ThaiPublica > สู่อาเซียน > “รัฐฉาน-เชียงใหม่” สายสัมพันธ์ “ไต-ไทย” ที่ไม่มีเส้นพรมแดน

“รัฐฉาน-เชียงใหม่” สายสัมพันธ์ “ไต-ไทย” ที่ไม่มีเส้นพรมแดน

14 มีนาคม 2023


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะผู้ก่อตั้งกลุ่ม “หนุ่มศึกหาญ”

เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ในจังหวัดเชียงใหม่ มีกิจกรรม 2 กิจกรรมที่น่าสนใจ เป็นกิจกรรมที่สะท้อนความผูกพัน สายสัมพันธ์ของคนจากรัฐฉานและในประเทศไทย ที่ไม่มีความเป็นประเทศหรือเส้นพรมแดน มาเป็น “ตัวแปร” แบ่งกั้น…

วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ บริเวณทางขึ้นบ้านกุงจ่อ ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง พื้นที่รอยต่อเชียงใหม่-รัฐฉาน มีพิธีบรรจุอัฐิของ “เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะ” เข้าสู่เจดีย์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์สถานแด่เจ้าน้อยฯ โดยเฉพาะ

มีผู้มาร่วมครั้งนี้หลายร้อยคน ทั้งชาวไทใหญ่ ชาวไทย ชาวไตกลุ่มอื่นๆ ทั้งที่อยู่ในรัฐฉานและในประเทศไทย มีบุคคลสำคัญ เช่น พล.อ. เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) พล.ต. เคอเงิน รองประธาน RCSS คนที่ 2 และผู้บัญชาการกองทัพรัฐฉานใต้ แม่ชีหลู่ ภรรยาเจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะ จายแสงเมือง มังกร ลูกชายของเจ้าน้อยฯลฯ

เจดีย์บรรจุอัฐิเจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะ ที่บ้านกุงจ่อ ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มาภาพ : สำนักข่าว Shan News
พิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เจ้านางสุจั่นตี่ ที่วัดป่าเป้า อำเภอเมืองเชียงใหม่

ก่อนหน้านั้นประมาณ 2 สัปดาห์ ในวันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่วัดป่าเป้า ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ประชาคมชาวไทใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ และชาวไตอีกหลายกลุ่มจากพื้นที่ต่างๆ ได้ร่วมกันจัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ “เจ้านางสุจั่นตี่” มหาเทวีของเจ้าจ่าแสง เจ้าฟ้าหลวงคนสุดท้ายแห่งเมืองสีป้อ

มีการนำรูปถ่ายเก่าๆ ของเจ้านางสุจั่นตี่มาจัดเป็นนิทรรศการ บอกเล่าประวัติของเจ้านาง รวมถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉานยุคที่เจ้านางเป็นมหาเทวี แสดงไว้บริเวณลานด้านข้างวิหารหลวงวัดป่าเป้า เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรื่องราวของรัฐฉานที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน

ทั้งเจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะ และเจ้านางสุจั่นตี่ ล้วนเป็นบุคคลสำคัญที่มีบทบาททางจิตใจของชาวไทใหญ่ในรัฐฉานยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากอังกฤษคืนเอกราชให้กับดินแดนที่เป็นประเทศเมียนมาทุกวันนี้

นิทรรศการภาพถ่ายเจ้านางสุจั่นตี่ ซึ่งถูกจัดที่ลานข้างวิหารหลวงวัดป่าเป้า ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

……

เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะได้รับการยกย่องขึ้นเป็นวีรชนผู้กล้าของชาวไทใหญ่ เขาเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม “หนุ่มศึกหาญ” กองกำลังกู้ชาติกลุ่มแรกที่จับอาวุธเข้าต่อสู้กับกองทัพพม่า เพื่อความเป็นเอกราชของรัฐฉาน

“หนุ่มศึกหาญ” ถือกำเนิดขึ้นจากชายหนุ่ม 31 คน (รวมทั้งตัวของเจ้าน้อยฯเอง) ที่ได้ดื่มน้ำสาบานกันเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2501 ว่าจะร่วมต่อสู้ ขับไล่ทหารพม่าให้ออกไปจากดินแดนรัฐฉาน

เมื่อเริ่มก่อตั้ง กลุ่มหนุ่มศึกหาญมีอาวุธอยู่ในมือเพื่อใช้ต่อสู้กับทหารพม่าเพียงปืนยาว 7 กระบอก!!!

ประเด็นสำคัญคือ การเกิดขึ้นของกลุ่มหนุ่มศึกหาญในวันนั้น ได้จุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจแก่ชาวไทใหญ่และชาวไตกลุ่มอื่น ให้กล้าจับมีด ไม้ พร้า เป็นอาวุธ เข้าต่อกรกับกองทัพพม่า และสามารถรวมตัวเป็นกองกำลังกู้ชาติอีกหลายกลุ่มตามมาในภายหลัง ถือเป็นต้นกำเนิดของกองทัพรัฐฉาน (Shan State Army หรือ SSA) ในทุกวันนี้

เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะ เป็นบุตรของเจ้าขุนก่ำ เจ้าฟ้าผู้ปกครองเมืองมาวโหลง ซึ่งปัจจุบันคือเมืองรุ่ยลี่ เขตปกครองตนเองชนชาติไตและจิ่งพัว เต๋อหง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่อยู่ตรงข้ามกับเมืองหมู่เจ้ ในภาคเหนือของรัฐฉาน

  • “หมู่เจ้” ประตูการค้าจีน-เมียนมาที่ “ใหญ่” ที่สุด
  • เดินหน้าระเบียงเศรษฐกิจ “จีน-เมียนมา” กรุยเส้นทางสั้นที่สุดสู่มหาสมุทรอินเดีย
  • เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะเกิดเมื่อปี 2470 ในวัยหนุ่มระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เจ้าน้อยฯได้เข้าร่วมรบด้วย โดยเป็นนายทหารยศร้อยโท ในสังกัดกองทัพอังกฤษ

    เจ้าน้อยฯเกิดและเติบโตขึ้นในช่วงที่พม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งได้ทำลายระบบกษัตริย์ของพม่าลงไปอย่างสิ้นเชิง แตกต่างจากรัฐฉาน ที่อังกฤษใช้คำเรียกว่าเป็น “รัฐภายใต้การอารักขา” ซึ่งยังคงให้แต่ละเมืองมี“เจ้าฟ้า”เป็นกษัตริย์ปกครองอยู่

    หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แกนนำของพม่าต้องการเดินหน้ากระบวนการเรียกร้องเอกราชคืนจากอังกฤษ และได้มาขอความช่วยเหลือจากเจ้าฟ้าเมืองต่างๆ ของรัฐฉาน ให้ร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชด้วย

    ต่อมาอังกฤษยอมตกลงมอบอิสรภาพคืนแก่พม่าและรัฐฉาน มีการลงนามในสนธิสัญญาปางโหลง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2490 เนื้อหาในสัญญาปางโหลงระบุว่า หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้ว 10 ปี รัฐฉานมีสิทธิแยกตัวออกเป็นอิสระจากพม่าได้

    อังกฤษส่งมอบอิสรภาพคืนแก่พม่าในวันที่ 4 มกราคม 2491 แต่ทว่า พม่ากลับไม่มีทีท่าว่าจะปฏิบัติตามเนื้อหาที่เขียนไว้ในสัญญาปางโหลง

    ตรงกันข้าม มีการส่งกำลังทหารเข้ามาประจำการไว้ในพื้นที่รัฐฉาน อ้างเหตุผลว่าเพื่อต่อต้านทหารก๊กมินตั๋ง ที่ขณะนั้นได้พ่ายแพ้ต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน และกำลังถอยร่นลงมาอยู่ในเขตรัฐฉาน

    ปี 2501 ครบกำหนด 10 ปี ที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมื่อชัดเจนแล้วว่าสนธิสัญญาปางโหลงได้กลายเป็นโมฆะ เพราะพม่าไม่ยอมปล่อยให้รัฐฉานแยกตัวออกเป็นอิสระแน่ เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะจึงเริ่มเคลื่อนไหว

    พล.อ. เจ้ายอดศึก (เสื้อแขนยาวสีขาว) ประธาน RCSS/SSA ทำพิธีบรรจุอัฐิเจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะเข้าสู่เจดีย์ ที่มาภาพ : สำนักข่าว Shan News

