ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯไม่ตอบประเด็น “ทักษิณ” ประกาศกลับไทย – มติ ครม.ชง กกต.เคาะงบฯลดค่าไฟ 10,464 ล้าน

นายกฯไม่ตอบประเด็น “ทักษิณ” ประกาศกลับไทย – มติ ครม.ชง กกต.เคาะงบฯลดค่าไฟ 10,464 ล้าน

2 พฤษภาคม 2023


เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังการประชุม ครม. ณ ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯไม่ตอบประเด็น “ทักษิณ” ประกาศกลับไทย
  • ยันฐานะการคลังแข็งแกร่ง ต่างชาติให้ BBB+
  • ส่งเสริม Soft Power กีฬา “มวยไทย” หาเงินเข้าประเทศ
  • ขอ กกต.จัด “เอเชี่ยนอินดอร์-มาร์เชียลอาร์ต” เกมส์
  • มติ ครม.ชง กกต.เคาะงบฯ ลดค่าไฟ 10,464 ล้าน
  • รับรอง “ติมอร์ – เลสเต” เป็นสมาชิกอาเซียน
  • แก้ กม.หนุนส่งออกเมล็ดกาแฟคั่ว
  • ตั้ง “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” เป็นผู้ว่าฯ กฟผ.คนใหม่
  • เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน รวมทั้งมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    ยันฐานะการคลังแข็งแกร่ง ต่างชาติให้ BBB+

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยว่า หน่วยงานต่างประเทศได้ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจว่า ประเทศไทยยังมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งอยู่ในเกณฑ์ BBB+ คือ มีเสถียรภาพและยังมีความแข็งแกร่ง ทุกอย่างดีหมด ทำให้สถานการณ์การเงินการคลังของประเทศได้รับความเชื่อถือจากต่างประเทศ ส่วนเศรษฐกิจภายในทั้งการส่งออกและนำเข้า ก็ได้เปรียบดุลการค้า

    “แต่สิ่งสำคัญที่รัฐบาลกังวลคือทำยังไงให้สิ่งต่างๆ ลงไปถึงข้างล่างให้มากและเร็วที่สุด สิ่งที่เราได้มาจากช่วงนี้คือรายได้จากการท่องเที่ยว จะเห็นว่าทั้งเมืองหลักและรองมีคนมาเที่ยวมากขึ้น มีรายว่าเดือนนี้จะมีกรุ๊ปทัวร์จากหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนจะมามากขึ้น ขอให้ทุกจังงหวัด ทุกพื้นที่ ไม่ว่าโรงแรม ที่พัก สถานประกอบการ ร้านอาหารต่างๆ กรุณาดูแลคุณภาพและความสะอาดด้วย ข้อสำคัญคือการดูแลนักท่องเที่ยวให้ปลอดภัย จากอุบัติภัยต่างๆ ทั้งหมดทั้งปวง” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    รับทราบสถานการณ์ PM2.5 ดีขึ้น แต่ห่วงพายุฤดูร้อน

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ตนได้รับรายงานสถานการณ์อากาศทุกสัปดาห์ โดยรวมสถานการณ์ดีขึ้นมาก ท้องฟ้าแจ่มใสขึ้น ฝุ่นละอองและ PM2.5 ลดลงมาระดับปกติ และจุดความร้อนก็ลดลงจำนวนมาก รวมถึงจุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้านก็ลดลง เพราะมาตรการของรัฐ ความร่วมมือของประชาชน เกษตรกร อีกทั้งสถานการณ์ที่ดีขึ้นยังมาจากการทำฝนหลวง ขอให้รักษาสภาพนี้ไว้เรื่อย ๆ

    อย่างไรก็ตาม พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลกังวลกับข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาที่มีการเตือนเรื่องพายุฤดูร้อน ทำมีโอกาสเจอลมกรรโชกแรง

    “เป็นห่วงเรื่องสายไฟ เสาไฟฟ้าต่าง ๆ หรือสถานที่ที่ไม่ค่อยแข็งแรง หลังคา ก็ช่วยๆ กันตรวจสอบดูแลไว้ล่วงหน้าด้วยแล้วกัน โดยเฉพาะประมงพื้นบ้าน กรุณารับฟังสถานการณ์ที่เขาแถลงมาแล้ว ว่าจะมีประโยชน์อะไร เมื่อไร อย่างไร บริเวณไหน ก็ตามต้องระวังอย่างที่สุด วันนี้สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือความปลอดภัยของประชาชนในทุกมิติ” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    เคาะงบกลางลดค่าไฟรอบอีกรอบ

