ThaiPublica > คนในข่าว > “กุลิศ สมบัติศิริ” ปลัดกระทรวงพลังงาน ความท้าทาย “ยุคเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด”

“กุลิศ สมบัติศิริ” ปลัดกระทรวงพลังงาน ความท้าทาย “ยุคเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด”

19 กุมภาพันธ์ 2023


กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน

“กุลิศ สมบัติศิริ” ปลัดคนแรกที่นั่งตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงานนานถึง 5 ปี ทั้งที่ไม่ใช่ “คนกระทรวงพลังงาน”

“กุลิศ” จบรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ (การคลังสาธารณะ) San Diego State University สหรัฐอเมริกา และปริญญาโท บริหารธุรกิจ University of Southern California สหรัฐอเมริกา

“กุลิศ” เป็นลูกหม้อคนกระทรวงการคลัง เริ่มต้นชีวิตราชการที่กรมบัญชีกลาง และตำแหน่งสุดท้าย ‘อธิบดีกรมศุลกากร’ ก่อนถูกย้ายข้ามกระทรวงไปเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 “กุลิศ” ไม่ใช่คนแรกที่ถูกย้ายข้ามกระทรวงเช่นนี้ ก่อนหน้านี้มี “อารีพงศ์ ภู่ชะอุ่ม” ปลัดกระทรวงการคลังไปเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน

ด้วยความรู้ ศักยภาพ ประสบการณ์ที่มี แต่ “กุลิศ” ต้องเรียนรู้ใหม่กับภารกิจใหม่ ด้วยความที่เป็นไม้บรรทัด จึงอาจจะไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ

วันที่ 30 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา “กุลิศ” ครบวาระการดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน 4 ปี แต่อายุราชการที่ยังเหลืออีก 1 ปี ซึ่งจะเกษียณอายุเดือนกันยายน 2566 เจ้าตัวต้องลุ้นกับ “คำสั่ง” ว่าจะเกษียณราชการในตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือจะต้อง “จบ” ที่ไหน จะอยู่ต่อหรือลาออก

ภารกิจที่ต้องสานต่อในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นเรื่องของการดูแลกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง, กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน, การดูแลราคาน้ำมัน และก๊าซหุงต้ม (LPG), การดูแลก๊าซธรรมชาติสำหรับผลิตไฟฟ้า และค่าไฟฟ้า ซึ่งมีราคาแพงขึ้นจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น

แต่โจทย์ที่สำคัญและท้าทายนับจากวันนี้ไปจนวันเกษียณ คือการจัดทำโรดแมปเพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศไทยไปสู่พลังงานสะอาด ตามเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (net zero emission) ภายใน ค.ศ. 2030

“สำนักข่าวไทยพับลิก้า” มีโอกาสพูดคุยกับ “กุลิศ” ถึงความท้าทายที่ต้องมาดูแลเรื่องพลังงานของประเทศที่ดูเหมือนจะเป็นภารกิจที่ใหญ่ท่ามกลางผลประโยชน์มากมาย แต่กลายเป็นคนตัวเล็กที่มีเพียงตำแหน่งใหญ่เท่านั้น เพราะมีการใช้อำนาจจากมือที่มองไม่เห็นมากมาย อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเวลาไม่มากนัก แต่ “กุลิศ” ก็มีความมุ่งมั่นที่ทำภารกิจที่สำคัญก่อนเกษียณ

“กุลิศ” บอกว่า การก้าวเข้ามาเป็นปลัดกระทรวงพลังงานโดยที่มีความรู้เรื่องพลังงานน้อยมาก ซึ่งเป็นเรื่องยากและซับซ้อน ต้องทำความเข้าใจค่อนข้างมาก พอเข้ามารับตำแหน่งปลัดกระทรวงครั้งแรกในปี 2562 เริ่มงานใหญ่ด้วยการเปิดสัมปทานแหล่งเอราวัณและบงกช ที่สัมปทานสิ้นสุดในปี 2565 และ 2566 เริ่มเปิดประมูลและเปิดซองประมูล ปตท.สผ. ได้รับสัมปทานไป และลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 ขณะที่บริษัทเชฟรอน ประเทศไทย เจ้าของสัมปทานเดิม ไม่ได้

