ThaiPublica > สู่อาเซียน > กรณี “หวยเจ๊ทิบ” อาชญากรรมเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวในลาว

กรณี “หวยเจ๊ทิบ” อาชญากรรมเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวในลาว

14 กรกฎาคม 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

บทความที่นำเสนอทางเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ความสะหงบ ฉบับวันอังคารที่ 12 กรกฎาคม 2565

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ “ความสะหงบ Lao Security News” สื่อของรัฐบาลลาว ที่กำกับดูแลโดยกระทรวงป้องกันความสงบ (บทบาทคล้ายกระทรวงมหาดไทย) ฉบับวันอังคารที่ 12 กรกฎาคม 2565 นำเสนอบทรายงานในหัวข้อ “กลโกงที่แนบเนียนของเจ๊ทิบ รับฝากเงินให้ดอกเบี้ยสูง สูบเงินเหยื่อมหาศาลหลบหนี” ได้ให้รายละเอียดของอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการสร้างภาพความน่าเชื่อถือผ่านสื่อออนไลน์ จนผู้คนหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อ ซึ่งเป็นกรณีล่าสุดที่เรื่องเพิ่งแดงขึ้นในลาว เมื่อไม่นานมานี้

เนื้อหาในบทรายงาน ถอดความโดยสังเขปได้ดังนี้…

นาง “พอนทิบ ไซปันยา” หรือที่เรียกกันว่า “เจ๊ทิบ” อายุเพียง 30 ปี กลายเป็นเป้าหมายที่เจ้าหน้าที่กำลังต้องการตัวมาดำเนินคดี เพราะฉ้อโกงเงินของประชาชนจำนวนหลายพันคน หอบเงินจำนวนมหาศาลหนีออกนอกประเทศ ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งมาถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่มีภาคส่วนใดรู้ว่าเจ๊ทิบหนีไปไหน และก็ยังจับตัวไม่ได้

เจ๊ทิบเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงทางสื่อสังคมออนไลน์ และใช้ชีวิตหรูหรา มีธุรกิจขายเพชร และทองคำแท่ง ชื่อร้าน “ลายา จิวเวลรี่” แต่ละวัน เจ๊ทิบจะโพสต์ขายเพชร ขายอัญมณีที่มีราคาแพง และโพสต์ขายทองคำแท่งเป็นจำนวนมาก แต่ธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้แก่เจ๊ทิบ แท้จริงแล้วไม่ได้มีเพียงร้านขายเพชรและทองคำเท่านั้น แต่เป็นธุรกิจรับฝากเงินโดยให้อัตราดอกเบี้ยสูง

เจ๊ทิบได้มีการโฆษณาผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ใครนำเงินมาฝากกับเจ๊ทิบจะได้รับดอกเบี้ยสูงถึง 30% ของมูลค่าเงินที่ฝากไว้ต่อเดือน แต่การวางแผนของเจ๊ทิบนั้นแนบเนียนที่สุด โดยวางเงื่อนไขว่าถ้าหากใครต้องการได้รับดอกเบี้ยสูง 30% ต่อเดือน ต้องนำเงินมาฝากอย่างน้อย 50 ล้านกีบ (ประมาณ 105,000 บาท ที่อัตราแลกเปลี่ยน 480 กีบ = 1 บาท) ขึ้นไป

เมื่อกระบวนการสร้างภาพทำให้ผู้คนจำนวนมากเกิดความเชื่อถือ การลวงเงินในกระเป๋าเหยื่อมาสู่กระเป๋าตนเองจึงง่ายดาย และไม่มีอุปสรรคใดๆ กีดขวาง ประชาชนจำนวนไม่น้อยหลั่งไหลนำเงินไปฝากไว้กับเจ๊ทิบ แต่แท้จริงแล้ว เจ๊ทิบหวังกอบโกยเอาเงินของเหยื่อที่นำมาฝากเท่านั้น ไม่มีความประสงค์จะคืนเงินให้ ทั้งต้น ทั้งดอก