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ครม.ได้พิจารณา และเห็นชอบเรื่องการขอใช้งบกลางช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางเรื่องค่าไฟฟ้าจำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท และจะส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเชื่อว่าจะดำเนินการเร็ว และขอทำให้ถูกต้องตามขั้นตอนเพื่อให้ตรงกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 แต่เท่าที่รับทราบมาว่า อะไรที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน ก็ไม่น่าจะมีปัญหา

    เมื่อถามว่าจะทันในรอบบิลเดือนพฤษภาคมนี้หรือไม่ พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “เดี๋ยวรอนิดนึง แต่จะเร็วที่สุด คาดการณ์ว่าเดือนหน้า สถานการณ์ต่าง ๆจะเริ่มดีขึ้น การใช้ไฟก็ลดลง ราคาค่าแก๊สและน้ำมัน อาจจะลดลงบ้าง แต่ก็มีผลต่อในช่วงต่อไป มันเป็นการชดเชยกันไป กันมาตรงนี้”

    ไม่ตอบประเด็น “ทักษิณ” ประกาศกลับไทย

    นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ ถามผู้สื่อข่าวว่า “มี (คำถาม) อะไรอีกไหม ไม่มีนะจ๊ะ โอเคนะจ๊ะ”
    ผู้สื่อข่าวจึงถามว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศว่าจะกลับประเทศไทย มีความเห็นอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ ยิ้ม ไม่ได้ตอบคำถามนี้ จากนั้นก็เดินออกจากโพเดียมขึ้นห้องทำงาน

    ขอบคุณทุกหน่วยงานพาคนไทยในซูดานกลับบ้าน

    นายอนุชา รายงานข้อสั่งการว่า นายกรัฐมนตรี ขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กองทัพ และหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมมือกันอพยพคนไทยจากเหตุการณ์ความไม่สงบในสาธารณรัฐซูดาน โดยตอนนี้ประชาชนชาวไทยเดินทางถึงประเทศไทยด้วยความเรียบร้อย และนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงนักศึกษาไทยที่ซูดานให้ใช้โอกาสนี้ กลับมาเยี่ยมครอบครัวที่ประเทศไทย

    “หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลังจากเกิดความสงบแล้ว ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ แต่ทั้งนี้ยังต้องเฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้ให้คำแนะนำในรายละเอียดเพิ่มเติม” นายอนุชา กล่าว

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ใช้โอกาสนี้เป็นตัวอย่างการดำเนินงานในครั้งต่อไปหากเกิดความไม่สงบในประเทศต่างๆ โดยประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเตรียมความพร้อมและประสานงาน เพื่อเคลื่อนย้ายประชาชนชาวไทยออกจากด้วยความเรียบร้อยและประสบความสำเร็จ

    ส่งเสริม Soft Power กีฬา “มวยไทย” หาเงินเข้าประเทศ

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการดำเนินงานด้านการส่งเสริม Soft Power ด้านกีฬามวยไทย และจะสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมดังกล่าว ทั้งการป้องกันตัวและออกกำลังกาย โดยที่ประชุมมีการพูดถึงว่าต้องพูดถึงเชิงพาณิชย์ที่จะนำรายได้เข้าประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ชุดมวยไทย นวม และอุปกรณ์ต่างๆ

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีคณะกรรมการชุดหนึ่งที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานร่วมกับภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการประกวดมวยไทยระดับชาติในอนาคต และจัดเทศกาลต่างๆ เหมือนกับเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ที่ฝรั่งเศส

    นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี พูดถึงการนำหลักสูตรการสอนมวยไทย หรือ การฝึกฝนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในโรงเรียน โดยจะนำเข้ามาให้กระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาเพื่อเป็นหลักสูตรหรือมาตรฐาน เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ประเทศ

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ประสานกับหน่วยงานและประชุมหารือให้ทุกสมาคมและทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องพูดคุยกัน ทำงานร่วมกันด้วยความสามัคคี หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

