ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามตั้งเป้าเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ 37% ใน 5 ปี เน้นโครงสร้างพื้นฐาน-พลังงาน

ASEAN Roundup เวียดนามตั้งเป้าเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ 37% ใน 5 ปี เน้นโครงสร้างพื้นฐาน-พลังงาน

25 ตุลาคม 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 18-24 ตุลาคม 2563

  • เวียดนามตั้งเป้าเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ 37% ใน 5 ปี
  • อินโดนีเซียเปิดตัวกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ม.ค. ปีหน้า
  • สิงคโปร์ทำข้อตกลง Green Lane กับเยอรมนี
  • ฟิลิปปินส์เปิดต่างชาติเข้า-พลเมืองเดินทางออก 1 พ.ย.
  • กัมพูชาเลื่อนใช้กฎหมาย capital gains tax เป็นมกราคม 65
  • กัมพูชาไฟเขียวโครงการพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าสตึง ตาไต ลือ
  • กระทรวงเกษตรฯ ย้ำจุดยืนนโยบาย 3s ในประชุมอาเซียน
  • เวียดนามตั้งเป้าเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ 37% ใน 5 ปี

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/economy/government-to-make-hike-in-public-spending-4180435.html
    รัฐบาลมีแผนจะ เพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ 37.5% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานและพลังงาน

    นายเหงียน ฉี ดุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุนแถลงต่อที่ประชุมสภาแห่งชาติในวันที่ 21 ตุลาคม ว่า ในปี 2564-2568 ได้จัดสรรงบประมาณไว้ 2.75 พันล้านล้านด่อง หรือ 118.46 พันล้านดอลลาร์

    งบประมาณจะนำไปใช้สำหรับโครงการสำคัญทั้งโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน และเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการสร้างส่วนต่อขยายด้านตะวันออกของทางด่วนเหนือ–ใต้ ถนนเลียบชายฝั่ง และอื่นๆ ที่เชื่อมต่อสนามบินและท่าเรือ

    โครงการที่มีความสำคัญอื่นๆ ได้แก่ การฝึกอบรมแรงงานที่มีทักษะ ความมั่นคงด้านน้ำ และการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    นายเหงียน ดุ๊ก ไห่ ประธานคณะกรรมาธิการการเงินและงบประมาณของสภากล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของการลงทุนภาครัฐเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

    แต่ได้เตือนให้รัฐบาลประเมินเงื่อนไทางการเงินอย่างรอบคอบเพื่อให้แน่ใจว่า การกู้ยืมจะไม่ต้องปรับเปลี่ยนหลายครั้งเหมือนที่เคยทำในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

    ผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานต่างๆ ระบุว่า การใช้จ่ายของประชาชนที่ชะลอตัว ฉุดการเติบโตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนนี้ เมื่อเศรษฐกิจต้องการการกระตุ้นเพื่อฟื้นตัว

    กระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ประเทศจัดเก็บรายรับได้เกือบ 700 ล้านล้านด่องในปี 2563 แต่เบิกจ่ายเพียง 20% ในครึ่งปีแรก

    อินโดนีเซียเปิดตัวกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ม.ค. ปีหน้า

    ที่มาภาพ: https://www.thejakartapost.com/news/2020/10/20/indonesia-to-launch-sovereign-wealth-fund-in-january-next-year.html

    อินโดนีเซียจะเปิดตัวกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติในเดือนมกราคมปีหน้า เนื่องจากรัฐบาลพยายามดึงดูดการลงทุนมากขึ้นและกระตุ้นเศรษฐกิจท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

    นายการ์ติกา วีรโยอัตโมโจ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงรัฐวิสาหกิจ (SOEs) กล่าวว่า รัฐบาลจะจัดตั้งกองทุนเพื่อบริหารการลงทุนของรัฐบาลในเร็วๆ นี้

    การจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ซึ่งจะมีชื่อว่า Indonesia Investment Authority กำหนดไว้ในกฎหมายการสร้างงาน (Job Creation Law)

    “เราจะเปิดตัวIndonesia Investment Authority ทันทีที่กฎหมายการสร้างงานอนุญาติให้มีการจัดตั้ง” นายการ์ติกากล่าวในการเสวนาออนไลน์ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

    รัฐบาลกำลังเตรียมเงินจำนวน 75 ล้านล้านรูเปียะห์ (5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ไว้เป็นทุนประเดิมของกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ในขณะที่นักลงทุนจากสหรัฐอเมริกา ไปจนถึงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วม

