ThaiPublica > เกาะกระแส > คลังพับแผนเก็บ ‘ภาษีหุ้น’ ยันไม่กระทบงบฯปี’67 คาดเงินดิจิทัล ปั้มรายได้เข้าคลัง 1 แสนล้านบาท

คลังพับแผนเก็บ ‘ภาษีหุ้น’ ยันไม่กระทบงบฯปี’67 คาดเงินดิจิทัล ปั้มรายได้เข้าคลัง 1 แสนล้านบาท

29 กันยายน 2023


เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ออกมาชี้แจงเรื่องการจัดเก็บภาษีขายหุ้น และตัวเลขประมาณการรายได้สุทธิของรัฐบาลในปี 2567 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง

คลังพับแผนเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’ ยันไม่กระทบกรอบวงเงินงบประมาณปี’67 มั่นใจอัดฉีด ‘เงินดิจิทัล’ 560,000 ล้านบาท เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้เข้าคลังกว่า 1 แสนล้านบาท ด้าน “ศิริกัญญา” เตรียมเชิญ สศค.แจงกรรมาธิการฯ – จี้ ครม.ประมาณประมาณการเพิ่ม – ลดวงเงินกู้ชดเชยขาดดุล

หลังจากที่นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่าน “X” เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 โดยตั้งคำถามฝากไปถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรณีให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่เก็บภาษีขายหุ้น ขณะที่ประมาณการรายได้สุทธิของรัฐบาล ตามที่ปรากฎในแผนการคลังระยะปานกลางปี 2567 – 2570 (MTFF) ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ได้นับรวมการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นไปแล้ว คาดว่าจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น 14,000 ล้านบาท กรณีนี้หากไม่เก็บภาษีขายหุ้น ก็ต้องปรับประมาณการรายได้ใหม่ เนื่องจากรายได้ของรัฐบาลลดลง ทำให้ต้องเพิ่มวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล และหนี้สาธารณะก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ออกมาชี้แจงเรื่องการจัดเก็บภาษีขายหุ้น และตัวเลขประมาณการรายได้สุทธิของรัฐบาลในปี 2567 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า “กระทรวงการคลังยังไม่มีนโยบายที่จะจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการขายหุ้น (Financial Transaction Tax) และการจัดเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น (Capital Gain Tax)

ถามว่าถ้าเราไม่เก็บภาษีธุรกรรมที่เกี่ยวกับการขายหุ้นแล้ว จะทำให้รายได้รัฐบาลหายไป และจะทำให้ต้องมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลเพิ่มเติม หรือไม่?

ประเด็นนี้นายเผ่าภูมิ ชี้แจงว่า “ในแผนการคลังระยะปานกลางที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม.ไปก่อนหน้านี้ ยังไม่ได้พิจารณา หรือ นับรวมผลกระทบที่มีนัยสำคัญจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะมีการฉีดเงินประมาณ 560,000 ล้านบาท เข้าไปในระบบเศรษฐกิจ และด้วยกลไกที่เราออกแบบ นั่นหมายความ เงินทุกบาททุกสตางค์ที่อัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจจะต้องไหลกลับมาเป็นรายได้ของรัฐบาลในรูปแบบของภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีเงินได้นิติบุคคล คาดว่ามาตรการดังกล่าวนี้จะทำให้กระทรวงการคลังมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนล้านบาท

ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า ตัวเลขประมาณการรายได้สุทธิ , วงเงินงบประมาณรายจ่าย และกรอบการขาดดุลการคลังของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2567 ที่ปรากฎอยู่ในแผนการคลังระยะปานกลางปี 2567 – 2570 (MTFF) ฉบับทบทวนน ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม.ไปแล้วเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ยังใช้ตัวเลขเดิม โดยรายได้รัฐบาลสุทธิอยู่ที่ 2,787,000 ล้านบาท วงเงินงบประมาณรายจ่ายอยู่ที่ 3,480,000 ล้านบาท และกรอบการขาดดุลการคลัง 693,000 ล้านบาท

นายพรชัย กล่าวต่อว่า หลังจากที่แผนการคลังผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ทั้งกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ ต้องนำแผนการคลังฯไปสู่การปฏิบัติ โดยสำนักงบประมาณได้นำตัวเลขดังกล่าวไปจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 เสนอที่ประชุม ครม.ไปแล้ว เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา ส่วนกระทรวงการคลัง ก็ต้องนำตัวเลขประมาณการรายได้สุทธิ 2,787,000 ล้านบาท มาวางแผนการบริหารจัดเก็บรายได้ เพื่อให้เป็นไปตามประมาณการ หรือ เป้าหมาย โดยเฉพาะการนำระบบ AI มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลต่าง ๆ เพื่อใช้การขยายฐานภาษี ประกอบกับในปีงบประมาณ 2567 จะมีการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล ตามที่นายเผ่าภูมิได้กล่าวไว้ข้างต้น ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมาย โดยที่ยังไม่ต้องนำนโยบายภาษีเข้ามาปฏิบัติ แต่อย่างใด

