ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ สั่งทุกหน่วยเตรียมรับศึกอภิปราย — มติ ครม. ไฟเขียว “เอเชีย แปซิฟิคฯ” คว้าประทานบัตรเหมือง “โพแทช”

นายกฯ สั่งทุกหน่วยเตรียมรับศึกอภิปราย — มติ ครม. ไฟเขียว “เอเชีย แปซิฟิคฯ” คว้าประทานบัตรเหมือง “โพแทช”

28 มิถุนายน 2022


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายกฯ สั่งทุกหน่วยเตรียมข้อมูลรับศึกอภิปราย-โต้เพื่อไทย-ลงพื้นที่เชียงใหม่เป็นเรื่องปกติ-ไม่มีเกณฑ์คน-มั่นใจ EEC คือ ‘ศูนย์กลางธุรกิจอาเซียน’ ในอนาคต-มติ ครม. ไฟเขียว “เอเชีย แปซิฟิคฯ” คว้าประทานบัตรเหมือง “โพแทส” อุดรฯ-เคาะแผนลงทุนอีอีซี 77 โครงการ กว่า 3 แสนล้าน-ควบคุมสินค้า 11 หมวด 51 รายการต่ออีกปี

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน รวมทั้งมอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการแทนนายกรัฐมนตรี

ตั้งกองทุนฯบรรเทาผลกระทบจาก FTA

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า ในการประชุม ครม. วันนี้มีประเด็นหารือเรื่องการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อช่วยเหลือ และปรับตัวของภาคการผลิตและบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า” เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมและภาคบริการให้เกิดศักยภาพทางการแข่งขัน และใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าต่อไป

ยกเว้น VAT หนุนธุรกิจ Data Center

นอกจากนี้ พลเอก ประยุทธ์ รายงานว่าในที่ประชุม ครม. ได้อนุมัติการให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับผู้ประกอบการ Data Center ในประเทศไทย ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ประกอบการที่ให้บริการพื้นที่ Server เพื่อจัดเก็บ ประมวลผล เชื่อมต่อข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและการให้บริการสำรองข้อมูลเพื่อป้องกันเหตุขัดข้องอันนำให้ข้อมูลเกิดความเสียหาย การให้บริการเชื่อมต่อเครือข่ายกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการคลาวน์ ตลอดจนให้บริการบริหารจัดการระบบและรักษาความปลอดภัยทางสารสนเทศ ทั้งนี้เพื่อให้ตอบสนองการสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาคในอนาคต

มั่นใจ EEC คือ ‘ศูนย์กลางธุรกิจอาเซียน’ ในอนาคต

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า การพัฒนาพื้นที่อีอีซี เป็นผลงานสำคัญของรัฐบาลที่วางรากฐานไว้ต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2561 ทั้งการจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค ระบบโครงข่ายคมนาคมไร้รอยต่อทั้งถนน ราง ทางน้ำและอากาศ โดยหลายโครงการอยู่ระหว่างการดำเนินการ ถึงแม้จะมีปัญหาอุปสรรคอยู่บ้าง ก็ต้องหาวิธีการดำเนินการที่เหมาะสม เพื่อยกระดับการขนส่ง โลจิสติกส์ เพื่อรองรับเมืองใหม่อัจฉริยะ อุตสาหกรรมอัจฉริยะและพลังงานสะอาด

โดยวันนี้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแผนดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค รวมทั้งมาตรการส่งเสริมเทคโนโลยี เพื่อยกระดับโครงข่ายคมนาคม 2561 – 2570 ทั้งหมด 77 โครงการ วงเงิน 3.3 แสนล้านบาท

“ผมในฐานะรัฐบาลเชื่อว่า อนาคตอันใกล้นี้ อีอีซีจะกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ทั้งของไทยและภูมิภาคอาเซียนในอนาคต เพื่อเป็นความภาคภูมิใจของชาวไทยทุกคน” พลเอก ประยุทธ์กล่าว

หนุน ขรก.ใช้เทคโนโลยีบริการ ปชช.

