ThaiPublica > สู่อาเซียน > ทางด่วน “ยูนนาน-เวียงจันทน์”

ทางด่วน “ยูนนาน-เวียงจันทน์”

30 พฤศจิกายน 2020


ปัณทพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

แนวทางด่วน “ยูนนาน-เวียงจันทน์”

2 ธันวาคมนี้ เป็นวันชาติ ครบรอบ 45 ปี ของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และเป็นวันที่ลาวจะมีพัฒนาการซึ่งมีนัยสำคัญเกิดขึ้น…

รัฐบาล สปป.ลาว กำหนดให้วันที่ 2 ธันวาคม 2563 เป็นวันเปิดใช้ทางด่วนสายแรกของประเทศ เชื่อมเมืองหลวง “เวียงจันทน์” กับเมืองท่องเที่ยวชื่อดัง “วังเวียง” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก

ทางด่วน “เวียงจันทน์-วังเวียง” ระยะทาง 109.1 กิโลเมตร เป็นถนน 4 เลน กว้าง 23 เมตร วิ่งขนานไปกับทางรถไฟลาว-จีน มูลค่าการก่อสร้าง 8.9 พันล้านหยวน หรือประมาณ 1,200 ล้านดอลลาร์

เดิมการเดินทางโดยรถยนต์จากเวียงจันทน์ไปวังเวียงใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง แต่หลังเปิดใช้ทางด่วนสายนี้ในวันที่ 2 ธันวาคม จะลดเวลาเดินทางลงมาเหลือเพียง 90 นาที

ทางด่วน “เวียงจันทน์-วังเวียง” เป็นโครงการระยะแรกของเส้นทางด่วนสายเหนือ เชื่อมระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์กับบ่อเต็น เมืองชายแดนลาว-จีน ในแขวงหลวงน้ำทา

คนส่วนใหญ่เรียกทางด่วนสายนี้ว่า ทางด่วน “เวียงจันทน์-บ่อเต็น” แต่ในที่นี้ อยากเรียกเป็นทางด่วนสาย “ยูนนาน-เวียงจันทน์” มากกว่า

ภาพที่ 2-3 ทางด่วน “เวียงจันทน์-วังเวียง” ซึ่งกำลังจะเปิดให้บริการในวันที่ 2 ธันวาคม โดยวันที่ 26 พฤศจิกายน บุนจัน สินทะวง รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ได้ไปตรวจความเรียบร้อยครั้งสุดท้าย ที่มาภาพ : เพจ Lao Youth Radio FM 90.0 Mhz: https://www.facebook.com/fm90laos/posts/3571950166231551

ทางด่วนสายเหนือ “เวียงจันทน์-บ่อเต็น” ระยะทาง 460 กิโลเมตร แบ่งโครงการออกเป็น 4 ช่วง

ช่วงแรก “เวียงจันทน์-วังเวียง” ที่กำลังจะเปิดใช้ในสัปดาห์หน้า…

ช่วงที่ 2 “วังเวียง-หลวงพระบาง” ระยะทาง 136.9 กิโลเมตร เป็นทางด่วนเชื่อมแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม 2 จุดของลาวเข้าด้วยกัน

ตามเส้นทางปกติ การเดินทางจากวังเวียงขึ้นไปยังหลวงพระบาง ต้องใช้เวลานาน และเป็นเส้นทางที่ลำบาก โดยเฉพาะเมื่อพ้นจากวังเวียง ผ่านกาสี ขึ้นไปยังพูคูน ก่อนเข้าหลวงพระบาง เป็นทางโค้ง คดเคี้ยวบนดอยสูง ผู้ที่ไม่ชำนาญเส้นทาง หรือแม้แต่ชำนาญแล้ว อาจต้องใช้เวลานาน 6-8 ชั่วโมง

แต่ทางด่วนวังเวียง-หลวงพระบาง ถูกออกแบบมาให้เมื่อสร้างเสร็จ เวลาในการเดินทางจะถูกร่นลงมาเหลือเพียง 90 นาที

หนังสือพิมพ์ Vientiane Times รายงานเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนว่า รัฐบาลลาวได้อนุมัติแผนการสร้างทางด่วนช่วงวังเวียง-หลวงพระบางแล้ว แต่ยังไม่กำหนดชัดเจนว่าจะเริ่มต้นการก่อสร้างเมื่อใด…