    ศรี มุลยานี อินทราวตี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า การใส่เงินเข้ากองทุนจำนวน 30 ล้านล้านรูเปียะห์จะเป็นเงินสด ส่วนที่เหลือจะอยู่ในรูปของหุ้นในรัฐวิสาหกิจและทรัพย์สินอื่นๆ ของรัฐ

    กฎหมาย Job Creation Law ถูกประท้วงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากสหภาพแรงงานและประชาสังคม ในด้านที่เกี่ยวกับผลกระทบเชิงลบที่อาจมีต่อสิทธิแรงงานและสิ่งแวดล้อม แม้รัฐบาลจะมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดการลงทุน สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างงาน

    กฎหมายระบุว่า “การจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินในระยะยาว และเป็นส่วนหนึ่งของดำเนินการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน”

    อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนว่ากองทุนความมั่งคั่งจะลงทุนที่ใดบ้าง แม้ว่าศรี มุลยานี ได้ระบุถึงการรวมกองทุนเพื่อการพัฒนาและกองทุนรักษาเสถียรภาพเข้าด้วยกัน แต่ก่อนหน้านี้ทางการได้กล่าวถึงโครงการในหลายภาคส่วน เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การดูแลสุขภาพ พลังงานและทรัพยากร การท่องเที่ยว และเทคโนโลยี กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของประเทศอื่นๆ ก็ลงทุนในตลาดการเงินเช่นกัน

    กองทุนนี้มีเป้าหมายที่จะดึงดูดการลงทุน 225 ล้านล้านรูเปียะห์ โดยที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กลุ่มบริษัท Softbank ของญี่ปุ่น และบรรษัทเงินทุนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (International Development Finance Corporation: DFC) เตรียมที่จะเข้าร่วมลงทุนในกองทุนแล้ว

    DFC ของสหรัฐฯ กำลังหาโอกาสที่จะลงทุนในกองทุนความมั่งคั่งของอินโดนีเซีย ระหว่างการประชุมกับ นายลูฮูต ปันจาอิตัน รัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการทางทะเลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563

    นายอดัม โบห์เลอร์ ซีอีโอของ DFC พร้อมด้วยนายซอง ยง คิม เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำอินโดนีเซีย เข้าพบรัฐมนตรีอาวุโส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกำหนดการพบปะของ DFC ระหว่างการเยือนจาการ์ตาในสัปดาห์นี้

    DFC ก่อตั้งขึ้นในปลายปี 2562 เพื่อสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการพัฒนาในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง DFC แสดงความสนใจที่จะลงทุนในกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของอินโดนีเซีย เพื่อสนับสนนเงินทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วทั้งหมู่เกาะ

    แถลงการณ์ที่เผยแพร่โดยกระทรวงการลงทุนระบุ ว่า กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่จะจัดตั้งขึ้นในเร็วๆ นี้หลังจัดทำหลักเกณฑ์ตามกฎหมายการสร้างงาน หรือ Job Creation Law จัดทำเสร็จเรียบร้อยนั้น คาดว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอินโดนีเซีย

    ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ประกาศเมื่อเดือนมกราคมว่า DFC กำลังวางแผนที่จะจัดสรรเงิน 5 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อการลงทุนในอินโดนีเซีย ในเดือนเดียวกันนั้นนายโบห์เลอร์ได้ไปเยือนจาการ์ตา และได้ประชุมหารือกับประธานาธิบดีวิโดโด

    ในระหว่างการประชุมวันที่ 22 ตุลาคม 2563 นายลูฮูตกล่าวว่า กฎหมายการสร้างงานจะทำให้บรรยากาศการลงทุนในประเทศดีขึ้น ขณะที่ยังคงให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและคนงาน และกล่าวว่าความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนสำคัญของการออกใบอนุญาตที่พิจารณาตามความเสี่ยง

    สำหรับธุรกิจที่มีความเสี่ยงจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจ” ในแถลงการณ์อ้างคำพูดนายลูฮูตและกล่าวต่อไปว่า ระบบการยื่นขอแบบยื่นครั้งเดียวผ่านออนไลน์ หรือ online single submission (OSS) จะทำให้กระบวนการออกใบอนุญาตมีความโปร่งใสมากขึ้น

