ThaiPublica > สู่อาเซียน > ภาพที่ชัดขึ้นของ “ระเบียงเศรษฐกิจ จีน-ลาว”

ภาพที่ชัดขึ้นของ “ระเบียงเศรษฐกิจ จีน-ลาว”

19 กุมภาพันธ์ 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

รถไฟโดยสารขบวนล้านช้าง

14 กุมภาพันธ์ 2565 บริษัทรถไฟลาว-จีน แจ้งข่าวการขยายจำนวนเที่ยวรถให้บริการ ของขบวนรถไฟ “ล้านช้าง” รถไฟรับ-ส่งผู้โดยสารความเร็วปานกลาง (EMU)

รถไฟขบวนเลขที่ C83-84 วิ่งระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์-หลวงพระบาง ซึ่งเดิมให้บริการ เฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ได้เพิ่มเป็นให้บริการทุกวัน วันละ 1 เที่ยว (ไป-กลับ)

ส่วนขบวนเลขที่ C81-C82 วิ่งระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์-บ่อเต็น ยังคงให้บริการทุกวัน วันละ 1 เที่ยว (ไป-กลับ) เช่นเดิม

ขบวน C82 กำหนดออกจากนครหลวงเวียงจันทน์เวลา 7.50 น. ถึงบ่อเต็นเวลา 11.30 น. เที่ยวกลับ ขบวน C81 ออกจากบ่อเต็นเวลา 11.55 น. ถึงนครหลวงเวียงจันทน์เวลา 15.35 น. ตลอดเส้นทาง จอดรับ-ส่งผู้โดยสาร 7 สถานี ได้แก่ นครหลวงเวียงจันทน์, โพนโฮง, วังเวียง, หลวงพระบาง, เมืองไซ นาเตย และบ่อเต็น

ขบวน C84 กำหนดออกจากนครหลวงเวียงจันทน์เวลา 16.05 น. ถึงหลวงพระบางเวลา 18.00 น. เที่ยวกลับ ขบวน C83 ออกจากหลวงพระบางเวลา 18.30 น. ถึงนครหลวงเวียงจันทน์เวลา 20.25 น. จอดรับ-ส่งผู้โดยสาร เพียง 3 สถานี ได้แก่ นครหลวงเวียงจันทน์, วังเวียง และหลวงพระบาง

ตารางเดินรถไฟลาว-จีนที่เพิ่งขยายเที่ยวรถให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ที่มาภาพ: บริษัทรถไฟลาว-จี

เหตุผลการเพิ่มเที่ยวของขบวนรถ “ล้านช้าง” เพราะนับแต่เริ่มให้บริการเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564 มีผู้โดยสารให้ความสนใจมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก เลยต้องเพิ่มจำนวนเที่ยว เพื่อให้สามารถบริการได้อย่างทั่วถึง

ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 สอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ในฐานะหัวหน้าคณะชี้นำโครงการก่อสร้างรถไฟลาว-จีน นำคณะไปตรวจเยี่ยมบริษัทรถไฟลาว-จีน สถานีสินค้าเวียงจันทน์ใต้ ท่าบกท่านาแล้ง และการก่อสร้างโรงเรียนเทคนิคทางรถไฟ (หลัก 16)

หยวน หมิงห่าว ผู้อำนวยการ บริษัทรถไฟลาว-จีน กล่าวรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 รถไฟขบวน “ล้านช้าง” วิ่งให้บริการไปแล้ว 119 เที่ยว (ไป-กลับ) มีผู้โดยสารมาใช้บริการรวม 113,827 คน เฉลี่ยวันละ 1,721 คน มีสถิติจำนวนผู้โดยสารใช้บริการต่อวันมากที่สุด ถึง 2,804 คน

ส่วนขบวนรถขนส่งสินค้า ให้บริการแล้ว 130.5 เที่ยว (ไป-กลับ) ขนส่งสินค้าคิดเป็นนำหนักรวมทั้งสิ้น 139,422.65 ตัน เฉลี่ยวันละ 2,112 ตัน มีสถิติวันที่ขนส่งสินค้าได้หนักที่สุด 6,748 ตัน