การเปิดสัมปทานใหม่ดูจะราบรื่นโดย “เชฟรอน” ยินดีมอบพื้นที่สัมปทานแหล่งเอราวัณให้กับ ปตท.สผ. แต่ยังติดปัญหาเรื่องการวางหลักประกันค่าใช้จ่ายการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ

ในส่วนที่ยังใช้งานได้และต้องส่งมอบให้แก่รัฐ ทำให้ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 เชฟรอนยื่นขอเข้ากระบวนการอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาทเรื่องการวางหลักประกันดังกล่าว “กุลิศ” ในฐานะปลัดกระทรวงพลังงานต้องเป็นหัวหน้าคณะทำงานร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในการเจรจา

ในช่วงนั้นประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 37 จึงต้องมีการเจรจาควบคู่กับการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมไป ซึ่งผลการเจรจาได้ข้อสรุปว่าทั้งกระทรวงพลังงานและเชฟรอนจะเจรจาหาข้อยุติในเรื่องนี้ให้ได้ภายใน 180 วัน ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการยืดเวลาการเจรจาดังกล่าวออกไป แต่ก็ไม่ได้ข้อยุติ ต่อมาในเดือนกันยายน ปี 2563 ทางเชฟรอนจึงตัดสินใจเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งข้อพิพาทนี้นำไปสู่การส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ตามกำหนดเวลา เกิดความล่าช้า ส่งผลต่อกำลังการผลิตก๊าซแหล่งเอราวัณในปัจจุบัน

พยุงกองทุนน้ำฯ ชดเชยราคาน้ำมันเพื่อประชาชน

วิกฤติราคาน้ำมันที่เกิดขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ต่อเนื่องมาถึงปี 2565 ทั้งปี ดูเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ท้าทาย

พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีผลใช้บังคับ มีการจัดตั้งสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ความช่วยเหลือค่าเชื้อเพลิง คือ LPG ก๊าซหุงต้ม และน้ำมัน แก่ประชาชน ตอนนั้นกองทุนน้ำมันฯ มีเงินประมาณ 40,000 ล้านบาท

ต้นปี 2563 เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนต้องอยู่บ้าน work from home กองทุนฯ ได้นำเงินเข้าช่วยตรึงราคาก๊าซหุงต้ม LPG จาก 363 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม เหลือ 318 บาทต่อถัง เมื่อประชาชนอยู่บ้าน ลดการเดินทาง โดยเฉพาะการใช้รถยนต์ รถประจำทางสาธารณะ รวมถึงการขนส่งสินค้า ราคาน้ำมันจึงถูก กองทุนฯ จึงเข้าบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในเรื่อง LPG ได้

การช่วยเหลือตรึงราคาก๊าซหุงต้ม LPG ที่ราคา 318 บาทต่อถัง (ขณะที่ราคาจริงอยู่ระหว่าง 380-420 บาทต่อถังในช่วงดังกล่าว) ดำเนินการอยู่เป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 – 31 มีนาคม 2565 แล้วจึงทยอยขึ้นทีละ 15 บาทต่อถัง จนมาอยู่ที่ 423 บาทต่อถัง ในปัจจุบันซึ่งยังห่างจากราคาจริงที่ตอนนี้อยู่ที่ 480 บาทต่อถัง กองทุนฯ ใช้เงินในการช่วยเหลือ LPG ประมาณ 50,000 ล้านบาท

ส่วนเรื่องน้ำมัน ในต้นปี 2564 ประชาชนทั่วโลกเริ่มมีการเดินทาง ส่งผลให้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 ราคาน้ำมันดิบโลกเริ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล จนถึงประมาณ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล

ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 กองทุนฯ เข้าไปพยุงราคาน้ำมันโดยเลือกช่วยพยุงราคาน้ำมันดีเซล ที่ประชาชน ภาคธุรกิจ และภาคขนส่งใช้ประมาณวันละ 60-70 ล้านลิตรต่อวัน หรือร้อยละ 60-70 ในขณะที่น้ำมันเบนซินมีผู้ใช้ประมาณ 30 ล้านลิตรต่อวัน

โดยในช่วงไตรมาสที่ 4 กองทุนฯ ได้พยุงราคาน้ำมันดีเซลช่วยประชาชนอยู่ที่ประมาณ 30 บาทต่อลิตร

ปี 2565 หลังจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งสูงไปที่เกือบ 150 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล และราคาน้ำมันดีเซลโลกพุ่งไปที่ 180 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ราคาจริงของน้ำมันดีเซลไทยอยู่ที่ประมาณ 40-45 บาทต่อลิตร กองทุนฯ ขยับเพดานที่พยุงไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร เป็น 35 บาทต่อลิตร ต้องรับส่วนต่างที่เกิดขึ้น ทำให้สถานะกองทุนฯ ติดลบอย่างต่อเนื่องจนถึง 120,000 ล้านบาท เพื่อชดเชยราคาน้ำมันที่เกิดขึ้น

ปัญหาก็คือ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งตามพระราชบัญญัติหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 19 ห้ามมิให้กระทรวงการคลังค้ำประกันให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐ กระทรวงการคลังจึงไม่สามารถค้ำประกันให้แก่สำนักงานกองทุนน้ำมันฯ ได้

ในขณะที่สำนักงานกองทุนน้ำมันฯ ต้องกู้เงินเอง แต่ไม่มีสถาบันการเงินปล่อยกู้ จึงมีการเสนอให้ออกพระราชกำหนดให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ ภายในวงเงิน 150,000 ล้านบาท ในเวลา 1 ปี นับตั้งแต่พระราชกำหนดประกาศใช้ในพระราชกิจจานุเบกษา จนขณะนี้กองทุนฯ สามารถกู้เงินได้แล้ว 3 หมื่นล้านบาท และเริ่มทยอยเก็บเงินจากน้ำมันดีเซลเข้ากองทุนน้ำมันแล้ว

“ตอนนี้กองทุนน้ำมันฯ กู้มาแล้ว 3 หมื่นล้านบาท กรอบใหม่ที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะกำหนดกรอบให้ใหม่อีก 8 หมื่นล้านบาท และกองทุนน้ำมันฯ ก็เริ่มทยอยเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ได้วันละ 400 ล้านบาท เดือนหนึ่งก็ประมาณหมื่นล้านบาท คาดว่าสถานะกองทุนน้ำมันฯ จะกลับมาเป็นบวกอีกครั้งตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป”

ขับเคลื่อน Roadmap Energy Transition เปลี่ยนผ่านสู่ “พลังงานสีเขียว”

หากนับเวลาที่เหลือก่อนที่จะเกษียณในเดือนกันยายน 2566 “กุลิศ” มีเวลาไม่มากนักสำหรับการเดินหน้าเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศไปสู่พลังงานสะอาดหรือพลังงานสีเขียว ซึ่งอาจจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี

ในการเดินไปข้างหน้าเพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน จากที่ปัจจุบันพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด/พลังงานสีเขียว และให้เป็นไปตามเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 ของประเทศไทย ที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ใน COP 26 ปี 2564

