ThaiPublica > คอลัมน์ > ตัวอย่าง “การฉ้อฉลเชิงอำนาจ”: มหกรรม ‘กินรวบ’ โรงไฟฟ้า

ตัวอย่าง “การฉ้อฉลเชิงอำนาจ”: มหกรรม ‘กินรวบ’ โรงไฟฟ้า

19 มีนาคม 2021


สฤณี อาชวานันทกุล

ระยะนี้ผู้เขียนสนใจเรื่อง “การฉ้อฉลเชิงอำนาจ” ที่กำลังดึงสังคมไทยถอยหลังครั้งใหญ่ไปหลายสิบปี เริ่มจากวิธีที่รัฐธรรมนูญ 2560 ลดทอนความโปร่งใสและตัดสิทธิการตรวจสอบของประชาชน อันเป็นหัวใจของการปราบปรามคอร์รัปชัน และมอบอำนาจไร้ความรับผิดใดๆ ให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จนถึงวิธีที่รัฐทหารทำปฏิบัติการข่าวสาร (information operations: IO) กับประชาชน ด้วยเงินภาษีของประชาชน ซึ่งนอกจากจะตอกลิ่มความขัดแย้งให้ซึมลึกรุนแรงกว่าเดิมแล้ว ยังขัดต่อกติกาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเคยลงนามด้วย

“การฉ้อฉลเชิงอำนาจ” ในนิยามของผู้เขียนหมายถึง การใช้อำนาจทางการเมืองเอื้อประโยชน์ทางการเมืองหรือธุรกิจให้กับกลุ่มของตัวเองหรือพวกพ้อง

คล้ายกันกับที่ครั้งหนึ่งเราเคยใช้คำว่า “คอร์รัปชันเชิงนโยบาย” กับรัฐบาลก่อนหน้ารัฐประหาร 2557 แต่ “การฉ้อฉลเชิงอำนาจ” นั้นเลวร้ายกว่ามาก

(ใครสนใจตัวอย่าง “คอร์รัปชันเชิงนโยบาย” ในอดีต ผู้เขียนคิดว่ากรณีที่ยกในบทความ “ทุนสัมปทานกับธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจ” โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชิ้นนี้เป็นตัวอย่างที่ดี)

“คอร์รัปชันเชิงนโยบาย” นั้น สุดท้ายสามารถเอาผิดทางกฎหมายได้ ถ้าหากพบหลักฐานว่าผู้มีอำนาจทางการเมือง “สั่ง” ให้หน่วยงานของรัฐเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทของตนเอง (โดยเฉพาะถ้าหากว่าเจ้าหน้าที่รัฐทัดทานแล้ว แต่ผู้มีอำนาจไม่ฟัง) ทว่า “การฉ้อฉลเชิงอำนาจ” ที่เอื้อประโยชน์ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนั้น หลายกรณีชัดเจนว่าเป็น “ขั้นกว่า” ของ “คอร์รัปชันเชิงนโยบาย” หลายขุม เพราะไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่บริษัทใดบริษัทหนึ่งในระดับของนโยบายหรือคำสั่งทางราชการ แต่เอื้อประโยชน์ในระดับที่สูงกว่านั้น ผ่านการออกหรือแก้ “กฎหมาย” และหลายครั้งก็ใช้คำสั่งหรือประกาศ คสช. ซึ่งก็มีผลทำให้ทั้งบริษัทและนักการเมืองที่ได้ประโยชน์ สามารถ “ลอยตัว” ได้เต็มที่ เพราะเพียงแต่อ้างว่า ทำตามกฎหมายหรือคำสั่ง/ประกาศ คสช. เท่านั้นก็เพียงพอ

ในเมื่อคำสั่งและประกาศ คสช. ทั้งหมดใช้อำนาจเผด็จการเต็มรูปแบบ (มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว) นั่นคือ นิรโทษกรรมความผิดไว้ล่วงหน้าทุกแบบแล้ว ทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัย ส่วนศาลและรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ยอมรับคำสั่งและประกาศ คสช. ทั้งหมดว่ามีสถานะเป็น “กฎหมาย” (ที่คนเขียนและคนบังคับใช้ไม่มีใครต้องรับผิดชอบ)

ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพ คอร์รัปชันเชิงนโยบายสมัยก่อนสามารถนำไปสู่การฟ้องและนำตัวผู้มีอำนาจทางการเมืองขึ้นศาลในข้อหา “ร่ำรวยผิดปกติ” ซึ่งเกิดจากการเปรียบเทียบทรัพย์สินก่อนและหลังการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามกฎหมาย ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) แต่สมัยนี้เราไม่มีทางแม้แต่จะรู้ว่าทรัพย์สินของผู้ที่ครองอำนาจทางการเมืองต่อเนื่องหลายปีมีมากขึ้นหรือน้อยลงเท่าไร เพราะกฎหมาย ป.ป.ช. ถูกแก้ให้ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการทรัพย์สิน ถ้าหากกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งใหม่ภายใน 30 วัน

