ThaiPublica > สู่อาเซียน > บทบาท “Yohei Sasakawa” กับการหยุดยิงในรัฐ “ยะไข่”

บทบาท “Yohei Sasakawa” กับการหยุดยิงในรัฐ “ยะไข่”

13 ธันวาคม 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ทหารกองทัพอาระกันออกมาช่วยชาวนาในยะไข่เกี่ยวข้าว หลังหยุดยิงกับกองทัพพม่าตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 ที่มาภาพ : Narinjara

ภาพเหล่าทหารจากกองทัพอาระกัน (Arakan Army : AA) ออกมาช่วยชาวนาในรัฐยะไข่เกี่ยวข้าว ที่สำนักข่าว Narinjara เผยแพร่ไว้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 ยืนยันว่า ขณะนี้สถานการณ์ในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่สงบลงแล้ว หลังกองทัพอาระกันและกองทัพพม่าตกลงหยุดยิงอย่างไม่เป็นทางการ ตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนของวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นมา

ข่ายสุขะ โฆษกกองทัพอาระกัน ให้สัมภาษณ์กับ Narinjara และ Development Media Group สองสำนักข่าวที่เน้นเสนอเรื่องราวของรัฐยะไข่ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ว่า ข้อตกลงหยุดยิงครั้งนี้ เป็นการหยุดเพื่อมนุษยธรรม (Humanitarian Pause) เพื่อให้ประชาชนในยะไข่ได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ สามารถเดินทางไปทำธุระยังที่ต่างๆ รวมถึงออกจากบ้านไปเก็บเกี่ยวผลผลิตของตนเองได้ เพราะช่วงนี้ ข้าวที่ชาวนาปลูกไว้กำลังออกรวงเหลืองอร่าม พร้อมให้เก็บเกี่ยว

อย่างไรก็ตาม โฆษกกองทัพอาระกันยืนยันว่า แม้ได้หยุดยิงกับกองทัพพม่าแล้ว แต่จุดยืนทางการเมืองของกองทัพอาระกันยังคงเป็นเช่นเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง…

ทั้ง Narinjara และ Development Media Group รายงานว่า ตั้งแต่เช้าของวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 การสัญจรหลายเส้นทางในยะไข่ ทั้งบนถนนและทางน้ำ ได้ฟื้นคืนมาใหม่อีกครั้ง

บริษัทเดินเรือรับ-ส่งผู้โดยสารในเส้นทางซิตต่วย-ระเตด่อง-บูตีด่อง กลับมาเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565, เส้นทางซิตต่วย-เป้าก์ตอ-มินเบีย เปิดให้บริการวันที่ 1 ธันวาคม 2565, เส้นทางซิตต่วย-มรัคอู เปิดให้บริการวันที่ 3 ธันวาคม 2565 ฯลฯ

เช้าวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2565 สะพานจั๊ตสิ่น บนถนนเชื่อมเมืองมินเบียกับเมืองเมโป่ง จังหวัดมรัคอู กลับมาเปิดให้รถทุกชนิดสัญจรข้ามไป-มาได้ หลังถูกปิดไปเกือบ 2 เดือนเต็ม ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2565

เรือโดยสารระหว่างซิตต่วย-ระเตด่อง-บูตีด่อง กลับมาวิ่งรับผู้โดยสารอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ที่มาภาพ : Myanmar Platform
สะพานจั๊ตสิ่นเชื่อมเมืองมินเบียกับเมืองเมโป่ง เปิดให้รถทุกชนิดข้ามไป-มาได้ตั้งแต่เช้าวันที่ 10 ธันวาคม 2565 หลังถูกปิดไป 2 เดือน ที่มาภาพ Development Media Group

โรงเรียนหลายแห่งที่ต้องปิดชั่วคราวตั้งแต่เดือนตุลาคม เพราะผู้ปกครองไม่กล้าให้ลูกๆ เดินทางไปเรียนหนังสือ ก็ประกาศว่าเตรียมจะกลับมาเปิดการเรียนการสอนใหม่

