ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ แจงถกอาเซียน หวังลดการสู้รบในเมียนมา ยันไม่เอียง – มติ ครม.ผ่าน กม.ล้างวาทกรรม “คุกมีไว้ขังคนจน”

นายกฯ แจงถกอาเซียน หวังลดการสู้รบในเมียนมา ยันไม่เอียง – มติ ครม.ผ่าน กม.ล้างวาทกรรม “คุกมีไว้ขังคนจน”

20 มิถุนายน 2023


เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุม ครม. ณ บริเวณทางเชื่อมตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯ แจงถกอาเซียน หวังลดการสู้รบในเมียนมา ยันไม่มีเอียง
  • สั่งทุกหน่วยรับมือ “เอลนีโญ” ฝนทิ้งช่วงลากยาวถึง ก.พ. ปีหน้า
  • ปลดล็อก กม. ไม้หวงห้าม หนุน ปชช. ปลูกต้นไม้ออมเงิน
  • ปัดตอบ รทสช. โหวต “พิธา” เป็นนายกฯ ขอดูพรรคใหญ่ก่อน
  • ปลื้ม IMD ขยับขีดความสามารถแข่งขันไทยขึ้น 3 อันดับ
  • มติ ครม. ผ่าน กม. 3 ฉบับ ล้างวาทกรรม ‘คุกมีไว้ขังคนจน’
  • รับทราบข้อเสนอ ป.ป.ช. ป้องกันทุจริตเงินอุดหนุนในท้องถิ่น
  • โชว์ผลงานรับเรื่องร้องทุกข์ 14,449 เรื่อง แก้ได้ 82.44%
  • กกต. ไฟเขียวจ่ายค่าสมาชิกองค์การระหว่างประเทศ 222 ล้าน
  • เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน รวมทั้งมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    สั่งทุกหน่วยรับมือ “เอลนีโญ” ฝนทิ้งช่วงลากยาวถึง ก.พ. ปีหน้า

    พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลปัจจุบันพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เพื่อลดผลกระทบในทุกมิติ ประเทศต้องเดินหน้าต่อไป ประชาชนต้องได้รับการดูแลมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องภัยแล้งเอลนีโญ

    ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ รายงานข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่า มีคาดการณ์ว่าฝนจะทิ้งช่วงในเดือนกรกฎาคม 2566 ต่อเนื่องถึงกุมภาพันธ์ 2567 ฝนลดลงกว่าค่าปกติร้อยละ 5 จากภาวะภัยแล้งและเอลนีโญ

    “ผมให้ทุกหน่วยเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือจาก ทั้งกรมชลประทานและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องการเพาะปลูก การใช้น้ำก็เป็นไปตามแผน ทั้งหมดต้องเตรียมความพร้อม เพราะน้ำน้อยลง ปริมาณน้ำสำรองก็ต้องออกมาใช้มากขึ้น มีผลกระทบหลายด้าน โดยเฉพาะภาคอุปโภค บริโภค การรักษาระบบนิเวศ การเกษตรและอุตสาหกรรมด้วย โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ รัฐบาลก็ให้ความสนใจ” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

    เร่งรัดรถไฟความเร็วสูง กทม.-โคราช คาดเปิดให้บริการปี’70

    พลเอก ประยุทธ์ กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง กทม.-นครราชสีมา ว่า การเดินทางในรถไฟความเร็วสูงจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 90 นาที มีทั้งสิ้น 6 สถานี เส้นทางรวม 251 กิโลเมตร และให้การบริการ 3 ระดับคือ ชั้น 1 ชั้น 2 และชั้น 3 รองรับผู้โดยสาร 50,000 คนต่อชั่วโมง มีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2569 และคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2570 เพื่ออำนวยความสะดวก กระจายความเจริญและการเติบโตไปยังภูมิภาค

    พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า รถไฟความเร็วสูงมีวัตถุประสงค์ เพื่อรองรับการเดินทางที่เร็วขึ้น ใช้ต้นทุนที่ต่ำลง คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก และได้สั่งการกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งรัดการติดตามพัฒนาโครงการเหล่านี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

    ห่วงเด็กรุ่นใหม่เลือกงาน-เรียนไม่ตรงความต้องการตลาด

    พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการจ้างงานจำนวน 39.6 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ปรับตัวดีขึ้นเข้าสู่ภาวะปกติ

    “สิ่งที่ให้ความสำคัญคือการขาดแคลนแรงงานด้านดิจิทัลและไอที และการเลือกงานที่รายได้สูงของคนรุ่นใหม่ ก็ต้องแก้กันต่อไป ทำความเข้าใจให้ดี เพราะบางสาขาเราเรียนไม่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

    เล็งหารือคณะทำงานฯ ลุยแก้หนี้เสียรถยนต์

    พลเอก ประยุทธ์ กล่าวถึงหนี้สินครัวเรือนว่า รัฐบาลมีกลไกการแก้ไขปัญหานี้อยู่แล้ว และขอให้หน่วยงานที่ดำเนินการในปัจจุบัน โดยเฉพาะความเสี่ยงสินเชื่อรถยนต์ โดยตนต้องไปหารือกับคณะทำงานแก้หนี้ด้วย

    ปลดล็อก กม. หนุน ปชช. ปลูกต้นไม้ออมเงิน

    พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า อยากให้ทุกคนเข้าถึงมาตรการการออมของรัฐบาล ซึ่งทำมานานพอสมควร และได้ส่งเสริมการออมทางเลือกใหม่ที่ไม่ใช่ตัวเงิน ไม่ว่าจะเป็นการออมในรูปแบบไม้ยืนต้น โดยรัฐบาลปลดลอกกฎหมายไม้หวงห้ามและไม้หายาก 171 ชนิดให้สามารถปลูกและตัดขายเพื่อสร้างรายได้ และมาตรการกำหนดให้สามารถใช้ไม้มีค่า 58 ชนิดเป็นหลักประกันทางธุรกิจและค้ำประกันสินเชื่อตามกฎหมาย

    พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลยังมีการออมในรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ต้นทุนต่ำ เช่น กระบือ สุกร ไก่ ปลา ฯลฯ แต่การเลี้ยงสัตว์เพื่อการออมยังไม่ได้รับการยอมรับมากนัก ดังนั้น ควรมีการส่งเสริมและขยายผลต่อไป

