวจสอบ ถ่วงดุล สอบยันในหน่วยจัดเก็บภาษี โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีอธิบดีกรมสรรพากร เป็นประธาน

    4. ในกรณีข้อมูลการส่งออกไม่เพียงพอต่อการพิจารณาการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรส่งเรื่องให้กรมศุลกากรตรวจสอบเพิ่มเติมก่อนจึงจะนำมาใช้อ้างอิง รวมถึงตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านภาษีหรือการจดทะเบียนเป็น นิติบุคคลของต่างประเทศว่าผู้นำเข้ามีการประกอบการจริงหรือไม่

    5. เพิ่มกลไกการตรวจสอบเพิ่มเติมจากมาตรฐานที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบผู้ส่งออกที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการทุจริตในการขอคืน ภาษีมูลค่าเพิ่ม

    6. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการตรวจสอบเกี่ยวกับผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง เพื่อให้สามารถป้องกันและทราบถึงกรณีตัวแทนการจดทะเบียนบังหน้า

    ทั้งนี้ ประเด็นการเชื่อมโยงข้อมูลและระบบแจ้งเบาะแสนั้น กรมสรรพากรและกรมพัฒนาธุรกิจการค้าร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการบูรณาการขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจ โดยรวมขั้นตอนยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลพร้อมการยื่นคำขอต่างๆ เพื่อเป็นการปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร ได้แก่การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและการลงทะเบียนขอใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินการรับแบบคำขอใช้บริการยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษีผ่านระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ไปพร้อมกับการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ด้วย นอกจากนี้ กรมสรรพากรมีช่องทางในการแจ้งเรื่องการบริการแจ้งเบาะแสเรื่องการทุจริตและข้อเสนอแนะ ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร (rd.go.th)

    โดยกรมสรรพากรยังมีการออกระเบียบว่าด้วยการจัดทำส่งมอบและเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งพัฒนาระบบให้บริการจัดทำและนำส่ง e-Tax Invoice & e-Receipt ปัจจุบัน กรมสรรพากรให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจัดทำใบกำกับภาษีหรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ โดยความสมัครใจ เนื่องจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ละรายมีขนาดธุรกิจแตกต่างกัน นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังมีหน่วยงานพิจารณาคืนภาษีทั่วประเทศ สำหรับการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามข้อเสนอแนะของกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อน เนื่องจากยังมีข้อกำหนดห้ามไม่ให้มีการเปิดเผยข้อมูลของผู้เสียภาษีให้แก่บุคคลอื่นเว้นแต่จะมีอำนาจตามกฎหมาย

    นอกจากนี้กรมสรรพากร ยังมีระเบียบและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติอยู่แล้ว เช่น กรณีมีข้อสงสัยหรือมีความผิดปกติในการส่งออกและจะมีการประสานแจ้งกรมศุลกากรให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในแต่ละราย กรณีมีเหตุสงสัยนิติบุคคลต่างประเทศมีการประกอบการจริงหรือไม่หรือเป็นผู้ซื้อขายจริงหรือไม่ สามารถประสานไปยังกองวิชาการแผนกภาษีกรมสรรพากรเพื่อขอข้อมูลเฉพาะลายที่ต้องสงสัยไปยังสรรพากรในต่างประเทศได้ รวมทั้งประสานขอข้อมูลใบขนส่งสินค้าขาเข้าและใบขนสินค้าขาออกจากกรมศุลกากรตามที่ได้ทำความตกลงตามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมสรรพากรและคนศุลกากร เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงได้

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ในปี 2563 รัฐบาลมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีจำนวน 2.86 ล้านล้านบาทโดยเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 7.45 แสนล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 26.04 ของภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บได้ซึ่งเป็นภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บได้จำนวนมากที่สุด ซึ่งนายกรัฐมนตรียังให้ทุกหน่วยงานช่วยกันชี้แจ้ง ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงข้อเท็จจริงว่า การจัดเก็บภาษีเป็นเครื่องมือทางการคลังของรัฐบาลในการหารายได้เพื่อใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานและการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและใช้ในการรักษาเสถียรภาพของทางเศรษฐกิจเช่นการกระตุ้นการจ้างงานในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำและการป้องกันภาวะเงินเฟ้อด้วยมาตรการทางภาษี รวมทั้งมาตรการเพื่อป้องกันการทุจริตในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ยังเป็นส่วนหนึ่งในการเอาจริง เอาจังของรัฐบาลในการต่อต้านทุจริตคอรัปชันด้วย

