ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > รายงาน ADB ชี้โควิดฉุดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนลง 4.7 ล้านคน แต่ทั้งภูมิภาคแกร่งพร้อมฟื้นตัว

รายงาน ADB ชี้โควิดฉุดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนลง 4.7 ล้านคน แต่ทั้งภูมิภาคแกร่งพร้อมฟื้นตัว

16 มีนาคม 2022


ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ได้จัดงานสัมมนาเพื่อการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Development Symposium — SEADS) ประจำปี 2022 ภายใต้แนวคิด Sustainable Solutions for Southeast Asia’s Recovery ระหว่างวันที่ 16-17 มีนาคม โดยมีผู้นำจากรัฐบาล อุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา และภาคส่วนอื่นๆ เพื่อร่วมหาแนวทางนวัตกรรมเพื่อประเด็นการพัฒนาที่สำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งในปีนี้ได้เน้นไปที่แนวทางที่ภูมิภาคสามารถกระตุ้นการฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด โดยจัดการกับปัญหาคอขวดของห่วงโซ่อุปทาน การฟื้นฟูการท่องเที่ยว และการพัฒนาทางดิจิทัลให้ก้าวหน้า

ในวันแรกของการสัมมนา ได้มีการเปิดตัวรายงาน Southeast Asia: Rising from the Pandemic

รายงาน Southeast Asia: Rising from the Pandemic เป็นรายงานเชิงลึกฉบับใหม่ ซึ่งสรุปการคาดการณ์การเติบโตของภูมิภาคและข้อมูลผลกระทบจากการระบาดใหญ่ต่องาน ภาคเศรษฐกิจต่างๆ และความยากจนในภูมิภาค รายงานจัดทำข้อเสนอโดยละเอียดหลายประการที่ประเทศต่างๆ สามารถนำไปใช้เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวและช่วยให้มั่นใจได้มากขึ้นว่าการฟื้นตัวของภูมิภาคจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคน

รายงานฉบับนี้ครอบคลุมกัมพูชา อินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย ติมอร์-เลสเต และเวียดนาม

เศรษฐกิจหดตัวหนักกว่า 4 ล้านคนจนลง

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประสบปัญหาการหดตัวอย่างหนักในปี 2563 เนื่องจากการล็อกดาวน์และการปิดพรมแดนเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) มีการระงับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการผลิตในภูมิภาค บางประเทศได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่าประเทศอื่นๆ แต่หลังจากการระบาดใหญ่ 2 ปี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ อย่างไรก็ตาม ระดับการฟื้นตัวยังคงไม่เท่ากัน และยังคงเปราะบาง

ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ รัฐบาลในภูมิภาคต้องหันไปใช้การล็อกดาวน์และการปิดพรมแดนเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโควิด-19 มาตรการเหล่านี้จำเป็นแต่รุนแรง จึงมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเติบโตของผลผลิตในภูมิภาค จากที่เติบโต 4.4% ในปี 2562 ผลผลิตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หดตัวประมาณ 4% ในปี 2563 การลดลงของผลผลิตแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประเทศได้รับผลกระทบรุนแรงมากคือฟิลิปปินส์ ไทย และมาเลเซีย ผลผลิตในปี 2562 ลดลง 9.6%, 6.1% และ 5.6% ตามลำดับ (รูปที่ 1.1)

ในปี 2564 ซึ่งสายพันธุ์เดลต้าแพร่ระบาดไปทั่วภูมิภาค ได้มีการใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นอีกเพื่อควบคุมการสัญจรในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี

ส่งผลให้มีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2564 ลงจาก 4.4% ในเดือนเมษายนเป็นประมาณ 3% ในเดือนธันวาคม การปรับคาดการณ์ภายในภูมิภาคแตกต่างกันไป โดยประมาณการเศรษฐกิจสำหรับมาเลเซียและเวียดนามถูกปรับลดลงหลังจากผลผลิตหดตัวในไตรมาสที่สามของปี 2564 ซึ่งส่งผลให้ช่วงที่เหลือของปีติดลบ ในทางกลับกัน การคาดการณ์สำหรับฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และอินโดนีเซียได้รับการปรับขึ้น

สำหรับปี 2565 คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับภูมิภาคนี้ยังคงอยู่ที่ 5.1%

รายงานระบุว่า การระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ส่งผลให้ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 4.7 ล้านคนประสบปัญหาความยากจนขั้นรุนแรงในปี 2564 เนื่องจากงาน 9.3 ล้านตำแหน่งหายไป เมื่อเทียบกับสถานการณ์พื้นฐานที่ไม่มีโควิด