    ย้ำทำหน้าที่ดีที่สุด ไม่ทิ้งภาระให้รัฐบาลชุดใหม่

    พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ด้านสุขภาพจิตของไทยก็ดีขึ้น จากผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้ง PM 2.5 ด้วย ทุกอย่างดีขึ้นตามลำดับ

    พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ มีการประชุมวิชาการการแพทย์ประจำปี โดยเน้นการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดกิจกรรมมานำเสนอใน ครม. แสดงถึงการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อประโยชน์ทางด้านสุขภาพ

    ถึงตรงนี้ พลเอก ประยุทธ์ ได้ถอนหายใจแล้วพูดว่า “เริ่มเยอะแล้ว” และกล่าวต่อว่า “เรื่องอื่นๆ สอบถามจากโฆษก เป็นเรื่องความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาของรัฐบาลช่วงนี้ เราเป็นรัฐบาลรักษาการ ก็จะทำให้ดีที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดภาระกับรัฐบาลต่อไป ไม่ขัดแย้งกับมาตรา 169 ตามรัฐธรรมนูญด้วย ก็ดูแลความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก”

    แจงถกอาเซียน หวังลดการสู้รบในเมียนมา ยันไม่มีเอียง

    ผู้สื่อข่าวถามถึงการที่รัฐบาลเชิญประเทศต่างๆ ประชุมอาเซียน รวมถึงเชิญประเทศเมียนมาด้วย โดยพลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า ทุกประเทศที่มาประชุม 9 ประเทศ ไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่ง บางประเทศไม่มา ไม่เป็นไร ต้องส่งให้ทราบอยู่แล้ว มันไม่ใช่การตกลงอะไรกับใคร เป็นการเดินหน้าแก้ปัญหา Five Consensus มันไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ก็ต้องระวังผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมาตรการของสหประชาชาติด้วย”

    “เพื่อนบ้านติดกันอาเซียนทุกประเทศ ก็คาดหวังว่าไทยจะแก้ปัญหามากที่สุด แต่อย่าลืมว่าเราก็มีปัญหาของเราเหมือนกัน เรื่องผลประโยชน์ชาติและประชาชน ถ้าติดตามดูจะเห็นว่ามีการสู้รบรุนแรงขึ้น เราได้หารือว่าจะลดความรุนแรงของผลกระทบได้บ้างไหม การรบตามแนวชายแดน วันนี้ก็มีหลายพันคนที่เข้ามาอยู่ในฝั่งไทย เราก็ส่งกลับไปตามความสมัครใจ” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

    “เรื่องต่อไปคือทำอย่างไรให้ลดการสู้รบให้ได้มากที่สุด ขอให้พิจารณาข้อเสนอต่างๆ เพื่อลดความอลหม่านในอนาคต ต้องไปคุยกัน แต่ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว ไม่ใช่เสนอแนะแนวปฏิบัติ แต่ขึ้นกับว่าจะรับไปปฏิบัติกันได้อย่างไร” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

    เมื่อถามว่า คิดอย่างไรที่คนมองว่าประเทศไทย ‘เอียง’ ไปทางเมียนมา พลเอก ประยุทธ์ ตอบว่า “ผมยืนยันว่าไม่มีการเอียง เอียงไม่ได้หรอก เราปฏิบัติตามมติของสหประชาชาติ ส่วนมติอาเซียนก็ไม่ก้าวหน้า ก็ต้องหาวิธีการพูดคุยอย่างอื่นเพิ่มเติม เราก็ต้องนำเสนอไปในอาเซียนอยู่แล้ว ไม่ได้ไปขัดแย้งอะไรกับใคร”

    พลเอก ประยุทธ์ ย้ำว่า เราต้องมองผลประโยชน์ของประเทศด้วยว่าความเสียหายจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ต้องฟังความคิดเห็นจากภายนอก อะไรปฏิบัติได้ก็ปฏิบัติ แต่หลังจากนี้อาจมีแรงกดดันอะไรมากขึ้น ต้องพยายามลดปัญหาตรงนี้ให้ได้ เพราะส่งผลกระทบกับไทยในเรื่องการค้าขายชายแดน การข้ามแดน การสู้รบ และแรงงาน โดยประเทศไทยได้รับแรงกดดันสูงมาก เพราะมีชายแดนติดกันกว่า 3,000 กิโลเมตร

    พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ทุกประเทศที่มาประชุมก็เห็นด้วยว่าต้องหารือในฐานะอาเซียนด้วยกัน เป็นการแสวงหาทางออก และจะนำไปประชุมในการประชุมอาเซียนครั้งต่อไป

    อวยพร ส.ส. ป้ายแดง ขอให้อยู่ครบกันทุกคน

    เมื่อถามถึงพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่ได้รับการรับรองเป็น ส.ส. นายกฯ ได้แสดงความยินดีหรือยัง พลเอก ประยุทธ์ ตอบว่า “ก็ยินดีกับท่านไปแล้ว ยินดีทุกวัน”

    ถามต่อว่า มีข่าวลือว่าพลเอก ประวิตร จะมาเป็นนายกฯ พลเอก ประยุทธ์ ตอบว่า “ยังไม่ได้ข่าวเลยนะ จะเป็นได้ไงไม่รู้ล่ะ ก็ไปว่ากันในกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล ผมไม่รู้ ผมไม่เกี่ยวข้อง ผมบอกแล้วว่าทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการทางการเมือง ก็ยินดีกับทุกคน ผมก็ยินดีกับ ส.ส. ใหม่ป้ายแดงทุกคน ขอให้อยู่กันให้ครบก็แล้วกัน หลายคนอาจมีปัญหาบ้างอะไรบ้าง ก็แล้วแต่ท่าน”

    ปัดตอบ รทสช. โหวต “พิธา” เป็นนายกฯ ขอดูพรรคใหญ่ก่อน

    ผู้สื่อข่าวถามเรื่องตำแหน่งประธานสภา ระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล โดย พลเอก ประยุทธ์ ตอบทันทีว่า “เป็นเรื่องภายในของเขา ผมไม่ไปเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของพรรคอันดับหนึ่ง อันดับสอง”

    เมื่อถามย้ำเรื่องประธานสภา พลเอก ประยุทธ์ สวนกลับว่า “ช่วยไปเสนอในสภาด้วยละกันเธอ บอกแล้วไงว่ายังไม่ได้คุยกัน ให้เขาดำเนินการตามขั้นตอนไปก่อน วันหน้าฝ่ายการเมืองก็วางกันเอาเอง”

