ThaiPublica > สู่อาเซียน > ดินแดนจีนตรงข้ามฝั่งโขง

ดินแดนจีนตรงข้ามฝั่งโขง

31 ธันวาคม 2020


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ริมแม่น้ำโขง ฝั่งตรงข้ามกับอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

นับแต่ต้นปี 2563 ที่โควิด-19 เริ่มระบาดลงมายังดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เป็นพื้นที่หนึ่ง ซึ่งมีความเคลื่อนไหวเพื่อรับมือกับโรคร้ายนี้ที่น่าสนใจ…

เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ อยู่ริมแม่น้ำโขงในเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตรงข้ามกับอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

พื้นที่นี้เป็นสัมปทานที่รัฐบาลลาวมอบให้นักลงทุนจากจีน สร้างเป็นเมืองใหม่ขึ้นมา เพื่อดึงดูดคนจีนจากแผ่นดินใหญ่ ให้เดินทางมาเสี่ยงโชค ท่องเที่ยว และลงทุน

ก่อนการระบาดของโควิด-19 เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ มีทั้งชาวจีนที่ทำงานอยู่ในนี้ และเดินทางมาเที่ยวเสี่ยงโชคที่นี่เป็นจำนวนมาก

เมื่อโควิด-19 เริ่มต้นระบาดจากในจีน และเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำเป็นสัมปทานของคนจีน หลังจากจีนเริ่มมีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ผู้บริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ จึงต้องปกป้องพื้นที่ของตนเองให้เหนียวแน่นกว่าพื้นที่อื่นๆ

ปลายเดือนมกราคม 2563 ขณะที่ในจีนเพิ่งพบผู้ป่วยโควิด-19 เพียงประมาณ 2,000 คน ยังไม่มีการแพร่ลงมาถึงลาว เมียนมา และไทย แต่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำได้ประกาศปิดพื้นที่เอาไว้ก่อน ห้ามบุคคลเข้า-ออก ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2563

1 กุมภาพันธ์ กิจการทุกแห่งในนี้ ทั้งบ่อนกาสิโน โรงแรม ร้านอาหาร สถานบันเทิง ถูกสั่งให้หยุดยาวไปจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม จึงค่อยเปิดรับลูกค้าอีกครั้ง

ปลายเดือนพฤศจิกายน เมื่อโควิด-19 กลับมาระบาดรอบ 2 ในจังหวัดท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขงกับเมืองต้นผึ้ง เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ได้ประกาศปิดพื้นที่ทันที ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2563 และยังคงปิดต่อเนื่องถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

ขณะที่ตัวเมืองต้นผึ้งเอง เจ้าเมืองออกคำสั่งปิดเมืองตามหลัง มีผลในวันที่ 4 ธันวาคม และเปิดการสัญจรให้คนเดินทางเข้า-ออกเมืองต้นผึ้งได้ก่อน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563

ด้วยความเป็นสัมปทานของนักลงทุนจีน คนที่อาศัยอยู่รอบข้างจึงมักเรียกพื้นที่แห่งนี้ว่า เป็นเขต “หยวนโซน”

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/fm90laos/photos/pcb.2245005012259413/2245003622259552/

เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำเป็นรูปธรรมแรกที่เกิดจากนโยบาย “แปรสนามรบเป็นตลาดการค้า” ซึ่งเริ่มในยุค “น้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 17

จากนโยบายนี้ทำให้เกิดโครงการความร่วมมือที่เรียกว่า “สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ” เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนของ 4 ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ จีน เมียนมา ลาว และไทย ผ่านการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ ในปี 2536

ทางบก มีการสร้างถนน R3a ระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร จากชายแดนลาว-จีน ที่เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา มาถึงชายแดนลาว-ไทย ที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว

ทางน้ำ มีการส่งเสริมกิจการพาณิชย์นาวีในแม่น้ำโขง เปิดให้เรือสินค้าสามารถวิ่งขึ้น-ล่องในแม่น้ำโขงได้อย่างเสรี ตั้งแต่ท่าเรือซือเหมา ท่าเรือเชียงรุ่ง ท่าเรือกวนเหล่ย ในสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ของจีน ผ่านลาว เมียนมา ลงมาถึงท่าเรือเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

ฝั่งไทย มีการสร้างท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 1 เปิดใช้งานในปี 2546

ส่วนฝั่งลาว โครงการที่ปรากฏขึ้นตรงข้ามกับท่าเรือเชียงแสน คือเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ

ปี 2550 รัฐบาลจีนได้ให้สัมปทานแก่บริษัทดอกงิ้วคำเช่าที่ดิน 827 เฮคต้า หรือ 5,168 ไร่(1 เฮคตา=6.25 ไร่) เป็นเวลา 99 ปี สร้างเป็นศูนย์บันเทิงครบวงจร โดยใช้เงินลงทุน 3,000 ล้านดอลลาร์

