ThaiPublica > สู่อาเซียน > ดินแดนต้องห้ามของหญิงสาวไทย…ที่ชายแดนรัฐฉาน-จีน

ดินแดนต้องห้ามของหญิงสาวไทย…ที่ชายแดนรัฐฉาน-จีน

12 กรกฎาคม 2023


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

เมืองป๊อก ที่มาภาพ : เพจ Wa Nation society lifestyle

เรื่องราวของคนไทยจำนวนมากซึ่งถูกหลอกไปทำงานกับธุรกิจสีเทาที่เปิดกระจายอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา ลาว เมียนมา ปรากฏเป็นข่าวต่อเนื่องออกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ปี นับแต่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และไทยกับเพื่อนบ้านเริ่มเปิดพรมแดนให้ผู้คนสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้อีกครั้ง

ธุรกิจสีเทาเหล่านี้ส่วนใหญ่มีนายทุนเป็นชาวจีน หรือที่เรียกกันว่า “จีนเทา” อาศัยช่องทางโซเชียลมีเดียใช้ตัวเลขรายได้ที่สูง มาล่อลวงให้คนอยากไปทำงาน

ส่วนใหญ่มักอ้างในโฆษณารับสมัครงานว่าเป็นงานประชาสัมพันธ์ หรือแอดมินเพจ ทำหน้าที่สื่อสาร พูดคุยโต้ตอบกับลูกค้า เมื่อมีผู้หลงเชื่อตกลงเซ็นสัญญาว่าจ้าง และเดินทางข้ามชายแดนออกไปเพื่อเริ่มทำงานแล้ว

งานที่ถูกสั่งให้ทำกลับไม่เป็นอย่างในโฆษณา ทุกคนที่โดนหลอก

หากไม่ถูกบังคับให้ทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ก็ต้องทำงานกับบ่อนการพนันออนไลน์หรือไม่ก็ในสถานบันเทิง เช่น ร้านคาราโอเกะ(KTV) และที่ร้ายแรงที่สุด โดยเฉพาะผู้หญิง คือถูกบังคับให้ขายบริการ!

สีหนุวิลล์ ในกัมพูชา, เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ในแขวงบ่อแก้ว ของลาว, เมืองใหม่ฉ่วยก๊กโก ในจังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง, เมืองท่าขี้เหล็ก ในรัฐฉาน ของเมียนมา เป็นพื้นที่ซึ่งถูกใช้เป็นที่ตั้งของบรรดาธุรกิจสีเทาเหล่านี้

ที่ผ่านมาทางการไทยต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่ในแต่ละท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือนำคนไทยที่ถูกหลอกได้เดินทางกลับบ้าน อย่างไรก็ตาม แทบทุกเมืองที่กล่าวถึงข้างต้น ล้วนอยู่ตรงข้ามหรือไม่ห่างจากชายแดนไทย คนไทยส่วนใหญ่รู้จัก การประสานงานจึงทำได้ไม่ลำบากหากมีข้อมูลเพียงพอ เพราะโดยปกติเจ้าหน้าที่ทางการของไทยและท้องถิ่นเหล่านี้มักติดต่อพูดคุยกันตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ยังมีอีกหลายเมืองซึ่งอยู่ไกลออกไปถึงชายแดนเมียนมา-จีน ในรัฐฉาน ที่เป็นศูนย์รวมของธุรกิจสีเทาและมีคนไทยหลายคน โดยเฉพาะผู้หญิงถูกหลอกให้เดินทางข้ามประเทศออกไปทำงาน การประสานงานเพื่อช่วยเหลือคนไทยในดินแดนที่อยู่ห่างไกลเช่นนี้ทำได้ยากมาก หรือแทบจะทำไม่ได้เลย!

