ThaiPublica > สู่อาเซียน > การเปลี่ยนแปลงระลอกใหม่ใน “วังเวียง”

การเปลี่ยนแปลงระลอกใหม่ใน “วังเวียง”

1 พฤษภาคม 2023


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

สนามบินเก่าเมืองวังเวียง พื้นที่กว่า 90 ไร่ กำลังจะถูกสร้างขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวครบวงจรโดยกลุ่มนักลงทุนจากจีน ที่มาภาพ : Lao Youth Radio FM 90.0 Mhz

วันที่ 19 เมษายน 2566 ห้องว่าการเมืองวังเวียง แขวงเวียงจันทน์ มีหนังสือแจ้งการ เลขที่ 018/หวม. ส่งถึงนายบ้าน บ้านวังเวียง บ้านสะหว่าง บ้านเวียงแก้ว บ้านเมืองซอง และบ้านโพนเพ้ง ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร ธุรกิจบริการต่างๆ ที่อยู่ภายในสนามบินเก่าวังเวียง รวมถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เนื้อหาระบุว่า…

ให้โยกย้ายกิจการ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทุกชนิดออกไปจากพื้นที่สนามบินเก่า ภายในวันที่ 30 เมษายน 2566

โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากบริษัทอิจิน วิศวกรรมก่อสร้างลาว จำกัด ซึ่งได้รับสัมปทานพัฒนาสนามบินเก่าวังเวียงเป็นแหล่งท่องเที่ยว จะนำรั้วมาปิดล้อมพื้นที่สนามบินเก่าตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน เพื่อเริ่มต้นการก่อสร้างตามแผนที่วางไว้ ดังนั้น หากผู้ประกอบการรายใดไม่สามารถโยกย้ายกิจการหรือสิ่งปลูกสร้างออกไปได้ตามกำหนด บริษัทจะไม่รับผิดชอบความเสียหายใดๆ ที่จะเกิดขึ้น

หนังสือแจ้งการ ได้อ้างอิงสัญญาสัมปทานพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวครบวงจรในเขตสนามบินเก่า เมืองวังเวียง ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 ระหว่างองค์กรปกครองแขวงเวียงจันทน์ กับบริษัทอิจินฯ, หนังสือแจ้งการของแผนกแผนการและการลงทุน แขวงเวียงจันทน์ ฉบับที่ 30/พผท.วจ. ลงวันที่ 3 เมษายน 2566 และทิศชี้นำของเจ้าเมืองวังเวียง ลงวันที่ 19 เมษายน 2566…

สนามบินเก่าเมืองวังเวียง พื้นที่กว่า 90 ไร่ กำลังจะถูกสร้างขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวครบวงจรโดยกลุ่มนักลงทุนจากจีน ที่มาภาพ : Lao Youth Radio FM 90.0 Mhz
รูปจำลองโครงการแหล่งท่องเที่ยวครบวงจรที่จะมาแทนสนามบินเก่า วังเวียง ที่มาภาพ : Lao Youth Radio FM 90.0 Mhz

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 วิดง ไซยะสอน เจ้าแขวงเวียงจันทน์ในขณะนั้น ได้เซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) ให้บริษัทอิจิน วิศวกรรมก่อสร้างลาว ผู้ลงทุนจากจีน เข้ามาสำรวจ ศึกษาความเป็นไปได้ และออกแบบโครงการพัฒนาพื้นที่สนามบินเก่าวังเวียง เป็นแหล่งท่องเที่ยวครบวงจรแบบยั่งยืน โดยคาดว่าต้องใช้เงินลงทุนมากกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขอบข่ายการสำรวจครอบคลุมพื้นที่ 5 บ้าน เนื้อที่รวมมากกว่า 15 เฮกตาร์ หรือกว่า 94 ไร่ รูปแบบโครงการเบื้องต้นที่บริษัทอิจินฯ เสนอ จะสร้างโรงแรม ศูนย์การค้า ห้องแสดงงานศิลป์ ร้านค้า ร้านอาหาร สถานบันเทิงเด็ก สวนน้ำพุ ตลาดน้ำ ฯลฯ ขึ้นในพื้นที่นี้

หลังใช้เวลาสำรวจและออกแบบโครงการเกือบ 1 ปี วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 แขวงเวียงจันทน์จึงได้เซ็นสัญญามอบสัมปทานแก่บริษัทอิจินฯ แต่ว่าต่อมาโครงการนี้ได้เกิดความล่าช้า