    ไฟเขียว กฟผ.ซื้อหุ้น “คลังเก็บ LNG หนองแฟบ” 1.63 หมื่นล้านบาท

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าร่วมทุนในบริษัท LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) บ้านหนองแฟบ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ในสัดส่วนร้อยละ 50 โดยมีมูลค่าเงินลงทุนตามสัดส่วนไม่เกิน 16,350 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ซึ่งถือเป็นการขยายธุรกิจในแนวดิ่ง (Vertical Integration) ของ กฟผ. จากขั้นปลายน้ำ (Downstream) สู่ขั้นกลางน้ำ (Midstream) เนื่องจากบริษัทมีภารกิจหลักในการดำเนินธุรกิจสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) รวมถึงการแปลงสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ให้มีสถานะกลายเป็นก๊าซ เพื่อจัดส่งก๊าซธรรมชาติเข้าสู่โครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และส่งต่อให้กับลูกค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งครอบคลุมถึงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ดังนั้น การร่วมทุนในบริษัทครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มความยึดหยุ่นในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงของ กฟผ. ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

    พร้อมกันนี้ ครม. มีมติเห็นชอบให้ยกเว้นภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกิดขึ้น จากการก่อสร้าง การจัดตั้งบริษัทและการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับการร่วมทุน เนื่องจากการดำเนินธุรกรรมดังกล่าว ทำให้เกิดภาระด้านภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งทำให้ต้นทุนโครงการและต้นทุนพลังงานของประเทศเพิ่มสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องขอยกเว้นภาษีเบี้ยปรับเงินเพิ่มและค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

    โครงการ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 นี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านหนองแฟบ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ลักษณะโครงการมีท่าเรือ 1 ท่า ถังเก็บ LNG 2 ถัง สามารถรองรับ LNG ได้ปริมาณ 7.5 ล้านตันต่อปี โดยมีภารกิจหลัก ในการดำเนินธุรกิจสถานีรับ – จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) รวมถึงการแปลงสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ให้มีสถานะกลายเป็นก๊าซ เพื่อจัดส่งก๊าซธรรมชาติเข้าสู่โครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซ และส่งต่อให้กับลูกค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งครอบคลุมถึงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. โดยเปิดให้บริการเดือนธันวาคม 2565 สำหรับโครงสร้างการร่วมลงทุนบริษัท LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 จดทะเบียนจัดตั้งในไทย โดยมีผู้ถือหุ้น 2 ราย คือ กฟผ. (สัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 50) และบริษัท PTTLNG (สัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 50) มีมูลค่ากิจการอยู่ที่ประมาณ 46,900 -52,200 ล้านบาท ส่วนผลตอบแทนการลงทุนกรณีได้รับการยกเว้นภาษี มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 6,012 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนทางการเงินของโครงการ (Project IRR) ร้อยละ 8.5 อัตราผลตอบแทนของส่วนทุน (Equity IRR) ร้อยละ 9.5 ระยะเวลาคืนทุน ของโครงการ 10 ปี 9 เดือน

    ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากการที่ กฟผ. เข้าร่วมร่วมลงทุนในครั้งนี้ คือ 1)กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจ ภายใต้การกำกำบดูแลของกระทรวงพลังงาน ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในบริษัทรูปแบบเงินปันผล 2) เป็นโอกาสที่ดีให้ กฟผ. ได้เริ่มดำเนินธุรกิจให้บริการ LNG Receiving Terminal ซึ่งมีผู้ร่วมทุนเป็นผู้นำในธุรกิจ 3)บุคลากรของ กฟผ. มีโอกาสในการพัฒนาความรู้ และประสบการณ์ในการดำเนินงานของ LNG Receiving Terminal จากผู้ร่วมทุนที่เป็นผู้นำในธุรกิจ 4)สนับสนุนนโยบายการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ (การส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ) โดยมีผู้ให้บริการสถานีและผู้นำเข้า LNG รายใหม่ๆ (Third Party Access : TPA) และ 5)เพื่อเสริมความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าในประเทศ และเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวในภูมิภาคอาเซียน (Regional LNG Hub) ในอนาคต

    รับทราบผลงาน “JCM” รวม 49 โครงการ ลด CO2ได้ 2.62 แสนตัน/ปี

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. รับทราบผลการดำเนินโครงการภายใต้กลไกเครดิตร่วม (Joint Crediting Mechanism : JCM) ซึ่งเป็นกลไกทวิภาคีที่ประเทศญี่ปุ่นได้ริเริ่มขึ้น เพื่อช่วยให้ประเทศที่มีความร่วมมือสามารถใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำในการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจก โดยสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลญี่ปุ่น

