ThaiPublica > สู่อาเซียน > “สัญญาน” วิกฤติน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรากฏขึ้นอีกครั้งในลาว

“สัญญาน” วิกฤติน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรากฏขึ้นอีกครั้งในลาว

26 กันยายน 2023


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ความโกลาหลที่เกิดขึ้นหน้าปั๊มน้ำมันหลายแห่งในลาวเมื่อกลางปี 2565

วันพฤหัสบดีที่ 21 กันยายน 2566 หลายพื้นที่ใน สปป.ลาว ได้เกิดกระแสหวั่นวิตกแพร่ลามไปทั่ว ว่าลาวกำลังต้องเผชิญกับวิกฤติขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นอีกครั้ง หลังจากในช่วงเช้า ได้ปรากฏข่าวของบริษัท พีทีที(ลาว) ที่ประกาศว่าได้จำกัดปริมาณผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ส่งขายให้กับลูกค้า ตัวแทนจำหน่าย และสถานีบริการน้ำมันแบรนด์ PTT ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางตามชุมชนออนไลน์ของลาว

ที่มาของข่าวนี้มาจากหนังสือแจ้งการของบริษัท พีทีที(ลาว) เลขที่ 00494/23 ลงวันที่ 21 กันยายน 2565 เรื่อง “สถานการณ์น้ำมัน” ลงนามโดย ธีระ วีระวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท.(ลาว) มีเนื้อหาว่า…

“เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน บริษัท พีทีที(ลาว) และบริษัทที่จำหน่ายน้ำมันอื่นๆ ได้ประสบปัญหาการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อนำไปซื้อผลิตภัณฑ์น้ำมัน จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่อาจส่งผลกระทบให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันขึ้นได้

บริษัท พีทีที(ลาว) จึงขอแจ้งมายังลูกค้า ปั๊มตัวแทนทุกท่านทราบว่า ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2566 เป็นต้นไป บริษัท พีทีที(ลาว) จำเป็นต้องจำกัดการสั่งซื้อน้ำมันดีเซล เบนซิน และเบนซินพิเศษ เพื่อเป็นการบริหารน้ำมันให้กับลูกค้าทุกสถานีบริการตามความเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม บริษัท พีทีที(ลาว) จะพยายามจัดหาและบริหารน้ำมันให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสถานีบริการน้ำมันของลูกค้าทุกท่าน และหวังอย่างยิ่งว่าสถานการณ์ดังกล่าว จะผ่านไปได้ด้วยดี”

พีทีที(ลาว) บริษัทลูกของบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก(PTTOR) ทำธุรกิจจัดหาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและธุรกิจเสริมอื่นๆในลาว เช่น ขายส่งน้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน น้ำมันเตา น้ำมันหล่อลื่น ยางมะตอย ให้กับโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงโครงการก่อสร้างต่างๆ ขายปลีกน้ำมันผ่านสถานีบริการ PTT Station และธุรกิจร้านกาแฟ Amazon

ข้อมูลจาก เว็บไซต์ PTTOR ระบุว่า PTTOR ถือหุ้น 100% ในบริษัท พีทีที(ลาว) ผ่านทางบริษัท ปตท.(กัมพูชา) ซึ่ง PTTOR ถือหุ้นโดยตรงอยู่ด้วยทั้ง 100% เช่นกัน

แม้ว่าลาวกับไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกันยาวถึง 1,810 กิโลเมตร พรมแดนส่วนใหญ่มีแม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่ง แต่การส่งออก-นำเข้าน้ำมันข้ามแม่น้ำโขงจากไทยไปลาว ถือเป็นการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งต้องใช้เงินดอลลาร์เป็นสื่อกลาง และแม้ว่า PTTOR เป็นบริษัทผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เมื่อบริษัท พีทีที(ลาว) ที่เป็นบริษัทลูก สั่งซื้อน้ำมันจากประเทศไทยเข้าไปขายในลาว ก็ต้องใช้เงินดอลลาร์มาจ่ายเป็นค่าน้ำมัน แต่บริษัทพีทีที(ลาว) จะหาเงินดอลลาร์มาได้ ก็ต้องไปแลกมาจากธนาคารพาณิชย์ในลาวเท่านั้น ซึ่งหากต้องใช้เงินดอลลาร์ในปริมาณมากเพื่อจ่ายเป็นค่าน้ำมัน ธนาคารพาณิชย์ก็ต้องไปแลกดอลลาร์มาจากธนาคารแห่ง สปป.ลาว ซึ่งเป็นธนาคารกลางของประเทศอีกทอดหนึ่ง