ภาพลักษณ์ของเจ๊ทิบ หรือพอนทิบ ไซปันยา ที่เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ มีผู้เชื่อถือนำเงินไปฝากไว้เพื่อหวังได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงถึง 30% ที่มาภาพ : หนังสือพิมพ์ความสะหงบ Lao Security News

อีกมุมหนึ่งในการสร้างภาพของเจ๊ทิบ คือการรับซื้อ-ขายหวยออนไลน์ และมีชื่อเสียงในการถูกรางวัล “หวยพัฒนาลาว” อย่างต่อเนื่อง โดยถูกหวยงวดหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 400 ล้านกีบ แต่ความจริงแล้ว การถูกหวยของเจ๊ทิบเป็นเพียงการสร้างกระแสเท่านั้น ด้วยหวังสร้างภาพให้สังคมรับรู้ว่าตนเองดวงเฮงและรวย เพื่อหลอกลวงเอาเงินเหยื่อมาฝากไว้กับตน

การโพสต์ขายเพชร ขายทองคำแท่ง และการถูกหวยรางวัลใหญ่ของเจ๊ทิบ เป็นการทำควบคู่กันไปเพื่อสร้างภาพให้ผู้คนหลงเชื่อว่าตนเองนั้น รวยจริงๆ ทำให้คนจำนวนมากนำเงินไปฝากไว้กับเจ๊ทิบ และเมื่อใกล้ถึงกำหนดวันรับดอกเบี้ย เจ๊ทิบได้หอบเงินหนีออกนอกประเทศเป็นจำนวนมหาศาล รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 3 สกุล ได้แก่

– เงินกีบ 20,000 ล้านกีบ
– เงินบาท 400 ล้านบาท
– เงินดอลลาร์สหรัฐ 4 ล้านดอลลาร์

ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 มีผู้เสียหายมากกว่า 5,000 คน ทยอยเข้ามาแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ และคาดว่ายังจะมีผู้เสียหายอีกหลายคน เดินทางเข้ามาแจ้งความเพิ่มอีก

จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ เจ๊ทิบได้เดินทางออกนอกประเทศไปตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2565 ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองสะพานมิตรภาพลาว-ไทย 1 (เวียงจันทน์-หนองคาย) ปัจจุบันเจ้าหน้าที่กำลังเร่งติดตามตัวเจ๊ทิบมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

……

“หวยพัฒนา” เป็นการออกรางวัลสลากกินแบ่งของรัฐบาลลาว ดำเนินการโดยรัฐวิสาหกิจหวยพัฒนา ที่ขึ้นตรงกับกระทรวงการเงิน โดยมีการออกรางวัลสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ทุกวันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์

ด้วยการสร้างภาพว่าเป็นบุคคลที่ดวงดี ถูกรางวัล “หวยพัฒนา” มาตลอด นางพอนทิบจึงเรียกชื่อเครือข่ายเงินฝากของตนเองว่าเป็น “หวยเงินฝากแม่ทิบ” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “หวยแม่ทิบ” และเรียกคนที่นำเงินมาฝากเป็น “ลูกหวย”

ตามข่าวที่ถูกเผยแพร่ในลาวตลอด 2 สัปดาห์มานี้ ไม่มีข้อมูลที่ชี้ชัดว่าจุดเริ่มต้นของเครือข่ายหวยเงินฝากแม่ทิบเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด สังคมลาวเริ่มรับรู้เรื่องราวของหวยแม่ทิบในปลายเดือนมิถุนายน 2565 เมื่อเริ่มมีการพูดคุย สอบถามกันผ่านทางสื่อออนไลน์ ในหมู่ลูกหวยบางคนที่ไม่ได้รับดอกเบี้ยจากเจ๊ทิบ จากนั้นความไม่ชอบมาพากลของหวยเงินฝากแม่ทิบจึงถูกกระจายออกไปเป็นวงกว้าง เพราะลูกหวย “ทุกคน” ไม่มีใครได้รับดอกเบี้ย