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ซึ่งมีวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดกลาง (MSMEs) จำนวนมาก ประกอบกับการคุ้มครองทางสังคมอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้กลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดใหญ่ (ตารางที่ 1.1) และไม่ใช่ว่าคนจนทุกคนจะได้รับการคุ้มครอง

การใช้จ่ายด้านสุขภาพของภาครัฐประเทศส่วนใหญ่ต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของโลกเฉลี่ย ระดับความคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้าในระดับต่ำส่งผลให้มีการใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยตรงมากขึ้น ทำให้ครัวเรือนค่อนข้างเสี่ยงที่จะตกไปสู่ความยากจน เนื่องมาจากแรงกระแทกด้านสุขภาพ ในประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อ GDP นั้นน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยทั่วโลกและภาคเอกชนแบกรับ 50–80% ของการใช้จ่ายด้านสุขภาพ นอกจากนี้ ยังมีความเหลื่อมล้ำอย่างมากในการใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อหัวทั่วทั้งภูมิภาค และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนที่ต้องจ่ายเองในครัวเรือนก็เพิ่มขึ้นในบางประเทศ การดูแลสุขภาพที่ด้อยลงพร้อมกับโภชนาการที่ไม่ดีและหนี้ครัวเรือนในระดับสูง จะส่งผลให้สูญเสียทุนมนุษย์ ศักยภาพต่ำ และเพิ่มความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ในภูมิภาค

โครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยน

โครงสร้างทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ในสองทิศทางที่ตรงกันข้าม ด้านหนึ่ง ภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในปี 2563 ในแง่ของการเติบโต การจ้างงาน และผลิตภาพ ส่วนใหญ่เป็นภาคบริการ โดยเฉพาะโรงแรม การขนส่งและคลังสินค้า การขายส่งและการขายปลีก และการศึกษา (รูปที่ 1.2) ส่วนภาคอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบในปี 2563 ได้แก่ ภาคการก่อสร้าง เหมืองแร่และการะเบิดหิน และการผลิต

แต่อีกด้านหนึ่ง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้นในปี 2564 นำโดยภาคเกษตรกรรม ซึ่งได้รับประโยชน์จากแรงงานด้านการท่องเที่ยวที่ตกงาน ภาคการก่อสร้างซึ่งกำลังเริ่มดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ค้างอยู่จำนวนมาก ภาคการผลิตที่ตอบสนองอุปสงค์ภายนอกที่แข็งแกร่งจากประเทศอุตสาหกรรม และภาคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งได้รับประโยชน์จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของภาคดิจิทัล

โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปนี้จะกำหนดความเร็วของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งคงต้องดูกันต่อไปว่า การปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างเหล่านี้เป็นภาวะชั่วคราวหรือไม่ หรือจะมีการปรับนโยบายและกฎระเบียบทางเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจที่นำการฟื้นตัวนี้ให้ขับเคลื่อนการเติบโต

การท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคนี้ในแง่ของการเติบโตของผลผลิตและการจ้างงาน การท่องเที่ยวเป็นภาคธุรกิจสำคัญที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างมาก การฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่จะขึ้นอยู่กับระดับการฟื้นตัวของภาคธุรกิจนี้ด้วย ในปัจจุบัน สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ซึ่งได้แก่ การขนส่ง โรงแรมที่พัก นันทนาการ และบริการส่วนบุคคลอื่นๆ มีแนวโน้มที่จะยังคงอ่อนแอในขณะที่การเดินทางยังคงถูกจำกัดและมีการใช้การรักษาระยะห่างทางสังคม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมเพิ่มขึ้น 58% ในเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 แต่ยังคงต่ำกว่าระดับ 2562 ถึง 64%

การเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวภายในประเทศและนักท่องเที่ยวที่หนีหนาวจากซีกโลกเหนือ แต่ในเอเชียและแปซิฟิก จำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ยังคงต่ำกว่าระดับ 2562 อยู่ถึง 95% เนื่องจากจุดหมายปลายทางหลายแห่งยังคงปิดไม่ให้เดินทางโดยไม่จำเป็น ซึ่งจะกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวระหว่างประเทศอย่างมาก เช่น กัมพูชาและไทย