    ชง กกต.ของบฯจัด “เอเชี่ยนอินดอร์-มาร์เชียลอาร์ต” เกมส์

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ครม. ได้เห็นชอบการจัดกีฬาเอเชี่ยนอินดอร์ และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 และต้องดำเนินการผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร่งด่วน เพื่อสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย แต่ทั้งนี้เรื่องงบประมาณเป็นช่วงเลือกตั้ง ส่วนงบฯที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการนำเข้า ครม. เพื่อขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาอนุมัติงบประมาณต่อไป

    มติ ครม. มีดังนี้

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    ชง กกต.เคาะงบฯ ลดค่าไฟ 10,464 ล้าน

    นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 งบกลางวงเงิน 10,464 ล้านบาท สำหรับดำเนินมาตรการในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ถึงเดือนสิงหาคม 2566 เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงาน โดยให้ส่วนลดไฟฟ้าแบบขั้นบันไดแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนและส่วนลดค่าไฟฟ้าสำหรับงวดเดือนพฤษภาคม 2566 จำนวน 150 บาทต่อรายซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยแบ่งสัดส่วนการขอจัดสรรงบประมาณสำหรับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือจำนวน 35.70 ล้านบาท และการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 10,428.30 ล้านบาท

    ทั้งนี้ 2 มาตรการที่กระทรวงพลังงานนำเสนอเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169(3) ที่กำหนดให้ ไม่ให้กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนรวมทั้งเป็นไปเพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศและช่วยบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน

    แผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่ขอรับจัดสรร ดังนี้

    1. มาตรการต่อเนื่องของกระทรวงพลังงาน ที่ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงาน ที่ดำเนินการอยู่ในช่วงมกราคม – เมษายน 2566 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวงการไฟฟ้าส่วนภูมิภาครวมทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ โดยเป็นมาตรการช่วยเหลือในส่วนของการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแบบขั้นบันได เป็นเวลา 4 เดือนสำหรับค่าไฟฟ้าประจำเดือนพฤษภาคม -สิงหาคม 2566 โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มวงเงิน 6,954 ล้านบาทโดยมีรายละเอียด ดังนี้
    ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย (ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) รอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 อยู่ที่ 91.19 สตางค์ต่อหน่วย)

    • ใช้ไฟฟ้า 1- 150 หน่วย ส่วนลดค่าไฟฟ้า 89.80 สตางค์ต่อหน่วย ผลต่างค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) เรียกเก็บและส่วนลด 1.39 สตางค์ต่อหน่วย
    • ใช้ไฟฟ้า 151-300 หน่วย ส่วนลดค่าไฟฟ้า 64.80 สตางค์ต่อหน่วย ผลต่างค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) เรียกเก็บและส่วนลด 26.39 สตางค์ต่อหน่วย
    • ใช้ไฟฟ้า 301 หน่วยขึ้นไป ผลต่างค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) เรียกเก็บและส่วนลด 91.19 สตางค์ต่อหน่วย

    งบประมาณที่ใช้สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ 6,954 ล้านบาท (1,738.50 ล้านบาทต่อเดือน) ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับประโยชน์ 18.32 ล้านราย เท่ากับร้อยละ 78.42 ของบ้านอยู่อาศัยทั้งหมด

    2. มาตรการช่วยเหลือประชาชนระยะเร่งด่วน ในส่วนของค่าไฟฟ้า
    สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ โดยเป็นการลดค่าไฟฟ้าในรอบบิลเดือนพฤษภาคม 2566 จำนวน 150 บาทต่อราย จำนวนประมาณ 23.40 ล้านราย ใช้วงเงินงบประมาณรวมในกรอบไม่เกิน 3,510 ล้านบาท โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

    ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี จะได้นำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา ให้ความเห็นชอบการใช้งบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 169 (3) กำหนดต่อไป

    จี้หน่วยงานรัฐเร่งเบิกจ่ายงบฯปี’66

    นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2566 (ไตรมาสที่ 2) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 ดังนี้

    1. สรุปรายงานผลการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ไตรมาสที่ 2 ) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 เปรียบเทียบภาพรวมผลการเบิกจ่ายและผลการใช้จ่ายงบประมาณกับเป้าหมายตามมติคณะรัฐมนตรี วงเงินงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 3,185,000 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 1,691,979.4854 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 53.12 มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 1,888,135.8751 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 59.28 สูงกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ ร้อยละ 1.12 และ 3.04 ตามลำดับ