ผลลัพธ์ของการฉ้อฉลเชิงอำนาจก็คือ องคาพยพทั้งหมดของรัฐที่เลือกปฏิบัติอย่างชัดเจนเพราะไม่เคยต้องรับผิด พวกพ้อง “ฝ่ายตัวเอง” ทำอะไรผิดก็ไม่ต้องรับผิด จ้องเอาผิดใครก็ตามที่มองว่าอยู่ “ฝ่ายตรงข้าม” ไม่ได้รับใช้ประชาชนทุกคนทุกฝ่ายอย่างเสมอภาคอย่างที่ควรเป็น กฎหมายทุกระดับถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจของตัวเองและเล่นงานคนอื่น

ตัวอย่างหนึ่งของกรณี “การฉ้อฉลเชิงอำนาจ” ที่ผู้เขียนเห็นว่าชัดเจนก็คือ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (independent power producer: IPP) ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ไม่มีการประมูลมาหลายปีแล้ว!

เท้าความกลับไปก่อนว่า ประเทศไทยเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนเข้ามาลงทุนในการผลิตไฟฟ้าของประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 หรือเกือบสามทศวรรษที่แล้ว โดยกำหนดว่าผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนต้องผลิตกระแสไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว สัญญาซื้อขายไฟฟ้าส่วนใหญ่มักจะเป็นสัญญาแบบ “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” (take or pay) หมายความว่า แม้ว่าในช่วงเวลาที่มีความต้องการไฟฟ้าต่ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้ใช้ไฟฟ้าก็ยังต้องจ่ายเงินค่าไฟฟ้าในส่วนค่าความพร้อมจ่าย (availability payment: ค่าเอพี) ให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้บริษัทเอกชนเข้ามาร่วมผลิต ด้วยการประกันว่าจะมีกำไรดีและความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ

ในเมื่อภายใต้ระบบปัจจุบัน ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายค่าไฟไม่ว่าโรงไฟฟ้าจะเดินเครื่องหรือไม่ การประมาณการความต้องการการใช้ไฟฟ้าของประเทศอย่างรัดกุม ไม่ “โอเวอร์” เกินจริง ในการทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (power development plan: พีดีพี) จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าประมาณการสูงเกินจริง ก็แปลว่าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น ผู้ใช้ไฟต้องแบกรับค่าไฟสูงเกินควรอย่างไร้เหตุผล

การเปิดประมูล IPP ให้เอกชนเข้ามาแข่งขัน และออกแบบระบบสัมปทานให้มีเอกชนหลายราย จึงไม่เพียงสำคัญต่อการสร้าง “สนามแข่งขันที่เท่าเทียม” ตามหลักการตลาดเสรีเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างหลักประกันว่า จะไม่มีเอกชนรายใดรายหนึ่งครอบครองกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นเรื่อยๆ จนส่งอิทธิพลหรือถึงขั้น “ครอบงำ” ผู้กำหนดนโยบายได้

การประมูล IPP รอบแรกๆ ดำเนินมาด้วยดี ถึงแม้จะมีเสียงครหาตั้งแต่รอบแรก ปี พ.ศ. 2539 ว่า รัฐประกาศเพิ่มปริมาณการรับซื้อจาก IPP แม้จะมีสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย (ต่อมาปะทุเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ในปีต่อมาคือ พ.ศ. 2540) ส่งผลให้โรงไฟฟ้าถ่านหินของสองบริษัท คือ บีแอลซีพีและกัลฟ์ สามารถผ่านการคัดเลือกประมูลได้

โครงการที่ชนะการประมูล IPP รอบแรกเป็นของบริษัทมากถึง 7 บริษัท ซึ่งเป็นเอกเทศจากกัน (มีผู้ถือหุ้นคนละกลุ่ม) ก่อนจะค่อยๆ ลดจำนวนลงในรอบต่อๆ มา ส่วนการเปิดประมูลบนฐานการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ “สูงเกินจริง” ก็เป็นปัญหาตลอดมานับตั้งแต่ IPP รอบแรก

