ThaiPublica > คนในข่าว > “พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช” นั่งกรรมการอิสระ ทอท.

“พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช” นั่งกรรมการอิสระ ทอท.

24 มกราคม 2023


เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา เกิดการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) โดยนอกเหนือจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติเลือกนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง, พล.ต.อ. มนู เมฆหมอก, นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ และนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กลับเข้าดำรงตำแหน่งแล้ว ที่ประชุมผู้ถือหุ้นยังเลือกตั้ง พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช (ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง) เป็นกรรมการอิสระ ทอท. และตำแหน่งกรรมการสรรหากรรมการผู้อำนวยการ ทอท. คนใหม่ ที่จะมาแทนนายนิตินัย ศิริสมรรถการ ที่จะครบวาระในเดือนเมษายน 2566 นี้ หลังจากที่นายนิตินัยนั่งในตำแหน่งนี้มา 8 ปี โดยกรรมการที่ได้รับเลือกตั้งครั้งนี้ เกือบทั้งหมดเป็นการเข้ารับตำแหน่งอีกวาระหนึ่ง มีเพียงพล.ต.ท. จิรภพ ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งแทนกรรมการที่ลาออกไป (นางสาวพัดชา พงศ์กีรติยุต) และเหลือวาระในการดำรงตำแหน่งน้อยกว่า 2 เดือน

พล.ต.ท. จิรภพ ปัจจุบันอายุ 47 ปี เป็นบุตรชายพล.ร.อ. สมภพ ภูริเดช อดีตราชองครักษ์พิเศษ มีพี่น้องอีก 3 คน คือ 1. ณัฐภพ ภูริเดช นักธุรกิจด้านโทรคมนาคม 2. พล.อ. จักรภพ ภูริเดช ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์และ 3. รศ. ทพญ. ดร.ภฑิตา ภูริเดช อาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคู่สมรสคือ พล.อ. ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ รองผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

การศึกษา หลังจาก พล.ต.ท. จิรภพ จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 50 ได้ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา จนจบปริญญาโทคณะบริหารข้อมูลสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเซ็นทรัลมิชิแกน และจบปริญญาเอก วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังจบหลักสูตรเอฟบีไอรุ่นที่ 271 จากสหรัฐฯ หลักสูตร DEA’s Web Investigation Course โดยสถาบัน International Law Enforcement Academy (ILEA) วิทยากรจากหน่วย DEA ประเทศสหรัฐอเมริกา – หลักสูตร Anti-Counterfeit for the Loas, Myanmar, Thailand and Vietnam สาธารณรัฐประชาชนจีน – หลักสูตร Integrated Narcotics Enforcement Programme ประเทศสิงคโปร์ – หลักสูตรการวิเคราะห์ข้อมูลในการบังคับใช้กฎหมาย (Intelligence Applications for Law Enforcement Course) โดยสถาบัน International Law Enforcement Academy (ILEA) ประเทศสหรัฐอเมริกา – หลักสูตร วิเคราะห์ข่าวกรองอาชญากรรม (Criminal Intelligence Analysis Course) วิทยากรจากประเทศเนเธอร์แลนด์

เริ่มเข้ารับราชการเมื่อปี 2540 ในตำแหน่งรองสารวัตรฝ่ายปฏิบัติการ 3 กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบในวงราชการ (บก.ปปป.) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้ชื่อว่าเป็นมือปราบคอร์รัปชัน โดยผลงานล่าสุด คือ การบุกจับ รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่เป็นการสนธิกำลังร่วมระหว่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ส่วนคดีใหญ่ก่อนหน้านี้ คือการจับกุมตัว พ.ต.ท. บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีต ส.ส.นครสวรรค์ พรรคไทยรักไทย ที่วางแผนจะแหกคุกเมื่อเดือนมิถุนายน 2563

เดือนพฤศจิกายน 2562 พล.ต.ท. จิรภพ ก่อตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษหนุมาน กองปราบปราม หรือที่รู้จักกันในชื่อ “หนุมานกองปราบ” โดยเป็นหน่วยงานที่มาแทนกองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ หรือหน่วยคอมมานโด ที่แยกตัวออกไปอยู่ในสังกัดกองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภ รักษาพระองค์ 904 หน่วยหนุมานกองปราบขึ้นตรงต่อกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางมีรหัสเรียกขานว่า “นารายณ์ 1” ที่มาจากพระนารายณ์ ซึ่งมีร่างอวตารคือพระราม และมีหนุมานเป็นทหารเอก จึงนำมาตั้งเป็นชื่อหน่วย

เดือนมิถุนายน 2563 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานตราสัญลักษณ์ประจำชุดปฏิบัติการพิเศษหนุมาน เพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ โดยผลงานของหน่วยหนุมานกองปราบปรามที่รู้จักกันเป็นที่กว้างขวาง จากปฏิบัติการจับกุมชายฆ่าชิงทอง ที่จังหวัดลพบุรี เมื่อเดือนมกราคม 2563 โดยเจ้าหน้าที่หนุมานกองปราบ 15 นาย ภายใต้การบัญชาการของ พล.ต.ต. (ยศขณะนั้น) จิรภพ ภูริเดช วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 เกิดเหตุ จ.ส.อ. จักรพันธ์ ถมมา ทหารสังกัดค่ายสุรธรรมพิทักษ์ กราดยิงประชาชนในพื้นที่และหลบหนีเข้าไปในศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 จังหวัดนครรราชสีมา โดยมีการจัดกำลังหนุมานปราบปราม พร้อมอาวุธหนักและเบา ทีม 20 นาย เข้าทำการควบคุมพื้นที่ และช่วยประชาชนออกมาได้จำนวนมาก