    • รายจ่ายประจำ วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 2,520,329.0991 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 1,459,291.1188 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 57.90 มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 1,472,082.1997 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 58.41 สูงกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณร้อยละ 2.90 และ 2.63 ตามลำดับ
    • รายจ่ายลงทุน วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 664,670.9009 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 232,688.3666 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35.01 มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 416,053.6754 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.60 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณร้อยละ 3.99 แต่สูงกว่าเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณร้อยละ 4.45

    อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบผลการเบิกจ่ายและผลการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ไตรมาส 2) กรณีไม่รวมงบกลาง วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 2,594,530.0000 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้วจำนวน 1,402,233.2017 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.05 ต่ำกว่าแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ร้อยละ 2.32 มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 1,597,942.0340 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 61.59 สูงกว่าแผนการใช้จ่ายงบประมาณร้อยละ 5.22

    สำหรับการรายงานผลการปฏิบัติงาน และผลการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำแนกตาม 6 ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณและหนึ่งรายการนั้น ประกอบด้วย

      (1) ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงงบประมาณจำนวน 292,593.6677 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้วจำนวน 113,707.2738 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 38.86 มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 138,131.8021 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 47.21 ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณร้อยละ 13.14 และ 9.03 ตามลำดับ
      (2) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน งบประมาณ จำนวน 397,239.2473 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้วจำนวน 224,875.0383 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 56.61 มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 307,019.4177 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 77.29 สูงกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณร้อยละ 4.61 และ 21.05 ตามลำดับ
      (3) ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์งบประมาณจำนวน 544,455.5039 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้วจำนวน 293,922.1291 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 53.98 มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 314,595.6006 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 57.78 สูงกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณร้อยละ 1.98 และ 1.54 ตามลำดับ
      (4) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม งบประมาณจำนวน 767,403.0444 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้วจำนวน 458,399.8739 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 59.73 มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 488,282.8702 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63.63 สูงกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณร้อยละ 7.73 และ 7.39 ตามลำดับ
      (5) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม งบประมาณจำนวน 122,605.9595 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้วจำนวน 49,582.9584 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40.44 มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 77,576.4104 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63.27 ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและสูงกว่าเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณร้อยละ 11.56 และ 7.03 ตามลำดับ
      (6) ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ งบประมาณจำนวน 658,184.6140 ล้านบาทมีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 343,358.9464 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 52.17 มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 353,980.3582 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 53.78 สูงกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและต่ำกว่าเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณร้อยละ 0.17 และ 2.46 ตามลำดับ

    สำหรับ รายการค่าดำเนินการภาครัฐงบประมาณจำนวน 402,517.9632 ล้านบาทมีผลการเบิกจ่ายแล้วจำนวน 208,133.2655 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 51.71 มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 208,549.4159 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 51.81 ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณร้อยละ 0.29 และ 4.43 ตามลำดับ

    2. รายการผูกพันใหม่ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่มีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 32 รายการ วงเงินจำนวนทั้งสิ้น 12,259.5483 ล้านบาท มีหน่วยรับงบประมาณรับผิดชอบจำนวน 14 หน่วยงานมี สถานภาพ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 ดังนี้

    • ลงนามในสัญญาแล้วจำนวน 7 รายการ
    • อยู่ระหว่างอนุมัติผลการจัดซื้อจัดจ้าง จำนวน 5 รายการ
    • ทราบผลการประกวดราคาแล้วจำนวน 5 รายการ
    • อยู่ระหว่างการทบทวนจัดซื้อจัดจ้างจำนวน 2 รายการ
    • ยังไม่เข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจำนวน 13 รายการ เนื่องจากเป็นรายการที่มีวงเงินสูงและมีคุณสมบัติมีคุณลักษณะเฉพาะจึงอยู่ระหว่างขั้นตอนและกระบวนการในการดำเนินงาน

    อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ สาเหตุหนึ่งมาจากสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ทำให้เกิดภัยพิบัติในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้การดำเนินกิจการต่าง ๆ ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด หลายหน่วยรับงบประมาณต้องมีการปรับวิธีการและการทำงาน รวมทั้งการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้เหมาะสมกับสถานการณ์หรือบริบทของแต่ละพื้นที่

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีย้ำในที่ประชุม ให้หน่วยรับงบประมาณให้ความสำคัญในการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณให้สอดคล้องกับเป้าหมาย เพราะมีส่วนสำคัญต่อในภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ที่ได้ปรับตัวดีขึ้นมาต่อเนื่องด้วย