……

ต้นเดือนมิถุนายน 2565 สื่อหลายแห่งในไทย พร้อมใจกันนำเสนอข่าวการช่วยเหลือหญิงไทย 6 คน ที่ถูกหลอกให้ออกไปทำงานขายบริการที่เมืองป๊อก ชายแดนรัฐฉาน-จีน ที่มาของข่าวนี้ เริ่มจาก 1 ใน 6 หญิงไทยที่ถูกหลอก สามารถโทรศัพท์ผ่าน Line ติดต่อกับครอบครัวในประเทศไทยได้ ครอบครัวได้ร้องเรียนไปยังเพจ “สายไหมต้องรอด”

เนื่องจากผู้ว่าจ้างอ้างว่าได้จ่ายเงินซื้อหญิงสาวเหล่านี้มาแล้ว หากครอบครัวต้องการตัวกลับต้องส่งเงินไปไถ่ตัวออกมาคนละ 500,000 บาทจึงได้มีการประสานงานกับหน่วยราชการไทยหลายหน่วยงาน ให้ช่วยหาทางเจรจา จนในที่สุดสามารถช่วยเหลือเหยื่อเหล่านั้นกลับมาได้ทั้งหมด

หลังข่าวนี้ถูกเผยแพร่ออกไปเริ่มมีเบาะแสเรื่องการหลอกลวงหญิงไทยให้เดินทางไปทำงานตามเมืองชายแดนรัฐฉาน-จีน ปรากฏเพิ่มเติมออกมาอีกหลายแห่ง เบาะแสที่ปรากฏ มีข้อมูลตรงกันว่าในขบวนการหลอกลวงนั้นมีคนไทยร่วมอยู่ด้วย

ขั้นตอนการหลอกลวงส่วนใหญ่ใช้วิธีโฆษณาตรงเข้าไปยังห้องสนทนาในโซเชียลมีเดียของกลุ่มโมเดลลิ่ง หรือกลุ่มคนหางานชงเหล้า ที่สำคัญกระบวนการหลอกลวงหญิงไทยให้ออกไปทำงานชายแดนรัฐฉาน-จีน เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งหลายประเทศในย่านนี้กำลังเผชิญกับการระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ทุกประเทศอยู่ในช่วงล็อคดาวน์ และธุรกิจบันเทิงทุกแห่งถูกสั่งปิด…

ภาพประกอบโพสต์ของสถานทูตไทยประจำเมียนมา ที่เตือนคนไทยอย่าหลงเชื่อคำชักชวนให้ไปทำงานในเมืองชายแดนรัฐฉาน-จีน
โดยอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูง

วันที่ 13 ตุลาคม 2565 เพจสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำเมียนมา ได้
โพสต์ข้อความเตือน โดยใช้ถ้อยคำที่ค่อนข้างแรง มีใจความว่า…

“สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ประกาศเตือนคนไทย!! อย่าหลงเชื่องาน PR เมืองป๊อก เมืองลา เล้าไก่ มูเซ ในเมียนมา อ้างรายได้หลักแสน อาจโดนหลอก! ความจริงโดนบังคับขายบริการ โดนบังคับเสพยาติดหนี้ โดนยึดพาสปอร์ต กลับไทยไม่ได้ ถูกขายต่อ! ด้วยความปรารถนาดี”

ถัดมาอีก 3 เดือน วันที่ 25 มกราคม 2566 สถานเอกอัครราชทูตไทย ยังได้โพสต์ย้ำเตือนออกมาอีกครั้ง ใจความว่า…

“สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้งประกาศเตือน พร้อมทั้งรีวิวจากผู้ที่เดินทางมาทำงานจริงในเมียนมา(พม่า) เดินทางเข้ามาสุดท้ายจะแซดอย่างบ่อย ไม่ได้เงินค่าจ้าง ไม่ได้เงินทิป เป็นอยู่ลำบาก เพิ่มเติมคือมีหนี้สินท่วมหัว บางรายถูกบังคับเล่นยาเสพติด ถูกบังคับขายบริการ ถูกยึดหนังสือเดินทางและกักตัวอยู่ในที่พัก บางพื้นที่ขอความช่วยเหลือแล้ว เจ้าหน้าที่อาจจะเข้าไปช่วยไม่ได้ บางรายถูกจับขัง 6 เดือน บางรายเสียชีวิต ถูกขู่ให้ขายตับ ขายไต ถูกขายต่อ บังคับให้เดินเท้าในป่าหลายวัน …ด้วยความปรารถนาดี สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง”

