ThaiPublica > สู่อาเซียน > “อาชญากรรมเศรษฐกิจ” สถานการณ์ใหม่ที่คนลาวเริ่มต้องเผชิญ

“อาชญากรรมเศรษฐกิจ” สถานการณ์ใหม่ที่คนลาวเริ่มต้องเผชิญ

21 มีนาคม 2023


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์

ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจ วิกฤตการณ์การเงินที่โหมกระหน่ำ สปป.ลาว มานานกว่า 3 ปี ดึงอัตราเงินเฟ้อ ราคาสินค้า และค่าครองชีพของประชาชนลาวทั่วประเทศ ให้พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ คนลาวต้องเริ่มเผชิญกับปมปัญหาใหม่ “อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ” ที่รุกเข้ามาสู่ภาคการเงิน การธนาคาร สร้างความหวั่นวิตกแก่ผู้ฝากเงิน ที่ไม่รู้ว่า จู่ๆ เงินในบัญชีธนาคารของตน อาจหายไปโดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ…

“อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ” ไม่ใช่เรื่องใหม่ ประเทศไทยได้เผชิญกับปัญหานี้มาแล้ว อย่างน้อยก็กว่า 4 ทศวรรษ

ในลาวเอง เหตุการณ์ที่ปรากฏเป็นข่าวใหญ่เมื่อกลางปีที่แล้ว กรณี “หวยเจ๊ทิบ” เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนอันหนึ่งของอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบัน ผู้ที่เป็นต้นเรื่องได้ถูกจับกุมและส่งตัวเข้าไปรับโทษอยู่ในเรือนจำแล้ว

  • กรณี “หวยเจ๊ทิบ” อาชญากรรมเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวในลาว
  • แต่อาชญากรรมทางเศรษฐกิจในภาคการเงิน การธนาคาร เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในลาวอย่างเป็นรูปธรรม

    เป็นสถานการณ์ใหม่ที่คนลาวจำเป็นต้องตื่นตัว เพิ่มความระมัดระวัง เพราะเมื่อเริ่มมีครั้งแรกแล้ว ย่อมต้องมีครั้งต่อๆไป เกิดขึ้นตามมาอีก

    ……

    ธนาคารการค้าต่างประเทศลาว มหาชน ธนาคารพาณิชย์ของรัฐที่ใหญ่ที่สุดในลาว ตกเป็นเป้าหมายของแก๊งสกิมเมอร์ที่ต้องการดูดเงินจากบัญชีเงินฝากของลูกค้า ที่มาภาพ : The Laotian Times https://laotiantimes.com/2023/03/13/bcel-customers-raise-alarm-after-losing-cash-due-to-atm-skimming/

    ต้นเดือนมีนาคม 2566 ลูกค้าเงินฝากของธนาคารการค้าต่างประเทศลาว มหาชน รายหนึ่ง ซึ่งระบุภูมิลำเนาว่าอยู่ที่แขวงเซกอง ทางภาคใต้ ได้โพสต์เฟซบุ๊กบอกเล่าเรื่องราวที่เขาเพิ่งประสบ ที่จู่ๆเงินในบัญชีเงินฝากจำนวนมากได้ถูกถอนออกไปโดยที่ตัวเจ้าของบัญชีไม่รู้เรื่อง ทั้งๆที่พกบัตรเอทีเอ็มติดไว้กับตัวตลอด

    มีเงินที่ถูกถอนออกไปจากบัญชีเงินฝากของเขาหลายครั้ง รวมเป็นเงินถึง 57.5 ล้านกีบ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 115,000 บาท(อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท = 500 กีบ)

    ในโพสต์ ได้แนบสำเนาใบแจ้งความที่ผู้เสียหายได้ไปแจ้งไว้กับแผนกตำรวจเศรษฐกิจ กองบัญชาการป้องกันความสงบ เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ที่ลักลอบถอนเงินออกไปจากบัญชี

    รายละเอียดในใบแจ้งความระบุว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ผู้เสียหายได้ไปถอนเงินที่ตู้เอทีเอ็มแห่งหนึ่ง ในเมืองละมาน แขวงเซกอง แต่ไม่สามารถทำรายการได้ ข้อมูลบนหน้าจอของตู้เอทีเอ็มแจ้งเหตุผลว่า ในวันนั้น เขาได้ทำรายการถอนเงินครบกำหนด 6 ครั้งต่อวัน ไปแล้ว