ด้านดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า นายกฯ ส่งเสริมให้หน่วยงานราชการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในงานที่ใช้เพื่อการบริการให้ประชาชน รวมทั้งการแก้ไขข้อร้องเรียนต่างๆ ของประชาชน

เตือนกองทุนพัฒนาสตรีฯระวังเรื่องใช้งบฯ

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกฯ มอบหมายให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สนับสนุนส่งเสริมบทบาทและโอกาสสตรีไทยให้เท่าเทียมต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้มีกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เพื่อให้การสนับสนุนการดำเนินงานและกิจกรรม และขอให้กองทุนฯ ช่วยกันระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย

สั่งทุกหน่วยเตรียมข้อมูลรับศึกอภิปราย

นอกจากนี้ นายกฯ ยังมอบหมายให้ทุกส่วนราชการเร่งสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ผลงานรัฐบาล โดยดร.ธนกร กล่าวในประเด็นนี้ว่า ผลงานรัฐบาลซึ่งเป็นผลสำเร็จที่ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งให้เตรียมข้อมูล เพื่อนำเสนอในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

ผุดไอเดียพิมพ์แสตมป์แหล่งท่องเที่ยว 77 จว.

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกฯ เสนอเรื่องการออกแสตมป์จากภาพความสวยงามต่างๆ ของแต่ละภูมิภาคหรือเป็นสัญลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว 77 จังหวัด เพื่อเป็นคอลเลคชั่นแสตมป์ไทยให้ประชาชนได้สะสม และเก็บไว้เป็นที่ระลึก

โต้เพื่อไทย-ลงพื้นที่เชียงใหม่เป็นเรื่องปกติ-ไม่มีเกณฑ์คน

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า “ในการลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ของนายกฯ วันพรุ่งนี้ แกนนำพรรคเพื่อไทยออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในทางที่ไม่เหมาะสม ทั้งที่เป็นการลงพื้นที่ เพื่อพบปะประชาชน และติดตามการทำงานและโครงการต่างๆ ไม่ว่าแหล่งน้ำ เกษตร หรือ เรื่องดิจิทัลตามพื้นที่ต่างๆ ไม่ใช่มากล่าวหาว่ามีการเกณฑ์คนมา ซึ่งไม่เป็นความจริง ทุกอย่างเป็นไปตามปกติ นายกฯ ก็ไปทุกที่ เพราะเป็นนายกรัฐมนตรีของคนไทยทุกคน ไม่ใช่จังหวัดไหนไม่เลือกท่านเหมือนอดีตผู้นำแล้วท่านจะไม่ต้องไป ไม่ใช่นะครับ ขอชี้แจงตรงนี้ไว้ด้วย”

มติ ครม. มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมกับ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ ร่วมกันแถลงข่าวผลการประชุม ครม.
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

เคาะแผนลงทุนอีอีซี 77 โครงการ กว่า 3 แสนล้าน

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2565 พร้อมเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการ โครงสร้างพื้นฐานฯ พ.ศ. 2566 – 2570 ประกอบด้วยโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค รวมถึงมาตรการส่งเสริมและเทคโนโลยี เพื่อยกระดับโครงข่ายคมนาคม จำนวน 77 โครงการ กรอบวงเงินรวม 337,797.07 ล้านบาท แบ่งได้ดังนี้

    ระยะเร่งด่วน (เริ่มต้นปี 2566) จำนวน 29 โครงการ วงเงินรวม 125,599.98 ล้านบาท เช่น โครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรองเพื่อรองรับ รถไฟความเร็วสูง (HSR) ระยะที่ 1 (ชลบุรี – บ้านบึง – EECi และระยอง – บ้านค่าย – EECi) โครงการก่อสร้าง High speed taxiway และ Taxiway เพิ่มเติม (ท่าอากาศยานอู่ตะเภา) โครงการพัฒนาระบบการจราจรขนส่งอัจฉริยะ (ITS) โครงการจัดหาพลังงานสะอาด
    ระยะกลาง (เริ่มต้นปี 2567 – 2570) จำนวน 48 โครงการ วงเงินรวม 212,197.09 ล้านบาท เช่น โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงศรีราชา – ระยอง โครงการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานของระบบ M-Flow บนมอเตอร์เวย์สาย 7 โครงการพัฒนาการให้บริการท่าเรือเชิงพาณิชย์ (ท่าเรือสัตหีบ) โครงการ Dry Port ฉะเชิงเทรา