    รับรอง “ติมอร์ – เลสเต” เป็นสมาชิกอาเซียน

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างเอกสาร 2 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาค และร่างภาคผนวกประกอบแผนการดำเนินงานสำหรับการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์ – เลสเต ในส่วนของเสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนจะมีการเห็นชอบเอกสารทั้ง 2 ฉบับร่วมกัน ในการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 22 วันที่ 6 – 7 พฤษภาคม 2566 และการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 42 วันที่ 10 – 11 พฤษภาคม 2566 ที่ประเทศอินโดนีเซีย

    สำหรับสาระสำคัญของร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาระบบนิเวศ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาค เป็นเอกสารการแสดงเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาระบบนิเวศ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการปล่อยคาร์บอน ตลอดจนสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนร่วมกัน โดยส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพัฒนาระบบนิเวศสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาคผ่านการกระจายการลงทุน และการส่งเสริมการลงทุนที่ยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือและประสานงานกันทั้งจากภายในประเทศสมาชิกเอง จากภาคีภายนอกและภาคเอกชน เช่น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสถานีอัดประจุไฟฟ้า การสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและบรรยากาศเพื่อดึงดูดการลงทุน ความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อพัฒนาให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลกและเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในภูมิภาค

    ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า ในอนาคตอาเซียนจะมีสมาชิกเพิ่มขึ้น คือ ติมอร์ – เลสเต ซึ่ง ครม.ได้เห็นชอบร่างภาคผนวกประกอบแผนการดำเนินงานสำหรับการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์ – เลสเต ในส่วนของเสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นเอกสารที่กำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการเพื่อเข้าเป็นภาคีตามความตกลงของเสาเศรษฐกิจอาเซียนที่ติมอร์ – เลสเต ต้องดำเนินการให้สำเร็จ ก่อนการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างสมบูรณ์ โดยติมอร์ – เลสเต จะต้องมีความพร้อมในการดำเนินการตามความตกลงและตราสารสำหรับเสาประชาคมเศรษฐกิจภายในร่างภาคผนวกรวมทั้งสิ้น 220 ฉบับ ประกอบด้วย 1)ความตกลงและตราสารที่ติมอร์ – เลสเต ต้องมีความพร้อมในการเข้าร่วมทันที จำนวน 66 ฉบับ 2)ความตกลงและตราสารที่ติมอร์ – เลสเต จะต้องเข้าร่วมภายใน 2 ปี หลังเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน จำนวน 48 ฉบับ 3)ความตกลงและตราสารที่ติมอร์ – เลสเต จะต้องเข้าร่วมภายใน 5 ปี หลังเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน จำนวน 106 ฉบับ

    ทั้งนี้ ร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ไม่ใช่สนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตาม มาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้น การให้ความเห็นชอบเอกสารทั้งสองฉบับ จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

    แก้ กม.หนุนส่งออกเมล็ดกาแฟคั่ว

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้กาแฟเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตและมีหนังสือรับรองในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อปรับปรุงการกำกับดูแลการส่งออกกาแฟให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์การผลิตและการตลาดภายในประเทศ รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกเมล็ดกาแฟคั่วและผลิตภัณฑ์กาแฟที่ผลิตจากเมล็ดกาแฟดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศผสมกับเมล็ดกาแฟดิบภายในประเทศไปยังต่างประเทศได้ จากเดิมที่สามารถส่งออกได้เพียงผลิตภัณฑ์กาแฟที่แปรรูปจากเมล็ดกาแฟดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น ทั้งนี้ กาแฟคั่วจากเมล็ดกาแฟดิบหลายชนิดที่นำมาผสมกันได้ เช่น กาแฟบราซิลและกาแฟเคนย่า ที่นำเข้าจากต่างประเทศ มาผสมกับเมล็ดกาแฟดิบที่ผลิตภายในประเทศ เช่น กาแฟอาราบิก้า ส่วนใหญ่ผลิตได้ทางภาคเหนือ เช่น กาแฟดอยช้าง และกาแฟโรบัสต้า ส่วนใหญ่ผลิตได้ทางภาคใต้ เช่น กาแฟจาก จังหวัดระนอง

    สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับนี้ เป็นปรับปรุงประกาศ กระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การส่งกาแฟออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ที่ใช้บังคับมานาน โดยแก้ไขส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกกาแฟที่ผลิตจากเมล็ดกาแฟดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ ดังนี้

      1. เพิ่มคำนิยาม “เมล็ดกาแฟคั่ว” หมายความว่า เมล็ดกาแฟที่คั่วแล้ว ทั้งที่บดแล้ว และยังไม่บด (จากเดิมไม่มี)
      2.ปรับแก้กรณีที่ไม่ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ตามข้อบังคับขององค์การกาแฟระหว่างประเทศ (International Coffee Organization: ICO) โดยเพิ่มกรณีการส่งออกเมล็ดกาแฟคั่วและเมล็ดกาแฟดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศผสมกับเมล็ดกาแฟดิบภายในประเทศ (จากเดิมไม่มี) เนื่องจากแนวทางการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามข้อบังคับของ ICO กำหนดว่าไทยควรออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเท่านั้น ซึ่งกรณีนำเมล็ดกาแฟไปผสม ไม่ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า อีกทั้ง ข้อบังคับของ ICO ไม่ได้กำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีไว้สำหรับสินค้ากาแฟที่มีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า
      3.ปรับแก้ข้อยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาตในการส่งออก และไม่ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า โดยเพิ่มกรณีส่งคืนสินค้ากาแฟกลับประเทศต้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการกาแฟไทยที่ได้สินค้ากาแฟไม่ตรงตามความต้องการหรือสินค้ากาแฟนั้นเสื่อมสภาพ (จากเดิมไม่มี)

    ส่วนสาระสำคัญอื่น ๆ ยังคงเดิม อาทิ 1) ให้กาแฟเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต ในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร 2) ให้กาแฟเป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามข้อบังคับของ ICO ซึ่งออกโดยกรมการค้าระหว่างประเทศ ในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร

    ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้กาแฟเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตและมีหนังสือรับรองในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. ฉบับนี้ จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการกาแฟไทย สามารถส่งออกกาแฟแปรรูปที่ผลิตจากเมล็ดกาแฟดิบในประเทศได้ และทำให้ผลิตภัณฑ์กาแฟแปรรูปเพื่อการส่งออกมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าการผลิตเมล็ดกาแฟคั่วในประเทศผสมกับเมล็ดกาแฟดิบนำเข้าและเพิ่มโอกาสการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ

    ตั้ง “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” เป็นผู้ว่าฯ กฟผ.คนใหม่

    ดร.รัชดา กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียด ดังนี้

    1. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน แทนตำแหน่งที่ว่าง

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้ง นายจักรชัย บุญยะวัตร เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน แทนตำแหน่งที่ว่าง

    2. การแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้ง นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป และได้รับผลตอบแทนตามที่กระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นชอบแล้ว

    เห็นชอบผลประชุม รมว.คลัง – ผู้ว่าแบงก์ชาติ “อาเซียน+3”

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการต่อร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting : AFMGM+3) ครั้งที่ 26 ซึ่งได้มีจัดการประชุมขึ้นที่เมืองอินชอน สาธารณรัฐเกาหลี ในวันนี้ (2 พ.ค. 66) และจะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าวเพื่อเป็นผลลัพธ์ของการประชุม

    การประชุม AFMGM+3 มีสมาชิกที่เข้าร่วมประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดและนอกอาเซียนอีก 3 ประเทศคือ จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี โดยแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมมีเนื้อหาแสดงถึงเจตนารมณ์ร่วมของรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าธนาคารกลางอาเซียน+3 ในการสนับสนุนความร่วมมือกันด้านต่างๆ เสริมสร้างความร่วมมือทางการเงินของภูมิภาค อาทิ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาคเพื่อสนับสนุนการเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน การสร้างประสิทธิภาพความร่วมมือ รวมทั้งการกำหนดข้อริเริ่มภายใต้กรอบความร่วมมือทางการเงินอาเซียน

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ที่ประชุม AFMGM+3 ได้รับทราบถึงแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจและการเงินของภูมภาคที่ในปี 2565 ที่ผ่านมาอาเซียน+3 เติบโต 3.2% และมองว่าความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครนได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคทั้งเงินเฟ้อ การเงินที่ตึงตัว การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก ในขณะที่สถานการณ์ปัญหาในภาคการธนาคารของสหรัฐและยุโรปกระทบต่อภูมิภาคในวงจำกัด และเศรษฐกิจของภูมิภาคในระยะต่อไปจะได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศ เนื่องจากการฟื้นตัวที่ต่อเนื่อง