    เมื่อผู้เสียหายได้ตรวจสอบข้อมูลจากแอพธนาคารในโทรศัพท์มือถือ พบว่าตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ต่อเนื่องถึงวันที่ 1 มีนาคม มีรายการถอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มออกจากบัญชีเงินฝากของเขาทุกวัน เฉลี่ยวันละ 6 ครั้ง ยอดถอนแต่ละครั้งเป็นเงินใกล้เคียงกัน ประมาณครั้งละ 2.5 ล้านกีบ รายการถอนที่เกิดขึ้น ตัวเจ้าของบัญชีไม่รู้เรื่อง เพราะไม่มีการแจ้งเตือนให้ทราบ

    ข้อมูลในแอพให้รายละเอียดว่า การถอนเงินที่เกิดขึ้น เป็นการทำรายการผ่านตู้เอทีเอ็มในนครหลวงเวียงจันทน์ ทั้งที่ช่วงเวลาที่เกิดการถอนเงินออกไปนั้น ตัวผู้เสียหายยังอยู่ที่แขวงเซกอง

    เมื่อทราบเช่นนั้น ผู้เสียหายจึงรีบแจ้งไปยังธนาคารการค้าต่างประเทศลาว มหาชน สาขาเซกอง เพื่อถอนเงินสดที่เหลืออยู่ออกมาทั้งหมด และให้ธนาคารอายัดบัญชีดังกล่าวไว้ก่อน

    จากนั้น ในวันที่ 3 มีนาคม 2566 ได้เดินทางมาแจ้งความกับแผนกตำรวจเศรษฐกิจ

    โพสต์ของลูกค้าที่จู่ๆ ถูกถอนเงินออกไปจากบัญชีหลายครั้ง รวม 57.5 ล้านกีบ

    หลังเรื่องราวของลูกค้าธนาคารการค้าต่างประเทศลาว มหาชน รายนี้ ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางในสื่อออนไลน์ของลาว เริ่มมีเหยื่อรายอื่นออกมาบอกเล่าประสบการณ์ ว่าตนเองก็เคยเจอกับเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้มาแล้วด้วยเช่นกัน…

    วันที่ 9 มีนาคม 2566 เพจทางการของธนาคารการค้าต่างประเทศลาว มหาชน ได้โพสต์แจ้งเตือนลูกค้าของธนาคารให้เพิ่มความระมัดระวังในการถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม เนื่องจากพบว่ามีกลุ่มคนร้ายนำอุปกรณ์ไปติดตั้งไว้ตามตู้เพื่อขโมยข้อมูลจากบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตของลูกค้า ดังนั้นหากลูกค้าพบเห็นสิ่งผิดปกติที่ตู้เอทีเอ็มเครื่องใด ให้รีบแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ของธนาคารโดยทันที

    ตามภาพในโพสต์แจ้งเตือนของธนาคารการค้าต่างประเทศลาว มหาชน ลักษณะของอุปกรณ์ที่คนร้ายนำมาติดตั้งไว้ที่ตู้เอทีเอ็มอาจดูเป็นที่คุ้นตาสำหรับคนไทย เพราะเป็นอุปกรณ์ที่เรียกว่า “สกิมเมอร์” ซึ่งได้ถูกนำไปครอบไว้ที่ช่องเสียบบัตรของตู้เอทีเอ็ม เมื่อลูกค้าเสียบบัตรเพื่อกดเงินสด สกิมเมอร์จะดูดข้อมูลจากแถบแม่เหล็กหลังบัตรของลูกค้า

    โพสต์แจ้งเตือนภัยจากธนาคารการค้าต่างประเทศลาว มหาชน ให้ลูกค้าระมัดระวังในการกดเงินจากตู้เอทีเอ็ม หากพบสิ่งผิดปกติตามภาพ ให้รีบแจ้งธนาคาร

    นอกจากนั้น ยังมีอุปกรณ์อีกตัวหนึ่งที่ติดตั้งไว้เหนือช่องกดรหัส ซึ่งจะทำให้คนร้ายสามารถรู้รหัส 4 หลักของเหยื่อเวลาทำรายการ