สำหรับแหล่งเงินลงทุน 337,797.07 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนโดยภาครัฐ (งบฯ ประจำปี/เงินกู้/เงินรัฐวิสาหกิจ/เงินกองทุน) จำนวน 61 โครงการ วงเงินรวม 178,578.07 ล้านบาท (ร้อยละ 53) และการลงทุนโดยเอกชน/PPP จำนวน 16 โครงการ วงเงินรวม 159,219 ล้านบาท (ร้อยละ 47)

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ด้านเศรษฐกิจ เช่น เกิดการจ้างงานระหว่างก่อสร้าง ปี 2566-2570 เฉลี่ยประมาณ 20,000 ตำแหน่ง/ปี และปี 2571-2580 ประมาณ 12,000 ตำแหน่ง/ปี และยกระดับ National Gateway สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่การลงทุน และการท่องเที่ยวของพื้นที่ EEC ด้านสังคม เช่น มีระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัย คุณภาพสูง เชื่อมการเดินทาง แบบไร้รอยต่อ สะดวกรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ และมีระบบไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพที่ดี รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้านโลจิสติกส์ เช่น มีเส้นทางรถไฟทางคู่เพิ่มขึ้น 275 กิโลเมตร และมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 155 กิโลเมตร สนามบินอู่ตะเภาสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านคน/ปี ท่าเรือแหลมฉบังสามารถรองรับตู้สินค้าได้เพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านตู้/ปี และรองรับรถยนต์ได้ 3 ล้านคัน/ปี และท่าเรือมาบตาพุดสามารถรองรับสินค้าได้เพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านตัน/ปี

เว้นภาษีนำเข้าที่นั่งนิรภัยเด็กถึงสิ้นปี’66

ดร.ธนกร กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบยกเว้นอากร สำหรับที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (Car seat) เฉพาะที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กนำเข้า ตามร่างประกาศกระทรวงการคลัง ลดอัตราอากร และยกเว้นศุลกากร ตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..)

โดยให้มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

สาระสำคัญ ร่างประกาศกระทรวงการคลัง กำหนดยกเว้นอากร สำหรับที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (Car seat) เฉพาะที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กนำเข้ามาโดยให้ยกเว้นอากรถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป จึงให้จัดเก็บอัตราอากรร้อยละ 20 ตามเดิม ทั้งนี้ เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน สนับสนุนด้านความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของประชาชน ส่งเสริมให้เกิดการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กและเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายพระราชบัญญัติจราจรทางบกฉบับที่ 13 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 65

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันตลาดที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กส่วนใหญ่ เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ และยังมีผู้ประกอบการไทยที่ผลิตที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กจำนวนน้อย เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กในประเทศที่ผ่านมามีจำนวนไม่มากพอ ที่จะทำให้ผู้ประกอบการมีการลงทุน อย่างไรก็ตาม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เห็นว่า การลดอัตราอากรขาเข้าสำหรับที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อสนับสนุนการลดราคาให้กับผู้บริโภค ประกอบกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติจราจรทางบก ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2565 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณความต้องการใช้ในประเทศสูงขึ้น จะทำให้ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก อาจสนใจที่จะลงทุนผลิตที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กในประเทศเพิ่มมากขึ้น

ควบคุมสินค้า 11 หมวด 51 รายการต่ออีกปี

ดร.ธนกร กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบการกำหนดสินค้าและบริการควบคุมปี 2565 จำนวน 51รายการ ใน 11 หมวด โดยเป็นสินค้าและบริการควบคุมเช่นเดียวกับ ปี 2564 จำนวน 51 รายการ จําแนกเป็น 46 สินค้า 5 บริการ 11 หมวด ได้แก่ (1) หมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์ (2) หมวดบริภัณฑ์ขนส่ง (3) หมวดปัจจัยทางการเกษตร (4) หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (5) หมวดยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ (6) หมวดวัสดุก่อสร้าง (7) หมวดสินค้าเกษตรที่สําคัญ (8) หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค (9) หมวดอาหาร (10) หมวดอื่นๆ และ (11) หมวดบริการ ซึ่งเป็นตามมติที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565