    ด้านการเสริมสร้างความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค AFMGM+3 เห็นด้วยกับการสร้างกลไกความช่วยเหลือทางการเงินแบบเร่งด่วนให้แก่ประเทศสมาชิกที่มีความต้อง ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยให้มีการกำหนดรูปแบบกลไกความช่วยเหลือที่เป็นไปได้ภายในปี 2566 และยังได้รับทราบความคืบหน้าการปรับปรุงแนวปฏิบัติของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี(Chiang Mai Initiative Multilateralisation : CMIM)เพื่อให้เป็นตัวเลือกทางการเงินที่มีประสิทธิภาพของประเทศสมาชิกยามจำเป็น

    ที่ประชุม AFMGM+3 ได้รับรองแผนงานระยะกลางของมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย(Asian Bond Markets Initiative :ABMI) สำหรับปี 2566-69 โดยเน้นทิศทางในอนาคตประกอบด้วย การส่งเสริมการเงินที่ยั่งยืนในภูมิภาค ปรับปรุงการกำกับดูแลตลาดและพัฒนารากฐานธุรกรรมข้ามพรมแดน ส่งเสริมตลาดกาเงินดิจิทัลของอาเซียน+3 การจัดหาสภาพคล่องสกุลท้องถิ่นเพื่อลดความเสี่ยงในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน สนับสนุนการพัฒนาตลาดตราสารหนี้สกุลท้องถิ่น

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า AFMGM+3 ได้เห็นชอบในการบรรจุให้การจัดหาเงินทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ(Disaster Risk Financing :DRF) เป็นวาระใหม่ของการหารือภายใต้กรอบความร่วมมือทางการเงินของอาเซียน+3 พร้อมกับมีการรับรองแผนปฏิบัติการสำหรับปี 2566-68 ของข้อริเริ่ม DRF ด้วย

    นอกจากนี้ AFMGM+3 ยังได้รับทราบถึงความคืบหน้าของคณะทำงานภายใต้ความร่วมมือทางการเงินอาเซียน+3 อาทิ การจัดหาเงินทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนากลไกเพื่อรองรับปัญหาด้านมหภาคและปัญหาเชิงโครงสร้าง การพัฒนาความร่วมมือด้านนโยบายเพื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการเงิน ตลอดจนเห็นชอบที่จะมีการศึกษา 4 หัวข้อที่สำคัญร่วมกันได้แก่ 1) การทำธุรกรรมและการชำระเงินข้ามพรหมแดนด้วยสกุลท้องถิ่นในภูมิภาค 2) การพัฒนาหนี้ภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยง 3) การพัฒนาฐานข้อมูลหนี้ครัวเรือนและ 4)การปฏิรูปนโยบายเพื่อรองรับการเงินเพื่อความยั่งยืนในภูมิภาค

    ออกกฎกระทรวง ให้สถาบันอุดมศึกษาเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาการเปิดเผยและการส่งข้อมูลการอุดมศึกษา พ.ศ…. มีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานการส่งข้อมูลของสถาบันอุดมศึกษาแก่กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) และเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการติดตามและตรวจสอบการดำเนินงาน การจัดทำแผนและการพัฒนาคุณภาพการอุดมศึกษา เกิดการเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านการวิจัยและพัฒนาและนำไปสู่การใช้ประโยชน์งานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

    ทั้งนี้ ตามร่างกฎกระทรวง กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานต่อสาธารณะผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ วิธีการอื่นใดที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ประกอบด้วยข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลการนำองค์กร, วัตถุประสงค์ หน้าที่และอำนาจ ตลอดจนผลดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของสถาบันอุดมศึกษา

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า กฎกระทรวงได้กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาจัดส่งข้อมูลแก่สำนักงานปลัด อว. เพื่อประโยชน์ในการจัดทำแผนการศึกษาและพัฒนาคุณภาพ ประกอบด้วยข้อมูลสถานศึกษา, บุคลากร, ผู้เรียน, ผู้สำเร็จการศึกษา, การมีงานทำของผู้สำเร็จการศึกษา, หลักสูตรที่ได้ปริญญา, หลักสูตรที่ไม่ได้ปริญญา