นับแต่เริ่มเปิดให้บริการจนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 รถไฟลาว-จีน มีรายได้รวม 61.82 ล้านหยวน หรือประมาณ 318.38 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน = 5.15 บาท)

สอนไซ สีพันดอน (ที่ 2 จากขวา) นำคณะไปตรวจเยี่ยมบริษัทรถไฟลาว-จีน สถานีขนส่งสินค้าเวียงจันทน์ใต้ ท่าบกท่านาแล้ง และการก่อสร้างโรงเรียนเทคนิคทางรถไฟ (หลัก 16) เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565

แบ่งเป็นรายได้จากขบวนรับ-ส่งผู้โดยสาร 12.98 ล้านหยวน หรือประมาณ 66.85 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 21% และจากขบวนขนส่งสินค้า 48.84 ล้านหยวน หรือประมาณ 251.53 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 79%

ปัจจุบัน เส้นทางรถไฟลาว-จีน จากนครหลวงเวียงจันทน์ถึงเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา มีสถานีรับ-ส่งผู้โดยสารรวม 10 สถานี เปิดให้บริการแล้ว 7 สถานี ได้แก่ นครหลวงเวียงจันทน์, โพนโฮง, วังเวียง, หลวงพระบาง, เมืองไซ, นาเตย และบ่อเต็น ส่วนสถานีขนส่งสินค้ามี 7 สถานี เปิดให้บริการแล้ว 3 สถานี ได้แก่ เวียงจันทน์ใต้, วังเวียง และนาเตย

……

เกือบ 3 เดือนที่รถไฟลาว-จีนเปิดให้บริการ นอกจากทำให้การเดินทางและขนส่งสินค้า ระหว่างเวียงจันทน์กับชายแดนลาว-จีน ในภาคเหนือทำได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นแล้ว ตลอดแนวเส้นทางรถไฟยังมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ปรากฏให้เห็นอย่างคึกคัก

ทางรถไฟลาว-จีนเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว เพื่อเปิดเส้นทางเชื่อมสู่ทะเลให้กับจีนทางด้านอ่าวไทย เป็นหนึ่งในโครงข่ายคมนาคมของข้อริเริ่ม “1 แถบ 1 เส้นทาง” คู่กับระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา ที่เชื่อมจีนกับมหาสมุทรอินเดีย ทางอ่าวเบงกอล ซึ่งได้เปิดตัวไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2564

ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว นอกจากทางรถไฟแล้ว ยังมีทางด่วนเวียงจันทน์-บ่อเต็น ที่ปัจจุบันสร้างเสร็จและเปิดใช้แล้วในช่วงเวียงจันทน์-วังเวียง คาดว่าส่วนที่เหลือจะลงมือสร้างต่อในเร็วๆ นี้

โครงการลงทุนขนาดใหญ่ ที่กำลังปรากฏให้เห็นตามแนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว เป็นการผสมผสานกัน ระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตอุตสาหกรรม เมืองอัจฉริยะ และท่าบก ศูนย์กลางขนถ่ายสินค้า หรือศูนย์โลจิสติกส์…

หากดูไทม์ไลน์การปรากฏตัวของแต่ละโครงการ น่าจะทำให้เห็นภาพร่างคร่าวๆ ของระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว ที่เริ่มชัดเจนขึ้นได้พอสมควร

3 ธันวาคม 2564 พิธีเปิดใช้ทางรถไฟลาว-จีน อย่างเป็นทางการ…

4 ธันวาคม 2564 รถไฟขบวน “ล้านช้าง” เริ่มให้บริการเป็นวันแรก…

11 มกราคม 2565 บริษัทอมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA จากประเทศไทย จัดพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการ AMATA Smart & Eco City Natuey บนพื้นที่ 410 เฮกตาร์ หรือ 2,562.5 ไร่ บริเวณสามแยกนาเตย แขวงหลวงน้ำทา โดย AMATA บอกว่าจะใช้เงินลงทุนในโครงการนี้ประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

AMATA Smart & Eco City Natuey เป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ประเภทเมืองอัจฉริยะและพื้นที่อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในจุดเชื่อมต่อ 3 ประเทศ คือ จีน ลาว และไทย

