ThaiPublica > สู่อาเซียน > “เป้าหมาย” ของจีน ในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่คู่ขนานกับ “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา”

“เป้าหมาย” ของจีน ในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่คู่ขนานกับ “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา”

14 เมษายน 2023


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

หวังหนิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ประจำมณฑลยูนนาน พบกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ที่กรุงเนปิดอ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 เพื่อสรุปการพบปะพูดคุยกับหน่วยงานต่างๆของเมียนมา เรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง 2 ประเทศ ที่มาภาพ : Popular News Journal

เป้าหมายของจีนที่ต้องลงมาเล่นบท “ผู้ไกล่เกลี่ย” ความขัดแย้งบางส่วน ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในเมียนมา คือเรื่อง “เศรษฐกิจ”

เนื่องจากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของเมียนมา อยู่ในจุดสำคัญของข้อริเริ่ม “1 แถบ 1 เส้นทาง” หรือ Belt and Road Initiative(BRI) เป็นปลายทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียที่ใกล้ที่สุดของจีน ตามแนว “ระเบียงเศรษฐกิจ จีน-เมียนมา”

กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ทุกกลุ่มที่จีนกำลังเจรจาพูดคุยอยู่นั้น ล้วนเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นทางผ่านของระเบียงเศรษฐกิจเส้นนี้ ที่จีนได้เริ่มต้นเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2564

  • หวัง อี้ จาก “การทูตนักรบหมาป่า” สู่ผู้สร้างสันติภาพระหว่างซาอุดีอาระเบีย-อิหร่าน
  • เมื่อมังกรผงาดในวงการทูตโลก!!
  • ……

    ข่าวพิธีลงนามในเอกสารความร่วมมือเมียนมา-มณฑลยูนนาน หลายฉบับ ที่ถูกนำเสนอในหนังสือพิมพ์ The Global New Light of Myanmar ฉบับวันที่ 3 เมษายน 2566

    วันที่ 1-3 เมษายน 2566 หวังหนิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ประจำมณฑลยูนนาน ได้นำคณะ เดินทางมาเยือนเมียนมา มีการพบปะพูดคุยกับผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวของในประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง 2 ประเทศ โดยเฉพาะการค้าขาย การลงทุน การเดินทางและขนส่งสินค้าข้ามแดน วางแผนเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างมณฑลยูนนานกับเมียนมา รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันในด้านอื่นๆ

    หวังหนิง ยังได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามเอกสารความร่วมมือและบันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยงานรัฐของเมียนมาและมณฑลยูนนาน หลายฉบับ ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมฮอริซอน เลค วิว ในกรุงเนปิดอ

    ก่อนเดินทางกลับ ในวันที่ 3 เมษายน 2566 หวังหนิงได้พบกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ(SAC) และนายกรัฐมนตรีเมียนมา ที่ห้องรับรองในทำเนียบประธาน SAC เพื่อตอกย้ำบทสรุปของเรื่องราวต่างๆที่เขาเพิ่งพูดคุยกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเมียนมา เมื่อ 2 วันก่อนหน้านั้น

    วันที่ 30 มีนาคม 2566 ก่อนเดินทางมาถึงเมียนมา หวังหนิงเพิ่งนำคณะไปเยือน สปป.ลาว มีผลการพูดคุยระหว่างมณฑลยูนนานกับลาวที่เป็นรูปธรรม คือกำหนดวันเปิดเดินรถไฟลาว-จีน ข้ามประเทศ เที่ยวปฐมฤกษ์ ระหว่างนครคุนหมิงกับนครหลวงเวียงจันทน์ ที่จะเริ่มในวันที่ 13 เมษายน 2566

    จากเดิม ตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการเมื่อเดือนธันวาคม 2564 รถไฟลาว-จีน วิ่งให้บริการเฉพาะในประเทศลาว ระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์กับเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา เท่านั้น เพราะติดข้อจำกัดเรื่องมาตรการควบคุมโควิด-19 ของจีน…

