ThaiPublica > สู่อาเซียน > ปรากฏการณ์ “นักเรียน ม.ปลายลาว” ปฏิเสธการเรียนต่อมหาวิทยาลัยของรัฐ!!!

ปรากฏการณ์ “นักเรียน ม.ปลายลาว” ปฏิเสธการเรียนต่อมหาวิทยาลัยของรัฐ!!!

31 สิงหาคม 2023


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

สปป.ลาว กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่หลายภาคส่วนในสังคมต่างพากันตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น?

เมื่อเด็กซึ่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.7) จำนวนมาก ปฏิเสธการสอบเอ็นทรานซ์เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยของรัฐ ล่าสุด ปีการศึกษา 2566-2567 ที่กำลังจะเริ่ม มีเด็กสมัครสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา 4 แห่งเพียง 3 ใน 4 ของจำนวนนักศึกษาใหม่ที่ทั้ง 4 มหาวิทยาลัยตั้งเป้าว่าจะรับเข้ามาเรียนในปีนี้

บรรยากาศการสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 ที่มาภาพ : ข่าวสาร มซ.

……

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว (มซ.) ได้จัดสอบเอ็นทรานซ์คัดเลือกนักศึกษาใหม่เข้าเรียนต่อในระดับตั้งแต่อนุปริญญา ปริญญาตรีและสูงกว่าปริญญาตรี วิชาที่ถูกนำมาใช้สอบวัดผล แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ตามประเภทคณะที่นักเรียนต้องการเข้าเรียน

กลุ่ม A เป็นคณะที่เน้นเรียนด้านวิทยาศาสตร์ นักเรียนต้องสอบวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกซ์ ชีวะ เคมี ภาษาอังกฤษ ภาษาลาว วรรณคดี ส่วน

กลุ่ม B เป็นคณะที่เน้นเรียนด้านศิลปะศาสตร์ วิชาที่สอบ ได้แก่ คณิตศาสตร์ ภาษาลาว วรรณคดี ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และภาษาอังกฤษ

ก่อนหน้านั้น วันที่ 4 สิงหาคม 2566 เพจมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวได้เผยแพร่รายชื่อ 9 สาขาวิชาที่มีผู้สนใจสมัครเข้าเรียนมากที่สุดของทั้ง 2 กลุ่ม เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ถูกสำรวจและรวบรวมไว้โดยเฟซบุ๊ก Somsack Inthasone อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว มีรายละเอียดดังนี้

คณะวิชากลุ่ม A สาขาที่มีผู้สนใจเข้าเรียนมากที่สุด ได้แก่

    1. สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ 994 คน
    2. สาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ 554 คน
    3. สาขาการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ 554 คน
    4. สาขาเทคโนโลยี่ข้อมูลข่าวสาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ 507 คน
    5. สาขาออกแบบตกแต่ง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ 360 คน
    6. สาขาการพัฒนาเว็บไซต์ คณะวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ 354 คน
    7. สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ 304 คน
    8. สาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ 265 คน
    9. สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ 264 คน
สาขาวิชาสายวิทย์ที่มีผู้ต้องการเข้าเรียนมากที่สุด ที่มาภาพ : มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว
สาขาวิชาสายศิลป์ที่มีผู้ต้องการเข้าเรียนมากที่สุด ที่มาภาพ : มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว

คณะวิชากลุ่ม B สาขาที่มีผู้สนใจเข้าเรียนมากที่สุด ได้แก่

    1. สาขาภาษาจีน คณะอักษรศาสตร์ 2,133 คน
    2. สาขาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ 1,714 คน
    3. สาขาบริหารธุรกิจทั่วไป คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ 1,541 คน
    4. สาขาการบัญชี คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ 1,426 คน
    5. สาขาการตลาด คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ 1,339 คน
    6. สาขาการเงินและการธนาคาร คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ 1,066 คน
    7. สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ 649 คน
    8. สาขาการท่องเที่ยว คณะวิทยาศาสตร์สังคม 598 คน
    9. สาขาการโรงแรม คณะวิทยาศาสตร์สังคม 537 คน