    ถามต่อว่าพรรครวมไทยสร้างชาติจะโหวตให้ นายพิธา เป็นนายกฯ หรือต้องรอมติพรรค พลเอก ประยุทธ์ ตอบว่า “ก็ต้องรอขั้นตอนการดำเนินงานขณะนี้ว่าจะไปทิศทางใด เราก็มีคะแนนเสียงไม่ได้มากมายนัก 36 เสียง ฟังพรรคใหญ่ๆ เขาคุยกันก่อน”

    ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคขั้วรัฐบาลเดิมอาจจับมือกับพรรคเพื่อไทย เพื่อเสนอชื่อนายกฯ แข่งกับพรรคก้าวไกล พลเอก ประยุทธ์ ตอบว่า “ก็เป็นข่าวไง ข่าวโคมลอยโคมจมอะไรก็ว่าไป ไม่รู้เหมือนกัน ไม่ทราบ”

    อยากให้จัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว ชี้ยิ่งช้าปัญหาเยอะ

    พลเอก ประยุทธ์ ตอบคำถามว่าอยู่การเมืองมานานพอสมควร มองการเมืองตอนนี้อย่างไร โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาล ว่า “ก็อยากให้จัดตั้งรัฐบาลให้ได้โดยเร็วที่สุด ปัญหามันเยอะแยะที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง ก็สุดแล้วแต่ว่ารัฐบาลใหม่จะดำเนินการอย่างไร”

    “เมื่อกี้คุยกันเยอะๆ ก็คุยเรื่องปัญหาประชาชนกับปัญหาเร่งด่วน แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไรในระหว่างที่เราเป็นรัฐบาลรักษาการ และติดกฎหมายมาตรา 169 ของรัฐธรรมนูญด้วย โครงการใหม่ๆ มันมีปัญหางบประมาณหมด ก็ต้องหามาตรการที่เหมาะสมในการดำเนินงาน ฉะนั้น การตั้งรัฐบาลถ้ามันช้า ก็มีปัญหาต่อไปเรื่อยๆ” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

    เตรียมส่งมอบงานรัฐบาลใหม่ ชี้ที่ผ่านมาไม่มีใครส่งให้เลย

    เมื่อถามว่าเตรียมส่งข้อมูลการทำงานให้รัฐบาลใหม่แล้วหรือยัง พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็มี ก็ต้องมี ทุกกระทรวงก็เตรียมหมดแล้ว เวลามาก็ต้องส่งต่อ ผมเข้ามาไม่มีใครส่งผมสักคนทั้ง 2 ครั้ง ก็ทำสิ ผมเห็นท่านพูดหมด ดีบ้างไม่ดีบ้าง ท่านเข้ามาก็ดูแลให้ดีแล้วกัน”

    ผู้สื่อข่าวยังถามถึงอนาคตทางการเมืองของพลเอก ประยุทธ์ ทำให้พลเอก ประยุทธ์ สวนกลับว่า “คุณก็ไปเรื่อย กลับมาวกที่ผมอีก ผมไม่ได้มีอะไรทั้งสิ้นตอนนี้ เป็นเรื่องของสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล”

    ห่วงบ้านเมืองไม่สงบ-ปลุกม็อบลงถนนช่วงโหวตนายกฯ

    พลเอก ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงประเด็นรัฐบาลรักษาการต้องเตรียมความพร้อม และคุยกับตำรวจ-ทหาร เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยในช่วงวันโหวตเลือกนายกฯ ว่า ตำรวจและทหารมีมาตรการอยู่แล้วในเรื่องรักษาความเรียบร้อย มีกฎหมายบ้านเมืองอยู่แล้ว ไม่อยากให้เกิดความไม่สงบโดยเด็ดขาด ไม่ดีเลยกับประเทศ ไม่ว่าจะฝ่ายใดก็ตามลงถนนมันไม่ควรอยู่แล้วในสถานการณ์วันนี้ ทั้งเศรษฐกิจ ความขัดแย้งต่างๆ มากมาย

    “ถ้าเราสามารถดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญโดยที่มันสงบ และสันติมันก็จบ ผมไม่อยากให้มีการปลุกปั่นไปข้างใดข้างหนึ่งทั้งสิ้น ข้างผมหรือข้างใครก็แล้วแต่ ผมไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

    สุดท้าย ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ มองการเมืองที่นายพิธาเป็นว่าที่นายกฯ แต่ยังไม่ทันถามจบ พลเอก ประยุทธ์ แทรกทันทีว่า “อ๋อ ไม่มองอะ” ผู้สื่อข่าวจึงถามว่ามีผลกระทบอะไรกับช่วงที่เป็นรัฐบาลรักษาการ พลเอก ประยุทธ์ ตอบว่า “ไม่มี ก็เป็นสิทธิ ทำได้ก็ทำไป เหมาะสมไม่เหมาะสมก็แล้วแต่พิจารณากัน”

    วอนเกษตรกรเพาะปลูกใช้น้ำฝนเป็นหลัก

    ด้านนายอนุชา รายงานว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ นายกฯ กล่าวในที่ประชุมเรื่องฝนทิ้งช่วงและเอลนีโญ ตั้งแต่กรกฎาคม 2566 – กุมภาพันธ์ 2567 โดยนายกฯ สั่งการไปถึงกรมชลประทาน และให้กรมชลทั่วประเทศประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทยอยเพาะปลูกตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ โดยใช้น้ำฝนเป็นหลักและใช้น้ำชลประทานเสริม และควบคุมการเพาะปลูกให้เป็นไปตามแผน และเตรียมความพร้อมส่งน้ำตามรอบ รวมถึงเตรียมเครื่องจักร เครื่องสูบน้ำและรถบรรทุกน้ำเพื่อช่วยเหลือประชาชน

    ทั้งนี้ ขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด นายกฯ ให้กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำที่จะได้รับผลกระทบจากฝนทิ้งช่วง ทั้งการอุปโภค บริโภค การเกษตรและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ

    จี้คมนาคมเร่งสร้างไฮสปีดเทรนไทย-จีนให้เสร็จตามกำหนด

    นายอนุชา รายงานว่า นายกฯ แจ้งในที่ประชุม ครม. ว่ารัฐบาลได้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูง เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจ เชื่อมโยงการเดินทางและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และขอให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามการดำเนินงาน และเร่งพัฒนาโครงสร้างและการก่อสร้างให้เปิดให้บริการตามกำหนดการ