การประมูล IPP รอบสุดท้ายก่อนเกิดรัฐประหาร 2557 คือรอบที่สาม เปิดประมูลในปี พ.ศ. 2555 ทันทีที่มีการประกาศเงื่อนไขการประมูล บริษัทที่สนใจเข้าร่วมหลายบริษัทก็ตั้งข้อสังเกตต่อสื่อว่าเงื่อนไขการประมูลไม่เป็นธรรม เช่น มีการ “ล็อกเทคโนโลยี” มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดหากำลังผลิตไฟฟ้า (Bid Management Committee — BMC) ขึ้นมาเป็นผู้พิจารณาคัดเลือก

การประมูลครั้งนี้มีผู้ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าเพียง 9 ราย จาก 5 กลุ่มบริษัท ผลปรากฏว่า กลุ่มบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอจี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) เป็นผู้ชนะการประมูลทั้งหมดเพียงบริษัทเดียว ได้กำลังการผลิตไป 5,000 เมกะวัตต์ ท่ามกลางข้อสงสัยมากมายว่ากระบวนการอาจจะไม่โปร่งใส

ยกตัวอย่างเช่น มีการกีดกันบริษัทลูกของ กฟผ. ไม่ให้เข้าประมูลในครั้งนี้ เนื่องจากมีการกำหนดเงื่อนไขไม่อนุญาตให้รัฐวิสาหกิจที่ภาครัฐ “มีการถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม” มากกว่าร้อยละ 50 ทำให้บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ได้, ไม่มีข้อกำหนดเรื่องการจัดทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรวมถึงการรีบร้อนลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

จากนั้นก็เกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่น่าสนใจคือ เพียง 4 วันหลังจากรัฐประหาร ในบรรดานักธุรกิจที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เชิญตัวมา “ปรับทัศนคติ” มีชื่อ สารัชถ์ รัตนาวะดี เจ้าของกลุ่มบริษัท กัลฟ์ รวมอยู่ในนั้นด้วย

ต่อมา คสช. ใช้อำนาจแต่งตั้ง “คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ” (คตร.) ขึ้นมาในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 45/2557 และต่อมาตั้ง คตร. ชุด “ทหารเป็นใหญ่” โดยคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 122/2557 ลงวันที่ 30 กันยายน 2557 อีกทั้งในระหว่างนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 54/2557 แต่งตั้งตัวเองในฐานะหัวหน้า คสช. ให้ไปเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 95/2557 ปลดเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และแต่งตั้งคณะกรรมการ กกพ. ใหม่ทั้งชุด

เรียกได้ว่าแทบจะทันทีหลังรัฐประหาร คสช. ก็ปรับเปลี่ยนองคาพยพทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนพลังงานของประเทศ ไม่เว้นแม้กระทั่ง กกพ. ซึ่งเป็น “เรกูเลเตอร์” หรือหน่วยงานกำกับดูแลกิจการพลังงาน

ภายหลังจากที่ คสช. ตั้ง คตร. แล้ว สหภาพรัฐวิสาหกิจ กฟผ. ก็ไปร้องเรียนต่อ คตร. ว่าการประมูล IPP รอบที่สาม (ที่กัลฟ์ชนะประมูลรายเดียว 5,000 เมกะวัตต์) ไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรมกับผู้ร่วมประมูลรายอื่น คตร. กกพ. และกระทรวงพลังงานจึงได้มีตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมข้อสังเกตเกี่ยวกับการดำเนินการประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ

คตร. ไปบอกให้ กกพ. (ที่ คสช. แต่งตั้งใหม่ทั้งชุด) ตรวจสอบการประมูลโรงไฟฟ้า IPP ดังกล่าว เรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นเรียกว่า “มหากาพย์” ก็ไม่เกินจริง ดังสรุปอย่างชัดเจนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของ ส.ส. เบญจา แสงจันทร์ พรรคก้าวไกล เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ความบางตอนว่า

“…รัฐให้สัญญาที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านกับเอกชนไปแล้วแต่รัฐเองกลับยังต้องมาลงทุนอีกเกือบ 6,000 ล้าน โดยผลักภาระค่าก่อสร้างสายส่งให้แก่ประชาชน โดยผู้ชนะการประมูลไม่ต้องรับภาระแม้แต่บาทเดียว ดังนั้น คตร. จึงมีมติให้ กกพ. และกระทรวงพลังงาน ทำการเจรจากับกลุ่มบริษัทกัลฟ์และทุนญี่ปุ่น เพื่อยกเลิกสัญญาโรงไฟฟ้าที่ชนะการประมูล 1 โครงการ และแก้ไขข้อความบางส่วนในสัญญา แต่การเจรจาก็กลับไม่เป็นผล