ปีการศึกษา 2566-2567 มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาววางเป้าหมายรับนักศึกษาใหม่รวม 6,688 คน แบ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี 5,203 คน ระดับต่อเนื่องจากปริญญาตรี 1,395 คน และระดับอนุปริญญา 90 คน แต่มีผู้ลงทะเบียนสมัครสอบเอ็นทรานซ์ 7,363 คน สูงกว่าความต้องการเพียง 675 คน หรือ 10.09%

รุ่งเพ็ด จันทะวง รองอธิการบดีด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ให้สัมภาษณ์กับสื่อในวันสอบเอ็นทรานซ์ (12 สิงหาคม 2566) ว่า ตั้งแต่ปี 2563 จำนวนเด็กนักเรียนที่แสดงความสนใจเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว มีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ปีการศึกษา 2563-2564 ซึ่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวตั้งเป้าหมายรับนักศึกษาใหม่ทุกระดับชั้น 9,000 คน มีผู้ลงทะเบียนสมัครสอบเอ็นทรานซ์ผ่านระบบออนไลน์ประมาณ 16,700 คน แต่มีผู้มาสอบจริง 14,000 คน สัดส่วนผู้เข้าสอบสูงกว่าเป้าหมายนักศึกษาใหม่ที่ต้องการรับ 55%

ปีการศึกษา 2564-2565 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดอย่างหนักจนต้องมีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ มีผู้ลงทะเบียนสมัครสอบเอ็นทรานซ์ 9,000 คน แต่มีคนมาสอบจริง 6,625 คน

ปีการศึกษา 2565-2566 มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวตั้งเป้าหมายรับนักศึกษาใหม่ 6,990 คน แบ่งเป็นระดับปริญญาตรี 5,150 คน ระดับต่อเนื่องจากปริญญาตรี 1,480 คน นักศึกษาหลักสูตรนานาชาติและครูภาษาจีน 210 คน และอนุปริญญา 150 คน มีผู้ลงทะเบียนสมัครสอบเอ็นทรานซ์ 11,976 คน แต่มาเข้าสอบจริง 10,103 คน สูงกว่าเป้าหมายนักศึกษาใหม่ที่ต้องการรับ 44.5%…

ข้อมูลอย่างเป็นทางการของกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา ระบุว่า ปีการศึกษา 2565-2566 ทั่วประเทศลาวมีนักเรียนสอบผ่านจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั้งสิ้น 49,926 คน เป็นเพศหญิง 23,297 คน เพศชาย 26,629 คน ในนี้ เป็นผู้ที่มีผลคะแนนสอบสูงจนได้รับประกาศนียบัตรแดง (เกียรตินิยม) 59 คน เป็นหญิง 46 คน ชาย 13 คน มีนักเรียนสอบตกไม่จบมัธยมศึกษาตอนปลาย 54 คน เป็นหญิง 17 คน ชาย 7คน

บรรยากาศการสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 ที่มาภาพ : ข่าวสาร มซ.

นอกจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวแล้ว ในลาวยังมีมหาวิทยาลัยของรัฐที่ขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการและกีฬาอีก 3 แห่ง ได้แก่

    – มหาวิทยาลัยสุพานุวง (มส.) ตั้งอยู่ที่นครหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง
    – มหาวิทยาลัยสะหวันนะเขต (มข.) ตั้งอยู่ที่นครไกสอน พมวิหาน แขวงสะหวันนะเขต
    – มหาวิทยาลัยจำปาสัก (มจ.) ตั้งอยู่ที่นครปากเซ แขวงจำปาสัก

ส่วนมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ในนครหลวงเวียงจันทน์ เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะ

กล่าวเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา 4 แห่ง ในปีการศึกษา 2566-2567 ทั้ง 4 มหาวิทยาลัยตั้งเป้ารับนักศึกษาใหม่รวมทั้งสิ้น 11,175 คน หรือ 22.38% ของนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ 49,926 คน แบ่งเป็น

    – มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ตั้งเป้ารับนักศึกษาใหม่ 6,688 คน
    – มหาวิทยาลัยสุพานุวง ตั้งเป้ารับนักศึกษาใหม่ 1,566 คน
    – มหาวิทยาลัยสะหวันนะเขต ตั้งเป้ารับนักศึกษาใหม่ 1,516 คน
    – มหาวิทยาลัยจำปาสัก ตั้งเป้ารับนักศึกษาใหม่ 1,405 คน

แต่ปรากฏว่ามีผู้ลงทะเบียนสมัครสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่งรวมเพียง 8,339 คน คิดเป็น 16.7% ของนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ และน้อยกว่าเป้าหมายนักศึกษาใหม่ที่ทั้ง 4 มหาวิทยาลัยจะรับเข้าเรียนถึง 2,836 คน หรือในอีกทางหนึ่งคือ นักเรียนที่สมัครสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย 4 แห่งในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา มีเพียง 74.5% หรือ 3 ใน 4 ของเป้าหมายนักศึกษาใหม่ที่ทั้ง 4 แห่งต้องการรับ ใน 4 มหาวิทยาลัย มีเพียงมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวแห่งเดียวที่จำนวนผู้ลงทะเบียนสมัครสอบเอ็นทรานซ์สูงกว่าเป้านักศึกษาใหม่ที่จะรับในปีนี้ 10.09% ส่วนมหาวิทยาลัยที่เหลืออีก 3 แห่งล้วนมีผู้ลงทะเบียนสมัครสอบเอ็นทรานซ์น้อยกว่าเป้าทั้งสิ้น ได้แก่

  • มหาวิทยาลัยสุพานุวง มีผู้ลงทะเบียนสมัครสอบเอ็นทรานซ์ 484 คน จากเป้าหมายนักศึกษาใหม่ที่ตั้งใจรับ
    1,566 คน
  • มหาวิทยาลัยสะหวันนะเขต มีผู้ลงทะเบียนสมัครสอบเอ็นทรานซ์ 271 คนจากเป้าหมายนักศึกษาใหม่ที่ตั้งใจรับ 1,516 คน
  • มหาวิทยาลัยจำปาสัก มีผู้ลงทะเบียนสมัครสอบเอ็นทรานซ์ 221 คน จากเป้าหมายนักศึกษาใหม่ที่ตั้งใจรับ 1,405 คน
  • ……

    รุ่งเพ็ด จันทะวง รองอธิการบดีด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ที่มาภาพ : หนังสือพิมพ์ลาวโพสต์

    ในการให้สัมภาษณ์ของรุ่งเพ็ด จันทะวง รองอธิการบดีด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 ช่วงหนึ่งเขาได้อธิบายเหตุผลที่ผู้ลงทะเบียนสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 โดยให้เหตุผลว่าปัจจัยหลักมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ลาวต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงมานานนับปี ทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพเพิ่มมากขึ้น แต่รายได้ของผู้ที่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ส่งลูกเรียนหนังสือยังคงเท่าเดิม ทำให้เด็กที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายส่วนหนึ่งเลือกที่จะไม่เรียนต่อ แต่ออกไปทำงานหาเงิน เพื่อไม่ให้เป็นภาระของครอบครัว โดยเฉพาะการออกไปขายแรงงานในต่างประเทศ ซึ่งมีรายได้ที่ดีกว่าอยู่ในลาวหลายเท่า

    รองอธิการบดีด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า เนื่องจากตลาดแรงงานในลาวมีอยู่จำกัด เด็กหลายคนไม่แน่ใจว่าเมื่อเรียนจบออกมาแล้วจะมีงานทำหรือไม่