    นายโบห์เลอร์ให้ความเห็นในทางบวกว่า กฎหมายการสร้างงานจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ก่อนหน้านี้ DFC ได้หารือเกี่ยวกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการกับรัฐบาลรวมถึงโครงการ LRT ทางหลวงสายทรานส์–สุมาตรา และทรานส์–ชวา โรงไฟฟ้าพลังน้ำในกาลิมันตันเหนือ และโครงการพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ทั่วทั้งหมู่เกาะ

    รัฐบาลอินโดนีเซียพยายามที่จะนำการลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานของอินโดนีเซีย ซึ่งแตกต่างกับแนวทางปฏิบัติทั่วไป ที่มักใช้เงินทุนจากดุลการชำระเงินที่เกินดุล การเกินดุลการคลัง และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

    นอกจาก DFC แล้วสถาบันการลงทุนทางการเงินระดับโลกอื่นๆ เช่น Abu Dhabi Investment Authority และธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation: JIBC) ยังเป็นนักลงทุนในกองทุนด้วย

    สิงคโปร์ทำข้อตกลง Green Lane กับเยอรมนี

    ที่มาภาพ: https://www.visitsingapore.com/see-do-singapore/recreation-leisure/viewpoints/merlion-park/

    สิงคโปร์และเยอรมนีได้ประกาศว่า ทั้งสองประเทศได้ทำข้อตกลงช่องทาง green lane สำหรับการเดินทางที่จำเป็นของนักธุรกิจและการเดินทางที่เป็นทางการ

    ข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยให้สามารถเดินทางเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ หรือการเดินทางที่เป็นทางการ ผ่านเที่ยวบินตรงระหว่างกัน กระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์และกระทรวงต่างประเทศของรัฐบาลกลางเยอรมนีระบุในแถลงการณ์ร่วม

    ทั้งนี้จะประกาศรายละเอียดเงื่อนไข ขั้นตอนการดำเนินงานของ green lane รวมถึงข้อกำหนดด้านสุขภาพและขั้นตอนการยื่นขอเดินทางในภายหลัง

    นอกจากนี้เยอรมนียังระบุว่า ชาวสิงคโปร์สามารถเดินทางเข้าเยอรมนีได้อีกครั้งสำหรับการพำนักระยะสั้น โดยไม่ต้องถูกกักกันเมื่อเดินทางมาถึง โดยเริ่มเดินทางเข้าได้ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2563 นี้

    การอนุญาตชาวสิงคโปร์ให้เดินทางเข้าเยอรมนี เป็นไปตามข้อเสนอแนะในสัปดาห์นี้ของสหภาพยุโรป ที่ให้ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปค่อยๆ ยกเลิกข้อจำกัด ในการเข้าประเทศของชาวสิงคโปร์

    นายนอร์เบิร์ต รีเดล เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำสิงคโปร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสหภาพยุโรปคนปัจจุบันประเทศกล่าวว่า “ขอชื่นชมการดำเนินการทุกขั้นตอนที่จะทำให้การเดินทางเป็นไปได้อีกครั้ง การตัดสินใจยกเลิกข้อจำกัดในการเดินทางในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้สะท้อนให้เห็นถึงการประเมินสถานการณ์การระบาดที่เป็นในปัจจุบัน และมาตรการสกัดการแพร่ระบาดในสิงคโปร์”

    ขณะนี้สิงคโปร์ไม่มีการทำข้อตกลง green lane กับประเทศในยุโรป

    อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ได้เตรียมที่จะทำข้อตกลงการเดินทางกับอีก 10 ประเทศและเขตการปกครอง รวมถึงมาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลียโดยมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน

    สำหรับประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ที่มีการระบาดหนัก สิงคโปร์กำหนดให้นักเดินทางของประเทศเหล่านั้นต้องรับการกักกันตัวเป็นเวลา 14 วันในสถานที่ที่รัฐกำหนดเฉพาะ และทำการตรวจเชื้อโควิดก่อนที่การกักกันจะสิ้นสุดลง

    ฟิลิปปินส์เปิดต่างชาติเข้า-พลเมืองเดินทางออก 1 พ.ย.

