ในช่วงวันที่ 13-18 มิถุนายน 2566 พลันที่กองกำลังทหารในรัฐคะเรนนีเข้ายึดฐานทหารเมียนมา 7 แห่ง กองทัพเมียนมาโต้ตอบทันทีด้วยการโจมตีทางอากาศหมู่บ้านที่ติดชายแดนไทย ตรงข้าม อำเภอเมือง อำเภอแม่สะเรียง และอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยทิ้งระเบิดในหลายหมู่บ้านในรัฐคะเรนนี
ส่งผลให้มีชาวคะเรนนีผู้อพยพหนีภัยการสู้รบ ทะลักเข้ามาพักพิงในพื้นที่จำนวนมาก ในห้วง 2 สัปดาห์หลังการปะทะกัน มายังชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านด้านเมียนมา จังหวัดแม่ฮ่องสอน รายงานตัวเลข มีผู้หนีภัยเมียนมาทั้งหมดจำนวน 5,206 คน พักที่บ้านเสาหิน ต.เสาหิน อ.แม่สะเรียง 3,531 คน ที่บ้านพะแข่ ต.แม่กี๊ อ.ขุนยวม 859 คน ที่บ้านอุนุ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง 316 คน และที่บ้านจอปร่าคี ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง 500 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 )
ขณะที่การต่อสู้ยังไม่มีท่าทีที่จะยุติลง และยังมีผู้อพยพทยอยเดินทางเข้ามาหาพื้นที่ปลอดภัยพักอาศัยทำให้เกิดหลายคำถามหลายประเด็นต่อสถานการณ์ที่ไม่เห็นจุดสิ้นสุดนี้
ด้วยความห่วงใยสถานการณ์ ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) และภาคี โดย นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงรายและกรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิ พชภ. ได้จัดประชุมโต๊ะกลม ที่โรงแรม The Heritage อ.เมือง จ.เชียงราย เพื่อ
“ร่วมแสวงหาแนวทางการรับมือ การจัดการสถานะบุคคล ต่อสถานการณ์ผู้ลี้ภัย การอพยพของประชาชนจากพม่า ชายแดนตะวันตก”
โดยมีทั้ง นักวิชากร ตัวแทนภาครัฐ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) องค์กรภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชนและสถานะบุคคล และองค์กรภาคประชาสังคมจากพื้นที่ต่างๆ หน่วยงาน องค์การกองทุนเด็กระหว่างประเทศสหประชาชาติ United Nations International Children’s Emergency Fund (UNICEF) เข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนสถานการณ์และข้อเสนอต่อสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อความท้าทายที่เกิดขึ้น
เพียรพร ดีเทศน์ เลขาธิการ พชภ. กล่าวว่า พชภ. ทำงานเกี่ยวกับผู้เฒ่าและเด็กไร้สถานะมาตลอด 4 ทศวรรษ เมื่อเกิดสถานการณ์ในเมียนม่าในห้วง 2 ปี ที่มีสถานการณ์หนีภัยการสู้รบ สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น จึงจัดเสวนาเพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนสถานการณ์และข้อเสนอทั้งรุกและรับและร่วมสังเคราะห์ภายใต้สิทธิมนุษยชน และกฎหมายที่เกี่ยวกับสถานะบุคคลร่วมกัน กำหนดโจทย์ให้กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือกับความท้าทาย
สถานการณ์ผู้หนีภัยการสู้รบเมียนมาหลังรัฐประหารต้นปี 2564
สถานการณ์การสู้รบระหว่างชนกลุ่มน้อยและทหารเมียนมาที่ยังไม่มีท่าทีจะยุติ การอพยพตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนมีจำนวนกว่า 5 พันคนมาอยู่ “พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว” 4 แห่ง ที่ทางฝ่ายปกครองและความมั่นคงไทยจัดพื้นที่และควบคุมดูแล สถานการณ์ที่ยังไม่มีคำตอบได้ว่าการอพยพหนีภัยกลุ่มนี้จะยาวนานแค่ไหน สถานที่เพียงพอหรือไม่กับจำนวนผู้หนีภัยการสู้รบที่ยังทะยอยเดินทางเข้ามา รวมถึงนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลไทยจะมีแนวทางเช่นใดในการรับมือสถานการณ์การอพยพระลอกนี้ นอกจากการให้ที่พักพิงชั่วคราว
ดูเหมือนว่าในช่วงแรกที่มีการหนีภัยการสู้รบของประชาชนเมียนมา รัฐบาลไทยพยายามไม่ดำเนินการใด ๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลเมียนมา และฝ่ายความมั่นคงไทยได้ควบคุมและติดตามความเคลื่อนไหว หากมีชาวเมียนมาล้ำเข้ามาพยายามผลักดันหรือจับตัวส่งกลับ แต่ผู้หนีภัยฯ ยังคงหลบหนีอยู่ตามป่าชายแดนไทยเมียนมาและเล็ดลอบเข้ามาได้ ขณะที่ฝ่ายไทยมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อการตรึงพื้นที่ชายแดน
นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล เล่าถึงการช่วยเหลือผู้หนีภัยในพื้นที่ชายแดนว่า การเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ตอนแรกก่อนที่จะมีการเปิดเป็นพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวให้พักพิงเช่นขณะนี้ การหนีภัยเต็มไปด้วยความยากลำบากในการอาหารนำสิ่งของที่จำเป็นไปให้ แต่เครือข่ายและชุมชนพยายามเข้าเจรจากับฝ่ายความมั่นคง จึงเริ่มเปิดให้เข้าไปช่วยเหลือผ่านเหล่ากาชาด จึงได้นำของบริจาคเข้าไปช่วยเหลือได้ แต่การนำสิ่งของเข้าไปยังพื้นที่พักพิงยังเป็นเรื่องยากลำบาก แม้ระยะเวลาไม่ไกล แต่ถนนไม่ดี ใช้เวลาเดินทางเข้าไป 4-14 ชั่วโมง เครือข่ายฯได้ประสานองค์กรความช่วยเหลือด้านต่างๆ ทั้งด้านอาหาร ระบบน้ำ ห้องน้ำ เข้ามาในที่พักพิง ขณะนี้มีกลุ่มเปราะบาง จำนวน 1,846 คน ประกอบด้วยเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และหญิงตั้งครรภ์ ที่ต้องการการดูแลอย่างเหมาะสมและทันเวลา