    นอกจากนี้ จากความสัมพันธ์ที่ลาวทำไว้กับประเทศต่างๆ เปิดช่องทางให้นักเรียนซึ่งจบมัธยมศึกษาตอนปลายในลาว มีทางเลือกที่จะเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศทั้งประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกัน และประเทศที่อยู่ในภูมิภาคอื่นเห็นได้จากการที่มีนักเรียนสอบชิงทุนไปเรียนต่อต่างประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี…

    สถิตินักเรียนที่สมัครสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563-2564 ที่มาภาพ
    : หนังสือพิมพ์ลาวพัฒนา

    ถัดมา ในวันที่ 13 สิงหาคม 2566 เฟซบุ๊กของสุลิอุดง สุนดาลา รองรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา ได้โพสต์ข้อมูลความไม่สมดุลของจำนวนผู้สมัครสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยของรัฐในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา 4 แห่ง ที่น้อยกว่าเป้าหมายนักศึกษาใหม่ซึ่งทั้ง 4 มหาวิทยาลัยต้องการรับในปีการศึกษานี้

    ทันทีที่ข้อมูลเหล่านี้ถูกเผยแพร่ออกไป ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสื่อหลักและตามชุมชนออนไลน์ของลาว

    ส่วนใหญ่เป็นการตั้งคำถามว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับระบบการศึกษาของประเทศ?

    โพสต์บนเฟซบุ๊กของสุลิอุดง สุนดาลา รองรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม
    2566

    ตัวอย่างประโยคพาดหัวในสื่อหลักของลาว เช่น

  • 13 สิงหาคม 2566 เพจ “ปะกาด”…“ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา ปีการศึกษา 2023-2024 มีนักเรียนจบ ม.7 ทั้งหมด 49,926 คน มีเพียง 17% ที่ไปลงทะเบียนสอบเข้ามหาวิทยาลัย 4 แห่ง”
  • 13 สิงหาคม 2566 หนังสือพิมพ์ “ลาวนิวส์”…“นักเรียนที่ลงทะเบียนสอบเข้ามหาวิทยาลัย 4 แห่งปีการศึกษา 2023-2024 มีเพียง 17% ของนักเรียนที่จบ ม.7”
  • 14 สิงหาคม 2566 นิตยสาร TARGET…“สถิติน่าตกใจ!สอบเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยไม่มีการแข่งขันเหมือนเมื่อก่อน”
  • 14 สิงหาคม 2566 หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ ไทม์…“จำนวนนักเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยแห่งชาติลดลงต่ำสุดในรอบ 4 ปี”
  • 16 สิงหาคม 2566 หนังสือพิมพ์ลาวโพสต์…“การสอบเข้า มซ. ปีการศึกษา 2023-2024 เทียบกับปีที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลง”
  • ในสื่อและชุมชนออนไลน์ มีผู้แสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย ที่น่าสนใจคือความเห็นจากคนรุ่นใหม่ของลาวซึ่งอายุไม่เกิน 30 ปี แทบทุกคนมองว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นเต้นตกใจ และการที่เด็กที่จบมัธยมศึกษาตอนปลายไม่ยอมเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด!

    สรุป 6 สาเหตุหลักที่ทำให้คนไม่เรียนต่อในมหาวิทยาลัย ที่มาภาพ : หนังสือพิมพ์ลาวโพสต์

    วันที่ 16 สิงหาคม 2566 เพจหนังสือพิมพ์ลาวโพสต์ได้รวบรวมเสียงสะท้อนที่ปรากฏในชุมชนออนไลน์สรุปออกมาเป็น 6 สาเหตุหลักที่ทำให้คนไม่เรียนต่อในมหาวิทยาลัย (โปรดดูภาพประกอบ) ได้แก่

      1. ไม่มีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาให้เข้ากับยุคสมัย
      2. สภาพเศรษฐกิจฝืดเคือง
      3. จบมาไม่มีงานรองรับ
      4. จบมาเงินเดือนน้อย
      5. ค่าครองชีพสูง
      6. เน้นเรียนวิชาชีพ