    ที่มาภาพ: https://www.philstar.com/headlines/2020/10/23/2051757/iatf-eases-travel-restrictions-foreigners-coming-in-filipinos-leaving

    คณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด-19 (Inter-Agency Task Force for the Management of Emerging Infectious Diseases: IATF) ของฟิลิปปินส์ ได้ผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามา และชาวฟิลิปปินส์ที่เดินทางออกนอกประเทศ

    IATF อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่มีวีซ่านักลงทุนเดินทางเข้าประเทศได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวฟิลิปปินส์ขาออกไม่จำเป็นต้องทำการตรวจหาเชื้อไวรัสแบบแอนติเจนก่อนออกเดินทางอีกต่อไป

    ภายใต้คำสั่งฉบับที่ 80 ของคณะกรมการ IATF ชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าต้องเป็น

    1) ผู้ที่มีวีซ่าที่ออกโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตามคำสั่งฉบับ ที่ 226 หรือตามกฎหมายการลงทุนฉบับแก้ไขเพิ่มเติม และกฎหมายรัฐบัญญัติ (Republic Act) ฉบับที่ 8756

    2) เป็นผู้ที่มีวีซ่าที่ออกโดยกระทรวงยุติธรรม

    3) เป็นผู้ที่มีวีซ่าที่ออกโดยเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือปลอดภาษี (Aurora Pacific Economic Zone and Freeport Authority) และองค์กรส่งเสริมการลงทุน Subic Bay Metropolitan Authority

    โดยมีเงื่อนไขการเดินทางเข้าดังนี้

    1) ต้องมีวีซ่าที่ถูกต้องและยังไม่หมดอายุในขณะที่เดินทางเข้า
    2) ต้องจองสถานกักกันที่ได้ผ่านการรับรองไว้ล่วงหน้า
    3) ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรองรับผู้โดยสารขาเข้าสูงสุดที่ท่าเรือและวันที่เดินทางเข้า
    4) ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการเข้าเมืองที่เกี่ยวข้อง

    ขณะเดียวกันภายใต้คำสั่งฉบับเดียวกัน ชาวฟิลิปปินส์ที่เดินทางไปต่างประเทศไม่จำเป็นต้องแสดงผลตรวจหาเชื้อโควิดที่เป็นลบ 24 ชั่วโมงก่อนออกเดินทางอีกต่อไป

    กัมพูชาเลื่อนใช้กฎหมาย Capital Gains Tax เป็นมกราคม 65

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/capital-gains-tax-postponed-until-january-1-2022

    รัฐบาลได้ตัดสินใจที่จะ เลื่อนการบังคับใช้ภาษีกำไรจากเงินลงทุน หรือ capital gains taxจากวันที่ 1 มกราคม 2564 เป็น 1 มกราคม 2565 กรมสรรพากร ประกาศเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 เพื่อให้ผู้เสียภาษีมีเวลามากขึ้นในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนและกระบวนการการเก็บภาษีกำไรจากเงินลงทุนและผลที่มีต่อการลงทุน

    การตัดสินใจเกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม บริษัทที่ปรึกษาการลงทุนในประเทศยื่นจดหมายที่นายกรัฐมนตรีฮุนเซนให้การรับรอง ผ่านกรมสรรพากรไปกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง

    จดหมายระบุว่า สมาคมพัฒนาที่อยู่อาศัยแห่งกัมพูชา (Housing Development Association of Cambodia: HDAC) ขอให้รัฐบาลเลื่อนการเรียกเก็บภาษีใหม่ออกไปจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย เพราะปัจจุบันภาคอสังหาริมทรัพย์กำลังประสบปัญหาจากผลกระทบรุนแรงของการระบาด

    ภาษีกำไรจากเงินลงทุนจะเรียกเก็บจากผลกำไรของผู้เสียภาษีจากการขาย การโอน หรือสิทธิในทรัพย์สิน หรือการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองตามประกาศฉบับที่ 346 ซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรี อัน พรมณีโรธ เมื่อวันที่ 1 เมษายน

    บุคคลธรรมดาจะต้องจ่ายอัตราภาษีกำไรจากการลงทุน 20% จากผลกำไรที่คำนวณได้ จากการขายทรัพย์สินบางอย่าง รวมถึงที่ดิน อาคาร หุ้นพันธบัตร ใบอนุญาต สิทธิบัตรและเงินสกุลต่างๆ

    ฮุย วันนา เลขาธิการสมาคม HDAC กล่าวว่า การเก็บภาษี capital gains tax จะเพิ่มภาระให้อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เพียงอุตสาหกรรมเดียว

