ThaiPublica > สู่อาเซียน > “ยูนนาน ไห่เฉิง” กลุ่มทุนจีน ที่โตไปกับเส้นทางคมนาคมในลาว

“ยูนนาน ไห่เฉิง” กลุ่มทุนจีน ที่โตไปกับเส้นทางคมนาคมในลาว

15 กรกฎาคม 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

บัวคง นามมะวง(เสื้อแขนสั้นสีเทาเข้มยืนตรงกลาง) เจ้าแขวงบ่อแก้ว กับทีมงาน ขณะลงสำรวจพื้นที่ในเมืองห้วยทราย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ที่มาภาพ : เพจหนังสือพิมพ์บ่อแก้ว

ลาวกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเส้นทางคมนาคมภายในประเทศขนานใหญ่ กลุ่มทุนหลายกลุ่มสามารถสร้างโอกาสได้จากพัฒนาการของลาวช่วงนี้

แต่มิใช่มีเพียงทุนรับเหมาก่อสร้างเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ยังมีทุนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งกำลังขยายตัวอยู่เงียบๆ ตามแนวเส้นทางคมนาคมใหม่ๆ ที่กำลังเริ่มก่อสร้าง

30 มิถุนายน 2564 บัวคง นามมะวง เจ้าแขวงบ่อแก้ว ร่วมประชุมกับทีมวิศวกรของบริษัทลงทุนและก่อสร้างคมนาคมยูนนาน (Yunnan Communications Investment & Construction Group Co. Ltd. หรือ YCIC)

วันรุ่งขึ้น (1 ก.ค. 2564) เจ้าแขวงบ่อแก้วพร้อมทีมงาน YCIC และเจ้าหน้าที่แผนกโยธาธิการและขนส่งของแขวง ลงพื้นที่เมืองห้วยทราย ตรงข้ามอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลตามจุดต่างๆ วางแผนเตรียมเริ่มต้นก่อสร้างทางด่วนเส้นใหม่ เชื่อมระหว่างเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว กับเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา

ในอีกนัยหนึ่ง ทางด่วนสายนี้คือทางด่วนเชื่อมสามประเทศ ไทย–ลาว–จีน มีจุดเริ่มต้นจากชายแดนลาว–ไทย (ห้วยทราย–เชียงของ) ไปสิ้นสุดที่ชายแดนลาว–จีน (บ่อเต็น–บ่อหาน)

กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว เซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) ให้ YCIC เป็นผู้ศึกษาความเป็นได้ในการก่อสร้างทางด่วนสายห้วยทราย–บ่อเต็น ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2562 ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลจีน มีบริษัทจะเลิน แอสโซซิเอท หุ้นส่วน จำกัด เป็นที่ปรึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ทางด่วนห้วยทราย–บ่อเต็นสร้างเป็นถนนตัดตรง จึงต้องมีการสร้างสะพานยกระดับข้ามหุบเหว และเจาะอุโมงค์ทะลุภูเขา ระยะทางรวม 176.3 กิโลเมตร เป็นถนน 4 เลน ไป-กลับ ด้านละ 2 เลน กว้าง 21 เมตร มูลค่าการก่อสร้าง 24,126 ล้านหยวน หรือ 3,800 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.1 แสนล้านบาท

เมื่อเปิดใช้ ทางด่วนสายนี้จะช่วยร่นเวลาเดินทางจากเมืองห้วยทรายไปยังเมืองบ่อเต็น จากที่เคยต้องใช้ประมาณ 5 ชั่วโมง บนถนนสาย R3a เหลือเพียง 1 ชั่วโมงครึ่ง

แนวทางด่วน 3 ประเทศ“ห้วยทราย-บ่อเต็น”

วัตถุประสงค์ในการสร้างทางด่วนสายนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยให้กับการเดินทางและขนส่งสินค้าข้ามแดนระหว่าง 3 ประเทศ ไทย ลาว และจีน แทนเส้นทางสาย R3a ที่เป็นถนน 2 เลนสวนกัน ลัดเลาะไปตามเทือกเขา ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางนานมากจากเมืองห้วยทรายไปยังบ่อเต็น