    เมื่อคนร้ายได้ข้อมูลเหล่านี้ครบถ้วนแล้ว สามารถนำไปใช้ทำเป็นบัตรเอทีเอ็มปลอมขึ้นมา และนำไปกดเงินสดออกจากบัญชีของเหยื่อได้เหมือนเป็นบัตรเอทีเอ็มของเจ้าของบัญชีตัวจริง…

    การใช้สกิมเมอร์ขโมยข้อมูลในบัตรเอทีเอ็มเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่เคยระบาดอย่างหนักในประเทศไทยเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว เท่าที่ปรากฏเป็นข่าวในช่วงนั้น กลุ่มคนร้ายที่ตำรวจไทยสามารถจับได้ มักเป็นแก๊งคนจีน ทั้งที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ และจากไต้หวัน รวมถึงมีคนร้ายอีกบางส่วนที่เป็นชาวแอฟริกัน

    ธนาคารพาณิชย์ของไทย เร่งแก้ปัญหาด้วยการรณรงค์ให้ลูกค้านำบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต ที่เป็นบัตรซึ่งบรรจุข้อมูลไว้ในแถบแม่เหล็ก มาเปลี่ยนเป็นบัตรชิปการ์ด ซึ่งจะทำให้การลักลอบขโมยข้อมูลทำได้ยากกว่า

    แต่ในลาว บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต ยังไม่ได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นบัตรชิปการ์ดทั้งหมด จึงเกิดเป็นช่องว่างให้คนร้ายเหล่านี้ สามารถใช้วิธีเดิมๆ มาขโมยเงินออกจากบัญชีของผู้ฝากเงิน

    วันที่ 10 มีนาคม 2566 เพจทางการของธนาคารการค้าต่างประเทศลาว มหาชน ได้เผยแพร่หนังสือแจ้งเตือนถึงลูกค้าออกมาอีกฉบับหนึ่ง มีเนื้อหาโดยสรุปว่า

    -ให้ลูกค้าผู้ถือบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรประเภทอื่นของธนาคารการค้าต่างประเทศลาว มหาชน ทำรายการผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารการค้าต่างประเทศลาว มหาชน เป็นหลัก และให้สังเกตบริเวณตู้ หากพบวัสดุแปลกปลอม หรืออุปกรณ์ต้องสงสัย ให้รีบโทรศัพท์แจ้งไปยังสายด่วนของธนาคารทันที

    -หากสงสัยว่าอาจมีผู้รู้รหัส หรือมีผู้ขโมยรหัสที่ใช้คู่กับบัตร ลูกค้าสามารถทำรายการเปลี่ยนรหัสของบัตรได้ด้วยตนเอง

    -ธนาคารได้พัฒนาระบบที่ลูกค้าสามารถเปิด-ปิดบัตรได้ด้วยตนเอง เพื่อเป็นการเพิ่มการป้องกันขึ้นอีกระดับหนึ่ง

    -ให้ลูกค้าที่ยังใช้บัตรที่เป็นแถบแม่เหล็ก มาเปลี่ยนเป็นบัตรชิปการ์ด ที่มีความปลอดภัยกว่า

    สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกค้าของธนาคาร และได้มีการเผยแพร่เรื่องราวผ่านทางสื่อออนไลน์ออกไปอย่างกว้างขวางแล้วนั้น ธนาคารกำลังเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้กับลูกค้าอยู่ แต่ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบรายละเอียดของข้อมูล ซึ่งหากมีลูกค้ารายอื่นประสพกับปัญหา หรือเห็นว่าบัญชีมีรายการที่น่าสงสัย ก็ให้รีบติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของธนาคาร หรือโทรศัพท์แจ้งไปยังสายด่วนของธนาคารได้ตลอด 24 ชั่วโมง

    ……

    คลิปข่าวของหนังสือพิมพ์ลาวพัฒนา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 รายงานความคืบหน้าของลูกค้าที่ถูกลักลอบถอนเงินออกไป 57.5 ล้านกีบ ล่าสุด ได้รับเงินคืนจากธนาคาร และได้เปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มเป็นบัตรชิปการ์ดแล้ว