เนื้อหาในหนังสือแจ้งการ เลขที่ 00494/23 ที่บอกว่า บริษัท พีทีที(ลาว) “ประสบปัญหาการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ” จึงอนุมานได้ว่า ช่วงเวลานั้น ธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารแห่ง สปป.ลาว มีเงินดอลลาร์ไม่เพียงพอไห้บริษัท พีทีที(ลาว) แลกเพื่อนำไปจ่ายเป็นค่าน้ำมัน!…

เมื่อข่าวการจำกัดปริมาณการขายผลิตภัณฑ์น้ำมันของบริษัท พีทีที(ลาว) ถูกเผยแพร่ออกมา ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้ใช้รถ ใช้น้ำมัน ในทุกเมืองของลาว หลายคนต่างชักชวนกันออกไปเติมน้ำมันรถยนต์และจักรยานยนต์ให้เต็มถังเพื่อป้องกันไว้ก่อน เนื่องจากฝันร้ายของสถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงขาดตลาดจนปั๊มน้ำมันหลายแห่งต้องหยุดให้บริการเพราะไม่มีน้ำมันขาย ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อกลางปีที่แล้ว ยังคงค้างคาอยู่ในใจผู้คนเหล่านั้นอยู่

ตลอดช่วงเช้าถึงบ่ายของวันที่ 21 กันยายน 2566 ภาพรถยนต์ รถจักรยานยนต์จำนวนมาก ต่อคิวรอเติมน้ำมันบริเวณหน้าสถานีบริการ เริ่มปรากฏให้เห็นในบางปั๊มตามเมืองใหญ่ๆ เหมือนเป็นภาพซ้ำของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ต่อเนื่องถึงเดือนมิถุนายน 2565…

ความโกลาหลที่เกิดขึ้นหน้าปั๊มน้ำมันหลายแห่งในลาวเมื่อกลางปี 2565

เดือนพฤษภาคม 2565 ได้เกิดสถานการณ์ขาดแคลนน้ำมันขึ้นทั่วประเทศลาว ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากปัญหาค่าเงินกีบที่ตกต่ำลงมาอย่างรุนแรง จนเกิดการตุนเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้บริษัทผู้นำเข้าน้ำมันของลาวหลายแห่งประสบปัญหาขาดแคลนเงินดอลลาร์เพื่อนำไปจ่ายเป็นค่าน้ำมันที่สั่งซื้อมาจากต่างประเทศเข้าไปขายให้แก่สถานีบริการในลาว ทำให้ปั๊มน้ำมันหลายแห่งต้องปิดให้บริการชั่วคราว เพราะไม่มีน้ำมันมาเติมให้กับลูกค้า

ตลอดเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ภาพรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ต่อแถวยาวเหยียดเพื่อเข้าคิวรอเติมน้ำมันหน้าปั๊มที่ยังคงเปิดให้บริการอยู่ ปรากฏตามสื่อต่างๆจนกลายเป็นเรื่องชินชา สถานการณ์นี้เกิดขึ้นต่อเนื่องนานนับเดือน รัฐบาลลาวต้องใช้หลายมาตรการเพื่อหาเงินดอลลาร์อัดฉีดเข้าไปในระบบ เพื่อให้บริษัทน้ำมันสามารถนำไปสั่งซื้อน้ำมันเข้าไปขายให้กับสถานีบริการได้ สถานการณ์จึงคล่อยๆคลี่คลายลงในภายหลัง

  • สัปดาห์แห่งความ “โกลาหล” หน้าปั๊มน้ำมันทั่วประเทศลาว
  • เมื่อวี่แววความโกลาหลในสังคมเริ่มปรากฏให้เห็นใหม่อีกครั้ง หลายภาคส่วนของลาวได้ออกมาช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เพื่อสกัดกั้นความโกลาหลนั้นไม่ให้แพร่กระจาย

    หนังสือแจ้งการ เลขที่ 00494/23 ของบริษัท พีทีที(ลาว) เรื่องการจำกัดปริมาณขายน้ำมัน ถูกเผยแพร่ออกมาในตอนเช้าวันที่ 21 กันยายน 2566 และเนื้อหาในแถลงการณ์ของสมาคมน้ำมันเชื้อไฟและอายแก๊สลาว แย้งเนื้อหาในหนังสือแจ้งการ เลขที่ 00494/23