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ข่ายสุขะ โฆษกกองทัพอาระกัน แถลงว่า โรงเรียนพยาบาลของกองทัพอาระกันที่ต้องหยุดไปชั่วคราวในช่วงที่กองทัพอาระกันรบกับกองทัพพม่า ก็เตรียมจะกลับมาเปิดเรียนใหม่ด้วยเช่นกัน

……

ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2 ที่กองทัพอาระกันตกลงหยุดยิงอย่างไม่เป็นทางการกับกองทัพพม่า หลังสองฝ่ายเปิดฉากสู้รบกันอย่างดุเดือดมาตั้งแต่ปลายปี 2561

กองทัพอาระกันเป็นกองกำลังติดอาวุธของชาวยะไข่พุทธ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2552 ผู้บัญชาการปัจจุบัน เป็นนายทหารหนุ่มชื่อนายพล “ทุนเมียตไหน่”

จุดยืนและเป้าหมายของกองทัพอาระกันคือเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเอง สิทธิในการดูแล จัดการผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ รัฐชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเมียนมา รวมถึงลดบทบาทและอิทธิพลของกองทัพพม่าในพื้นที่เหล่านี้

ทุนเมียตไหน่ (คนกลาง) ผู้บัญชาการกองทัพอาระกัน ที่มาภาพ : กองทัพอาระกัน

กองทัพอาระกันได้ผูกสัมพันธ์เป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์หลายกลุ่มในเมียนมา

ช่วงเริ่มสร้างกองทัพใหม่ๆ ทหารของกองทัพอาระกันได้รับการฝึกฝนการสู้รบจากกองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) และได้รับการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์จากกองทัพโกก้าง (MNDAA) ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ตามชายแดนเมียนมา-จีน ในภาคเหนือของรัฐฉาน

กองทัพอาระกันจับมือกองทัพเอกราชคะฉิ่น กองทัพโกก้าง และกองทัพตะอั้ง (TNLA) ร่วมกลุ่มกันในนามพันธมิตรภาคเหนือ เริ่มปฏิบัติการสู้รบกับกองทัพพม่าในพื้นภาคเหนือของรัฐฉาน และบางส่วนในภาคมัณฑะเลย์กับรัฐคะฉิ่น ในกลางปี 2559

ทุกวันนี้ยังมีทหารกองทัพอาระกันจำนวนหนึ่ง ที่เคลื่อนไหวอยู่ในรัฐฉานในนามพันธมิตรภาคเหนือ

กองทัพอาระกันยังได้ส่งทหารบางส่วนเดินทางข้ามฟากไปยังรัฐกะเหรี่ยงในภาคตะวันออกซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศไทย เพื่อฝึกการรบกับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA)

ในรัฐยะไข่ กองทัพอาระกันเริ่มเปิดสงครามเต็มรูปแบบกับกองทัพพม่าตั้งแต่ปลายปี 2561 พื้นที่สู้รบส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือของรัฐยะไข่ต่อเนื่องขึ้นไปถึงตอนใต้ของรัฐชิน โดยเฉพาะในเมืองปะแลตวะ ติดชายแดนบังกลาเทศและอินเดีย

หลังสู้รบกับกองทัพพม่าอย่างดุเดือดมาได้ 2 ปี ต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดไม่กี่วัน กองทัพอาระกันกับกองทัพพม่าได้ตกลงหยุดยิงกันอย่างไม่เป็นทางการครั้งแรก สองฝ่ายได้ส่งตัวแทนเดินทางขึ้นไปเจรจาสันติภาพระหว่างกันที่เมืองป๋างซาง เมืองหลวงของพื้นที่ปกครองตนเองกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ชายแดนรัฐฉาน-จีน ในฐานะพื้นที่เป็นกลาง ทำให้บรรยากาศในรัฐยะไข่กลับคืนสู่ความสงบ