ช่วงที่ 3 “หลวงพระบาง-อุดมไซ” ตอนแรกยังไม่ได้ข้อสรุปแนวเส้นทางที่แน่นอน แต่เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างทางด่วนช่วงนี้ ได้มีการประชุมกันที่หลวงพระบาง

วันที่ 12 พฤศจิกายน China Radio ภาคภาษาลาว(CRI FM 93.00 Mhz) รายงานว่า ที่ประชุมในวันนั้น ได้เลือกแนวเส้นทางจากหลวงพระบาง ผ่านเมืองงา เข้าสู่เมืองไซ แขวงอุดมไซ ระยะทาง 113.9 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่เหมาะสมที่สุด

ทางช่วงนี้ต้องผ่านเทือกเขาสูง อยู่ในพื้นที่หลวงพระบาง 29.8 กิโลเมตร ในแขวงอุดมไซ 84.1 กิโลเมตร ต้องสร้างสะพาน 98 แห่ง อุโมงค์อีก 8 แห่ง มีจุดเข้า-ออก เส้นทาง 5 จุด มูลค่าก่อสร้าง 2,800 ล้านดอลลาร์ เมื่อสร้างเสร็จ จะร่นเวลาเดินทางจากเดิมประมาณ 6 ชั่วโมง เหลือเพียง 90 นาที เหมือนกับ 2 ช่วงแรก…

ช่วงที่ 4 “อุดมไซ-บ่อเต็น” ระยะทาง 81.09 กิโลเมตร ยังไม่มีรายละเอียดกำหนดเวลาก่อสร้าง มีเพียงเป้าหมายว่าต้องการร่นเวลาเดินทางช่วงนี้ลงมาเหลือไม่เกิน 1 ชั่วโมง…

โดยภาพรวม หากทางด่วนสายเหนือ “เวียงจันทน์-บ่อเต็น” สร้างครบหมดทุกช่วง การเดินทางโดยรถยนต์จากนครหลวงเวียงจันทน์ขึ้นไปยังชายแดนลาว-จีนที่เมืองบ่อเต็น จากที่เคยต้องเดินทางกันข้ามคืน ข้ามวัน จะเหลือเวลาเพียง 5 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น

ภาพที่ 3 ทางด่วน “เวียงจันทน์-วังเวียง” ซึ่งกำลังจะเปิดให้บริการในวันที่ 2 ธันวาคม

ทำไมจึงเป็น “ยูนนาน-เวียงจันทน์”…

เมืองบ่อเต็น อยู่ตรงข้ามกับเมืองบ่อหาน ในเขตปกครองตนเองชนชาติไต สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน

สิบสองปันนา เป็นเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ลื้อ นับแต่อดีตชาวลื้อจากสิบสองปันนาจำนวนมากได้โยกย้ายถิ่นฐานมาปักหลักสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นใหม่ในหลายพื้นที่ของลาว ตั้งแต่แขวงหลวงน้ำทา บ่อแก้ว ไซยะบูลี อุดมไซ หลวงพระบาง กระทั่งในเวียงจันทน์ และหลายจังหวัดในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย

สายสัมพันธ์ทางเครือญาติทุกวันนี้ ยังมีอยู่…

แนวคิดในการสร้างทางด่วนจากเมืองบ่อเต็นมายังเวียงจันทน์ เริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2558 เมื่อครั้งที่เฉิน หาว ผู้ว่าการมณฑลยูนนาน เดินทางมาพบกับสมสะหวาด เล่งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการธิการร่วมมือลาว-จีน ของรัฐบาลลาวในขณะนั้น ที่นครหลวงเวียงจันทน์

ถัดจากนั้นไม่กี่วัน กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ของลาว ได้เซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกลุ่มบริษัทวิศวกรรมก่อสร้างมณฑลยูนนาน ให้เป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างทางด่วนสายนี้

ธรรมชาติของโครงการพัฒนาต่างๆ ในลาว หากรัฐบาลเซ็น MOU ให้กิจการใดเป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้ กิจการนั้นมักได้สัมปทานทำโครงการนั้นในภายหลัง

วันที่ 22-23 พฤษภาคม 2560 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี สปป.ลาว เห็นชอบรายงานผลการศึกษาทางด่วนเวียงจันทน์-บ่อเต็น ตอนที่ 1 ช่วงเวียงจันทน์-วังเวียง