    โครงการต้นแบบ JCM ที่ไทยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากญี่ปุ่นมีจำนวน 49 โครงการในไทย คิดเป็นมูลค่า 3,018 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการประเภทการผลิตพลังงานหมุนเวียน จำนวน 26 โครงการ รองลงมาเป็นโครงการประเภทการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จำนวน 21 โครงการ และการผลิตพลังงานหมุนเวียนร่วมกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จำนวน 2 โครงการ คาดว่า จะก่อให้เกิดการลงทุนร่วมภายใต้กลไกเครดิตร่วม JCM มากกว่า 9,806 ล้านบาท มีหน่วยงานผู้รับทุนเป็นบริษัทเอกชนไทย จำนวน 45 แห่ง นอกจากนี้ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้เท่ากับ 262,357 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

    สำหรับโครงการต้นแบบ JCM ของไทยที่ขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการร่วม JCM แล้ว มีจำนวน 11 โครงการ ซึ่งถือเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้กลไกเครดิตร่วม JCM มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้เท่ากับ 58,096 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และมีโครงการที่ได้รับการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตแล้ว จำนวน 5 โครงการ มีปริมาณคาร์บอนเครดิตเท่ากับ 4,032 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยแบ่งปันคาร์บอนเครดิตเป็นของฝ่ายไทย 2,015 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ฝ่ายญี่ปุ่น 2,017 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

    ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า โครงการต้นแบบ JCM ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นจะเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ JCM ก็ต่อเมื่อ ได้รับการขึ้นทะเบียนจากคณะรรมการร่วม JCM ซึ่งเอกสารที่ได้รับการขึ้นทะเบียน จะรายงานปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าโครงการจะลดได้ มีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ส่วนปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่โครงการสามารถลดได้จริงจากการดำเนินงานเรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” โดยคณะกรรมการร่วม JCM เป็นผู้ให้การรับรองคาร์บอนเครดิต และสัดส่วนคาร์บอนเครดิตที่จะแบ่งปันกันระหว่างฝ่ายญี่ปุ่นและฝ่ายไทย จะเป็นไปตามสัดส่วนของเงินสนับสนุนต่อเงินลงทุนทั้งหมดของโครงการ

    เร่งพัฒนา “ดิจิทัล ไอดี” ยืนยันตัวตน โดยไม่ต้องมาเขต

    1.1 ข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ว่าด้วยการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล คือ 1. กรอบการทำงาน 2. ข้อกำหนดการพิสูจน์ตัวตน 3. ข้อกำหนดการยืนยันตัวตน

    1.2 ข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ว่าด้วยเทคโนโลยีชีวมิติ คือ การใช้งานเทคโนโลยีชีวมิติสำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตน เล่ม 1 และ เล่ม 2

    1.3 ข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ว่าด้วยการทดสอบสมรรถนะการทำงานเทคโนโลยีชีวมิติ

    2. มาตรฐานสำหรับหน่วยงานของรัฐ 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ประกาศคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เรื่อง มาตรฐานและหลักเกณฑ์การจัดทำกระบวนการและการดำเนินงานทางดิจิทัลว่าด้วยเรื่องการใช้ดิจิทัลไอดีสำหรับบริการภาครัฐสำหรับบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย 2.มาตรฐานรัฐบาลดิจิทัลว่าด้วยแนวทางการจัดทำกระบวนการและการดำเนินงานทางดิจิทัลเรื่องการใช้ดิจิทัลไอดีสาหรับบริการภาครัฐ-ภาพรวม (เวอร์ชัน 1.0) และ 3.มาตรฐานรัฐบาลดิจิทัลว่าด้วยแนวทางการจัดทำกระบวนการและการดำเนินงานทางดิจิทัลเรื่องการใช้ดิจิทัลไอดีสาหรับบริการภาครัฐ-การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลสำหรับบุคคลธรรมดาที่มีสัญญาติไทย (เวอร์ชัน 1.0)

    นอกจากนี้ ครม. ยังรับทราบรายงานกรอบการขับเคลื่อนการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลประเทศไทย ระยะที่ 1 (2565-2567) และแผนปฏิบัติการตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอด้วย โดยมีรายละเอียดกลยุทธ์หลัก 8 หลักการ คือ

    1. Digital ID ครอบคลุมบุคคล นิติบุคคล และบุคคลต่างชาติ พร้อมรองรับการยืนยันตัวตน การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ การมอบอำนาจ และการให้ความยินยอมทางอิเล็กทรอนิกส์