เมื่อ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย นำกำลังออกมาทำรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพอาระกันวางเฉย แม้รัฐบาลเงา (NUG) ที่จัดตั้งขึ้นโดยสมาชิกพรรค NLD พยายามชักชวนกองทัพอาระกันให้เข้าร่วมเคลื่อนไหวสู้รบกับกองทัพพม่า แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากทุนเมียตไหน่ ทำให้ในช่วงเวลา 1 ปีเศษหลังการยึดอำนาจ ความเคลื่อนไหวต่อต้านทหารพม่าในรัฐยะไข่เกิดขึ้นน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ

แต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 กองทัพอาระกันกับกองทัพพม่า ก็กลับมาสู้รบกันใหม่อีกครั้ง…

สภาพค่ายทหารอาระกัน ในจังหวัดผาปูน รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งถูกเครื่องบินรบพม่าทิ้งระเบิดทำลาย เมื่อตอนเที่ยงครึ่งของวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ที่มาภาพ : กองทัพอาระกัน

มูลเหตุของสงครามครั้งใหม่ ข่ายสุขะ โฆษกกองทัพอาระกัน บอกว่าเป็นการตอบโต้กองทัพพม่าแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน เพราะก่อนหน้านั้น 2 สัปดาห์ ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 เครื่องบินรบพม่า 2 ลำได้บินไปทิ้งระเบิดค่ายของทหารกองทัพอาระกันที่ถูกส่งไปฝึกการรบร่วมกับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง ในป่าริมแม่น้ำสาลวิน เขตจังหวัดผาปูน ตรงข้ามกับอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทำให้ทหารอาระกันเสียชีวิต 6 นาย ได้รับบาดเจ็บอีกหลายนาย ส่วนค่ายทหารถูกทำลายเสียหายเรียบ

ตลอด 4 เดือน ที่สองฝ่ายกลับมารบกันรอบใหม่ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนในรัฐยะไข่ ต้องประสพกับความทุกข์ยาก ขาดแคลนข้าวปลาอาหาร เนื่องจากหลายพื้นที่ หลายเส้นทาง ทั้งทางบกและทางน้ำ ไม่สามารถเดินทางได้ ถนนหลายสายถูกปิด ถนนบางสายไม่มีผู้คนกล้าเดินทางเพราะมีการตั้งด่านตรวจเข้ม บริษัทเดินเรือที่ให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารในแม่น้ำลำคลองหลายสายงดให้บริการ ด้วยเหตุผลทางด้านความปลอดภัย ชาวบ้านที่เจ็บป่วย หรือได้รับบาดเจ็บ ไม่สามารถเดินทางไปหาหมอที่โรงพยาบาลได้ ชาวบ้านในพื้นที่สู้รบหลายพันคนละทิ้งบ้านเรือน ไร่นา หนีไปอาศัยอยู่ตามวัดหรือค่ายผู้ลี้ภัย มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก

เมื่อสองกองทัพกลับมาตกลงหยุดยิงกันอีกครั้ง แม้จะไม่เป็นทางการ แต่ผู้ที่อุ่นใจมากที่สุด ก็คือชาวบ้านในรัฐยะไข่นั่นเอง

……

ตำแหน่งที่ตั้งรัฐยะไข่ ในอ่าวเบงกอล

รัฐยะไข่เป็นแหล่งรวมผลประโยชน์มหาศาลของเมียนมา ทั้งทางด้านการทหารและด้านเศรษฐกิจ

บนเกาะมะเด ปากแม่น้ำตานซิด จังหวัดเจ้าก์ผิ่ว เป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือดะญะวดี ของกองทัพเรือพม่า นอกจากเรือผิวน้ำแล้ว ที่นี่ยังเป็นฐานเรือดำน้ำ ซึ่งปัจจุบันมีเรือดำน้ำที่ได้บรรจุเข้าประจำการในกองทัพเรือพม่าแล้ว 2 ลำ…

จังหวัดเจ้าก์ผิ่ว ยังเป็นต้นทางของท่อแก๊สและท่อน้ำมันที่ถูกวางคู่ขนานบนบก จากรัฐยะไข่ ผ่านภาคมะกวย มัณฑะเลย์ มีปลายทางที่ชายแดนเมืองน้ำคำ จังหวัดหมู่เจ้ รัฐฉาน จากนั้นข้ามเข้าสู่จีนที่เมืองรุ่ยลี่ เขตปกครองตนเองชนชาติไตและจิ่งพัว เต๋อหง มณฑลยูนนาน