    “เราได้ขอให้กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง เลื่อนการเรียกเก็บภาษีกำไรจากการลงทุนออกไปก่อน จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสมมากขึ้น หรือเมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจดีขึ้น และการระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ปัจจุบันตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซามาก”

    กัมพูชาไฟเขียวโครงการพัฒนาเขื่อนสตึง ตาไต ลือ

    นายแพ สีพัน รัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีและประธานสำนักงานโฆษกรัฐบาล แถลงว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2563 ซึ่งนายกรัฐมนตรีฮุนเซนเป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบโครงการพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ สตึง ตาไต ลือ ขนาด 150 เมกะวัตต์ โครงการตั้งอยู่ในอำเภอถมอบาง จังหวัดเกาะกง

    คณะรัฐมนตรียังได้อนุมัติโครงการพัฒนาสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์จากพนมเปญไปยังชายแดนกัมพูชากับลาว และจากพระตะบองถึงชายแดนกัมพูชากับไทย

    วิกเตอร์ โจนา โฆษกกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ 150 เมกะวัตต์ตั้งอยู่ต้นน้ำของแม่น้ำตาไต หรือประมาณ 20 กิโลเมตรต้นน้ำของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำสตึง ตาไต ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2558

    กระทรวงเกษตรฯ ย้ำจุดยืนนโยบาย 3s ในประชุมอาเซียน

    ที่มาภาพ: https://www.moac.go.th/news-preview-422791792877

    กระทรวงเกษตรฯ แสดงจุดยืนนโยบาย 3S (Safety-Security-Sustainability) ในการประชุมรัฐมนตรีเกษตรอาเซียนพร้อมดันไทยเป็นฮับอาหารจากพืช (plant-based food)

    นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นตัวแทนเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเกษตรอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 42 การประชุมรัฐมนตรีเกษตรอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 20 และการประชุมรัฐมนตรีเกษตรอาเซียน-อินเดีย ด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 6 ร่วมกับรัฐมนตรีเกษตรอาเซียนอีก 10 ประเทศ เช่น ประเทศจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และอินเดีย ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 โดยได้เน้นย้ำนโยบาย 3 ด้าน หรือ 3S ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน คือ safety ความปลอดภัยของอาหาร, security ความมั่นคงของภาคการเกษตรและอาหาร และ sustainability ความยั่งยืนของภาคการเกษตร รวมทั้งการให้ความร่วมมือกับอาเซียนและนานาประเทศ เพื่อฝ่าวิกฤติโควิด-19 และวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยตั้งเป้าหมายสู่ความก้าวหน้าไปด้วยกันอย่างเข้มแข็งและมั่นคง

    ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังเน้นย้ำการสร้างและผนึกกำลังการทำการเกษตรวิถีใหม่ (agricultural new normal) เพื่อตอบสนองต่อปฏิญญาของการประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยประเทศไทยได้เสนอโครงการ ASEAN New Normal Plant-based Food Hub เนื่องจากเห็นว่าอาหารที่ทำมาจากพืชเป็นสินค้าใหม่ที่มีความต้องการสูงในตลาดโลก ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมต่าง ๆ มาช่วยในการกำกับดูแลความมั่นคงอาหารและความปลอดภัยอาหาร สามารถตอบสนองชีวิตวิถีใหม่ และเป็นโอกาสใหม่ในการสร้างรายได้ให้แก่ภาคการเกษตรของไทยและของอาเซียนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ร่วมกับการบริหารทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน สามารถเพิ่มความมั่นคงด้านอาหาร แก้ไขปัญหาการอดอยากหิวโหย การขาดสารอาหาร และช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ

    นอกจากนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวถึงความคืบหน้าของไทยและอาเซียนในการแก้ไขปัญหา IUU โดยประเทศไทยได้พัฒนาระบบ interactive platform ของเครือข่ายอาเซียนเพื่อการต่อต้านการประมงไอยูยู (ASEAN Network IUU: AN-IUU) เป็นช่องทางในการสื่อสารออนไลน์แบบโต้ตอบได้ทันท่วงที ซึ่งสามารถใช้งานได้เรียบร้อยแล้ว และประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่ประสานงานของ AN-IUU ครั้งที่ 1 ในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีไทย และของผู้นำอาเซียนที่เน้นย้ำและสนับสนุนให้ทำการประมงอย่างยั่งยืน

    ซึ่งประเด็นทั้งหมดนี้ ได้เสนอผ่านที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ที่มีนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย