ThaiPublica > สู่อาเซียน > อนาคตที่เต็มไปด้วยขวากหนามของ “เยาวชน” รัฐกะยา…?

อนาคตที่เต็มไปด้วยขวากหนามของ “เยาวชน” รัฐกะยา…?

18 สิงหาคม 2023


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์

ชั้นเรียนดนตรีที่ Htel Phoe Music Learning Center ได้เปิดสอนให้กับเด็กๆในค่ายผู้ลี้ภัยจากการสู้รบในเมืองดีมอโซ รัฐกะยา ที่มาภาพ : เพจ Htel Phoe Music Learning Center

วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 Kantarawaddy Times มีรายงานข่าวการเปิดชั้นเรียนสอนดนตรีให้กับเหล่าเด็กๆของกลุ่มอาสาสมัครที่ใช้ชื่อว่า“Htel Phoe Music Learning Center” ในเมืองดีมอโซ รัฐกะยา ชั้นเรียนนี้อาจไม่มีความโดดเด่นอะไรเลย หากไม่ได้ถูกเปิดสอนอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยจากการสู้รบแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่กลางป่า!

“เป้าหมายหลักของเรา ก็คือบรรดาเด็กๆซึ่งต้องเผชิญกับความทุกข์ยากจากการสู้รบที่เกิดขึ้นรอบบ้านของพวกเขาจนต้องหนีมาอยู่ในป่า ในแต่ละวันเด็กเหล่านี้ได้ยินแต่เสียงปืน เสียงระเบิด เสียงเครื่องบินรบที่บินเฉียดไปเฉียดมา ที่ล้วนสร้างความเจ็บปวด เป็นบาดแผลในจิตใจของพวกเขา การให้เด็กๆเหล่านี้ได้ฟังเพลง เรียนรู้การเล่นดนตรี นอกจากช่วยบรรเทาความเจ็บปวดในใจแล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ให้ความสนุกสนาน และสร้างความหวังในชีวิตให้กับพวกเขา” ครูสอนดนตรีหญิงผู้หนึ่งให้สัมภาษณ์แก่ Kantarawaddy Times

โพสต์แรกในเพจ Htel Phoe Music Learning Center แสดงเป้าหมายของกลุ่ม ที่จะใช้ดนตรีเป็นเครื่องช่วยบำบัดรักษาบาดแผลในจิตใจของเด็กๆในรัฐกะยา

3 เดือน หลังเกิดการรัฐประหารในเมียนมา คนหนุ่มสาวที่รักดนตรีในรัฐกะยากลุ่มหนึ่งได้รวมตัวกันทำกิจกรรมอาสาโดยใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือ พวกเขาหวังว่าพลังของดนตรีจะสามารถช่วยเยียวยาอาการบาดเจ็บในจิตใจของผู้คนที่ต้องทนทุกข์จากภัยสงครามและความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นในรัฐบ้านเกิดของพวกเขา ชื่อ Htel Phoe Music Learning Center เพิ่งถูกตั้งเป็นชื่อทางการของคนกลุ่มนี้เมื่อไม่ถึง 1 ปีที่ผ่านมา และเพจเฟซบุ๊ก Htel Phoe Music Learning Center ก็เพิ่งเปิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 นี้เอง

ภาพเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังนั่งล้อมวงอยู่ในห้องเล็กๆที่มืดมิดมีเพียงแสงสว่างจากโทรศัพท์มือถือ คุณครูถือกีตาร์นั่งขัดสมาธิอยู่ตรงกลางอธิบายตัวโน๊ตที่เขียนไว้ในสมุดบันทึกเล่มเล็กๆให้เด็กๆได้ฟัง บ่งบอกชัดเจนว่าชั้นเรียนแห่งนี้ไม่ได้หรูหราหรือสะดวกสบาย เหมือนกับชั้นเรียนในโรงเรียนดนตรีที่เปิดอยู่ในตัวเมือง