    วันที่ 15 มีนาคม 2566 เพจหนังสือพิมพ์ลาวพัฒนา ซึ่งเป็นสื่อของรัฐ ได้โพสต์คลิปข่าวความคืบหน้า กรณีของลูกค้าธนาคารการค้าต่างประเทศลาว มหาชน ที่ได้ถูกคนร้ายปลอมแปลงบัตรเอทีเอ็มและถอนเงินออกไปจากบัญชี มีรายละเอียดว่า…

    หลังจากมีผู้ใช้เฟซบุ๊ก ได้โพสต์ภาพบัญชี พร้อมข้อความว่าเงินฝากในบัญชีถูกถอนออกไปโดยไม่รู้สาเหตุ เป็นเงินถึง 57.5 ล้านกีบ จึงได้แจ้งไปยังธนาคาร และแจ้งความไว้กับตำรวจแล้วนั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เจ้าของเฟซบุ๊กรายเดิมได้ออกมาโพสต์ว่า ปัจจุบัน ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขแล้ว

    “ด้วยความกังวล และตกใจ จึงได้โพสต์ออกไปด้วยข้อความตามที่เห็น เพียงเพื่ออยากบอกกับเพื่อนในเฟซบุ๊กให้เพิ่มความระมัดระวัง และหลังจากที่ได้โพสต์ไป ก็มีเพื่อนฝูงได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นและกดแชร์ออกไปเป็นจำนวนมาก

    ต่อปัญหานี้ ธนาคารได้แก้ไข และข้าพเจ้าก็ได้รับเงินคืนแล้ว และธนาคารก็ได้แนะนำให้เปลี่ยนบัตรใหม่ มาเป็นบัตรชิปการ์ด

    สุดท้ายนี้ อยากแนะนำกับทุกคนว่า ให้มีสติระวังตัว หากเกิดปัญหาเกี่ยวกับการใช้บริการของธนาคาร ให้รีบติดต่อธนาคารโดยทันที และทำตามคำแนะนำของธนาคาร เพื่อป้องกันภัยจากมิจฉาชีพ”ลาวพัฒนาอ้างอิงข้อความจากเฟซบุ๊คของเจ้าของบัญชีเงินฝาก ผู้เป็นต้นเรื่อง

    ……

    “อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ”ที่เริ่มปรากฏขึ้นในลาว มีพัฒนาการเป็นลำดับขั้นคล้ายคลึงกับที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน

    เริ่มจากยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง ความอยากได้เงินมาใช้แบบง่ายๆ ทำให้เกิดอาชญากรรมลักษณะแชร์ลูกโซ่ ที่ใช้ตัวเลขผลตอบแทนที่จะได้รับจากการนำเงินไปฝากไว้กับมิจฉาชีพในอัตราที่สูง มาหลอกลวงผู้คนให้หลงเชื่อ ยอมนำเงินไปฝากไว้กับคนที่ไม่รู้จัก

    จากนั้นรูปแบบของอาชญากรรม ก็เพิ่มความหลากหลายและสลับซับซ้อนขึ้น ตามการขยายตัวของตลาดเงิน ตลาดทุน สถาบันการเงิน และเทคโนโลยี่

    ในลาวนั้น ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ตลาดเงิน ตลาดทุนของลาวยังมีขนาดไม่ใหญ่มาก จึงไม่มีเรื่องราว ความเดือดร้อนของผู้คนจากอาชญากรรมทางเศรษฐกิจในภาคการเงิน การธนาคาร ปรากฏให้ได้ยินบ่อยนัก

    แต่ปัจจุบัน ด้วยการวางตำแหน่งเป็นประเทศให้เป็น Land Link ศูนย์กลางการคมนาคมของภูมิภาค ย่อมมีผู้คนจากหลากหลายประเทศเดินทางเข้ามาในลาว ตลาดเงิน ตลาดทุน และสถาบันการเงินของลาว จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับนานาชาติมากขึ้น

    แน่นอนว่า อาชญากรที่มองตลาดเงินของลาวเป็นช่องทางทำมาหากิน ย่อมต้องมีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

    อาชญากรรมทางเศรษฐกิจในภาคการเงิน การธนาคาร เป็นเรื่องใกล้ตัว และเป็นสถานการณ์ที่คนลาวต้องเตรียมตั้งรับและป้องกัน…