“หลายฝ่ายมองว่าน่าจะประมาณ 3 เดือน แต่ผมคาดว่าอาจยาวนานกว่า 3 ปี ขณะนี้ยังมีผู้หนีภัยสู้รบทะยอยจะเข้ามาเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 1,200 คน ชาวบ้านคะเรนนีจำนวนไม่น้อยออกจากหมู่บ้านไปอยู่บริเวณชายป่าในเมียนมาที่ยังคงหาที่ปลอดภัยอยู่ ขณะที่จุดพักพิงชายแดนไทยตอนนี้แออัดมาก” นายสันติพงษ์ กล่าวถึงสถานการณ์ชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน
นายสะท้าน ชีววิชัยพงษ์ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน กล่าวถึงสถานการณ์แนวชายแดนไทยเมียนในห้วงการปะทะว่า จากที่ได้เห็นสภาพของผู้หนีภัยมาหลบในพื้นที่ปลอดภัย ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งคณะทำงานชาวบ้านร่วมกับรัฐ เพื่อให้การช่วยเหลือไปได้ทันเวลาและทั่วถึง เพราะชาวบ้านและเครือข่ายไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่พักพิงชั่วคราวได้ คนประสบภัยต่างเป็นเหมือนพี่น้องกันสำหรับชนกลุ่มน้อยชายแดนทั้งสองฝั่งที่เมื่อลำบากย่อมต้องการช่วยเหลือกัน
“สภาพการหนีภัยเอาตัวรอดและหนีจากความตาย ชุมชน และชาวบ้านเราได้เห็นพี่น้องฝั่งเมียนมาลำบาก จึงต้องการเห็นการจัดตั้งคณะทำงานการจัดการร่วมของรัฐ หน่วยราชการ กับภาคประชาสังคม ชาวบ้าน แต่ขณะนี้ชาวบ้านต้องการเข้าไปช่วยเหลือผู้หนีภัยก็ไม่สามารถเข้าไปในศูนย์พักพิงได้ จึงต้องการหาวิธีการให้สิ่งของช่วยเหลือนี้ไปถึงผู้ประสบภัยสะดวกและรวดเร็ว เมื่อที่ปลอดภัยพักพิงชั่วคราวปิดประตูไม่รับ ทำให้ผู้อพยพหลายคนที่หลบหนีเข้ามาไปแฝงตัวอยู่ในบ้านญาติพี่น้องคนรู้จัก ในชุมชนที่ไม่สามารถตรวจสอบได้อีกจำนวนหนึ่ง” นายสะท้านกล่าว
ด้วยข้อเรียกร้องด้วยความร้อนใจที่จะให้ความช่วยเหลือพี่น้องของชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ต้องการให้มีการจัดการร่วมของภาคประชาสังคมกับหน่วยงานรัฐ แต่ทางหน่วยงานรัฐได้ในเหตุผลในการที่จำกัดกัดการเข้าออกและการส่งของบริจาคเข้าไปช่วยเหลือว่าเป็นเรื่องที่ต้องมีความระมัดระวังด้านความปลอดภัย
ในวงเสวนานักวิชาการ องค์กรภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ได้เห็นไปในทางเดียวกันและเรียกร้องรัฐให้มีความชัดเจนในนโยบายบริหารจัดการกลุ่มผู้หนีภัยชาวเมียนมาท่ามกลางสถานการณ์สู้รบที่ยังมองไม่เห็นการสิ้นสุด การสร้างที่ปลอดภัยชั่วคราวรองรับนั้นเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นยังไม่เห็นแนวทางชัดเจนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งของรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงหากมีจำนวนมากขึ้นและยืดเยื้อ
ผู้ที่อพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาเป็นผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา(ผภร.) เป็นชื่อที่ฝ่ายความมั่นคงไทยเรียกกลุ่มผู้อพยพหนีการสู้รบจากเมียนมาเข้ามาในไทย โดยหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง จัดพื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบจาก เมียนมาจังหวัดแม่ฮ่องสอน และควบคุมดูแล ที่เป็นกลุ่มเข้ามาใหม่เป็นจำนวนมาก
การอพยพเคลื่อนย้ายของคนชั้นกลางกลุ่มผู้มีทักษะวิชาชีพ
ก่อนที่จะมีการตั้งพื้นที่ปลอดภัย 4 แห่งเพิ่มขึ้นมาในปัจจุบัน เพื่อรับผู้หนีภัยฯ ล่าสุดนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าแนวชายแดนตะวันตกของไทยได้เปิดศูนย์พักพิงฯ จำนวนมากเพื่อรองรับผู้หนีภัยฯ การสู้รบกันของทหารเมียนมาและชนกลุ่มน้อยในพม่ามากว่า 43 ปี โดยในขณะนี้เหลืออยู่ 9 แห่งที่ยังดูแลชาวเมียนมาอยู่ประมาณ 7 หมื่นคน
พญ.ซินเทีย หม่อง ผู้ก่อตั้งแม่ดาวคลีนิค กล่าวว่า สาเหตุการอพยพเคลื่อนย้ายชาวเมียนมามีปัญหามา 43 ปี ตั้งแต่ปี 2523 ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า มีผู้อพยพหนีภัยการสู้รบสะสม และจากเหตุการณ์รัฐประหารต้นปี 2564 ทำให้ปลายปีมีการอพยพเคลื่อนย้ายสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
โดยมีการเคลื่อนย้ายในครั้งนี้มีการเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนชั้นกลางและผู้มีทักษะวิชาชีพ เช่น ครู อาจารย์มหาวิทยาลัย แพทย์ ได้หนีภัยออกมาด้วยและกลุ่มคนดังกล่าวได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในพื้นที่ชายแดนของกลุ่มชาติพันธฺุ์ กระเหรี่ยง โดยจัดการศึกษาให้กับชาวเมียนมากว่า 12,000 คน ในพื้นที่ 65 แห่ง จัดการดูแลเด็กทั้ง พม่า กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากทางฝั่งไทยด้านการศึกษาที่ดูแลเด็กกว่า 1,500 คน จึงต้องการเสนอให้บุคคลที่เป็นกำลังสำคัญช่วยเหลือได้รับเอกสารสถานะจากไทยเพื่อบุคคลที่มีทักษะความสามารถได้ทำภารกิจต่อไป และเจ้าหน้าที่และลูกหลานแรงงานข้ามชาติได้รับการศึกษา
นายธงชัย ชคัตประสิทธิ์ เครือข่ายสิทธิมนุษยชนกระเหรี่ยง จ.ตาก กล่าวว่า การอพยพผู้หนีภัยการสู้รบมาแนวโน้มสูงเพราะมีการโจมตีในพื้นที่ อ.แม่สอด อ.พบพระ อ.อุ้มผาง จ.ตาก ในปี 2022 มีการโจมตีทางอากาศ 530 ครั้ง และในปี 2023 มีการโจมตีพื้นที่แม่สะเรียงกว่า 43 ครั้ง