    ใน 6 เหตุผลดังกล่าว มีบางรายละเอียดจากความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ในลาวที่น่าสนใจ เช่น

  • เศรษฐกิจลาวกำลังเผชิญกับหลายปัญหา ทั้งเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่แพงขึ้น โดยเฉพาะปัญหาเส้นสายในหลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้บัณฑิตใหม่จบออกมาแล้วไม่มีงานทำ หรือได้ทำงานที่เงินเดือนต่ำเพียง 1-2 ล้านกีบ ซึ่งไม่แตกต่างหรือสูงกว่าเงินเดือนของเด็กที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมากนัก พวกเขามองว่าเงินเดือนเท่านี้ไม่คุ้มกับการเรียนต่อ หลายคนจึงเลือกที่จะหางานทำตั้งแต่จบชั้นมัธยมปลาย โดยเฉพาะการออกไปหางานทำในต่างประเทศ
  • การเรียนมหาวิทยาลัยต้องใช้เงินทุนจำนวนมากครอบครัวที่มีฐานะดีอยู่แล้วสามารถส่งลูกเข้าเรียนได้โดยไม่มีปัญหาแต่กับครอบครัวที่ฐานะยากจนต้องไปกู้เงินเพื่อส่งลูกเข้าเรียนบางครอบครัวกว่าลูกจะเรียนจบต้องเป็นหนี้สิน 100-200 ล้านกีบ แต่เมื่อเรียนจบแล้วทำงานได้เงินเดือนเพียง 1-1.5 ล้านกีบ ไม่คุ้ม หลายคนเชื่อว่าถ้านำเงินจำนวนนี้ไปลงทุนทำธุรกิจด้วยตัวเองจะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า
  • หลายคนตัดสินใจเลือกเรียนวิชาชีพ พร้อมยกตัวอย่างบางอาชีพ เช่น ช่างตัดผม ใช้เวลาเรียน 2-3 เดือนก็จบออกมารับจ้างตัดผม มีรายได้หัวละ 20,000 กีบ หาก 1 วัน สามารถตัดผมได้ 5 หัว เป็นรายได้ถึง 1 แสนกีบรวมแล้วเท่ากับ 2-3 ล้านกีบต่อเดือน อยู่ในระดับที่พอกินและยังมากกว่ารายได้ของคนทำงานกินเงินเดือนที่จบปริญญาตรีเสียอีก
  • หลายคนคนมองว่าระบบการศึกษาของลาวยังไม่พัฒนา และในโลกออนไลน์ทุกวันนี้สามารถหาความรู้ทุกแขนงได้ด้วยตนเองจากอินเทอร์เน็ต จึงไม่จำเป็นต้องเข้าไปเรียนในระบบมหาวิทยาลัย
  • ……

    วันที่ 17 สิงหาคม 2566 อาลุนไซ สุนนะลาด รัฐมนตรี หัวหน้าห้องว่าการสำนักงานนายกรัฐมนตรี ได้เผยแพร่หนังสือแจ้งการเลขที่ 1502/หสนย. เรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ระบุว่า ที่ประชุมรัฐบาลสมัยสามัญประจำเดือนกรกฎาคม ระหว่างวันที่ 24-25 กรกฎาคม 2566 มีมติให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจากเดือนละ 1.3 ล้านกีบ เป็น 1.6 ล้านกีบ หรือเพิ่มขึ้น 23% โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

    ก่อนหน้านี้ ลาวเพิ่งปรับค่าแรงขั้นต่ำจากเดือนละ 1.2 ล้านกีบ เป็น 1.3 ล้านกีบ ซึ่งมีผลไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ฐานค่าแรงขั้นต่ำที่ประกาศใช้ใหม่จะเปลี่ยนแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาของคนรุ่นใหม่ในลาวได้หรือไม่? เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาเฝ้าติดตาม…

  • ความตื่นตัวในการ “เรียนรู้จีน” ของเยาวชนลาว