ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ตลาดส่งออกข้าว กัมพูชา เมียนมา เวียดนามคึกคัก หลังอินเดียห้ามส่งออก

ASEAN Roundup ตลาดส่งออกข้าว กัมพูชา เมียนมา เวียดนามคึกคัก หลังอินเดียห้ามส่งออก

20 สิงหาคม 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 13-19 สิงหาคม 2566

  • กัมพูชาตกลงส่งออกข้าว 125,000 ตันให้อินโดนีเซีย
  • เมียนมาเล็งเพิ่มการส่งออกข้าวในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
  • เวียดนามวางยุทธศาสตร์ระยะยาวส่งออกข้าว-รักษาเสถียรภาพตลาด
  • ราคาข้าวส่งออกเวียดนามสูงสุดในตลาดโลกแซงไทย
  • ผู้ส่งออกเวียดนามเจรจาต่อรองราคาข้าวสูงขึ้นหลังอินเดียห้ามส่งออก
  • ฟิลิปปินส์เตรียมนำเข้าข้าวเพิ่มรับมือปรากฏการณ์เอลนีโญ
  • กัมพูชา-ลาวเปิดชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Code
  • กัมพูชาตกลงส่งออกข้าว 125,000 ตันให้อินโดนีเซีย

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501344884/cambodia-to-export-125000-tonnes-of-rice-to-indonesia/
    กัมพูชาและอินโดนีเซียบรรลุข้อตกลงการซื้อขายข้าว โดยอินโดนีเซียจะซื้อข้าวจากกัมพูชาอีก 125,000 ตัน จากการประกาศในการประชุมระหว่างนายพัน สอระสัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายปาลาฮา นูกราฮา มันซูรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียในกรุงพนมเปญเมื่อวันพุธ(16 ส.ค.)

    ในระหว่างการเยือนกัมพูชาเป็นเวลา 2 วัน นายปาลาฮา นูกราฮา มันซูรี ได้พบปะกับนายพัน สอระสัก นายดิธ ตินา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง และสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) เพื่อหารือเกี่ยวกับการซื้อข้าวจากกัมพูชา

    “อินโดนีเซียตกลงที่จะซื้อข้าว 125,000 ตันจากกัมพูชา โดยเป็นข้าวขาว 100,000 ตันผ่าน Bulog และ Green Trade และข้าวเกรดสูง 25,000 ตันระหว่าง ID Food และสมาชิกสหพันธ์ข้าวกัมพูชา” กระทรวงระบุในแถลงการณ์

    ราคาและเงื่อนไขอื่น ๆ รวมถึงเวลาในการจัดส่งจะมีการหารือกันในอนาคตอันใกล้ แถลงการณ์ระบุ

    นอกจากนี้ กัมพูชาและอินโดนีเซียได้ตกลงที่จะแก้ไขบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการค้าข้าวระหว่างทั้งสองประเทศเป็นปริมาณ 250,000 ตันต่อปีเป็นระยะเวลา 4 ปี กระทรวงฯ ระบุ

    นายสอระสักสนับสนุนให้นักลงทุนอินโดนีเซียลงทุนในโรงสีข้าวที่ได้มาตรฐานเพื่อส่งออกไปยังตลาดของตนเองและต่างประเทศ

    ในการประชุมกับนายดิธ ตินาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม นายปาลาฮา นูกราฮา มันซูรี กล่าวว่า อินโดนีเซียต้องหาตลาดข้าวเพิ่มจากประเทศอื่นๆ รวมถึงกัมพูชา เพื่อประกันความมั่นคงทางอาหาร

    โดยชี้ว่าข้าวกัมพูชามีคุณภาพดี ได้รับการยอมรับและนำเข้าโดย 8 ประเทศสมาชิกอาเซียน นายปาลาฮา นูกราฮา มันซูรีกล่าวว่า “การที่มีข้าวกัมพูชาในตลาดอินโดนีเซียจะเป็นข้อพิสูจน์ใหม่ถึงความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศในด้านการค้า ”

    นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังสนใจที่จะลงทุนในโรงสีข้าว คลังสินค้าหรือโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ รวมถึงการจัดหาปุ๋ยให้กับกัมพูชาอีกด้วย

    ข้อตกลงซื้อข้าวกัมพูชาจากอินโดนีเซียมีขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา และประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ซึ่งยืนยันความตั้งใจของอินโดนีเซียในการนำเข้าข้าวจากกัมพูชา

    กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงกำลังส่งเสริมการผลิตข้าวในประเทศ เพื่อให้ได้ประโยชน์จากราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นในตลาดต่างประเทศ อิม ราชนา โฆษกของกระทรวงฯกล่าว

    “กัมพูชากำลังวางยุทธศาสตร์เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการห้ามส่งออกข้าวของอินเดีย โดยการเพิ่มขีดความสามารถของโรงสีในประเทศในการรวบรวมข้าวเพื่อจัดเก็บ เพิ่มการแปรรูป และส่งออกโดยตรงไปยังตลาดต่างประเทศ”

    กัมพูชาส่งออกข้าวสาร 329,633 ตันในครึ่งแรกของปีนี้ และทำรายได้ประมาณ 229 ล้านเหรียญสหรัฐฯโดยส่งออกไปยัง 52 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก พันธุ์ข้าวที่ส่งออก ได้แก่ ข้าวหอมระดับพรีเมียม ข้าวหอม ข้าวขาวเมล็ดยาว ข้าวนึ่ง และข้าวอินทรีย์

    CRF ได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกข้าวทั้งปี 2566 ของประเทศไว้ที่ 750,000 ตัน

    เมียนมาเล็งเพิ่มการส่งออกข้าวในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/myanmar-eyes-to-increase-rice-exports-in-coming-months/266454.vnp
    เย มิน อ่อง ประธานสหพันธ์ข้าวแห่งเมียนมา (Myanmar Rice Federation:MRF) เปิดเผยว่า อุปทานทั่วโลกที่ตึงตัวขึ้นน่าจะช่วยหนุนการขนส่งข้าวของเมียนมาให้ฟื้นตัวจากที่ลดลง 56% ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ และทำให้เข้าใกล้เป้าหมายรายได้ของปี 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯจากการส่งออกข้าว

    จากข้อมูลของ MRF ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงกรกฎาคมปีนี้ เมียนมาส่งออกข้าวเกือบ 320,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าเพียง 138 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังจากที่รัฐบาลตัดสินใจให้ความสำคัญกับการขายข้าวเกรดสูง

    อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการส่งออกข้าวปรับตัวดีขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว เมื่ออินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก สั่งห้ามการขายข้าวบางส่วนในต่างประเทศเพื่อคุมราคาในประเทศ ส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 15 ปี

    ประธาน MRF ระบุว่า เมียนมาหวังว่าจะได้ประโยชน์จากการห้ามส่งออกข้าวของอินเดีย แม้ว่าจะยังคงเน้นการส่งออกเฉพาะพันธุ์ที่มีคุณภาพสูงก็ตาม

    แม้การขายข้าวคุณภาพสูงสามารถสร้างรายได้ 700 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน เทียบกับ 300-400 เหรียญสหรัฐฯต่อตันสำหรับข้าวคุณภาพต่ำ มาตรการนี้ยังจำกัดจำนวนลูกค้าจากประเทศร่ำรวยอีกด้วย

    จากข้อมูลของ MRF ในช่วง 2 ปีงบประมาณที่ผ่านมา เมียนมามีรายได้ประมาณ 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปีจากการส่งออกข้าว และคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด ได้แก่ จีน ฟิลิปปินส์ และเบลเยียม ขณะที่สหรัฐฯ จัดอันดับให้เมียนมาเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 6 ของโลกในปีที่แล้ว

    ข้อมูลของสหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) รายงานว่า การส่งออกข้าวและข้าวหักของเมียนมาไปยังตลาดต่างประเทศมีมูลค่า 138 ล้านเหรียญสหรัฐฯในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (เม.ย.-ก.ค.) ของปีงบประมาณปัจจุบัน 2566-2567 โดยส่งออกในปริมาณ 310,000 ตัน แบ่งเป็นการค้าทางทะเล 294,100 ตัน และการค้าชายแดน 25,313 ตัน

