ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สศค. แจงศาล – ปมแก้สัญญาดิวตี้ฟรี ชี้ AOT วิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียแล้ว ไม่ต้องชง ครม. อนุมัติ

สศค. แจงศาล – ปมแก้สัญญาดิวตี้ฟรี ชี้ AOT วิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียแล้ว ไม่ต้องชง ครม. อนุมัติ

2 กุมภาพันธ์ 2023


สศค. ส่งตัวแทนแจงศาลอาญาคดีทุจริตฯ กรณีวินิจฉัยปมแก้สัญญาดิวตี้ฟรี ชี้ ทอท. วิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย ผลประโยชน์ที่จะได้รับ ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังแล้ว ไม่ต้องชง ครม. อนุมัติ ด้าน “ชาญชัย” ยืนยันไม่มีข้อความหรือบทบัญญัติใดใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ยกเว้นให้กิจการประเภทไหน ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 27 ชี้หน่วยงานของพยานไม่มีอำนาจวินิจฉัย

ต่อเนื่องมาจากตอนที่แล้ว หลังจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง รับคดีที่นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “บอร์ด ทอท.” ไว้พิจารณา ในประเด็นข้อกล่าวหาว่าปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีที่บอร์ด ทอท. มีมติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขวิธีการจัดเก็บเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ (minimum guarantee) ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ในอาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและภูมิภาค (เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต) และสัญญาอนุญาตประกอบกิจการโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวม 5 ฉบับ จนทำให้รายได้ของ ทอท. ลดลงเป็นจำนวนมาก ส่งกระทบต่อเงินปันผลที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดินลดลงนั้น อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561

โดยเหตุที่นายชาญชัยหยิบยกมาประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นหลักในการยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ นายชาญชัยกล่าวว่า เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ประชุมบอร์ด ทอท. ครั้งที่ 3/2563 วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ที่มีมติปรับลดรายได้ของตนเองลง โดยยกเลิกวิธีการจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ และให้ใช้เก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนเป็นแบบร้อยละแทน ซึ่งปกติในสัญญาฯจะกำหนดให้ ทอท. จัดเก็บรายได้จากผู้ประกอบการทั้ง 2 วิธีควบคู่กันไป วิธีไหน ทอท. ได้รับรายได้มากที่สุดให้ใช้วิธีนั้น แต่จากการที่บอร์ด ทอท.มีมติยกเลิกการจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ทำให้ ทอท. สูญเสียรายได้ตามคำฟ้องกว่า 40,000 ล้านบาท

และจากการที่กฎหมายวินัยการเงินการคลังฯ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐ ซึ่งครอบคลุมไปถึงรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัด มีส่วนราชการถือหุ้นเกินกว่า 50% ตามนิยาม มาตรา 4 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ และถ้าหากมีการดำเนินการใดๆ ที่ผลผูกพันทรัพย์สิน หรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ หน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว ต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย ตามบทบัญญัติ มาตรา 7 ของกฎหมายฉบับนี้ โดยหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการนั้น ต้องจัดทำแผนบริหารจัดการกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ประมาณการรายจ่ายแหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ และผลประโยชน์ที่ได้รับ รวมทั้งในกรณีที่การดำเนินการนั้นก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐ หรือของหน่วยงานงานของรัฐ ต้องจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่จะได้รับเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ตามบทบัญญัติของมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ แต่ ทอท. ไม่ได้เสนอ ครม. อนุมัติตามบทบัญญัติของกฎหมายฉบับดังกล่าว ทำให้นายชาญชัยในฐานะผู้ถือหุ้น AOT ได้รับความเสียหาย จึงมายื่นคำฟ้องต่อศาล ขอให้ลงโทษผู้กระทำผิดตามกฎหมาย