    2. ประชาชนสามารถเลือกใช้ Digital ID ในระดับความเชื่อมั่นที่เหมาะสมในการเข้าถึงบริการออนไลน์ของภาครัฐและเอกชน
    3. กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการให้ข้อมูลและบริการสนับสนุนการพิสูจน์ตัวตนให้กับผู้พิสูจน์และยืนยันตัวตน (Identity Provider: IdP)

    4. การใช้ Digital ID ในการทำธุรกรรมของนิติบุคคลเป็นการใช้ Digital ID บุคคลธรรมดาของผู้มีอำนาจของนิติบุคคลนั้นร่วมกับการมอบอำนาจ หากจำเป็น

    5. กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นหน่วยงานหลักในการให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือของนิติบุคคล เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมของนิติบุคคลผ่าน Digital ID

    6. ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐผ่านระบบการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่น่าเชื่อถือและประชาชนใช้งานอย่างกว้างขวางโดยไม่ต้องลงทะเบียนพิสูจน์ตัวตนซ้ำซ้อนด้วยมาตรฐานสากลแบบเปิด

    7. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กำหนดนโยบาย Digital ID ในภาพรวม ซึ่งรวมถึงการพัฒนามาตรฐานกลางที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บริการที่เกี่ยวกับ Digital ID ของรัฐและเอกชนมีมาตรฐานสอดคล้องกันและเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ โดยหน่วยงานกำกับในแต่ละภาคส่วนนำไปประยุกต์ใช้ รวมถึงกำหนดนโยบายเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับบริการหรือธุรกิจที่กำกับหรือดูแล

    8. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) พัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ เพื่อให้บริการที่เกี่ยวกับ Digital ID ของรัฐและเอกชนได้มาตรฐานสอดคล้องกันและเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้

    “สำหรับการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล ประกอบด้วย 2 ระบบ คือ 1. ระบบ FVS หรือ Face Verification Service เช่น พัฒนาระบบ FVS เพื่อให้บริการตรวจสอบภาพใบหน้ารองรับธุรกรรมสูงสุด 60 รายการต่อวินาที (5 ล้านรายการต่อวัน) และการตรวจสอบภาพใบหน้าใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก พร้อมภาพใบหน้าเพื่อตรวจสอบกับระบบ FVS และ 2. ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital ID และแอปพลิเคชัน D.DOPA เช่น ขยายระบบรองรับผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน D.DOPA เป็น 60 ล้านคน รองรับการยืนยันตัวตนสูงสุด 100 ธุรกรรมต่อวินาที และรองรับการพิสูจน์ตัวตน โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงานเขต หรือ อำเภอ เพื่อรองรับการลงทะเบียนในการพิสูจน์ตัวตนด้วยตนเอง โดยใช้ภาพใบหน้าตามระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์ตัวตน (Identity Assurance Level: IAL) ที่ระดับ IAL 2.3” นางสาว ทิพานัน กล่าว

    ผลประชุม รมต.พลังงานอาเซียน – เดินหน้าเชื่อมสายส่ง-ท่อก๊าซข้ามพรมแดน

    นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 40 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 13-16 กันยายน 2565 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุม โดยสรุปสาระสำคัญที่ประชุม รัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ได้รับรองถ้อยแถลงร่วมของการประชุมฯ เช่น

    1. ด้านไฟฟ้า มีการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (รวม 16 โครงการ ณ เดือน กันยายน 2564) โดยมีกำลังไฟฟ้าที่ถ่ายเทระหว่างประเทศสมาชิกรวม 26,644 – 30,114 เมกะวัตต์ และดำเนินโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่างลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ได้สำเร็จ โดยกำหนดปริมาณการซื้อ-ขายไฟฟ้าสูงสุดที่ 100 เมกะวัตต์ชั่วโมง ระหว่างปี 2565-2566

    2. ด้านก๊าซธรรมชาติ มีการเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซอาเซียน มุ่งเน้นการพัฒนาตลาดก๊าซร่วมสำหรับภูมิภาค การขยายการเชื่อมโยงและการเข้าถึงก๊าซธรรมชาติ และการติดตามความคืบหน้า ในการพัฒนาท่อส่งก๊าซข้ามพรมแดน