    ในเดือนเมษายนปริมาณการส่งออกอยู่ที่ 87,648 ตัน รวมมูลค่า 36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมปริมาณการส่งออก 110,706 ตัน รวมมูลค่า 48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายนปริมาณการส่งออก มีจำนวน 62,725 ตัน มูลค่า 28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในเดือนกรกฎาคมตามส่งออก 58,334 ตัน มูลค่า 26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

    ปริมาณการส่งออกข้าวสูงสุดในเดือนพฤษภาคม จากนั้นก็ลดลงในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม

    MRF ตั้งเป้าที่จะส่งออกข้าวให้ได้ 2.5 ล้านตันในปีงบประมาณปัจจุบัน โดยคาดหวังรายได้ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

    เมียนมาส่งออกข้าวและข้าวหักปริมาณ 2,261,203 ตันไปยังคู่ค้าต่างประเทศในช่วงปีงบประมาณ 2565-2566 (เดือนเมษายน-มีนาคม) ที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าประมาณ 853.472 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

    ปีงบประมาณที่ผ่านมา จีนเป็นผู้ซื้อหลักของข้าวและข้าวหักของเมียนมามากกว่า 775,000 ตัน ตามมาด้วยเบลเยียม 323,000 ตัน บังกลาเทศกว่า 239,000 ตัน และฟิลิปปินส์กว่า 202,000 ตัน

    เมียนมาพยายามเพิ่มการส่งออกข้าวให้ได้ 10% ต่อปี MRF ระบุว่า เพื่อเพิ่มรายได้จากต่างประเทศ เมียนมาให้ความสำคัญกับการส่งออกข้าวเกรดสูงและเพิ่มปริมาณการส่งออก

    เมียนมามีรายได้กว่า 809.135 ล้านเหรียญสหรัฐฯจากการส่งออกข้าวประมาณ 2.164 ล้านตันในปีงบประมาณ 2564-2565 (เมษายน-มีนาคม)

    เวียดนามวางยุทธศาสตร์ระยะยาวส่งออกข้าว-รักษาเสถียรภาพตลาด

    ที่มาภาพ: https://vietnamnet.vn/en/ministry-building-long-term-strategy-on-rice-exports-market-stabilisation-2178636.html
    กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) กำลังวางยุทธศาสตร์ระยะยาวในการส่งออกข้าวและการรักษาเสถียรภาพของตลาด หลังจากหลายประเทศสั่งห้ามการส่งอก จากการเปิดเผยของนาย เจิ่น ก๊วก ตว๋าน รองอธบดีกรมนำเข้าและส่งออกของกระทรวง MoIT

    นายตว๋านกล่าวว่า การห้ามส่งออกของอินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และรัสเซีย ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และการถอนตัวของรัสเซียจากข้อตกลงธัญพืชในทะเลดำ(Black Sea grain deal) มีผลอย่างมากต่ออุปทานข้าวทั่วโลก ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารของโลก ตลอดจนส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลายประเทศเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อยังไม่ดีขึ้น

    โดยอ้างข้อมูลของกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทว่า ตั้งแต่ต้นปีนี้เวียดนามได้ปลูกข้าวไปแล้ว 7.1 ล้านเฮกตาร์ โดยมีผลผลิตรวมประมาณ 43.1 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าผลผลิตก่อนหน้านี้ 452,000 ตันต่อปี และจากผลผลิตที่นอกเหนือจากสนองความต้องการในประเทศ เวียดนามสามารถส่งออกได้มากกว่า 7.5 ล้านตันในปีนี้ โดยในช่วง 7 เดือนแรก มีการส่งออกไปต่างประเทศแล้ว 4.83 ล้านตัน