    ปลื้ม IMD ขยับขีดความสามารถแข่งขันไทยขึ้น 3 อันดับ

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกฯ พูดถึงภาพรวมการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประจำปี 2566โดย IMD (International Institute for Management Development) หรือสถาบันการจัดการนานาชาติ ว่าประเทศไทยได้จัดอันดับที่ดีขึ้นจากปีก่อน โดยอยู่ที่ 30 จากลำดับ 33 โดยส่วนสำคัญที่ดีขึ้นคือสมรรถนะทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น 18 อันดับ ประสิทธิภาพภาครัฐดีขึ้น 7 อันดับ ประสิทธิภาพภาคธุรกิจก็ดีขึ้น 7 อันดับ ส่วนโครงสร้างพื้นฐานดีขึ้น 1 อันดับ

    นายอนุชากล่าวต่อว่า “ขอบคุณความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ทำให้รัฐบาลทำงานได้อย่างเต็มที่และเห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย”

    “การจัดอันดับโดยหน่วยงานที่มีชื่อเสียงอย่าง IMD เป็นสิ่งที่ประเทศไทยสามารถนำไปใช้อ้างอิงได้ นายกฯ ยินดีที่ผลการจัดอันดับ 4 ปัจจัยหลักดีขึ้น ถือเป็นกำลังใจสำคัญที่สุดในการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะสมรรถนะทางเศรษฐกิจที่สะท้อนกับทิศทางการดำเนินนโยบาย และสอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ที่ผ่านมา” นายอนุชากล่าว

    นายอนุชากล่าวต่อว่า นายกฯ ดำเนินการเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศ ยกระดับกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงและพัฒนาประเทศอย่างสมดุลสู่ความยั่งยืน เพื่อเสริมเกราะให้ประเทศรับความท้าทายที่อาจจะเกิดได้ในอนาคต

    มติ ครม. มีดังนี้

    นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    สภาพัฒน์ฯ แจงภาวะสังคมไทย Q1/2566

    นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบกรณี สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2566 ซึ่งจัดอยู่ในด้านการลดความเหลื่อมล้ำ ดังนี้

  • ความเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสที่ 1 ปี 2566
    • 1. สถานการณ์ด้านแรงงานมีการจ้างงานจำนวน 39.6 ล้านคน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.4 เนื่องจากการขยายตัวภาคเกษตรกรรมและสาขานอกภาคเกษตรกรรม ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ค่าจ้างในภาพรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 และค่าจ้างในภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.9 ส่วนอัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.05 ปรับตัวดีขึ้นเข้าสู่ภาวะปกติ
      2. หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสี่ปี 2565 มีมูลค่า 15.09 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 แต่ชะลอตัวจากไตรมาสที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 4.0 และมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่ที่ร้อยละ 86.9 โดยหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนทรงตัว
      3. การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังพบว่าจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 124.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากโรค มือ เท้าปาก ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในขณะที่สถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยดีขึ้น
      4. การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 โดยการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ขณะที่การบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 0.2
      5. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมีการรับแจ้งคดีอาญารวมทั้งสิ้น 103,936 คดีเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และการรับแจ้งอุบัติเหตุทางถนนลดลงร้อยละ 7.9 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
      6. การรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 203.4 จากไตรมาสที่ผ่านมา

  • สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ
    • 1. มูเตลู : โอกาสในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงความเชื่อ อาจเทียบได้กับ “การท่องเที่ยวเชิงศรัทธา” คาดการณ์ว่ามูลค่าการท่องเที่ยวสายมูเตลูของไทยเฉพาะการแสวงบุญจะมีรายได้หมุนเวียนมากถึง 10,800 ล้านบาทซึ่งทรัพยากรการท่องเที่ยวแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ มูเตลู ที่เป็นสถานที่ เช่น วัด ศาลเจ้า เทวสถาน และ มูเตลูที่ไม่ใช่สถานที่ เช่น เครื่องรางของขลังและพิธีกรรม
      2. วิสาหกิจเพื่อสังคมกับการรองรับสังคมผู้สูงวัย ความต้องการของผู้สูงวัยมีความหลากหลาย องค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ จึงเข้ามามีบทบาทช่วยปิดช่องว่างการดูแลผู้สูงอายุซึ่งถือเป็นกลไกที่มีความยั่งยืนมากกว่ารูปแบบอื่น โดยตัวอย่างของ วิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise : SE) เช่น การจ้างงาน สุขภาพ
      3. การออมที่ไม่ใช่ตัวเงิน : ทางเลือกในการสร้างรายได้ในอนาคต ในปัจจุบันมีการส่งเสริมการออมทางเลือกซึ่งเป็นการออมในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น การออมทรัพย์ในรูปแบบของการปลูกไม้ยืนต้น การออมทรัพย์ในรูปแบบของการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งควรมี การส่งเสริมและขยายผลการออมที่ไม่ใช่ตัวเงินมากขึ้น

  • บทความ “คุณธรรมในสังคมไทย”
  • คุณธรรมเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์แต่คุณธรรมในสังคมไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงสะท้อนจากคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (corruption, perception index : CPI) และการสำรวจสถานการณ์คุณธรรมปี 2565 ของศูนย์คุณธรรมด้วยตัวชี้วัดคุณธรรมพบว่าคนไทยส่วนใหญ่มีคุณธรรมอยู่ในระดับพอใช้และระดับคุณธรรมวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลง

    แจงผลงานพัฒนาทักษะการเงินให้ ปชช. ปี ’65

    นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบ รายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565-2570 (แผนปฏิบัติการฯ) ประจำปี 2565 และโครงการตามแผนปฏิบัติการฯ ประจำปี 2566 ซึ่งเสนอโดยกระทรวงการคลัง

    ผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ประจำปี 2565 เป็นการดำเนินงานเพื่อวางรากฐานและเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยมีกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะทางการเงินอย่างบูรณาการประกอบด้วย 3 เป้าหมาย 8 มาตรการ 19 แผนงาน ซึ่งมีแผนงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 7 แผนงาน แผนงานที่เป็นไปตามแผน 11 แผนงานและแผนงานที่ไม่เป็นไปตามแผน 1 แผนงาน สรุป ดังนี้