    รวมถึงข้อมูลการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อการประเมินคุณภาพ, การสะสมหน่วยกิตและการเทียบโอนหน่วยกิต, ข้อมูลวิทยานิพนธ์ รายการการค้นคว้าอิสระและผลงานอื่นที่นำเสนอเพื่อสำเร็จการศึกษา,ข้อมูลวารสารวิชาการ, ข้อมูลงนวิจัยและนวัตกรรม, นักวิจัย, เครื่องมืออุปกรณ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, การให้บริการทางวิชาการ, ทุนการศึกษาของผู้เรียนและบุคลากร, ความร่วมมือด้านวิชาการ

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า กฎกระทรวงยังได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลการวิจัยและนวัตกรรม นักวิจัยและอุปกรณ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อประโยชน์ในการบูรณาการข้อมูลระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพมีการจัดทำแพลฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการบริการข้อมูล ณ จุดเดียว

    นอกจากนี้ ได้กำหนดแนวทางดำเนินการในกรณีที่พบว่าสถาบันอุดมศึกษาเปิดเผย หรือ จัดส่งข้อมูลไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วนหรือไม่ได้ดำเนินการในระยะเวลา โดยให้สำนักงานปลัด อว.แจ้งสถาบันอุดมศึกษาให้ดำเนินการในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่ดำเนินการให้แจ้งต่อคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาทราบและประกาศให้สาธารณชนทราบถึงการไม่ดำเนินการของสถาบันอุดมศึกษาต่อไป

    ยกระดับโรงเรียน จ.ภ.เพิ่มอีก 6 แห่ง

    นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการพัฒนายกระดับคุณภาพโรงเรียนมัธยมศึกษาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ โดยที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ได้เห็นชอบในหลักการพัฒนายกระดับคุณภาพโรงเรียนมัธยมศึกษาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย (จ.ภ.) ประจำเขตตรวจราชการ จำนวน 6 แห่ง และให้ปรับปรุงแก้ไขจังหวัดเขตพื้นที่บริการโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับจำนวนโรงเรียนและบริบทเชิงพื้นที่ ภูมิศาสตร์ ภูมิสังคม ระบบราชการ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินการ ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปีงบฯ 2565 – 2569)

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการเสนอรายงานความก้าวหน้าว่าได้ดำเนินการตามมติ ครม. ดังกล่าว โดยจัดทำแนวทางการพัฒนาจัดตั้ง จ.ภ. 6 แห่ง โดยกำหนดพื้นที่จังหวัดสำหรับการจัดตั้ง จ.ภ. ในพื้นที่เขตตรวจราชการ 6 เขตตรวจฯ ที่ยังไม่มี จ.ภ. ตั้งอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับพื้นที่เขตตรวจราชการที่กำหนดไว้ และได้ปรับปรุงเขตพื้นที่บริการของ จ.ภ. จากเดิมที่มีพื้นที่รับนักเรียนจำนวน 7-8 จังหวัดต่อ 1 โรงเรียนให้เป็นจำนวน 4-5 จังหวัดต่อ 1 โรงเรียนเพื่อให้การเข้าถึงโอกาสของนักเรียนในจังหวัดต่าง ๆ มีการกระจายอย่างทั่วถึง

    “จากเดิมโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยมีจำนวน 12 แห่ง และได้กำหนดเพิ่มเติมอีก 4 แห่ง ในจังหวัดสุพรรณบุรี กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี และลำปาง แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและกระจายการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทยให้ครอคลุมมากยิ่งขึ้นจึงได้มีการเพิ่มจัดสรรใหม่อีก 2 แห่ง คือ ในจังหวัดสระแก้ว และ กำแพงเพชร ทำให้จะมีโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 18 แห่งทั่วประเทศไทย โดยในงบประมาณปี 2566 กระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศ ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เรื่อง ตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ลำปาง สระแก้ว สุพรรณบุรี และอุบลราชธานี ให้เป็นสถานศึกษาที่มีการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลที่มีความสามารถพิเศษในสังกัด สพฐ. ตั้งแต่ชั้น ม. 1-6 รับนักเรียนประเภทประจำโดยมีเขตพื้นที่บริการตามที่ สพฐ. กำหนด” นางสาวทิพานัน กล่าว

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 เพิ่มเติม