ที่ตั้งโครงการ AMATA Smart & Eco City Natuey ที่สามแยกนาเตย แขวงหลวงน้ำทา
พิธีวางศิลาฤกษ์ โครงการ AMATA Smart & Eco City Natuey เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565

สามแยกนาเตยเป็นจุดเชื่อมระหว่างถนนสาย R3a ที่มาจากไทย กับถนนสาย 13 เหนือ ซึ่งเป็นถนนสายหลักที่เปรียบเหมือนกระดูกสันหลังของลาว สามแยกนี้อยู่ห่างจากชายแดนลาว-จีน ที่เมืองบ่อเต็น ประมาณ 20 กิโลเมตร และห่างจากชายแดนลาว-ไทย ที่เมืองห้วยซาย แขวงบ่อแก้ว ประมาณ 200 กิโลเมตร…

13 มกราคม 2565 รัฐบาลลาว โดยกระทรวงแผนการและการลงทุน เซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) ให้บริษัทโอเซียโนศึกษาความเป็นไปได้เพื่อพัฒนาโครงการแหล่งท่องเที่ยวครบวงจร บนพื้นที่ 363 เฮกตาร์ หรือ 2,269 ไร่ ที่บ้านนาไซ บ้านม่วงคำ และบ้านสะนก ในเมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพระบาง

ผู้ลงนามใน MOU ได้แก่ คำจัน วงแสนบุน รองรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน และคอนคำ อินทะวง ประธานบริษัทโอเซียโน

เมืองจอมเพ็ดอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง เป็นปลายทางของถนนสายใหม่ที่เพิ่งเปิดใช้ได้ไม่นาน เชื่อมต่อระหว่างบ้านนาปุ่ง เมืองหงสา แขวงไซยะบูลี ผ่านเมืองเชียงแมน มาสิ้นสุดที่เมืองจอมเพ็ด

ถนนสายนี้ยาวประมาณ 114 กิโลเมตร ห่างจากจุดต้นทางที่บ้านนาปุ่ง ไปอีกประมาณ 50 กิโลเมตร ผ่านตัวเมืองหงสา ก็จะถึงชายแดนลาว-ไทย ที่เมืองเงิน มีด่านสากลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน เป็นช่องทางเข้าสู่ประเทศไทย

พิธีเซ็น MOU ให้บริษัทโอเซียโน ศึกษาความเป็นไปได้โครงการแหล่งท่องเที่ยวครบวงจร ในเมืองจอมเพ็ด หลวงพระบาง เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 ที่มาภาพ: กระทรวงแผนการและการลงทุน

เมืองจอมเพ็ดยังเป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจหลวงพระบาง ที่รัฐบาลลาวให้สัมปทานแก่กลุ่มบริษัทพูสีเป็นผู้พัฒนาตั้งแต่เมื่อ 6 ปีก่อน

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2559 กลุ่มบริษัทพูสีได้สัมปทานเช่าที่ดิน 4,850 เฮกตาร์ หรือ 30,312.5 ไร่ ในเขตชานเมืองเก่าหลวงพระบาง และเขตที่ยังไม่มีการพัฒนาในเมืองใหม่จอมเพ็ด เป็นเวลา 99 ปี เพื่อพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษหลวงพระบาง รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ของเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง

กลุ่มบริษัทพูสี ได้ตั้งบริษัทจอมเพ็ดร่วมพัฒนาขึ้น ด้วยทุนจดทะเบียน 400 ล้านดอลลาร์ มีรัฐบาลลาวร่วมถือหุ้นด้วยส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นผู้พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษหลวงพระบาง

ข้อมูลเขตเศรษฐกิจพิเศษหลวงพระบาง ที่มาภาพ: สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษหลวงพระบาง มีทั้งพื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่เพื่อการพาณิชย์ สิ่งอำนวยความสะดวก และระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จะถูกสร้างขึ้นใหม่ เพื่อดึงดูดและรองรับการลงทุน จากนักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ…

7 กุมภาพันธ์ 2565 องค์การปกครองแขวงอุดมไซ เซ็น MOU กับสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมและศูนย์โลจิสติกส์ ที่เมืองนาหม้อ และเมืองไซ แขวงอุดมไซ