ชั้นเรียนดนตรีที่ Htel Phoe Music Learning Center ได้เปิดสอนให้กับเด็กๆในค่ายผู้ลี้ภัยจากการสู้รบในเมืองดีมอโซ รัฐกะยา ที่มาภาพ : เพจ Htel Phoe Music Learning Center

……

“กะยา” เป็นรัฐชาติพันธุ์ที่เล็กที่สุดของเมียนมา แต่เป็นพื้นที่ซึ่งมีการสู้รบรุนแรงและโหดร้ายมากที่สุด นับแต่เกิดการรัฐประหารโดยกองทัพพม่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา

รัฐกะยามีพื้นที่เพียง 11,731.5 ตารางกิโลเมตร ประชากรรวมประมาณ 4 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นชาวกะยาหรือกะเหรี่ยงแดง ชาวกะยันหรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อกะเหรี่ยงคอยาว ชาวไทใหญ่ ชาวปะโอ และชาวพม่า ชายแดนด้านตะวันออกและทิศใต้ของรัฐกะยาอยู่ติดกับประเทศไทยด้านอำเภอเมือง อำเภอขุนยวม และอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน สมัยก่อนเกิดการรัฐประหาร จังหวัดลอยก่อ ที่เป็นเมืองหลวงของรัฐกะยา กับจังหวัดแม่ฮ่องสอนของไทย มักมีกิจกรรมที่จัดร่วมกันอยู่เป็นระยะ

ทิศเหนือของรัฐกะยาติดกับจังหวัดลางเคอและจังหวัดตองจี ของรัฐฉาน ทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ ติดกับจังหวัดผาปูน รัฐกะเหรี่ยง

ความเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐกะยาทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ของรัฐกะยา ที่บ่งชี้ว่าพื้นที่บริเวณนี้ไม่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของชาวพม่ามาก่อน

เมื่อ พ.ศ.2418 รัฐบาลบริติชอินเดียของอังกฤษ และพระเจ้ามินดง แห่งราชวงศ์คอนบอง อาณาจักรพม่า ได้ทำสนธิสัญญารับรองเอกราชของกลุ่มรัฐกะเหรี่ยงแดง ซึ่งประกอบด้วยรัฐโบราณ 3 แห่ง คือกันตรวดี เจโบจี และบอละแค ทำให้พื้นที่บริเวณนี้ไม่ได้ตกเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมอังกฤษ และก็ไม่ได้ขึ้นกับอาณาจักรพม่า แต่ต่อมาในปี 2435 รัฐกะเหรี่ยงแดงทั้ง 3 แห่ง ได้เข้าเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษเช่นเดียวกับรัฐฉาน

ที่ตั้งรัฐกะยา รัฐชาติพันธุ์ที่เล็กที่สุดในเมียนมา แต่เป็นพื้นที่ซึ่งมีการสู้รบดุเดือด รุนแรงที่สุด

ช่วงที่มีความเคลื่อนไหวเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษ รัฐธรรมนูญสหภาพพม่า ฉบับปี 2490 ได้เขียนให้กลุ่มรัฐโบราณของกะเหรี่ยงแดงทั้ง 3 แห่ง เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพพม่า และสามารถแยกตัวเป็นอิสระได้ในอีก 10 ปี หลังได้รับอิสรภาพจากอังกฤษแล้ว มีการสถาปนาพื้นที่ของกลุ่มรัฐโบราณทั้ง 3 ขึ้นเป็นรัฐกะเหรี่ยงแดง(Karenni State) แต่ต่อมาในปี 2495 เมื่อมีการรวมพื้นที่บางส่วนที่เคยถูกให้ไปขึ้นกับรัฐฉานเข้ามา จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อจากรัฐกะเหรี่ยงแดงเป็นรัฐกะยา(Kayah State)