    3. ด้านถ่านหินและเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด มีจัดการประชุมของผู้แทนระดับสูงอาเซียน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 เพื่อรวบรวมแนวทางและนโยบายเกี่ยวกับเทคโนโลยี ลำดับ ชื่อเรื่อง/สาระสำคัญ/ข้อเสนอแนะ ถ่านหินสะอาด และเทคโนโลยีการดักจับ การกักเก็บ และการใช้ประโยชน์คาร์บอน เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินการด้านถ่านหินของอาเซียนให้เป็นทิศทางเดียวกัน

    4. ด้านพลังงานหมุนเวียน สถานะของการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนของอาเซียน ในปี 2563 สัดส่วนพลังงานทดแทนเมื่อเทียบกับปริมาณพลังงานทั้งหมดที่ผลิตได้ ของอาเซียนอยู่ที่ร้อยละ 14.2 ซึ่งอาเซียนตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 23 ในปี 2568

    5. ด้านนโยบายและแผนพลังงานของภูมิภาค ในปี 2565 ได้ริเริ่มความร่วมมือระหว่างอาเซียน ในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสกับองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรปและธนาคาร เพื่อการพัฒนาเอเชีย เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในอาเซียนอย่างยั่งยืน และพัฒนาทางการเงิน

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ส่วนการประชุมอื่นๆ และการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง เช่น การประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 19 โดยมุ่งเน้นความร่วมมือ ด้านความมั่นคงทางพลังงาน พลังงานหมุนเวียน และการแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีใหม่ เกี่ยวกับพลังงานผ่านโครงการต่างๆ

    การประชุมรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 16 ยังได้หารือเกี่ยวกับ ความมั่นคงทางพลังงานและการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานอย่างยั่งยืนและเป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อม โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้นำเสนอแนวทางการจัดทำแผนพลังงานชาติและแสดงวิสัยทัศน์ในการส่งเสริมความร่วมมือ กับประเทศในกลุ่มอาเซียนและประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเพื่อสนับสนุน ความมั่นคงทางพลังงานและการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงานในภูมิภาคร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนกับสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ ได้เสนอโครงการ Southeast Asia Smart Power Program ที่มุ่งเน้นการพัฒนาโครงการด้านพลังงานสะอาด ในภูมิภาคและยกระดับการเชื่อมโยงทางพลังงานและส่งเสริมการค้าพลังงานแบบ พหุภาคีในภูมิภาค และการประกาศผลรางวัลดีเด่นด้านพลังงานอาเซียน ประจำ 2565 ไทยมีผู้รับรางวัลทั้งสิ้น 23 รางวัล

    ปรับรูปแบบการเช่า “บ้านธนารักษ์ประชารัฐ”

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ขยายกรอบการดำเนินโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ กรณีการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ รูปแบบโครงการเช่าระยะสั้น (Rental) บนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท. 5050 และ ส.กท. 827 (บางส่วน) แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. เนื้อที่ประมาณ 3-1-91 ไร่ มีระยะเวลาโครงการ 3 ปี และ ให้ ธ.อาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และ ธ.ออมสิน แยกบัญชีโครงการฯ เป็นโครงการตามนโยบายของรัฐบาล (Public Service Accout: PSA) และไม่นับรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ที่เกิดจากการดำเนินโครงการฯ เป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของธนาคาร รวมทั้งให้สามารถนำค่าใช้จ่ายในการจัดทำโครงการฯ บวกกลับกำไรสุทธิเพื่อการคำนวณโบนัสพนักงานได้ต่อไป โดยที่ ธอส. และ ธ.ออมสินจะต้องไม่ขอรับการชดเชยงบฯ สำหรับการดำเนินโครงการฯ ในอนาคต

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า โครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ แบบเช่าระยะสั้น (Rental) เป็นโครงการเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท ในวันที่ยื่นขอรับสิทธิเช่าพักอาศัยเป็นรายเดือน ค่าเช่าอาคารชุดพักอาศัยไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท และปรับปรุงค่าเช่าเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 15 ทุก 5 ปี และสามารถพักอาศัยได้เป็นเวลา 5 ปี เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงรุ่นผู้อยู่อาศัย โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีสิทธิรุ่นใหม่ได้มีโอกาสเข้ามาอยู่อาศัยแทน ซึ่งผู้ประกอบการลงทุนก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยจะได้สิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุและการบริหารอาคารชุดพักอาศัยระยะเวลา 30 ปี (ไม่รวมระยะเวลาก่อสร้าง) โดยได้เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2559 โดยขณะนี้มีโครงการเช่าระยะสั้น หมายเลขทะเบียนที่ กท.5050 กทม. และ ส.กท.827 (บางส่วน) แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. ยังอยู่ระหว่างดำเนินการแต่ไม่แล้วเสร็จเกิดความล่าช้าเพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และกำหนดโครงการสิ้นสุดไปแล้วเมื่อ 18 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. จึงมีมติให้ขยายกรอบการดำเนินโครงการ 3 ปีนับตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติ เพื่อให้โครงการสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย

    “ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ และประชาชนมีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย และสามารถใช้ประโยชน์บนที่ดินราชพัสดุได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ที่ประชุม ครม. จึงมีความเห็นให้ ธอส. และ ธ.ออมสิน คัดกรองลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมและให้มีการติดตามและเร่งรัดการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่ขยายกรอบการดำเนินโครงการไว้” นางสาวทิพานัน กล่าว

    แบ่งงาน “ธนกร” สั่งการแทนนายกฯ คุมกรมประชาฯ – อสมท.

    นางสาวทิพานัน กล่าวต่อว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานของรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

    ที่ประชุม ครม. อนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ แต่งตั้ง นายพงศธร ศิริอ่อน วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ กรมชลประทาน ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านสำรวจและหรือออกแบบ) (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภท วิชาการระดับทรงคุณวุฒิ(กระทรวงศึกษาธิการ)

    ที่ประชุม ครม. อนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

      1. นางสาวทัศนีย์ พิศาลรัตนคุณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ) สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2565

      2. นายวิทวัต ปัญจมะวัต ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการระดับสูง) สำนักนโยบายและแผนการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2565

      3. นายนิติ นาชิต ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการระดับสูง) สำนักงานมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2565

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเกทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)

    ที่ประชุม ครม. อนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

      1. นายโวสิต วรทรัพย์ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ราชอาณาจักรสเปน

      2. นางสาวลดา ภู่มาศ กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศทั้งสองรายดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ

    4. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

    ที่ประชุม ครม. อนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 8 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

      1. นางชญานันท์ ภักดีจิตต์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

      2. นายพิชิต สมบัติมาก ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

      3. นายชีวะภาพ ชีวะธรรม รองอธิบดีกรมป่าไม้ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

      4. นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

      5. นางภาวินี ณ สายบุรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

      6. นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

      7. นายวันชัย จริยาเศรษฐโชค รองอธิบดีกรมป่าไม้ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

      8. นายสิทธิชัย เสรีส่งแสง รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    5. การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

    ที่ประชุม ครม. เห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายโสภณ เมฆธน เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีอีกหนึ่งวาระ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2565

    6. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต

    ที่ประชุม ครม. อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต จำนวน 5 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ดังนี้

      1. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 2 คน ได้แก่

        1.1 ศาสตราจารย์สหธน รัตนไพจิตร
        1.2 นางสุนทรีย์ ส่งเสริม

      2. ด้านการเงินการธนาคาร จำนวน 1 คน ได้แก่ นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี

      3. ด้านคอมพิวเตอร์ จำนวน 1 คน ได้แก่ นางประราลี รัตน์ประสาทพร

      4. ผู้แทนผู้ประกอบการด้านธุรกิจภาคเอกชน จำนวน 1 คน ได้แก่ นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป

    7. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)

    ที่ประชุม ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป

    8. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพลังงาน)

    ที่ประชุม ครม. อนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ แต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหารระดับสูง เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง จำนวน 5 ราย ดังนี้

      1. นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพลังงาน

      2.. นายสมภพ พัฒนอริยางกูล ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพลังงาน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพลังงาน

      3. นายเรืองเดช ปั่นด้วง รองอธิบดี กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพลังงาน

      4. นายวรากร พรหโมบล รองอธิบดี กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพลังงาน

      5. นายอนิรุทธิ์ ธนกรมนตรี รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพลังงาน

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    ดร.รัชดา กล่าวเสริมว่า วันนี้ ครม. มีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 307/2565 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้ มอบหมายและมอบอำนาจรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายธนกร วังบุญคงชนะ) ให้สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์ และมอบหมายให้กำกับรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

    พร้อมกันนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบคำสั่ง สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 309 /2565 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ตามกฎหมายและระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีตามที่ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายธนกร วังบุญคงชนะ) ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้

      1. มอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายดังนี้ กรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

      2. มอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้ รองประธานกรรมการในคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ รองประธานกรรมการในคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ รองประธานกรรมการ คนที่ 2 ในคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รองประธานกรรมการ คนที่ 1 ในคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 ในคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 6 ธันวาคม 2565 เพิ่มเติม