ท่อน้ำมันถูกวางไปสิ้นสุดที่นครคุนหมิง เมืองเอกของยูนนาน ส่วนท่อแก๊สวางต่อจากคุนหมิงไปถึงมณฑลกุ้ยโจว และเขตปกครองตนเองกว่างสี จ้วง

ที่ตั้งโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว ที่มาภาพ : Myanmar Survey Research

ท่อแก๊สยาวรวม 2,520 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนที่อยู่ในเมียนมา 793 กิโลเมตร ในจีน 1,727 กิโลเมตร ตามแผนที่วางไว้ แก๊สจะถูกส่งผ่านท่อเข้าไปในจีนปีละ 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนท่อน้ำมันยาวรวม 2,402 กิโลเมตร เป็นส่วนที่อยู่ในเมียนมา 771 กิโลเมตร ในจีน 1,631 กิโลเมตร โดยจีนซื้อน้ำมันจากประเทศในตะวันออกกลาง บรรทุกเรือนำมาถ่ายส่งผ่านท่อที่เจ้าก์ผิ่วเข้าไปยังจีน ปีละ 22 ล้านตัน

ท่อแก๊สสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 และเริ่มส่งแก๊สผ่านท่อตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ส่วนท่อน้ำมันสร้างเสร็จและเริ่มส่งน้ำมันในเดือนมิถุนายน 2560…

บนเกาะรานบยีและมะเด ยังเป็นที่ตั้งของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว มูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์ ที่รัฐบาลเมียนมาให้สัมปทานแก่ CITIC Consortium Myanmar Port Investment (CITIC Consortium) ไว้เมื่อปี 2558

CITIC Consortium เป็นกิจการร่วมทุนของ 6 บริษัท ประกอบด้วย CITIC Group บริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาลจีน หรือชื่อเดิมคือ China International Trust Investment Corporation, China Harbour Engineering, China Merchants Holding(International), TEDA Investment Holding, Yunnan Construction Engineering Group (YNJG) และกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์จากประเทศไทย

ตามโครงการบนเกาะรานบยีซึ่งเป็นทางผ่านของท่อแก๊สและน้ำมัน จะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งหนึ่งบริเวณฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะ ส่วนท่าเรือน้ำลึกอีกแห่งหนึ่งจะถูกสร้างบริเวณชายหาดทางตอนเหนือของเกาะมะเด ถัดจากท่าเรือเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ จากนั้นจะมีการตัดถนนและสร้างสะพานยาว 15 กิโลเมตร เชื่อม 2 พื้นที่เข้าด้วยกัน

วันที่ 23 กันยายน 2565 Development Media Group รายงานว่า Myanmar Survey Research(MSR) บริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อมของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว ได้เริ่มต้นกระบวนประชาพิจารณ์ เพื่อทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESIA) ของโครงการนี้ให้เสร็จภายในกลางปี 2566

ตามกำหนดการ MSR ต้องทำ ESIA ให้เสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2566 และเสนอต่อรัฐบาลเมียนมาภายในสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม เมื่อรัฐบาลอนุมัติ ESIA แล้ว การก่อสร้างก็จะเริ่มขึ้น

เจ้าก์ผิ่วยังเป็นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียที่สั้นที่สุดของจีนตามโครงข่าย “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา” โดยจีนมีแผนสร้างทางรถไฟจากเมืองหมู่เจ้ ชายแดนรัฐฉาน ผ่านมัณฑะเลย์ โดยมีปลายทางอยู่ที่เมืองเจ้าก์ผิ่ว…

  • เดินหน้าระเบียงเศรษฐกิจ “จีน-เมียนมา” กรุยเส้นทางสั้นที่สุดสู่มหาสมุทรอินเดีย
  • รายละเอียดโครงการขนส่งหลายรูปแบบคาลาดาน