สำหรับ รายการสินค้าและบริการควบคุมปี 2565

    (1) หมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กระดาษทําลูกฟูก กระดาษเหนียว กระดาษพิมพ์และเขียน

    (2) หมวดบริภัณฑ์ขนส่ง ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถยนต์บรรทุก

    (3) หมวดปัจจัยทางการเกษตร กากดีดีจีเอส เครื่องสูบน้ำ ปุ๋ย ยาป้องกันหรือกําจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช รถเกี่ยวข้าว รถไถนา หัวอาหารสัตว์ อาหารสัตว์

    (4) หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเชื้อเพลิง

    (5) หมวดยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ ยารักษาโรค เวชภัณฑ์ เกี่ยวกับการรักษาโรค

    (6) หมวดวัสดุก่อสร้าง ท่อพีวีซี ปูนซีเมนต์ สายไฟฟ้า เหล็กโครงสร้าง รูปพรรณ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น

    (7) หมวดสินค้าเกษตรที่สําคัญ ข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวสําลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด ต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ มันสําปะหลังและผลิตภัณฑ์ ผลปาล์มน้ำมัน มะพร้าวผลแก่ และผลิตภัณฑ์ ยางพารา ได้แก่ น้ำยางสด ยางก้อน เศษยาง น้ำยางข้น ยางแผ่น ยางแท่ง ยางเครพ

    (8) หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค กระดาษชําระ กระดาษเช็ดหน้า แชมพู ผงซักฟอก น้ำยาซักฟอก ผลิตภัณฑ์ล้างจาน ผ้าอนามัย ผ้าอ้อมสําเร็จรูปเด็กและผู้ใหญ่ สบู่ก้อน สบู่เหลว

    (9) หมวดอาหาร กระเทียม ไข่ไก่ ทุเรียน นมผง ผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภคชนิดเหลว ไม่รวมถึงนมเปรี้ยว น้ำมัน และไขมัน ที่ได้จากพืชหรือสัตว์ทั้งที่บริโภคได้หรือไม่ได้ แป้งสาลี มังคุด ลําไย สุกร เนื้อสุกร หอมหัวใหญ่ อาหารกึ่งสําเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท

    (10) หมวดอื่นๆ เครื่องแบบนักเรียน

    (11) หมวดบริการ การให้สิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้า บริการซื้อขาย และหรือบริการขนส่งสินค้าสําหรับธุรกิจออนไลน์ บริการทางการเกษตร บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค และบริการรับชําระเงิน ณ จุดบริการ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเปิดเผยว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 เห็นชอบกำหนดสินค้าและบริการควบคุมปี 2564 ซึ่งจะสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 30 มิถุนายน 65 นี้ เพื่อเป็นการดูแลสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชน เพื่อป้องกันการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่าย หรือกำหนดเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรม ไม่เกี่ยวกับกรณีราคาสินค้าหรือบริการแพงขึ้นตามกลไกตลาดปกติ

ยกเว้น VAT หนุนไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัลในภูมิภาคนี้

ดร.ธนกร กล่าวว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในกิจการศูนย์ข้อมูล (Data Centre) เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาค (Regional Digital Hub) ตามนโยบายของรัฐบาล และสอดคล้องกับมติศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.)

ร่าง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว มีสาระสำคัญ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากเดิมที่ต้องเสียภาษีอัตราร้อยละ 7 สำหรับผู้ให้ประกอบกิจการศูนย์ข้อมูล (Data Center) เพื่อการให้บริการพื้นที่เก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต บริการเช่าพื้นที่ เซิร์ฟเวอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการจัดเก็บ ประมวลผล และเชื่อมต่อข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจะมีการลงทุนในกิจการ (data center และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง เช่น Cloud Computing ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในระดับ (Hyperscale Data Center) ส่งเสริมประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาค (Regional Digital Hub) และเพิ่มรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากผลประกอบการผู้ประกอบกิจการ Data Center ในประเทศเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของกิจการซึ่งช่วยชดเชยการสูญเสียรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มได้ด้วย

โดยผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ ได้แก่ ผู้ประกอบกิจการ data center ในประเทศไทย โดยต้องมีคุณสมบัติและปฏิบัติตาม หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขครบถ้วนตามที่ อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด และแจ้งความประสงค์เพื่อขอใช้สิทธิต่ออธิบดีฯ ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ พ.ร.ฎ. นี้มีผลใช้บังคับ โดยจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณาคุณสมบัติจากกรมสรรพากร แล้ว

ไฟเขียว “เอเชีย แปซิฟิคฯ” คว้าประทานบัตรเหมือง “โพแทส”

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. รับทราบผลการดำเนินงานของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หลังได้รับสิทธิสำรวจแร่โพแทสในจังหวัดอุดรธานี เพื่อดำเนินการขอประทานบัตรจากกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป สำหรับการดำเนินงานของบริษัท เอเชีย แปซิฟิคฯ ที่ผ่านมาประกอบด้วย

    1.รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น 1) การควบคุมวิธีการทำเหมืองให้มีความมั่นคงแข็งแรงไม่ให้เกิดการทรุดตัวที่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างที่อยู่อาศัยบนผิวดิน 2) มาตรการการจัดการกองเกลือ ฝุ่นเกลือ และน้ำเค็มของโครงการ
    2. การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ทางตัวแทนกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ร้อยละ 63 เลือกที่จะให้มีการพัฒนาโครงการทำเหมืองบางพื้นที่อย่างมีเงื่อนไข กล่าวคือ มีมาตรการเพื่อลดกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน มีการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่มาใช้พัฒนาชุมชนอย่างเหมาะสม และผู้ได้รับผลกระทบจะต้องได้รับค่าชดเชยที่เหมาะสม
    3. การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 โดยล่าสุดเมื่อเดือน เม.ย.2559 จัดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 2,000 คน มีผู้ไม่เห็นด้วยประมาณ 100 คน แต่ไม่ได้เป็นการลงมติ จึงไม่มีผลต่อการพิจารณาดำเนินโครงการ และในปี 2562 คณะกรรมการกำหนดเงินค่าทดแทนได้พิจารณากำหนดกรอบวงเงินค่าทดแทนกรณีมีการทำเหมืองใต้ดินให้แก่เจ้าของที่ดิน วงเงินรวม 1,200 ล้านบาท ซึ่งบริษัทเอเชีย แปซิฟิคฯ เป็นผู้รับผิดชอบ

ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า พื้นที่เหมืองแร่โพแทส ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิคฯ ที่ได้สำรวจแล้วมีจำนวน 4 แปลง อยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่เหมืองใต้ดินประมาณ 26,446 ไร่ และพื้นที่บนดินประมาณ 1,681 ไร่ หากเหมืองแร่โพแทสเปิดดำเนินการได้ คาดว่าจะสามารถสกัดโพแทสเซียมคลอไรด์ได้ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี จะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าแร่โพแทสเพื่อใช้ผลิตปุ๋ยจากต่างประเทศได้ ปัจจุบันไทยนำเข้าแร่โพแทสประมาณปีละ 800,000 ตัน มีมูลค่านำเข้าสูงถึง 7,600-10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ มีอีก 2 บริษัทที่ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแล้ว คือ บริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) จังหวัดชัยภูมิ และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด จังหวัดนครราชสีมา แต่ยังไม่ได้เปิดการทำเหมือง

จัดงบฯ 5,000 ล้าน ตั้งกองทุนฯบรรเทาผลกระทบ FTA

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ของคณะกรรมการนโยบายการบริหารเงินทุนหมุนเวียน ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ การจัดตั้งกองทุนดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทาผู้ที่ได้รับหรือคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าในภาคการผลิตทั้งเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยจะขับเคลื่อนผ่านกลไกคณะกรรมการบริการกองทุนฯ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ เช่น กำหนดนโยบาย กำกับการบริหารจัดการ และติดตามการดำเนินงาน พิจารณาอนุมัติแผนการดำเนินงานประจำปี กำหนดอัตราค่าธรรมเนียม หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า เป็นต้น

สำหรับงบประมาณและแหล่งรายได้ของกองทุน มาจากการรับทุนประเดิมจากรัฐบาลที่จัดสรรให้ภายใน 3 ปี ประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยปีแรกรับจัดสรร 1,000 ล้านบาท ปีที่ 2-3 ปีละ 2,000 ล้านบาท ส่วนแหล่งที่มาของรายได้ เช่น การจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ส่งออกที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า โดยจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า เพื่อใช้สิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับการส่งออกภายใต้การเปิดเสรีทางการค้า คาดว่า จะสามารถจัดเก็บได้ประมาณ 80 ล้านบาทต่อปี

ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า กองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการฯ ไม่มีความซ้ำซ้อนในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้ากับกองทุนอื่นๆ เช่น กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสาหรับอุตสาหกรรม กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศของ เนื่องจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯ จะให้เงินสนับสนุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุน การวิจัยและพัฒนา ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เน้นลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมถึงการให้ความช่วยเหลืออันเกิดจากผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ส่วนกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรฯ เน้นช่วยเหลือกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรขั้นต้นเท่านั้น ไม่ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าเช่นกัน

เห็นชอบผลประชุม “ไทย-ฮังการี” ครั้งที่ 3

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย – ฮังการี ครั้งที่ 3 ซึ่งจะมีการรับรองเอกสารระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ในวันที่ 29 มิถุนายน 2565 โดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ณ กระทรวงการต่างประเทศ การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและการค้า รวมถึงความร่วมมือด้านอื่นๆ ระหว่างสองประเทศ รวมถึงเป็นการสร้างโอกาสและเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทาย ซึ่งในปี 2566 ไทยกับฮังการีจะฉลองโอกาสครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน สำหรับร่างเอกสารผลลัพธ์ฉบับนี้ จะใช้เป็นกรอบในการประชุม โดยมีสาระสำคัญกล่าวถึงสาขาความร่วมมือในด้านต่างๆ ดังนี้

    1.ด้านเศรษฐกิจและการค้า เช่น 1)ส่งเสริมการติดต่อระหว่างภาคเอกชนและการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าไทยในฮังการี 2) เสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจให้แก่บริษัทไทยและฮังการีในหลายสาขา 3)สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับการลงทุนในเขต EEC โดยเฉพาะการลงทุนด้านสุขภาพ ดิจิทัล เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ และโลจิสติกส์ 4)ยกระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในด้านต่างๆ เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น อาหารพร้อมทาน เครื่องแต่งกายและสิ่งทอราคาแพง สินค้าเกษตร เช่น ปุ๋ยออร์แกนิค สินค้าอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์พลังงงานไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ ยางรถยนต์และยางพารา รวมถึงสินค้าด้านสาธารณสุข เช่น ยา เวชภัณฑ์ และสมุนไพร
    2.ด้านการลงทุน เช่น 1)เน้นย้ำถึงที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของทั้งสองประเทศ ที่เป็นประตูสู่ตลาดขนาดใหญ่ทั้งสหภาพยุโรปและอาเซียน ซึ่งสร้างโอกาสที่ดีในการลงทุนและการจัดตั้งธุรกิจร่วมลงทุน 2)ความสำคัญของการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจในไทย 3)รัฐบาลฮังการีจัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมด้านการลงทุนฮังการี (Hungarian Investment Promotion Agency: HIPA) เพื่อสนับสนุนการตั้งกิจการของเอกชนไทยในฮังการี 4)ฮังการีเสนอให้ปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลฮังการี ที่ลงนามเมื่อปี 2534 ให้ทันสมัยและเอื้อให้นักลงทุนทั้งสองประเทศได้รับประโยชน์จากความตกลงดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือทางวิชาการ เช่น 1)ทั้งสองฝ่ายสนใจที่จะลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวฮังการี (Hungarian Tourism Agency) 2)ริเริ่มบันทึกความเข้าใจฉบับแรกด้านวัฒนธรรม ระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมและนวัตกรรมของฮังการีและกระทรวงวัฒนธรรมของไทย ปี 2565-2567 ซึ่งสนับสนุนความร่วมมือ 5 ด้าน (5Fs) ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์ (Film) เสื้อผ้า (Fashion) ศิลปะการต่อสู้ (Fighting) และเทศกาล (Festival) การศึกษา 3)เสริมสร้างความร่วมมือในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา โดยเฉพาะในสาขาการเกษตรและเทคโนโลยี การท่องเที่ยว การผลิต การขนส่ง สังคมศาสตร์ พลศึกษา และการจัดการน้ำ 4)ฮังการีจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปี 2566

ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า ในปี 2564 การค้าระหว่างไทยกับฮังการี มีมูลค่า 712.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าที่ไทยส่งออกไปฮังการี เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ มูลค่า 504.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากฮังการี เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน มูลค่า 208.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยได้เปรียบดุลการค้าจากฮังการีรวม 296.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ไฟเขียวกรอบความร่วมมือ “แม่โขง-ล้านช้าง” 5 ฉบับ

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบเอกสารผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง- ล้านช้าง ครั้งที่ 7 รวม 5 ฉบับ ซึ่งจะมีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ในการประชุมที่จัดขึ้นในวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ที่เมืองพุกาม ประเทศเมียนมา ทั้งนี้ การจัดตั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนามไทย และจีน

สำหรับร่างเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 5 ฉบับ มีสาระสำคัญเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในระดับรัฐมนตรีระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การบริหารจัดการภัยพิบัติ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาระบบศุลกากรกากร และการร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

    ฉบับแรก แถลงข่าวร่วมของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง- ล้านช้าง ครั้งที่ 7 มีสาระสำคัญเป็นการยืนยันหลักการและเจตนารมณ์ทางการเมืองของประเทศสมาชิกในการรักษาความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือในหลากหลายสาขา เช่น การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การเกษตร สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

    ฉบับที่ 2 แถลงการณ์ร่วมเพื่อการส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง โดยร่วมกันจัดตั้งกลไกความร่วมมือด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ

    ฉบับที่ 3 แถลงการณ์ร่วมการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหารภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง โดยส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหารผ่านการเสริมสร้างผลิตภาพการผลิต ลดความฟุ่มเฟือย ส่งเสริมความร่วมมือด้านมาตรฐาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการอำนวยความสะดวกการค้าสินค้าเกษตร

    ฉบับที่ 4 แถลงการณ์ร่วมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านศุลกากร เพื่อการส่งเสริมการค้าและการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากรภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง โดยสนับสนุนให้หน่วยงานด้านศุลกากรของประเทศสมาชิกส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาระบบศุลกากร ด่านและความเชื่อมโยงอัจฉริยะ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย และการอำนวยความสะดวกพิธีการศุลกากร

    ฉบับที่ 5 แถลงการณ์ร่วมเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและการเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างอารยธรรมภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง โดยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระดับประชาชนและความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว

โยก “พงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์” ขึ้นปลัดยุติธรรม

ดร.รัชดา กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีดังนี้

1. นางวารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขากุมารเวชกรรม) สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขากุมารเวชกรรม) สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

2. กระทรวงยุติธรรมเสนอการโอน นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

3. สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอรับโอน นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากอยู่ครบวาระ เพื่อมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานตำขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

4. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอรับโอน นายภูมินทร ปลั่งสมบัติ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีผลตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

5. ตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง กระทรวงการต่างประเทศ จำนวน 3 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างและสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

    1.นายดามพ์ บุญธรรม อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

    2.นายวรวุฒิ พงษ์ประภาพันธ์ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา

    3.นายมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

6. การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของเอกอัครราชทูต จำนวน 2 ราย ดังนี้

    1.นายณัฐพล ขันธหิรัญ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ซึ่งจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2565 และขอต่อเวลาการดำรงตำแหน่งดังกล่าวต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2566

    2.นายสุวัฒน์ แก้วสุข เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต รัฐสุลต่านโอมาน ซึ่งจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2565 และขอต่อเวลาการดำรงตำแหน่งดังกล่าวต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2566

7.นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ [ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช)] ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป

8.นายปรเมธี วิมลศิริ เป็นประธานกรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ แทนประธานกรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป โดยผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

9. รองศาสตราจารย์สิรี ชัยเสรี เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านอาหารศึกษา) ในคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระเนื่องจากถึงแก่กรรม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป โดยผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน

10.คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการ ในคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า จำนวน 1 คน ได้แก่ นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ แทน นายกฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์ รองประธานกรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 โดยผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 28 มิถุนายน 2565 เพิ่มเติม

ป้ายคำ :