นอกจากนี้ พล.ต.ท. จิรภพ ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ยังได้ปรับโฉมการทำงานของ บช.ก. ใหม่ ทั้งการย้ายหน่วยงานในสังกัด 13 บก. ให้มาอยู่รวมกันในอาคารพิทักษ์สันติ ถนนพหลโยธิน ข้างสวนสนุกแดนเนรมิตเก่า แทนการกระจายกันอยู่ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีศูนย์รับแจ้งความตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อแก้ปัญหาแจ้งความไม่ถูกที่ อำนวยความสะดวกให้ประชาชนไม่ต้องเดินทางแจ้งความหลายครั้ง มีการตั้งศูนย์ควบคุมการสั่งการ หรือ “CCOC” โดยใช้เทคโนโลยี Body Worn Camera หรือกล้องส่งภาพสำหรับตำรวจที่ออกปฏิบัติการในการส่งภาพถ่ายทอดมาที่ศูนย์ปฏิบัติการ เพื่อให้สามารถปฏิบัติการได้แบบเรียลไทม์ รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยตั้งเป้าปรับรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทย และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการปรับอันดับ “เทียร์” ของไทยในรายงานของสหรัฐฯ

พล.ต.ท. จิรภพ จึงถือเป็นนายตำรวจรุ่นใหม่ ที่มีผลงานทั้งด้านการปราบปราม และปรับเปลี่ยนหน่วยงานใหญ่อย่างกองบัญชาการสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และล่าสุดยังได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ที่มีข่าวว่าคณะกรรมการสรรหาชุดเดิม ได้คัดเลือกนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) และอยู่ระหว่างการเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอคณะกรรมการ ทอท. และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในขั้นตอนต่อไป สำหรับ “กีรติ กิจมานะวัฒน์” เป็นคนนอกที่ไม่ใช่ลูกหม้อ ทอท. คนแรก ที่มาเข้านั่งในตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการ ในยุคนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อเดือนกันยายน 2563 โดยแนวทางปฏิบัติของ ทอท. ที่ผ่านมา ตำแหน่ง ‘รองผู้อำนวยการใหญ่’ จะเป็นคนในของ ทอท. มาโดยตลอด มีแต่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่เท่านั้นที่เป็นคนนอก

งานใหญ่ของกรรมการผู้อำนวยการ ทอท. คนใหม่ คงหนีไม่พ้นการเร่งสร้างผลประกอบการ หลังจากที่ผลการดำเนินงานของ ทอท. ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2565 บริษัทขาดทุนสุทธิ 11,087 ล้านบาท ซึ่งน่าจะได้อานิสงส์สำคัญมาจากการมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงปี 2563 โดยเฉพาะการปรับลดรายได้ของบริษัทลง และขยายระยะเวลาการเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และสัญญาสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ส่งผลทำให้รายได้ของ ทอท. ลดลงเป็นจำนวนมาก

จากที่เคยมีกำไรกลายเป็นขาดทุนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดฯ ปี 2562 ทอท. มีกำไรสุทธิ 25,026 ล้านบาท แต่หลังจากที่ออกมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ ปี 2563 กำไรสุทธิลดลงเหลือ 4,320 ล้านบาท และปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 16,322 ล้านบาท ไม่มีเงินปันผลจ่ายให้ผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะในส่วนที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดินในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ (70%) ทำให้นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส. จังหวัดนครนายก ในฐานะผู้ถือหุ้นรายย่อย ได้รับความเสียหายไปฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ขอให้ดำเนินคดีกับบอร์ด ทอท. กรณีที่มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานให้เอกชน จนทำให้ผู้ถือหุ้น AOT ได้รับความเสียหาย

  • “ชาญชัย” ฟ้องบอร์ด ทอท.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ “รื้อสัมปทานดิวตี้ฟรี”
  • ลุ้น! ศาลชี้มูลคดีแก้สัมปทานดิวตี้ฟรี 28 ก.พ.นี้
  • นอกจากนี้ ยังมีเรื่องนักท่องเที่ยวสาวชาวจีนที่โพสต์คลิปในแอปพลิเคชัน TikTok ซึ่งในคลิปมีผู้ชายแต่งกายคล้ายตำรวจเข้าไปรับผู้โดยสารถึงหน้าประตูเครื่องบิน ซึ่งเป็นพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ควบคุมที่อยู่ความรับผิดชอบของ ทอท. ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและหลักสากลอย่างเคร่งครัด เพื่อความรักษาปลอยภัยให้กับผู้โดยสารและกิจกรรมต่างๆ ภายในสนามบิน

    แต่เหตุใด ทอท. จึงปล่อยให้บุคคลที่แต่งกายคล้ายตำรวจ ซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าไปรับผู้โดยสารในพื้นที่ดังกล่าวผ่านช่องทางพิเศษออกมาได้ โดยที่เจ้าหน้าที่ศุลกากร ไม่ได้ตรวจสอบสัมภาระของผู้โดยสารว่ามีสิ่งของที่ผิดกฎหมายนำติดตัวมา เช่น สินค้าหนีภาษี อาวุธ ของมีคม ยาเสพติด เป็นต้น

    นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำคัญที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ต้องดำเนินการต่อ คือ การขยายพื้นที่ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิประกอบด้วย

    1. อาคารส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก วงเงินลงทุน 7,830 ล้านบาท เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี

    2. อาคารส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตก งบลงทุน 7,830 ล้านบาท เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี

    3. โครงการส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ วงเงินลงทุน 41,260 ล้านบาท รองรับผู้โดยสารเพิ่ม 40 ล้านคน

    และยังมีโครงการเร่งโอนย้ายสนามบิน 3 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ จากกรมท่าอากาศยาน โดย ทอท. วางแผนใช้วงเงิน 9,000-10,000 ล้านบาทในการพัฒนา 3 สนามบิน