ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > 4 ปี รัฐบาลประยุทธ์ (1) : ซุกอะไรไว้ ตรงไหน?

4 ปี รัฐบาลประยุทธ์ (1) : ซุกอะไรไว้ ตรงไหน?

17 เมษายน 2023


ฤดูกาลเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่มีหน้าตักหนา ๆ ต่างประกาศ “สัญญาว่าจะให้” มากมาย ล้วนงัดออกมาหาเสียงกับประชาชน แต่ที่สร้างความแตกตื่น ฮือฮากันไปทั้งสนามเลือกตั้ง ก็คือนโยบาย “แจกเงินดิจิทัล” คนละ 10,000 บาท ให้กับคนไทยทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ของพรรคเพื่อไทย แค่นโยบายนี้ นโยบายเดียวมีการประมาณการกันว่าต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท กลายเป็นประเด็นที่การวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในช่วงสัปดาห์ผ่านมา ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เอง ก็ไม่ยอมน้อยหน้า ชูแพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ทำให้นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์หลายคนสงสัย และมีคำถามตามมาว่า จะเอาเงินจากไหน ทำได้จริงหรือไม่ ฐานะทางการเงินคลังของประเทศ รับไหวหรือไม่?

……

โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเป็นนัยๆต่อประเด็น “แหล่งเงินที่จะมาใช้ตามสัญญาว่าจะให้ของพรรคต่างๆ” หลังประชุมครม.เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 ถึงนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ว่า “ผมไม่อยากไปอะไรกับใคร เพราะเป็นเรื่องการหาเสียง วันนี้มาพูดเรื่องการรักษาเสถียรภาพการเงินการคลังของประเทศ การใช้จ่ายของเราในช่วงที่ผ่านมาอย่างไร พุ่งเป้าไปยังผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ และทำให้เกิดการยกระดับรายได้การประกอบอาชีพต่างๆ เพิ่มเติม ไม่ใช่ให้เงินอย่างเดียว เราต้องดูเม็ดเงินว่าจะทำอะไรได้อีก เพราะฉะนั้นงบประมาณต่าง ๆ ในปี 2567 มันตั้งไปแล้ว จะไปแก้ไขอะไร ก็ไปแก้ในสภา เพราะนี่เป็นกฎหมายระเบียบงบประมาณที่เราต้องทำล่วงหน้า ส่วนงบฯปี 2567 ได้เอาสิ่งต่างๆ ที่จะต้องทำต่อเรื่องการลงทุนต่างๆ ที่มีกฎหมายชัดเจน มีเงินเหลือเท่าไร งบประมาณในการใช้หนี้ การเติมเงินโครงการต่างๆ ที่เราสำรองจ่ายช่วงโควิด-19 ต้องมองในบริบทใหญ่ พลเอกประยุทธ์ กล่าว

……

หากย้อนกลับไปดูในช่วงที่ผ่านมา ที่แนวคิดหาเสียงชู ‘ประชานิยม’ มาแรง แต่ละรัฐบาลที่เข้ามาสร้างมีภาระผูกพันอะไรบ้าง เริ่มจากดำเนินนโยบายการเงินการคลัง 17 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลมาอย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะจัดหารายได้ ได้ไม่พอเพียง ต้องกู้เงินมาใช้จ่าย หนี้สาธารณะจึงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนกระทั่งสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เป็นวิกฤติถ้วนหน้า ธุรกิจปิดตัว คนตกงานมากมาย กระทบระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง งบประมาณปกติที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ช่วงปี 2563 – 2564 รัฐบาลจึงต้องออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินมาเยียวยา และแก้ปัญหาโควิด-19 2 ฉบับ รวมวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท

“รัฐบาลประยุทธ์” กู้ 3.4 ล้านล้านบาท

จากข้อมูลในรายงานความเสี่ยงทางการคลังปี 2565 จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่าช่วง 3 ปีที่เกิดสถานการณ์โควิดระบาด รัฐบาลกู้ยืมสุทธิรวม 3,471,180 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้