ถนน R3a ยาว 228 กิโลเมตร เปิดใช้งานมาตั้งแต่ต้นปี 2551 เป็นเส้นทางเก่าที่ใช้มาแล้วกว่า 10 ปี หลายช่วงมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ทำให้ต้องมีการซ่อมบำรุงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านเหมืองถ่านหินที่เมืองเวียงพูคา และยังเป็นถนนที่อันตรายสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นชินเส้นทาง มักเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อย เป็นอุปสรรคต่อการค้าขายและการเดินทางข้าม 3 ประเทศ

เดิมถนน R3a ถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางที่จีนเรียกว่า “คุนมั่น–กงลู่” หรือ “ทางด่วนคุนหมิง–กรุงเทพ” ระยะทางรวมประมาณ 1,880 กิโลเมตร

ในฝั่งจีนได้มีการสร้างทางด่วนตัดตรงจากเมืองคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน ผ่านเมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา ลงมาถึงชายแดนจีน-ลาว ที่เมืองบ่อหาน ตรงข้ามเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา เสร็จเรียบร้อยมากว่า 10 ปีแล้ว

แต่เมื่อถนน R3a เปิดใช้งาน การเดินทางจากชายแดนจีนมายังชายแดนไทยกลับไม่ได้ด่วนจริง หลังเปิดใช้ได้ไม่กี่ปี จีนจึงคิดจะตัดถนนเส้นใหม่ สร้างเป็นทางด่วนตัดตรงเพื่อเชื่อมชายแดนข้าม 3 ประเทศ ซึ่งก็คือทางด่วน “ห้วยทราย–บ่อเต็น” เส้นนี้

ขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดกำหนดการก่อสร้างว่าจะเริ่มต้นและสร้างเสร็จเมื่อใด แต่หากเปรียบเทียบกับทางด่วนสายเวียงจันทน์–วังเวียง และทางรถไฟลาว–จีนแล้ว ทางด่วนห้วยทราย–บ่อเต็น คงใช้เวลาก่อสร้างไม่นานนัก อีกไม่กี่ปีก็น่าจะเปิดใช้งานได้

เมื่อถึงตอนนั้น การเดินทางจากไทยไปจีนทางบกก็จะมีทางเลือกเพิ่มขึ้นมาอีกเส้นทางหนึ่ง เพราะหลังจากข้ามแม่น้ำโขงที่สะพานมิตรภาพ 4 จากอำเภอเชียงของไปยังฝั่งลาวแล้ว สามารถใช้ทางด่วนจากเมืองห้วยทราย วิ่งผ่านลาว ไปยังเมืองเชียงรุ่งและคุนหมิงของจีนได้เลย

ข้อมูลทางด่วนห้วยทราย-บ่อเต็น ที่วิศกรของ YCIC นำเสนอในที่ประชุมร่วมกับเจ้าแขวงบ่อแก้ว ที่มาภาพ : เพจหนังสือพิมพ์บ่อแก้ว

ทางด่วนห้วยทราย–บ่อเต็น นอกจากช่วยเติมเต็มโครงข่ายคมนาคมด้วยเส้นทางพิเศษในลาวให้มีความสมบูรณ์ขึ้นแล้ว ยังช่วยขับบทบาทของกลุ่มทุนจีนกลุ่มหนึ่งให้โดดเด่นขึ้นด้วย ได้แก่ กลุ่ม “ยูนนาน ไห่เฉิง” (Yunnan Hai Cheng Group) ซึ่งมีโจ คุน นักธุรกิจหนุ่มชาวสิบสองปันนา เป็นประธาน

เรื่องของโจ คุน และกลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง เคยถูกเขียนถึงไว้แล้วบางส่วนแล้วในเรื่อง ทางด่วน “ยูนนาน-เวียงจันทน์” เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 แต่เนื้อหาครั้งนั้นให้น้ำหนักกับธุรกิจที่แวดล้อมทางด่วนโดยภาพกว้าง ไม่ได้ลงในรายละเอียดเฉพาะแต่ละกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลังเริ่มสร้างทางด่วนห้วยทราย-บ่อเต็น ชื่อโจ คุน และกลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง น่าจะถูกกล่าวถึงมากขึ้น จึงขอนำรายละเอียดของทุนจีนกลุ่มนี้มาเสนอเพิ่มเติมไว้ก่อน…

โจ คุน เป็นนักธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เก็บตัวมากๆ แม้แต่ละโครงการที่เขาทำจะมีขนาดใหญ่ แต่เมื่อค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับตัวเขา พบว่าโจ คุน แทบไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงใดๆ กับสื่อ ภาพของเขาหาไม่ได้ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

