ThaiPublica > สู่อาเซียน > CIMB Thai เดินหน้าหนุนธุรกิจไทยบุกอาเซียน ชี้โอกาสนอกประเทศสูงกว่าในประเทศ

CIMB Thai เดินหน้าหนุนธุรกิจไทยบุกอาเซียน ชี้โอกาสนอกประเทศสูงกว่าในประเทศ

8 สิงหาคม 2023


CIMB Thai บรรลุเป้าหมาย “ASEAN Reach” ตั้งโต๊ะให้คำปรึกษาพาลูกค้าบุกอาเซียนครึ่งปีแรกสินเชื่อต่างประเทศเติบโตกว่า 70%

วันที่ 8 สิงหาคม ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ธนาคารสมาชิก CIMB Group กลุ่มการเงินสินทรัพย์ใหญ่อันดับ 5 และมีเครือข่ายแข็งแกร่งในภูมิภาคbrie ได้จัด press briefing เนื่องในโอกาสวันอาเซียน ซึ่งตรงกับวันที่ 8 เดือน 8 ของทุกปี เพื่อเฉลิมฉลองวันอาเซียน ด้วยอัพเดทความคืบหน้าของยุทธศาสตร์ ‘Digital-led Bank with ASEAN Reach’ โดยนายวุธว์ ธนิตติราภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บรรษัทธุรกิจและธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ปักธงชัดเจนในการเป็นแบงก์ที่พร้อมจะพาลูกค้าไปเติบโตอาเซียน และเดินตามแผนมาอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา ด้วยการเป็นผู้ให้คำปรึกษาและเป็นตัวกลางทางการเงิน

บริษัทของไทยที่มีแผนชัดเจนจะไปเปิดตลาดในต่างประเทศ มีหลากหลายภาคธุรกิจ ได้แก่ พลังงาน ปิโตรเคมี ค้าปลีก อุตสาหกรรมยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม และเกษตรแปรรูป เป็นต้น โดยรูปแบบของการออกไปขยายตลาด มีครบทุกรูปแบบ ทั้งการลงทุนขยายกิจการ การซื้อกิจการ และการควบรวมกิจการ

การขยายไปในตลาดอาเซียนของไทยมักจะอยู่ในรูปของ
1) การขยายไปตั้งโรงงาน กลุ่มนี้เดิมมีการส่งสินค้าออกไปจำหน่ายโดยมีพันธมิตรเป็นผู้จัดจำหน่ายให้ แต่เมื่อเห็นว่าตลาดใหญ่มากพอและกำลังการผลิตในประเทศค่อนข้างจะจำกัดก็ตัดสินใจขยายไปตั้งโรงงานในตลาดนั้นแทน ซึ่งธนาคารก็ตามไปช่วยสนับสนุนในการจัดตั้งโรงงาน

2) ขยายด้วยการพันธมิตรที่เป็น ผู้เล่นในตลาดนั้นเพื่อเสริมสร้างจุดแข็งของแต่ละฝ่ายให้ดีขึ้น ด้วยการจัดตั้งกิจการร่วมทุน(joint-venture)

3) การซื้อกิจการในประเทศเป้าหมาย

“ใน 1-2 ปีที่ผ่านมาเราเห็นมีดีลใหญ่ๆเข้าไปซื้อกิจการเยอะมาก เป็นการเติบโตที่ก้าวกระโดดพอสมควร”

โอกาสนอกประเทศสูงกว่าในประเทศ

ประเทศปลายทางในภูมิภาคอาเซียนที่บริษัทไทยนิยมไปเปิดตลาด ได้แก่ ประเทศ อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซียและสิงคโปร์

นายวุธว์ กล่าวว่า โอกาสนอกประเทศใหญ่กว่าในประเทศค่อนข้างเยอะ เมื่อมองจากขนาดของตลาด