วันที่ 29 มิถุนายน 2565 เพจ “โทละโข่ง” ชุมชนออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดแห่งหนึ่งของลาว มีผู้ติดตามมากกว่า 1.3 ล้านคน ขึ้นสถานะเชิงสอบถามเกี่ยวกับดอกเบี้ยจากหวยเงินฝากแม่ทิบ มีผู้ที่เป็นลูกหวยเข้ามาตอบและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเป็นจำนวนมาก

วันที่ 30 มิถุนายน 2565 เพจ Laonews โพสต์ภาพกลุ่มลูกหวยหลายคนที่ไปยืนออกันอยู่หน้าร้านลายา จิวเวลรี่ ของเจ๊ทิบ เนื้อหาคร่าวๆ เขียนว่า…

ความจริงเรื่องเจ๊ทิบตอนนี้กี่เปอร์เซ็นต์แล้ว?

วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ตามแจ้งการนี้ ชื่อเฟซ J’thip ขึ้น popular now กลายเป็นกระแสแรงในออนไลน์ สังคมก็ว่าเจ๊ทิบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว

สำหรับหลักฐานที่พอเชื่อถือได้ตอนนี้ก็คือ มีคนที่เป็นลูกหวยไปรวมตัวกันอยู่ที่สำนักงานหรือร้านของเจ๊ทิบ และมีข้อมูลเกี่ยวกับการฝากเงินกับเจ๊ทิบ

เรื่องนี้จริงเท็จเพียงใด ต้องติดตามกันต่อไป

……

วันเดียวกัน (30 มิถุนายน 2565) เว็บไซต์ All in LAOS รายงานข่าวว่า ลูกหวยเงินฝากแม่ทิบอย่างน้อย 29 คน ได้ไปแจ้งความไว้กับสำนักงานตำรวจ กองบัญชาการป้องกันความสงบ นครหลวงเวียงจันทน์ ให้ดำเนินคดีกับเจ๊ทิบในข้อหาฉ้อโกง

ในเนื้อข่าว ระบุรายชื่อและตัวเลขความเสียหายของแต่ละคน เป็นเงินสกุลต่างๆ ตามที่นำไปฝากไว้กับเจ๊ทิบ มีตั้งแต่ 30 ถึง 2,500 ล้านกีบ, 2 แสนถึง 3.5 ล้านบาท และ 3 พันถึง 1.8 แสนดอลลาร์สหรัฐ

มีคนที่แจ้งมูลค่าความเสียหายสูงที่สุดของวันนั้น ได้นำเงินเก็บส่วนตัวที่มีอยู่ทั้ง 3 สกุลไปฝากไว้กับเจ๊ทิบ แยกเป็นเงินกีบ 2,500 ล้านกีบ เงินบาท 3.5 ล้านบาท และเงินดอลลาร์สหรัฐ 1.8 แสนดอลลาร์

……

เรื่องหวยแม่ทิบเป็นประเด็นพูดคุยกันตามชุมชนออนไลน์อยู่ประมาณ 10 วัน จึงค่อยมีท่าทีจากฝั่งทางการออกมา ผ่านบทรายงานทางเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ “ความสะหงบ Lao Security News” ฉบับวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ดังที่กล่าวไปข้างต้น

ในช่วงท้ายของบทความนี้ ได้เขียนเตือนสติคนลาว และให้ข้อมูลว่า “หวยแม่ทิบ” ไม่ใช่อาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นกรณีแรกในลาว แต่พฤติกรรมฉ้อโกงเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง และเริ่มถี่ขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลัง และไม่มีผู้ใดหลาบจำ

เนื้อหาช่วงนี้ เขียนว่า…

อย่างไรก็ตาม สังคมลาวในปัจจุบัน ยังเกิดการหลงเชื่อกลโกงของ “คนบ่ดี” อย่างง่ายดาย เพราะที่ผ่านมา ได้เคยเกิดเหตุการณ์ประเภทนี้ขึ้นในลาวมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่มีการเข็ดหลาบ ยังมีผู้หลงเชื่อจนต้องสูญเสียเงินไปจำนวนไม่น้อย บางคนก็สูญเสียเงินไปจนหมดตัว เพราะหวังรวยแบบง่ายๆ