ในภาพที่แคปจากหน้าจอสนทนาระหว่างเหยื่อที่ถูกหลอกไปทำงานกับเจ้าหน้าที่สถานทูต ซึ่งถูกนำมาเผยแพร่เป็นรีวิวประกอบโพสต์ของสถานทูต ให้ข้อมูลที่น่าตกใจ เช่น…

“พวกที่หลอกมาเขาทำงานเป็นขบวนการ เปลี่ยนรถ เปลี่ยนคนขับ ตลอดทาง เดินขึ้นเขา ข้ามแม่น้ำ 3 ชั่วโมง ตอนกลางคืนโดนคุม มีทั้งมีด ปืน พวกหนูกลัวเขาฆ่า พอข้ามมาจะมีรถมารับเป็นทอดๆไปค่ะ ตอนนี้ยังไม่ได้กินข้าวเลยค่ะ แต่เช้า”

“สวัสดีค่ะ หนูโดนหลอกมาขายที่พม่าค่ะ ติดหนี้ 70,000 โดนยึดพาสค่ะ ขู่จะฆ่าค่ะ ตอนนี้อยู่ที่เหล่าก่ายพม่าเหนือ เขตปกครองพิเศษของทหารค่ะ”

“ตอนนี้หนูโดนขายให้มาที่อื่น ไม่แน่ใจว่าเป็นที่ไหนค่ะ จะเข้ามาช่วยได้จริงๆไหมคะ เพราะว่าทหารคุมมากเลยค่ะ ประตูเข้าออกก็มีแค่ทางเดียว กำแพงสูงเป็นคุกเลยค่ะ”

ภาพที่แคปจากห้องสนทนาระหว่างหญิงสาวที่ถูกหลอกให้เดินทางออกไปทำงานในเมืองชายแดนรัฐฉาน-จีน กับเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยประจำเมียนมา ให้ข้อมูลที่น่าตกใจ

ช่วงท้ายของภาพประกอบโพสต์ที่เป็นรีวิว สถานทูตไทยได้เขียนกำชับไว้ว่า…

“คำเตือน สถานทูตฯไม่สามารถช่วยเหลือคนไทยได้ทุกกรณี เนื่องจากเข้าถึงบางพื้นที่ไม่ได้ บางกรณีใช้เวลาหลายเดือนในการส่งกลับไทย ทุกกรณีจะต้องเสียค่าปรับและค่าเดินทางกลับประเทศไทยเอง”

……

วันที่ 6 มิถุนายน 2566 นายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ นำคณะเข้าประชุมกับร่วมกับนายสมหวัง บุญระยอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และนางสาวภาณี จันทร์ตัน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดเชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาคนไทยถูกหลอกไปทำงานและตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในเมียนมา

พ.ต.อ.สัญญา เนียมประดิษฐ์ ผู้ช่วยทูตฝ่ายตำรวจ และนางสาวพิมพ์ ไชยสาส์น เลขานุการโท สถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำเมียนมา
รายงานว่ามีคนไทยหลายคนลักลอบออกไปทำงานในเมียนมาอย่างผิดกฏหมาย แต่ก็มีอีกหลายคนที่ถูกหลอกโดยหลงเชื่อโฆษณารับสมัครงานผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่เสนอรายได้และสวัสดิการที่ดีมาล่อ บางรายมีการนัดสัมภาษณ์งานผ่านวิดีโอทางไกลเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ แต่เมื่อไปทำงานจริงกลับไม่ตรงกับที่ตกลงกันไว้ ถูกยึดหนังสือเดินทาง รวมถึงถูกข่มขู่ จึงต้องจำใจทำงาน

นายอำนาจ พละพลีวัลย์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมา มีการร้องทุกข์และแจ้งเบาะแสคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานในเมียนมาถึง 140 ราย แต่สามารถช่วยเหลือกลับมาได้เพียง 63 ราย ขณะที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงราย บอกว่าคนเหล่านี้มักเดินทางออกไปทำงานโดยใช้ช่องทางธรรมชาติ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจสอบหรือติดตามตัวได้

มีรายงานว่า ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ถึงเดือนมกราคม 2566 คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา(TBC ฝ่ายไทย) ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ได้ประสานไปยัง TBC ฝ่ายเมียนมา 6 ครั้ง เพื่อขอให้ช่วยเหลือคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และขายบริการ จำนวน 18 คน ทั้งหมดอายุ 20-30 ปี แต่สามารถช่วยเหลือกลับมาได้เพียง 11 คน อีก 7 คนยังช่วยไม่ได้

ผู้ที่ถูกหลอก ส่วนใหญ่เห็นประกาศรับสมัครงานผ่านทางเฟซบุ๊ก แอพพลิเคชั่น Line , TikTok โดยบอกว่าให้ไปทำงานในเมืองท่าขี้เหล็ก ตรงข้ามกับอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย อ้างว่าจะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำ 10,000 บาท มีที่พักและอาหารฟรี แต่เมื่อข้ามชายแดนไปแล้ว
กลับถูกส่งต่อขึ้นไปยังชายแดนรัฐฉาน-จีน เช่น เมืองป๋างซาง เมืองเล่าก์ก่ายฯลฯ

บางรายถูกหลอกให้เซ็นสัญญาที่เป็นภาษาจีนทำให้เจ้าตัวไม่สามารถอ่าน หรือเข้าใจได้มารู้ภายหลังว่าเนื้อความในสัญญา กำหนดระยะเวลาทำงานขั้นต่ำไว้ 6 เดือน หากต้องการลาออกต้องจ่ายเงินคืนให้ผู้จ้างตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท มิเช่นนั้น ต้องทำงานต่อไปหมดหนี้

……

ตำแหน่งที่ตั้งเมืองลา เมืองป๊อก เมืองป๋างซาง เมืองเล่าก์ก่าย และเมืองหมู่เจ้ ชายแดนรัฐฉาน-จีน อยู่ห่างจากประเทศไทยหลายร้อยกิโลเมตร

เมืองชายแดนรัฐฉาน-จีน ที่ถูกเอ่ยชื่อถึง ทั้งจากสถานทูตไทยในเมียนมา เจ้าหน้าที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงรายฯลฯ ว่าเป็นที่ตั้งของเหล่าธุรกิจสีเทา และเป็นปลายทางของหญิงไทยที่ถูกหลอกลวงให้เดินทางออกไปทำงาน มี 5 เมือง ได้แก่ เมืองลา เมืองป๊อก เมืองป๋างซาง เมืองเล่าก์ก่าย เมืองหมู่เจ้(โปรดดูแผนที่ประกอบ) ข้อมูลเบื้องต้นของแต่ละเมือง มีดังนี้

  • เมืองลา อยู่ปลายทางของถนนสาย R3b ซึ่งมีระยะทางรวมประมาณ 240 กิโลเมตร ต้นทางของถนนสายนี้เริ่มจากเมืองท่าขี้เหล็ก ชายแดนไทย-รัฐฉาน ตรงข้ามกับอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ผ่านเมืองเชียงตุง ต่อไปถึงเมืองลา โดยระยะทางจากเมืองท่าขี้เหล็กไปยังเชียงตุงยาวประมาณ 160 กิโลเมตร และจากเชียงตุงไปถึงเมืองลา ยาว62 กิโลเมตร
  • ตามโครงสร้างพื้นที่ปกครองในรัฐฉาน เมืองลามีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงตุง แต่รัฐบาลเมียนมาโดยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ยกฐานะเมืองลาขึ้นเป็นเขตพิเศษหมายเลข 4 เป็นพื้นที่ปกครองตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์ไตลื้อ มีกองกำลังติดอาวุธเป็นของตนเองใช้ชื่อว่า The National Democratic Alliance Army(NDAA)

    ดินแดนจีนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเมืองลาเป็นอำเภอเมืองฮาย เขตปกครองตนเองชนชาติไต สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นเมืองของชาวไตลื้อเช่นกัน แต่เดิมประชากรส่วนใหญ่ของเมืองลาเป็นชาวไตลื้อ แต่หลายปีมานี้ นักลงทุนจีนหลายคนได้ข้ามมาเปิดกิจการขึ้นหลายแห่งในเมืองลา ประชากรที่เป็นคนจีนจึงมีเพิ่มขึ้นจนอาจมากกว่าคนท้องถิ่นเดิมไปแล้ว และตึกรามบ้านช่องที่นักลงทุนจีนสร้างขึ้นใหม่ ทำให้บรรยากาศในเมืองลาดูคล้ายเป็นเมืองหนึ่งของจีนไปด้วย