      เป้าหมาย 1 คนไทยตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการบริหารจัดการเงินและเข้าถึงข้อมูลการเงิน 2 มาตรการ (มาตรการที่ 1 และ 2)

      เป้าหมาย 2 คนไทยมีความรู้และทักษะทางการเงินเพียงพอที่จะนำไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม 4 มาตรการ (มาตรการที่ 3-6)

      เป้าหมาย 3 ประเทศไทยมีกลไกขับเคลื่อนการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินอย่างบูรณาการและยั่งยืน 2 มาตรการ (มาตรการที่ 7 และ 8)

    มาตรการที่ 1 ยกระดับความสำคัญการพัฒนาทักษะทางการเงิน

      แผนงาน 1 คือ กำหนดให้มีการรณรงค์ระดับชาติเพื่อสร้างความตระหนักรู้ทางการเงินให้แก่ประชาชน ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว โดยรัฐบาลได้กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน กระทรวงการคลัง รวมกับธนาคารแห่งประเทศไทยจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ กันยายน 2565 – มกราคม 2566 มีผู้ลงทะเบียนขอแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์ 188,739 ราย และมีผู้ขอรับบริการ 33,859 รายการ
      แผนงาน 2 กำหนดให้การพัฒนาทักษะทางการเงินเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ โดยแผนงานนี้ยังดำเนินการไม่เป็นไปตามแผนเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจปี 2565 อยู่ระหว่างฟื้นตัวจากโควิด-19 จึงต้องเร่งแก้ไขหนี้ครัวเรือนก่อน

    มาตรการที่ 2 ส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้ทางการเงินที่ถูกต้อง และเชื่อถือได้และพัฒนาทักษะทางการเงินด้วยตนเองของประชาชน ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้วทั้งสามแผนงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ผลิตเนื้อหาในรูปแบบต่างๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงานและสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ

    มาตรการที่ 3 กำหนดกรอบสมรรถนะทางการเงินสำหรับคนไทย ดำเนินงานเป็นไปตามแผนงานเพื่อพัฒนากรอบสมรรถนะทางการเงินสำหรับคนไทยแต่ละกลุ่มเป้าหมาย

    มาตรการที่ 4 ผลักดันการพัฒนาทักษะทางการเงินในระบบการศึกษาดำเนินการเป็นไปตามแผนต่างๆ ดังนี้ ผลักดันการพัฒนาทักษะทางการเงินในหลักสูตรการเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย แผน ยกระดับความรู้และพัฒนาครูผู้สอน รวมทั้ง แผนส่งเสริมการเรียนการสอนเรื่องการเงินส่วนบุคคลในระดับอุดมศึกษา

    มาตรการที่ 5 พัฒนาทักษะทางการเงินของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายตลอดช่วงชีวิต ได้ดำเนินโครงการให้ความรู้และพัฒนาทักษะทางการเงินรวมถึงการเงินดิจิทัล ภัยและการโกงการเงิน และการป้องกันการจัดการความเสี่ยงให้ประชาชนทุกกลุ่ม โดยจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมายตามสภาพปัญหาและความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งการดำเนินการเป็นไปตามแผน มีผู้เข้ารับการอบรมทักษะทางการเงินรวม 3.59 ล้านราย มีจำนวนการรับชมความรู้ทักษะทางการเงินผ่านระบบออนไลน์มากกว่า 43.62 ล้านครั้ง

    มาตรการที่ 6 พัฒนากฎระเบียบและมาตรการเพื่อสนับสนุน ดำเนินการเป็นไปตามแผนกำหนดให้องค์กรในภาคการเงินต้องจัดให้มีกิจกรรมพัฒนาทักษะทางการเงิน ดำเนินการเป็นไปตามแผนที่กำหนดให้การเข้ารับการอบรมและการผ่านแบบทดสอบการบริหารจัดการหนี้เพื่อการศึกษาเป็นเงื่อนไขของการได้รับอนุมัติวงเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) รวมทั้งดำเนินการเป็นไปตามแผนที่กำหนดให้บุคลากรภาครัฐบรรจุใหม่ได้รับการฝึกอบรมการเงินส่วนบุคคล

    มาตรการที่ 7 จัดตั้งกลไกขับเคลื่อนการดำเนินการพัฒนาทักษะ ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการการพัฒนาทักษะทางการเงินเพื่อขับเคลื่อนกำกับติดตามทางการเงินอย่างบูรณาการและยั่งยืนแล้วเสร็จ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 200 / 2565 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ

    มาตรการที่ 8 สร้างระบบการติดตามและประเมินผล ดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนงานกำหนดตัวชี้วัดระดับเป้าหมาย ดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนงานกำหนดตัวชี้วัดของแต่ละหน่วยงาน รวมทั้งการประเมินผล ดำเนินการเป็นไปตามแผนที่จัดให้มีการสำรวจระดับทักษะทางการเงินทุกๆ 2 ปี ดำเนินการเป็นไปตามแผนที่ผลักดันให้มีการบูรณาการระบบข้อมูลความรู้ / ทักษะทางการเงิน ดำเนินการเป็นไปตามแผนที่จัดทำรายงานผลการดำเนินและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบเป็นประจำทุกปี

    รับทราบข้อเสนอ ป.ป.ช. ป้องกันทุจริตเงินอุดหนุนในท้องถิ่น

    นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบกรณี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับเงินอุดหนุนของ อปท. กรณีรัฐอุดหนุนแก่ อปท. ดังนี้