บุนจัน มาลาวง เจ้าเมืองวังเวียง คนปัจจุบัน

บุนจัน มาลาวง เจ้าเมืองวังเวียง คนปัจจุบัน ให้สัมภาษณ์กับรายการ “รอบบ้านผ่านเมือง” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 ว่า หนังสือแจ้งการฉบับวันที่ 19 เมษายน เป็นการปฏิบัติตามสัญญาสัมปทานที่แขวงเวียงจันทน์ให้แก่บริษัทอิจินฯ ไว้ตั้งแต่ปี 2561

แต่เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อยุ่งยากบางประการ โดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 ทำให้โครงการนี้ต้องถูกชะลอไป ปัจจุบัน บริษัทอิจินฯ มีความพร้อมจะเริ่มการพัฒนาแล้ว จึงต้องให้ผู้ที่อยู่ภายในสนามบินเก่าโยกย้ายออกจากพื้นที่โครงการเสียก่อน…

โครงการพัฒนาสนามบินเก่าวังเวียง เป็นแหล่งท่องเที่ยวครบวงจร เป็นหนึ่งในตัวอย่างของความเปลี่ยนแปลง “ระลอกใหม่” ที่กำลังเกิดขึ้นในวังเวียง เมืองท่องเที่ยวชื่อดังของแขวงเวียงจันทน์ ที่นักท่องเที่ยวจากหลายประเทศทั่วโลกต่างรู้จักและชื่นชอบในความ “ดิบ สด และงดงาม” ของธรรมชาติ ในเมืองเล็กๆ ริมฝั่งแม่น้ำซอง ที่อยู่เหนือขึ้นไปจากนครหลวงเวียงจันทน์ ประมาณ 160 กิโลเมตร

ระลอกความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับเมืองวังเวียงครั้งนี้ มีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับโครงการรถไฟลาว-จีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเริ่มลงมือก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ในปลายปี 2559 จนเปิดให้บริการเมื่อปลายปี 2564

ล่าสุด ขบวนรถไฟลาว-จีน ได้ขยายพื้นที่ให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารข้ามประเทศ ระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์ ถึงนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2566 เป็นต้นมา

ความสวยงามและความสดของธรรมชาติเมืองวังเวียง เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภาพชุดนี้ มาจากเพจ YoulikeLao เป็นบรรยากาศริมแม่น้ำซอง เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2566 หลังลาวเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวได้อีกครั้ง

“วังเวียง” เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของนักท่องเที่ยวและนักลงทุน “ชาวจีน”

……

จากประวัติเมืองวังเวียง ตามข้อมูลที่ทีมงานห้องว่าการเมืองวังเวียงได้ค้นคว้าและรวบรวมไว้ ระบุว่า ผู้คนที่เข้ามาตั้งรกราก สร้างบ้านแปงเมืองขึ้นในพื้นที่ซึ่งเป็นเมืองวังเวียงปัจจุบัน ตั้งแต่เมื่อกว่าหนึ่งร้อยปีที่แล้ว มาจากคน 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก เป็นชาวบ้านจากเมืองพวน (แขวงเชียงขวาง) นำโดยนายพรานคนหนึ่ง ซึ่งไม่ทราบชื่อ เมื่อนายพรานตคนนี้เดินทางล่าสัตว์ลงมาถึงเขตถิ่นอ่อน (ทางเหนือของเมืองวังเวียงปัจจุบัน) พบว่าพื้นที่นี้อุดมสมบูรณ์ มีทุ่งหญ้าราบเรียบตลอดแนวลำน้ำซอง เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลากหลายชนิดจำนวนมาก จึงชื่นชอบ เมื่อเดินทางกลับไปถึงเมืองพวน ได้ชักชวนสมัครพรรคพวกให้ย้ายลงมาตั้งบ้านเรือนกันที่นี่ เพื่อล่าสัตว์

ต่อมา จำนวนประชากรที่ย้ายมาเพิ่มมากขึ้น จึงได้กระจายออกไปตั้งชุมชนอยู่บริเวณโดยรอบ เช่น เขตผาตั้ง, กกซ่าน, ถ้ำซาง, นาดา ประชาชนของชุมชนเหล่านี้ในปัจจุบัน จึงมีเชื้อสายลาวพวน

กลุ่มที่ 2 เป็นชาวบ้านจากแคว้น “หัวพันทั้งห้าทั้งหก” ซึ่งเป็นชื่อเดิมของแขวงหัวพันปัจจุบัน นำโดย ท้าวแต่งไต ข้าราชการในตำแหน่งเสมียนประจำห้องว่าการเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก

ท้าวแต่งไตได้นำชาวบ้าน 188 ครอบครัว ในนี้เป็นครอบครัวข้าราชการ 42 ครอบครัว เดินทางหนีภัยสงครามจากกองทหาร “ฮ่อ” ที่ยกทัพลงมาจากมณฑลยูนนาน หมายเข้าตีเมืองเวียงจันทน์ เมื่อ พ.ศ. 2417

ขบวนผู้อพยพที่นำโดยท้าวแต่งไต ใช้เวลาเดินทางและซ่อนตัวอยู่ในป่าเขาตามรายทางถึง 22 ปี จนลงมาถึงพื้นที่แห่งหนึ่งริมแม่น้ำซอง และได้ช่วยกันสร้าง “เมืองซอง” ขึ้นเป็นเมืองอิสระในปี 2439

เมืองวังเวียงในอดีต ภาพเก่าจากห้องว่าการเมืองวังเวียง ถูกบันทึกไว้โดย Halpern, Joel Martin และ Benson, Frederic C.

ขณะนั้น อาณาจักรล้านช้างหรือดินแดนลาว ยังมีสถานะเป็นหัวเมืองขึ้นของราชอาณาจักรสยาม ท้าวแต่งไตได้รับโปรดเกล้าฯจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่งตั้งเป็นพระยาอิสานอุไทเตซะนะสงคาม ตำแหน่งเจ้าเมืองซอง…

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาเดียวกัน เป็นช่วงที่ฝรั่งเศสกำลังแผ่อิทธิพลเข้ามายึดครองอาณาจักรล้านช้างเพื่อเป็นอาณานิคม มีการตกลงแบ่งเขตแดนระหว่างสยามกับฝรั่งเศสโดยใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้น

Peeair Morraeng ตัวแทนผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศส-อินโดจีน ซึ่งอยู่ในเวียงจันทน์ ได้เดินทางขึ้นมาสำรวจ ตรวจตราดินแดน จนมาถึงเมืองซอง พบว่าเป็นชุมชนขนาดใหญ่ จึงให้เปลี่ยนชื่อจากเมืองซองเป็นเมือง “วังเวียง” เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2442 และแต่งตั้งให้พระยาอิสานอุไทเตซะนะสงคาม หรือท้าวแต่งไต เป็นเจ้าเมืองวังเวียง

เขตการปกครองเมืองวังเวียงขณะนั้น แบ่งเป็น 6 ตาแสง (พื้นที่ระดับตำบล) ประกอบด้วย ตาแสงหนองแก้ว, ตาแสงนาเทา, ตาแสงนาขม, ตาแสงผาตั้ง, ตาแสงถิ่นอ่อน และตาแสงปากงิ้ว

ไม่มีผู้ใดทราบเหตุผลที่แท้จริงของการเปลี่ยนชื่อจาก “เมืองซอง” เป็นเมือง “วังเวียง” จากที่ทีมงานของห้องว่าการเมืองวังเวียงได้ค้นคว้ามา ไม่พบข้อมูลที่ยืนยันชัดเจน มีเพียงข้อสันนิษฐานจากความหมายของคำที่ถูกใช้เรียกชื่อเมือง

คำว่า “วัง” หมายถึงสถานที่ซึ่งติดพันอยู่กับสายน้ำ โดยสายน้ำซองสมัยก่อน มีวังน้ำหลายวังที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่ทำมาหากินของคนท้องถิ่น

ส่วนคำว่า “เวียง” ถูกสันนิษฐานว่ามาจาก 2 เหตุผล

เหตุผลแรก ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่บอกว่า บรรพบุรุษที่มาสร้างเมืองขึ้นที่นี่ ได้พบร่องรอยของอิฐและดินเผาโบราณ ถูกก่อกองขึ้นมาเป็นลักษณะแนวกำแพงเมืองในหลายจุด มีการเรียกแนวกองดินเหล่านี้ว่า “คูเวียง” ทำให้มีคำว่า “เวียง” ติดมาด้วย

อีกเหตุผลหนึ่ง สันนิษฐานว่า คำว่า “เวียง” อาจมาจากคำว่า “วงเวียน” เพราะการเปลี่ยนชื่อเมือง จากเมืองซอง เป็นเมืองวังเวียงนั้น เกิดขึ้นในยุคที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าอาณานิคม ในภาษาฝรั่งเศสเรียกและเขียนคำว่า “เวียง” และ “เวียน” เหมือนกัน คือ Vien

“วงเวียน” จึงอาจหมายถึงเมืองซึ่งแวดล้อมไปด้วยภูผาธรรมชาติที่สวยงามทั้ง 4 ด้าน ที่เป็นเหมือนคูเวียงหรือกำแพงเมือง…

ปี 2516 ฝ่ายปกครองเมืองเวียงจันทน์ขณะนั้น ซึ่งเป็นลาวฝ่ายขวา หรือฝ่ายราชอาณาจักรลาว ที่ได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐอเมริกา ได้ยกสถานะเมือง “วังเวียง” ขึ้นเป็นพื้นที่การปกครองกึ่งแขวง ประกอบด้วย 6 เมือง คือ เมืองวังเวียง, เมืองคูน, เมืองเฟือง, เมืองกาสี, เมืองผาตั้ง และเมืองแมด

สนามบินเก่า เมืองวังเวียง ภาพเก่าจากห้องว่าการเมืองวังเวียง ถูกบันทึกไว้โดย Halpern, Joel Martin และ Benson, Frederic C.

สหรัฐอเมริกาได้เข้ามาใช้พื้นที่เมืองวังเวียง สร้างเป็นฐานทัพย่อยของหน่วยทหารภาคที่ 5 ขึ้นตรงกับกองทัพอเมริกัน และ CIA หรือสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกา ได้สร้างสนามบินวังเวียงขึ้นเพื่อเป็นฐานปฏิบัติการของเครื่องบินสอดแนม เครื่องบินทิ้งระเบิด และเป็นศูนย์ขนส่ง “สินค้า” และสับเปลี่ยนกำลังพลของกองทัพ

ช่วงนั้น เมืองวังเวียงได้กลายเป็นคลังอาวุธสงคราม เป็นสถานที่เก็บวัตถุระเบิดที่มีอำนาจทำลายล้างสูงหลากหลายประเภท

ปี 2522 คลังเก็บระเบิดและอาวุธสงครามที่ถูกสร้างขึ้นโดยกองทัพสหรัฐอเมริกาในเมืองวังเวียง ได้เกิดระเบิดขึ้น สร้างความเสียหายอย่างหนักแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชากรในเมืองวังเวียง!!!

……

การเปลี่ยนแปลงพื้นที่สนามบินเก่า เมืองวังเวียง เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ไม่ใช่โครงการพัฒนาโครงการเดียวที่เกิดขึ้นในเมืองวังเวียง หลังจากมีการเริ่มต้นสร้างทางรถไฟลาวและจีนในปลายปี 2559

วันที่ 4 มิถุนายน 2561 เจ้าแขวงเวียงจันทน์ มีหนังสือฉบับที่ 506/จข,วจ อนุญาตให้บริษัทพัฒนาเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นลาว สำรวจความเป็นไปได้ที่จะนำที่ดิน 7,000 เฮกตาร์ หรือ 43,750 ไร่ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำซอง บริเวณบ้านห้วยสะเหง้า บ้านพูดินแดง และบ้านปากเปาะ เมืองวังเวียง มาพัฒนาเป็นเขตท่องเที่ยวทางธรรมชาติแบบยั่งยืน รองรับการเติบโตของเมืองวังเวียง ที่จะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวหลักของลาว หลังจากทางด่วนสายเวียงจันทน์-วังเวียง และทางรถไฟลาว-จีน เปิดให้บริการ

บริษัทพัฒนาเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นลาว เป็นบริษัทในเครือยูนนาน ไห่เฉิง กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากมณฑลยูนนานของจีน ที่ได้เข้ามารับสัมปทานสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงาม บริเวณชายแดนลาว-จีน ที่เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา

วันที่ 9 สิงหาคม 2561 แขวงเวียงจันทน์มอบสัมปทานให้บริษัทพัฒนาเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นลาว เข้าพัฒนาที่ดิน 43,750 ไร่ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำซอง ในนามบริษัทพัฒนาเมืองใหม่วังเวียงลาว

ที่ดิน 43,750 ไร่ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำซอง ที่กลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง เตรียมพัฒนาเป็นเขตท่องเที่ยวทางธรรมชาติแบบยั่งยืน ที่มาภาพ : สำนักข่าวสารประเทศลาว

พื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำซอง มีประชากรอาศัยอยู่ 22 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่า ตามแผนที่บริษัทพัฒนาเมืองใหม่วังเวียงลาววางไว้ จะปรับปรุงบ้านเรือนประชาชนตามเอกลักษณ์ของแต่ละเผ่า เพื่ออนุรักษ์วิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมไว้ และเปิดเป็นโฮมสเตย์ให้บริการแก่นักท่องเที่ยว โดยไม่มีการโยกย้ายประชากรออกจากพื้นที่

โครงการนี้ใช้เงินลงทุน 5,300 ล้านดอลลาร์ แบ่งช่วงการพัฒนาเป็น 5 ระยะ ภายในกำหนด 29 ปี

วันที่ 8 ตุลาคม 2563 ถัง ซินซวน ประธานบริษัทพัฒนาเมืองใหม่วังเวียงลาว ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวสารประเทศลาวถึงความคืบหน้าของโครงการ หลังได้ลงสำรวจพื้นที่มาแล้ว 2 ปี ว่ากำลังเริ่มต้นก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน จากนั้นจะสร้างสวนสนุก ร้านค้าปลอดภาษี โดยตั้งเป้าหมายว่าเมื่อเสร็จแล้ว จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาวังเวียงได้ปีละ 9 ล้านคน สร้างงานแก่ชาววังเวียงได้มากถึง 27,800 ตำแหน่ง

แต่หลังจากโควิด-19 ระบาดหนักในลาว ในปี 2564 สื่อของลาวไม่มีรายงานความคืบหน้าโครงการพัฒนาเมืองใหม่วังเวียงออกมาอีก
……

โครงการพัฒนาสนามบินเก่า เมืองวังเวียง เนื้อที่กว่า 94 ไร่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวครบวงจร ของบริษัทอิจิน วิศวกรรมก่อสร้างลาว และโครงการพัฒนาที่ดิน 43,750 ไร่ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำซอง เป็นเขตท่องเที่ยวทางธรรมชาติแบบยั่งยืน ของกลุ่มบริษัทยูนนาน ไห่เฉิง เป็นระลอกการเปลี่ยนแปลงที่กำลังดำเนินอยู่ในวังเวียง

แต่ที่วังเวียงไม่ได้มีเพียง 2 โครงการนี้เท่านั้น ยังมีสิ่งปลูกสร้างของนักลงทุนกลุ่มอื่นที่กำลังเกิดขึ้น เช่น โครงการสนามกอล์ฟ สนามแข่งม้า สนามกีฬา ศูนย์การค้า โรงแรม และแหล่งบันเทิง ที่กระทรวงแผนการและการลงทุน ได้ให้สัมปทานแก่บริษัทวังวิว รีวิว จำกัดในเครือปิโตรเลียมเทรดดิ้งลาว มหาชน เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565

สนามกอล์ฟแห่งนี้กำลังถูกสร้างอยู่บนพื้นที่ 261 เฮกตาร์ หรือกว่า 1,632 ไร่ ในเขตอ่างเก็บน้ำผาแถม บ้านปากเปาะ และบ้านพูดินแดง เมืองวังเวียง ใช้เงินลงทุน 358 ล้านดอลลาร์ คาดว่าอีกประมาณ 8-9 ปี โครงการทั้งหมดจะเสร็จสมบูรณ์

ทุกโครงการที่กล่าวถึงข้างต้น อาจพลิกโฉมหน้าของเมืองวังเวียงให้แตกต่างไปจากปัจจุบันโดยสิ้นเชิง

เมืองเล็กๆ ที่มีเอกลักษณ์ในความดิบ สด และสวยงามของธรรมชาติแห่งนี้ กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดในอนาคต เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าติดตาม…

  • ทางด่วน “ยูนนาน-เวียงจันทน์”
  • “ยูนนาน ไห่เฉิง” กลุ่มทุนจีนที่โตไปกับเส้นทางคมนาคมในลาว
  • ภาพที่ชัดขึ้นของ “ระเบียงเศรษฐกิจ จีน-ลาว”