10 ปีมานี้ พบว่า โจ คุน เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อเพียงครั้งเดียวเมื่อเดือนมกราคม 2554 กับสำนักข่าว S.H.A.N. เมื่อครั้งที่เขากำลังเตรียมการสร้างพิพิธภัณฑ์ขุนส่าขึ้นในเมืองเชียงรุ่ง และดูเหมือนว่าไม่ใช่การให้สัมภาษณ์โดยตรงอีกด้วย

วันที่ 5 เมษายน 2555 โจ คุน เคยปรากฏตัวต่อหน้าสื่อที่นครหลวงเวียงจันทน์ ในพิธีเซ็นสัญญารับช่วงสัมปทานเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนคำ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม) เขาเป็นผู้ลงนามในฐานะประธานบริษัท Yunnan Hai Cheng Industrial Group Stock ร่วมกับบุนเพ็ง มูนโพไซ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองประธานคณะกรรมการควบคุมเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งชาติของลาว ขณะนั้น แต่ไม่สามารถค้นหาภาพพิธีเซ็นสัญญาในวันนั้นได้

นักการเงินที่ทำงานอยู่ในธนาคารใหญ่ของจีนผู้หนึ่งเล่าว่า โจ คุน สนใจศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ 10 กว่าปีมานี้ เขาสามารถนำความหลากหลายของชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ที่มีอยู่บนภาคพื้นทวีปของภูมิภาคนี้ มาเป็นคอนเซปต์ สร้างจุดขายให้กับโครงการของเขาได้เป็นอย่างดี…

เดือนมกราคม 2554 เมื่อครั้งที่โจ คุน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว S.H.A.N. เขาเพิ่งมีอายุ 35 ปี สำนักข่าว S.H.A.N. พาดหัวข่าวโดยเรียกเขาว่า “Chinese Tycoon” ในเนื้อข่าวเขียนว่า โจ คุน กำลังทุ่มเงินนับล้าน (ไม่ระบุสกุล) เพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์ขุนส่าขึ้นในเมืองเชียงรุ่ง เมืองเอกของสิบสองปันนา

สำหรับคนไทย ทัศนคติที่มีต่อขุนส่าคือราชายาเสพติด แต่สำหรับชาวไทใหญ่ในรัฐฉาน ขุนส่าเป็น “วีรบุรุษกู้ชาติ” ในฐานะผู้นำกองทัพเมืองไต (Mong Tai Army หรือ MTA) ที่ต่อสู้มาตลอดทั้งชีวิตเพื่อให้รัฐฉานและชาวไทใหญ่ได้เป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับพม่า

จุดนี้เป็นแรงบันดาลใจให้โจ คุน อยากสร้างพิพิธภัณฑ์ขุนส่าขึ้นในโครงการของเขา ที่ตั้งอยู่บนที่ดินขนาด 200 เอเคอร์ หรือประมาณ 500 ไร่ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเชียงรุ่ง

หากดูแค่บทสัมภาษณ์นี้เพียงอย่างเดียว อาจทำให้เข้าใจไปว่าโจ คุน ให้ความสำคัญกับขุนส่าเป็นพิเศษ… แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ต้นปี 2554 เป็นช่วงที่กลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง กำลังเปิดตัวโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่มาก บนที่ดินขนาด 600 ไร่ ริมแม่น้ำหลานซางหรือแม่น้ำโขง ทางทิศตะวันออกของเมืองเชียงรุ่ง ใช้ชื่อว่าโครงการ “9 จอม 12 เจียง” ใช้เงินลงทุนถึง 200,000 ล้านหยวน หรือ 940,000 ล้านบาท (ตามค่าเงินขณะนั้น)

“9 จอม 12 เจียง” เป็นการรวมจุดเด่นทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์หลักๆ บนดินแดนสุวรรณภูมิไว้ในพื้นที่เดียวกัน คำว่า 9 จอม หมายถึงเจดีย์ 9 แห่ง ส่วน 12 เจียง คือเมืองสำคัญ 12 แห่ง ที่ถูกจำลองไว้ในโครงการนี้