ในปี 2563 การใช้จ่ายด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวของต่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงถึง 173.3 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 13.6% ของผลผลิตทั้งหมด และ 15.2% ของการจ้างงานทั้งหมดในกัมพูชา และคิดเป็น 10.5% ของทั้งหมดผลผลิตและ 6.9% ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศไทย (รูปที่ 1.3) แม้ภาคธุรกิจนี้คาดว่าจะเปิดได้ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ แต่การเดินทางระยะไกลจะไม่สนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจนถึงปี 2567 และภาคธุรกิจนี้จะพึ่งพาการท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งเป็นฐานรายได้ที่มีขนาดเล็กลง

ต้องปฏิรูปโครงสร้าง-ยกระดับระบบสุขภาพ

การระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน อาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคลดลง 0.8 จุด ผลผลิตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในปี 2565 คาดว่าจะยังคงต่ำกว่าสถานการณ์ปกติที่ไม่มีโควิดในระดับที่เกิน 10% กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ แรงงานไร้ฝีมือและผู้ที่ทำงานในธุรกิจค้าปลีกและเศรษฐกิจนอกระบบ ตลอดจนธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีตัวตนทางดิจิทัล

“การระบาดใหญ่นำไปสู่การว่างงานในวงกว้าง ความเหลื่อมล้ำที่เลวร้ายลง และความยากจนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้หญิง คนงานที่อายุน้อย และผู้สูงอายุในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นายมาซัตซึกุ อาซากาวะ ประธานเอดีบีกล่าว “ADB จะยังคงทำงานร่วมกับผู้กำหนดนโยบายต่อไปในขณะที่พวกเขากำลังฟื้นฟู ปรับปรุงระบบสุขภาพของประเทศ และปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ เราสนับสนุนให้รัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาใช้เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกครั้ง”

รายงานกล่าวว่า 2 ปีหลังจากการระบาดใหญ่ แนวโน้มการเติบโตนั้นสดใสขึ้นสำหรับประเทศที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในวงกว้าง การส่งออกสินค้าที่มีความสามารถในการปรับตัว หรือมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาค ประเทศส่วนใหญ่ การค้าปลีกและสันทนาการขยายตัว 161% ในช่วง 2 ปี ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคนี้ยังคงเผชิญกับความท้าท้ายระดับโลก รวมทั้งสายพันธุ์ใหม่ๆ ของโควิด-19 การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

ด้วยจำนวนประชากร 59% ของภูมิภาคที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วน ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 รายงานเรียกร้องให้รัฐบาลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ระบบสุขภาพสามารถดูแล ยกระดับการเฝ้าระวังโรค และตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ในอนาคต การลงทุนด้านสุขภาพสามารถกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะเพิ่มการมีส่วนร่วมและผลิตภาพของแรงงาน ตัวอย่างเช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจเพิ่มขึ้น 1.5 จุด หากการใช้จ่ายด้านสุขภาพในภูมิภาคนี้สูงถึง 5.0% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เทียบกับ 3.0% ในปี 2564

รายงานแนะนำว่า ประเทศต่างๆ ควรปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและผลิตภาพ ซึ่งอาจรวมถึงการลดความซับซ้อนของกระบวนการทางธุรกิจ การลดการกีดกันทางการค้า และสนับสนุนให้ธุรกิจขนาดเล็กนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ นอกจากนี้ ยังอาจรวมถึงการฝึกอบรมทักษะเพื่อช่วยให้คนงานรับมือกับกับการชะงักงันของตลาดแรงงานในวงกว้าง และการโยกย้ายงานข้ามภาคธุรกิจ รัฐบาลควรรักษาความรอบคอบทางการคลังเพื่อลดการขาดดุลและหนี้สาธารณะ และปรับปรุงการบริหารภาษีให้ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขยายฐานภาษี

ไทยต้องยกเครื่องการท่องเที่ยว

ภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นเวลาหลายปี ในปี 2562 รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็น 11% ของ GDP แต่การระบาดทำให้การเดินทางระหว่างประเทศหยุดชะงักและกิจกรรมทางเศรษฐกิจสำคัญหดตัว ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากรัฐบาลใช้มาตรการเข้มงวดข้อจำกัดการเดินทางสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทยลดลงจาก 39.9 ล้านคนในปี 2562 เป็น 6.7 ล้านคนในปี 2563 และ 0.4 ล้านคนในปี 2564 ทำให้รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงประมาณ 90% และบีบให้ธุรกิจต้องปิดตัวและเลิกจ้างแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะต่ำ แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ

ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งก่อนเกิดโรคระบาดมีสัดส่วน ประมาณ 1 ใน 5 ของ GDP ของประเทศ และการจ้างงานโดยรวมมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวช้ามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมองว่าการแพร่ระบาดเป็นโอกาสที่จะยกเครื่องภาคการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับจากจากการท่องเที่ยวเชิงแบบ mass ไปสู่การท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูง ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาด้านสภาพอากาศ และเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวทางเศรษฐกิจ โดยจะดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อมากขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูงในระดับมากกว่า 60,000 ดอลลาร์ต่อปี มีสัดส่วนน้อย รวมทั้งพยายามส่งเสริมกลุ่มการท่องเที่ยวที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น การแพทย์ สุขภาพ กีฬา และการท่องเที่ยวกลุ่มอาหาร และการเดินทางสุดหรูหรา การเดินทางที่มีคุณภาพจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่เดิมก่อนการระบาดได้ เช่น ชายหาดที่หนาแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

รัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพราะการเดินทางระหว่างประเทศมักต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับการเชื่อมโยงคมนาคมภายในประเทศเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่กำลังมีเปลี่ยนผ่าน เช่นเดียวกับการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญในการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว

ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนผ่านใน 3 ด้านที่โดดเด่นซึ่งจะกำหนดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในอนาคต

ด้านแรกคือเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย ททท. ได้เปิดตัว Amazing Thailand Safety and Health Administration Certification Program ในปี 2563 มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยสำหรับกิจการด้านการท่องเที่ยว สำหรับโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร บริษัทขนส่ง และบริษัททัวร์

ด้านที่สอง คือ แพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งรวมถึงการชำระเงินดิจิทัลผ่าน QR เช่น พร้อมเพย์ (ระบบการชำระเงินผ่านมือถือระหว่างธนาคารซึ่งขณะนี้เชื่อมโยงกับ DuitNow ในมาเลเซียและ PayNow ในสิงคโปร์) แอปพลิเคชันอื่นๆ เช่น WeChat ซึ่งให้บริการชำระเงินแบบไร้สัมผัส และแอปพลิเคชันต่างๆ ที่สามารถติดตามผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสจากโควิดได้ ช่วยสกัดการแพร่กระจายของไวรัส

ด้านที่สาม การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยง โครงการที่กำลังดำเนินการ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมสนามบินหลัก 3 แห่งของไทย ได้แก่ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และระยอง อู่ตะเภา ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงอีกสายหนึ่งที่จะเชื่อม 5 จังหวัดของไทยในเขตการลงทุนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และรถไฟความเร็วสูงยาว 873 กิโลเมตร เชื่อมไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายหลายด้าน หากจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ถึงระดับที่ไม่สามารถจัดการได้ จะเป็นการยากมากที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศและเปิดประเทศใหม่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้อย่างเต็มที่ การฉีดวัคซีนโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดการเปิดประเทศอีกครั้ง แม้ว่าจะไม่ชัดเจนว่าวัคซีนสามารถหยุดการแพร่กระจายของไวรัสได้ แต่ก็มีประสิทธิภาพในแง่ของการจำกัดการเกิดอาการรุนแรงและป้องกันการเสียชีวิต

นอกจากนี้ หนี้ภาคเอกชนที่สูงและการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับธุรกิจในการเพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยีหรือให้ส่วนลดจำนวนมากและกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการ การขาดเงินทุนนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของ MSMEs ในอุตสาหกรรมในขณะที่นักท่องเที่ยวเดินทางกลับเข้ามา