    เมืองลา ที่มาภาพ : เพจ The Myanmar Travel

    10 กว่าปีที่แล้ว กิจการส่วนใหญ่ที่คนจีนมาเปิดในเมืองลา คือ บ่อนการพนันหรือธุรกิจคาสิโน และสถานบันเทิง มีเป้าหมายเพื่อดึงดูดนักเสี่ยงโชคชาวจีนให้ข้ามชายแดนมาเที่ยว แต่ต่อมาทางการรัฐฉานได้ขอให้เมืองลาปิดบ่อนการพนันเหล่านี้เสีย ทำให้นักธุรกิจคาสิโนจากเมืองลา ต้องย้ายออกไปหาพื้นที่ลงทุนใหม่ หนึ่งในนั้นคือ “เจ้าเหว่ย” เจ้าของสัมปทานเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ในเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้วฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขงกับอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ของไทย…

  • เมืองป๊อก อยู่ถัดไปทางทิศตะวันตกค่อนขึ้นไปทางเหนือจากเมืองลาประมาณเกือบ 100 กิโลเมตร ตามโครงสร้างการปกครอง เมืองป๊อกมีฐานะเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอเมืองยาง จังหวัดเชียงตุง แต่ในทางปฏิบัติ เมืองป๊อกถูกผนวกอย่างไม่เป็นทางการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่พิเศษหมายเลข 2 เขตปกครองตนเองชนชาติว้า ถูกปกครองอย่างเบ็ดเสร็จโดยกองทัพสหรัฐว้า(United Wa State Army : UWSA) กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในเมียนมา และเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองพลที่ 468 กองทัพสหรัฐว้า
  • เมืองป๊อก ที่มาภาพ : เพจ Wa Nation society lifestyle

    ฝั่งตรงข้ามเมืองป๊อกเป็นเขตปกครองตนเองชนชาติไต ลาหู่ และว้า เมิ่งเหลียน หรือในภาษาไตเรียกว่า “เมืองแลม” ขึ้นกับจังหวัดผูเอ่อร์ มณฑลยูนนาน ในอดีตหลายปีที่แล้ว สภาพเมืองป๊อกไม่แตกต่างจากเมืองอื่นๆของชาวไตในรัฐฉาน ชาวเมืองใช้ชีวิตสมถะ เรียบง่าย ทำการเกษตรเป็นหลัก แต่หลังจากกองทัพสหรัฐว้าเข้ามาครอบครอง มีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีการก่อสร้างอาคารสูงใหญ่เกิดขึ้นหลายตึก มีนักลงทุนทั้งที่เป็นคนว้าและคนจีนเข้ามาเปิดกิจการ ส่วนมากเป็นสถานบันเทิงครบวงจร ทำให้เมืองป๊อกปัจจุบัน มีสภาพที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงกับตัวเมืองยาง หรือแม้แต่ตัวเมืองเชียงตุง…

  • เมืองป๋างซาง หรืออีกชื่อหนึ่งคือเมือง “ปางคำ” อยู่ถัดขึ้นไปไม่ไกลมากทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองป๊อก ป๋างซางเป็นเมืองเอกหรือเมืองหลวงของเขตพิเศษหมายเลข 2 พื้นที่ปกครองตนเองชนชาติว้า และเป็นที่ตั้งฐานบัญชาการใหญ่ของกองทัพสหรัฐว้า สภาพตัวเมืองจึงได้รับการพัฒนาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์เท่ากับหรือมากกว่าเมืองใหญ่ๆอีกหลายเมืองในรัฐฉาน ฝั่งตรงข้ามเมืองป๋างซางเป็นเขตปกครองตนเองชนชาติไต ลาหู่ และว้า เมิ่งเหลียน จังหวัดผูเอ่อร์ เช่นเดียวกับเมืองป๊อก…
  • บรรยากาศยามค่ำคืนในเมืองป๋างซาง ที่มาภาพ : เพจ Wa Channel