คำว่าศูนย์บันเทิงครบวงจร มีเป้าหมายหลักคือกาสิโนหรือบ่อนการพนันถูกกฏหมาย เพื่อดึงดูดนักเสี่ยงโชคจากจีนให้ขนเงินมาเล่นการพนันที่นี่

ดอกงิ้วคำเป็นบริษัทในเครือคิงส์ โรมัน กรุ๊ป กลุ่มธุรกิจกาสิโนที่จดทะเบียนอยู่ในฮ่องกง

เจ้าเหว่ย(ซ้าย) กับสมสะหวาด เล่งสะหวัด อดีตรองนายกรัฐมนตรี ผู้มีบทบาทสำคัญของ สปป.ลาว(ภาพจากเพจเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/Golden.Triangle.Special.Economic.Zone)

คิงส์ โรมัน กรุ๊ป มี “เจ้าเหว่ย” นักธุรกิจจีนที่มีความสนิทสนมกับสมสะหวาด เล่งสะหวัด อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่เคยมีบทบาทสูงมากในลาว เป็นเจ้าของ(ดูภาพประกอบ)

นอกจากที่เมืองต้นผึ้ง เจ้าเหว่ยเคยลงทุนทำกาสิโนอยู่ในเขตพิเศษหมายเลข 4 เมืองลา ชายแดนรัฐฉาน-จีนมาก่อน

วันที่ 9 กันยายน 2552 เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ได้จัดงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการ

29 ตุลาคม 2557 รัฐบาลลาวปรับปรุงสัญญาสัมปทาน ขยายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำขึ้นเป็น 2,173 เฮคต้า(13,581 ไร่) ปรับรูปแบบโครงการเป็นการสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาอีก 1 เมือง ภายในเมืองใหม่ นอกจากกาสิโนแล้ว ยังมีการสร้างศูนย์การค้า อาคารพาณิชย์ โรงแรม สนามกอล์ฟ โรงพยาบาล โรงเรียน วัดฯลฯ

ที่สำคัญ รัฐบาลลาวอนุมัติสร้างสนามบินพาณิชย์ใหม่ขึ้นมาอีก 1 แห่ง ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เพื่อให้บริการพานักเสี่ยงโชคจากจีนบินตรงมาลงที่นี่ ทั้งที่แขวงบ่อแก้วมีสนามบินของรัฐบาลอยู่แล้ว ในเมืองห้วยทราย

ผังโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เมื่อสิ่งปลูกสร้างทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ ที่มาภาพ : เพจเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ https://www.facebook.com/Golden.Triangle.Special.Economic.Zone

คำว่า “หยวนโซน” ที่คนรอบข้างใช้เรียกเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ไม่ใช่เป็นการเรียกแบบล้อเลียน หรือเรียกเล่นๆ

2 พฤษภาคม 2562 คณะกรรมการควบคุมเขตเศรษฐกิจพิเศษ แขวงบ่อแก้ว มีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าเมืองต้นผึ้ง เพื่อให้บอกต่อลงไปยังชาวเมืองต้นผึ้งว่า กาสิโนในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำเปิดรับสมัครคนลาวเข้าทำงานใน 9 ตำแหน่งงาน จำนวน 80 อัตรา ประกอบด้วย

1.พนักงานคุมโต๊ะประจำกาสิโน 50 อัตรา ไม่จำกัดเพศ อายุ 18 ปีขึ้นไป วุฒิการศึกษามัธยมต้นขึ้นไป

2.ล่ามและพนักงานต้อนรับประจำสำนักงานในประเทศไทย 5 อัตรา ไม่จำกัดเพศ อายุ 20 ปีขึ้นไป ระบุวุฒิการศึกษาขั้นสูง

3.พนักงานต้อนรับประจำฝ่ายการตลาดและต้อนรับแขก VIP 11 อัตรา ไม่จำกัดเพศ อายุ 20 ปีขึ้นไป วุฒิการศึกษามัธยมปลายขึ้นไป

4.พนักงานเคาท์เตอร์ประจำส่วนโรงแรม 3 อัตรา ไม่จำกัดเพศ อายุ 20 ปีขึ้นไป วุฒิการศึกษามัธยมปลายขึ้นไป

5.พนักงานต้อนรับประจำส่วนโรงแรม 3 อัตรา ไม่จำกัดเพศ อายุ 20 ปีขึ้นไป วุฒิการศึกษามัธยมปลายขึ้นไป

6.พนักงานรับโทรศัพท์ประจำกาสิโน 2 อัตรา เพศหญิง อายุ 20-40 ปี ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา

7.ช่างซ่อมบำรุง เพศชาย อายุ 20 ปีขึ้นไป ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา 3 อัตรา

8.พนักงานขับรถ 1 อัตรา เพศชาย อายุ 20-45 ปี วุฒิการศึกษามัธยมปลาย

9.เลขานุการ 2 อัตรา เพศหญิง อายุ 20-35 ปี วุฒิการศึกษามัธยมปลาย

ในหนังสือที่เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมทองคำ ส่งมายังคณะกรรมการควบคุมเขตเศรษฐกิจพิเศษแขวงบ่อแก้ว ระบุว่าทุกตำแหน่งงานที่รับสมัคร กำหนดอัตราเงินเดือน 2,200 หยวน เทียบเป็นเงินไทย 9,930 บาท

ไม่มีการระบุอัตราเงินเดือนเป็นเงินกีบ!!!

ที่มาภาพ : https://laoedaily.com.la/2019/10/21/63179/?fbclid=IwAR1Jq06_xIBV4mL92fPYzZpVeY1SjcIWOCU8HCXsD8T200VUdEDJtLg0laI

17 ตุลาคม 2562 คณะกรรมการควบคุมเขตเศรษฐกิจพิเศษ แขวงบ่อแก้ว ได้ มีหนังสือเลขที่ 552/คขสพ.บกแจ้งถึงนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่เรียนจบวิชาชีพในแขวงบ่อแก้ว

เนื้อหาในหนังสือระบุว่า คณะกรรมการควบคุมเขตเศรษฐกิจพิเศษ แขวงบ่อแก้ว ร่วมกับกลุ่มบริษัทดอกงิ้วคำ และวิทยาลัยเทคนิค-วิชาชีพ ทองสะบา จะรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ กำหนดเปิดรับสมัครในวันพุธที่ 23 ตุลาคม

ในหนังสือไม่ได้ระบุวุฒิ คุณสมบัติ ของผู้สมัคร แต่ตอนท้ายของหนังสือ ได้เขียนหมายเหตุไว้ว่า…

“สำหรับคนที่ไม่รู้ภาษาจีน พวกเรามีนโยบายอบรมภาษาจีนให้เป็นเวลา 3 เดือน โดยมีที่พักให้ หลังสิ้นสุดการอบรม จะมีการสอบ เพื่อคัดเลือกบุคคลที่เรียนรู้ได้ไว สามารถสื่อสารภาษาจีนได้ เข้าเป็นพนักงาน”

13 ตุลาคม 2562 จันทะจอน วางฟาเซง กรรมการบริหาร เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวสารประเทศลาวว่า นับแต่เริ่มเปิดให้บริการในปี 2555 ถึงกลางปี 2562 เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำได้จ่ายพันธะอากรให้กับรัฐบาลลาวไปแล้ว 458 ล้านดอลลาร์

ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำมีรายรับรวม 150 ล้านดอลลาร์ คาดว่าปี 2568 จะเพิ่มเป็น 370 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 150%

ปี 2561 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำรวม 452,571 คน

กลางปี 2562 ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ มีโรงแรมเปิดให้บริการแล้ว 13 แห่ง ห้องพักรวม 1,303 ห้อง และสิ้นปี 2562 มีโรงแรมเปิดให้บริการใหม่อีก 3 แห่ง

จันทะจอน วางฟาเซง กรรมการบริหาร เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1139996679537444&id=421087478095038
ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1139996679537444&id=421087478095038

ตอนโควิด-19 เริ่มระบาดเมื่อปลายเดือนมกราคม 2563 เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำประกาศปิดพื้นที่ ธุรกิจที่อยู่ในนั้นทุกแห่งถูกให้หยุดชั่วคราวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์

แต่ก่อนที่จะให้ทุกกิจการกลับมาเปิดได้อีกครั้งในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 คณะกรรมการควบคุมเขตเศรษฐกิจพิเศษ แขวงบ่อแก้ว มีหนังสือแจ้งเรื่องการเข้า-ออก เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ระบุว่า

ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายนเป็นต้นไป ประชาชนและพ่อค้า-แม่ค้าที่เป็นคนลาว สามารถเดินทางเข้า-ออกในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำได้ตามปกติ แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังนี้…

-แสดงบัตรประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อยืนยันว่าเป็นคนลาว ก่อนเข้าในพื้นที่

-ผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ณ จุดคัดกรองที่เขตเศรษฐกิจพิเศษฯ จัดเตรียมไว้

สำหรับชาวต่างประเทศ ยังไม่อนุญาตให้เข้า-ออกเขตเศรษฐกิจพิเศษฯโดยเด็ดขาด ยกเว้นได้รับอนุญาตจากผู้ที่มีอำนาจ

เมื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำจำเป็นต้องปิดพื้นที่อีกครั้ง หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ในจังหวัดท่าขี้เหล็ก เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2563

วันที่ 30 พฤศจิกายน คณะกรรมการควบคุมเขตเศรษฐกิจพิเศษ แขวงบ่อแก้ว ได้ออกหนังสือแจ้งการ“ด่วน” เลขที่ 536/คขสพ.บก เรื่องการปฏิบัติมาตรการป้องกัน ควบคุม สกัดกั้น และแก้ไข การระบาดของโควิด-19 ตอนต้นของหนังสือได้อ้างอิงถึงข้อเสนอของประธานคณะกรรมการบริหาร เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ระบุว่า

เพื่อดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง และเข้มงวด ตั้งแต่วันที่ 3-20 ธันวาคม 2563 ให้…

1.คนลาวและคนต่างประเทศ จะเข้ามาในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมเขตเศรษฐกิจพิเศษแขวงบ่อแก้ว และคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำก่อน

ส่วนพ่อค้า แม่ค้า ชาวลาว ที่เคยนำสินค้าเข้าไปวางขายอยู่ในตลาดชั่วคราว ให้ระงับไปก่อน จนกว่าจะมีหนังสือแจ้งการฉบับใหม่

2.ในช่วงการระงับชั่วคราวนี้ การนำสินค้าอุปโภค-บริโภค ที่จำเป็นบางประเภทเข้ามา ต้องได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมเขตเศรษฐกิจพิเศษ แขวงบ่อแก้ว และคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ

3.ทุกคนที่อาศัยอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ หรือจะเข้ามาในเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ ต้องสวมหน้ากากอนามัย

หนังสือแจ้งมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ที่ออกเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563

วันที่ 19 ธันวาคม คณะกรรมการควบคุมเขตเศรษฐกิจพิเศษ แขวงบ่อแก้ว ได้มีหนังสือแจ้งเรื่องการปิดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำต่อไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม

หนังสือแจ้งปิดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำต่อจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

ในหนังสือยังยืนยันเช่นเดิมว่า คนลาวและคนต่างประเทศ ถ้าต้องการเข้าไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมเขตเศรษฐกิจพิเศษ แขวงบ่อแก้ว และคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำเสียก่อน(รายละเอียดดูได้ในภาพประกอบ)

เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลก ประจำ สปป.ลาว เข้าขอข้อมูลการจัดการด้านสาธารสุขภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ที่มาภาพ : เพจเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ https://www.facebook.com/Golden.Triangle.Special.Economic.Zone

เมืองต้นผึ้งเปิดให้มีการสัญจรเข้า-ออกได้ตามปกติ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม

แต่ช่วงเกือบ 1 เดือนที่มีการปิดพื้นที่ แผนกสาธารณสุขทั้งระดับแขวงและระดับเมือง ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างจากคนในพื้นที่ 425 คน เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซึ่งผลออกมาเป็นลบทั้งหมด

ในจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 425 คน เป็นพนักงานซึ่งทำงานอยู่ในกาสิโน ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ 37 คน

9 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขแขวงบ่อแก้ว และเมืองต้นผึ้ง เข้าไปเก็บตัวอย่างพนักงานที่ทำงานอยู่ในกาสิโน มีเจ้าหน้าที่จากองค์การอนามัยโลก ประจำ สปป.ลาว เข้าไปร่วมปฏิบัติการ และพูดคุยกับฝ่ายบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เพื่อขอข้อมูลการจัดการด้านสาธารณสุขภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษฯแห่งนี้ด้วย

สาธารณสุขแขวงบ่อแก้วและเมืองต้นผึ้ง เข้าไปเก็บตัวอย่างจากพนักงานในกาสิโนของเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ที่มาภาพ : เพจเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ https://www.facebook.com/Golden.Triangle.Special.Economic.Zone

แม้เป็นสัมปทานที่นักลงทุนได้สิทธิ์เช่าพื้นที่เพื่อการพัฒนา แต่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ มีการบริหารจัดการพื้นที่ไม่แตกต่างจากรัฐอิสระที่สามารถออกกฏระเบียบมาบังคับใช้กับผู้คน ในผืนดินของตนเองได้

ที่เล่ามาข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างไม่กี่เรื่องที่สะท้อนถึงความมีอิสระในการดูแลพื้นที่ภายใน ที่พบเห็นจากการติดตามข่าวสารของเขตเศรษฐกิจพิเศษฯแห่งนี้

เรื่องราวของเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำยังมีอีกหลายมิติ ที่จะนำมาบอกเล่าต่อในโอกาสถัดไป…