อังกฤษส่งมอบอิสรภาพคืนแก่พม่าในวันที่ 4 มกราคม 2491 แต่หลังผ่านพ้นไปแล้ว 10 ปี ซึ่งตามรัฐธรรมนูญปี 2490 กำหนดให้รัฐกะยาสามารถแยกตัวออกเป็นอิสระได้ ปรากฏว่าในปี 2502 รัฐบาลสหภาพพม่าขณะนั้น ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยนายพลเนวิน ผู้นำกองทัพ ได้ส่งกำลังทหารเข้ามาในพื้นที่รัฐกะยาเพื่อต้องการปกครองรัฐกะยาโดยตรง เป็นจุดเริ่มต้นความเคลื่อนไหวและการต่อสู้เพื่อขับไล่ทหารพม่าออกไปจากรัฐกะยา ภายใต้การนำของพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง(Karenni National Progressive Party : KNPP) องค์กรการเมืองที่ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2500 โดยมีกองทัพกะเหรี่ยงแดง(Karenni Army : KA) เป็นกองกำลังติดอาวุธที่เข้าเผชิญหน้ากับกองทัพพม่าโดยตรง

สงครามสู้รบระหว่างกองทัพกะเหรี่ยงแดงกับกองทัพพม่าในรัฐกะยา ดำเนินมาต่อเนื่องกระทั่งถึงปี 2538 ทั้ง 2 ฝ่ายได้ตกลงหยุดยิงกัน อย่างไรก็ตาม ในยุคของประธานาธิบดีเตงเส่งที่ต้องการดึงให้กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ทุกกลุ่มที่มีอยู่ทั่วประเทศเข้าร่วมเซ็นสัญญาหยุดยิง(NCA)อย่างเป็นทางการกับรัฐบาลเมียนมา ในวันที่ 15 ตุลาคม 2558 พรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเหรี่ยงแดงและกองทัพกะเหรี่ยงแดง ไม่ได้เข้าร่วมเซ็นสัญญาด้วย

เมื่อ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย นำกำลังออกมาทำรัฐประหาร ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 รัฐกะยาเป็นพื้นที่แรกที่ชาวบ้านจับมีด จับพร้า จอบ เสียม เป็นอาวุธเข้าสู้รบกับทหารพม่า มีการรวมตัวจัดตั้งกองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง(Karenni Nationalities Defense Force : KNDF)ขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2564 จากนั้นเป็นต้นมา แทบทุกพื้นที่ของรัฐกะยาได้กลายเป็นสมรภูมิสู้รบอันแสนดุเดือด! จนถึงทุกวันนี้

กองกำลังติดอาวุธในรัฐกะยาที่ทำสงครามกับกองทัพพม่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 นอกจากกองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง(KNDF)ที่ตั้งขึ้นใหม่ และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ(NUG) หรือรัฐบาลเงาที่สถาปนาขึ้นโดยสมาชิกพรรค NLD แล้ว ยังมีกองกำลังพิทักษ์ประชาชน(PDF)กลุ่มย่อย ที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามอำเภอต่างๆอีกหลายกลุ่ม รวมถึงกองทัพกะเหรี่ยงแดง(KA)ของพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง(KNPP) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธดั้งเดิม ก็เข้าร่วมสู้รบด้วย

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 ค่ายผู้ลี้ภัยจากการสู้รบหลายแห่งที่ตั้งอยู่ในป่ารัฐกะยา ได้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวันชาติกะเหรี่ยงแดงครบรอบ 148 ปี ขึ้น ภาพกิจกรรมที่ถูกเผยแพร่ผ่าน Kantarawaddy Times มีคนหนุ่มสาวชาวกะเหรี่ยงแดงนับพันคนแต่งกายด้วยชุดประจำชาติพันธุ์สีแดง เดินแถวอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยไปยังลานกิจกรรม ระหว่างทางได้ตะโกนคำขวัญเรียกร้องอิสรภาพของชาวกะเหรี่ยงแดงอย่างพร้อมเพรียงกัน