MOU ฉบับนี้ ลงนามโดยคำจัน ลาวจือเบง รองหัวหน้าแผนกแผนการและการลงทุน แขวงอุดมไซ กับอุเดด สุวันนะวง ประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว โดยมี คำแพง ไซสมแพง รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า และอ่อนแก้ว อุ่นอาลม รองเจ้าแขวงอุดมไซ เป็นสักขีพยาน

พิธีเซ็น MOU สำรวจความเป็นไปได้เพื่อพัฒนาเขตอุตสาหกรรมและศูนย์โลจิสติกส์ ที่เมืองนาหม้อ และเมืองไซ แขวงอุดมไซ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์2565

เมืองนาหม้อ อยู่ถัดจากสามแยกนาเตยลงมาตามถนนสาย 13 เหนือ ประมาณ 30 กิโลเมตร ส่วนเมืองไซ ซึ่งเป็นเมืองเอกของแขวงอุดมไซ อยู่ถัดลงมาจากเมืองนาหม้อ ตามถนนสาย 13 เหนือ ประมาณ 70 กิโลเมตร

เมืองไซยังเป็นสี่แยก จุดตัดระหว่างถนนหมายเลข 2 กับถนนสาย 13 เหนือ

ถนนหมายเลข 2W วิ่งลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เชื่อมเมืองไซกับเมืองปากแบ่ง ซึ่งเป็นจุดแวะพักครึ่งทางของเรือโดยสารแม่น้ำโขง (เรือช้า) ระหว่างเมืองห้วยซาย แขวงบ่อแก้ว กับเมืองหลวงพระบาง

จากปากแบ่งข้ามแม่น้ำโขงลงมาอีกประมาณ 30 กิโลเมตร เข้าสู่แขวงไซยะบูลี จะถึงชายแดนลาว-ไทย ที่เมืองเงิน ข้ามเข้าประเทศไทยทางด่านห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ได้เช่นกัน

ถนนหมายเลข 2E เชื่อมแขวงอุดมไซกับผ้งสาลี จากสี่แยกที่เมืองไซ ถนน 2E วิ่งขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านเมืองหลา เข้าเขตผ้งสาลีที่เมืองขวา ผ่านเมืองใหม่ไปเล็กน้อย จะถึงชายแดนลาว-เวียดนาม ฝั่งตรงข้ามคือเมืองเดียนเบียนฟู จังหวัดเดี่ยนเบียน สมรภูมิสุดท้ายที่ฝรั่งเศสได้พ่ายแพ้แก่กองทัพเวียดมินห์ ของเวียดนาม จนต้องถอนตัวออกจากดินแดนอินโดจีน

ปลายทางถนน 2E คือด่านชายแดนเตยจาง สามารถข้ามฝั่งไปยังเมืองเดียนเบียนฟูได้

ตาม MOU ที่เพิ่งลงนาม เขตอุตสาหกรรมและศูนย์โลจิสติกส์ที่เมืองนาหม้อ จะศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่บ้านนาสะหว่าง และบ้านขวางคำ ส่วนที่เมืองไซ จะศึกษาพื้นที่เขตหลัก 17 บ้านนาร้อง และเขตหลัก 22 เลียบตามถนนสาย 13 เหนือ ขึ้นไปทางเมืองนาหม้อ

การศึกษาความเป็นไปได้ เริ่มทันทีหลังการเซ็น MOU

4 เมืองสำคัญตามแนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว ด้านบน: บ่อเต็น นาเตย นาหม้อ และเมืองไซ

……

เส้นทางรถไฟลาว-จีน ยาว 422.44 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟทั้งสิ้น 33 แห่ง เป็นสถานีรับ-ส่งผู้โดยสาร 10 แห่ง ประกอบด้วย

  • สถานีนครหลวงเวียงจันทน์
  • สถานีโพนโฮง
  • สถานีวังเวียง
  • สถานีกาสี
  • สถานีหลวงพระบาง
  • สถานีเมืองงา
  • สถานีเมืองไซ
  • สถานีนาหม้อ
  • สถานีนาเตย
  • สถานีบ่อเต็น

ใน 10 แห่ง เป็นสถานีหลัก 5 แห่ง คือนครหลวงเวียงจันทน์, วังเวียง, หลวงพระบาง, นาเตย และบ่อเต็น นอกจาก 7 สถานีที่เปิดให้บริการ ยังเหลือสถานีอีก 3 แห่ง ที่ยังไม่เปิดให้บริการ คือ นาหม้อ, เมืองงา และกาสี