มีหลายกรณีที่เชื่อว่าทุกคนยังจำกันได้ เกี่ยวกับการฉ้อโกงเงินประชาชน และมีผู้เสียหายจำนวนมากอยู่ในประเทศลาว ขอยกตัวอย่างบางเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับกรณีเจ๊ทิบมาทบทวนความจำ คือ

  • ระหว่างปี 2532-2535 มีกรณีสินเชื่อเมดตา และสินเชื่อสิวิไล หลอกลวงให้ประชาชนหลงเชื่อโดยการให้ดอกเบี้ยในอัตราสูง มีคนนำเงินไปฝาก สุดท้ายก็หอบเงินหนี และล้มละลาย มีผู้เสียเงินไปเป็นจำนวนมาก
  • ปี 2558 บริษัทแมกกี รับฝากเงินโดยให้ดอกเบี้ยในอัตรา 6% ต่อเดือน ต่อมาล้มละลาย สร้างความเสียหายเป็นวงเงินมากกว่า 16 ล้านดอลลาร์
  • ปี 2560 บริษัท ASEAN Face รับเงินฝากในอัตราดอกเบี้ย 30% ต่อเดือน ล้มละลาย สร้างความเสียหายไม่ต่ำกว่า 16 ล้านดอลลาร์

  • ปี 2560 บริษัทพีเอส ระดมทุน รับเงินฝากในอัตราดอกเบี้ย 6% ต่อเดือน ล้มละลาย สร้างความเสียหายมากกว่า 900,000 ล้านกีบ
  • ปี 2563 แอปพลิเคชัน Fingo หลอกลวงเยาวชนให้ลงทะเบียนแนะนำลูกค้า ต่อมาล้มละลาย สร้างความเสียหายมากกว่า 500 ล้านกีบ
  • ปี 2564 แอปพลิเคชัน SHBC หลอกระดมทุนโดยรับฝากเงิน ต่อมาล้มละลาย สร้างความเสียหายมากกว่า 2,000 ล้านกีบ
  • กระทั่งล่าสุด กรณีของเจ๊ทิบ ที่สร้างความเสียหายเป็นเงินมหาศาล ยังสรุปตัวเลขที่แน่นอนไม่ได้
  • เนื้อหาในใบแจ้งความของลูกหวยเงินฝากแม่ทิบรายหนึ่ง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ที่มาภาพ : All in LAOS

    ปัจจุบันนี้ เชื่อว่ายังมีหลายกลโกงที่มาหลอกลวงเงินจากผู้อื่น และสุดท้ายหอบเงินหลบหนี แต่ยังไม่ถูกเผยแพร่ออกมาเป็นข่าวโด่งดัง เช่น การนำเงินไปฝากไว้เพื่อหวังได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูง การซื้อหวยเถื่อน การหลอกให้ซื้อ-ขายสิ่งของ และอื่นๆ

    เมื่อถูกหลอก หรือมีการฉ้อโกงเกิดขึ้น บางคนก็ไม่รู้ว่าจะทำเช่นไร ได้แต่นำเรื่องราวมาเผยแพร่สู่สังคมออนไลน์เท่านั้น บางคนก็เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า

    ฉะนั้น บทเรียนอันล้ำค่าที่เกิดขึ้นในระยะที่ผ่านมา หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สังคมลาวจะจดจำ และไม่หลงเชื่อไปกับกลโกงของกลุ่มคนในลักษณะแบบนี้อีก ถ้าทุกคนมีความรอบคอบ ไม่หลงเชื่อแบบง่ายๆ ลักษณะกลโกงแบบที่กล่าวถึงนี้ จะไม่เกิดให้เห็นในสังคมลาวอย่างแน่นอน

    ……

    ตามข้อมูลล่าสุดจากบทความนี้ มีความเป็นไปได้ว่าตอนนี้ เจ๊ทิบอาจกำลังใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย…