ThaiPublica > สู่อาเซียน > เงื่อนไขซ่อนเร้นของ “ว้า-เมืองลา” ในการเจรจาสันติภาพ

เงื่อนไขซ่อนเร้นของ “ว้า-เมืองลา” ในการเจรจาสันติภาพ

6 ตุลาคม 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

เลาะหย่ากุ รองประธานพรรคสหรัฐว้า (UWSP)

วันจันทร์ที่ 26 กันยายน 2565 ที่ห้องรับรองบุเรงนอง ทำเนียบประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) กรุงเนปยีดอว์ ตัวแทนกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม พร้อมเพรียงกันเข้าพบ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธาน SAC และนายกรัฐมนตรี เมียนมา เพื่อเจรจาสันติภาพ รอบที่ 2

ตัวแทนของ 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

1. เลาะหย่ากุ รองประธานพรรคสหรัฐว้า (UWSP) องค์กรการเมืองของกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) กับ อู ไอก์นับลาย หัวหน้ากรมการเมือง UWSP

2. อู ซานเป้ รองประธาน เขตพิเศษหมายเลข 4 กองทัพเมืองลา (NDAA) กับ อู จีมิ่น เลขาธิการทั่วไป NDAA

3. พล.ต. เจ้าขุนแสง รองประธาน 2 พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSPP/SSA) หรือกองทัพรัฐฉานเหนือ กับ เจ้าแสงเสือ เลขาธิการ 2 SSPP/SSA

อู ซานเป้ รองประธาน เขตพิเศษหมายเลข 4 กองทัพเมืองลา (NDAA) จับมือกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย

ทีมงานของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ที่ร่วมเจรจา มี พล.อ. โซวิน รองประธาน SAC พล.อ. เมียะทูนอู กรรมการ SAC และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม พล.ท. โมมิ่นทูน กรรมการ SAC และ พล.ท. หย่าปญิ ประธานคณะกรรมการเจรจาสันติภาพ (NSPNC)

กองทัพว้า เมืองลา และรัฐฉานเหนือ เป็น 3 ใน 10 กองกำลังติดอาวุธที่ตอบรับคำเชิญเจรจาสันติภาพของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565

อีก 7 กลุ่ม ที่เหลือ ได้แก่ สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS/SSA) หรือกองทัพรัฐฉานใต้, พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP), สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC), พรรคปลดปล่อยอาระกัน (ALP), องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ (PNLO), กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (DKBA) และสหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (LDU)

ว้า เมืองลา และรัฐฉานเหนือ เป็นกองกำลังติดอาวุธที่ไม่ได้ลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลเมียนมา

ต่างจากกองทัพรัฐฉานใต้, สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ, กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย, พรรคปลดปล่อยอาระกัน และองค์กรปลดปล่อยแห่งชาติปะโอ ที่ได้เซ็น NCA กับรัฐบาลของประธานาธิบดีเตงเส่ง ไปเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 และพรรครัฐมอญใหม่กับสหภาพประชาธิปไตยลาหู่ เซ็น NCA กับรัฐบาลพรรค NLD ในปี 2561

ทั้ง 10 กลุ่ม ได้พบและเจรจาสันติภาพรอบแรกกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ไปแล้ว ระหว่างปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม 2565

จากนั้น ช่วงปลายเดือนสิงหาคม องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ, พรรคปลดปล่อยอาระกัน, สหภาพประชาธิปไตยลาหู่, รัฐฉานใต้, กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย และสภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ ซึ่งเป็น 6 กลุ่มที่เซ็น NCA แล้ว ได้มาเจรจารอบ 2

ส่วน ว้า เมืองลา และรัฐฉานเหนือ ซึ่งเป็น 3 กลุ่มที่ไม่ได้เซ็น NCA ได้มาเจรจารอบ 2 เช่นกัน ในวันที่ 26 กันยายน 2565

ตัวแทนสหรัฐว้า เมืองลา และกองทัพรัฐฉานเหนือ เข้าพบและเจรจาสันติภาพ รอบที่ 2 กับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหลาย เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565

ตามข่าวที่ถูกเปิดเผยโดยสื่อของรัฐ The Global New Light of Myanmar และ Poppular News Journal สำนักข่าวที่สนับสนุนสภาบริหารแห่งรัฐ ไม่ได้ลงรายละเอียดการเจรจาสันติภาพ 2 รอบ ของทั้ง 9 กลุ่ม ในเชิงลึก

เนื้อข่าวที่ปรากฏออกมา ส่วนมากให้เพียงหัวข้อกว้างๆ ที่มีการพูดคุยกัน เช่น ทุกฝ่ายเห็นตรงกันที่เมียนมาต้องนำระบอบการปกครองแบบสหพันธรัฐประชาธิปไตยที่ทุกกลุ่มมีสิทธิเท่าเทียมกันมาใช้ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่กำลังคุกรุ่นอยู่ภายในประเทศ ฯลฯ

ต่างจากสำนักข่าว BBC ภาคภาษาพม่า ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับสภาบริหารแห่งรัฐ ได้มีรายงานออกมาในตอนเย็นของวันที่ 26 กันยายน 2565 ว่า ในการเจรจากับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ตัวแทนสหรัฐว้า ได้ยืนยันข้อเรียกร้องให้ยกฐานะเขตปกครองตนเองของชาติพันธุ์ว้า ซึ่งปัจจุบันถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่พิเศษหมายเลข 2 ชายแดนเมียนมา-จีน ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ขึ้นเป็นรัฐชาติพันธุ์ลำดับที่ 8 โดยแยกตัวออกมาจากรัฐฉาน

หน้า 1 ของ The Global New Light of Myanmar ฉบับวันที่ 27 กันยายน 2565 เสนอข่าวหลักเรื่องการเจรจาสันติภาพกับ 3 กลุ่ม แต่ไม่มีรายงานเรื่องข้อเรียกร้องขอยกระดับพื้นที่ว้าและเมืองลา

เป็นข้อเรียกร้องเดิมที่ว้าเคยยื่นต่อ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ไปครั้งหนึ่งแล้ว ในการเจรจารอบแรกเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565

ส่วนเมืองลา ในการเจรจารอบ 2 ได้มีการยื่นข้อเรียกร้องให้ยกฐานะเมืองลา จากปัจจุบันที่เป็นเขตพิเศษหมายเลข 4 ขึ้นเป็นเขตปกครองตนเองโดยสมบูรณ์ มิใช่เป็นเขตพิเศษแต่เพียงแค่ชื่อ แต่ตามโครงสร้างกลับเป็นเหมือนอำเภอหนึ่งที่ขึ้นกับจังหวัดเชียงตุง

ขณะที่การพบเพื่อเจรจารอบแรกของตัวแทนจากเมืองลา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565 ไม่มีการรายงานข่าวประเด็นนี้

BBC อ้างการให้สัมภาษณ์ของ พล.ต. ส่อมินทูน โฆษก SAC ว่า SAC ได้รับ “ในหลักการ” คำขอยกฐานะพื้นที่ตนเองของทั้งว้าและเมืองลาเอาไว้แล้ว

หน้า 1 ของ The Global New Light of Myanmar ฉบับวันที่ 27 กันยายน 2565 เสนอข่าวหลักเรื่องการเจรจาสันติภาพกับ 3 กลุ่ม แต่ไม่มีรายงานเรื่องข้อเรียกร้องขอยกระดับพื้นที่ว้าและเมืองลา

อย่างไรก็ตาม พล.ต. ส่อมินทูน บอกว่า การจะดำเนินการเรื่องนี้ได้ ต้องมีการแก้ไขเนื้อหาในรัฐธรรมนูญเมียนมา ฉบับปี 2008 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเสียก่อน

ทุกวันนี้ในเมียนมาไม่มีรัฐสภา ดังนั้น ทั้งว้าและเมืองลาจึงต้องรอให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ที่ SAC วางแผนจะจัดขึ้นในปี 2566 จากนั้น เมื่อได้รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว จึงค่อยส่งเรื่องต่อให้รัฐสภาใหม่พิจารณาข้อเรียกร้องของทั้ง 2 กลุ่ม

สำนักข่าว Shan News มีรายงานเรื่องเดียวกัน โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งอ้างข้อมูลของ BBC แต่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า พื้นที่ซึ่งว้าขอให้รวมเข้ามาเพื่อตั้งเป็นรัฐชาติพันธุ์ลำดับที่ 8 นั้น นอกจาก 6 อำเภอที่ปัจุบันอยู่ในพื้นที่ปกครองตนเองชนชาติว้าอยู่แล้ว ซึ่งได้แก่ป๋างซางซึ่งเป็นเมืองหลวง อำเภอป๋างหวาย, นาพาน, เมืองใหม่, โหป่าง และหมากหมาง ในภาคเหนือของรัฐฉาน

ยังให้รวมพื้นที่จังหวัดเมืองสาต ในรัฐฉานภาคตะวันออก ติดกับชายแดนไทยด้านจังหวัดเชียงราย และเชียงใหม่ ที่กองทัพสหรัฐว้าได้เข้ามามีอิทธิพลอยู่ตั้งแต่ประมาณปี 2540 ซึ่งปัจจุบันถูกเรียกเป็นเขตภาคใต้ของว้า เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติพันธุ์ที่จะตั้งขึ้นใหม่ด้วย

ส่วนเมืองลา ที่ต้องการยกฐานะขึ้นเป็นเขตปกครองตนเองนั้น นอกจากพื้นที่ซึ่งเป็นเขตพิเศษหมายเลข 4 ในปัจจุบัน ได้ขอรวมเอาพื้นที่ทุ่งเสือลื้อ ในเขตเมืองยาง และทุ่งน้ำปาน ในเขตเมืองยอง ซึ่งทุกวันนี้ ทั้ง 2 พื้นที่ขึ้นกับจังหวัดเชียงตุง ให้มาอยู่ในเขตปกครองตนเองที่จะยกฐานะขึ้นใหม่

……

รัฐธรรมนูญเมียนมา ฉบับปี 2008 กำหนดโครงสร้างการปกครองของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาไว้ว่าประกอบด้วย 7 ภาค ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า กับอีก 7 รัฐชาติพันธุ์ ที่ตั้งชื่อรัฐตามกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของพื้นที่นั้น และกรุงเนปยีดอว์ ที่เป็นพื้นที่ปกครองเฉพาะในฐานะเมืองหลวงของประเทศ

ใน 7 ภาค 7 รัฐชาติพันธุ์ และกรุงเนปยีดอว์ ยังแบ่งโครงสร้างภายในออกเป็น 75 จังหวัด 330 อำเภอ กับอีก 469 เมือง (เทียบเท่าตำบล)

เนื้อหาของมาตราที่ 56 ในบทที่ 2 ของรัฐธรรมนูญเมียนมา ฉบับปี 2008 กำหนดให้ในเมียนมามีเขตปกครองตนเอง (Self Administered Zone — SAZ) 5 แห่ง และพื้นที่ปกครองตนเอง (Self Administered Division — SAD) อีก 1 แห่ง ทั้ง SAZ และ SAD มีฐานะเทียบเท่าจังหวัด (District) ประกอบด้วย

1. เขตปกครองตนเองชนชาติโกก้าง มีชื่อเรียกเป็นเขตพิเศษหมายเลข 1 อยู่ในรัฐฉาน

2. เขตปกครองตนเองชนชาติปะหล่อง อยู่ในรัฐฉาน

3. เขตปกครองตนเองชนชาติปะโอ อยู่ในรัฐฉาน

4. เขตปกครองตนเองชนชาติธนุ อยู่ในรัฐฉาน

5. เขตปกครองตนเองชนชาตินากา อยู่ในภาคสะกาย บริเวณชายแดนติดกับรัฐนากาแลนด์ของอินเดีย

ส่วน SAD 1 แห่ง คือพื้นปกครองตนเองชนชาติว้า มีชื่อเรียกว่าเขตพิเศษหมายเลข 2 อยู่ติดชายแดนเมียนมา-จีน ในภาคเหนือของรัฐฉาน

ส่วนเมืองลา ซึ่งถูกเรียกเป็นเขตพิเศษหมายเลข 4 ในภาคตะวันออกของรัฐฉานนั้น ถูกกำหนดขึ้นตามสัญญาหยุดยิงที่รัฐบาลสหภาพพม่าเซ็นไว้กับพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (CPB) เมื่อปี 2532 อย่างไรก็ตาม แม้ในทางปฏิบัติ เมืองลาเป็นเขตปกครองตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์ลื้อ ที่อยู่ติดกับเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ของจีน แต่ตามโครงสร้างแล้ว เมืองลามีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงตุง

ในพื้นที่พิเศษเหล่านี้ ว้าและเมืองลา มีการปกครองที่แยกเป็นเอกเทศมากที่สุด อำนาจการบริหารงานภายในว้าและเมืองลาขึ้นกับรัฐบาลท้องถิ่นที่นำโดยคนชาติพันธุ์ โดยพื้นที่ว้า มีเปาโหย่วเสียง เป็นประธาน ส่วนเมืองลา มีจายลืนเป็นประธาน

ทั้งกองทัพว้าและเมืองลา เคยร่วมปฏิบัติการกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่ามาด้วยกัน ก่อนจะแยกตัวออกเป็นกองกำลังอิสระเมื่อปี 2532

  • กองทัพชาติพันธุ์…ตัวแปรสำคัญในเมียนมา
  • สภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา “SAC” ตั้งจังหวัดเพิ่ม 46 แห่ง เตรียมรับเลือกตั้งใหญ่
  • เจรจาสันติภาพ…การ “แยกขั้ว” ทัพชาติพันธุ์ในเมียนมา
  • กระบวนการ “สันติภาพ” แบบเงียบๆ ในเมียนมา
  • ……

    ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่ว้าแสดงเจตนาชัดเจนว่าต้องการแยกตัวจากรัฐฉาน และสถาปนาพื้นที่ตนเองขึ้นเป็นรัฐชาติพันธุ์ลำดับที่ 8 ของเมียนมา

    นับแต่กองทัพว้าเซ็นสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลสหภาพพม่าเมื่อปี 2532 และได้พื้นที่ปกครองตนเองบริเวณชายแดนติดกับจีนในภาคเหนือของรัฐฉาน กองทัพว้าได้พยายามเรียกร้องขอเป็นรัฐชาติพันธุ์ที่ไม่ขึ้นอยู่กับรัฐฉานมาโดยตลอด

    เมื่อกองทัพว้าเคลื่อนกำลังพลลงมายังจังหวัดเมืองสาตที่อยู่ทางใต้ติดกับชายแดนประเทศไทย เพื่อช่วยกองทัพพม่ารบกับกองทัพไทใหญ่ในช่วงก่อนปี 2540 พื้นที่ซึ่งว้าต้องการให้ยกฐานะขึ้นเป็นรัฐ ก็ขยายขอบเขตลงมาครอบคลุมตลอดแนวฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาลวิน ซึ่งบริเวณนี้ นอกจากจังหวัดเมืองสาตแล้ว ยังรวมถึงจังหวัดท่าขี้เหล็ก และเชียงตุงเข้าไปด้วย

    ว้าอ้างข้อมูลในประวัติศาสตร์ที่ระบุว่า ชาติพันธุ์ว้าก็คือชาวลัวะ กลุ่มชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้มาก่อนชาติพันธุ์อื่นทุกชาติพันธุ์ ก่อนที่พญามังรายจะขึ้นมาสร้างเมืองเชียงตุง เมื่อกว่า 800 ปีก่อนเสียอีก

    เดือนพฤษภาคม 2556 ในยุคประธานาธิบดีเตงเส่ง สื่อในเมียนมาได้ลงบทสัมภาษณ์ อู ซายเปานับ สมาชิกสภาสูง (Amyotha Hluttaw) จากเขตปกครองตนเองว้า ซึ่งเขาได้ให้เหตุผลที่ว้าต้องการยกระดับพื้นที่ปกครองตนเองขึ้นเป็นรัฐที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางเมียนมาว่า เพื่อให้สามารถสื่อสารเรื่องราว การบริหารงานต่างๆ ภายในพื้นที่ของว้ากับรัฐบาลกลางได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านรัฐบาลรัฐฉานก่อน

    ปี 2558 ในช่วงปลายของรัฐบาลประธานาธิบดีเตงเส่ง ที่กำลังเร่งเจรจาเพื่อให้กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์มาเซ็น NCA กับรัฐบาลให้ได้มากที่สุด ว้าได้มีการเชิญตัวแทนกองกำลังชาติพันธุ์ที่มีท่าทีว่าไม่ต้องการเซ็น NCA ขึ้นไปประชุมที่เมืองหลวงป๋างซางถึง 2 รอบ เพื่อพิจารณาข้อเสนอของประธานาธิบดีเตงเส่ง

    รอบแรก ระหว่างวันที่ 1-6 พฤษภาคม มีตัวแทนกองกำลังที่ไปร่วมประชุม เช่น กองทัพเมืองลา, รัฐฉานเหนือ, โกก้าง (MNDAA), ตะอั้ง (TNLA), อาระกัน (AA), คะฉิ่นอิสระ (KIA), องค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNDO), พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะยา (KNPP), กองกำลังกะเหรี่ยงแดงกลุ่ม KNLP, สภาสังคมนิยมแห่งชาตินาคาแลนด์-คะปลัง (NSCN-K) และพรรครัฐมอญใหม่ (NMSP)

    รอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน หลังจากรัฐบาลของประธานาธิบดีเตงเส่ง ได้ลงนาม NCA กับกองกำลังติดอาวุธ 8 กลุ่มแรก ไปแล้ว ในวันที่ 15 ตุลาคม ซึ่งการประชุมรอบนี้ เป็นที่มาให้มีการรวมตัวกันของ 7 กองกำลังชาติพันธุ์เป็นกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า Myanmar Peace Commission and Federal Political Negotiation Consultative Committee หรือ FPNCC ที่มีว้าเป็นแกนนำ และได้รับการสนับสนุนจากจีน

    อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ถูกรายงานโดยสื่อหลายแห่งของเมียนมาในช่วงนั้นระบุว่า การประชุมที่เมืองป๋างซางทั้ง 2 รอบ ประเด็นสำคัญหนึ่งที่ว้าพยายามสื่อต่อตัวแทนกองกำลังทุกกลุ่ม คือแนวคิดในการสถาปนาพื้นที่ปกครองตนเองชนชาติว้าขึ้นเป็นรัฐชาติพันธุ์ลำดับที่ 8 ของเมียนมา และต้องการให้ทุกกองกำลังรับรองแนวคิดนี้

    ……

    หลังปี 2559 เสียงเรียกร้องขอยกฐานะพื้นที่ปกครองตนเองชนชาติว้าขึ้นเป็นรัฐชาติพันธุ์ลำดับที่ 8 ดูเงียบลงไป

    เมื่อ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย นำกำลังออกมาทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรค NLD เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เสียงเรียกร้องนี้ก็เริ่มกลับมาดังขึ้นอีกครั้ง และดังถี่ขึ้นเรื่อยๆ

    การรัฐประหาร ทำให้กองทัพพม่าถูกต่อต้านจากกองกำลังต่างๆ หลากหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เดิมที่มีอยู่แล้ว และกองกำลังติดอาวุธพลเรือน (PDF) ที่ถูกจัดตั้งขึ้นใหม่โดยรัฐบาลเงาของอดีตนักการเมืองพรรค NLD

    แต่ว้าและเมืองลาไม่เคยแสดงท่าทีต่อต้านกองทัพพม่าออกมาเลยแม้แต่น้อย

    เพจเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า Wa Nation society lifestyle เป็นช่องทางที่พยายามเผยแพร่ข้อมูลซึ่งสนับสนุนแนวคิดที่ว่าพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาลวินในรัฐฉาน คือพื้นที่ของว้ามาก่อนนับแต่ในอดีต และหลายครั้ง มีการตอบโต้เพจเฟซบุ๊กของชาวไทใหญ่และชาวไตขืน ที่นำข้อมูลในฝ่ายของตนออกมาคัดง้าง จนกลายเป็นกระแสขึ้น

    วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 หลังครบรอบ 1 ปีการทำรัฐประหารของกองทัพพม่า จู่ๆ เพจ Wa Channel ซึ่งมักถูกใช้เป็นพื้นที่เผยแพร่ข้อมูลทางการของเขตปกครองตนเองว้า ได้เผยแพร่ภาพกราฟฟิคของเขตพิเศษ 3 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ชายแดนรัฐฉาน-จีน โดยไม่ได้บอกเหตุผล

    ภาพและข้อมูลเมืองเล่าก์ก่าย ของโกก้าง ที่เพจ Wa Channel เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565
    ภาพและข้อมูลเมืองป๋างซาง ที่เพจ Wa Channel เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565
    ภาพและข้อมูลเมืองลา ที่เพจ Wa Channel เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565

    ทั้ง 3 เขต เป็นพื้นที่ปกครองตนเองของ 3 ชาติพันธุ์ แต่ละภาพแสดงธงประจำแต่ละชาติพันธุ์ ความทันสมัยของตึกรามบ้านช่องปัจจุบัน รวมถึงให้ข้อมูลพื้นฐานของแต่ละเขต ประกอบด้วย

    เขตพิเศษหมายเลข 1 เขตปกครองตนเองโกก้าง มีพื้นที่รวม 1 หมื่นตารางกิโลเมตร เมืองหลวงชื่อ “เล่าก์ก่าย” มีประชากรรวมกว่า 1 แสนคน มีกองกำลังติดอาวุธที่ใช้ชื่อ The Myanmar National Democratic Alliance Army หรือ MNDAA

    เขตพิเศษหมายเลข 2 พื้นที่ปกครองตนเองว้า หรือสหรัฐว้า มีพื้นที่รวม 3 หมื่นตารางกิโลเมตร เมืองหลวงชื่อ “ป๋างซาง” หรือ “ป๋างคำ” มีประชากรรวมกว่า 5 แสนคน มีกองกำลังติดอาวุธที่ใช้ชื่อ United Wa State Army หรือ UWSA

    แผนที่รัฐฉาน แสดงที่ตั้งเมืองเล่าก์ก่าย ของโกก้าง เมืองป๋างซาง และเมืองสาตของว้า และเมืองลา

    เขตพิเศษหมายเลข 4 อำเภอเมืองลา จังหวัดเชียงตุง เป็นเขตปกครองตนเองของชาติพันธุ์ลื้อ มีพื้นที่รวม 9,500 ตารางกิโลเมตร เมืองหลวงคือ “เมืองลา” มีประชากรรวมกว่า 1 แสนคน มีกองกำลังติดอาวุธที่ใช้ชื่อ The National Democratic Alliance Army หรือ NDAA

    โกก้าง ว้า และเมืองลา เป็น 3 พื้นที่ชายแดนรัฐฉาน-จีน ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน แตกต่างกันตรงที่ปัจจุบัน ว้าและเมืองลาหยุดรบกับกองทัพพม่าแล้ว แต่โกก้างยังมีการสู้รบกันอยู่ในพื้นที่เมืองโก ในจังหวัดหมู่เจ้ ซึ่งอยู่ถัดขึ้นไปจากเมืองหลวงเล่าก์ก่าย

    แผนที่รัฐว้า ที่เพจ Wa Nation society lifestyle ทำขึ้นและเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565
    ……

    การเชิญกลุ่มว้าและเมืองลาไปเจรจาสันติภาพ และมีการพบกันของตัวแทนทั้ง 2 กลุ่ม กับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย 2 รอบ ทำให้ความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยกฐานะพื้นที่ปกครองตนเองชนชาติว้าขึ้นเป็นรัฐชาติพันธุ์ลำดับที่ 8 ดูจะเริ่มเป็นรูปธรรมขึ้น

    กองทัพสหรัฐว้า เป็นกองกำลังติดอาวุธที่เข้มแข็ง มีกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากและทันสมัยที่สุดในเมียนมา ที่สำคัญ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนอย่างชัดเจน

    เมืองลา เป็นเมืองชายแดนรัฐฉานที่อยู่ติดและมีความใกล้ชิดกับชาวลื้อในสิบสองปันนา ธุรกิจในเมืองลาเกือบทั้งหมดเป็นของคนจีน นักธุรกิจจีนนำเงินเข้าไปลงทุนอยู่ในเมืองลาไว้เป็นจำนวนมาก

    ในสถานการณ์ที่กองทัพพม่ากำลังเผชิญกับแรงกดดันทั้งจากภายในและภายนอก เชื่อว่าว้าและเมืองลาคงมองว่าข้อเรียกร้องขอยกระดับพื้นที่ของตนเองในจังหวะนี้ น่าจะพอมีน้ำหนัก

    แต่ขึ้นอยู่กับว่า พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องนี้ อย่างไร…