    1 สัปดาห์ ก่อนหน้าเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประจำยูนนาน เดินทางมาเยือนเมียนมา

    ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ตู้ เจี้ยนฮุย นายกเทศมนตรีเมืองหลินชาง นำคณะเดินทางไปยังกรุงย่างกุ้ง เพื่อร่วมประชุมกับคณะกรรมการสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมา(Myanmar Federation of Chamber of Commerce and Industry : UMFCCI) ที่นำโดย อู เอวิน ประธาน UMFCCI

    การประชุม Lincang Municipal Investment Promotion เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 ในกรุงย่างกุ้ง ที่มาภาพ : สถานทูตจีนประจำเมียนมา
    ตู้ เจี้ยนฮุย(ซ้าย) นายกเทศมนตรีเมืองหลินชาง และ อู เอวิน(ขวา) ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมา(UMFCCI) ในการประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 ที่มาภาพ : UMFCCI

    จากนั้น คณะของนายกเทศมนตรีเมืองหลินชาง ได้จัดประชุมในหัวข้อ Lincang Municipal Investment Promotion ขึ้น ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงย่างกุ้ง โดยเชิญตัวแทนซึ่งเป็นบุคคลสำคัญทางด้านการค้าและธุรกิจ จากทั้งฝ่ายจีนและฝ่ายเมียนมา ประมาณ 60 คน เข้าร่วม

    รายชื่อผู้เข้าประชุมที่สำคัญ เช่น อู ไอ่ทูน ประธานหอการค้าเมียนมา-จีน ถาน ซูฟู่ ทูตเศรษฐกิจ สถานทูตจีนประจำเมียนมา ซึ่งเคยเป็นรองประธานคณะทำงานร่วมด้านเศรษฐกิจการค้าหลิงชาง-เมียนมา มาก่อน

    ตามข้อมูลที่เผยแพร่โดยสถานทูตจีนประจำเมียนมา และ UMFCCI การนำคณะเดินทางมาเยือนเมียนมาของทีมนายกเทศมนตรีเมืองหลินชางครั้งนี้ นอกจากได้กระชับความสัมพันธ์ระหว่างนักธุรกิจจากหลินชางและเมียนมาแล้ว ยังมีการพูดคุยเรื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง 2 พื้นที่ ในหลายประเด็น เช่น การเปิดประตูการค้าที่ช่องทาง “ชิงส่วยเหอ” อย่างเต็มรูปแบบ การสร้างเขตการค้าเสรีขึ้นที่ด่านชายแดนชิงส่วยเหอ

    ที่สำคัญ มีการคาดหมายว่า จะเริ่มต้นสร้างทางรถไฟ เชื่อมจากตัวเมืองหลินชางมายังด่านชายแดนชิงส่วยเหอ ในปีนี้…

    หลินชางเป็นจังหวัดในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนาน มีพรมแดนติดกับเขตปกครองตนเองชนชาติโกก้าง รัฐฉานเหนือ มีด่านชายแดนชิงส่วยเหอ ที่เป็นประตูการค้าระหว่างจีนและเมียนมา ที่สำคัญเป็นลำดับสอง รองจากช่องทางหมู่เจ้-รุ่ยลี่ ประตูการค้าชายแดน “เมียนมา-จีน” ที่ใหญ่ที่สุด

  • “หมู่เจ้” ประตูการค้าจีน-เมียนมาที่ “ใหญ่” ที่สุด
  • จีนเริ่มเดินหน้า “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา” อย่างเป็นรูปธรรมเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ด้วยการเปิดเดินรถไฟขนส่งสินค้าเที่ยวปฐมฤกษ์ จากท่าบก(dry port) ในเมืองหลินชาง เพื่อนำสินค้าขึ้นไปส่งยังเมืองเฉิงตู เมืองหลักของมณฑลเสฉวน ระยะทาง 1,170 กิโลเมตร