    ปัจจุบันกระทรวง MoIT ยังคงประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวง ภาคส่วน และท้องถิ่นอื่น ๆ เพื่อติดตามสถานการณ์ตลาดและปัญหาของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องได้ทันการณ์ เพื่อสามารถเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อขจัดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกในการส่งออกข้าวจากนี้ไปจนถึงสิ้นปีนี้

    กระทรวงฯจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการส่งเสริมการค้า ทั้งในรูปแบบดั้งเดิมและออนไลน์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ข้าวของเวียดนาม

    ในขณะเดียวกัน จะประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท เพื่อใช้ประโยชน์จากกลไกสิทธิพิเศษของข้อตกลงการค้าเสรีที่ลงนามแล้ว (FTAs) ในการเจรจากับคู่ค้าต่างประเทศ เพื่อกระจายตลาดส่งออก หาตลาดใหม่ที่น่าจะมีโอกาส และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเวียดนาม

    นอกจากนี้จะมีการให้คำแนะนำและการสนับสนุนเพื่อช่วยผู้ค้าและผู้ส่งออกในการปรับปรุงการผลิตและศักยภาพทางธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการเจรจา ลงนาม และทำสัญญาส่งออกและจัดการกับข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนจะพยายามควบคุมอุปทานและราคา และป้องกันการขนส่งและการค้าข้าวที่ไม่ทราบแหล่งที่มา

    ราคาข้าวส่งออกเวียดนามสูงสุดในตลาดโลกแซงไทย

    ที่มาภาพ: https://en.sggp.org.vn/vietnams-rice-export-prices-stay-highest-in-world-market-post104369.html
    กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทและสมาคมอาหารเวียดนามเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 เปิดเผยว่า ราคาส่งออกข้าวของเวียดนามพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในโลก

    โดยเฉพาะราคาส่งออกข้าวหัก 25% ขายที่ 618-622 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ซึ่งสูงกว่าราคาของไทยถึง 57 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ข้าวหัก 5% ของเวียดนามขายได้ 628-632 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ซึ่งสูงกว่าราคาข้าวไทย 10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน

    ผู้ส่งออกกล่าวว่าราคาข้าวเวียดนามเพิ่มขึ้นประมาณ 100 เหรียญสหรัฐฯต่อตันในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

    จากข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า มีผู้ค้าประมาณ 210 รายทั่วประเทศมีสิทธิ์ส่งออกข้าวได้ นครโฮจิมินห์มีผู้ส่งออก 47 ราย ในขณะที่เมืองเกิ่นเทอในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมีผู้ค้า 42 ราย เมืองล็องอานในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมีผู้ค้า 25 ราย ผู้ค้า จังหวัดด่งท้าบมีผู้ค้า 19 ราย และในจังหวัดอานซางมีผู้ค้า 18 ราย

    ผู้ส่งออกเวียดนามเจรจาต่อรองราคาข้าวสูงขึ้นหลังอินเดียห้ามส่งออก

    เรือขนข้าวในจังหวัดอานซาง ที่มาภาพ:https://tuoitrenews.vn/news/business/20230527/vietnam-to-cut-annual-rice-exports-by-44-to-4-mln-tonnes-by-2030/73393.html#gallery
    ผู้ส่งออกเวียดนามได้ เจรจาต่อรองราคาให้สูงขึ้นสำหรับข้าวประมาณ 500,000 ตัน จากการเปิดเผยของแหล่งข่าวในวงการค้าข้าว 2 แห่ง ขณะที่ราคาทั่วโลกพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี หลังจากอินเดียสั่งห้ามส่งออกข้าวไปขายในต่างประเทศเมื่อเดือนก่อน

    นับเป็นครั้งแรกที่ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นอย่างชัดเจนหลังคำสั่งห้ามอย่างกะทันหันของอินเดีย โดยผู้นำเข้าจ่ายเงินมากขึ้นสำหรับข้าวอินเดียที่บริโภคกันอย่างแพร่หลายมากที่สุดในโลก ท่ามกลางปริมาณที่ตึงตัว