    เหนือขึ้นไปจากเจ้าก์ผิ่ว ที่จังหวัดซิตต่วย เมืองหลักของรัฐยะไข่ เป็นที่ตั้งของ โครงการ “ขนส่งหลายรูปแบบคาลาดาน” (Kaladan Multi-Modal Transit Transport Project : KMTT) โครงข่ายคมนาคมเพื่อสนับสนุนการค้าระหว่างเมียนมาและอินเดีย มูลค่า 484 ล้านดอลลาร์

    รัฐบาลเมียนมาและอินเดียได้ลงนามกรอบความร่วมมือKMTT ไว้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 โดยโครงการแบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย

    1. เชื่อมการขนส่งทางน้ำระหว่างท่าเรือขนส่งสินค้าซิตต่วย บริเวณปากแม่น้ำคาลาดาน กับท่าเรือกัลกัตตาของอินเดีย ระยะทาง 420 ไมล์ทะเล ใช้เวลาในการเดินเรือประมาณ 2 วัน

    2. เชื่อมการขนส่งในภาคพื้นทวีปผ่านแม่น้ำคาลาดานจากท่าเรือซิตต่วยสู่เมืองปะแลตวะ ทางตอนใต้ของรัฐชิน ระยะทาง 160 กิโลเมตร

    3. สร้างถนนเชื่อมเมืองปะแลตวะ ข้ามชายแดนไปสู่เมือง Aizawl รัฐมิโซรัม ของอินเดีย ระยะทางประมาณ 169 กิโลเมตร

    โครงการ KMTT เริ่มต้นก่อสร้างในปี 2560 ก่อนการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้งการสร้างท่าเรือน้ำลึกในเมืองซิตต่วย และถนนจากเมืองปะแลตวะข้ามชายแดนเข้าไปในรัฐมิโซรัม มีความคืบหน้าไปมากแล้ว อย่างไรก็ตาม หลังการรัฐประหาร ข่าวความเคลื่อนไหวของโครงการนี้ปรากฏออกมาไม่มากนัก

    Eleven Media Group มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2565 Bibekananda Bhattamishra กงสุลใหญ่อินเดีย ประจำรัฐยะไข่ ได้จัดประชุมกลุ่มนักธุรกิจในรัฐยะไข่ ที่โรงแรม รอยัล ซิตต่วย รีสอร์ท

    ผู้เข้าประชุมประกอบด้วย ตัวแทนและผู้บริหารของสมาคมผู้ค้าและผู้ประกอบการอาระกัน สมาคมขนส่งสินค้าทางทะเล สมาคมผู้ค้าข้าวอาระกันฯลฯ นอกจากนี้ยังมีตัวแทนนักธุรกิจรุ่นใหม่ เจ้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของรัฐยะไข่อีกหลายคน

    ในที่ประชุม Bibekananda Bhattamishra ได้กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการท่าเรือขนส่งสินค้าซิตต่วย มูลค่า 120 ล้านดอลลาร์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอินเดียว่า การก่อสร้างใกล้เสร็จสมบูรณ์ พร้อมเปิดให้บริการแก่เรือขนส่งสินค้า ขนาดบรรทุก 5,000-6,000 ตัน ได้ในเร็วๆ นี้…

    ด้านการท่องเที่ยว รัฐยะไข่เป็นที่ตั้งของชายหาดงาปาลี ชายหาดที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดในเมียนมา ในเขตจังหวัดตันตวยทางภาคใต้ของรัฐ

    ขึ้นไปในตอนกลางของรัฐ ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำคาลาดาน เหนือจากปากแม่น้ำที่เมืองซิตต่วยขึ้นไปประมาณ 70 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของเมืองมรัคอู อารยธรรมเก่าแก่อายุกว่า 500 ปี

    วันที่ 24 กันยายน 2562 กระทรวงกิจการศาสนาและวัฒนธรรม เมียนมา ได้ยื่นเรื่องต่อองค์การยูเนสโก เพื่อขอขึ้นทะเบียนเมืองมรัคอูเป็นมรดกโลก…
    ……