    วันที่ 21 พฤษภาคม 2501 เจ้าน้อยซอหวั่นต๊ะกับสหายอีก 30 คน ซึ่งล้วนคนหนุ่มจากเมืองปั่น ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอนของไทย รวบรวมอาวุธปืนยาวได้ 7 กระบอก ดื่มน้ำสาบานรวมตัวกันเป็นกลุ่ม “หนุ่มศึกหาญ” เริ่มต้นการต่อสู้ขับไล่ทหารพม่า โดยมีพื้นที่เคลื่อนไหวอยู่ตามแนวชายแดนรัฐฉาน-ไทย ด้านจังหวัดเชียงใหม่

    เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 ที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมอายุได้ 69 ปี มีพิธีสวดพระอภิธรรมศพที่วัดป่าเป้า มีขบวนแห่ศพอย่างยิ่งใหญ่เพื่อนำไปประกอบพิธีฌาปนกิจ ยังสุสานสันติธรรม อำเภอเมืองเชียงใหม่

    จายแสงเมือง มังกร ลูกชายของเจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะ เป็นผู้เก็บรักษาอัฐิของเจ้าน้อยฯ ไว้ จนเพิ่งนำมาบรรจุยังอนุสรณ์สถานในครั้งนี้

    พล.อ. เจ้ายอดศึก ได้ขึ้นกล่าวในพิธีบรรจุอัฐิเจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะ ว่า เจ้าน้อยฯ เป็นบุคคลที่มีจิตใจมุ่งมั่น ต่อสู้เพื่ออิสรภาพของรัฐฉานและชาวไทใหญ่อย่างแท้จริง การต่อสู้นี้ แม้ดำเนินมานานแล้วถึง 64 ปี แต่ก็ยังไม่สิ้นสุด ดังนั้นจึงขอให้คนไทใหญ่และคนไตทุกคนอย่ายอมแพ้ ต้องต่อสู้ต่อไป และตั้งความหวังไว้ว่าวันหนึ่งข้างหน้า การต่อสู้ของทุกคนจะบรรลุเป้าหมาย เพื่อรัฐฉานจะได้พบกับความสงบสุข ร่มเย็นที่แท้จริง

    ……

    เจ้านางสุจั่นตี่หรืออิงเง่ ซาเจนต์ กับภาพถ่ายสมัยเป็นมหาเทวีเจ้าฟ้าเมืองสีป้อ ในรัฐฉาน

    เจ้านางสุจั่นตี่ มหาเทวีของเจ้าจ่าแสง เชื่อว่าเป็นที่รู้จักของคนไทยจำนวนมากเป็นอย่างดี คนไทยส่วนใหญ่เรียกชื่อเธอตามสำเนียงไทยว่า “เจ้านางสุจันทรี”

    เจ้านางสุจั่นตี่ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “อิงเง่ ซาเจนต์”(Inge Sargent) เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Twilight Over Burma – My Life as a Shan Princess” ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2537 มีการตั้งชื่อเป็นภาษาไทยว่า “สิ้นแสงฉาน” เป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมมากเล่มหนึ่ง จนต่อมาถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายในหลายประเทศเมื่อปี 2559

    แต่ในประเทศไทย ปรากฏว่า “สิ้นแสงฉาน” เป็นภาพยนตร์ที่ถูกสั่งห้ามฉาย!

    อิงเง่ ซาเจนต์ เป็นชาวออสเตรีย เกิดเมื่อปี 2475 ได้ทุนฟูลไบรท์ไปเรียนต่อที่มลรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ในปี 2494 และได้พบรักกับเจ้าจ่าแสง ซึ่งขณะนั้นกำลังเรียนอยู่ที่ School of Mines ในโคโลราโด ทั้งคู่แต่งงานกันในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2496

    เจ้านางสุจั่นตี่และเจ้าจ่าแสง

    เจ้านางสุจั่นตี่เขียนไว้ในหนังสือ Twilight Over Burma ว่า ตลอดเวลาที่พบรักกระทั่งได้แต่งงานใช้ชีวิตร่วมกันแล้วนั้น เธอไม่รู้เลยว่าสถานะที่แท้จริงของเจ้าจ่าแสงในรัฐฉานนั้นเป็นใคร จนได้มารับรู้ภายหลัง เมื่อทั้งคู่เรียนจบและเดินทางกลับมายังรัฐฉานในปี 2497

    ตลอดเวลาที่เจ้านางสุจั่นตี่อยู่ในรัฐฉานในฐานะมหาเทวี เจ้านางเป็นแรงสนับสนุนสำคัญของเจ้าจ่าแสงในการบริหารกิจการบ้านเมือง จนเป็นที่รักของชาวเมืองสีป้อ

    แต่ทุกอย่างได้พังทลายลงในปี 2505 เมื่อนายพลเนวินทำรัฐประหารในพม่า และเข้ามาครอบครองรัฐฉานอย่างเบ็ดเสร็จ ล้างระบอบเจ้าฟ้าลงทั้งหมด เจ้าจ่าแสงถูกทหารพม่าจับกุมตัวไปคุมขัง และไม่ได้กลับไปยังเมืองสีป้ออีกเลย

    ปี 2507 เจ้านางสุจั่นตี่พาลูกสาว 2 คน คือเจ้ามายารี และเจ้ากินรี กลับไปอยู่ออสเตรีย และได้ย้ายไปพำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา ในเวลาต่อมา

    เจ้านางสุจั่นตี่ เสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคชรา ในวัย 91 ปี ในช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่บ้านพักในสหรัฐอเมริกา

    ภาพพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้านางสุจั่นตี่ที่วัดป่าเป้า จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ถูกเผยแพร่ต่อไปอย่างกว้างขวางทั่วทั้งรัฐฉาน จากนั้นภาคประชาสังคม หลายกลุ่ม หลายองค์กรในรัฐฉาน ได้จัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้านางสุจั่นตี่ตามมาด้วยเช่นกัน

    ……

    หลายคนอาจมองว่า การที่เชียงใหม่กับรัฐฉานมีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด แนบแน่น เป็นเพราะทุกวันนี้ มีชาวไทใหญ่เป็นจำนวนมาก โยกย้ายข้ามมาทำงานหรือเรียนหนังสืออยู่ในเชียงใหม่ ซึ่งก็เป็นมุมมองที่ไม่ผิด

    แต่ความเป็นจริง สายสัมพันธ์ระหว่างรัฐฉานและเชียงใหม่ แนบแน่นใกล้ชิดกันมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว

    ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 400 ปีก่อน ช่วงสงครามระหว่างพม่า ในยุคของพระเจ้าบุเรงนอง กับอาณาจักรล้านนา เมื่อล้านนาต้องพ่ายแพ้แก่พม่า มีชาวเชียงใหม่จำนวนมากถูกกวาดต้อน โยกย้ายข้ามไปอยู่ในหลายพื้นที่ของพม่าและรัฐฉาน

    ในทางกลับกัน 200 กว่าปีที่แล้ว ยุคที่เรียกว่า “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” เมื่อเจ้ากาวิละเข้ามาฟื้นฟูล้านนา ได้มีการกวาดต้อนผู้คนจากหลายเมืองของรัฐฉาน ให้มาอยู่ที่เชียงใหม่

    การโยกย้ายข้ามไป-มา ระหว่างรัฐฉานและเชียงใหม่ ทำให้หลายคนใน 2 ดินแดนนี้ มีความผูกพันกันแบบเครือญาติ

    ทุกวันนี้ ชื่อของหลายชุมชนในเชียงใหม่และลำพูน ถูกตั้งขึ้นตามชื่อของเมืองเดิมในรัฐฉานที่คนเหล่านั้นจากมาก เช่น

      – ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ตั้งตามชื่อเมืองยอง
      – บ้านพยากน้อย บ้านพยากหลวง ตำบลตลาดขวัญ อำเภอดอยสะเก็ด ตั้งขึ้นจากชื่อเมืองพยาก
      – บ้านเชียงขาง ตำบลไชยสถาน อำเภอสารภี ตั้งขึ้นตามชื่อเมืองเชียงขาง
      – บ้านเมืองสาตร ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ ก็ตั้งจากชื่อเมืองสาต ในรัฐฉานภาคตะวันออก
    สถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่บ้านห้วยอ้อ ตำบลเมืองหาง อำเภอเมืองโต๋น จังหวัดเมืองสาต ตรงข้ามกับอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่มาภาพ : สำนักข่าว Shan News

    เมื่อเวลาประมาณเที่ยงคืนเศษของคืนวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ที่นากองมู บ้านห้วยอ้อ ตำบลเมืองหาง อำเภอเมืองโต๋น จังหวัดเมืองสาต ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากด่านผ่อนปรนกิ่วผาวอก (ช่องทาง BP 1) บ้านอรุโณทัย ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นไปทางเหนือ

    ครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร แห่งวัดพระธาตุดอนเรือง เมืองพง จังหวัดท่าขี้เหล็ก ได้เป็นประธานในพิธีทำบุญ ยกยอดฉัตรสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีคณะสงฆ์จากหลายวัดในรัฐฉาน และชาวไทใหญ่เป็นจำนวนมากจากหลายพื้นที่ เดินทางมาร่วมพิธี

    คนเฒ่าคนแก่ในเมืองหางเชื่อว่า บริเวณที่ตั้งสถูปเจดีย์แห่งนี้ เป็นจุดที่สมเด็จพระนเรศวรสวรรคต เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2148 ขณะที่พระองค์ทรงนำทัพขึ้นมาหวังจะอ้อมไปตีกรุงอังวะ เพื่อหวังจะเผด็จศึกกับพม่า

    ก่อนหน้านี้ บริเวณนี้เคยมีเจดีย์เก่าแก่ซึ่งคนในพื้นที่เชื่อว่าเป็นสถูปบรรจุอัฐิของสมเด็จพระนเรศวรตั้งไว้อยู่แล้ว

    หลายสิบปีก่อน สมัยที่ทหารไทใหญ่ยังสู้รบหนักอยู่กับกองทัพพม่า ก่อนออกทำศึก ทหารไทใหญ่ต้องมาทำพิธีสักการะบูชาสถูปเจดีย์องค์นี้ทุกครั้ง ผลการรบส่วนใหญ่ ทหารไทใหญ่มักได้รับชัยชนะ

    เล่ากันว่า เพื่อต้องการทำลายขวัญและกำลังใจทหารไทใหญ่ กองทัพพม่าถึงกับนำกำลังพลมาทำลายสถูปเจดีย์องค์นี้ และใช้รถแบ็คโฮไถเศษอิฐ เศษดินที่เป็นซากของสถูปเจดีย์ทิ้งลงในแม่น้ำหาง

    ปี 2559 ครูบาบุญชุ่มได้มายังเมืองหาง และดำริให้สร้างสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรขึ้นใหม่ ณ จุดเดิม ทั้งคณะสงฆ์และชาวบ้านในเมืองหาง เมืองโต๋น เมืองสาต ต่างเห็นด้วยและยินดี

    วันที่ 8 ธันวาคม 2561 มีพิธีวางศิลาฤกษ์สถานที่ก่อสร้างสถูปเจดีย์ ครูบาบุญชุ่มเป็นผู้มาวางศิลาฤกษ์ด้วยตนเอง

    วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งขณะนั้นครูบาบุญชุ่มได้เข้าปฏิบัติธรรมในถ้ำเมืองแก็ตแล้ว คณะสงฆ์อำเภอเมืองโต๋นได้จัดพิธีทำบุญ สวดถอน เพื่อเริ่มต้นการก่อสร้างสถูปเจดีย์ขึ้นใหม่

    สถูปเจดีย์ที่สร้างใหม่มี 2 องค์ องค์เล็กกว่าสร้างตรงจุดที่ตั้งสถูปเจดีย์องค์เก่าที่ถูกทำลายไปแล้ว อีกองค์ที่มีขนาดใหญ่กว่า สร้างเคียงคู่อยู่ด้านข้าง ไม่ห่างจากกัน

    พิธีทำบุญยกยอดฉัตรสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อกลางดึก วันที่ 5 สิงหาคม 2565 ที่มาภาพ : สำนักข่าว Shan News


    ……

    ทุกวันนี้ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มิได้มีเพียงชาวไทใหญ่ซึ่งข้ามมาทำงานและเรียนหนังสืออยู่เป็นจำนวนมากเท่านั้น

    แต่ยังเป็นที่ตั้งสำนักงานขององค์กรระหว่างประเทศซึ่งเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ของรัฐฉาน ไม่ว่าเป็นเรื่องแรงงาน สิทธิมนุษยชน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาการศึกษา วัฒนธรรม ประเพณี รวมทั้งยังมีสำนักงานขององค์กรภาคประชาสังคมของชาวไทใหญ่ในรัฐฉานตั้งอยู่หลายแห่ง

    ภาคธุรกิจ เมื่อมีแผนทำการตลาดสินค้าหรือบริการ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวไทใหญ่ หลายครั้งที่มักขึ้นมาจัดกิจกรรมในเชียงใหม่ ซึ่งมีกิจการร้านค้าของคนไทใหญ่ตั้งอยู่หลายแห่ง

    สายสัมพันธ์ ความผูกพันเช่นนี้ ไม่มีเส้นพรมแดนมาขวางกั้น…