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

หลังจากที่กระทรวงการคลังแถลงข่าวเสร็จ ช่วงเย็นของวันเดียวกันนี้ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่าน “X” ว่า “วันนี้คุณเผ่าภูมิออกมาแก้ต่างให้รัฐบาลแล้วว่าจะไม่เก็บภาษีขายหุ้น คำถามคือกรณีที่กระทรวงการคลัง ประเมินมาแล้วว่าประเทศจะมีรายได้จากภาษีขายหุ้น 14,000 ล้านบาท ในปีหน้าจะทำยังไง”

คำตอบจากผู้อำนวยการ สศค. คือ จะเอาภาษีที่ “คาดว่า” จะเก็บได้จากโครงการ digital wallet มาแทนรายได้จากภาษีขายหุ้นที่จะไม่เก็บแล้ว ซึ่งจากแถลงในวันนี้ยังบอกอีกว่า โครงการ Digital Wallet จะทำให้รัฐเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นกว่า 100,000 ล้านบาท!!!

ถามต่อว่า 100,000 ล้านบาท ท่านไปเอาตัวเลขนี้มาจากไหน เดี๋ยวสัปดาห์หน้า สภาฯจะตั้ง กรรมาธิการ (กมธ.) แล้ว คงได้ใช้ช่องทางของ กมธ. ในการตรวจสอบการทำงานของกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะ สศค. ที่ดิฉันเคยคิดว่าเป็นมันสมองของประเทศอย่างเข้มข้นต่อไป

“แต่ถ้านายกฯ และ รมว.คลัง มั่นใจว่าโครงการ Digital Wallet จะทำให้ประเทศเก็บภาษีเพิ่มได้ตั้งขนาดนี้ เดี๋ยวอังคารหน้าเอากรอบงบประมาณใหม่เข้าที่ประชุม ครม. เลยค่ะ รัฐบาลนี้จะได้ทำงบขาดดุลลดลง 100,000 ล้าน เอาไปชดเชยยอดหนี้สาธารณะที่ท่านนายกฯ ประกาศขยายเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนได้พอดี” นางสาวศิริกัญญา กล่าว

อนึ่ง เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามข้อเสนอของที่ประชุมร่วมกระทรวงการคลัง , สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 โดยให้ทบทวนกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 ทั้งนี้ เนื่องจากกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายในปีนี้เกิดความล่าช้า ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการคลังในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป โดยกรอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 วงเงิน 4,480,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 295,000 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 9.26% ประกอบไปด้วย รายจ่ายประจำ 2,619,790.50 ล้านบาท , รายจ่ายลงทุน 719,199.60 ล้านบาท , รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 118,320 ล้านบาท และรายจ่ายชดใช้เงินคงคลัง 33,759.10 ล้านบาท

โดยมีประมาณการรายได้สุทธิ หรือ เป้าหมายการจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 2,787,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 297,000 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 11.93% ส่วนที่เหลือใช้วิธิการกู้ยืมเงินมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีก 693,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 2,000 ล้านบาท ซึ่งตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ 2548 ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้ยืมเงินได้สูงสุดถึง 790,656 ล้านบาท

สำหรับเป้าหมายการรายได้สุทธิในปี 2567 ประกอบไปด้วย กรมสรรพากรได้รับมอบหมายให้จัดเก็บภาษีในปีนี้ 2,276,700 ล้านบาท กรมสรรพสามิต 598,000 ล้านบาท กรมศุลกากร 114,200 ล้านบาท และส่วนราชการอื่นรวมไปถึงรัฐวิสาหกิจนำรายได้ส่งคลัง 348,500 ล้านบาท รวมรายได้ทั้งสิ้น 3,337,400 ล้านบาท แต่เมื่อนำรายได้ดังกล่าวนี้ไปหักคืนภาษีของกรมสรรพากร 375,500 ล้านบาท , คืนอากรของกรมศุลกากร 8,700 ล้านบาท , จัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 25,600 ล้านบาท และจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตาม พ.ร.บ.กระจายอำนาจการคลังสู่ท้องถิ่นฯ อีก 125,800 ล้านบาท แล้วในปี 2567 รัฐบาลจะมีรายได้สุทธิอยู่ที่ 2,787,000 ล้านบาท

  • เงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังไม่เคาะ! – ยืมออมสินบางส่วน สัญญาใช้คืน 3 ปี
  • เงินดิจิทัล 10,000 บาท แจก 5.6 แสนล้านบาท บริหารอย่างไร-ไม่ต้องกู้
  • เจาะฐานะการคลัง รับรัฐบาลใหม่… ‘ไม่มีเงิน’ จริงหรือ?
  • 4 ปี รัฐบาลประยุทธ์ (1) : ซุกอะไรไว้ ตรงไหน?
  • 8 ปี “รัฐบาลประยุทธ์” ฉีกวินัยการคลัง (อีกแล้ว)