    ย้อนกลับไปหลังจากกองทัพอาระกันกับกองทัพพม่าตกลงหยุดยิงกันรอบแรกในเดือนพฤศจิกายน 2563

    วันที่ 1 มกราคม 2564 กองทัพอาระกันได้ปล่อยตัวเชลยที่เคยจับกุมไว้ระหว่างการสู้รบก่อนหน้านั้นคืนแก่กองทัพพม่า ประกอบด้วย ผู้สมัคร ส.ส. จากพรรค NLD 3 คน และนายทหารพม่าอีก 3 นาย

    ในการแถลงข่าวรับตัวประกันที่ถูกปล่อยในตอนเย็นวันที่ 1 มกราคม ซึ่งจัดขึ้นที่กองบัญชาการภาคตะวันตกของกองทัพพม่าในเมืองซิตต่วย ในห้องแถลงข่าว ได้มีการกล่าวขอบคุณ Yohei Sasakawa โดยระบุว่าเขาคือผู้ที่ผลักดันให้เกิดการหยุดยิงและเกิดการเจรจากันระหว่างกองทัพอาระกันกับกองทัพพม่า จนทำให้มีการปล่อยตัวประกันในครั้งนี้

    และเช่นเดียวกัน การหยุดยิงระหว่างกองทัพอาระกันและกองทัพพม่ารอบใหม่ ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 สื่อหลายแห่ง โดยเฉพาะ Narinlara และ Popular News Journal รายงานตรงกันว่า ผู้ที่มีบทบาทให้ทั้ง 2 ฝ่าย ตกลงหยุดยิงกันครั้งนี้ ยังคงเป็น Yohei Sasakawa คนเดิม…

    Yohei Sasakawa เป็นประธานมูลนิธิ The Nippon Foundation ผู้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการสันติภาพเมียนมา ที่มาภาพ : Narinjara

    Yohei Sasakawa คือใคร…?

    โดยตำแหน่ง Yohei Sasakawa เป็นประธานมูลนิธิ The Nippon Foundation องค์กรของประเทศญี่ปุ่น ที่ได้เข้าไปมีบทบาทให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมา มานานหลายปี

    The Nippon Foundation เข้าไปในเมียนมาครั้งแรกตั้งแต่ปี 2519 เริ่มจากการเข้าไปช่วยกำจัดการระบาดของโรคเรื้อนในหมู่ประชาชนตามชนบท ต่อมาได้ขยายบทบาทเข้าไปช่วยพัฒนาการศึกษา การเกษตร และช่วยเหลือผู้พิการกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ตามพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในรัฐกะเหรี่ยง

    หมู่บ้านเลเกก่อ จังหวัดเมียวดี ตรงข้ามกับบ้านแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเคยเป็นสมรภูมิรบรุนแรงระหว่างทหารพม่ากับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ก็ถูกสร้างขึ้นโดย The Nippon Foundation ในปี 2558 สมัยประธานาธิบดีเตงเส่ง เพื่อให้เป็นที่อยู่ถาวรของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบที่เกิดขึ้นในรัฐกะเหรี่ยง ช่วงก่อนหน้านั้น

    ปี 2556 ในยุคของประธานาธิบดีเตงเส่ง The Nippon Foundation ได้เปิดสำนักงานถาวรในเมียนมาขึ้นอย่างเป็นทางการ และในปีเดียวกัน Yohei Sasakawa ประธาน The Nippon Foundation ก็ได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลญี่ปุ่น ให้เป็นทูตพิเศษของด้านการปรองดองในเมียนมา

    เป็นจุดเริ่มต้นที่ Yohei Sasakawa และ The Nippon Foundation ได้เข้าไปมีบทบาทในกระบวนการสันติภาพเมียนมา ที่ประธานาธิบดีเตงเส่ง พยายามผลักดันให้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงในยุคของเขา

    ผลงานสำคัญที่ประธานาธิบดีเตงเส่งภาคภูมิใจ คือเจรจาให้ผู้นำกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 8 กลุ่ม มาเซ็นข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลเมียนมา ในวันที่ 15 ตุลาคม 2558

    ในพิธีเซ็น NCA มีทูตจากหลายประเทศ ตัวแทนจากรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านมาร่วมเป็นสักขีพยาน

    Yohei Sasakawa ได้เข้าร่วมในฐานะตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่น และยังได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์แสดงความยินดีด้วย

    ประธานาธิบดีเตงเส่งเป็นอดีตนายทหารยศพลเอกของกองทัพพม่า ที่สืบทอดอำนาจต่อจาก พล.อ. โซวิน ในตำแหน่งเลขาธิการสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (SPDC) และนายกรัฐมนตรีเมียนมา คนที่ 11 (2550-2553)

    เมื่อ Yohei Sasakawa ได้เข้าทำงานในกระบวนการสันติภาพเมียนมาในยุคของประธานาธิบดีเตงเส่ง (2554-2558) เขาจึงมีความสนิทสนมกับผู้นำทหารหลายคนในกองทัพพม่า โดยเฉพาะ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย และยังได้รับความเชื่อถือจากผู้นำกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์หลายกลุ่ม

    หลังพรรค NLD ชนะเลือกตั้งได้ขึ้นเป็นรัฐบาลพรรคเดียวในปี 2559 อองซานซูจี ผู้นำพรรค NLD ได้รื้อโครงสร้างบุคลากรในกระบวนการสันติภาพที่เคยถูกแต่งตั้งขึ้นสมัยประธานาธิบดีเตงเส่ง

    เดิมประธานาธิบดีเตงเส่งเคยใช้คณะทำงานที่ใช้ชื่อว่า “ศูนย์กลางสันติภาพเมียนมา” (Myanmar Peace Center : MPC) ซูจีได้ยุบ MPC ทิ้ง และตั้ง “ศูนย์สันติภาพและการปรองดองแห่งชาติ” (National Reconciliation and Peace Centre : NRPC) ขึ้นทำหน้าที่แทน โดยซูจีดำรงตำแหน่งประธาน NRPC ด้วยตนเอง

    ว่ากันว่า กระบวนการเจรจาสันติภาพในยุคอองซานซูจีไม่ค่อยได้รับความไว้วางใจจากผู้นำกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์หลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่เซ็น NCA ไปแล้ว และกลุ่มที่ยังไม่ได้เซ็น

    ปี 2560 รัฐบาลเมียนมาของพรรค NLD ใช้นโยบายรุนแรงในการปราบปรามชาวโรฮิงญา ในรัฐยะไข่ อันเป็นที่มาให้ถูกนำขึ้นไปฟ้องในศาลโลกข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

    ปี 2562 รัฐบาลเมียนมาโดยอองซานซูจี พยายามล้างภาพลบดังกล่าวด้วยการจัดงาน Rahhine Investment Fair ขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ มีการเชิญชวนนักลงทุนจากหลายประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นให้เข้าไปลงทุนในรัฐยะไข่

    หลังตกลงหยุดยิงรอบแรกในเดือนพฤศจิกายน 2563 กองทัพอาระกันได้ปล่อยตัวประกันจำนวนหนึ่งที่เคยจับไว้ ในวันที่ 1 มกราคม 2564 ที่มาภาพ : กองทัพพม่า

    แต่ในรัฐยะไข่ขณะนั้นกำลังมีการสู้รบรุนแรงระหว่างกองทัพพม่ากับกองทัพอาระกัน ที่ปะทุขึ้นในปลายปี 2561 การกระตุ้นการลงทุนในยะไข่ จึงต้องทำให้พื้นที่นี้สงบลงให้ได้ก่อน

    รัฐบาลของซูจีใช้วิธี “บีบคั้น กดดัน” ทุนเมียตไหน่ ผู้นำกองทัพอาระกัน โดยให้ขึ้นบัญชีกองทัพอาระกันเป็นกลุ่มก่อการร้าย และสั่งจับกุมเหล่าเครือญาติและผู้ใกล้ชิดของทุนเมียตไหน่ไปคุมขังและดำเนินคดี