“กุลิศ” ได้ตั้งคณะทำงานมาชุดหนึ่งเพื่อทำแผนปฏิบัติงานในการขับเคลื่อน energy transition โดยนำข้าราชการรุ่นใหม่จากทุกกรมของกระทรวงพลังงาน รวมถึงทีมงานคนรุ่นใหม่จาก ปตท. และ กฟผ. เข้ามาร่วม โดยมีประธานเป็นผู้บริหารกระทรวงพลังงานรุ่นหนุ่มที่มีอายุราชการเหลือมากที่สุด มาร่วมกันผลักดันและขับเคลื่อนแผนการเปลี่ยนผ่านให้ไปสู่เป้าหมายได้

กรอบแผนการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานของประเทศไปสู่พลังงานสะอาดที่ “กุลิศ” วางให้คณะทำงานลงรายละเอียดในแผนปฏิบัติการของกระทรวงพลังงาน คือ การเริ่มเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานจากฟอสซิล ได้แก่ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ไปสู่การใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) โดยหวังว่าพลังงานสะอาดจะขยับจาก 25% ในปัจจุบันเป็นเกือบ 50% ของแผนพลังงานทั้งหมด

“กุลิศ” อธิบายถึงภาพการใช้พลังงานของประเทศว่าภาคขนส่งยังพึ่งพาน้ำมันถึง 98% และประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูปถึงกว่า 90% ขณะที่เชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศมากกว่า 70% ยังเป็นฟอสซิลในปัจจุบัน การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานอาจจะต้องค่อยเป็นค่อยไปและไม่ใช่เรื่องง่ายนัก จำเป็นต้องมีการผลักดันนโยบายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ตั้งไว้

โดยการเปลี่ยนแปลงในภาคพลังงาน จำเป็นต้องเร่งการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดให้มากขึ้น ทั้งเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำในเขื่อนและสระน้ำขนาดใหญ่ พลังงานลม โรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลและชีวภาพ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน ใช้แบตเตอรี่มากักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์และลมเพื่อให้เกิดความเสถียรในระบบ การนำเทคโนโลยีไฮโดรเจนมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยสามารถใช้ไฮโดรเจนได้ทั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซผ่านระบบ blue hydrogen และพลังงานที่ผลิตจากแสงอาทิตย์และลม ผ่านระบบ green hydrogen

นอกจากนี้ แท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในอ่าวไทย รวมถึงโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซและถ่านหิน มีการวางแผนใช้เทคโนโลยีในการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เรียกว่า carbon capture and storage (CCS) กับแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ “แหล่งอาทิตย์” ของ ปตท.สผ. ควบคู่กับการศึกษาตามความเหมาะสมในการทำ CCS ที่โรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะและที่โรงไฟฟ้าก๊าซที่น้ำพอง จ.ขอนแก่น

การใช้เทคโนโลยี CCS นี้ “กุลิศ” บอกว่า กระทรวงพลังงานได้ลงนามความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมการค้าและการลงทุนของประเทศญี่ปุ่น ในการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค วิชาการ และการเงิน รวมถึงเรื่องการศึกษาความเหมาะสมในการนำเทคโนโลยี green hydrogen มาใช้กับพลังงานลมที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ที่ลำตะคอง รวมถึงใช้พื้นที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ของ กฟผ. ที่มีกว่าแสนไร่ มาพัฒนาพลังงานสะอาด และ green hydrogen นำไปสู่การยกระดับเป็น smart city ในอนาคตด้วย

ในภาคขนส่ง ภาครัฐตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนการใช้รถยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมันเป็นหลักไปสู่รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าให้ได้ 30% ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) หรือที่เรียกว่านโยบาย 30@30 เป้าหมายแรกคือการเพิ่มสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าไม่เพียงเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคล แต่ต้องรวมถึงรถกระบะ รถโดยสารสาธารณะ และรถบรรทุกที่ใช้ไฟฟ้าด้วย อีกเป้าหมายสำคัญคือการส่งเสริมให้มีสถานีชาร์จรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ควบคู่กับการสร้างโรงงานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