นายชาญชัยกล่าวต่อว่า หลังจากศาลเริ่มกระบวนการไต่สวน ทอท. ได้มอบหมายให้อัยการในฐานะทนายความของ ทอท. ได้ทำหนังสือชี้แจงต่อศาลว่า “เรื่องการอนุญาตให้ประกอบการกิจการ หรือยกเลิกการประกอบกิจการ การปรับเพิ่ม หรือลดค่าเช่าพื้นที่ และค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้ผู้ประกอบกิจการในท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. ไม่มีกฎหมาย กฎระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ กำหนดให้ต้องขออนุมัติต่อ ครม. จึงไม่ใช่การดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือภาระทางการคลังในอนาคต หรือเป็นการดำเนินการที่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐ และไม่ใช่โครงการที่รัฐบาลรับภาระชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ จึงไม่อยู่ภายใต้มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐฯ

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์

นายชาญชัยจึงชี้แจงศาลว่า ทอท. เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทมหาชนจำกัดที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้น 70% ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่งในกฎหมายฉบับนี้ “ไม่มีมาตราไหน ยกเว้นให้ ทอท. ไม่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายฉบับนี้” และผลจากการดำเนินมาตรการดังกล่าว ทำให้รายได้ของ ทอท. ลดลงเป็นจำนวนมาก ต่อมา ทอท. ได้ทำเรื่องถึงกระทรวงการคลัง ขอกู้เงิน 20,700 ล้านบาท มาเป็นเงินทุนหมุนเวียนบรรจุอยู่ในแผนบริหารจัดการหนี้สาธารณะประจำปี 2565 เสนอให้ที่ประชุม ครม. อนุมัติ ตนจึงนำแผนบริหารจัดการหนี้สาธารณะฉบับนี้ส่งให้ศาลบันทึกเข้าไปในสำนวน เพื่อเป็นหลักฐานหักล้างคำแก้ต่างของอัยการในประเด็นที่ว่าไม่มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ใด ให้ ทอท. ต้องทำเรื่องขออนุมัติจาก ครม.

รวมทั้งได้จัดส่งหนังสือกระทรวงคมนาคม ลับ ด่วนที่สุด ที่ คค (ปคร) 0208/63 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2563 ให้ศาลพิจารณา เป็นกรณีที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทำถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แสดงความเห็นของกระทรวงคมนาคมเกี่ยวกับมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ชุดที่ 1 เสนอให้ที่ประชุม ครม. ใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติ มีใจความสำคัญว่า “กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว ไม่ขัดข้องกับมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVD-19) ชุดที่ 1 ที่กระทรวงการคลังเสนอ …ในเบื้องต้นกระทรวงคมนาคมได้เสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบของสายการบินให้คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 เช่น มาตรการปรับลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน (landing charge) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (parking charge) ปรับลดค่าบริการการเดินอากาศ (air navigation service charge) ปรับลดค่าธรรมเนียมการเข้า หรือ ออกนอกประเทศ (regulatory fee) เป็นต้น ทั้งนี้ ให้หน่วยงานพิจารณาความเหมาะสมของมาตรการ และดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนต่อไป”

นายชาญชัยกล่าวต่อว่า ระหว่างที่ศาลไต่สวนมูลฟ้อง อัยการได้นำหลักฐานชิ้นสำคัญอีกชุดส่งให้ศาลพิจารณา ซึ่งเป็นบันทึกข้อความ ตอบข้อหารือกันระหว่างสำนักงานคณะนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ กับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 สคร. ได้ทำบันทึกข้อความถึง ทอท. ว่า “การแก้ไขสัญญาของ ทอท. เกี่ยวกับการให้สิทธิเอกชนจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ ก่อให้เกิดผลผูกพันทรัพย์สิน หรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ดังนั้น หน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน ผลประโยชน์ เสถียรภาพ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังด้วย เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 7 และในมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐฯ ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการนั้น ต้องจัดทำแผนบริหารจัดการกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ประมาณการรายจ่าย แหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ และผลประโยชน์ที่จะได้รับ เสนอที่ประชุม ครม. อนุมัติ”

สรุปก็คือ สคร. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือ ทอท. ให้ปฏิบัติตามมาตรา 7 และ มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ

ต่อมา ทอท. ได้ทำหนังสือชี้แจง สคร. ว่า “การพิจารณากำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา อยู่ในอำนาจของบอร์ด ทอท. ที่จะพิจารณาดำเนินการได้ โดย ทอท. ได้มีการวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย ผลประโยชน์ เสถียรภาพ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐ ตามเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ แล้ว และพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ”

จากนั้น สคร. จึงทำหนังสือไปหารือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ โดยขอให้ สศค. พิจารณาการดำเนินการของ ทอท. เกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาให้กับเอกชน โดยอ้างถึงผลกระทบโควิดฯ ว่ามีความเห็นอย่างไร

ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 สศค. ทำบันทึกข้อความถึงผู้อำนวยการ สคร. โดยแจ้งว่า “ทอท. ได้ดำเนินการวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย ผลประโยชน์ เสถียรภาพ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐแล้ว และปัจจุบัน ทอท. มีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด การดำเนินการแก้ไขสัญญากับเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ จึงเป็นอำนาจของ บอร์ด ทอท. กรณีนี้จึงไม่เข้าข่ายเป็นการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือ โครงการ ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐฯ ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ที่ต้องขออนุมัติจาก ครม.

สคร. จึงนำความเห็นของ สศค. ทำเป็นหนังสือลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 แจ้งให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. รับทราบ ตามที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าเคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้

  • สำนักรัฐฯ จี้ AOT เสนอ ครม. เยียวยา “ดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์”
  • “ธีระชัย” ชง คตง. ตรวจ AOT ปมเยียวยาดิวตี้ฟรี-เลี่ยง กม.วินัยการคลัง?
  • สำนักรัฐฯ กลับลำแจ้ง AOT เยียวยาดิวตี้ฟรี-ไม่ต้องขอ ครม.
  • “ธีระชัย” ร้อง “อาคม” สอบคนคลัง ตีความ “AOT เป็น บมจ.” ไม่ต้องปฏิบัติตาม กม.วินัยการคลัง
  • ต่อมา ศาลได้ออกหมายเรียกให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จัดส่งเอกสาร และตัวแทนของ สศค. มาชี้แจ้งต่อศาล ซึ่ง สศค. มอบหมายให้นางสาวสุภัค ไชยวรรณ รองผู้อำนวยการ รักษาการตำแหน่งที่ปรึกษาเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นผู้มาชี้แจ้งศาลในประเด็นข้อกฎหมาย พร้อมเอกสารหลักฐาน

    ก่อนที่นางสาวสุภัคจะเดินทางมาให้การต่อศาล สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ส่งเอกสารมาให้ศาลพิจารณาเพิ่มเติมอีกหลายฉบับ ในจำนวนนี้มีบันทึกข้อความของ สศค. ที่เกี่ยวข้องกับการตีความตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ที่สำคัญๆ มีอยู่ 3 ฉบับ ดังนี้

    นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

    ฉบับแรก เป็นบันทึกข้อความของ สศค. ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ลงนามโดยนายพรชัย ฐีระเวช อดีตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการ สศค. (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สศค.) ส่งมาให้ศาลพิจารณา ซึ่งเอกสารฉบับนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากกรณีที่ สศค. ทำหนังสือชี้แจงนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำหนังสือร้องเรียนถึงนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ขอให้ตรวจสอบกรณี ทอท. แก้ไขสัญญาให้กับเอกชน ต้องปฏิบัติตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง หรือไม่

    โดยเนื้อหาของบันทึกข้อความของ สศค. ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ฉบับแรกนี้ มีใจความว่า “มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ กำหนดให้การดำเนินกิจการ มาตรการ หรือโครงการ ต้องทำแผนบริหารจัดการ มาตรการ โครงการประมาณการรายจ่าย แหล่งเงินที่ใช้ตลอดเวลาดำเนินการ และประโยชน์ที่จะได้รับ ต้องเป็นการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่หน่วยงานของรัฐมีความจำเป็นต้องดำเนินการระหว่างปีงบประมาณที่มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์กำหนดให้ขออนุมัติจาก ครม. โดยมีผลให้เกิดภาระต่องบประมาณ ไม่ว่าปีงบประมาณใด หรือก่อหนี้ผูกพันมากกว่า 1 ปีงบประมาณ หรือก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐ หรือของหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น หากการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติข้างต้น หน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตราดังกล่าว