เอกสารส่งเสริมการขายของกลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง ที่จัดพิมพ์ทั้งภาษาจีนและภาษาไทย บอกรายละเอียดโครงการ “9 จอม 12 เจียง” ไว้ว่า “เป็นอัญมณีแห่งสามเหลี่ยมทองคำใหญ่ แหล่งรวม 1 แม่น้ำ 2 ประตู 9 เจดีย์ (จอม) และ 12 หมู่บ้าน (เจียง) ผสมผสานวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทลื้อ และประเทศไทย กับวิถีสมัยใหม่เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว เมืองแห่งธุรกิจนานาชาติ เมืองแห่งชีวิตไทยและไทลื้อ”

โมเดลโครงการ “9 จอม 12 เจียง” ระหว่างเปิดตัวที่เมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา
โมเดลโครงการ “9 จอม 12 เจียง”

ภายในโครงการจะเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมเจดีย์ พิพิธภัณฑ์สามเหลี่ยมทองคำ พิพิธภัณฑ์คัมภีร์ใบลาน ตลอดจนอาคารบ้านเรือนแบบไทลื้อ 300 กว่าหลัง ที่แสดงถึงลักษณะพิเศษของสิ่งก่อสร้างจากประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง เช่น แบบบ้านไทย บ้านลาว วัฒนธรรมไทลื้อ วัฒนธรรมสามเหลี่ยมทองคำ รวมถึงคุ้มขันโตกในบรรยากาศแบบล้านนา ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์หัตถกรรมและเครื่องเรือนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใหญ่ที่สุดในจีน มีศูนย์การค้าที่ขายสินค้าหัตถกรรมแห่งแรกในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน เป็นแหล่งรวมผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลัก เครื่องเขิน เครื่องเงินจากประเทศไทย เครื่องเรือนไม้แกะสลัก เครื่องเงิน สิ่งทอ จากลาว งานฝีมือเครื่องเงิน สิ่งทอ หินแกะสลักจากกัมพูชา เป็นต้น

ก่อนหน้าเปิดตัวโครงการนี้ ในปี 2553 กลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง ได้ส่งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เดินทางมาในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของไทย เพื่อติดต่อแหล่งผลิตงานหัตถกรรมต่างๆ ให้ขึ้นไปเปิดร้านในโครงการ “9 จอม 12 เจียง”

โมเดลโครงการ “9 จอม 12 เจียง”
โมเดลโครงการ “9 จอม 12 เจียง”

แหล่งผลิตงานฝีมือที่ตกลงไปเปิดร้านแน่นอนแล้วช่วงนั้น ประกอบด้วย ร้านแกะสลักไม้ บ้านถวาย อำเภอหางดง ร้านผลิตร่มจากระดาษสา บ้านบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง ร้านผลิตเครื่องเงิน ย่านวัวลาย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ชมรมมวยไทยและค่ายมวยไทย จากจังหวัดแพร่

กลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง ยังได้เซ็น MOU กับวัชระ ตันตรานนท์ ประธานกลุ่มวี กรุ๊ป คอนสตรัคชั่น กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของเชียงใหม่ เพื่อนำร้าน “คุ้มขันโตก” ขึ้นไปเปิดสาขา ในโครงการ “9 จอม 12 เจียง” อีกด้วย…

ปี 2554 กลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง ได้ลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท เข้ามาถือหุ้น 49% ในโรงแรมดาราเทวี จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีชื่อ โจ คุน เป็น 1 ในคณะกรรมของโรงแรมดาราเทวี

ดาราเทวีเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนก่อสร้างสูงถึง 3,000 ล้านบาท มีรูปแบบที่เข้ากับคอนเซปต์การลงทุนของกลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง เพราะมีการจำลองสถานที่สำคัญในประวัติศาสต์ตามแหล่งต่างๆ มารวมไว้ภายในพื้นที่ของโรงแรม

อย่างไรก็ตาม ต่อมากลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง พยายามเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเพื่อให้ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีอำนาจบริหารงานอย่างเต็มตัว แต่ไม่สามารถตกลงกับกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมได้ ถึงขั้นมีการฟ้องร้องระหว่างกัน ในที่สุดกลุ่มยูนนาน ไห่เฉิงก็ได้ถอนตัว