    ช่วงบ่ายของวันที่ 21 กันยายน 2566 เพจทางการของรัฐวิสาหกิจน้ำมันเชื้อไฟลาว(LAO STATE FUEL COMPANY) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันที่มีรัฐบาลลาวถือหุ้นใหญ่ ได้เผยแพร่แถลงการณ์ของสมาคมน้ำมันเชื้อไฟและอายแก๊ส(ก๊าซธรรมชาติ)ลาว เรื่อง “การสนองน้ำมันเชื้อเพลิงยังอยู่ในสภาพปกติ” มีรายละเอียดของเนื้อหาดังนี้…

    “ภายหลังจากบริษัท พีทีที(ลาว) ได้ออกแจ้งการเกี่ยวกับการลดการสั่งซื้อน้ำมัน เพื่อสนองให้กับลูกค้าของตน เนื่องจากมีปัญหาในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และอาจไม่มีน้ำมันบางชนิดจำหน่าย หรือปิดปั๊มเป็นการชั่วคราว ซึ่งทำให้ผู้ใช้น้ำมันจำนวนหนึ่ง เข้าใจผิดว่าปั๊มน้ำมันหลายแห่งจะปิด และไม่มีน้ำมันขาย และจะเกิดสภาพน้ำมันขาดแคลนคล้ายกับเมื่อกลางปี 2565

    สมาคมน้ำมันเชื้อไฟและอายแก๊สลาว ได้ประสานกับบริษัทน้ำมันทุกบริษัท ซึ่งมีข้อมูลว่า บริษัทผู้นำเข้าน้ำมัน 14 แห่ง ยังคงมีการนำเข้าน้ำมันเป็นปกติ สามารถขายให้กับประชาชนได้อย่างเพียงพอ พร้อมกันนั้น ภาครัฐยังคงมีการสนองเงินตราต่างประเทศให้แก่บริษัทผู้นำเข้าน้ำมันเพื่อจัดซื้อน้ำมันเข้ามาขายได้อย่างต่อเนื่อง

    จึงขอเรียกร้องให้สังคมจงใช้วิจารณญาณในการติดตาม และกระจายข้อมูลข่าวสารตามความเป็นจริง เพื่อหลีกเลี่ยงความแตกตื่น ที่จะนำไปสู่ความสับสนวุ่นวายในสังคม สมาคมน้ำมันเชื้อไฟและอายแก๊สลาว จะสืบต่อประสานงานกับบริษัทผู้นำเข้าน้ำมัน ภาครัฐ เพื่อรับประกันให้มีน้ำมันเชื้อเพลิงบริการให้กับสังคมได้อย่างเพียงพอ และประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับน้ำมัน ตามสภาพความเป็นจริงต่อไป”

    เพจกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าลาว เป็นแหล่งหนึ่ง ที่ช่วยเผยแพร่ข้อมูลในหัวข้อ “สภาพการสนองน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบัน” มีเนื้อหาว่า…

    “กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ขอแจ้งถึงพ่อแม่ประชาชนได้ทราบว่า จากการติดตามสภาพการสนองน้ำมันประจำในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ ของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า และจากรายงานของสมาคมน้ำมันเชื้อไฟและอายแก๊สลาว พบว่าการสนองน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบัน ยังคงมีสภาพปกติ แต่ละวัน มีการนำเข้าน้ำมันเบนซินไม่ต่ำกว่าวันละ 800,000 ลิตร และนำเข้าน้ำมันดีเซลไม่ต่ำกว่าวันละ 2,200,000 ลิตร ขณะเดียวกัน ปั๊มน้ำมันที่มีอยู่ทั่วประเทศ ก็มีการเปิดให้บริการมากกว่า 80% ของจำนวนปั๊มที่มีอยู่ทั้งหมด นอกจากนี้ รัฐบาลก็มีนโยบายและมาตรการรองรับ เพื่อให้การสนองน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตของพ่อแม่ประชาชน หรือสังคม อยู่ในสภาพปกติ

    ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้สังคม ซึ่งก็คือพ่อแม่ประชาชน จงเชื่อมั่น และพิจารณาในการรับรู้ข่าวสารที่ผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการรับรู้ข่าวสารที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง”

    หนังสือแจ้งการ เลขที่ 00494/23 ของบริษัท พีทีที(ลาว) เรื่องการจำกัดปริมาณขายน้ำมัน ถูกเผยแพร่ออกมาในตอนเช้าวันที่ 21 กันยายน 2566 และ หนังสือแจ้งการเลขที่ 00495/23 ที่บริษัท พีทีที(ลาว)เผยแพร่ออกมาในตอนเย็นวันที่ 21 กันยายน 2566