13 พฤศจิกายน 2560 ระหว่างที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน เดินทางเยือนลาวอย่างเป็นทางการ ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีเซ็นสัญญาร่วมทุนสร้างทางด่วน “เวียงจันทน์-วังเวียง” ระหว่างรัฐบาลลาวและจีน

ทางด่วนเวียงจันทน์-วังเวียง มีอายุสัมปทาน 50 ปี เป็นการลงทุนส่วนใหญ่ของบริษัทวิศวกรรมก่อสร้างมณฑลยูนนาน มีรัฐบาลลาวถือหุ้น 5%

การก่อสร้างเริ่มในเดือนพฤศจิกายน 2561

ภาพที่ 4-7 ภายในเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม ซึ่งเพจ “คนเดินทาง Walker Trail” ได้นำมาเผยแพร่เมื่อวันที่ 26 กันยายน ภาพชุดนี้ได้ถูกนำไปเผยแพร่ต่อในโลกออนไลน์ของลาวอย่างกว้างขวาง ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/AeaVilaiphet/posts/151631736610013

ก่อนมีแนวคิดจะสร้างทางด่วนจากบ่อเต็นมาเวียงจันทน์ ได้มีการสร้างเส้นทางสาย R3a ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางมาก่อนแล้ว

ถนน R3a ระยะทาง 228 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นที่เมืองบ่อเต็น ปลายทางที่เชิงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ตรงข้ามกับอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย สร้างเสร็จและเปิดใช้อย่างเป็นทางการในปี 2551

ที่บ่อเต็น เมืองต้นทาง รัฐบาลลาวได้กันที่ดินแปลงใหญ่ 34.2 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 21,375 ไร่ ให้สัมปทานแก่นักลงทุนสร้างเป็นเมืองใหม่ขึ้น

เดิมบริษัทฟุกฮิง ทราเวล จากฮ่องกง เป็นผู้ได้สัมปทาน สร้างเป็นเขตเศรษฐกิจเฉพาะ “บ่อเต็นแดนคำ” ภายในประกอบด้วยกาสิโน และศูนย์บันเทิงครบวงจร เปิดให้บริการในปี 2550 แต่หลังจากเปิดได้ไม่นาน เกิดปัญหาภายใน ถึงขั้นทำให้รัฐบาลต้องยึดสัมปทานกลับคืนมา

ปี 2554 รัฐบาลลาวได้ให้สัมปทานที่ดินแปลงนี้แก่ กลุ่มบริษัทยูนนาน ไห่เฉิง (Haicheng Group) ไปทำต่อ

ยูนนาน ไห่เฉิง มีโจวคุน นักธุรกิจจากมณฑลยูนนานเป็นประธาน บริษัทนี้เป็นเจ้าของโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า 9 จอม 12 เจียง ในเชียงรุ่ง เมืองเอกของสิบสองปันนา และเคยเสนอซื้อโรงแรมดาราเทวี ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่เกิดปัญหาจนต้องพับแผนไปในภายหลัง

ภาพที่ 5 ภายในเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม

ยูนนาน ไห่เฉิงได้เปลี่ยนชื่อโครงการเป็นเขตเศรษฐกิจเฉพาะ “บ่อเต็นแดนงาม” ตั้งบริษัทพัฒนาเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นลาวให้เป็นผู้ดำเนินการ ปรับรูปแบบเป็นศูนย์การค้าและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมครบวงจร

ปัจจุบัน การก่อสร้างต่างๆ ในเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนงามเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว มีนักลงทุนจากจีนไปเปิดบริษัท ห้างร้าน หลายแห่ง มีคนจีน คนลาว และชาวต่างประเทศอื่นๆ จำนวนมากเข้าไปอาศัยและทำงานในพื้นที่นี้ มากกว่า 4,000 คน…

วันที่ 18 สิงหาคม 2560 รัฐบาลลาว โดยแขวงบ่อแก้ว ได้ให้สัมปทานแก่บริษัทพัฒนาเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นลาว นำที่ดินเชิงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 เมืองห้วยทราย จำนวน 13.8 เฮกตาร์ หรือประมาณ 86.25 ไร่ (1 เฮกตาร์ = 6.25 ไร่) ไปพัฒนา