    ฉบับที่ 2 เป็นบันทึกข้อความของ สศค. ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ลงนามโดยนางสาวสุภัค ไชยวรรณ รองผู้อำนวยการรักษาการตำแหน่งที่ปรึกษาเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ส่งมาให้ศาลพิจารณา กรณีที่ สศค. ทำหนังสือชี้แจงข้อร้องเรียนนายธีระชัย โดย สศค. เห็นว่า “ยังมีประเด็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง โดยเฉพาะประเด็นการดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 27 และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐฯ ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามมาตรการดังกล่าว ต้องขออนุมัติจาก ครม. โดยมีผลให้เกิดภาระต่องบประมาณ ไม่ว่าในปีงบประมาณใด หรือก่อหนี้ผูกพันมากกว่า 1 ปีงบประมาณ เป็นกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือภาระทางการคลังในอนาคต ตามมาตรา 27 ดังนั้น หากการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามข้างต้น หน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบ ต้องดำเนินการให้เป็นตามมาตราข้างต้น”

    ฉบับที่ 3 เป็นบันทึกข้อความของ สศค. ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ลงนามโดยนางสาวสุภัค ไชยวรรณ ส่งมาให้ศาลพิจารณา โดย สศค.มีความเห็นว่า “การดำเนินการแก้ไขสัญญากับเอกชนของ ทอท. โดยมีเหตุจากนโยบายปิดน่านฟ้าของภาครัฐ ประกอบกับเหตุสุดวิสัยจากการแพร่ระบาดของโควิดฯ เป็นการดำเนินการที่ก่อให้เกิดผลผูกพันทรัพย์สิน หรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ดังนั้น หน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน ผลประโยชน์ เสถียรภาพ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐ ตามเจตนารมณ์บทบัญญัติ มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่ง ทอท. ได้มีการวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย ผลประโยชน์ เสถียรภาพ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐแล้ว และปัจจุบัน ทอท. มีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด การดำเนินการแก้ไขสัญญากับเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ จึงเป็นอำนาจของบอร์ด ทอท. ดังนั้น กรณีดังกล่าวไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ”

    จากนั้นนางสาวสุภัคชี้แจงศาล เริ่มจากบันทึกข้อความของ สศค.ฉบับแรก ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ตามที่กล่าวข้างต้น โดยเอกสารบันทึกข้อความฉบับนี้ระบุว่า “หากมีการดำเนินกิจกรรม มาตรการ โครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือสูญเสียรายได้ ต้องปฏิบัติตามมาตราดังกล่าว” ประเด็นนี้นางสาวสุภัค ชี้แจงต่อศาลว่า “ตนไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย แต่ที่เกี่ยวข้องกับตน คือ บันทึกข้อความของ สศค. ซึ่งตนเป็นผู้ลงนาม”

    ส่วนบันทึกข้อความของ สศค. ฉบับที่ 2 นางสาวสุภัค ชี้แจงศาลว่า การดำเนินกิจกรรม มาตรา โครงการดังกล่าวของ ทอท. ต้องปฏิบัติตามมาตรา 7 และมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ แต่ในเอกสารบันทึกข้อความฉบับนี้ ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากการพิมพ์ข้อความในประเด็นนี้ตกหล่น แต่อย่างไรก็ตาม นางสาวสุภัค มีความเห็นว่า การพิจารณาประเด็นดังกล่าว ก็ต้องพิจารณาในส่วนที่ก่อให้เกิดความสูญเสียรายได้ของรัฐ หรือของหน่วยงานของรัฐตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้ด้วย

    สำหรับบันทึกข้อความของ สศค. ฉบับที่ 3 นั้น นางสาวสุภัคชี้แจงศาลว่า หลังจากที่ตนได้รับหนังสือชี้แจงจาก ทอท. เพิ่มเติมผ่านมาทาง สคร. นางสาวสุภัคจึงมีความเห็นว่า “การดำเนินกิจกรรม มาตรการ โครงการดังกล่าว ทอท. ได้ปฏิบัติตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ แล้ว แต่ไม่เข้าข่ายเป็นการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐฯ ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบต้องทำเรื่องขออนุมัติ ครม.”

    นายชาญชัยตั้งข้อสังเกตว่า บันทึกข้อความของ สศค.ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 มีความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย เกี่ยวกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ มาตรา 27 ไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะกรณีที่มีการสูญเสียรายได้ ต้องเสนอที่ประชุม ครม.เป็นอนุมัติ ส่วนบันทึกข้อความของ สศค.ฉบับที่ 3 ที่นางสาวสุภัคลงนาม กลับให้ความเห็นย้อนแย้งกับบันทึกข้อความของ สศค. ฉบับที่ 1 และ 2 แต่อย่างไรก็ตาม นางสาวสุภัคได้ให้การเพิ่มเติมว่า ทอท.เป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ จะต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย หมวดที่ 3 ส่วนที่ 4 ในเรื่องการก่อหนี้และบริหารหนี้

    นายชาญชัยกล่าวต่อว่า นางสาวสุภัคยังให้การว่า บันทึกข้อความของ สศค.ทั้ง 2 ฉบับ ที่นางสาวสุภัคเป็นผู้ลงนามตามที่ปรากฎในสำนวนนั้น ไม่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังฯ ไม่มีอำนาจวินิจฉัย จึงไม่ได้เสนอให้คณะกรรมการฯพิจารณา ดังนั้น เนื้อหาในบันทึกข้อความดังกล่าวนี้ จึงเป็นความเห็นของหน่วยงาน

    จากนั้นนายชาญชัยได้ชี้แจ้งศาลว่า หน่วยงานของพยานไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่ากิจการใด เป็นกิจการที่จะต้องทำเรื่องเสนอต่อ ครม. หรือ ไม่ต้องเสนอ ครม. อีกทั้งในบทบัญญัติของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ มาตรา 27 กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เป็นผู้มีอำนาจในการกำหนด กิจกรรม มาตรการ หรือ โครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือ ภาระการคลังในอนาคต ซึ่งต้องทำเรื่องเสนอ ครม. โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 ออกประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังฯ ทั้งนี้ ในบทบัญญัติของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐฯ รวมไปถึงประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังฯ ก็ไม่ได้มีข้อความ หรือ มาตราไหน ยกเว้นให้กิจการใด ไม่ต้องทำเรื่องเสนอต่อ ครม.ตามที่พยานได้กล่าวอ้างแต่อย่างใด

    นอกจากนี้ นางสาวสุภัคได้ให้การต่อศาลว่า รายได้ที่ ทอท.ได้รับจากการดำเนินกิจการต่างๆ ไม่ถือเป็นรายได้แผ่นดิน ขณะที่นายชาญชัย ยืนยันว่า เป็นรายได้แผ่นดินที่ ทอท.นำเสนอต่อสำนักงบประมาณ เพื่อจัดทำเอกสารงบประมาณเสนอให้ที่ประชุม ครม. , รัฐสภา และวุฒิสภาพิจารณาทุกปี ตนจึงนำเอกสารงบประมาณชุดดังกล่าวส่งให้ศาลบันทึกเข้าไว้ในสำนวน

    “ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูล และข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติกฎหมายของส่วนราชการต่างๆ ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะเป็นการทั่วไป ส่วนฝ่ายใครจะผิดหรือถูก ตรงนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลเป็นผู้พิจารณา ผมไม่ได้มีเจตนาไปก้าวล่วงอำนาจการพิจารณาของศาลแต่ประการใด” นายชาญชัย กล่าวทิ้งท้าย

  • ลุ้น! ศาลชี้มูลคดีแก้สัมปทานดิวตี้ฟรี 28 ก.พ.นี้
  • กางเอกสารงบฯ พลิกคำแก้ต่างคดีแก้สัญญาดิวตี้ฟรี – สำนักงบฯ แจงศาล ทอท. ต้องตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฯ
  • “พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช” นั่งกรรมการอิสระ ทอท.