    สินค้าที่ถูกขนไปพร้อมกับรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ขบวนนี้ ถูกส่งมาทางเรือในมหาสมุทรอินเดีย มาขึ้นบกที่ท่าเรือย่างกุ้ง จากนั้นถูกลำเลียงโดยรถบรรทุกไปตามทางหลวงหมายเลข 1 และ 3 จากกรุงย่างกุ้งขึ้นไปถึงด่านชายแดนชิงส่วยเหอ และข้ามชายแดนไปยังเมืองหลินชาง เพื่อส่งต่อไปถึงเฉิงตูโดยทางรถไฟ

    “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา” ใช้การขนส่งสินค้าแบบผสมผสาน“เรือ-รถ-รถไฟ” มีเมืองหลินชางเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นชุมทางหลัก

    จากจุดเริ่มต้นที่เมืองหลินชาง มีเส้นทางมุ่งหน้าลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านเขตปกครองตนเองชนชาติไตและว้า กึ่งม้า พื้นที่ชายแดนที่อยู่ติดกับเขตปกครองตนเองชนชาติโกก้าง รัฐฉาน(โปรดดูแผนที่ประกอบ)

    แนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา ช่วงต้น จากหลินชาง ผ่านชิงส่วยเหอ มาบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 3(ล่าเสี้ยว-มัณฑะเลย์) ที่เมืองแสนหวี รัฐฉาน

    เมื่อข้ามพรมแดนจีน-เมียนมาที่ช่องทางชิงส่วยเหอ ในเขตปกครองตนเองโกก้าง มีถนนหมายเลข 34 ที่จะนำไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 3(ล่าเสี้ยว-มัณฑะเลย์) ที่เมืองแสนหวี

    จากนั้นก็เข้าสู่โครงข่ายเส้นทางคมนาคมหลักของเมียนมา ที่มีเส้นทางต่อไปถึงมัณฑะเลย์ กรุงเนปิดอ กรุงย่างกุ้ง ชายแดนเมียนมา-อินเดีย ในภาคสะกาย และริมชายหาดของมหาสมุทรอินเดีย ที่รัฐยะไข่…

    ที่ด่านชายแดนชิงส่วยเหอ เมื่อลงมาตามถนนหมายเลข 34 เพื่อไปยังเมืองแสนหวี ยานพาหนะทุกคัน ต้องข้ามแม่น้ำสาละวินที่เมืองกุ๋นโหลงเสียก่อน

    สะพานข้ามแม่น้ำสาละวินที่กุ๋นโหลงเป็นสะพานเก่าแก่ และยังได้รับความเสียหายจากเหตุไม่สงบเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 เมื่อกองกำลังติดอาวุธ 3 กลุ่ม ได้แก่ กองทัพตะอั้ง(TNLA) กองทัพโกก้าง(MNDAA) และกองทัพอาระกัน(AA) ซึ่งรวมตัวกันในนามพันธมิตรภาคเหนือ เปิดฉากสู้รบกับกองทัพพม่าต่อเนื่องเกือบ 1 เดือนเต็ม ในหลายพื้นที่ของรัฐฉาน รวมถึงที่เมืองกุ๋นโหลงและแสนหวี

    สะพานแห่งนี้ จึงเป็นเหมือนคอขวดในการขนส่งสินค้าตามแนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา ระหว่างชายแดนชิงส่วนเหอ กับกรุงย่างกุ้ง หรือรัฐยะไข่

    สะพานข้ามแม่น้ำสาละวินแห่งใหม่ ที่กำลังสร้างอยู่ในเมืองกุ๋นโหลง ที่มาภาพ : สถานทูตจีนประจำเมียนมา
    สะพานข้ามแม่น้ำสาละวินที่เมืองกุ๋นโหลงแห่งแรก ซึ่งเก่าแก่และมีสภาพทรุดโทรม กับสะพานใหม่ ที่กำลังสร้างอยู่เคียงคู่กัน

    เดือนธันวาคม 2563 รัฐบาลจีนได้ช่วยเหลือสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสาละวินที่เมืองกุ๋นโหลงให้ใหม่ ด้านข้างเกือบคู่ขนานไปกับสะพานเก่า