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

ระยะสั้น

  • ท่องเที่ยวปลอดภัย ประเทศไทยควรให้ความสนใจเป็นพิเศษกับระเบียบปฏิบัติด้านสุขภาพและสุขอนามัย เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะมีความคาดหวังสูงจากผู้ให้บริการด้านการบริการ ในช่วงแรกควรให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์
  • สนับสนุนธุรกิจให้อยู่รอด แม้ว่าทางการจะยังคงช่วยเหลือธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการชะลอการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเต็มที่ ทางการยังสามารถช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้หาแหล่งเงินทุนใหม่ได้ เช่น การช่วยให้ผู้ประกอบการมองไปที่คราวด์ฟันดิ้งหรือพัฒนากลไกเพื่อเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงิน
  • หนุนการเดินทางภายในประเทศและระยะสั้นภายในภูมิภาค การท่องเที่ยวในประเทศและภูมิภาคค่อนข้างง่ายต่อการส่งเสริม และสามารถสร้างรายได้สูงกว่าการท่องเที่ยวจากนอกประเทศและภูมิภาค แม้รายจ่ายในประเทศและภูมิภาคต่อเที่ยวจะต่ำกว่า แต่ปริมาณเพิ่มขึ้นไป การทำการตลาดและโปรโมชัน สิทธิพิเศษทางการเงิน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ควรเป็นให้นำเสนอแก่นักท่องเที่ยวในประเทศอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผู้เดินทางภายในประเทศมีความรู้ที่ดีขึ้นเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรมในท้องถิ่น จึงมักจะมองหาจุดหมายปลายทางและกิจกรรมที่หลากหลาย ดังนั้น สินค้าและบริการจึงควรมีความหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการ
  • ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในภูมิภาค ความต้องการเดินทางใกล้บ้านที่เพิ่มขึ้นทำให้การท่องเที่ยวภายในภูมิภาคเป็นแนวทางสำคัญในการฟื้นฟูอุตสาหกรรม จากข้อมูลของบริษัทวิเคราะห์ GlobalData พบว่า การเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำและข้อตกลงการเปิดเสรีทำให้การเดินทางภายในอาเซียนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น นักท่องเที่ยวจากตะวันออกเฉียงใต้ประเทศในเอเชียสามารถเดินทางภายในภูมิภาคได้อย่างง่ายดายเนื่องจากที่ตั้งใกล้กัน ขั้นตอนการขอวีซ่าที่ง่าย และวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน นอกจากนี้ ASEAN Travel Corridor Arrangement (ASEAN 2021) จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางเพื่อธุรกิจที่จำเป็นระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนภายใต้แนวปฏิบัติด้านสาธารณสุขที่เข้มงวด แม้ travel corridor มีไว้สำหรับนักเดินทางเพื่อธุรกิจ แต่อาจเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับอาเซียนในการเก็บเกี่ยวศักยภาพของการท่องเที่ยวภายในภูมิภาคอย่างเต็มที่
  • ระยะปานกลางและระยะยาว
    ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ท่องเที่ยวสีเขียวและดิจิทัล
    การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่าเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งรวมถึงโรงแรมที่พัก สถานที่จัดงาน การขนส่ง และกิจกรรมการท่องเที่ยว ควรส่งเสริมการริเริ่มการอนุรักษ์โดยชุมชนเพื่อช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยกระดับการเชื่อมต่อดิจิทัลและแคมเปญส่งเสริมการขายจะช่วยกระตุ้นความต้องการและเข้าถึงตลาดที่กว้างขึ้น
    ผนวกการท่องเที่ยวเข้ากับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่แห่งชาติของประเทศไทย
    กระแส workation ที่กำลังมา ทำให้ไทยมีโอกาสในการพัฒนาจุดหมายปลายทางรองที่นักท่องเที่ยวอาจมองข้าม ซึ่งจะเป็นวิธีการกระจายอำนาจและลดความแออัดของกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบ
    กระจายแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ
    เพื่อลดความแออัดยัดเยียดและส่งเสริมเมืองรอง ทางการอาจพิจารณายกระดับการเชื่อมโยงการขนส่งทั่วประเทศ ซึ่งจะกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของการท่องเที่ยวในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ รวมทั้งควรมีแผนอันเป็นรูปธรรม ที่จะเปลี่ยนชื่อเสียงของประเทศจากการเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวราคาถูก ไปสู่จุดหมายปลายทางที่ต้องการสำหรับตลาดคนรวย ไทยจะต้องปรับปรุงสินค้าและบริการเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
    ส่งเสริมการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี
    ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ยอดเยี่ยมตลอดทั้งปี การสนับสนุนเพิ่มการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจหรือไมซ์ (MICE) มากขึ้น ช่วยเสริมการเดินทางตามฤดูกาล เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปีจากนักท่องเที่ยวกลุ่ม MICE แม้ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวกลุ่ม MICE มักจะคำนึงถึงความสะดวกในการขอวีซ่าและการเข้าประเทศ ตลอดจนจุดแข็งของสถานที่ การท่องเที่ยว MICE จะเป็นแรงจูงใจดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้าไทยมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ธุรกิจไทยยังสามารถเข้าถึงพันธมิตรในต่างประเทศเพื่อโอกาสมากขึ้นสำหรับการท่องเที่ยว MICE