วาระจร (ลับ) ครม ผ่าน พ.ร.ก. กู้เงิน อีก 700,000 ล้าน หวั่นรายได้รัฐในอนาคตถดถอย “อดีตขุนคลัง” เสนอขึ้น VAT ทุก ๆ 1% เพิ่มเงินเข้าคลัง 80,000 ล้านบาท รองรับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น คาดปิดงบฯปี’64 แตะ 58.6% ต่อจีดีพี
วาระจร(ลับ) พ.ร.ก. กู้เงิน อีก 700,000 ล้าน
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อมวลชนหลายสำนักรายงานข่าวการประชุม ครม.วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ลงมติลับกับวาระจร เพื่อเห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอก 3 ของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 พ.ศ… ภายใต้กรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 700,000 ล้านบาท หรือที่เรียกว่า “พ.ร.ก.กู้เงิน โควิด-19” เพื่อนำมาใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และป้องกันการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของไวรัส โควิด-19 รวมทั้งเตรียมวงเงินไว้เสริมสภาพคล่องทางการคลัง
หลังประชุมครม.จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีรัฐมนตรี หรือ ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังคนไหนออกมาชี้แจงเหตุผล ความจำเป็นในการออก พ.ร.ก. กู้เงิน โควิด-19 ลอตที่ 2 แต่ประการใด
ต่างจากครั้งที่แล้ว เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ภายหลังที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง , ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย , สภาพัฒน์ ฯ และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดแถลงข่าว รวมทั้งนำเอกสารแถลงข่าวเผยแพร่บนเว็บไซต์ให้สาธารณชนได้รับทราบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าแต่ครั้งนี้กลับไม่มีการแถลงข่าวแต่อย่างใด หลังจากที่ปรากฎเป็นข่าวขึ้นมา มีสื่อมวลชนหลายฉบับเขียนประเด็นคำถาม ถามเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง ในไลน์กลุ่มนักข่าวกระทรวงการคลัง เพื่อขอความชัดเจนในเรื่องนี้หลายประเด็น แต่จนขณะนี้ยังไม่มีคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงการคลัง
…
จากเอกสารข่าวทำเนียบรัฐบาลระบุว่า “ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ 8,472,187 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 54.28% ของ GDP หากรัฐบาลดำเนินการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 700,000 ล้านบาท เมื่อนำมารวมกับประมาณการการกู้เงินอื่นตามกฎหมายหนี้สาธารณะแล้วจะส่งผลให้ประมาณการหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 มียอดคงค้างอยู่ที่ 9,381,428 ล้านบาท หรือ คิดเป็นสัดส่วน 58.56% ของ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการคลัง ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศ ต้องไม่เกิน 60% ของ GDP”
คำถาม ก็คือ หากรัฐบาลกู้เงินไปจนครบ 700,000 ล้านบาท ภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก.เงินฉบับดังกล่าวแล้ว ในปีงบประมาณ 2565 – 2568 สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจนต้องมีการขยายกรอบวินัยการคลังขึ้นไป หรือไม่ อย่างไร? ยังไม่มีคำตอบจากกระทรวงการคลัง
หากย้อนกลับไปดู แผนการคลังระยะปานกลาง ตามที่กระทรวงการคลังรายงานต่อที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ,สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ ฯ ร่วมกันประมาณการฐานะการคลังของประเทศในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปีงบประมาณ 2564-2568 ) ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัส โควิดฯ รอบ 2 และ รอบ 3 นั้น
ในประมาณการฐานะการคลังดังกล่าว คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวอยู่ในช่วง 3-4% (เฉลี่ย 3.5%) , ปี 2566 คาดว่า GDP จะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.7-3.7% (เฉลี่ย 3.2%) , ปี 2567 คาดว่า GDP จะขยายตัว 2.9-3.9% (เฉลี่ย 3.4%) และในปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 3.2-4.2% (เฉลี่ย 3.7%) ปี
ภายใต้สมมติฐานดังกล่าวนี้ ทั้ง 3 หน่วยงานได้ทำการประมาณการรายได้สุทธิของรัฐบาล เริ่มจากปีงบประมาณ 2565 คาดว่ารัฐบาลจะมีรายได้สุทธิประมาณ 2,400,000 ล้านบาท , ปีงบประมาณ 2566 มีรายได้สุทธิ 2,490,000 ล้านบาท , ปี 2567 มีรายได้สุทธิ 2,619,500 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2568 มีรายได้สุทธิ 2,750,500 ล้านบาท
ส่วนงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล ในปีงบประมาณ 2565 ตั้งกรอบวงเงินเอาไว้ที่ 3,100,000 ล้านบาท , ปีงบประมาณ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 3,200,000 ล้านบาท ,ปีงบประมาณ 2567 มีวงเงินอยู่ที่ 3,310,000 ล้านบาท และ ในปีงบประมาณ 2568 คาดว่าจะมีรายจ่ายอยู่ที่ 3,420,000 ล้านบาท
จากประมาณการรายได้สุทธิและงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในปี 2564-2568 คาดว่าในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณ 700,000 ล้านบาท , ปี 2566 ขาดดุล 710,000 ล้านบาท , ปี 2567 ขาดดุล 690,500 ล้านบาท , ปี 2568 ขาดดุล 669,500 ล้านบาท
จากยอดเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังไม่นับรวมการกู้เงินตาม พ.ร.ก.โควิด-19 อีก 700,000 ล้านบาท ทั้ง 3 หน่วยงาน คาดว่าหนี้สาธารณะของประเทศ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 (30 กันยายน 2564) จะมียอดคงค้างอยู่ที่ 9,081,326 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 56% ของ GDP จากนั้นหนี้สาธารณะของประเทศจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 มียอดคงค้างอยู่ที่ 9,772,428 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 57.60% ของ GDP
ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 เพิ่มเป็น 10,409,697 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 58.60% ของ GDP โดยหนี้สาธารณะของประเทศขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุด ในปีงบประมาณ 2567 มียอดคงค้างอยู่ที่ 10,971,967 ล้านบาท เทียบกับ GDP คิดเป็นสัดส่วน 59% เกือบทะลุกรอบวินัยการคลัง ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ กำหนดกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะต่อ GDP ต้องไม่เกิน 60% ส่วนในปีงบประมาณ 2568 คาดว่าหนี้สาธารณะจะมียอดคงค้างอยู่ที่ 11,458,221 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 58.70% ของ GDP ข้อสังเกต สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในปีนี้ เริ่มปรับตัวลดลง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ข้อสังเกต การประมาณการฐานะการคลังในครั้งนี้ จัดทำก่อนที่จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดฯ ในรอบ 2 และรอบ 3 ไม่นานนัก ทั้งนี้ยังไม่ได้นับรวม พ.ร.ก.กู้เงิน 700,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม “กรอบวินัยการคลัง” เป็นกติกาที่รัฐบาลกำหนดขึ้นมา เพื่อใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ และควบคุมไม่ให้รัฐบาลใช้จ่ายเงินเกินตัว จนฐานะการคลังรับไม่ไหว โดยมีคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดกรอบวินัยการคลัง ได้กำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ต้องไม่เกิน 60% , เฉพาะหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณรายได้ของรัฐบาลในแต่ละปี ต้องไม่เกิน 35% , หนี้ต่างประเทศของภาครัฐต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด ต้องไม่เกิน 10% และหนี้ต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกและบริการ ต้องไม่เกิน 5% เป็นต้น
หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเป็นจำนวนมาก แต่ติดข้อจำกัดในเรื่องของกรอบวินัยการเงินการคลัง ก็สามารถแก้ไขได้ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ทำเรื่องเสนอ ครม.อนุมัติขยายกรอบวินัยการคลังขึ้นไปเป็นการชั่วคราวในระดับที่เหมาะสม โดยมีกำหนดระยะเวลาในการบังคับใช้ หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ต้องกลับไปใช้กรอบเดิม
