ThaiPublica > สู่อาเซียน > สถานการณ์ผู้หนีภัยชาวคะเรนนีจากรัฐคะยาสู่ชายแดนไทยด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน

สถานการณ์ผู้หนีภัยชาวคะเรนนีจากรัฐคะยาสู่ชายแดนไทยด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน

24 มิถุนายน 2023


ศรีนาคา เชียงแสน รายงาน

บนเส้นทางป่าเขาด้านตะวันตก ท่ามกลางสายฝนแผ่กระจายหนาทึบจนแทบมองไม่เห็นหนทางข้างหน้าได้ถนัดนัก การจะก้าวเดินไปเบื้องหน้าแต่ละก้าว บนเส้นทางป่าเขารกทึบเช่นนี้จึงเต็มไปด้วยความยากลำบาก ต้องใช้ความพยายามมากกว่าปกติ ไหนจะข้าวของสัมภาระที่อยู่บนหลัง ไหนจะลูกเด็กเล็กแดง คนเฒ่าคนแก่และญาติพี่น้องที่เจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บมาจากภัยสงคราม ที่ต้องประคับประคองหอบหิ้วดูแลกันมาตลอดทาง สุดแสนจะเหน็บหนาว เหนื่อยล้า หดหู่และหิวโหย… แต่ความทุกข์ยากเจ็บปวดเหล่านี้ ก็ไม่อาจทำให้พวกเขาหยุดพักที่ใดได้นานนัก

นี่คือภาพของขบวนชาวคะเรนนีที่กำลังอพยพหนีตายจากภัยสงคราม ที่กำลังตามไล่ล่าเอาชีวิตพวกเขา ไม่มีที่ใดในดินแดนบ้านเกิดจะปลอดภัย พวกเขาต้องทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง บ้านเรือน ทรัพย์สิน ที่ทำกิน แม้กระทั่งความหวังในชีวิตไว้ข้างหลัง พยายามข้ามฝั่งแม่น้ำสาละวินมาทางตะวันออก มุ่งหน้าสู่ชายแดนไทยด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเอาชีวิตรอดจากภัยสงครามครั้งนี้ให้ได้ ไม่มีใครบอกได้ว่าหยดน้ำที่อาบแก้มของพวกเขาเหล่านี้คือสายฝนหรือหยาดน้ำตา…

ผู้อพยพคะเรนนี

สงครามไม่เคยปรานีใคร

ในวันที่โลกพัฒนามาถึงยุคสมัยใหม่เช่นนี้แล้ว ผู้คนยังจะต้องหยิบจับอาวุธขึ้นมาเข่นฆ่าล้างผลาญกันอยู่อีก สงครามและการฆ่าฟันยังคงเกิดขึ้นแทบทุกมุมของโลก ชาวคะเรนนีมิได้ปรารถนาสงครามใดๆ พวกเขาอยากมีชีวิตท่ามกลางธรรมชาติสวยงามที่บรรพบุรุษมอบไว้ให้ อย่างมีสันติสุข อยากมีชีวิตที่ดี มีการศึกษา และความเจริญทัดเทียมกับเพื่อนบ้าน แต่ตลอด 70 ปีของการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชีวิต พวกเขากลับไม่ได้รับการเหลียวแลตอบสนองจากกลุ่มชาติพันธุ์บะหม่า ที่ครอบครองดินแดนของเมียนมาเอาไว้ทั้งหมด

คะเรนนี หรือที่คนไทยทั่วไปเรียกพวกเขาว่ากะเหรี่ยงแดง เคยเป็นรัฐเอกราชรัฐเล็กๆ ในพื้นที่ที่เรียกว่ารัฐคะยา มีระบบปกครองตนเองด้วยระบบกษัตริย์มานาวนาน ในยุคที่อังกฤษเข้ามาปกครองในฐานะเจ้าอาณานิคม คะเรนนีก็ยังถือความเป็นรัฐอิสระเรื่อยมา จนกระทั่งนายพลเนวินได้ใช้กำลังที่มีขนาดใหญ่กว่าเข้ายึดครอง และผนวกให้รัฐคะยาเป็นเขตปกครองภายใต้ระบบสาธารณรัฐฯ

นับแต่บัดนั้น ชาวคะเรนนีลุกขึ้นจับอาวุธเข้าต่อสู้กับทหารเมียนมาเรื่อยมาในนามพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni National Progressive Party หรือ KNPP) มีกองกำลังติดอาวุธของตัวเองเรียกว่ากองทัพคะเรนนี (Karenni Army หรือ KA) มีนายพลบีทู เป็นผู้บัญชาการกองกำลังคะเรนนี ตั้งฐานที่มั่นอยู่ตามพื้นที่ป่าเขาตลอดแนวสองฝั่งแม่น้ำสาละวิน แต่ปัจจุบันต้องถอยร่นมาอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนไทยด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่ชาวกะเหรี่ยงแดงลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเอกราชของตนเองจากเมียนมาอย่างทรหด แม้จะเป็นชนกลุ่มน้อยในรัฐเล็กๆ มีประชากรไม่มากนัก และมีกำลังทหารของตนเองไม่มากนัก แต่พวกเขากลับมีความมุ่งมั่นและแน่วแน่ในแนวทาง ไม่เคยไขว้เขวที่จะเข้าร่วมเจรจายอมสงบศึกกับทหารเมียนมาเพื่อแลกกับผลประโยชน์ใดๆ เหมือนกองกำลังชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆ

นายพลบีทู ผู้บัญชาการกองทัพคะเรนนี เคยประกาศตัวในวันสถาปนากองทัพว่า นี่จะเป็นสงครามครั้งสุดท้ายของพวกเรา ขอให้สงครามครั้งนี้จบลงโดยเร็วด้วยวิธีการที่ผ่านการเจรจาอย่างสันติ อย่าถึงขั้นต้องลงเอยด้วยการสูญเสียถึงขั้นล้างชาติล้างเผ่าพันธุ์กันอีกเลย…

การต่อสู้ในสงครามรอบใหม่ เริ่มก่อตัวและเด่นชัดขึ้นหลังจากคณะทหารเมียนมาทำรัฐประหารเข้าปกครองประเทศเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นับจากนั้นมา ชาวโลกก็จับจ้องไปที่รัฐคะยากันมากขึ้น เนื่องจากพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี และกองทัพคะเรนนี กลายเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มแรกที่ออกมาประกาศตัวไม่ยอมรับการเข้ามายึดอำนาจของทหารเมียนมา และยังใช้พื้นที่ตัวเองเป็นฐานที่มั่นในระยะแรกให้กับรัฐบาลพลัดถิ่นในนามรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government หรือ NUG) และที่สำคัญคือ กองทัพคะเรนนีเปิดค่ายของตัวเอง เป็นค่ายรองรับคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่จำนวนมากที่ต่อต้านรัฐบาลทหาร แล้วหลบหนีเข้าไปฝึกกำลังอาวุธ จัดตั้งเป็นกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (The People’s Defense Froce หรือ PDF) ออกมาปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ทหารเมียนมา ทำให้ผู้นำทหารเมียนมาโกรธแค้นฝังใจ และประกาศชัดเจนว่าจะกวาดล้างคะเรนนีให้สิ้นซาก

ในระยะแรก ทหารเมียนมาต้องเปิดศึกพร้อมกันหลายด้าน แต่สุดท้ายเมื่อเริ่มเข้าสู่เดือนมกราคม 2565 ทหารเมียนมาก็ระดมสรรพกำลังทางทหารครั้งใหญ่ทุ่มเข้าโจมตีในพื้นที่รัฐคะยาอย่างหนัก มีการโจมตีพื้นที่เขตเมืองโดยเฉพาะจังหวัดลอยก่อ โดยเฉพาะในเมืองลอยก่อและเมืองดีมอโซว์ รัฐคะยา เป็นการโจมตีของกองกำลังที่มีพลานุภาพทางอาวุธที่เหนือกว่าหลายเท่า เป็นการโจมตีแบบหว่านแห ไม่แยกพื้นที่ทหารหรือพลเรือนของทหาร เมียนมามีเจตนาต้องการกวาดล้างกระเหรี่ยงแดงให้สิ้นซาก มีการยิงปืนใหญ่และทิ้งระเบิดถล่มเมืองทั้งกลางวันและกลางคืนต่อเนื่องหลายวัน ส่งผลให้ชาวบ้านต้องอพยพหนีภัยการสู้รบไปหลบอยู่ตามพื้นที่เขตชนบท พื้นที่ป่าเขา และค่ายผู้อพยพชั่วคราวหลายจุดที่ตั้งกระจายอยู่ในพื้นที่ (กลายสภาพเป็นผู้หนีภัยสงครามภายในประเทศ โดยหลบหนีอยู่ภายในประเทศเมียนมา ยังไม่เดินทางข้ามพรมแดนนออกมานอกประเทศ)

จากการสำรวจตัวเลขขององค์กรผู้ผลัดถิ่นในคะยา พบว่านับจากการเปิดศึกใหญ่เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 เป็นต้นมา ยอดชาวบ้านที่ต้องการเป็นผู้ผลัดถิ่นภายใน มีประมาณมากกว่า 2 แสนคน

ศึกใหม่ใกล้ชายแดนผลักดันผู้อพยพข้ามแดนสู่ไทย

นับจากเช้ามืดของวันที่ 13 มิถุนายน 2566 เป็นต้นมา ศึกสงครามครั้งใหม่ที่ดุเดือดได้เกิดขึ้นอีกครั้งใกล้ๆ พรมแดนของประเทศไทยด้าน จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อกองทัพคะเรนนีได้สนธิกำลังกับกลุ่มพันธมิตร บุกเข้าโจมตีฐานที่มั่นของทหารเมียนมาในพื้นที่ เพื่อกดดันให้ทหารเมียนมาถอนกำลังออกจากพื้นที่ยุทธศาสตร์ของตน

จากการตรวจสอบรายละเอียด พบว่ากองกำลังที่เข้าปฏิบัติการในครั้งนี้ คือกองกำลังของแนวร่วมปลดปล่อยประชาชนแห่งชาติคะเรนนี (Karenni Nation People’s Liberation Front หรือ KNPLF) นำโดย พ.ท. ทุนจ่อ และ พ.ท. ทุนส่วย ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ที่บ้าน บ.ห้วยทราย จ.แม่แจ๊ะ รัฐคะยา สหภาพเมียนมา เป็นกองกำลังหลัก โดยได้มีการสนธิกำลังกับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน และกองกำลังกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army หรือ KNLA) แบ่งกำลังเข้าโจมตีฐานที่มั่นยุทธศาสตร์สำคัญของทหารเมียนมา (กองพันเคลื่อนที่เร็ว ที่ 430) ในพื้นที่พร้อมกันจำนวน 4 ฐาน ได้แก่ 1) ฐานผาตั้ง-ตอละ 2) ฐานช่องทางเสาหิน 3) ฐานแม่ตะนอย และ 4) ฐานแม่แจ๊ะ โดยปฏิบัติการส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จ ฝ่ายคะเรนนีและพันธมิตรสามารถยึดฐานที่มั่นของทหารเมียนสามฐานแรกได้สำเร็จ

หลังเพลี่ยงพล้ำเสียฐานที่มั่นสำคัญไป ทหารเมียนมาใช้การตอบโต้ด้วยการระดมกำลังทางอากาศเข้าโจมตีกลับอย่างรุนแรง โดยไม่เลือกว่าเป็นพื้นที่สู้รบ พื้นที่ทางการทหารหรือพลเรือน เรียกว่าเป็นการโจมตีแบบกวาดล้างอย่างไม่เลือกหน้า ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่สู้รบและพื้นที่ใกล้เคียงพลอยได้รับผลกระทบ ต้องตัดสินใจอพยพหนีภัยการสู้รบ หอบลูกหอบหลานหนีข้ามเส้นพรมแดนเพื่อเข้าหลบภัยในเขตประเทศไทย

จากข้อมูลของฝ่ายความมั่นคง (เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 66 เวลา 18.30 น.)ได้สรุปยอดผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา(ผภสม.)(เป็นชื่อที่ทางหน่วยราชการไทยใช้เรียกผู้อพยพอย่างเป็นทางการ) ที่เข้ามาพักหนีภัยในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว 4 แห่ง ที่ทางการไทยจัดไว้ในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง และ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน มีรายละเอียดดังนี้

1. อ.แม่สะเรียง

    -พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว​ บ้านเสาหิน หมู่ที่ 1 ต.เสาหิน มี ผภสม. จำนวน 3,270 คน​
    -พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว​ บ้านอุนู  หมู่ที่​ 4​ ต.แม่​คง​ มี​ ผภสม.​ ​ จำนวน​ 294 คน
    -พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บ้านจอปร่าคี  หมู่ที่​ 9 ต.แม่​คง​ มี​ ผภสม.​ จำนวน​ 489 คน

2. อ.ขุนยวม

    -พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว​ บ้านพะแข่ หมู่ที่ 3 ต.แม่กิ๊ อ.ขุนยวม มียอด ผภสม.จำนวน 789 คน​

      
สรุปมีจำนวนยอด ผภสม.ทั้ง 4​ แห่ง จำนวน 4,842 คน คลื่นผู้อพยพครั้งนี้จะมีจำนวนมากและน่าจะอยู่นานกว่าปกติ การอพยพของคลื่นผู้หนีภัยครั้งนี้ไม่แตกต่างจากการอพยพก่อนหน้านี้

หากแต่การสู้รบใหญ่ครั้งนี้เกิดในพื้นที่ จ. แม่แจ๊ะ รัฐคะยา ซึ่งมีพื้นที่ไม่ไกลจากชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอนมากนัก จึงทำให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบตัดสินใจเลือกเดินทางเข้ามาหลบภัยในพื้นที่ประเทศไทยมากกว่าการสู้รบในคะยาครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา แต่รูปแบบการโจมตีโต้กลับของทหารเมียนมายังใช้วิธีการเดิมๆ คือ การระดมกำลังพลครั้งใหญ่ทั้งทางบกและทางอากาศเข้าโจมตีพื้นที่แบบหว่านแห ไม่แยกพื้นที่ทหารหรือพลเรือน เพราะทหารเมียนมามีเจตนาต้องการกวาดล้างกระเหรี่ยงแดงให้สิ้นซาก มีการยิงปืนใหญ่และทิ้งระเบิดถล่มเมืองทั้งกลางวันและกลางคืนต่อเนื่องหลายวัน ส่งผลให้ชาวบ้านที่เคยอพยพหลบหนีภัยการสู้รบไปหลบอยู่ตามพื้นที่เขตชนบท พื้นที่ป่าเขา และค่ายผู้อพยพชั่วคราวหลายจุด ที่ตั้งกระจายอยู่ในพื้นที่ชายแดน ต้องตัดสินใจเดินทางข้ามสู่เขตแดนไทยที่มีความปลอดภัยมากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าเพื่อนบ้านที่แสนดีอย่างไทยก็ต้องรับภาระให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นอย่างสุดกำลัง

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 นายสุรเชษฐ์ พุ้ยน้อย นายอำเภอแม่สะเรียง ได้เชิญหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์การสู้รบในรัฐคะยา ซึ่งจะทำให้มีผู้อพยพหนีภัยสงครามเดินทางข้ามพนมแดนเข้ามาในเขตประเทศไทย และได้มีการจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว เตรียมที่พัก อาหาร น้ำดื่ม น้ำใช้ และการรักษาพยาบาลสุขอนามัย รวมทั้งการจัดระบบ ระเบียบในการให้ความช่วยเหลือ การบริจาคสิ่งของและการให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนั้น มีการประเมินกันว่าจะมีผู้อพยพหนีภัยสงครามเข้ามาเป็นหลักร้อยคน แต่เมื่อถึงเวลาจริงกลายเป็นว่ายอดผู้อพยพสูงกว่าสามพันคน จึงต้องมีการเร่งปรับปรุงและเสริมพื้นที่พักพิงให้เพียงพอกับผู้อพยพที่มีจำนวนมาก และมีการปรับแผนงานด้วยการตั้งทีมติดตามสถานการณ์ โดยจะมีการประเมินสถานการณ์ในทุกๆ 2 วัน

ด้านนายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล จ.แม่ฮ่องสอน หนึ่งในตัวแทนภาคประชาชนที่ได้เข้าร่วมประชุม ได้ออกมายืนยันว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามประสานความร่วมมือกันเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยสงครามในครั้งนี้ โดยมีฝ่ายปกครองอำเภอแม่สะเรียงเป็นแกนกลางหลัก ทั้งเรื่องการประสานการสร้างที่พักพิงชั่วคราว การประสานขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ในการจัดเตรียมโครงสร้างที่จำเป็นพื้นฐาน รวมทั้งการจัดระบบการรับบริจาคสิ่งของที่จะนำไปช่วยเหลือผู้อพยพ จะต้องมีการลงทะเบียนผ่านกิ่งกาชาดแม่สะเรียงก่อน แล้วจึงขนส่งเคลื่อนย้ายเข้าไปในพื้นที่พักพิงชั่วคราวซึ่งอยู่ห่างไกลออกไป และการเดินทางในหน้าฝนเป็นไปอย่างยากลำบาก

ต่อมา นายสุรเชษฐ์ พุ้ยน้อย นายอำเภอแม่สะเรียง ออกมายอมรับผ่านสื่อหลายสำนักเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2566 ว่ามีแนวโน้มที่จำนวนผู้อพยพหนีภัยสงครามมีมากกว่าที่ประเมินกันไว้ในตอนแรก ปัจจุบันได้บูรณาการความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประชาสังคม และจิตอาสาต่างๆ เข้ามาเสริมในการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมมากขึ้น โดยจะพยายามทำให้ดีที่สุด

ตอนนี้มีการขยายเรือนพักผู้พักพิงเพื่อจัดระเบียบและง่ายต่อการจัดระเบียบ การสร้างห้องสุขา การจัดระบบน้ำอุปโภคบริโภค การหาแหล่งน้ำเสริมจากแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งการป้องกันโรคระบาด โดยเฉพาะโรคมาเลเรีย

นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมการพิเศษสำหรับกลุ่มเปราะบาง ทั้งเด็กและผู้ป่วย โดยปัจจุบันมีทีมงานของมูลนิธิและองค์กรการกุศลต่างๆ นำสิ่งของจำเป็นทั้งอาหาร น้ำดื่ม นมกล่อง ยารักษาโรค แม้แต่ยาทากันยุงต่างๆ รวมทั้งจัดทีมสาธารณสุขเข้ามาดูแลสุขภาพให้ผู้อพยพด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาและอุปสรรคสำคัญในห้วงเวลานี้คือฝนที่ตกหนักในพื้นที่ เนื่องจากเป็นห้วงฤดูฝน ยิ่งซ้ำเติมให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อพยพเหล่านี้ยากลำบากมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสำหรับเด็ก และกลุ่มผู้เปราะบางทั้งหลาย

ทางด้านนายคูอูเหร่ (Khu Ou Reh) ประธานพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างประเทศหลายสำนัก เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2566 ยืนยันเรื่องการเข้าปฏิบัติการทางทหารของกองทัพคะเรนนีในครั้งนี้ ว่าเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเพราะต้องการขับไล่ทหารเมียนมาออกจากพื้นที่ของคะยา แม้ว่าจะส่งผลให้ทหารเมียนมาต้องออกมาโจมตตอบโต้กลับ จนทำให้ประชาชนในพื้นที่สู้รบต้องแบกรับผลกระทบ ต้องอพยพหนีภัยข้ามมาในฝั่งประเทศไทยจำนวนมาก และสถานการณ์การสู้รบดูจะยิ่งมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากทหารเมียนมา เสริมกำลังเข้ามาในพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องการเผด็จศึกในครั้งนี้ให้ได้
………..
นายโกเหร่ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรประชาชนสังคมคะเรนนี (Karenni Civil Society Network : KCSN) ได้ประเมินสถานการณ์ผู้อพยพที่ชายแดนไทยว่า มีแนวโน้มที่จะมีคลื่นผู้อพยพชาวคะเรนนีจะทยอยเดินทางข้ามเข้ามาหนีภัยการสู้รบในพื้นที่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นในสัปดาห์หน้า โดยยอดผู้หนีภัยอาจจะสูงนับหมื่นคน

ทั้งนี้จากการสำรวจตัวเลขผู้ผลัดถิ่นภายในขององค์กรพบว่า มียอดผู้อพยพผลัดถิ่นกว่า 2 แสนคน สาเหตุหลักเกิดจากข่าวสารล่าสุดที่ฝ่ายทหารเมียนมาได้เสริมกำลังพลเข้ามาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยกำลังพลส่วนใหญ่ถูกเคลื่อนย้ายมาจากเขตเมืองหลวงลอยก่อตรงเข้ามายังเมืองผาซอง ริมแม่น้ำสาละวินและข้ามสะพานแม่น้ำสาละวินมายังพื้นที่ฝั่งตะวันออกใกล้ชายแดนไทย

รวมทั้งมีการระดมโจมตีด้วยปืนใหญ่และเครื่องบินทิ้งระเบิดทั้งในเขตเมือและชนบทในหลาย ๆ พื้นที่โดยไม่มีการแยกแยะว่าเป็นเขตทหารหรือพลเรือน และทหารเมียนมาได้กวาดล้างบุกยิง เผาบ้านเรือนประชาชน ยุ้งฉาง และปล้นสะดมแย่งชิงเอาเสบียงอาหารและสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ไปด้วย ยิ่งทำให้ชาวบ้านในพื้นที่หวาดกลัวซึ่งจะทำให้เกิดคลื่นประชาชนที่ต้องอพยพผลัดถิ่นเพิ่มมากขึ้น

สอดคล้องกับการประเมินของฝ่ายความมั่นคงไทยในพื้นที่หลายหน่วยงานที่เชื่อไปในทิศทางเดียวกันว่าในห้วงสัปดาห์หน้าจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

คลื่นผู้อพยพหนีภัยการสู้รบจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอีกเท่าตัว และคาดว่าผู้อพยพกลุ่มนี้จะปักหลักพักค้างในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวยาวนานกว่าการอพยพในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา

อนาคตที่ยังมือมนตลอดการ

ประเด็นสำคัญที่สุดของปัญหาผู้ลี้ภัยสงครามที่เป็นชาวบ้านตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้คือ พวกเขาแทบมองไม่เห็นอนาคตอะไรของชีวิตเหลืออยู่เลย หลังจากเรือกสวนไร่นา บ้านเรือนถูกเผาทำลาย การจะกลับไปเริ่มต้นใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ อีกทั้งตราบใดที่นโยบายของรัฐบาลทหารเมียนมายังยึดหลักปราบปรามให้ราบเช่นนี้ก็สี่ยงเกินไปที่จะกลับไปใช้ชีวิตเช่นปกติสุข

ในอดีตเคยมีหน่วยงานระหว่างประเทศอย่าง UNHCR เข้ามาช่วยเหลือคัดกรองเลือกพวกเขาบาส่วนให้ไปใช้ชีวิตในประเทศที่สาม แต่ปัจจุบันโอกาสที่จะได้เดินทางไปประเทศที่สามเหลือน้อยเต็มที

จริงแท้ที่ว่า “สงครามไม่เคยปรานีใคร” นายพลบีทู ผู้บัญชาการกองกำลังคะเรนนี (Karenni Army: KA) เคยประกาศตัวในวันสถาปนากองทัพคะเรนนีว่า นี่จะเป็นสงครามครั้งสุดท้ายของพวกเรา ก็ได้แต่ภาวนาขอให้สงครามครั้งนี้จบลงโดยเร็วด้วยวิธีการที่ผ่านการเจรจาอย่างสันติอย่าถึงขั้นต้องลงเอยด้วยการสูญเสียย่อยยับ หรือถึงขั้นต้องล้างชาติ ล้างเผ่าพันธุ์กันอีกเลย เพราะสุดท้ายเราก็คือเพื่อนมนุษย์ที่ร่วมอยู่ในโลกใบเดียวกันจำเป็นต้องกีดกันและฆ่าฟันกันเพื่อดินแดนสมมุติทั้งหลายถึงขนาดนี้เลยหรือ ….

สำหรับประเทศไทย ถึงเวลาแล้วยังที่จะเปลี่ยนมุมมองต่อเพื่อนมนุษย์ที่ลี้ภัยสงครามเข้ามาโดยมองว่าพวกเขาเป็นคนนอก หากเหตุการณ์ภายในสงบเมื่อไหรก็ผลักดันพวกเขากลับข้ามพรมแดนกลับไป โดยอ้างว่าเป็นการสมัครใจกลับไม่ใช่การบังคับ แน่นอนเราไม่ควรชักศึกเข้าบ้าน หรือไม่ควรใจดีเกินเหตุในขณะที่ยังเป็นประเทศยากจนดูแลประชากรของตัวเองก็ยังทำได้ไม่ดีนัก แต่มันน่าจะมีหนทางกลาง ๆ
ที่จะดึงและใช้ศักยภาพของเพื่อนมนุษย์เรานี้มาเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและสร้างความเจริญมั่งคลั่งร่วมกันได้ แต่ทุกอย่างต้องเริ่มจากการเปิดใจกว้าง ๆ แล้วนั่งคุยหาวิธีการที่ดีที่สุดร่วมกันเสียก่อน