  • เมืองเล่าก์ก่าย คนไตในรัฐฉานเรียกชื่อเมืองนี้ว่า “เล้าไก่” ส่วนคนไทยออกเสียงชื่อเมืองนี้หลายแบบ บางคนเรียก “ล็อกไก” บางคนเรียก“หล่าวก่าย” เล่าก์ก่ายเป็นเมืองเอกหรือเมืองหลวงของเขตพิเศษหมายเลข 1 พื้นที่ปกครองตนเองชนชาติโกก้าง อยู่ห่างจากป๋างซาง เมืองหลวงของว้าขึ้นไปทางทิศเหนือหลายร้อยกิโลเมตร
  • เมืองเล่าก์ก่ายตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองล่าเสี้ยว อยู่ห่างจากล่าเสี้ยว 117 ไมล์หรือ 188 กิโลเมตร ฝั่งตรงข้ามเมืองเล่าก์ก่าย ในเขตจีนเป็นเมืองหนานซาน อำเภอเจิ้นคัง จังหวัดหลินชางมณฑลยูนนาน

    เมืองเล่าก์ก่าย ที่มาภาพ : เพจ Shwe Phee Myay News Agency

    ชนชาติโกก้าง คือชาวจีนฮั่น ส่วนใหญ่เป็นทหารในกองทัพตระกูลหยางซึ่งอพยพลงมาทางใต้จากปัญหาการเมืองภายในจีนเมื่อหลายร้อยปีก่อน จนได้มาลงหลักปักฐานอยู่ในดินแดนแถบนี้ ต่อมาเมื่อมีการตีเส้นสมมุติแบ่งเขตประเทศ พื้นที่ซี่งชาวโกก้างอาศัยอยู่ ได้ถูกกำหนดให้ขึ้นกับรัฐฉาน ชาวโกก้างมีกองทัพติดอาวุธเป็นของตนเองใช้ชื่อว่า Myanmar National Democratic Alliance Army(MNDAA) ซึ่งเคยเจรจาสงบศึกกับกองทัพพม่าไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2532 แต่ในปี 2551 กองทัพพม่าต้องการให้ MNDAA แปรสภาพเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน(Border Guard Forces : BGF) ซึ่งต้องขึ้นตรงกับกองทัพพม่า ทำให้เกิดความขัดแย้งกัน ทั้งภายใน MNDAA เอง และระหว่าง MNDAA กับกองทัพพม่า

    ต้นเดือนสิงหาคม 2551 ได้เกิดการสู้รบอย่างรุนแรงระหว่างทหารพม่ากับ MNDAA ในพื้นที่รอบ ๆ เมืองเล่าก์ก่าย ทำให้มีชาวโกก้างกว่า 30,000 คน ต้องอพยพข้ามชายแดนไปหลบภัยอยู่ทางฝั่งจีน การสู้รบดำเนินอยู่เกือบ 1 เดือน ในที่สุดทหาร MNDAA ส่วนหนึ่งยอมถอนกำลังข้ามไปอยู่ในเขตจีน ส่วนที่เหลือยอมแปรสภาพเป็น BGF เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจภายในเมืองเล่าก์ก่าย ทำให้ปัจจุบันเมืองเล่าก์ก่ายอยู่ภายใต้การดูแลของกองกำลัง BGF อย่างสมบูรณ์ ส่วนกองกำลัง MNDAA ยังคงรบกับกองทัพพม่าอยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่ได้ย้ายฐานที่มั่นขึ้นไปตั้งอยู่ยังเมืองโก ที่อยู่เหนือขึ้นจากเมืองเล่าก์ก่าย ในพื้นที่จังหวัดหมู่เจ้…

  • เมืองหมู่เจ้ หรือที่คนไทยมักออกเสียงว่าเมือง “มูเซ” หรือ “มูเซะ” ตามตัวอักษรภาษาอังกฤษ เป็นเมืองหลักของจังหวัดหมู่เจ้ และเป็นเมืองหน้าด่านเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของการค้าขายระหว่างเมียนมาและจีน มูลค่าการค้าของ 2 ประเทศผ่านช่องทางชายแดนที่หมู่เจ้ สูงถึงปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฝั่งตรงข้ามหมู่เจ้เป็นเมืองรุ่ยลี่ เขตปกครองตนเองชนชาติไตและจิ่งพัว เต๋อหง มณฑลยูนนาน มีแม่น้ำมาวหรือแม่น้ำรุ่ยรี่ เป็นเส้นกั้น แบ่งเขตแดนระหว่าง 2 เมือง 2 ประเทศ
  • เมืองเล่าก์ก่าย ที่มาภาพ : เพจ Shwe Phee Myay News Agency
    ศูนย์กระจายสินค้าหลักไมล์ 105 เมืองหมู่เจ้ รถขนส่งสินค้าที่ซื้อขายกันระหว่างเมียนมาและจีน แทบทุกคันต้องมาผ่าน ณ จุดนี้ ที่มาภาพ : เพจ 105 miles, Mu-se, Shan State, Burma

    เนื่องจากเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีนและเมียนมา ทำให้มีผู้คนจากทุกสารทิศเดินทางเข้ามาอาศัยหรือทำงานอยู่ในหมู่เจ้
    ภายในตัวเมืองหมู่เจ้จึงมีธุรกิจที่หลากหลาย โดยเฉพาะธุรกิจสีเทา ไม่ว่าจะเป็นสถานบันเทิง บ่อนการพนัน ทำให้มีนายทหารพม่า ผู้นำกองกำลังพิทักษ์ชายแดน ตลอดจน ผู้นำกองกำลังติดอาวุธหลากหลายกลุ่ม ที่ล้วนมีส่วนในผลประโยชน์มหาศาลจากธุรกิจสีเทาในเมืองหมู่เจ้ สถิติคดีอาชญากรรมในหมู่เจ้จึงมีสูงมาก เพราะแต่ละกลุ่มล้วนใช้กำลังและอาวุธเข้ามาตัดสิน หากเกิดความขัดแย้งหรือตกลงผลประโยชน์ทางธุรกิจกันไม่ลงตัว

    ……

    ทั้งเมืองลา เมืองป๊อก เมืองป๋างซาง เมืองเล่าก์ก่าย และเมืองหมู่เจ้ ล้วนเป็นเมืองชายแดนของรัฐฉานที่มีพรมแดนติดกับประเทศจีน มีนักลงทุนจีนและชาวจีนจำนวนมาก อาศัยและทำงานอยู่ สกุลเงินที่ใช้กันภายในเมืองเหล่านี้จึงใช้เงินหยวนของจีนเป็นหลัก ภาษาที่ใช้พูดและสื่อสารระหว่างกัน ป้ายชื่อร้านค้า กิจการ สถานบันเทิงในตัวเมือง ส่วนใหญ่ใช้ภาษาจีน จะมียกเว้นบ้างในเมืองหมู่เจ้ ซึ่งยังมีภาษาพม่ากับภาษาไต ทั้งไตเหนือและไทใหญ่ ให้ได้เห็นและได้ยินอยู่บ้าง

    ที่สำคัญ ทั้ง 5 เมือง อยู่ห่างไกลจากประเทศไทยหลายร้อยกิโลเมตร เมืองเหล่านี้จึงไม่ควรเป็นเป้าหมายสำหรับหญิงสาวไทยที่อยากเดินทางออกไปทำงาน การโฆษณาชักชวนให้สมัครงานโดยใช้ผลตอบแทนสูงเป็นตัวล่อในเมืองเหล่านี้ จึงเป็นการ“หลอกลวง”อย่างแท้จริง…

  • “หมู่เจ้” ประตูการค้าจีน-เมียนมาที่ “ใหญ่” ที่สุด
  • เดินหน้าระเบียงเศรษฐกิจ “จีน-เมียนมา” กรุยเส้นทางสั้นที่สุดสู่มหาสมุทรอินเดีย
  • เงื่อนไขซ่อนเร้นของ “ว้า-เมืองลา” ในการเจรจาสันติภาพ