“เมื่อเกิดการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ก็ทำให้บริษัทที่ต้องการเข้ามาร่วมทุนกับบริษัทที่ถูกตรวจสอบไม่ยอมเจรจาต่อ ธนาคารพาณิชย์เองก็ไม่อนุมัติเงินกู้ และมิหนำซ้ำยังถูก [คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน] BOI ระงับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย ส่งผลให้กลุ่มบริษัท กัลฟ์ ทำการฟ้อง กกพ. กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ต่อศาลปกครองในฐานทำละเมิด เดือนกรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา แต่หลังจากนั้น 19 สิงหาคม 2558 พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ ก็ได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ควบกับประธาน คตร. ที่ขึ้นชื่อว่า แค่กระแอม! ก็สะเทือนไปทั่วปฐพี หลังจากนั้นก็ไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบโครงการนี้ต่อ

“ทั้งนี้ ในระหว่างที่การตรวจสอบและการต่อสู้คดียังเป็นไปอย่างเข้มข้น จู่ๆ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีคำสั่งฟ้าผ่าที่ 4/2559 ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2559 ให้เปลี่ยนตัวประธาน คตร. ออกกลางอากาศ ก่อนที่อีกไม่ถึง 2 เดือนต่อมา ก็มีคำสั่งฟ้าผ่าอีกฉบับ คือคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 70/2559 ให้ยุบ คตร. ทิ้งไปเสียโดยอ้างแค่เพียงเหตุผลว่า ซ้ำซ้อน มีหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่คล้ายกันอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริง ไม่มีหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่คล้ายกันตามที่ พล.อ. ประยุทธ์ อ้างมารับเอาคดีที่เกี่ยวพันถึงผลประโยชน์ของชาติกว่าแสนล้าน ไปดำเนินการตรวจสอบต่อ

“…หลังจากคำสั่งฟ้าผ่าเพียงวันเดียว ศาลปกครองกลางก็ได้มีคำพิพากษาที่เป็นคุณต่อกลุ่มกัลฟ์ โดยไม่ให้กระทรวงพลังงานนำผลการตรวจสอบไปใช้ และให้กระทรวงพลังงานส่งเอกสารไปยกเลิกการระงับการส่งเสริมการลงทุนที่เคยแจ้งต่อ BOI ไว้ด้วย

“นอกจากนี้ สิ่งที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาไปเมื่อปลายปี 2559 เป็นเพียงการตัดสินเกี่ยวกับการทำละเมิดของหน่วยงานรัฐ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสาระสำคัญของการประมูลโรงไฟฟ้าเมื่อปี 2556 เลยว่า การประมูลครั้งนั้นมีความถูกต้องโปร่งใสหรือไม่อย่างไร ศาลไม่ได้พูดถึงความถูกผิดของการประมูล”

จุดจบของมหากาพย์ทั้งหมดนี้ คือ การตรวจสอบประมูล IPP ที่กัลฟ์ชนะไปเพียงรายเดียว ถูกระงับการดำเนินการไปโดยไม่มีหน่วยงานไหน(กล้า?)รับเรื่องไปดำเนินการต่อ

การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตอิสระหรือ IPP รอบที่สามว่าเหลือเชื่อแล้ว การเปิดการรับซื้อรอบที่สี่ ซึ่งเป็นครั้งแรกนับจากรัฐประหาร 2557 ต้องเรียกว่า “อภินิหาร” มากกว่านั้นอีก เนื่องจากครั้งนี้ไม่มีการประมูลเลย!

แผน PDP 2561 ที่นำมาซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้แปลกกว่าครั้งก่อนๆ ตรงที่ไม่มีการพูดถึงกำลังผลิตสำรองแม้แต่ครั้งเดียว (ซึ่งถ้าดูตัวเลขนี้จะเห็นว่า ประเทศไทยมีกำลังผลิตสำรองส่วนเกินสูงถึงร้อยละ 35-40 หรือกว่า 20,000 เมกะวัตต์ จึงไม่น่ามีความจำเป็นที่จะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่) โดยสรุปว่า “จำเป็น” ที่จะต้องมีการเพิ่มกำลังการผลิตในภาคตะวันตก 1,400 เมกะวัตต์

ต่อมา กพช. เห็นชอบให้ RATCH (ซึ่ง กฟผ. ถือหุ้นร้อยละ 45 และเคยถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมประมูล IPP รอบที่สาม) สร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติใหม่ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ (โครงการโรงไฟฟ้าหินกอง) เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอร์จี้ ขนาด 700 เมกะวัตต์ที่มีกำหนดหมดอายุในปี 2563 โดยไม่เปิดการประมูล

กพช. ให้เหตุผลว่า RATCH มีความพร้อมด้านพื้นที่ สาธารณูปโภคต่างๆ และได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า และช่วยเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้าทางภาคตะวันตกและภาคใต้

ต่อมาไม่ถึงครึ่งปี ในวันที่ 3 มกราคม 2563 หลังจากที่โรงไฟฟ้าหินกองของ RATCH ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ไปในเดือนกรกฎาคม 2562 บมจ. กัลฟ์ ก็เข้าซื้อหุ้นบริษัท หินกอง เพาเวอร์ ผู้ดำเนินโครงการ ในสัดส่วนร้อยละ 49 ที่ราคาพาร์ (หุ้นละ 10 บาท) จ่ายเงินเพียง 1.96 ล้านบาทเท่านั้น (!)