กิจกรรมวันชาติกะเหรี่ยงแดงครบรอบ 148 ปี ที่มาภาพ : Kantarawaddy Times

……

ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน 2566 การสู้รบอย่างหนักหน่วง ทำให้ทหารพม่าต้องระดมยิงอาวุธหนัก และนำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดลงในหลายจุดของรัฐกะยา ส่งผลให้มีชาวกะยาเกือบหมื่นคน พากันอพยพข้ามพรมแดนมาขอลี้ภัยอยู่ในเขตอำเภอแม่สะเรียง และอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนใหญ่เป็นคนชรา ผู้หญิง และเด็ก

วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 Kantarawaddy Times มีรายงานว่า นักเรียนเกือบ 1,000 คน จาก 7 โรงเรียน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งต้องหนีระเบิดที่กองทัพพม่าทิ้งจากเครื่องบินลงใส่พื้นที่ทางฟากตะวันตกของเมืองพรูโซ ระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายน เข้าไปซ่อนตัวอยู่ในป่า ไม่สามารถกลับเข้าไปเรียนหนังสือต่อได้ เพราะกลัว การโจมตีครั้งนั้นทำให้มีหมู่บ้านมากกว่า 4 แห่ง ถูกเผาเรียบ เด็กๆเหล่านี้ต้องเสียโอกาสทางการศึกษา และยังต้องเผชิญกับภัยร้ายจากโรคไข้มาลาเรีย ที่กำลังระบาดอยู่กลางป่าดิบของรัฐกะยามาได้ประมาณ 1 เดือนแล้ว

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรก! เพราะนับแต่เสียงปืนแตกในรัฐกะยาเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2564 เยาวชนกะยาจำนวนมากต้องละทิ้งห้องเรียน อพยพไปใช้ชีวิตที่ยากลำบากอยู่ตามป่าเขา ในค่ายผู้ลี้ภัยชั่วคราวที่ถูกเปิดไว้ตามจุดต่างๆ

สภาพห้องเรียนภายในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งในรัฐกะยา ที่มาภาพ : Kantarawaddy Times

ตามข้อมูลของ Kantarawaddy Times นับแต่เกิดการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เฉพาะเมืองพรูโซ มีผู้คนที่ต้องไร้บ้านมากกว่า 6,000 คน และหากนักรวมทั้งรัฐกะยากับเมืองผายขุน จังหวัดตองจี ตอนใต้ของรัฐฉานที่อยู่ติดกันด้วยแล้ว จำนวนผู้ไร้บ้านจากการสู้รบที่เกิดขึ้นในรัฐกะยา มีมากกว่า 250,000 คน แต่ตัวเลขนี้ไม่ได้แยกออกมาว่าเป็นเด็กและเยาวชนจำนวนเท่าใด

Kantarawaddy Times เป็นสำนักข่าวที่เน้นเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นในรัฐกะยาโดยเฉพาะ เป็นสื่อที่เปิดเผยเรื่องราว ชะตากรรมของเด็กๆในรัฐกะยาซึ่งต้องทิ้งบ้านเรือน ห้องเรียน เพื่อหลบภัยจากสงครามไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยกลางป่า มาบอกเล่าให้โลกภายนอกได้รับรู้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะภาพห้องเรียนที่ถูกสร้างขึ้นชั่วคราวในค่ายผู้ลี้ภัยแต่ละแห่ง เพื่อต้องการสื่อว่าแม้ชาวกะยาต้องประสบความยากลำบากเพียงใด แต่การพัฒนาเด็กๆที่จะก้าวขึ้นเป็นอนาคตของพวกเขาในวันข้างหน้า เป็นเรื่องที่จำเป็น

Clean Yangon เป็นอาสาสมัครอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ให้ความสำคัญกับเด็กๆในค่ายผู้ลี้ภัยในรัฐกะยา โดยเฉพาะด้านอาหารการกิน โดยเข้ามาดูแลจัดหาวัตถุดิบมาทำอาหารเพื่อให้เด็กเหล่านี้ ได้รับสารอาหารครบถ้วน ที่มาภาพ : Clean Yangon