    สะพานใหม่ใช้งบประมาณก่อสร้าง 137 ล้านหยวน หรือประมาณ 685 ล้านบาท เป็นสะพานคอนกรีต เฉพาะตัวสะพานยาว 286 เมตร กว้าง 12 เมตร รองรับน้ำหนักรถบรรทุกสูงสุด 75 ตันต่อคัน เมื่อรวมกับถนนที่สร้างขึ้นใหม่ทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำสาละวิน ระยะทางสำหรับก่อสร้างสะพานใหม่แห่งนี้ ยาวรวม 4.2 กิโลเมตร

    เมื่อเริ่มต้นก่อสร้าง รัฐบาลจีนประเมินไว้ว่าสะพานแห่งใหม่ต้องใช้เวลาสร้าง 36 เดือน หรือประมาณปลายปี 2566 จึงจะเสร็จสมบูรณ์

    วันที่ 7 มีนาคม 2566 ถาน ซูฟู่ ทูตเศรษฐกิจ สถานทูตจีนประจำเมียนมา อดีตรองประธานคณะทำงานร่วมด้านเศรษฐกิจการค้าหลิงชาง-เมียนมา นำคณะเดินทางไปดูความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสาละวินแห่งใหม่ ที่เมืองกุ๋นโหลง

    ถาน ซูฟู่(คนกลางหมวกสีขาว) ทูตเศรษฐกิจ สถานทูตจีนประจำเมียนมา นำคณะเดินทางไปดูความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสาละวิน ที่เมืองกุ๋นโหลง

    วันที่ 14 มีนาคม 2566 สถานทูตจีนประจำเมียนมา เผยแพร่ข่าวของสะพานแห่งนี้ว่า การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 87% คาดว่าการก่อสร้างจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนมิถุนายน 2566 ที่จะถึงนี้…

    “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา” ไม่ได้มีเฉพาะเส้นทางคมนาคม “หลินชาง-ชิงส่วยเหอ-กุ๋นโหลง-แสนหวี-มัณฑะเลย์-ย่างกุ้ง” ที่เป็นรูปแบบการคมนาคมผสมผสาน “เรือ-รถ-รถไฟ” เส้นนี้สายเดียวเท่านั้น

    โครงการหลักที่ถูกวางไว้ก่อนหน้านั้นนานแล้ว คือการสร้างทางรถไฟ ที่เชื่อมจากเมืองหมู่เจ้ ประตูการค้าที่ใหญ่ที่สุดระหว่างจีนและเมียนมา ในรัฐฉานเหนือ ผ่านมัณฑะเลย์ ลงไปสู่ปลายทางที่ท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว รัฐยะไข่

    โครงการนี้แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก “หมู่เจ้-มัณฑะเลย์” ยาว 431 กิโลเมตร กระทรวงขนส่งทางราง เมียนมา เซ็นบันทึกความเข้าใจ(MOU) ให้บริษัท China Railway Eryuan Engineering Group จากจีนเป็นผู้ก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2561 ถัดมา ปี 2562 เริ่มมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ สำรวจ เก็บข้อมูล ประชุมชี้แจงต่อชาวบ้าน เพื่อจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวลล้อมและสังคม

    โครงการช่วงที่ 2 “มัณฑะเลย์-เจ้าก์ผิ่ว” กระทรวงคมนาคมและสื่อสาร เมียนมา เซ็น MOU ให้บริษัท China Railway Eryuan Engineering Group เข้ามาสำรวจความเป็นไปได้เพื่อสร้างทางรถไฟช่วงนี้ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2564 ก่อนการรัฐประหารไม่ถึงเดือน

    จากนั้นเรื่องราวเกี่ยวกับทางรถไฟสายนี้ ก็เงียบไป

    การประชุมร่วมระหว่างการรถไฟเมียนมา กับบริษัท China Railway Eryuan Engineering Group เมื่อเดือนกันยายน 2565 ซึ่ง Frontier Myanmar ระบุว่าเป็นภาพที่ปรากฏอยู่ในชุมชนออนไลน์ของจีน

    เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 Frontier Myanmarมีรายงานว่า หลังการรัฐประหาร รัฐบาลทหารพม่าได้เริ่มเดินหน้าโครงการรถไฟ“หมู่เจ้-มัณฑะเลย์-เจ้าก์ผิ่ว” ระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร ขึ้นแล้วอย่างเงียบ ๆ

    ตามข่าวของ Frontier Myanmar รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ของโครงการรถไฟช่วง “หมู่เจ้-มัณฑะเลย์” ได้รับอนุมัติแล้วในปี 2565

    มีการเสนอภาพการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ของการรถไฟเมียนมา กับเจ้าหน้าที่ China Railway Eryuan Engineering Group เกี่ยวกับการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ เมื่อเดือนกันยายน 2565 โดย Frontier Myanmar ระบุว่าเป็นภาพที่ปรากฏอยู่ในชุมชนออนไลน์ของจีน

    รวมถึงมีการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่จากการรถไฟเมียนมารายหนึ่ง ซึ่งเปิดเผยว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงคมนาคมและสื่อสาร เมียนมา และบริษัท China Railway Eryuan Engineering Group เพื่อพิจารณาแนวเส้นทางช่วงมัณฑะเลย์-เจ้าก์ผิ่ว และกำหนดว่าทางรถไฟช่วงนี้ ต้องผ่านเมืองใดบ้าง

    แผนที่เส้นทางรถไฟของ Frontier Myanmar ระบุชื่อเมืองและพื้นที่ซึ่งทางรถไฟ “หมู่เจ้-เจ้าก์ผิ่ว” ต้องผ่าน

    Frontier Myanmar ได้ทำแผนที่คร่าวๆระบุพื้นที่ต่างๆที่ทางรถไฟต้องผ่าน ตั้งแต่ต้นทางที่หมู่เจ้ ลงมาถึงปลายทางที่เจ้าก์ผิ่ว โดยรายชื่อเมืองที่เส้นทางรถไฟผ่าน มีดังนี้(ดูแผนที่ประกอบ)

    -หมู่เจ้ ชายแดนเมียนมา-จีน ในรัฐฉานเหนือ
    -เมืองน้ำผักกา อำเภอก๊ตขาย จังหวัดหมู่เจ้ รัฐฉาน
    -เมืองแสนหวี จังหวัดล่าเสี้ยว รัฐฉาน
    -เมืองล่าเสี้ยว จังหวัดล่าเสี้ยว รัฐฉาน
    -เมืองหนองเขียว จังหวัดจ๊อกแม รัฐฉาน
    -เมืองมัณฑะเลย์ ภาคมัณฑะเลย์
    -เมืองหญ่องอู ภาคมัณฑะเลย์ ที่ตั้งของอาณาจักรโบราณพุกาม
    -เมืองมะกวย ภาคมะกวย
    -เมืองเจ้าก์ผิ่ว รัฐยะไข่

    ……

    จากไทม์ไลน์ความเคลื่อนไหวต่างๆเพื่อผลักดันเดินหน้า “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา” ในช่วงกว่า 6 เดือนที่ผ่านมา กับกระบวนการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์บางกลุ่มในเมียนมา ของเติ้ง ซีจุน ทูตพิเศษฝ่ายกิจการเอเซีย กระทรวงการต่างประเทศจีน ที่เริ่มเข้ามารับตำแหน่งนี้เมื่อปลายปี 2565

    ทั้ง 2 เรื่องนี้ มีความสอดคล้องกัน…

  • จีนเริ่มเล่นบทผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง“บางส่วน”ในเมียนมา
  • เดินหน้าระเบียงเศรษฐกิจ “จีน-เมียนมา” กรุยเส้นทางสั้นที่สุดสู่มหาสมุทรอินเดีย
  • “หมู่เจ้” ประตูการค้าจีน-เมียนมา ที่ “ใหญ่” ที่สุด