การขยายเพดานหนี้สาธารณต่อ GDP รองรับการกู้เงินจำนวนมาก เพื่อนำมาเยียวยา ฟื้นฟูประเทศ และป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด ฯ ในสถานการณ์เฉพาะแบบนี้ จึงไม่มีประเด็นที่น่าเป็นห่วงสักเท่าไหร่ เพราะประเทศทั่วโลกต่างก็ทำกัน
อย่างประเทศสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงปี 2563 ถึงปัจจุบัน ได้อนุมัติมาตรการทางการคลังไปแล้วกว่า 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ และจากรายงานฐานะการคลังเดือนเมษายน 2564 ของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า “ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกดำเนินมาตรการการคลัง อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ”
การอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมาเข้าไปฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเยียวยาประชาชนเป็นจำนวนมากขนาดนี้ จึงส่งผลให้หนี้สาธารณะของโลก ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ จากไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 มียอดรวมอยู่ที่ 70.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เปรียบเทียบกับ GDP ของโลก คิดเป็นสัดส่วน 88.3 % พอถึงไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 เพิ่มเป็น 82.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับ GDP คิดเป็นสัดส่วน 105.4 %
สำหรับประเทศที่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงที่สุด ได้แก่ อันดับ 1 ประเทศญี่ปุ่น มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 227.3% อันดับ 2 สหราชอาณาจักร คิดเป็นสัดส่วน 133.1% ของ GDP อันดับ 3 สหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วน 128.6% ของ GDP และอันดับ 4 สหภาพยุโรปคิดเป็นสัดส่วน 120.4% ของ GDP
หากเปรียบเทียบกับหนี้สาธารณะของไทย ณ เดือนมีนาคม 2564 มีสัดส่วนอยู่ที่ 53.32% ของ GDP ซึ่งยังต่ำกว่าหลายประเทศ
การก่อหนี้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญในภาวะวิกฤติเช่นนี้ หากเป็นการก่อหนี้เพื่อมาฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กระเตื้องขึ้น มีการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส่ ตรวจสอบได้ และทำให้เศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นในอนาคต นั่นหมายถึงอนาคตประเทศจะมีเงินไปใช้หนี้ได้
แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงตอนนี้คือ ขีดความสามารถในการหารายได้ของรัฐบาล จากอดีตในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิประมาณ 16-19% ของ GDP มาถึงวันนี้กำลังหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่มาจากนโยบายปรับลดอัตราภาษี เพิ่มค่าลดหย่อน และผลกระทบจากโควิดฯ โดยในปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลมีรายได้สุทธิ 2,387,425 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดในเอกสารงบประมาณสูงถึง 343,575 ล้านบาท ล่าสุดในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 รัฐบาลมีรายได้สุทธิ 1,018,711 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้า ฯ 122,545 ล้านบาท เมื่อถึงวันปิดงบฯ ก็ยังไม่รู้ว่าปีนี้รายได้ของรัฐบาลจะหลุดเป้าฯเท่าไหร่
จากตัวเลขประมาณการฐานะการคลังในช่วงปี 2564-2568 ที่นำมาแสดงในช่วงต้น จะเห็นว่าขีดความสามารถในการหารายได้ของรัฐบาลกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ในปีงบประมาณ 2565 คาดว่ารัฐบาลจะมีรายได้สุทธิประมาณ 13.85% ของ GDP ลดลงจากปีงบประมาณ 2564 ซึ่งมีสัดส่วนรายได้สุทธิตอ่ GDP อยู่ที่ 16.18%
หลังจากนั้นในปีงบประมาณ 2566 คาดว่ารัฐบาลจะมีรายได้สุทธิต่อ GDP อยู่ที่ 13.76% ปีงบประมาณ 2567 ปรับตัวลดลงเหลือ 13.83% ของ GDP และปีงบประมาณ 2568 ลดลงเหลือ 13.82%