    ผู้ส่งออกข้าวในเอเชียได้ขึ้นราคาเสนอขายประมาณ 20% เนื่องจากอินเดียห้ามส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติเมื่อเดือนที่แล้ว ทำให้ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออาหารสูงขึ้นสำหรับผู้บริโภคที่เปราะบางที่สุดในเอเชียและแอฟริกาซึ่งกำลังประสบกับอุปทานที่ลดลงเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและ สงครามในยูเครน

    “ผู้ซื้อตกลงที่จะจ่ายในราคาที่สูงขึ้นสำหรับสินค้าบางรายการที่ซื้อสำหรับการจัดส่งในเดือนสิงหาคม” ผู้ค้ารายหนึ่งจากบริษัทการค้าระหว่างประเทศกล่าวและว่า ข้าวประมาณ 200,000 ตันมีการจัดส่งในเดือนนี้ ขณะที่อีก 300,000 ตันยังไม่ได้นำมาลงที่ท่าเรือเวียดนาม

    ผู้นำเข้าซึ่งรวมถึงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ได้จ่ายเงินสำหรับข้าวหอมของเวียดนามเพิ่มขึ้น 30 ถึง 80 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน จากประมาณ 550 เหรียญสหรัฐฯต่อตันตามข้อตกลงที่ลงนามกัน ก่อนที่อินเดียจะสั่งห้ามส่งออกข้าวขาวในเดือนกรกฎาคม ผู้ค้าในสิงคโปร์กล่าว

    ส่งผลให้ผู้ขายมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 15 ล้านเหรียญสหรัฐฯถึง 40 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับราคาที่ตกลงก่อนการห้ามส่งออกของอินเดีย

    การห้ามส่งออกของอินเดียซึ่งส่งออกข้าวคิดเป็น 40% ของปริมาณข้าวของโลก ทำให้ข้าวหายไป 10 ล้านตันจากตลาดต่างประเทศ

    “การเจรจาใหม่โดยหลักแล้ว เป็นข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ” ตัวแทนจำหน่ายในมุมไบที่มีบริษัทการค้าระดับโลกเปิดเผย “ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างก็รับภาระส่วนหนึ่งของราคาที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาข้าวในประเทศพุ่งสูงขึ้น ผู้ขายไม่ได้ขึ้นราคาให้เท่ากับราคาตลาดในปัจจุบัน”

    ข้าวหอมจากเวียดนามมีราคาสูงถึง 700 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน แต่ราคาที่มีการเจรจากันใหม่อยู่ที่ประมาณ 580 ถึง 630 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน

    ราคาข้าวหัก 5% ของไทยอยู่ที่ 650-655 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ขณะที่ข้าวประเภทเดียวกันจากเวียดนามอยู่ที่ 620-630 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน

    ราคาข้าวไทยอยู่ที่ 545 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน และเวียดนามอยู่ที่ 515-525 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ก่อนที่อินเดียจะตัดสินใจระงับการส่งออกในเดือนกรกฎาคม

    ฟิลิปปินส์เตรียมนำเข้าข้าวเพิ่มรับมือปรากฏการณ์เอลนีโญ

    ที่มาภาพ:https://www.philstar.com/business/2021/05/14/2098027/philippines-import-more-rice-next-year?faodatalab=2021-05-14-1
    กระทรวงเกษตรของฟิลิปปินส์เสนอแนะให้ผู้ค้าเอกชน นำเข้าข้าวเพิ่มอีก 500,000 ตันเพื่อชดเชยการสูญเสียพืชผลที่อาจเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์สภาพอากาศแล้งเอลนีโญ เจ้าหน้าที่อาวุโสกล่าวเมื่อวันพุธ (16 ส.ค.)

    การนำเข้าเพิ่มขึ้นของฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกจะต้องมาถึงประเทศระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม ปลัดกระทรวงเกษตร เมอร์เซดิต้า ซอมบิลลา ชี้แจงต่อรัฐสภา

    การเสนอแนะให้นำเข้าข้าวเพิ่ม นี้นอกเหนือไปจากปริมาณการสั่งซื้อข้าวที่ผู้ค้าเอกชนได้รับการอนุมัติไปแล้วในปีนี้ ซึ่งข้าวปริมาณ 300,000 ตันคาดว่าจะมาถึงฟิลิปปินส์ในปลายเดือนนี้ และอีก 300,000 ตันในเดือนกันยายน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเวียดนาม

    ราคาขายปลีกสำหรับข้าวนำเข้าและที่ผลิตในประเทศเพิ่มขึ้นมากถึง 14% ในเดือนนี้ ตามข้อมูลของรัฐบาล เนื่องจากราคาที่ผู้ผลิตจ่ายให้เกษตรกรโดยตรงทั่วโลกและในประเทศเพิ่มสูงขึ้น เพิ่มแรงกดดันต่อภาวะราคาอาหารเฟ้อ

    การเก็บเกี่ยวผลผลิตในประเทศระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนมักจะเป็นผลผลิตรายไตรมาสที่ต่ำที่สุดของปี ทำให้ราคาผู้ผลิตจ่ายให้เกษตรกรโดยตรงสูงขึ้น ในขณะที่ผู้ค้าก็แข่งขันกันเพื่อจัดหาข้าวที่อุปทานตึงตัวขึ้น

    นอกจากความเสี่ยงด้านอุปทานแล้ว รัฐบาลคาดว่าผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญต่อผลผลิตทางการเกษตรเกิดขึ้นระหว่างไตรมาสที่แล้วจนถึงช่วงสามเดือนแรกของปี 2567

    เมื่อวันพุธ(16 ส.ค.)ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ เตือนผู้กักตุนข้าวและผู้ปั่นราคาว่า อย่าฉวยโอกาสจากผลผลิตที่ลดลงตามฤดูกาล ในขณะเดียวกันก็รับประกันว่าประชาชนจะมีข้าวเพียงพอ

    “อุปทานข้าวมีเพียงพอ อย่างไรก็ตาม ราคาผันผวนมาก รัฐบาลกำลังทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อดูแลราคาให้เหมาะสม และจัดหาข้าวราคาย่อมเยาในตลาดและใน Kadiwa(ร้านค้าย่อยที่ดำเนินการโดยรัฐบาลคล้ายกับร้านธงฟ้าของไทย)” สำนักโฆษกของประธานาธิบดีอ้างคำพูดของมาร์กอส

    ประธานาธิบดีมาร์กอส ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรด้วยนั้น ยังขอให้กระทรวงเกษตรติดตามราคาตลาดอย่างใกล้ชิด

    กัมพูชา-ลาวเปิดชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Code

    ที่มาภาพ: https://www.acledabank.com.kh/kh/eng/md_ln20230818
    กัมพูชาและลาวเปิดตัวนวัตกรรมด้านการชำระเงินผ่าน QR Code ระหว่างสองประเทศเฟสแรก เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม

    ธนาคารแห่งชาติกัมพูชาระบุในแถลงการณ์ว่า การเชื่อมโยงในครั้งนี้ ทำให้นักท่องเที่ยวชาวกัมพูชาสามารถจับจ่ายในลาวโดยใช้สกุลเงินเรียลผ่านการสแกน LAO QR Code

    เจีย เสร็ย ผู้ว่าการธนาคารกลางกัมพูชา และดร.บุนเหลือ สินไซวอระวง ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว ร่วมกันเป็นประธานในงานเปิดตัวที่จัดขึ้นในเวียงจันทน์

  • คนไทยเที่ยวกัมพูชาสแกน ThaiQR ได้แล้ว 1.5 ล้านร้านค้า
  • ไทย-มาเลเซียเปิดชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Code
  • เวียดนาม-ไทย เปิดชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Code
  • ในระยะที่สองของโครงการ ชาวลาวที่มีบัญชีธนาคารในสกุลเงินกีบจะสามารถชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่านแอปพลิเคชันธนาคารบนมือถือโดยการสแกน KHQR ที่ร้านค้าหรือผู้ค้าในกัมพูชา

    นอกจากลาวแล้ว กัมพูชายังมีความร่วมมือในการชำระเงินด้วย QR code ข้ามพรมแดนกับ ไทย