ถนนทางที่จีนสร้างจากเมืองคุนหมิง ผ่านเชียงรุ่ง ลงมายังชายแดนลาว-จีน ที่บ่อหาน(ตรงข้ามบ่อเต็น) รอไว้แล้วตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน

ปี 2538 ลาวต้องการสร้างถนนเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างแขวงหลวงน้ำทากับแขวงบ่อแก้ว เป็นที่มาให้เกิดถนนสาย R3a ต่อมาได้เพิ่มศักยภาพการใช้งานของถนนสายนี้เป็นการเชื่อมชายแดน 3 ประเทศ จากชายแดนลาว-จีน ที่เมืองบ่อเต็น ลงมายังชายแดนลาว-ไทย ที่เมืองห้วยทราย

ถนน R3a เริ่มต้นก่อสร้างอย่างจริงจังในปี 2545 สร้างเสร็จและเปิดใช้งานในปี 2551

เพื่อให้ถนนสายนี้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับลาว รัฐบาลลาวจึงอยากให้มีแม่เหล็กดูดการลงทุนเข้าไปยังพื้นที่ห่างไกล ที่ชายแดนในเมืองบ่อเต็น

ดำรัสของนายกรัฐมนตรีเรื่องการพัฒนาเขตการค้าชายแดน ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2545 ทำให้เกิดโครงการ “เขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนคำ” ขึ้น

วันที่ 9 ธันวาคม 2546 รัฐบาลลาวได้เซ็นสัญญาให้สัมปทานแก่บริษัท ฟุกฮิง ทราเวล เอนเตอร์เทนเมนต์ จากฮ่องกง ได้พัฒนาพื้นที่ 1,640 เฮกตาร์ หรือ 10,250 ไร่ ริมถนนสาย R3a ห่างจากชายแดนลาว-จีน ประมาณ 8 กิโลเมตร ในเมืองบ่อเต็น สร้างเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนคำขึ้นเป็นเมืองใหม่ สัมปทานมีอายุ 30 ปี ต่อได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 30 ปี ในนั้นกำหนดกิจกรรมธุรกิจไว้ 12 ประเภท 1 ในนั้นคือกิจการคาสิโน

เขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนคำเปิดดำเนินการในปี 2550 ก่อนเปิดใช้งานถนน R3a อย่างเป็นทางการ 1 ปี แต่เปิดได้ไม่นานก็เกิดปัญหาขึ้นในคาสิโน เป็นปัญหาที่รัฐบาลลาวเรียกเป็น “ประเด็นทางด้านความปลอดภัย”

รัฐบาลลาวต้องปรับเนื้อหาในสัมปทานฉบับแรกที่ให้กับกลุ่มฟุกฮิง ทราเวล ใหม่ ตัดกิจการคาสิโนออกจากโครงการ

การปรับปรุงสัมปทานส่งผลให้ต้องเปลี่ยนตัวผู้รับสัมปทาน กลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง ได้มารับช่วงสัมปทานต่อจากฟุกฮิง ทราเวล

ภายในเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม ซึ่งเพจ “คนเดินทาง WalkerTrail” ได้เข้าไปบันทึกและเผยแพร่เมื่อปลายเดือนกันยายน 2563

วันพุธที่ 5 เมษายน 2555 รัฐบาลลาวจัดพิธีเซ็นสัญญาสัมปทานโครงการบ่อเต็นแดนคำ ที่ได้ปรับเนื้อหาใหม่กับบริษัท Yunnan Hai Cheng Industrial Group Stock

พิธีเซ็นสัญญาจัดที่นครหลวงเวียงจันทน์ ระหว่างบุนเพ็ง มูนโพไซ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองประธานคณะกรรมการควบคุมเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งชาติ กับโจ คุน ประธานบริษัท Yunnan Hai Cheng Industrial Group Stock และ หว่อง มั่น เฉิน ประธานบริษัทฟุกฮิง ทราเวล มีสมสะหวาด เล่งสะหวัด ผู้ประจำการรัฐบาลและรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการควบคุมเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งชาติ ร่วมในพิธีด้วย

วันเดียวกัน ยังมีการเซ็นสัญญาอีกฉบับ ระหว่างโจ คุน กับทัดสะกอน ทำมะวง ประธานบริษัท TK Support ให้ TK Support เข้าไปวางระบบไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหมดในเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนคำภายใต้เจ้าของสัมปทานคนใหม่