เปรียบเทียบกับประเทศที่มีหนี้สาธารณะคงค้างเป็นจำนวนมาก อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นมีความสามารถในการจัดเก็บภาษีคิดเป็นสัดส่วน 20.1% ของ GDP , ยุโรปมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีคิดเป็นสัดส่วน 36.3% ของ GDP ,สหราชอาณาจักร มีรายได้จากภาษีคิดเป็นสัดส่วน 35.4% ของ GDP และสหรัฐอเมริกามีรายได้ภาษีคิดเป็นสัดส่วน 17.5% ขณะที่ประเทศไทยมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเฉลี่ยอยู่ที่ 13-14% ของ GDP
ก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) จัดประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 นายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ทำหนังสือถึงสภาพัฒน์ ฯ แสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแผนการเงินการคลังที่ยั่งยืน เป็นหัวใจสำคัญของการจัดทำแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 โดยนายสมหมาย มองว่า
“ภาวะการคลังของประเทศกําลังเข้าจุดอับแล้ว ในปีงบประมาณ 2565 ที่จะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 นี้ รัฐบาลมีความจําเป็นในการตั้งงบฯขาดดุลสูงมาก แต่ความสามารถในการจัดเก็บรายได้ ไม่มีทางที่จะเก็บได้ตามเป้าหมาย และหากภาวะการระบาดของโควิด-19 ยืดเยื้อต่อไปอีก อาจจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มจนเกินกรอบวินัยการคลัง”
นายสมหมาย กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาการคลังของประเทศมีวิธีเดียว คือต้องปรับระบบภาษี เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่การปรับปรุงระบบภาษีไม่ใช่ทําได้เร็ว ต้องมีการออกกฎหมาย ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ยกตัวอย่าง ภาษีทรัพย์สิน หรือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รัฐบาล คสช. เริ่มลงมือทําตั้งแต่ปี 2557 ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2562 เริ่มจัดเก็บตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยปีแรกลดอัตราภาษี 90% ของอัตราที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เหลือเก็บจริงแค่ 10% เท่านั้น
“แต่อย่างไรก็ตาม การปรับระบบภาษีใด ๆ หากจะรอแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 นี้มีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2566 ประเทศชาติก็จะติดหล่มลึกลงไปอีก วิธีที่จะทําได้เร็ว และมีความเหมาะสมที่สุด คือ การปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากอัตรา 7% ในปัจจุบัน เป็น 9% หรือ 10% ของมูลค่าสินค้า โดยใช้แค่มติ ครม.เท่านั้น ไม่ต้องเข้าสภา ฯ เริ่มดำเนินการรับอัตราภาษี VAT ได้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 การปรับขึ้นภาษี VAT ทุก ๆ 1% จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น 80,000 ล้านบาท หากเกรงว่าจะกระทบผู้ที่มีรายได้น้อย ก็อาจจะเพิ่มข้อยกเว้นเข้าไปได้” นายสมหมาย กล่าว
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวต่อว่า ประเทศไทยเริ่มนําระบบภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 10% มาใช้ตั้งแต่ปี 2535 ในสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ต่อมาเกิดวิกฤตต้มยํากุ้งเมื่อปี2540 รัฐบาลต้องขอ IMF ขอปรับลดอัตราภาษี VAT เหลือ 7% จากนั้นก็ไม่เคยปรับขึ้นอัตราภาษีขึ้นอีกเลย เปรียบเทียบประเทศญี่ปุ่น เริ่มจัดเก็บ VAT หรือที่เรียกว่า “Sales Tax” ในอัตรา 3% ตั้งแต่ปี 2532 จนมาถึงวันที่1 เมษายน 2540 รัฐบาลญี่ปุ่นปรับอัตราภาษีขึ้นเป็น 5% และวันที่ 1 เมษายน 2557 ปรับอัตราภาษีขึ้นเป็น 8% และครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่1 ตุลาคม 2562 ก่อนโควิดฯระบาด รัฐบาลญี่ปุ่นปรับอัตราภาษี VAT ขึ้นเป็น 10%
สรุปข้อเสนอแนะของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ฝากไปถึงรัฐบาลคือ ให้เร่งกำหนดแนวทางการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม และปรับปรุงระบบภาษีอื่นๆให้ชัดเจน และทำอย่างต่อเนื่อง….
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากขีดความสามารถในการหารายได้ของรัฐบาลแล้ว สิ่งที่จะรัฐบาลจำเป็นต้องทำคือความโปร่งใสตั้งแต่การกู้เงิน การใช้เงินกู้ จำเป็นต้องแจกแจง ตรวจสอบได้ ไม่ควรหมกเม็ดใดใด