    หลังจากองค์กรภาครัฐของลาวที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยตรง ได้ออกมาแสดงท่าทีและให้ข้อมูลที่ชัดเจน ในตอนเย็นของวันที่ 21 กันยายน 2566 บริษัท พีทีที(ลาว) ได้เผยแพร่หนังสือแจ้งการ เลขที่ 00495/23 ลงวันที่ 21 กันยายน 2565 เรื่อง “แจ้งสถานการณ์ของน้ำมันเชื้อเพลง” ลงนามโดย ธีระ วีระวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท.(ลาว) เช่นเดิม พร้อมนำเนื้อหาในหนังสือแจ้งการฉบับใหม่ เผยแพร่ลงในเพจ PTT LAO PDR ซึ่งเป็นเพจทางการของบริษัท เนื้อหาของหนังสือแจ้งการเลขที่ 00495/23 มีรายละเอียดว่า

    “บริษัท พีทีที(ลาว) ขอแจ้งต่อลูกค้าตัวแทนจำหน่าย และปั๊มน้ำมันว่า ปัจจุบัน บริษัท พีทีที(ลาว) ได้ค้นคว้า ประสานงาน และได้รับการสนับสนุนน้ำมันจากบริษัทผู้นำเข้าและส่งออกน้ำมัน ทำให้บริษัท พีทีที(ลาว) สามารถจะสนองน้ำมันให้กับลูกค้าปั๊ม ตัวแทนจำหน่ายน้ำมันทั่วประเทศได้อย่างเป็นปกติ

    ทั้งนี้ บริษัท พีทีที(ลาว) ขอขอบคุณบรรดาตัวแทนจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ได้ให้ความเข้าใจในสถานการณ์ และจงเชื่อมั่นว่าพวกเรายังสามารถจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ลูกค้า ปั๊ม ตัวแทนจำหน่ายได้เป็นปกติ ตามความเรียกร้องต้องการของสังคมอีกด้วย

    ดังนั้น จึงแจ้งมายังบรรดาลูกค้า ปั๊ม ตัวแทนจำหน่ายน้ำมันของบริษัท พีทีที(ลาว) เพื่อทราบ”

    สถานการณ์ ความโกลาหล ความหวั่นวิตกต่อวิกฤตขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงในลาวรอบนี้จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 1 วัน ก็สงบลงได้…แต่เรื่องยังไม่จบเพียงแค่นี้!!!

    รุ่งขึ้น วันศุกร์ที่ 22 กันยายน 2566 สื่อออนไลน์ของลาวอย่างน้อย 2 แห่ง ได้เผยแพร่เอกสารของสถานทูตไทยประจำ สปป.ลาว เป็นหนังสือที่สถานทูตได้ร้องขอไปยังกระทรวงการต่างประเทศของลาว ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองลาว ได้เข้าควบคุมตัวผู้บริหารระดับสูงของ บริษัท พีทีที(ลาว) 2 คน และผลักดันกลับประเทศไทยผ่านด่านสะพานมิตรภาพแห่งที่ 1(นครหลวงเวียงจันทน์-หนองคาย)

    หนังสือของสถานทูตไทยระบุว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ซึ่งเป็นวันแรกที่บริษัท พีทีที(ลาว) เริ่มจำกัดปริมาณการขายน้ำมันให้กับลูกค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่าย และปั๊มน้ำมัน PTT ในลาว เนื่องจาก “ประสบปัญหาเรื่องการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสำหรับนำไปใช้ซื้อผลิตภัณฑ์น้ำมัน” ตามที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งการเลขที่ 00494/23

    สื่อออนไลน์ 2 แห่ง ที่ได้เผยแพร่หนังสือของสถานทูตไทยฉบับนี้ ได้แก่ เพจ Laonewsซึ่งมีผู้ติดตาม 1.2 แสนคน และ เพจ Lao Link ที่มีผู้ติดตาม 3.7 หมื่นคน (โปรดดูภาพประกอบ) ขณะที่สื่อของรัฐ กับสื่อออนไลน์อื่นๆอีกหลายแห่ง ไม่มีการนำเสนอเรื่องนี้

    จากการสอบถามบุคคลในวงการพลังงานของลาว เชื่อมั่นว่าเหตุการณ์ที่ถูกระบุไว้ในหนังสือของสถานทูตไทย มีความเป็นไปได้สูงว่าได้เกิดขึ้นจริง!!!