การโจมตีที่หนักต่อเนื่องทำให้มีทั้งผู้ลี้ภัยทางการเมือง ผู้หนีภัยจากผลกระทบการสู้รบหลายกลุ่มวิชาชีพ และแรงงานข้ามชาติที่เคลื่อนย้ายไปมาอยู่แล้ว การเคลื่อนย้ายที่มากขึ้นแต่ไม่เข้าใจหรือไม่เข้าถึงกลไกที่ทำหน้าที่ ทำให้เกิดการทำเอกสารปลอม และมีแรงงานภาคบังคับเข้าไปสู่กระบวนการค้ามนุษย์จากการลงทุนของจีนพื้นที่ชายแดนที่เข้ามามาก ขณะที่ไม่มีกระบวนการคัดแยก กลไกการคัดกรอง นโยบายที่ชัดเจน ทำให้มีปัญหาซับซ้อนและสับสน
ปัญหาสะสมที่ซับซ้อนของชาวเมียนมาหลายกลุ่มในไทยที่ต้องการการคัดกรอง
หลายสถาบันการศึกษาที่ลงเก็บข้อมูลในพื้นที่ของชาวเมียนมาที่อพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาในไทยที่มีความแตกต่างในเชิงพื้นที่และหลายความต้องการในการเคลื่อนย้ายเข้ามาในไทยจึงได้จำแนกกลุ่มเพื่อวิเคราะห์นำเสนอหารูปแบบการบริหารจัดการปัญหาที่สะสมและกำลังเกิดขึ้นใหม่กับสถานการณ์ที่ยังไม่คลี่คลาย
ดร.ศิรดา เขมานิฏฐาไท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มองสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น แบ่งเป็น 4 กลุ่ม
กลุ่มแรก คือ แรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือ เดิมไทยจะดำเนินการแบบทวิภาคีที่จะร่วมหารือกับเมียนมา แต่ปัจจุบันเมียนมามีปัญหาเรื่องระบบราชการทั้งเรื่องประสิทธิภาพและความชอบธรรมทางการเมือง จึงเป็นโจทย์ว่าเราจะจัดการปัญหาโดยใช้ทวิภาคีหรือไม่ หรือจะใช้แบบเอกภาคีเหมือนที่ทำในอดีตจะกลับไปสู่ฉากทัศน์เดิมหรือไม่
กลุ่มที่ 2 คือ ผู้หนีภัยฯ จำนวน 5 พันคน ที่ศูนย์พักพิง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนหนึ่งชัดเจนว่าต้องการเข้ามาชั่วคราวกลับไปเมื่อเหตุการณ์สงบ แต่ระยะเวลาไม่มีใครล่วงรู้ได้ เป็นการให้ที่พำนักชั่วคราวให้บริการด้านมนุษยธรรมและบริการสาธารณะ ไม่จำเป็นให้เขามากลมกลืนกับสังคมถ้าเขาไม่ต้องการ เป็นกลุ่มที่อ่อนไหว มีความกังวล เพราะหลายคนเป็นผู้นำทางการเมืองและกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ มีความเปราะบางทางการเมืองสูง สร้างความกังวลให้รัฐไทยด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กลุ่มลักษณะนี้มีจำนวนไม่มาก อาจใช้วิธีพูดคุยกับประเทศที่ 3 หรือไม่ ในการช่วยรับกลุ่มเหล่านี้ไป หรือจะมีช่องทางอื่นไหมที่จะประนีประนอมร่วมกันของทุกฝ่าย
กลุ่ม 3 กลุ่มผู้นำการเมืองชุมชน ผู้นำนักศึกษา จากเดิมอาจเป็นคนทั่วไป เป็นคนธรรมดาที่แสดงออกถึงจุดยืนทางการเมือง แต่เมื่อมีรัฐประหารจึงลุกขึ้นมาต่อต้านกองทัพรัฐบาลทหารพม่า ไม่ใช่บุคคลที่มีชื่อเสียง แต่ไม่สามารถอยู่ในประเทศได้ กลุ่มนี้มองว่ารัฐไทยควรบูรณาการเข้ามาในสังคมและเศรษฐกิจของไทย เพราะมีความเปราะบางทางการเมือง และกระทบความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศน้อยกว่า เป็นแรงงานที่มีทักษะ อย่างไรก็ตามกลุ่มนี้จะมีความท้าทายต่อคนไทยในสาธารณะที่จะรับแรงงานที่มีทักษะ คนชั้นกลาง คนชั้นกลางบน ชั้นนำทางเศรษฐกิจและสังคม ว่า คนไทยจะมองเห็นเป็นภัยคุกคามหรือไม่ถือเป็นเรื่องท้าทาย จึงเป็นสิ่งที่ต้องสร้างความเข้าใจ หากไม่มีการจัดการ มีช่องทาง ขึ้นมาบนดินได้กลุ่มเหล่านี้อาจหาช่องทางแฝงไปทำงานในกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือ หรือไปในช่องทางส่วยหรือคอร์รัปชั่น แต่กลุ่มนี้เขามีเอกสารพม่ายืนยันจากต้นทาง
กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มคนที่ปัญหาทางสถานะ อยู่ตามชายแดนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไม่สามารถเข้าถึงการลงทะเบียนของเมียนมา ที่ไทยมีแนวทางรองรับกลุ่มเหล่านี้อยู่แล้ว ด้วยความแตกต่างกันของแต่ละกลุ่ม ต้องมีวิธีการจัดการที่ไม่เหมือนกัน
ปัญหาภาพรวมจะเห็นว่า เมื่อพวกเขาไม่ได้รับสถานะทำให้เสี่ยงอยู่ในภาวะเปราะบาง ต่อการจับกุมและผลักดันกลับประเทศ ทำให้เขาอาจต้องกลับไปสู่อันตรายต่อชีวิตได้ ซึ่งไม่ควรให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้
ดร.ศิรดา กล่าวว่า รัฐไทยมีจุดยืนเรื่องสถานะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างไร เมื่อปัญหาการเมืองภายในเมียนมาไม่จบยังไม่มีรัฐบาลชอบธรรมโดยสมบูรณ์ แต่ระบบราชการยังต้องทำงานทั้งสองฝั่ง ทำให้มีสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ที่จะต้องประสานความร่วมมือ อาจต้องพิจารณาว่าจะปฏิบัติแบบเอกภาคีแล้วค่อยเชื่อมประสานกันแบบทวิภาคีเมื่อเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติหรือไม่
ดร.นฤมล ทับจุมพล สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชียและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำงานร่วมกับ ยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization:UNESCO) ด้านการศึกษาในเรื่องโรงเรียนและเด็ก มีสถานการณ์พิเศษเกิดขึ้น ประการหนึ่งคือ ขณะที่เด็กมีสิทธิเข้าเรียนได้โดยผ่านศูนย์การเรียนรู้ แต่จะมีปัญหาซับซ้อน เพราะเมื่อเด็กมีที่มาการเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย จึงต้องมีการจัดการเพื่อให้เด็กได้พัฒนาการเรียน
อีกประเด็นหนึ่ง คือทางเมียนมาจะเรียนถึงเกรด 10 เทียบได้กับชั้น ม.3 หากเด็กจำนวนนี้ต้องการเรียนต่อให้จบ ม.6 เพื่อเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย หรือเพื่อไปประเทศที่ 3 จึงควรเปิดโอกาสให้สอบเทียบชั้น ม. 6 ที่ควรมีหลักสูตรอินเตอร์รองรับทั้งการเรียนออนไลน์ และเรียนในชั้นเรียน
ดร.นฤมล กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่าบุคคลเหล่านี้เป็นทรัพยากรมนุษย์ แต่อาจต้องคุยว่าจะสร้างสมดุลระบบอย่างไรระหว่างด้านความมั่นคงกับการมองเป็นทรัพยากรบุคคลทางเศรษฐกิจ โดยการเรียนแบบสอบเทียบสำหรับการเรียนในที่พักพิงสำหรับคนที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะได้กลับประเทศต้นทาง และการที่ยังไม่ได้เปิดให้ขอลี้ภัย
“ผู้อพยพกลุ่มนี้เป็นทรัพยากรมนุษย์น่าสนใจ เพราะความรู้ภาษาอังกฤษกลุ่มนี้ค่อนข้างดี และส่วนกลุ่มลูกหลานติดตามแรงงานข้ามชาติเข้าโรงเรียนไทยตั้งแต่ปฐมวัยหรือชั้นประถมจะมีปัญหาน้อยที่สุดเพราะเรียนเป็นภาษาไทยอยู่แล้ว”
สำหรับคำแนะนำและข้อเสนอให้จัดการสถานะบุคคลให้กับผู้อพยพหนีภัยฯ นั้น แทนที่จะคิดว่าจะให้หรือไม่ให้สถานะบุคคล ขอเสนอให้คิดการให้สิทธิเป็นระดับ ยกตัวอย่างเช่น การให้ ผู้พำนักชั่วคราว (Temporary Resident) หรือ ผู้พำนักถาวร (Permanent Resident) พิจารณาให้สิทธิในการทำงาน และให้สิทธิการเข้าเรียน ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยเคยทำ โดยการให้ ท.ร. 38 ซึ่งเป็นแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เพื่อให้เด็กสามารถเข้าเรียนได้ และเราควรทำเพิ่มในระดับมัธยมได้ด้วยหรือไม่ เพื่อช่วยในเรื่องการศึกษาหรือเรื่องการทำงานเพื่อให้เขาช่วยตัวเองได้ไม่ให้เป็นภาระการดูแลของประเทศไทย
จะเห็นได้ว่าเมื่อประเทศไทยต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมจึงต้องการแรงงานที่มีศักยภาพอีกมากนอกเหนือแรงงานไร้ฝีมือทั่วไป เรื่องนี้สามารถที่จะโยงกับการพัฒนาสถานะบุคคล จัดระดับสิทธิหลาย ๆ ระดับ โดยยังไม่ต้องพิจาณาเรื่องสัญชาติเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาเรื่องความมั่นคงตั้งแต่เริ่มต้นแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
“อยากให้มองว่าจำนวนนักเรียนในวิทยาลัยชุมชน ใน กศน. จำนวนนักเรียนน้อยลงมาก ความต้องการของโรงเรียนมีอยู่มาก โรงเรียนในพื้นที่ชายแดน มีนักเรียนชาวเมียนมาเรียนอยู่แล้ว ซึ่งมีการออกนักเรียนรหัส G ที่หมายถึง นักเรียนที่ยังไม่มีบัตรประชาชนคนไทย ซึ่งพวกเขาต้องมีตัวเลขประจำตัวเพื่อใช้ในระบบการศึกษา แต่ไม่เกี่ยวกับเลข 13 หลักของกระทรวงมหาดไทย เพราะฉะนั้นในพื้นที่ได้ดำเนินการอยู่ และอยากให้มีการดำเนินการลักษณะนี้ต่อไป ในกลุ่มเด็กเล็กสามารถเริ่มเรียนภาษาไทยได้ อยากจะให้มองว่า การลงทุนในทรัพยากรเด็กไม่ได้มองเฉพาะในปัจจุบัน แต่เป็นการมองส่วนอนาคตในการที่เขาสัมพันธ์กับไทย ใช้สินค้าไทย เข้าใจคุณค่าความเป็นไทย ส่วนเด็กระดับมัธยมศึกษา และมหาวิทยาลัยที่ยากกว่า แต่ไม่ยากเกินไปหากเราพิจารณาว่าเรามีมหาวิทยาลัยราชภัฎอยู่การปลดล็อคให้โอกาสเด็กที่เข้ามาในไทยแล้วได้เรียน จะเปิดโอกาสให้การศึกษาส่วนนี้ได้ง่ายขึ้น ” ดร.นฤมล กล่าว
อีกประเด็นหนึ่งคือความคิดต่อเรื่องการค้ามนุษย์ที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ทราบว่าเป็นการค้ามนุษย์หรือไม่และพวกเขาเป็นผู้หนีภัยฯ ไม่ใช่เหยื่อค้ามนุษย์ และสำหรับกลุ่มที่เป็นเด็กจะจัดระบบรองรับแบบไหน และเห็นว่าอาจต้องจัดเรื่องการศึกษามัธยมศึกษาให้กับเยาวชนด้วย จึงน่าจะมีการหาทางออกร่วมกันว่าจะจัดระบบแบบไหน จึงต้องฝากข้อคิดให้กับฝ่ายความมั่นคงที่ได้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกัน ซึ่งอนาคตอาจต้องมี การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) และกระทรวงศึกษาธิการที่ดูแลด้านการศึกษาได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นเหล่านี้ด้วย
นายธีรภัทร จุนทการ ผู้อำนวยการกองความมั่นคงภายในประเทศ สมช. กล่าวว่า แม้ว่าไทยจะกำหนดว่าผู้ที่อพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาเป็นผุ้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา(ผภร.) หรือ คนพลัดถิ่น ไม่ได้เรียกว่าผู้ลี้ภัย เพราะผู้ลี้ภัยจะมีกระบวนการจัดการอีกแบบหนึ่ง
อย่างไรก็ตามทางรัฐไทยดูแลดีกว่าหลายประเทศ บางส่วนยอมรับว่าภาคราชการอาจทำไม่คล่องตัว ดูแลจัดการไม่ทันใจเมื่อเกิดเหตุ เพราะมีเรื่องสายงานการบังคับบัญชาการจัดการ แต่พยายามทำให้เร็วขึ้น กำหนดพื้นที่ชั่วคราวที่จะรองรับ และยอมรับว่ารัฐบาลเมียนม่าเป็นทหารมีความขัดแย้งรุนแรงกับชนกลุ่มน้อยมีการโจมตีที่พักของคนเมียนมา ก็บอกผ่านไปยังกระทรวงต่างประเทศ หลายๆ เรื่องในการติดต่อประสานงานผ่านหน่วยงานทหารที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนว่ากล่าวตักเตือนไปอย่ามีการล้ำแดนล้ำน่านฟ้า ในกรณีมีลูกหลงก็ยิงเตือนไป
นอกเหนือจากนั้นมีการอพยพประชากรหลายกลุ่มทุกคนอยากได้สถานะอยากได้สิทธิ ขอย้ำว่าหน่วยงานความมั่นคงยอมรับความเป็นคนการมีตัวตนของทุกคน มีหลายวิธีที่จะสะท้อนออกมา แต่เรื่องสิทธิของความเป็นพลเมมือง การมีสัญชาติ ขออย่าพูดแต่เรื่องสถานะและสิทธิอย่างเดียว ขอให้พูดถึงเรื่องหน้าที่ด้วย ที่สังคมไทยเองจะเข้าสู่สังคมสูงวัย ประชากรไทยน้อยลงไป ต้องการเติมประชากรที่มีคุณภาพเข้ามาที่จะเข้ามาช่วยเหลือกัน
การดูแลการศึกษา สาธารณสุข ที่สูงกว่าหลักปฏิบัติมนุษยธรรม แต่ทำให้เกิดช่องทางการนำเด็กนักเรียนไปเรียนที่อ่างทองจำนวน 126 คน มองว่าเป็นการใช้ช่องโหว่ในการดำเนินการ เป็นเรื่องอันตรายที่จะต้องมีการจัดให้ถูกที่ถูกทาง ขอบอกว่าสังคมต้องคุ้มครองเด็กไปให้ชีวิตมีความความเสี่ยงต่ออันตรายและการเสียชีวิต ไทยมีกฎหมายฉบับที่คุ้มครอง เช่นกฏหมายป้องกันการทรมาน ได้ห้ามส่งคนไปสู่ความตาย และในการควบคุมดูแลและการจับกุมต้องมีมาตรฐานเดียวกัน สิ่งที่สังคมประสบเรื่องการค้ามนุษย์มีช่องทางนำเข้าไป แรงงานข้ามชาติบางคนเป็นเหยื่อ เป็นเรื่องที่ต้องดูแล สิ่งที่จะเข้มงวดการจัดการระบบต่าง ๆ แต่ละกลุ่ม สามารถตรวจสอบได้ ป้องกันความปลอดภัยให้สาธารณชนกับคนในประเทศได้ จึงต้องมีระบบนี้ขึ้นมาในการดูแล
“ทราบว่าเอ็นจีโอและเครือข่ายต้องการเข้าไปช่วยเหลือดูแลผู้หนีภัยที่กำลังลำบาก แต่เนื่องพื้นที่ชายแดนเป็นพื้นที่อันตรายเป็นความไม่ปลอดภัย จึงเห็นว่าหากต้องการเข้าพื้นที่ไปช่วยเหลือขอให้ติดต่อผ่านไปยังจังหวัด หรือทางกระทรวงมหาดไทย ผ่านเหล่ากาชาดได้ ทั้งนี้การเข้ามาของเอ็นจีโอต่างชาติที่พยายามเข้าไปในพื้นที่ชายแดนให้ได้นั้น และขอเน้นย้ำให้เอ็นจีโอต่างชาติเคารพอธิปไตยของไทยและเมียนมา เพราะถ้าเข้าไปแล้วไม่ปลอดภัยจะเป็นความผิดของหน่วยงานความมั่นคง และหน่วยงานเสี่ยงเป็นเป้าถูกโจมตีเมื่อมีบุคคลต่างชาติหลุดเข้าไปในพื้นที่ประเทศเมียนมา แต่ทางหน่วยงานได้พยายามเต็มที่เพื่อแก้ไขในแนวทางที่เหมาะสม” ผู้อำนวยการ สมช. กล่าว
นายบรรจบ จันทรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การแบ่งกลุ่มสถานะของผู้ที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยของกรมการปกครองภายใต้ระเบียบสำนักงานทะเบียน ที่มีทั้งชนกลุ่มน้อย กลุ่มคนที่มีสถานะไม่ชัดเจน สถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
กลุ่มที่มีสถานะทางทะเบียนไม่ชัดเจน แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ
กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมในประเทศแต่ตกสำรวจส่วนใหญ่เป็นชาวเขาอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดสถานะจำนวนไม่เกิน 10,000 คน
กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่หลบหนีเข้าเมือง 3 ล้านกว่าคน แยกเป็นกลุ่ม 4 กลุ่มย่อย คือ
-
1.คนที่อาศัยมานาน ได้มีมติ ครม.ให้สามารถอาศัยอยู่ถาวรได้รอการกำหนดสถานะ โดยขณะนี้ได้กำหนดสถานะไปแล้ว 375,740 คน เป็นชนกลุ่มน้อยมี 19 กลุ่ม ที่อยู่ระหว่างการสำรวจและรวมกับที่เกี่ยวข้องกับชนกลุ่มน้อยเดิมแต่ตกสำรวจ อันเป็นยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบ (มติ ครม.18 มกราคม 2548) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2566-2570) กำกับดูแลโดยคณะกรรมการบริหารจัดการผู้หลบหนีเข้าเมือง
2. กลุ่มที่ ครม.มีมติผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราว ภายในเขตควบคุม เพื่อรอการส่งกลับ จำนวน 72,195 คน มี 2 กลุ่มใหญ่คือ ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่ไม่สัมพันธุ์กับกลุ่มน้อยเดิมโดยกลุ่มนี้มีข้อเรียกร้อง ครม.ชะลอไว้อยู่ เช่น กลุ่มเนปาล กลุ่มอินเดียที่อยู่มานาน ผ่อนผันให้มีอยู่ประมาณ 3.7 หมื่นคน
ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนสำรวจตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ที่เจตนาให้กับคนที่ไร้สัญชาติ กรมฯ ต้องการให้เด็กที่ไร้รากเหง้าที่มีตัวตนอยู่ เด็กกำพร้าไม่มีที่มาที่ไป เด็กเร่ร่อน หรือคนที่เข้ามานานแล้วตั้งบ้านเรือนอยู่มีลูกหลานชัดเจน อันนี้กรมฯ ดำเนินการทำทะเบียนผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนให้ มีประมาณ 3.5 หมื่นคน
3. กลุ่มที่ทางราชการมีนโยบายดูแลเป็นการเฉพาะ จำนวน 2.2 ล้านคน ประกอบด้วย แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองและผู้ติดตามและลูกที่เกิดในไทย 4 สัญชาติ เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม กำกับดูแลโดยคณะกรรมการบริหารจัดการผู้หลบหนีเข้าเมือง แรงงานต่างด้าวที่ประเทศต้นทางไม่รับกลับ กำกับดูแลโดยคณะกรรมการบริหารจัดการผู้หลบหนีเข้าเมือง ผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา ซึ่งมีมากที่สุดกว่า 7 หมื่นคน ที่เหลือประกอบด้วย ชาวม้งลาวอพยพ คนเกาหลีเหนือ และโรฮีนจา สำหรับกลุ่มนี้จะมีนโยบายและมาตรการเฉพาะ ที่กำกับดูแลโดย สมช.
4. กลุ่มหลบหนีเข้าเมืองอื่น ๆ กรณีทั่วไป โดยกลุ่มนี้จะถูกปราปปรามจับกุมตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ในระบบปกติ
รองอธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มผู้ลี้ภัยการสู้รบจากเมียนมาที่อยู่ในแค้มป์ในอยู่ชั่วคราว ทาง UNSCR ก็ดูแลเฉพาะและกรมไปจัดระเบียบภายใน กลุ่มม้งลาวเหลือน้อยแล้ว กลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองจากเกาหลีเหนือ ชาวโรฮิงยา กลุ่มนี้เราใช้กฎหมายปกติบางครั้งมันจะคาบเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ตรงนี้ต้องส่งเรื่องให้กับทาง สมช. ว่าจะปฎิบัติอย่างไร ถ้าเสียหายจากการค้ามนุษย์ ทางสำนักทะเบียนสามารถทำทะเบียนประวัติ และอนุญาตให้ทำงานด้วย เป็นไปตาม มท และ พม. เสนอมามีช่องทางให้
และสุดท้ายคือกลุ่มหนีเข้าเมือง ใช้ระบบปราบปรามจับกุมปกติตามกฎหมายคนเข้าเมืองอันนี้ต้องเป็นธรรมที่จะกล่าวถึง ในเรื่องสิทธินั้นในฝ่ายปกครองถ้าเราเจอเราจะไม่ได้ไม่จับกุมก่อน แต่แนะนำก่อนขอให้คนที่จะมาอยู่ในหมู่บ้านมาได้แต่ขอให้มาให้ถูกเช่นนั้นปัญหาจะไม่จบ ในกฎหมายคนเข้าเมืองเราไม่มีคำว่า ผู้ลี้ภัย
“จากการติดตามสถานการณ์ ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไปเยือนอเมริกา สมัยประธานาธิบดีโอมามา ตอนนั้นมีประเด็นเรื่องอุยร์กู ทางประธานาธิบดีสหรัฐได้ฝากทางนายกรัฐมนตรีไทย ว่า ขอให้ไทยดูแลผู้ลี้ภัยอย่างเป็นระบบ แต่เราไม่มีกฎหมายผู้ลี้ภัย แต่หลังจากนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้พยายามจะผลักดันให้มีการคัดกรองผู้ลี้ภัย
นอกจากนี้อยากให้ทาง สมช.พิจารณากรณีที่นักศึกษาที่เข้ามาเป็นผู้ลี้ภัยมีปัญหาทางการเมืองกับรัฐบาลต่างประเทศได้ตอบแนวทางในประเด็นนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไร ในทางปฏิบัติอยู่ที่ ตม. ในความพยายามคัดกรองตอนนี้มีแนวทางอย่างไร” นายบรรจบกล่าว
สำหรับกรณี ผู้หนีภัยที่อพยพมาที่แม่ฮ่องสอน เราได้รับรายงานมีจำนวน 4.8 พันคน ทางอำเภอ ฝ่ายปกครอง รายงานว่าท้องถิ่น ชุมชนได้จัดหาที่พักให้กับผู้หนีภัย จึงขอเรียนว่าการดำเนินการกับผู้หนีภัยกลุ่มนี้ต้องดูที่นโยบายเฉพาะของฝ่ายความมั่นคง โดยฝ่ายกรมการปกครองเข้าไปดำเนินการอะไรไม่ได้ ไม่สามารถจัดทำทะเบียนประวัติให้ได้ เว้นแต่ฝ่ายนโยบายพิเศษสะท้อนมากรมการปกครองทำ จึงจะสามารถทำได้ เหมือนที่กรมเคยทำทะเบียนประวัติจากแสนกว่าคนที่ศูนย์พักพิง 9 แห่ง มีผู้อพยพจำนวนกว่า 7 หมื่นกว่าคน
ถ้ามีความยืดเยื้อจะอยู่ที่ สมช.กับฝ่ายความมั่นคง ถ้ามีนโยบายแล้วจะใช้กฎหมายคนเข้าเมือง ถ้าจะทำสำรวจทำได้ 2 ลักษณะ คือ โดยฝ่ายความมั่นคงคัดกรองโดยทหาร แต่ถ้าจะให้กฎหมายทะเบียนราษฎร ต้องใช้ ม. 17 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ยกเว้นเรื่อง กม.คนเข้าเมืองให้ ผ่อนผันให้อยู่ในสถานะอะไร กรมการปกครองเข้าไปทำทะเบียน เก็บอัตลักษณ์ส่วนบุคคลได้ก็สามารถทำได้ แต่ถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อฝ่ายความมั่นคงก็ไม่อยากเอาเป็นภาระ เพราะใช้งบประมาณสูงมาก เป็นปัญหามาก ทางกรมการปกครองทำตามหลักมนุษยธรรมเท่าที่จะทำได้
ตาม กม.ทะเบียนราษฎรที่จะทำได้ กำหนดคนที่ไม่มีสัญชาติไทยปฏิบัติเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร ทำให้กรมสามารถจดทะเบียนใครได้บ้าง จะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด กลุ่มคนที่จะมีชื่อได้และกรมได้ทำมาแล้ว เช่น กรณีคนต่างด้าวทุกคนที่มาเกิดหรือตายในไทย ทั้งมีชื่อและไม่มีชื่อ เป็นการหลบหนีหรือไม่หลบหนี สามารถแจ้งได้เกิดแจ้งตายได้ทุกกรณี แม้จะเลยกำหนดการแจ้งเกิดก็ตาม กรมเปิดช่องให้ทำถ้าสำนักทะเบียนไหนไม่ทำสามารถร้องเรียนได้
สำหรับกลุ่มที่มีถิ่นถาวรในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มมาจากต่างประเทศ เมื่อได้ใบถิ่นที่อยู่แล้ว จะต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและบัตรคนไม่มีสัญชาติไทย ตาม พรบ.การทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493 ที่ออกเอกสารโดยตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ไม่ใช่สำนักทะเบียน กรมการปกครอง ทำให้มีการซ้ำซ้อนกันกับการออกบัตรชมพูของ กรมการปกครอง และทำให้มีแนวคิดว่า สนง.ตำรวจแห่งชาติต้องการโอนงานทะเบียนคนต่างด้าวมาให้กรมการปกครอง กรมเห็นว่าถ้าโอนมาจะดำเนินการยกเลิก การทะเบียนคนต่างด้าว เพราะเป็นกลไกซ้ำซ้อนกัน เมื่อถือกฎหมายคนละฉบับ ก็จะมีเหตุผลจำเป็นตามกฎหมายแต่ละฝ่าย หากจะเลิกก็ต้องวิเคราะห์ผลดีผลเสียก่อน และติดที่มติ ครม. เพราะหากจะโอนต้องโอนเรื่องคนและงบประมาณมาด้วย
โดยระบบงานทะเบียนของกรมการปกครองเรามีระบบเพราะเชื่อมโยงกันหมด สามารถระบุตัวคนจากอัตลักษณ์ ดูจากการแสกนใบหน้าได้ เช่นนั้นต้องส่งเสริมให้ชนกลุ่มน้อย แรงงานต่างด้าว ที่มีถิ่นฐานมาลงทะเบียนได้
ส่วนคนเข้ามาอยู่ชั่วคราวตามที่เป็นข่าว เช่นคนจีนที่เข้ามาถูกต้อง ที่มีวีซ่า 6 เดือนขึ้นไป กฎหมายบังคับว่าต้องให้อยู่ใน ทร 13 ที่ใช้ลงรายการของคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ใน ลักษณะชั่วคราว หรือเข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง แต่ถ้าน้อยกว่า 6 เดือนถ้าต้องการลงทะเบียนเป็นสิทธิที่สามารถแจ้งชื่อคนต่างด้าวได้ ตามกฎกระทรวงมหาดไทยปี 2562
สุดท้ายกลุ่มที่อยู่ในไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อ้างว่าเกิดไทยแล้วยังพิสูจน์ไม่ได้ จะทำทะเบียนประวัติครอบคลุมไว้เพื่อให้พัฒนาสถานะมีตัวตน กรณีเด็กเร่ร่อนถูกทิ้งแจ้งเกิดไม่ได้อยู่ในสถานสงเคราะห์หรือไม่อยู่ สามารถทำทะเบียนได้ แต่จะต่างกับเด็กที่เข้ามาเรียน ถ้าจะให้แก้ปัญหาต้องยอมรับว่าเด็กที่เข้ามาเรียน จะเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติมีภูมิลำเนาแต่ไม่มีหลักฐานการเป็นพลเมืองประเทศอื่น อันนี้ชัดเจน ขอทำความเข้าใจว่า คนไร้รัฐไร้สัญชาติ เรามีทางแก้ปัญหาทุกบริบท แต่ไม่ใช่กรณีสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริต หรือเอาคนเข้ามาใหม่จะกลับไปสู่ปัญหาเดิม ลักลอบเข้ามเมืองต้องมีการปราบปรามจับกุม ถ้าใครจะเข้ามาในช่องนี้ด้วยผลประโยชน์ ก็ต้องฝากให้ช่วยกันดู ถ้าทำงานทั้งสองมิติ การเรียกร้องสิทธิให้กับคนที่ไม่มีความรู้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่ถ้าคนไม่มีสิทธิก็ต้องแจ้งว่าเป็นกลุ่มมาใหม่มาแล้วกลับไปได้ กรมการปกครองพยายามทำทุกอย่างให้อยู่ในร่องในรอย
สำหรับปัญหานักเรียนรหัส G กรมการปกครองพยายามแก้ปัญหามาโดยตลอด แต่เด็กเคลื่อนย้ายเร็ว เด็กบางคนมีเลขแต่บอกว่าไม่มีอะไร กรมการปกครองขอผลักดันให้มีการร่วมกันแก้ไขปัญหา ส่วนผู้ลี้ภัยหรือผุ้หนีภัยที่เข้ามาใหม่อันนี้อยู่ที่ นโยบายของ สมช.ว่าจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไร กรมการปกครองพร้อมที่จะปฏิบัติ
กรมการปกครองเป็นหน่วยปฏิบัติ และได้สะท้อนปัญหาการปฏิบัติไปสู่นโยบายไปยัง สมช. จากการรับฟังปัญหาเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีในการแก้ปัญหาคนไร้รัฐไร้สถานะและปัญหาผู้ลี้ภัย
ส่วนแรงงานต่างด้าวไม่ได้ขึ้นทะเบียน ทางกรมการปกครอง ขอความร่วมมือให้ภาคประชาสังคมในพื้นที่ช่วยผลักดันให้แรงงานพิทักษ์สิทธิตัวเอง และทางปกครองได้ผลักดัน สมช. ให้เปิดรับการขึ้นทะเบียนตลอดเวลา แต่การเปิดตลอดเวลาทำให้มีแนวโน้มว่าจะมีการพากันเข้ามาตลอดเวลา แต่เห็นว่าอาจกระตุ้นให้เด็กมาลงทะเบียนโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย เพื่อให้เข้ามารับสิทธิ หลายปัญหาผลักเป็นภาระของรัฐที่เด็กไม่ไปขึ้นทะเบียน
ส่วนปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการล่าช้ายอมรับว่ามีอยู่ แต่สามารถร้องเรียนได้ โดยทางกรมฯ ต้องการความร่วมมือจากภาคประชาสังคม และองค์กรเอกชนในการกระตุ้นสิทธิ์ให้ผู้เข้ามาในประเทศไทยลงทะเบียนเพื่อพิทักษ์สิทธิ์ตนเอง
นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าวว่า ขอมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ลี้ภัย หากสามารถมองที่ระบบโครงสร้าง ตีปัญหาเชิงโครงสร้าง จะเห็นว่าโครงสร้างตรงนี้คือการบริหารจัดการสถานการณ์ผู้ลี้ภัย เราจะทราบว่าถ้ามีกฎหมายรองรับแล้วทำให้เข้าถึงสวัสดิการ มองมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ แล้วเราสามารถบริหารจัดการได้ เชื่อมั่นว่ารัฐบาลชุดใหม่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามเป็นผู้นำรัฐบาล จุดยืนทางการทูต จุดยืนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นกับพม่า เรื่องไฮโปรไฟล์เคสต่าง ๆ ที่เข้ามา ไม่ใช้สารัตถะที่สำคัญว่ารัฐบาลจะไม่สามารถบริหารจัดการระหว่างประเทศได้ เรื่องนี้จำเป็นต้องก้าวข้ามให้ได้ผ่านความเกรงกลัว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่จะลดน้อยถอยลง
“เราจำเป็นต้องแสวงหาการเป็นผู้นำของประเทศไทย ในเวทีระหว่างประเทศในการเป็นผู้นำการจัดการด้านสิทธิมนุษยชนและงานด้านมนุษยธรรม สำหรับเรื่องคนที่ลี้ภัยเข้ามาใหม่ในปัจจุบันตอนนี้ที่มีเกือบ 5 พันคน ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่มีอีก 2 แสนกว่าคนที่ยังรออยู่ในฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า ถ้าสถานการณ์เกิดขึ้น การหลั่งไหลผุ้ลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทยเราจะบริหารจัดการอย่างไร”
เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องมีความร่วมมือกับกรอบความร่วมมือเชิงภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นพหุภาคีกับอาเซียน หรือใช้ทวิภาคกับประเทศใดประเทศหนึ่งก็ตาม จำเป็นต้องมองหาโอกาสในการรองรับการลี้ภัยเข้ามาใหม่ ที่ต้องทำงานเชิงโครงสร้างและนิติบัญญัติที่จะผลักดันในการทำงานต่อไป
น.ส.ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ความคืบหน้าประเด็นที่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศสุดท้ายที่ยังคง ข้อสงวนในมาตราที่ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แต่ขณะนี้ในแง่ของคณะกรรมการชั้นพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ของประเทศไทยในการถอนข้อสงวน ได้รับรองเรียบร้อยแล้วว่าประเทศไทยจะถอนข้อสงวน เตรียมเสนอเข้า ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติ
อีกเครื่องมือหนึ่งที่ไทยจะใช้ที่จะคุ้มครองเด็กอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน คือ ปฏิญญาอาเซียน ซึ่งไทยเป็นผู้ผลักดันปฏิญญา และทำแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาค ส่วนเรื่องของศักยภาพของเจ้าหน้าที่ ผู้บังคับใช้กฎหมาย และนักสังคมสงเคราะห์ที่จะต้องให้บริการเด็กอพยพโยกย้ายถิ่นฐานทุกกลุ่ม เป็นสิ่งที่ยูนิเซฟร่วมกับภาครัฐและประชาสังคมในการทำงาน ไม่ได้ทำงานบริการโดยตรงแต่เป็นฝ่ายสนับสนุนแต่ละฝ่ายในการดูแลเด็กอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน อย่างไรก็ตามปัจจุบันการมองนโยบายแบบกว้างดูเป็นประโยชน์กับเด็กๆ แต่พอลงมาในภาคปฏิบัติจะมีปัญหาติดปัญหาทุกที
นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า กสม.เข้ามาทำงานได้ 2 ปี มีเรื่องรับร้องเรียนเรื่องสิทธิสถานะ 441 เรื่อง มากพอสมควรเมื่อ กสม.สั่งคุ้มครองไป ทางอำเภอสามารถแก้ปัญหาได้ทุกครั้ง แสดงว่าเป็นปัญหาเรื่องการแปลนโยบายสู่การปฎิบัติ แต่ละอำเภอ ซึ่ง กสม.ก็เข้มงวดเรื่องนี้ขึ้นมา ถ้ายื่นคำขอไปแล้วล่าช้าถือว่าละเลยละเมิดสิทธิเหมือนกัน จึงเห็นว่าจะน่าจะร่วมกันแก้ปัญหาร่วมกันแทนการแก้ทีละกรณี มาหารือเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันได้
เพื่อทำข้อเสนอแนะคิดว่าจะปรึกษากับ สมช. และมีข้อเสนอเชิงนโยบายกับรัฐบาล ต้องแก้ปัญหาเดิมให้เสร็จไปเรียบร้อยไประดับหนึ่งก่อน และอาจต้องมีกลไกพิเศษชายแดน ที่ภาคประชาสังคมเสนอ
ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับผู้ลี้ภัย ประการแรก ที่จะต้องทบทวนคือยอมรับความจริงว่ามีผู้ลี้ภัยในประเทศไทย อย่างน้อยที่สุดคนที่อยู่ในที่พักพิงชั่วคราวเป็นผู้ลี้ภัยแน่นอน จำนวนมากอาจได้ย้ายถิ่นฐานไปประเทศที่สามแล้วด้วยซ้ำไป ประการที่สอง ต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยเราไม่สามารถแก้ปัญหาโดยลำพังได้ ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคม ประชาคมนานาชาติ การกีดกันการไม่ให้มีส่วนร่วมมันไม่เป็นผลดีกับรัฐบาลและหน่วยงานไทยด้วยซ้ำไป เพราะศักยภาพในการจัดการอาจมีศักยภาพไม่เพียงพอ จึงต้องมีส่วนร่วมที่จำเป็น
การเข้าถึงสิทธิของคนที่ไม่มีมีสถานะบุคคล ไม่ได้บอกว่าทุกคนจะต้องมีสถานะบุคคลสัญชาติไทย เพราะสถานะบุคคลมีได้หลายสถานะ แต่สถานะที่ทุกคนจำเป็นต้องมีคือสามารถอยู่ที่ใดที่หนึ่งได้ โดยที่ไม่ต้องกังวลว่า ซักวันตัวเองจะต้องถูกจับ อันนี้สำคัญมากในการที่จะให้บุคคลอยู่ในประเทศไทยได้แบบถูกต้องตามกฎหมายไม่ว่าจะสถานะใดก็ตาม ถึงจะเรียกว่าได้ดำเนินการตามสถานะบุคคลจริง ๆ ขอฝากเรื่องเหล่านี้ไว้เป็นข้อคิดบางประการ
นางเตือนใจ ดีเทศน์ กล่าวว่า เราจะต้องก้าวข้ามข้อจำกัดทั้งหลายไปสู่แนวคิดใหม่ ๆ ที่เปิดกว้าง เวทีได้เปิดได้รับฟังสถานการณ์ทุกฝ่าย และหวังว่าจะเป็นเวทีแรกที่จุดประกายและจะมีเวทีต่อๆ ไป เพื่อนำความคิดข้อเสนอที่สร้างสรรค์ที่ออกจากกรอบข้อจำกัดทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติเรื่องความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อบ้าน หรือเรื่องของนโยบายดี กฎหมายดี มติ ครม.ดี กฎกระทรวง ระเบียบ หนังสือสั่งการมีแล้ว แต่บางกรณีไม่ทันขึ้นอยู่กับตัวบุคคลฝ่ายปฏิบัติ บางจังหวัดผลงานดีมาก มีภาคประชาสังคมช่วยกันขับเคลื่อน ปลัดกระทรวงได้มีหนังสือเวียนสั่งการจึงทำให้ผู้เฒ่าเข้าถึงสิทธิแปลงสัญชาติสิ่งเหล่านี้ต้องตั้งวงคุยกันหลาย ๆ ประเด็น นำไปสู่ข้อเสนอทางกฎหมายระดับชาติและระดับอาเซียนด้วย มีการตั้งคำถามว่าทำไมประเทศไทยต้องรับผู้ลี้ภัยและผุ้หนีภัยเข้ามาตลอด และประเทศอื่นในอาเซียนจะรับความรู้สึกหนาวร้อนร่วมกันหรือไม่ ที่จะช่วยให้เพื่อนมนุษย์เราจากเมียนมาได้มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันกับผู้อื่น