เท่ากับว่ากัลฟ์ได้เป็นเจ้าของกำลังผลิตเกือบครึ่งหนึ่งของโรงไฟฟ้าหินกอง ซึ่งมีการประมาณการว่ามูลค่า 6.4 หมื่นล้านบาท เท่ากับว่าหุ้นร้อยละ 49 ในส่วนที่กัลฟ์ถือมีมูลค่าราว 3.2 หมื่นล้านบาท – นับว่าคุ้มเกินคุ้มสำหรับการควักเงินจ่ายแค่ 1.96 ล้านบาท

ผู้เขียนนึกไม่ออกว่ามีการลงทุนอะไรที่ได้กำไรงามๆ เท่านี้อีก

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ กัลฟ์ได้เป็นเจ้าของกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าเกือบครึ่งหนึ่ง โดยไม่ต้องมีการประมูลแข่งขันกับใคร และโรงไฟฟ้านี้ที่จริงถ้าดูเชิงระบบก็ไม่มีความจำเป็นต้องก่อสร้าง เพราะไม่มีความต้องการรองรับ อีกทั้งกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอร์จี้ที่อ้างว่าต้องสร้างโรงใหม่มาทดแทน ก็มีขนาด 700 เมกะวัตต์ ไม่ใช่ 1,400 เมกะวัตต์

ดังนั้น การ “แถม” 1,400-700 = 700 เมกะวัตต์ให้กับ RATCH จึงอาจจะเป็นตัวอย่าง ธรรมาภิบาลในกระบวนการวางแผนพลังงาน การรับซื้อไฟฟ้าของไทยนั้นตกต่ำลงมากขนาดไหนแล้ว?

และในเมื่อ RATCH “ยอม” ขายหุ้นร้อยละ 49 ในโรงไฟฟ้ามูลค่าหลายหมื่นล้านให้กับกัลฟ์ ในราคาต่ำเตี้ยติดดินอย่างเหลือเชื่อคือ 1.96 ล้านบาท ก็ย่อมทำให้เกิดข้อสงสัยว่า หรือ กัลฟ์ และ/หรือผู้มีอำนาจทางการเมือง อาจจะใช้ RATCH เป็นโล่กำบังให้กัลฟ์สามารถถือหุ้นเกือบครึ่งหนึ่งในโรงไฟฟ้าใหม่ โดยไม่ต้องประมูล ไม่ต้องลงทุนก่อสร้าง และไม่ต้องออกหน้าทางการเมือง

เปรียบเทียบราคาหุ้น GULF กับดัชนี SET ในรอบสามปี 2018-2020 (ใช้ดัชนีเริ่มต้นที่ 100 เท่ากัน เพื่อให้เปรียบเทียบได้ง่ายขึ้น)

ผู้เขียนนั่งดูมหากาพย์โรงไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบันแล้วก็เห็นว่า ไม่มีใครที่จะอธิบายเหตุผลอย่างสอดคล้องเป็นเหตุเป็นผลได้ว่า เหตุใด RATCH จึงถูกกีดกันไม่ให้ร่วมประมูล IPP รอบที่สาม แต่แล้วพอมาถึงรอบที่สี่ RATCH กลับได้รับอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าโรงใหม่ โดยไม่ต้องประมูลแข่งกับใคร แถมไม่กี่เดือนหลังจากนั้นยัง “ใจดี” ยอมขายหุ้นโรงไฟฟ้าใหม่ในราคาพาร์ให้กับกัลฟ์ บริษัทรายเดียวที่ชนะประมูลในรอบที่ตัวเองถูกกีดกัน

เราอธิบายเรื่องนี้ไม่ได้เลย กับคำถาม…ถ้าไม่มองว่า…ผู้มีอำนาจทางการเมืองอาศัยการฉ้อฉลเชิงอำนาจหลากหลายรูปแบบ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนพวกพ้องของตัวเอง ‘กินรวบ’ ระบบการผลิตไฟฟ้า IPP ของไทย?