      1. ข้อเสนอด้านการจัดทำคำขอและการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุน ซึ่ง 1) ควรมีนโยบายและแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน ทั้งวิธีการและระยะเวลาในการส่งเสริมและพัฒนารายได้ให้กับ อปท. 2) ในขณะที่ อปท. ยังไม่มีเงินเพียงพอต่อการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ควรพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่ อปท. ในรูปแบบเงินอุดหนุนทั่วไป โดยลดการจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ซึ่งมักมีปัญหาการทุจริตจากการวิ่งเต้นและการบริหารงานงบประมาณให้เหลือน้อยที่สุด 3) ควรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และตัวชี้วัดอย่างชัดเจนในการจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้แก่ อปท. เพื่อลดอำนาจการใช้ดุลยพินิจในการจัดสรรโดยมิชอบ 4) ควรเร่งดำเนินการให้ อปท. เป็นหน่วยงานที่ขอรับเงินงบประมาณโดยตรง
      2. ข้อเสนอด้านการนำเงินอุดหนุนไปจัดทำข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ และการบริหารจัดการงบประมาณเงินอุดหนุน 1) ควรกำหนดให้ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารงานของ อปท. อย่างเป็นรูปธรรมและเข้มข้นในทุกกระบวนการ 2) ควรส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของสมาชิกสภาท้องถิ่น และประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ และอำนาจกฎหมาย ระเบียบ และข้อกำหนดต่างๆ 3) ควรส่งเสริมและพัฒนาระบบการตรวจสอบภายในของ อปท. ทั้งในด้านประสิทธิภาพ ความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ 4) ควรกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการดำเนินการของ อปท.
      3. ข้อเสนอด้านการติดตามและประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณเงินอุดหนุน 1) ควรดำเนินการให้มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางขนาดใหญ่ (Big Data) 2) ควรกำหนดรูปแบบการรายงานผลการดำเนินงานของ อปท. ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง 3) ควรกำชับให้ผู้ใช้อำนาจในการกำกับดูแล อปท. ตรวจสอบติดตามและการรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนของ อปท. 4) ควรสนับสนุนให้ อปท. ทุกแห่งใช้ระบบการจ่ายเงินโดยให้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) 5) ควรให้ความสำคัญกับการตรวจสอบการใช้จ่ายและการบริการเงินอุดหนุนของ อปท. ว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และแบบแผนการปฏิบัติราชการหรือไม่

    ทั้งนี้ ป.ป.ช. มีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับเงินอุดหนุนของ อปท. กรณี อปท. อุดหนุนไปยังหน่วยงานอื่น ดังนี้

      1. ประเด็น อปท. ตั้งงบประมาณเงินอุดหนุนให้แก่หน่วยงานอื่นโดยไม่เป็นไปตามระเบียบ หลักเกณฑ์ และแนวทางที่กำหนดรวมถึงหน่วยงานที่รับเงินอุดหนุนจาก อปท. ใช้จ่ายเงินไม่เป็นไปตามระเบียบและวัตถุประสงค์ อันอาจนำไปสู่การทุจริต 1) ควรแจ้งและกำกับให้ อปท. กำหนดมาตรการควบคุมภายใน โดยให้จัดทำแผนการตรวจสอบประเด็นขั้นตอนที่มีความเสี่ยงต่อการใช้จ่ายงบประมาณเงินอุดหนุน และควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับการติดตามว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ 2) ควรกำหนดระเบียบห้าม อปท. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่ออุดหนุนให้แก่หน่วยงานที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบฯ ในปีงบประมาณถัดไป 3) ห้าม อปท. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่ออุดหนุนโครงการที่มีลักษณะเกี่ยวกับการจัดหาครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งก่อสร้าง 4) ควรกำหนดให้ อปท. ต้องจัดให้มีวิธีการที่จะให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการ 5) ควรให้ความสำคัญในการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ ต้องให้ความสำคัญทั้งในส่วนของ อปท. ที่ตั้งงบประมาณเงินอุดหนุน และการดำเนินการของหน่วยงานที่ขอรับเงินอุดหนุน พร้อมรายงานผลต่อสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย
      2. ประเด็น อปท. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่ออุดหนุนให้หน่วยงานที่ทำการปกครองอำเภอ และสำนักงานจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ควบคุมกำกับดูแล อปท. ตามกฎหมายอันเป็นการขัดกันต่อการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้กำกับดูแลเพื่อให้เกิดความถูกต้องและปราศจากการทุจริตทุกรูปแบบ 1) แก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินอุดหนุนฯ โดยห้าม อปท. ตั้งงบประมาณเงินอุดหนุนให้ที่ทำการปกครองอำเภอและสำนักงานจังหวัด 2) กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ผู้กำกับดูแล อปท. ให้ อปท. ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ และหนังสือสั่งการของ มท.
      3. ประเด็น อปท. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่ออุดหนุนให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ (การไฟฟ้า การประปา และองค์การจัดการน้ำเสีย) โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หลักเกณฑ์และแนวทางเช่นเดียวกับหน่วยงาน/องค์กรอื่นที่ขอรับเงินอุดหนุนจาก อปท. 1) ห้าม อปท. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่ออุดหนุนตามโครงการขยายเขตไฟฟ้าและประปา เพื่อจำหน่าย 2) ในกรณีที่ อปท. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่ออุดหนุนให้รัฐวิสาหกิจในภารกิจตามหน้าที่ของ อปท. จะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับการให้เงินอุดหนุนหน่วยงานอื่นคือให้นำเงินอุดหนุนนับรวมในอัตราส่วนไม่เกินร้อยละของรายได้จริงในปีงบประมาณที่ผ่านมา

    เห็นชอบ MOU ไทย – คอซอวอ หนุนส่งออกไทย

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการหารือทวิภาคี ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศ และกิจการโพ้นทะเลสาธารณรัฐคอซอวอ โดยจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจในช่วงการเยือนไทยของนายเครชนิก อาห์เมตี รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศและกิจการโพ้นทะเลคอซอวอ ระหว่างวันที่ 22 -24 มิถุนายน 2566 นับเป็นกลไกความร่วมมือและการหารือทวิภาคีที่เป็นรูปธรรมกลไกแรกระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศ

    บันทึกความเข้าในฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเพิ่มพูนความร่วมมือในสาขาที่ตกลงร่วมกัน เช่น การเมือง เศรษฐกิจ กงสุล วัฒนธรรม การท่องเที่ยว เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ รวมถึงประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยยึด 3 หลักการ คือ

      1) ยึดถือหลักการความเป็นเอกราชและความเสมอภาคของอธิปไตย
      2) การไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และ
      3) ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในสาขาที่ตกลงร่วมกัน

    ส่วนกลไกดำเนินงาน จะมีการจัดประชุมทุกสองปีหรือตามที่ตกลงร่วมกัน โดยสถานที่จะสลับกันจัดขึ้นในไทยและในคอซอวอ ทั้งนี้ การจัดทำบันทึกความเข้าใจไม่ได้เป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือ มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อ ครม. ชุดต่อไป และสาระของบันทึกความเข้าใจไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตาม มาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

    ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า คอซอวอเป็นประเทศใหม่ในยุโรปที่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาและเศรษฐกิจของประเทศยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยมีสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น อาหาร ปศุสัตว์ ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร สินแร่ สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์เซรามิกและแก้ว และอุปกรณ์ไฟฟ้า ดังนั้น คอซอวอจึงมีศักยภาพที่จะเป็นตลาดรองรับสินค้าและการลงทุนจากไทยได้ โดยเฉพาะสินค้าอาหาร ข้อมูลในปี 2565 การค้าระหว่างคอซอวอและไทยมีมูลค่ารวม 12,868,581 ดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.68 จากปี 2564) โดยคอซอวอนำเข้าสินค้าจากไทยมูลค่า 12,654,501 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีสินค้าสำคัญ ได้แก่ 1) เนื้อเป็ดแช่แข็ง 2) ปลาทูน่ากระป๋อง 3) กระดาษ 4) เนื้อเป็ดแช่เย็น 5) ชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศ 6) เครื่องปรับอากาศ 7) เครื่องประดับเงิน 8) คอมพิวเตอร์ 9) เมล็ดพันธุ์พืช และ 10) เส้นใยสังเคราะห์

    ผ่าน กม. 3 ฉบับ ล้างวาทกรรม “คุกมีไว้ขังคนจน”

    นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1. ร่างกฎกระทรวงการแสวงหาข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการชี้แจง หรือแก้ข้อกล่าวหา พ.ศ. …. 2. ร่างกฎกระทรวงการชำระค่าปรับเป็นพินัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. และ 3. ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ….

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า กฎหมายลำดับรอง 3 ฉบับจะสนับสนุนให้การบังคับใช้บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา และจะมีผบังคับใช้ในวันที่ 22 มิถุนายน 2566 นี้เกิดผลได้จริง เพื่อเป็นการปฏิรูปกฎหมายครั้งสำคัญโดยกำหนดให้ผู้กระทำความผิดเพียงเล็กน้อยต้องชำระค่าปรับอย่างเดียว ไม่มีการจำคุกหรือกักขังแทนการปรับ และไม่มีการลงบันทึกในประวัติอาชญากรรม โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งหวังผลักดันให้ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ลบล้างวาทกรรม “คุกมีไว้ขังคนจน” และเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย

    สาระสำคัญของกฎหมายแต่ละฉบับ สรุปได้ดังต่อไปนี้

      1. ร่างกฎกระทรวงการแสวงหาข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการชี้แจง หรือแก้ข้อกล่าวหา พ.ศ. …. จะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการแสวงหาข้อเท็จจริงและการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อให้รู้ว่ามีการกระทำความผิดทางพินัยหรือไม่และใครเป็นผู้กระทำความผิด และในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐพบเห็นว่ามีบุคคลกำลังกระทำความผิดทางพินัย หรือแทบจะไม่มีความสงสัยว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดทางพินัย และเจ้าหน้าที่ของรัฐคนเดียวเป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแจ้งเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบข้อกล่าวหา พร้อมทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และแจ้งด้วยว่าผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิจะให้การทันทีหรือจะให้ถ้อยคำภายหลังภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งก็ได้ และกำหนดกรอบเวลาให้การพิจารณาและออกคำสั่งปรับเป็นพินัยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยสามารถขยายระยะเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน ไม่เกิน 2 ครั้ง ส่วนในกรณีที่จะฟ้องคดีต่อผู้ถูกกล่าวหา เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องส่งสำนวนให้พนักงานอัยการอย่างช้าไม่น้อยกว่า 45 วันก่อนวันที่คดีจะขาดอายุความ
      2. ร่างกฎกระทรวงการชำระค่าปรับเป็นพินัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. เป็นการกำหนดให้การชำระค่าปรับเป็นพินัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ (1) ธนาคาร (2) หน่วยบริการรับชำระเงินที่เป็นของรัฐหรือเอกชนตามที่หน่วยงานของรัฐกำหนด (3) เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (ATM) (4) บัตรอิเล็กทรอนิกส์ (2) โมไบล์แบงกิง (Mobile Banking) (6) อินเทอร์เน็ตแบงกิง (Internet Banking) (7) สถานที่หรือวิธีการอื่นใดที่สามารถเข้าถึงการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยทุกช่องทางหน่วยงานรัฐจะไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
      3. ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย พ.ศ. …. เป็นการวางระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย รวมทั้งระยะเวลาในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการปรับ เป็นพินัย พ.ศ. 2565 ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ได้แก่ หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีช่องทางติดต่อสื่อสารโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลอื่นใด สามารถขยายเวลาการดำเนินการปรับเป็นพินัยได้ สามารถผ่อนชำระได้ และจำนวนค่าปรับเป็นพินัยต้องไม่ต่ำกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับแต่ต้องไม่เกินอัตราขั้นสูงที่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยกำหนดไว้

    “รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีผลงานด้านการปฏิรูปกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เห็นเด่นชัดเพราะท่านนายกฯ มีความจริงใจที่จะดำเนินการลดความเหลื่อมล้ำ ยกเลิกวาทกรรม “คุกมีไว้ขังคนจน” ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย พ.ศ. …. จึงกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดทางพินัยมีฐานะยากจนและกระทำความผิดด้วยความจำเป็นเพื่อยังชีพของตนและครอบครัว ให้กำหนดค่าปรับเป็นพินัยในอัตราต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 50 บาทหรือไม่น้อยกว่าอัตราขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ และสามารถขอผ่อนชำระค่าปรับเป็นพินัยโดยพิจารณาฐานะการเงิน รายได้ รายจ่าย และภาระหนี้สินของผู้กระทำความผิดทางพินัย” นางสาวทิพานัน กล่าว

    จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 130 ปี มรภ. พระนคร

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 130 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร พ.ศ. …. ตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครได้ขอความร่วมมือกรมธนารักษ์ จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงสถานปนาโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2435 และครบ 130 ปี เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565

    ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติ จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในโอกาสดังกล่าว และได้รับพระราชทานตามรูปแบบที่นำความกราบบังคมทูลประกอบพระราชวินิจฉัยแล้ว ซึ่งลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเป็นโลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคา 20 บาท ด้านหน้าเป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และด้านหลังเป็นตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มีข้อความ “๑๓๐ ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๕” วงล้อมด้านบน และ ข้อความ “๒๐ บาท ประเทศไทย” อยู่วงล้อมด้านล่าง

    สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกดังกล่าว มาจากทุนหมุนเวียนการบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ ทรัพย์สินมีค่าของรัฐ และการทำของ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. จึงเป็นการปฏิบัติราชการตามปกติ เพื่อให้เป็นตามมที่กฎหมายแม่บทได้บัญญัติอำนาจไว้ และไม่เข้าลักษณะการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อ ครม. ชุดต่อไปตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญ

    โชว์ผลงานรับเรื่องร้องทุกข์ 14,449 เรื่อง แก้ได้ 82.44%

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบผลสรุปการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นของประชาชนในไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2566 (ม.ค.-มี.ค. 2566) พร้อมแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรค ตามที่สำนักปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ

    สปน. รายงานว่าในไตรมาสที่2 ที่ผ่านไปมีการแจ้งเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นประชาชนที่ยื่นผ่านการร้องทุกข์ 1111 ซึ่งประกอบด้วย สายด่วนรัฐบาล 1111, ตู้ ปณ. 1111, ไลน์สร้างสุข @PSC1111, แอปพลิเคชัน PSC1111, จุดบริการประชาชน 1111 และเว็บไซต์ www.1111.go.th รวม 14,449 เรื่อง สามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติ 11,912 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 82.44 และรอผลการพิจารณษของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2,537 เรื่องคิดเป็นร้อยละ 17.56

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า เมื่อแยกตามหน่วยงานแล้วจะพบการประสานเพื่อร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1) ส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1,454 เรื่อง, กระทรวงการคลัง 586 เรื่อง กระทรวงคมนาคม 439 เรื่อง กระทรวงแรงงาน 300 เรื่อง และกระทรวงสาธารณศุข 280 เรื่อง 2) รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 158 เรื่อง สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 113 เรื่อง การไฟฟ้านครหลวง 98 เรื่อง การประปาส่วนภูมิภาค 87 เรื่อง และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 86 เรื่อง 3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 858 เรื่อง จังหวัดนนทบุรี 245 เรื่อง ปทุมธานี 213 เรื่อง ชลบุรี 208 เรื่อง และสมุทรปราการ 197 เรื่อง

    อย่างไรก็ตาม เมื่อประมวลตามประเด็นการร้องเรียนแล้ว พบว่าประเด็นที่ประชาชนร้องเรียนหรือให้ความคิดเป็นมากที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่ 1) เสียงรบกวน/สั่นสะเทือน 1,658 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 1,570 เรื่อง (ร้อยละ 94.96) 2) ไฟฟ้า 620 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 520 เรื่อง (ร้อยละ 83.87) 3) โทรศัพท์ 603 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 539 เรื่อง (ร้อยละ89.39) 4) ประเด็นเกี่ยวกับทรัพย์สิน 517 เรื่อง ดำเนินการได้ขอ้ยุติ 361 เรื่อง (ร้อยละ 69.82) 5) บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 498 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 438 เรื่อง (ร้อยละ 87.95)

    6) การเมือง เช่น ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายหาเสียง, การติดป้ายหาเสียง การลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า 462 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 453 เรื่อง (ร้อยละ 98.05) 7) น้ำประปา 441 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 394 เรื่อง (ร้อยละ 89.34) 8) ถนน 427 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 335 เรื่อง (ร้อยละ 78.45) 9) ประเด็นเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และเสรีภาพ 368 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 317 เรื่อง (ร้อยละ 86.14) 10) ควันไฟ/ฝุ่นละออง/เขม่า 351 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 305 เรื่อง (ร้อยละ 86.89)

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า สปน. ระบุว่าจากการรวบรวมข้อมูลปัญหาจากเรื่องราวร้องทุกข์ พบว่าในกรณีมิจฉาชีพที่หลอกลวงประชาชนทางโทรศัพท์ หรือคอลเซ็นเตอร์ และช่องทางออนไลน์ที่มีการ้องเรียนมาก ส่วนหนึ่งมาจากการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลที่ขาดแนวทางการรักษาความปลอดภัยของหน่วยงานที่ครอบครองข้อมูล การหลอกลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อหน่วยงาน และต้องการให้บังคับ พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาที่กระทบกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างทันท่วงที โดยดำเนินการเชิงรุกเพื่อสกัดกั้นการหลอกลวงของมิจฉาชีพที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการอยู่ตลอด

    นอกจากนี้ เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานและบริการประชาชนที่ดียิ่งขึ้น หน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของประชาชน ควรบูรณาการฐานข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ร่วมกัน และ ปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันเพื่อลดปัญหาและภาระในการกรอกข้อมูลของประชาชน มีการประชาสัมพันธ์วิธีและขั้นตอนปฏิบัติให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจนและทั่วถึง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและลดปัญหาข้อร้องเรียนที่อาจเกิดขึ้นได้

    กกต. ไฟเขียวจ่ายค่าสมาชิกองค์การระหว่างประเทศ 222 ล้าน

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบผลการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีการขออนุมัติวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 222.95 ล้านบาท เพื่อชำระเป็นเงินอุดหนุนองค์การระหว่างประเทศที่ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก ของกระทรวงการต่างประเทศ [ชำระค่าบำรุงงบประมาณปกติ (Regular Budget) ของสหประชาชาติ ประจำปี ค.ศ. 2023]

    โดยเรื่องนี้ สืบเนื่องจากที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 ได้อนุมัติหลักการงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลางฯ จำนวน 222.95 ล้านบาท เพื่อให้กระทรวงต่างประเทศชำระเป็นเงินอุดหนุนองค์การระหว่างประเทศฯ แต่ต้องดำเนินการตามมาตรา 169 (3) ของรัฐธรรมนูญ โดยต้องผ่านการพิจารณาของ กกต. จึงจะสามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปได้

    ทั้งนี้ การประชุมของ กกต. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ได้มีมติเห็นชอบการใช้งบประมาณรายจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามที่ ครม. เสนอ โดยให้กระทรวงการต่างประเทศใช้จ่ายงบประมาณจำนวนดังกล่าวเพื่อชำระเงินอุดหนุนองค์การระหว่างประเทศฯ ต่อไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 20 มิถุนายน 2566 เพิ่มเติม