“กุลิศ” มองว่า การเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานสีเขียวหรือพลังงานสะอาดนี้ ต้องรวมถึงการเปลี่ยนผู้บริโภคพลังงาน ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม อาคารพาณิชย์ ครัวเรือนที่อยู่อาศัย ให้เป็นผู้ผลิตที่เรียกว่า เปลี่ยน consumer เป็น procumer ให้ผู้บริโภคสามารถติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงาน/อาคาร/บ้าน/คอนโด ผลิตไฟฟ้าใช้เอง

ทั้งนี้ ให้นำส่วนเกินจาการใช้ไฟฟ้าของตนไปขายกันเองหรือขายเข้าระบบได้ โดยมีการออกกฎระเบียบให้มีการซื้อ-ขาย พลังงานสะอาดระหว่างผู้ผลิตกับผู้ซื้อได้โดยตรง (direct power purchase agreement — direct PPA) ควบคู่กับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะสายส่งให้มีการขยายและใช้เทคโนโลยีในการรับ-ส่ง ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเข้าสู่ระบบหรือที่เรียกว่า grid modernization จากที่มีการส่งไฟฟ้าจากผู้ผลิตคือโรงไฟฟ้าไปสู่ผู้จำหน่ายคือ กฟน./กฟภ. ทางเดียว เป็นทั้งส่งและรับไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดจากทั่วประเทศเข้าสู่ระบบได้สองทาง

นั่นหมายถึง หน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมความมั่นคงระบบไฟฟ้าอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต้องปรับตัวมาควบคุมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าที่ไม่ได้ผลิตจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่างเดียว แต่ต้องมาควบคุมระบบไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดทั้งประเทศ และเป็นระบบแพลตฟอร์มทันสมัย รองรับการนำไฟฟ้าสะอาดเข้าสู่ระบบและกำกับควบคุมให้ไฟฟ้าสะอาดที่เข้าระบบนั้นมีความเสถียรต่อเนื่องแก่ผู้บริโภคโดยเฉพาะภาคประชาชน

กฟผ. ต้องทำงานควบคู่กับ กฟน./กฟภ. หน้าด่านรับซื้อไฟฟ้าสะอาดจากผู้ผลิต

ทั้ง 3 การไฟฟ้า ต้องทำแพลตฟอร์มร่วมกันรองรับระบบ Smart Grid/Smart Meter จาก Prosumer โดย กฟผ. ต้องรู้ว่าไฟฟ้าที่เข้าสู่ระบบนั้นไม่ต่อเนื่องที่จุดไหนของประเทศ ต้องเตรียมไฟสำรองหากไฟฟ้าไม่ต่อเนื่องเพื่อให้ระบบไฟฟ้าเกิดความมั่นคง

“กุลิศ” บอกว่า การเปลี่ยนผ่านพลังงานนี้ต้องวางแผนให้รองรับกับเทรนด์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไป คือต้องผลิตพลังงานสะอาดให้ได้มากที่สุด และให้มีการใช้ไฟฟ้ากับทุกภาคส่วนแทนฟอสซิล ซึ่งสิ่งที่กำลังวางแผนนี้ สอดคล้องกับการวิเคราะห์จากสถาบันพลังงานโลก ทั้งองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ องค์กรพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ หรือตำราด้านพลังงาน ว่าประเทศไทยกำลังเดินหน้าปรับเปลี่ยนพลังงานในทิศทางที่ทั่วโลกกำลังมุ่งหน้าไปเช่นกัน

“ผมอยากเร่งทำแผนปฏิบัติการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานนี้ให้เสร็จในช่วงเลือกตั้ง แล้วนำเสนอต่อรัฐบาลใหม่ รวมถึงปลัดกระทรวงพลังงานคนใหม่ เพื่อผลักดันแผนนี้ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้ได้” นั่นคือความตั้งใจที่ “กุลิศ” วางเอาไว้ก่อนเกษียณอายุราชการ

ป้ายคำ :