    อย่างไรก็ตาม หลังปรากฏข่าวการจับตัวผู้บริหารบริษัท พีทีที(ลาว) 2 คน ส่งกลับประเทศไทย ออกมาในวันศุกร์ ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์(23-24 กันยายน 2566) ยูทูบเบอร์หลายคนนำเสนอหานี้ไปสร้างเป็นคอนเทนต์ โดยขยายประเด็นให้แตกแยกย่อยออกไปต่างๆนาๆ และมีหลายประเด็นที่ถูกดึงให้ห่างไกลจากข้อเท็จจริงไปมาก

    บางสื่อ พยายามชี้นำกระแสสังคมให้มองบริษัท พีทีที(ลาว) ว่าเป็นผู้ร้าย เพราะเป็นต้นตอของความโกลาหล ปั่นป่วน ที่เกิดขึ้นในสังคม

    ……

    คนในวงการพลังงานของลาวระบุว่า ประเด็นแท้จริงของเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ที่บริษัทผู้นำเข้าน้ำมันไม่สามารถหาซื้อน้ำมันเข้ามาขายในลาวได้ แต่อยู่ที่สถานการณ์ในตลาดการเงินปัจจุบันของลาว ที่ยังคงประสบปัญหาขาดแคลนเงินดอลลาร์อย่างหนัก ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานมากกว่า 3 ปี จนถึงทุกวันนี้ก็ยังดำรงอยู่ ไม่มีแนวทางที่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ

    กลไกการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือพูดแบบง่ายๆคือการแสวงหาเงินดอลลาร์ในลาว เป็นเรื่องที่ซับซ้อน ทุกวันนี้ ผู้เล่นไม่ได้มีเพียงแค่ธนาคารกลาง ธนาคารพาณิชย์ บริษัทผู้นำเข้าและผู้ส่งออก เท่านั้น

    แต่ยังมีผู้เล่นอื่นที่อยู่ในหลายภาคส่วน ซึ่งล้วนมีทั้งอิทธิพลและบทบาทในสังคม ผู้เล่นเหล่านี้ ได้แก่ บรรดาผู้ใหญ่ในพรรค รัฐมนตรี นักการเมืองทั้งระดับประเทศและท้องถิ่น รัฐกร รวมถึงนักธุรกิจแขนงต่างๆฯลฯ

    หลายคนในกลุ่มที่กล่าวถึงข้างต้น มีเงินดอลลาร์จำนวนมากเก็บไว้ในบัญชีส่วนตัว เมื่อรวมแล้วเป็นวงเงินมหาศาล พวกเขาไม่ยอมปล่อยเงินเหล่านั้นออกมาให้ไหลกลับคืนสู่ระบบ การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในลาว จึงไม่สามารถอาศัยกลไกตลาดมาอ้างอิงหรือเป็นหลักยึดได้เหมือนกับประเทศอื่น

    สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน แม้ว่าบริษัทผู้นำเข้าน้ำมันทุกแห่งของลาว สามารถเจรจาซื้อน้ำมันจากแหล่งต่างๆมาได้แล้ว แต่ทุกบริษัทกลับต้องมาตายน้ำตื้น เพราะติดขัดขั้นตอนสุดท้าย คือ”ไม่สามารถหาเงินดอลลาร์ไปจ่ายเป็นค่าน้ำมันได้”

    การจำกัดปริมาณการขายน้ำมันให้กับลูกค้าของบริษัท พีทีที(ลาว) จนทำให้ผู้บริหารถูกจับส่งตัวกลับไทย รวมถึงหนังสือแจ้งการเลขที่ 00494/23 ที่ถูกเผยแพร่ในอีก 2 วันถัดมา อาจเป็นได้ทั้ง “สาร” ที่ต้องการสื่อว่า ภาคเอกชน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศ กำลังอยากให้มีการจัดการ “อย่างจริงจัง” กับปัญหาเรื้อรังในการสนองเงินดอลลาร์ใน สปป.ลาว ได้แล้ว

    หรืออาจเป็นสัญญานที่บอกว่า หากเรื่องนี้ไม่ถูกจัดการอย่างเด็ดขาด โอกาสจะเกิดวิกฤติน้ำมันเชื้อเพลิงขาดตลาดขึ้นอีกครั้งในลาว ไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหวัง

    ว่ากันว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลลาว ล้วนกำลังเป็นห่วง ไม่อยากเห็นภาพความโกลาหลหน้าปั๊มน้ำมันในลาว เกิดขึ้นเป็นรอบที่ 2…

  • ลาวเดินหน้าแก้วิกฤติ ดึงดอลลาร์ที่ถูก”กักตุน”ไว้ กลับคืนสู่ระบบ
  • “ต้นตอ” วิกฤติการเงินในลาว คำถามตรงประเด็นจาก “วาลี เวดสะพง”