ยังมี Clean Yangon องค์กรการกุศลที่เดิมถูกตั้งขึ้นเพื่อกิจกรรมรักษาความสะอาดในกรุงย่างกุ้ง เป็นอีกองค์กรหนึ่ง และเป็นองค์กรแรกๆจากภายนอก ที่ได้ส่งอาสาสมัครเดินทางขึ้นไปยังรัฐกะยา เพื่อให้ความช่วยเหลือเหล่าผู้ลี้ภัยค่ายที่ตั้งอยู่กลางป่า ภาพอาสาสมัครที่นำเครื่องบรรเทาทุกข์ขึ้นมามอบให้กับเหล่าผู้เคราะห์ร้าย ที่แทบทั้งหมดเป็นคนชรา สตรี และเด็ก ถูกเผยแพร่ผ่าน เพจ Clean Yangon อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2565

กิจกรรมหลักที่เหล่าอาสาสมัครของ Clean Yangon ทำมาโดยตลอด คือการสรรหาวัตถุดิบนำมาปรุงเป็นอาหารแจกจ่ายให้เหล่าเด็กๆในค่ายได้กิน เพราะการใช้ชีวิตอยู่กลางป่า ย่อมไม่ง่ายเลยสำหรับอาหารแต่ละมื้อที่จะมีสารอาหารจำเป็นครบถ้วน อาสาสมัครของ Clean Yangon มองเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้เข้ามารับบทบาทดูแล

นอกจากนี้ ทีมงาน Clean Yangon ยังได้จัดหาหนังสือเรียนมามอบให้กับเด็กๆ ช่วยกันทำโต๊ะ เก้าอี้ เพื่อให้เด็กๆได้ใช้นั่งเรียนหนังสือ นำแพทย์ พยาบาลอาสามาดูแลสุขภาพให้กับเหล่าผู้ลี้ภัยในค่าย รวมถึงจัดหาเสื้อกันหนาว และเสื้อฝนมาแจกจ่าย ในยามเปลี่ยนแปลงฤดูกาล

Clean Yangon ยังดูช่วยจัดหาหนังสือเรียน นำเสื้อกันฝน เสื้อหนาว มาแจกจ่าย รวมถึงจัดทีมแพทย์ พยาบาล มาช่วยดูแลสุขภาพให้กับเหล่าผู้ลี้ภัยในค่ายต่างๆของรัฐกะยา ที่มาภาพ : Clean Yangon

……

วันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ค่ายผู้ลี้ภัยจากการสู้รบแห่งหนึ่งในเมืองดีมอโซ มีการจัดงานวันรำลึกพระคุณพ่อแม่ เยาวชนที่อยู่ภายในค่ายได้ส่งตัวแทนขึ้นมาแสดงบนเวที มีเหล่าเพื่อนๆนั่งชมอยู่ข้างล่าง พ่อแม่ของพวกเขานั่งดูอยู่ด้านหลัง ช่วยสร้างรอยยิ้ม บรรเทาความทุกข์ระทมในจิตใจของเด็กๆเหล่านี้ไปได้ชั่วขณะ

แต่สถานการณ์สงครามภายในที่ยังคงมีการสู้รบรุนแรง ความขัดแย้งทางการเมืองในเมียนมาที่ยังไม่มีข้อสรุป ไม่มีใครตอบได้ว่า อนาคตของเยาวชนในรัฐกะยา ยังต้องเผชิญกับขวากหนามและความเจ็บปวดไปอีกนานสักเท่าใด…

การแสดงของเยาวชนในงานวันรำลึกพระคุณพ่อแม่ ซึ่งจัดขึ้นภายในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งในเมืองดีมอโซ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ที่มาภาพ : Kantarawaddy Times

  • “ห้องผ่าตัดเคลื่อนที่รัฐกะยา” ความ “หดหู่” ของเพื่อนบ้านฝั่งตรงข้ามแม่ฮ่องสอน
  • สถานการณ์ผู้หนีภัยชาวคะเรนนีจากรัฐคะยาสู่ชายแดนไทยด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน
  • ความท้าทายในการจัดการผู้อพยพเมียนมาหนีการสู้รบ หาพื้นที่ปลอดภัยในไทย