ตามแผน บริษัทพัฒนาเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นลาวจะสร้างศูนย์การค้า คลังสินค้า และร้านค้าปลอดภาษี ศูนย์จำหน่ายสินค้านำเข้า-ส่งออก ท่าเรือ สถานีรถโดยสารระหว่างประเทศ โรงแรม ร้านอาหาร จุดชมวิว สวนสาธารณะ ฯลฯ โครงการนี้มีอายุสัมปทาน 50 ปี แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ ใช้เงินลงทุนรวม 100 ล้านดอลลาร์

ภาพที่ 6 ภายในเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม

การก่อสร้างระยะแรก เริ่มเมื่อเดือนมกราคม 2562 สร้างเป็นอาคารพาณิชย์สูง 17 ชั้น 2 อาคาร งบประมาณรวม 40 ล้านดอลลาร์ ตามกำหนดการ ทั้ง 2 อาคาร ต้องเสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา (2563) นอกจากนี้ ยังจะสร้างโรงแรม 5 ดาว อาคารสำนักงาน อพาร์ตเมนต์ ร้านอาหาร รวมถึงโรงแรมริมแม่น้ำโขง

ส่วนระยะที่ 2 จะสร้างศูนย์การค้าปลอดภาษี สถานบันเทิง ท่าเรือท่องเที่ยว และสถานีขนส่งรถโดยสาร เป็นลำดับถัดไป…

วันที่ 4 มิถุนายน 2561 เจ้าแขวงเวียงจันทน์ มีหนังสือฉบับที่ 506/จข,วจ อนุญาตให้บริษัทพัฒนาเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นลาว เข้ามาสำรวจความเป็นไปได้ที่จะนำที่ดิน 7,000 เฮกตาร์ (43,750 ไร่) ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำซอง บริเวณบ้านห้วยสะเหง้า บ้านพูดินแดง และบ้านปากเปาะ เมืองวังเวียง มาพัฒนาเป็นเขตท่องเที่ยวทางธรรมชาติแบบยั่งยืน รองรับการเติบโตของวังเวียงที่จะกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของลาวในอนาคต

อีก 2 เดือนถัดมา วันที่ 9 สิงหาคมปีเดียวกัน แขวงเวียงจันทน์เซ็น MOU ให้บริษัทพัฒนาเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นลาว ได้พัฒนาที่ดินแปลงนี้ในนามบริษัทพัฒนาเมืองใหม่วังเวียงลาว

ภาพที่ 7 ภายในเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม

พื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำซอง เมืองวังเวียง มีประชากรอาศัยอยู่ 22 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่า ตามแผนที่บริษัทพัฒนาเมืองใหม่วังเวียง ลาววางไว้ จะปรับปรุงบ้านเรือนประชาชนตามเอกลักษณ์ของแต่ละเผ่า เพื่ออนุรักษ์วิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมไว้ และเปิดเป็นโฮมสเตย์ให้บริการแก่นักท่องเที่ยว โดยไม่มีการโยกย้ายประชากรออกจากพื้นที่

โครงการนี้ใช้เงินลงทุน 5,300 ล้านดอลลาร์ แบ่งช่วงการพัฒนาเป็น 5 ระยะ ภายในกำหนด 29 ปี

วันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา ถัง ซินซวน ประธานบริษัทพัฒนาเมืองใหม่วังเวียงลาว ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวสารประเทศลาวถึงความคืบหน้าของโครงการขณะนี้ว่า กำลังจะเริ่มก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน จากนั้นจะสร้างสวนสนุก ร้านค้าปลอดภาษี โดยตั้งเป้าหมายว่าเมื่อเสร็จแล้ว จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาวังเวียงได้ปีละ 9 ล้านคน สร้างงานแก่ชาววังเวียงได้มากถึง 27,800 ตำแหน่ง

กลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง ได้เข้ามาปักหมุดพัฒนาพื้นที่ตามแนวถนนสาย R3a ทั้งที่ต้นทางชายแดนลาว-จีน และปลายทางชายแดนลาว-ไทย
ส่วนแนวทางด่วนเวียงจันทน์-บ่อเต็น ยูนนาน ไห่เฉิงได้ปักหมุดพัฒนาวังเวียง ซึ่งเป็นเหมือนหัวใจของการท่องเที่ยวของลาว

เขตพัฒนากวมลวมไซเซดถา ที่มาภาพ : สำนักข่าวสารประเทศลาว: https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1499989190204856&id=421087478095038

แนวทางการพัฒนาของยูนนาน ไห่เฉิง เป็นโครงการเพื่อการท่องเที่ยว

แต่ก่อนที่แหล่งท่องเที่ยวของยูนนาน ไห่เฉิงเหล่านี้จะเกิดขึ้น เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 องค์การบริหารนครหลวงเวียงจันทน์ได้เซ็นสัญญาร่วมทุนกับบริษัทลงทุนต่างประเทศมณฑลยูนนาน จัดตั้งบริษัทร่วมลงทุนลาว-จีน ขึ้นเพื่อทำโครงการ “เขตพัฒนากวมลวมไซเซดถา” นิคมอุตสาหกรรมแห่งเดียวของจีน ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ 1,149 เฮกตาร์ (7,181.25 ไร่) ใจกลางเมืองหลวงของลาว ช่วงรอยต่อระหว่างเมืองไซเซดถากับเมืองไซทานี นครหลวงเวียงจันทน์

บริษัทลงทุนต่างประเทศมณฑลยูนนาน เป็นบริษัทลูกของกลุ่มบริษัทก่อสร้างและลงทุนมณฑลยูนนาน จำกัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 10,000 ล้านหยวน มีสินทรัพย์ 1.6 หมื่นล้านหยวน และมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่อยู่ในหลายประเทศทั่วโลก

เขตพัฒนากวมลวมไซเซดถาเปิดรับนักลงทุนจากทุกประเทศที่ต้องการเข้ามาตั้งโรงงาน นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ใช้เงินลงทุนรวม 5,000 ล้านดอลลาร์ แบ่งการก่อสร้างเป็น 3 ระยะ

ระยะที่ 1 วางโครงสร้างพื้นฐานสำหรับบริษัทอุตสาหกรรม ที่จะเข้ามาตั้งโรงงานภายในพื้นที่นิคม

ระยะที่ 2 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่ง

ระยะที่ 3 พัฒนาที่อยู่อาศัย

โครงการทั้งหมด จะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2573

เมื่อครั้งที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เดินทางเยือนลาวอย่างเป็นทางการ ในเดือนพฤศจิกายน 2560 ทั้งประธานาธิบดีสีจิ้นผิง และบุนยัง วอละจิด ประธานประเทศ สปป.ลาว ร่วมกันยืนยันต่อสาธารณะถึงความสำคัญของเขตพัฒนากวมลวมไชเชดถา ระบุว่ารัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศเห็นพ้องกันว่าต้องผลักดันโครงการนี้ให้เป็นผลสำเร็จ

หวาง เหวยคุน ผู้อำนวยการ บริษัทร่วมลงทุนลาว-จีน ที่มาภาพ :สำนักข่าวสารประเทศลาว: https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1499989190204856&id=421087478095038

24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หวาง เหวยคุน ผู้อำนวยการ บริษัทร่วมลงทุนลาว-จีน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวสารประเทศลาว ว่า ปัจจุบัน มีกิจการ 86 กิจการ จาก 7 ประเทศ ได้เข้าไปลงทุนในเขตพัฒนากวมลวมไซเซดถาแล้ว อาทิ บริษัท Hoya จากญี่ปุ่น, บริษัทยาสูบ ลาว-จีน, บริษัทความหวังใหม่, บริษัทโกลเด้นลาว, บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ลาว-จีน ต่งหย่านฯลฯ

เฉพาะบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ลาว-จีน ต่งหย่าน เป็นโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของลาว มูลค่าการลงทุน 179 ล้านดอลลาร์ เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทยูนนาน ต่งหย่าน อินดัสเตรียล โฮลดิ้ง 75% รัฐวิสาหกิจน้ำมันเชื้อไฟลาว 20% และบริษัทร่วมลงทุนลาว-จีน 5%

2 ธันวาคมนี้ เป็นวันที่ลาวกำลังจะมีพัฒนาการซึ่งมีนัยสำคัญเกิดขึ้น

รัฐบาลลาวกำหนดให้เป็นวันเปิดใช้ทางด่วน “เวียงจันทน์-วังเวียง” อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่เงินทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ ได้หลั่งไหลลงมาในลาวได้ง่ายและเพิ่มขึ้น