โดยอินโดนีเซีย มีประชากรมากที่สุดในอาเซียน จำนวน 275 ล้านคน เป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูงมาก GDP ขยายตัว 5% ภาคธุรกิจดาวรุ่งคือ ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม และเกษตรแปรรูป เช่นเดียวกับเวียดนามมีจำนวนประชากรสูงเกือบ 100 ล้านคน และมีการเติบโตของ GDP ในปี 2565 สูงถึง 8% จึงเป็นที่นิยมในการเป็นฐานการผลิต ที่ตั้งโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม ฟิลิปปินส์ก็มีประชากรเดือบ 100 ล้านคน ด้านกัมพูชามีประชากรราว 10 ล้านคน GDP เติบโต 5% มีโอกาสขยายตลาดด้านอาหารและเครื่องดื่ม อีกทั้งคนกัมพูชานิยมบริโภคสินค้าไทย ขณะที่ มาเลเซีย เป็นประเทศเพื่อนบ้าน มีโอกาสเข้าถึงง่าย และมีตลาดของอาหารฮาลาล ส่วน สิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางด้านการค้าขาย หรือ Trading Hub

“เราบรรลุเป้าหมาย ASEAN Reach แล้ว สิ่งที่จะเดินหน้าต่อไปคือ การเติบโตให้มากขึ้นตามลูกค้า สนับสนุนลูกค้าให้ขยายไปต่างประเทศมากขึ้น เราเป็น focus ASEAN Bank ที่จุดเน้นในแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน แต่ธุรกิจหลักในประเทศหลัก มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย สิงคโปร์และกัมพูชา ยังยึด Digital-led Bank with ASEAN Reach ซึ่งในส่วนธุรกิจรายย่อยนั้น โมบายแบงกิ้งของเราสแกน QR code ชำระเงินได้ทุกแห่งในอาเซียน และสามารถซื้อพันธบัตรได้อย่างสะดวก ขณะที่ในด้านธุรกิจรายใหญ่ ก็ยังคงสนับสนุนลูกค้า ตามไปให้บริการเพื่อการเติบโต การทำงานเป็นพันธมิตรกัน ลูกคาโต เราก็โต”

นอกเหนือจากกลุ่มประเทศอาเซียน ยังมีประเทศจีนเป็นอีกประเทศที่เป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูงอย่างที่ทุกคนทราบกัน กลุ่มซีไอเอ็มบีมีเครือข่ายสาขาทั้งใน เซี่ยงไฮ้และฮ่องกง ทางธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย นอกจากโฟกัสตลาดหลักในอาเซียน ยังพร้อมพาลูกค้าไปเปิดตลาด beyond ASEAN อีกด้วย

นายวุธว์ ธนิตติราภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บรรษัทธุรกิจและธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

ก้าวข้ามข้อจำกัดโตก้าวกระโดด

จากการทำงานเป็นสะพานเชื่อมพาลูกค้าไปขยายตลาดต่างประเทศต่อเนื่องหลายปี พบว่า อุปสรรคที่ทำให้บริษัทไม่ออกไปเปิดตลาดเพราะ 1. ด้านกฎระเบียบกฏเกณฑ์ 2. ความเสี่ยงทางการเมืองและนโยบายของประเทศที่ไปลงทุน 3. การแข่งขันในตลาดของแต่ละประเทศ 4. ด้านวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น 5. ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและธุรกรรมการเงิน

“ความยากง่ายของการลงทุนของไทยในกลุ่มประเทศอาเซียนขึ้นอยู่กับการศึกษาเพื่อทำความรู้จักประเทศที่ต้องการเข้าไปลงทุน หรือมีพันธมิตรที่จะสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน อุปสรรคหลักๆข้อแรกคือ กฎหมาย กฎเกณฑ์ไม่เหมือนกัน การจัดตั้งบริษัท การขออนุมัติ การขอใบอนุญาตก็ต่างกัน ซุึ่งก่อนที่จะเข้าไปลงทุน ต้องเข้าใจให้ดี”

นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องสภาวะการแข่งขันของตลาด แต่ละประเทศในอาเซียนมีธุรกิจเดิมที่ครองตลาดอยู่แล้ว และเป็นธุรกิจกลุ่มใหญ่

การขยายตลาดไปอาเซียนอื่น ยังต้องอาศัยความเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม พฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความชื่นชอบผลิตภัณฑ์ที่ต่างกัน เช่น ในมาเลเซีย โอกาสจะมีอยู่ในอาหารฮาลาล ซึ่งไทยส่งออกอาหารฮาลาลไปมาเลเซียจำนวนมากแต่ละปี

นายวุธว์กล่าวว่า การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจขยายตลาดไปในอาเซียนไปอย่างราบรื่น กฎเกณฑ์การควบคุมการเงินของแต่ละประเทศแตกต่างกัน และส่วนใหญ่การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นในลักษณะการควบคุม การบริหารความเสี่ยงจะช่วยในเลือกใช้วิธีการส่งเงินเข้าไปลงทุนและส่งออกออกเมื่อได้กำไรได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนช่วยในการบริหารภาษีอย่างเหมาะสม

ธนาคารซีไอเอ็มบี มีสาขา สำนักงานตัวแทนในเกือบทุกประเทศอาเซียน ส่วนใหญ่จัดตั้งเป็นธนาคารท้องถิ่นในประเทศ จึงมีทีมงานที่มีความรู้ความเข้าใจ รวมทั้งมีเครือข่ายระหว่างสาขาที่สามารถแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันได้ ซึ่งจะสนับสนุนลูกค้าได้อีก และยังมีเครือข่ายระหว่างธนาคารกับลูกค้าในแต่ละประเทศที่จะช่วยให้คำแนะนำการขยายธุรกิจได้ ทั้งในการหาพันธมิตร หรือขยายตลาดได้ ตลอดจนยังมีความแข็งแกร่งทางการเงินที่สามารถสนับสนุนเงินทุนได้

สำหรับการใช้สกุลเงินท้องถิ่นระหว่างกันเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดนในภูมิภาคอาเซียน นายวุธว์กล่าวว่า อาเซียนได้เปิดใช้ระบบชำระเงินรายย่อยด้วยการสแกน QR Code มาราว 1-2 ปีแล้ว ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคชำระเงินได้อย่างสะดวก สบาย

แต่สำหรับธุรกิจรายใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นการป้องกันความเสี่ยง ที่สามารถแบ่งออกเป็นได้ 2 กรณี กรณีแรกคือ การไปตั้งโรงงานผลิตสินค้าในตลาดอาเซียนเพื่อจำหน่ายสินค้าในตลาดนั้นอื่น เช่น ไทยไปตั้งโรงงานในกัมพูชา หรืออินโดนีเซีย เพื่อจำหน่ายสินค้าในตลาดกัมพูชา หรือ อินโดนีเซีย ซึ่งจะมีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศกลับมา แต่การตั้งโรงงานนี้ทางบัญชีถือเป็นการลงทุนในหุ้น งบการเงินก็จะนำตัวเลขงบการเงินจากบริษัทย่อยมารวมเป็นงบการเงินเดียวที่บริษัทแม่ ซึ่งธนาคารสามารถช่วยในการให้บริการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของงบการเงินได้ กรณีที่สอง การตั้งโรงงานอาจจะใช้เงินกู้ ธนาคารก็จะช่วยให้คำแนะนำในการเลือกใช้สกุลเงินที่เหมาะสมเพื่อให้สอดคล้องกับรายได้

“ความเสี่ยงที่ต้องเข้าใจคือ เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งระดับการพัฒนาของแต่ละตลาดในอาเซียนไม่เท่ากัน ซึ่งตลาดไทยค่อนข้างจะพัฒนาไปมาก สามารถป้องกันความเสี่ยงเงินสกุลใดก็ได้ และมีระยะเวลาให้เลือกได้มาก ทั้งระยะสั้น ระยะยาว แต่บางสกุลเงินสามารถป้องกันความเสี่ยงได้เพียงระยะสั้น และบางสกุลเงิน conversion risk สูงคือ แลกกลับมาเป็นเงินบาทได้ยาก”