ที่เหลือเป็นสถานีขนส่งสินค้าเพียงอย่างเดียว โดยมีปลายทางอยู่ที่สถานีสินค้าเวียงจันทน์ใต้

ณ ขณะนี้ สถานีรับ-ส่งผู้โดยสาร 7 แห่ง ที่เปิดให้บริการแล้ว ล้วนมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใกล้เคียง ไล่จากเหนือลงมาใต้ ได้แก่

  • สถานีบ่อเต็น มีเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงาม ของกลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง จากจีน
  • สถานีนาเตย มี AMATA Smart & Eco City Natuey ของกลุ่ม AMATA จากประเทศไทย
  • สถานีเมืองไซ กำลังมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง เขตอุตสาหกรรม ท่าบก และศูนย์โลจิสติกส์ โดยสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว
  • สถานีหลวงพระบาง มีเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง เขตเศรษฐกิจพิเศษหลวงพระบางของกลุ่มพูสี และแหล่งท่องเที่ยวครบวงจร ในเมืองจอมเพ็ด ของบริษัทโอเซียโน
  • สถานีวังเวียง มีเมืองวังเวียง สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของลาว และโครงการพัฒนาเมืองใหม่วังเวียง บนพื้นที่ 7,000 เฮกตาร์ หรือ 43,750 ไร่ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำซอง ที่จะสร้างเป็นท่องเที่ยวทางธรรมชาติแบบยั่งยืน ของบริษัทพัฒนาเมืองใหม่วังเวียงลาว ในกลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง
  • สถานีโพนโฮง แม้ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศโครงการลงทุนใหม่ แต่ตรงนี้เป็นจุดเชื่อมต่อไปยังเขื่อนน้ำงึม เขื่อนผลิตไฟฟ้าแห่งแรกของลาว และอ่างเก็บน้ำของเขื่อนน้ำงึม ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของแขวงเวียงจันทน์ ที่กำลังมีการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบขนานใหญ่
  • สถานีนครหลวงเวียงจันทน์ จุดเชื่อมต่อกับโครงการท่าบก ท่านาแล้ง ชุมทางเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟลาว-จีน เข้ากับโครงข่ายทางรถไฟไทย และเส้นทางรถไฟลาว-เวียดนาม

  • 5 เมืองสำคัญตามแนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว: เมืองไซ หลวงพระบาง วังเวียง โพนโฮง และเวียงจันทน์

    ……

    ก่อนหน้าการเกิดขึ้นของระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว ซึ่งประกอบไปด้วยทางรถไฟและทางด่วน พื้นที่โดยรอบแนวก่อสร้าง ตั้งแต่นครหลวงเวียงจันทน์ขึ้นไปยังเมืองบ่อเต็น ส่วนใหญ่เป็นท้องนา และป่าเขา การเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะแม้มีถนนสาย 13 เหนือเป็นเส้นทางหลัก แต่ก็เป็นเพียงถนนลาดยาง กว้าง 2 เลน รถต้องแล่นสวนทางกัน อีกทั้งเส้นทางบนภูเขา ก็คดเคี้ยว อันตราย

    เมื่อระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว เริ่มปรากฏเป็นรูปเป็นร่าง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามรายทางระเบียงเศรษฐกิจสายนี้ มีนัยสำคัญ น่าติดตาม อย่างต่อเนื่อง…

  • ทางด่วน “ยูนนาน-เวียงจันทน์”
  • “ยูนนาน ไห่เฉิง” กลุ่มทุนจีน ที่โตไปกับเส้นทางคมนาคมในลาว
  • เดินหน้าระเบียงเศรษฐกิจ“จีน-เมียนมา” กรุยเส้นทางสั้นที่สุดสู่มหาสมุทรอินเดีย
  • Vientiane Smart City วิธีจัดการ “หนี้สิน-สัมปทาน” ที่น่าสนใจของลาว
  • โครงข่ายกลุ่ม“พงสะหวัน” กับก้าวย่างทางออกสู่ทะเลของลาว