รายการที่ 1 การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ (กู้จริง) รวมทั้งสิ้น 2,201,691 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2563 กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณชนเพดานตามที่กฎหมายกำหนด 784,115 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 กู้ชดเชยการขาดดุลชนเพดานตามที่กำฎหมายกำหนดอีก 736,392 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2565 กู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 681,184 ล้านบาท ต่ำกว่าเพดานตามที่กฎหมายกำหนด 18,816 ล้านบาท

รายการที่ 2 กู้เงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อเยียวยาโควิด 2 ฉบับ (พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อเยียวยาโควิดฯปี 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อเยียวยาโควิดเพิ่มเติมวงเงิน 5 แสนล้านบาท) รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 1,438,974 ล้านบาท ประกอบไปด้วย ปีงบประมาณ 2563 กู้เงิน 343,577 ล้านบาท , ปีงบประมาณ 2564 กู้เงิน 714,246 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2565 กู้อีก 381,151 ล้านบาท

หักลบรายการที่ 3 รัฐบาลจัดงบฯมาชำระต้นเงินกู้ รวมทั้งสิ้น 169,485 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 ชำระต้นเงินกู้ 33,690 ล้านบาท , ปีงบประมาณ 2564 ชำระต้นเงินกู้ 69,313 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2565 ชำระต้นเงินกู้ 66,482 ล้านบาท

คงเหลือยอดเงินที่รัฐบาลกู้สุทธิ 3,471,180 ล้านบาท ประกอบไปด้วย ในปีงบประมาณ 2563 กู้ยืมเงินสุทธิ 1,094,002 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2564 กู้ยืมเงินสุทธิ 1,381,325 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2565 กู้ยืมเงินสุทธิ 995,853 ล้านบาท

จากการเพิ่มขึ้นของเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และเงินกู้ภายใน พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อเยียวยาโควิดฯทั้ง 2 ฉบับ ทำให้ยอดหนี้สาธารณะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 หนี้สาธารณะของประเทศอยู่ที่ 7,848,156 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 49.47% ของ GDP , ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 เพิ่มเป็น 9,337,543 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 58.38% ของ GDP ตัวเลขหนี้สาธารณะของประเทศมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จึงมีมติเห็นชอบ ขยายกรอบการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ จากเดิมกำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกิน 69% เพิ่มเป็นไม่เกิน 70% ของ GDP และ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 หนี้สาธารณะมียอดคงค้างอยู่ที่ 10,373,938 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 60.41% ของ GDP เหลือช่องว่างทางการคลัง (Fiscal Space) ให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาดำเนินการตามนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้ได้อีก 9.59% หากยังไม่พอ ก็อาจจะต้องให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่มาขยายกรอบการบริหารจัดการหนี้สาธารณะอีกรอบ

ทั้งหมดนี้ก็เป็นภาระหนี้สินของรัฐบาลที่มาจากการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว ผ่านการกู้ยืมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง และออกกฎหมายพิเศษอีก 2 ฉบับ เพื่อให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ

ภาระหนี้จากการดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง

นอกจากนี้ยังมีภาระหนี้ที่มาจากการดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง (Quasi-fiscal policy) หรือ ภาระผูกพันตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ที่รัฐบาลใช้ให้หน่วยงานของรัฐไปดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือ โครงการต่างๆ อาทิ ชดเชยต้นทุนทางการเงินและค่าบริหารจัดการโครงการรับจำนำข้าวในอดีต หรือ โครงการประกันรายได้ให้กับเกษตรกรในปัจจุบัน เป็นต้น โดยรัฐบาลต้องจัดงบฯมาชดเชยค่าใช้จ่าย หรือ การสูญเสียรายได้ให้หน่วยงานของรัฐ หรือ แบงก์ของรัฐในภายหลัง กล่าวคือ จ่ายเงินไปก่อน แล้วรัฐบาลจะจัดงบประมาณมาชดเชยให้ในภายหลัง

ปรากฎยอดเงินที่ไหลออกไปจากแบงก์รัฐแต่ละปี มากกว่าเงินงบประมาณที่รัฐบาลจัดมาชดเชยให้แบงก์รัฐ กลายเป็นดินพอกหางหมูเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งยอดเงินชดเชย ตามมาตรา 28 ที่รัฐบาลค้างจ่ายหน่วยงานรัฐใกล้เต็มวงเงินตามที่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯกำหนด เหลือพื้นที่ทางการคลัง หรือ เหลือวงเงินที่จะให้แบงก์รัฐสำรองจ่ายไปก่อนไม่มากนัก

ดังนั้น เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จึงมติขยายสัดส่วนยอดค้างการจ่ายเงินชดเชยให้หน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 28 จากเดิมไม่เกิน 30% เพิ่มขึ้นเป็น 35% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ทั้งนี้ เพื่อเปิดวงเงิน ให้แบงก์รัฐสามารถสำรองจ่ายไปก่อนตามนโยบายของรัฐได้ต่อไป

ในรายงานความเสี่ยงทางการคลังปี 2565 ระบุว่าณ วันที่ 30 กันยายน 2565 รัฐบาลมีภาระผูกพันตามมาตรา 28 คงค้างอยู่ที่ 1,039,920 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 33.35% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2565 ในจำนวนนี้แบ่งเป็นภาระผูกพันที่นับรวมเข้าไปอยู่ในหนี้สาธารณะแล้ว 206,049 ล้านบาท ส่วนที่เหลือตั้งเป็นลูกหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาล 601,512 ล้านบาท และประมาณการภาระผูกพันที่ยังไม่มีการรับรู้อีก 232,359 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลได้อนุมัติโครงการใหม่ ตามมาตรา 28 ทั้งสิ้น 210,039 ล้านบาท แบ่งเป็น มาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 186,217 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 88.66% ของยอดอนุมัติทั้งหมดในปี 2565, มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 16,764 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.98 % ของยอดอนุมัติทั้งหมด และ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 7,059 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.36 % ของยอดอนุมัติทั้งหมด (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม)

หลังจากนั้นอีกไม่นาน ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 มีมติปรับลดสัดส่วนยอดค้างจ่ายเงินชดเชยให้กับหน่วยงานของรัฐอีกครั้ง จากเดิมไม่เกิน 35% ปรับลดลงมาเหลือ ไม่เกิน 32% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

ก่อนที่ประกาศคณะกรรมการนโยการเงินการคลังของรัฐฉบับนี้มีผลบังคับใช้ เข้าใจว่ารัฐบาลได้มีการจัดสรรงบประมาณปี 2566 กว่า 1 แสนล้านบาท (เริ่ม 1 ตุลาคม 2565) ให้กระทรวงการคลังนำไปชดเชยค่าใช้จ่าย หรือ รายได้ให้กับแบงก์รัฐบางส่วน เพื่อรักษาสัดส่วนของยอดค้างจ่ายเงินชดเชยให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ สูงสุดไม่เกิน 32% ของงบประมาณรายจ่ายปี 2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท (ไม่เกิน 1,019,200 ล้านบาท) หรือ เปิดวงเงินให้แบงก์รัฐสามารถดำเนินโครงการตามาตรา 28 ได้ต่อไป

ใครบ้างที่รัฐค้างจ่ายและซุกหนี้

โดยภาระผูกพันตามมาตรา 28 ที่รัฐบาลค้างจ่ายเงินชดเชยให้กับหน่วยงานของรัฐ 1,039,920 ล้านบาท ประกอบไปด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 878,070 ล้านบาท ในจำนวนนี้ได้ถูกนับรวมเข้ามาอยู่ในหนี้สาธารณะแล้ว 206,049 ล้านบาท ที่เหลืออีก 672,021 ล้านบาท อยู่ระหว่างการรอเงินชดเชยจากรัฐบาล, บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รอเงินชดเชยจากรัฐบาล 97,743 ล้านบาท, ธนาคารออมสิน 45,079 ล้านบาท, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 7,324 ล้านบาท, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 5,457 ล้านบาท, การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 3,083 ล้านบาท, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 1,841 ล้านบาท, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) 926 ล้านบาท และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 397 ล้านบาท

“ทั้งนี้ ในรายงานความเสี่ยงทางการคลัง มีข้อเสนอแนะว่าการดำเนินโครงการตามมาตรา 28 อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการคลังในอนาคต และสร้างภาระให้กับหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐต้องสำรองจ่ายเงินของตนเองไปก่อน รัฐบาลจึงควรดำเนินโครงการตามมาตรา 28 เท่าที่จำเป็น และจัดลำดับความสำคัญของโครงการ โดยโครงการใดที่ดำเนินการเป็นประจำทุกปี และวางแผนล่วงหน้าได้ ก็ควรพิจารณาบรรจุไว้ในงบประมาณรายจ่าย นอกจากนี้ควรมีการพิจารณาปรับลดกรอบอัตราดังกล่าวให้กลับสู่ระดับไม่เกิน 30% ในโอกาสแรกที่กระทำได้ด้วย”

สำหรับฐานะการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions: SFIs) ในรายงานความเสี่ยงทางการคลัง ระบุว่า ในภาพรวมยังคงอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ แต่ควรติดตามฐานะการเงินของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ที่ยังคงมีปัญหา รวมไปถึงระดับหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นของ ธ.ก.ส. อยู่ที่ 12.45% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 จากการด้อยคุณภาพลงของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 ประกอบกับมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรที่สิ้นสุดลงในปี 2565

นอกจากนี้ ควรติดตามการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน (Thai Financial Reporting Standards 9: TFRS 9) ที่จะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2568 สำหรับหรับยอดเงินคงค้างของกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 33,181 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน อยู่ที่ 28,129 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.34% ของเงินกองทุนโดยรวมของแบงก์รัฐ

เฉพาะในส่วนของ รฟท.และขสมก. ยังคงมีปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และเป็นภาระทางการคลังของรัฐบาล ทั้งนี้ เนื่องจากทั้ง 2 หน่วยงาน ไม่สามารถหารายได้ให้ครอบคลุมต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการให้บริการสาธารณะได้เป็นระยะยาวนาน เพราะเป็นกิจการที่รัฐควบคุมราคา เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้มีรายได้น้อย ที่ผ่านมารัฐบาลจึงจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณไปอุดหนุนการดำเนินการของ รฟท. สำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ตามนโยบายของรัฐบาล และจัดงบประมาณไปชำระค่าดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับ ขสมก. ภายใต้โครงการชำระหนี้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง รวมไปถึงชดเชยโครงการอุดหนุนการบริการสาธารณะ (PSO)

หากไปดูรายงานของผู้สอบบัญชี (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) งบการเงินของ รฟท. พบว่า ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 รัฐบาลยังไม่ได้จัดงบประมาณมาชดเชยผลขาดทุนสะสมให้ รฟท. 255,267 ล้านบาท

ส่วน รายงานงบการเงินของ ขสมก. ช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2565 พบว่า ประสบปัญหาขาดทุนสะสมเป็นจำนวนมากเช่นกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอแผนฟื้นฟูกิจการฉบับปรับปรุงใหม่ให้ที่ประชุม ครม.พิจารณา โดยในแผนฟื้นฟูฯฉบับใหม่นี้ เสนอให้รัฐบาลรับภาระหนี้สินของ ขสมก.ทั้งหมด 131,746 ล้านบาท หรือ ตามที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งขอรับเงินอุดหนุน (PSO) จากรัฐบาลเป็นเวลา 7 ปี ( 2566 – 2572) หากแผนดังกล่าวผ่านความเห็นจาก ครม. คาดว่าจะทำให้ ขสมก.มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักค่าดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เป็นบวกในปี 2572

  • 10 ปี ขสมก. แก้แบบไหน? ทำไมเหลือแต่ซาก-หนี้ท่วมแสนล้าน!!
  • จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด – 19 ในช่วงปี 2563 – 2564 ทำให้อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน หรือ “Capital Adequacy Ratio : CAR” ของบริษัทประกันวินาศภัยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก ณ สิ้นปี 2563 มีสัดส่วนอยู่ที่ 324% สิ้นปี 2564 ปรับตัวลดลงเหลือ 258% และ ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 อยู่ที่ 177% รวมทั้ง Solvency Car ที่ใช้วัดความสามารถในการชำระหนี้ได้ในอนาคตก็ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 120% ก่อนที่จะปรับขึ้นไปเป็น 140% ในปี 2565

    ปรากฏว่าในช่วงปี 2564 – 2565 มีประชาชนที่ซื้อประกันภัยโควิด แบบ “เจอ-จ่าย-จบ” ขอเคลมค่าสินไหมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทประกันวินาศภัย 4 แห่ง อันได้แก่ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน), บริษัท เดอะวัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาขาดทุน ถูกคณะกรรมการ คปภ. สั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการประกันวินาศภัยปิดกิจการ ส่งผลให้กองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งมีภารกิจในการคุ้มครองเจ้าหนี้ให้ได้รับชำระหนี้ต่อไป จึงต้องเข้าไปทำหน้าที่ผู้ชำระบัญชี ณ สิ้นปี 2565 มีเจ้าหนี้ของบริษัท 4 แห่ง มายื่นเรื่องขอรับชำระหนี้เป็นวงเงิน 60,000 ล้านบาท ถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนเงินกองทุนของ กองทุนประกันวินาศภัย ณ สิ้นปี 2564 มีอยู่ 6,178 ล้านบาท และมีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายประจำปี 2564 ประมาณ 598 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในรายงานความเสี่ยงทางการคลัง ระบุว่า“การจ่ายเงินของกองทุนประกันวินาศภัยเป็นไปในลักษณะของการทยอยจ่าย จึงทำให้กองทุนยังสามารถบริหารจัดการยอดการขอรับชำระหนี้ดังกล่าวได้ และเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในวงจำกัด” ขณะที่เจ้าหนี้และผู้เอาประกันกว่า 7 แสนราย ยังไม่รู้ว่าจะได้เงินค่าสินไหมเมื่อไหร่

    ปัญหาโควิดฯยังไม่ทันคลี่คลาย ก็มาเกิดสงครามรัสเซีย – ยูเครน กลายเป็นปัญหาวิกฤติซ้อนวิกฤติ ที่ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกปรับราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปแทรกแซงราคา โดยจากเงินอุดหนุนชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม และราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล รวมทั้งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัน (Ft) จากการที่ราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    ช่วงนี้มีหนี้ใหม่โผล่ขึ้นมาอีก 2 ก้อน ณ สิ้นปี 2565 ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิติดลบ 124,280 ล้านบาท ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แบบรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนผู้ประกอบการและประชาชน รวมทั้งสิ้น 150,268 ล้านบาท สำหรับแนวทางการบริหารจัดการหนี้ดังกล่าวนี้ใช้วิธีการทยอยเรียกเก็บเงินจากประชาชน ประกอบกับสถานการณ์ราคาพลังงานในปี 2566 ปรับตัวลดลง จึงไม่เป็นภาระงบประมาณของรัฐบาลในอนาคตแต่คาดว่าประชาชนคนไทยจะต้องจ่ายเงินซื้อน้ำมัน แก๊ส และค่าไฟแพงไปอีก 2 ปี

  • ขอสามคำสำหรับการประเมินนโยบายเศรษฐกิจพรรคการเมือง
  • นี่คือผลงานที่ ‘ซุกแล้ว ซุกอยู่ ซุกต่อ’

    ดังนั้นพรรคที่จะอาสาเข้ามา จะทำต่ออย่างไร ให้ประเทศไทยเดินหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ถ้วนหน้า ภายใต้ข้อจำกัดที่ซุกๆๆอยู่ จะซุกต่อ หรือ จะแก้ไขอย่างจริงจัง จริงใจและเท่าเทียมถ้วนหน้าอย่างไร!!

    อ่านเพิ่มเติมในซีรี่ส์ เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