นอกจากนี้การโอนเงินเข้าไปลงทุนหรือส่งเงินกำไรออกแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน โดยกัมพูชาจะใช้เงินดอลลาร์เป็นส่วนมาก ทำให้เปิดเสรีในการโอนเงินเข้าหรือส่งเงินออก แต่บางประเทศ มาเลเซีย อินโดนีเซีย การส่งเงินเข้าหรือส่งออกก็มีการควบคุมในระดับหนึ่งต้องมีธุรกรรม(underlying)รองรับ เช่นเดียวกับไทย รวมทั้งอาจจะมีภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง

  • ASEAN Roundup คลัง-แบงก์ชาติอาเซียนจับมือส่งเสริมใช้เงินสกุลท้องถิ่น เชื่อมโยงระบบการชำระเงินภูมิภาค
  • สำหรับบริษัทที่ก้าวข้ามขีดจำกัดตรงนี้ได้ การออกไปเปิดตลาดต่างประเทศ ในระยะเวลาที่เข้าที่แล้ว พบว่าช่วยให้บริษัทเติบโตก้าวกระโดด เปิดตลาดใหม่ ขยายฐานลูกค้าใหม่ ได้พันธมิตรรายใหม่ สามารถเพิ่มรายได้จากการขยายฐานธุรกิจให้เติบโตเพิ่มขึ้นได้ตั้งแต่ 20% ถึงกว่า 100% ในระยะยาว ที่สำคัญคือเป็นการกระจายความเสี่ยงในด้านการมีตลาดหลากหลายประเทศ และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน

    ชูKnow-how และ Network หนุนลูกค้า

    สำหรับยอดสินเชื่อรายใหญ่คงค้าง(outstanding) ในประเทศ ณ สิ้นปี 2564 มีมูลค่า 66 พันล้านบาท สิ้นปี 2565 มีมูลค่ากว่า 73 พันล้านบาท เติบจากปี 2564 ในอัตรา 11% และตั้งเป้าหมายปี 2566 ว่าจะโตกว่า 11% โดยคาดว่าสิ้นปีจะปิดยอดที่ 81 พันล้านบาท

    ด้านสินเชื่อที่สนับสนุนลูกค้าไปขยายในต่างประเทศ (offshore loan) มียอดคงค้าง สิ้นปี 2565 มูลค่ากว่า 38 พันล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีมูลค่ากว่า 66 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 กว่า 70%

    “บริษัทหรือผู้ประกอบการที่สนใจขยายธุรกิจในต่างประเทศ เริ่มจากการหาจุดแข็งของผลิตภัณฑ์ คู่กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย หลังจากนั้น เข้ามาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ที่มี Know-how และ Network ทำงานประสานใกล้ชิดกับคนท้องถิ่นที่รู้จักตลาดเป็นอย่างดี ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ตั้งโต๊ะ ASEAN Desk ให้คำแนะนำและทำงานร่วมกับเครือข่ายแข็งแกร่งของกลุ่มซีไอเอ็มบี พร้อมส่งต่อลูกค้าขยายธุรกิจข้ามประเทศ ด้วย ASEAN Total Solutions โดยครึ่งแรกปี 2566 ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า เป็นตัวกลางพาลูกค้าขยายตลาดทุกรูปแบบ เฉพาะธุรกรรมสินเชื่อการลงทุนในต่างประเทศเติบโตไปแล้วกว่า 70% เทียบกับปลายปีที่แล้ว”

    กลุ่มซีไอเอ็มบีมีสาขา สำนักงานตัวแทน และเครือข่ายธุรกิจที่หลากหลายประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา บรูไน ฟิลิปปินส์ จีน ฮ่องกง และสหราชอาณาจักร