    วิธีการบีบคั้น กดดันลักษณะนี้ ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ในยะไข่สงบลง ตรงข้ามการสู้รบกลับรุนแรงขึ้น จนกองทัพพม่าซึ่งไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวทางเช่นนี้ของรัฐบาล ต้องเดินหน้ากระบวนการสันติภาพของตนเอง

    ปลายปี 2563 เครื่องบินของกองทัพพม่าได้บินพา Yohei Sasakawa ไปยังรัฐยะไข่หลายครั้ง แต่ละครั้ง Yohei Sasakawa ได้รับการต้อนรับอย่างดี ทั้งจากทหารในพื้นที่ และตัวแทนกองทัพอาระกัน

    ตามมาด้วยข้อตกลงหยุดยิงอย่างไม่เป็นทางการของ 2 ฝ่าย ในต้นเดือนพฤศจิกายน

    หลังการรัฐประหารเพียง 1 เดือนเศษ วันที่ 11 มีนาคม 2564 สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) เมียนมา ได้ถอดชื่อกองทัพอาระกันออกจากบัญชีกลุ่มก่อการร้าย สั่งปล่อยตัวและยุติการดำเนินคดีกับน้องชายและน้องเขยของทุนเมียตไหน่ จากนั้นเริ่มกระบวนการเจรจาสันติภาพกับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ทั่วประเทศอีกครั้ง

    วันที่ 5 มีนาคม 2565 Yohei Sasakawa ประชุมทางออนไลน์กับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ถัดจากนั้น ในวันที่ 10 มีนาคม Yohei Sasakawa นัดผู้นำกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม ไปประชุมกันที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่

    ผู้เข้าประชุม ประกอบด้วย พล.อ. เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ซอ มูตู เซโพ ประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และ คู อู เร ประธานพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง (KNPP)

    นอกจากนี้ ยังมี อู อ่องไหน่อู และ อู ละ หม่อง ซึ่งเคยเป็นกรรมการของศูนย์กลางสันติภาพเมียนมา (Myanmar Peace Center : MPC) องค์กรที่เคยมีบทบาทในกระบวนการสันติภาพในยุคประธานาธิบดีเตงเส่ง มาร่วมประชุมด้วย

    เย็นวันเดียวกัน (10 มีนาคม 2565) Yohei Sasakawa ได้ประชุมกับตัวแทนคณะทำงานกระบวนการสันติภาพ (Peace Process Steering Team : PPST) องค์กรตัวแทน 10 กองกำลังชาติพันธุ์ที่ได้เซ็น NCA กับรัฐบาลเมียนมาไปแล้ว

    ตัวแทน PPST ที่เข้าประชุม ประกอบด้วย ขุน อ๊กกา ประธานองค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ (PNLO) พ.อ. จายเงิน เลขาธิการ RCSS ดอ มิซู บวิ่น กรรมการกลางแนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า (ABSDF)

    มีการนำเสนอภาพข่าวการประชุมครั้งนี้ในสื่อของเมียนมา แต่ไม่มีรายงานเชิงลึกถึงผลการประชุมว่ามีรายละเอียดเช่นไร

    Yohei Sasakawa เดินทางไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งในเมืองซิตต่วย หลังกองทัพอาระกันและกองทัพพม่าหยุดยิงกันแล้ว ที่มาภาพ : Popular News Journal

    ……

    วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 หลังการหยุดยิงระหว่างกองทัพอาระกันกับกองทัพพม่ารอบล่าสุด เพิ่งเริ่มต้นมาได้ 5 วัน Popular News Journal รายงานภาพข่าว Yohei Sasakawa เดินทางไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยจากการสู้รบแห่งหนึ่งในเมืองซิตต่วย

    Yohei Sasakawa เดินดูพื้นที่รอบๆค่าย พูดคุยกับเหล่าผู้อพยพ โดยเฉพาะเด็กๆ จากนั้นได้บริจาคข้าวสาร 60,000 กระสอบ และข้าวของเครื่องใช้จำเป็นให้กับค่ายแห่งนี้…