หลังได้รับช่วงสัมปทานมาแล้ว กลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง ได้ตั้งบริษัทพัฒนาเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นลาวขึ้นเพื่อดำเนินการเขตเศรษฐกิจเฉพาะแห่งนี้ ปรับรูปแบบกิจกรรมภายในจากที่เป็นคาสิโนและศูนย์บันเทิงครบวงจร มาเป็นศูนย์การค้าและแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมครบวงจร พร้อมเปลี่ยนชื่อโครงการจากเขตเศรษฐกิจเฉพาะ “บ่อเต็นแดนคำ” เป็นเขตเศรษฐกิจเฉพาะ “บ่อเต็นแดนงาม”

ภายในเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม

มีการขยายพื้นที่โครงการขึ้นเป็น 34.2 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 21,375 ไร่ ใช้เวลาพัฒนาให้เสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการ 10-15 ปี ด้วยเงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านหยวน

บริษัทพัฒนาเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นลาว คาดว่าจะสามารถดึงนักลงทุนจำนวนมากเข้ามาในพื้นที่ และจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม ไม่ต่ำกว่าปีละ 5 หมื่นคน หลังโครงการเสร็จสมบูรณ์

ปัจจุบัน การก่อสร้างต่างๆ ในเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม คืบหน้าไปแล้วหลายส่วน

กลางปี 2562 กองบัญชาการป้องกันความสงบ เขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม เปิดเผยสถิติประชากรที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจเฉพาะแห่งนี้ว่ามีทั้งสิ้น 4,013 คน เป็นผู้หญิง 1,011 คนในจำนวนนี้เป็น

    – ชาวจีน 2,981 คน แบ่งเป็นหญิง 357 คน
    – คนลาว 867 คน เป็นหญิง 586 คน
    – คนเวียดนาม 94 คน เป็นหญิง 62 คน
    – คนไทย 64 คน เป็นหญิง 6 คน
    – ชาวเกาหลีเหนือ 7 คน

มีบริษัทขนาดใหญ่เข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจเฉพาะฯ แล้ว 8 บริษัท และมีบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดเล็กเข้าไปลงทุนแล้ว 52 บริษัท

วันที่ 18 สิงหาคม 2560 บัวสะหวาด อินทะวัน หัวหน้าแผนกแผนการและการลงทุน แขวงบ่อแก้ว ได้มอบสัมปทานพัฒนาพื้นที่ 13.8 เฮกตาร์ หรือ 86.25 ไร่ บริเวณเชิงสะพานมิตรภาพ 4 เมืองห้วยทราย ให้บริษัทพัฒนาเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นลาว สร้างเป็นศูนย์การค้าและการท่องเที่ยวสากล (ไชน่าทาวน์) อายุสัมปทาน 50 ปี มี ลาน จาเวีย รองประธานบริษัทฯเป็นผู้รับมอบ คำกิ่ง เอือยมะนีรัก รองเจ้าแขวงบ่อแก้ว เป็นสักขีพยาน

บริษัทพัฒนาเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นลาว จะสร้างศูนย์การค้า คลังสินค้า ร้านค้าปลอดภาษี ศูนย์จำหน่ายสินค้านำเข้า-ส่งออก ท่าเรือ สถานีรถโดยสารระหว่างประเทศ โรงแรม ร้านอาหาร จุดชมวิว สวนสาธารณะฯลฯบนที่ดินผืนนี้ วงเงินลงทุนรวม 100 ล้านดอลลาร์ แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ

การรายงานความคืบหน้าโครงการไชน่าทาวน์ ที่ห้วยทราย เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ที่มาภาพ : เพจหนังสือพิมพ์บ่อแก้ว

12 พฤศจิกายน 2562 บริษัทพัฒนาเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นลาว รายงานความคืบหน้าของโครงการไชน่าทาวน์ แก่พลจัตวา มะลิสาน แสงจันทา รองเลขาพรรคแขวง หัวหน้าการเมือง กองบัญชาการทหารแขวงบ่อแก้ว

การก่อสร้างระยะที่ 1 เริ่มในเดือนมกราคม 2562 ได้สร้างอาคารพาณิชย์สูง 17 ชั้น 2 อาคาร งบประมาณรวม 40 ล้านดอลลาร์ เสร็จสมบูรณ์ในเดือนกันยายน 2563 นอกจากนี้ ยังได้สร้างโรงแรม 5 ดาว อาคารสำนักงาน อพาร์ตเมนต์ ร้านอาหาร รวมถึงโรงแรมริมแม่น้ำโขง

เขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม เมื่อครั้งนำสื่อมวลชนลาวเข้าชมการก่อสร้างเมื่อเดือนเมษายน 2562

ส่วนระยะที่ 2 มีศูนย์การค้าปลอดภาษี สถานบันเทิง ท่าเรือท่องเที่ยว และสถานีขนส่งรถโดยสาร จะสร้างเป็นลำดับถัดไป

ทั้งถนนสาย R3a ที่เปิดใช้งานแล้ว และทางด่วนสายห้วยทราย-บ่อเต็น ที่กำลังจะสร้าง เป็นเส้นทางที่เชื่อมชายแดน 3 ประเทศ ไทย ลาว และจีน กลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง โดยบริษัทพัฒนาเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นลาว ได้ปักหมุดโครงการพัฒนาเอาไว้ ทั้งที่ต้นทางและปลายทางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แต่กลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง ไม่ได้วางโครงการไว้บนเส้นทางสายนี้เพียงเส้นเดียว…

วันที่ 4 มิถุนายน 2561 เจ้าแขวงเวียงจันทน์ มีหนังสือฉบับที่ 506/จข,วจ อนุญาตให้บริษัทพัฒนาเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นลาว สำรวจความเป็นไปได้ที่จะนำที่ดิน 7,000 เฮกตาร์ หรือ 43,750 ไร่ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำซอง บริเวณบ้านห้วยสะเหง้า บ้านพูดินแดง และบ้านปากเปาะ เมืองวังเวียง มาพัฒนาเป็นเขตท่องเที่ยวทางธรรมชาติแบบยั่งยืน รองรับการเติบโตของวังเวียง ซึ่งกำลังจะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวหลักของลาว เมื่อทางด่วนสายเวียงจันทน์–วังเวียง และทางรถไฟลาว–จีน กำลังจะเปิดให้บริการ

ที่ดิน 43,750 ไร่ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำซอง ที่วังเวียง ซึ่งกลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง เตรียมพัฒนาเป็นเขตท่องเที่ยวทางธรรมชาติแบบยั่งยืน ที่มาภาพ : สำนักข่าวสารประเทศลาว

วันที่ 9 สิงหาคม ปีเดียวกัน แขวงเวียงจันทน์มอบสัมปทานให้บริษัทพัฒนาเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นลาว เข้าพัฒนาที่ดินแปลงนี้ ในนามบริษัทพัฒนาเมืองใหม่วังเวียงลาว

พื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำซอง มีประชากรอาศัยอยู่ 22 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่า ตามแผนที่บริษัทพัฒนาเมืองใหม่วังเวียงลาววางไว้ จะปรับปรุงบ้านเรือนประชาชนตามเอกลักษณ์ของแต่ละเผ่า เพื่ออนุรักษ์วิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมไว้ และเปิดเป็นโฮมสเตย์ให้บริการแก่นักท่องเที่ยว โดยไม่มีการโยกย้ายประชากรออกจากพื้นที่

โครงการนี้ใช้เงินลงทุน 5,300 ล้านดอลลาร์ แบ่งช่วงการพัฒนาเป็น 5 ระยะ ภายในกำหนด 29 ปี

วันที่ 8 ตุลาคม 2563 ถัง ซินซวน ประธานบริษัทพัฒนาเมืองใหม่วังเวียงลาว ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวสารประเทศลาวถึงความคืบหน้าของโครงการ หลังได้ลงสำรวจพื้นที่มาแล้ว 2 ปี ว่ากำลังเริ่มต้นก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน จากนั้นจะสร้างสวนสนุก ร้านค้าปลอดภาษี โดยตั้งเป้าหมายว่าเมื่อเสร็จแล้ว จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาวังเวียงได้ปีละ 9 ล้านคน สร้างงานแก่ชาววังเวียงได้มากถึง 27,800 ตำแหน่ง

หลังสิ้นสุดการระบาดของโควิด-19 และลาวเปิดประเทศให้เข้าไปเดินทางได้อีกครั้ง คงมีโอกาสได้เข้าไปดูความคืบหน้าของโครงการเหล่านี้