ThaiPublica > สู่อาเซียน > คืน “สวนน้ำพุ” เวียงจันทน์ สู่การเป็น “สมบัติสาธารณะ”

คืน “สวนน้ำพุ” เวียงจันทน์ สู่การเป็น “สมบัติสาธารณะ”

22 กรกฎาคม 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

สวนน้ำพุ แลนด์มาร์คอันโดดเด่นของนครหลวงเวียงจันทน์ที่มีประวัติยาวนาน กำลังจะถูกทำกลับมาเป็นสวนสาธารณะอีกครั้ง ที่มาภาพ: AIDC

วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 พึดสะพา พุมมะสัก ประธาน บริษัทเอเชียลงทุนพัฒนาและก่อสร้าง จำกัด (AIDC) ได้จัดแถลงข่าวขึ้นที่สวนน้ำพุ นครหลวงเวียงจันทน์ เรื่องการคืนกรรมสิทธิ์พื้นที่แห่งนี้คืนกลับไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาลลาว โดยองค์กรพัฒนาและบริหารนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อให้สวนน้ำพุได้กลับไปเป็นสวนสาธารณะ ให้บริการแก่ประชาชนชาวเวียงจันทน์ได้อีกครั้งหนึ่ง

พึดสะพาบอกว่า ขั้นตอนขณะนี้ AIDC กำลังรวมรวมความคิดเห็นจากสมาคมสถาปนิก ผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะนำไปเสนอต่อองค์กรพัฒนาและบริหารนครหลวงเวียงจันทน์ว่า จะปรับปรุงรูปแบบสวนน้ำพุให้ออกมาเป็นเช่นไร และควรต้องใช้งบประมาณในการดูแลรักษาเท่าใด

เบื้องต้น จะคงรูปแบบอ่างน้ำพุดั้งเดิม ตลอดจนเก็บรักษาอาคารเก่าแก่ที่อยู่โดยรอบสวนน้ำพุเอาไว้ บางอาคารอาจปรับใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ หรือบางอาคารอาจเปิดเป็นศูนย์ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว (tourist information center) ส่วนสิ่งปลูกสร้างใหม่ที่เคยบดบังทัศนียภาพของอ่างน้ำพุ ต้องถูกรื้อถอนออก เพื่อเปิดพื้นที่ให้อ่างน้ำพุมีความโดดเด่น

เขาคาดว่า การรื้อถอนจะเริ่มได้ประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2565 ที่จะถึงนี้ หลังจากรูปแบบสวนน้ำพุใหม่ที่บริษัทเสนอไป ได้ผ่านการรับรองจากองค์กรพัฒนาและบริหารนครหลวงเวียงจันทน์แล้ว

……

สวนน้ำพุในอดีต ที่มาภาพ : Lao Youth Radio FM 90.0 Mhz และ หนังสือพิมพ์ลาวพัฒนา

“สวนน้ำพุ” เป็นพื้นที่ซึ่งมีประวัติมายาวนาน เคยเป็นแลนด์มาร์กที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของนครหลวงเวียงจันทน์ ผู้ที่เคยไปยังนครหลวงเวียงจันทน์เมื่อก่อน 10 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะชาวต่างประเทศ ล้วนรู้จักกับสวนน้ำพุเป็นอย่างดี

สวนน้ำพุเป็นลานกว้างรูปทรงสี่เหลี่ยมอยู่ริมฝั่งทิศเหนือของถนนเสดถาทิลาด บ้านเชียงยืน เมืองจันทะบูลี

ผู้ที่เคยไปพักโรงแรมลาวพลาซ่า เมื่อต้องการไปเดินเล่นชมบรรยากาศริมฝั่งแม่น้ำโขง ถ้าไม่นั่งรถไป มักใช้เส้นทางเดินตัดตรงจากโรงแรมซึ่งต้องเดินผ่านสวนน้ำพุก่อน

ตรงหัวมุมถนนด้านทิศตะวันตกของสวนน้ำพุ ก็คือร้านอาหาร “ขอบใจเด้อ” ที่นักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่น่าจะต้องรู้จัก

สวนน้ำพุในอดีต ที่มาภาพ : Lao Youth Radio FM 90.0 Mhz และ หนังสือพิมพ์ลาวพัฒนา

ย้อนไปใน พ.ศ. 2463 สวนน้ำพุเคยเป็นที่ตั้งของตลาดเช้าเวียงจันทน์ กระทั่งถึงปี 2518 มีการก่อสร้างวงเวียนและอ่างน้ำพุขึ้นตรงกลางลาน สร้างถนนวนรอบอ่างน้ำพุ ต่อมาในปี 2543 ได้ปรับพื้นที่โดยรอบเป็นสวนสาธารณะ เรียกชื่อว่า “สวนน้ำพุ”

ช่วงเป็นสวนสาธารณะ สวนน้ำพุเป็นสถานที่ซึ่งมีคนรู้จักมากที่สุดแห่งหนึ่งของนครหลวงเวียงจันทน์ เป็นสถานที่ ที่ชาวเวียงจันทน์นิยมไปพักผ่อนหย่อนใจ เดินเล่น ชมน้ำพุ

ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมใช้สวนน้ำพุเป็นจุดนัดแนะให้รถรับจ้างมารับ มาส่ง คนขับรถจัมโบ้หรือจักรยานยนต์รับจ้างของเวียงจันทน์ เรียกจุดนัดพบแห่งนี้จนติดปากว่า “น้ำพุเซ็นเตอร์”

สวนน้ำพุ ยังถูกใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการวัดระยะทางเวลานักท่องเที่ยวต่างประเทศอยากเดินทางออกไปเที่ยวนอกนครหลวงเวียงจันทน์ ดังนั้น จึงมีการกำหนดให้สวนน้ำพุเป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 หรือจุดตั้งต้นการเดินทาง ไม่ว่าจะไปทางทิศเหนือหรือทิศใต้

บริเวณรอบสวนน้ำพุเป็นอาคารเก่าแก่ 2 ชั้น ที่สร้างไว้ตั้งแต่ยุคอาณานิคม หลายคูหาถูกเปิดเป็นร้านอาหารต่างประเทศ มีเชฟชื่อดังจากหลายประเทศมาคอยปรุงอาหารเสิร์ฟ บริษัทข้ามชาติใหญ่ๆ องค์กรระหว่างประเทศที่อยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์แทบทุกแห่ง แม้แต่ธุรกิจใหญ่ๆ ของคนลาวในเวียงจันทน์ นิยมใช้ร้านอาหารที่อยู่รอบๆ สวนน้ำพุ เป็นสถานที่เลี้ยงรับรองแขกเหรื่อ หรือนัดเจรจาธุรกิจ ทั้งในมื้อกลางวันและมื้อเย็น

สวนน้ำพุหลัง AIDC ได้เข้าไปปรับปรุงและพัฒน ที่มาภาพ : AIDC

ปี 2554 สภาพสวนน้ำพุเริ่มทรุดโทรม ปั๊มน้ำพุไม่ทำงาน ขาดไฟส่องสว่างในยามค่ำคืน เนื่องจากงบประมาณในการดูแลขององค์กรพัฒนาและบริหารนครหลวงเวียงจันทน์มีจำกัด AIDC จึงได้เข้ามารับสัมปทานปรับปรุงและพัฒนาสวนน้ำพุ โดยใช้งบประมาณ 10,000 ล้านกีบ (ประมาณ 40 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยน 250 กีบ = 1 บาท ในขณะนั้น)

การปรับปรุงและพัฒนาเริ่มต้นในปลายปี 2554 เปิดให้บริการในวันที่ 23 สิงหาคม 2555

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการพัฒนาสวนน้ำพุของ AIDC ได้มีการสร้างร้านอาหาร “มิกซ์” เป็นร้านอาหารกึ่งผับขึ้นกลางลานกว้างของสวนน้ำพุ กินพื้นที่ยาวมาถึงริมถนนเสดถาทิลาด เปิดเป็นแหล่งบันเทิงยามค่ำคืนหวังขยายรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่

คนที่คุ้นชินกับบรรยากาศดั้งเดิมอัน “คลาสสิก” ของสวนน้ำพุ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า… “เสียดาย”

วันที่ 4 มกราคม 2555 เว็บไซต์วิทยุเอเชียเสรี ภาคภาษาลาว มีรายงานในหัวข้อ “ไม่อยากเห็นน้ำพุ กลายเป็นสถานที่กินดื่ม” เนื้อหาของรายงานชิ้นนี้ เขียนว่า…

ปัจจุบัน สวนน้ำพุกำลังถูกดัดแปลง ก่อสร้าง ให้เป็นแหล่งรวมสถานที่ดื่มกิน โดยบริษัทเอเชียการลงทุน จำกัด ด้วยประมาณ 10,000 ล้านกีบ โดยอ้างว่าเป็นการต้อนรับการประชุมเอเซีย-ยุโรป (ASEM 2012) ในเดือนพฤศจิกายน 2555 ซึ่ง สปป.ลาว เป็นเจ้าภาพ รวมทั้งยังเป็นแผนต้อนรับการท่องเที่ยวลาวในปีเดียวกัน ซึ่งจะเป็นการสร้างสีสันใหม่ให้แก่นครหลวงเวียงจันทน์

การกระทำดังกล่าว ชาวนครหลวงเวียงจันทน์หลายคนให้เหตุผลว่า ไม่จำเป็นที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าสวนน้ำพุ จากตึก อาคารอันเก่าแก่ ที่เป็นเอกลักษณ์ของคนลาวและชาวนครหลวงเวียงจันทน์

บริษัทผู้ลงทุนให้เหตุผลว่า แผนการบูรณะเป็นไปตามนโยบาย 6 ส. ของนครหลวงเวียงจันทน์ ที่ได้วางไว้และได้รับความเห็นพร้อมจากทุกภาคส่วนของนครหลวงเวียงจันทน์ และกลุ่มสถาปนิกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แต่ทางเสียงของประชาชนเห็นว่า สวนสาธารณะน้ำพุ เป็นสถานที่ ซึ่งมีความหมายอันเก่าแก่ เป็นสถานที่พักผ่อนอารมณ์ที่มีความงามอยู่แล้ว และก็เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ถ้ามีการเปลี่ยนโฉมหน้า จะทำให้คับแคบลง และขาดเอกลักษณ์ในตัวของนครหลวงเวียงจันทน์

ทางการลาวบอกว่า การบูรณะสวนน้ำพุ เป็นการยกระดับความทันสมัยของพื้นที่ เพราะตึก อาคารต่างๆ ในบริเวณนั้น ก็ทรุดโทรมมากแล้ว…

สวนน้ำพุใหม่หลังจากได้รับการปรับปรุงและพัฒนา เป็นเหมือนดาบสองคม!

สวนน้ำพุยุคใหม่ ในยามค่ำคืน ที่มาภาพ : AIDC

ด้านหนึ่งดูมีสีสัน ทันสมัย นักท่องเที่ยวหน้าใหม่ที่ชอบดื่มกินในบรรยากาศแบบนี้ ได้เข้ามาเพิ่มความคึกคักให้กับพื้นที่โดยเฉพาะในยามค่ำคืน จากที่เคยเป็นมุมมืดอันเงียบสงัด

แต่อีกด้านหนึ่ง สีสัน ความคึกคักที่เข้ามา ทำให้ชาวเวียวจันทน์ผู้ที่เคยนิยมพาลูกจูงหลานมาเดินพักผ่อนหย่อนใจยังสวนน้ำพุค่อยๆ ลดจำนวนลง กระทั่งถึงขั้นหายไป

เหตุผลสำคัญคือ ทุกคนคิดว่า “สวนน้ำพุมีเจ้าของ ไม่ใช่สวนสาธารณะอีกต่อไปแล้ว”

สวนน้ำพุใหม่ภายใต้การดูแลของ AIDC เปิดให้บริการได้ 5 ปี ก็ต้องมีการปรับปรุงอีกครั้ง

วันที่ 11 ธันวาคม 2560 เว็บบล็อก Lao Update Newsเสนอบทความหัวข้อ “ลองไปดู! สวนน้ำพุปรับปรุงใหม่ ด้วยงบ 3,000 ล้านกีบ หวังดึงความเป็นแลนด์มาร์คสำคัญในกลางเวียงจันทน์ กลับคืนมา” ส่วนหนึ่งของเนื้อหาเขียนไว้ดังนี้…

หากพูดถึงน้ำพุเวียงจันทน์แล้ว เป็นแลนด์มาร์คสำคัญมาหลายสิบปี ถือเป็นเขตพักผ่อนและรับประทานอาหารยามเย็นของนักท่องเที่ยว เนื่องจากในบริเวณดังกล่าว มีร้านอาหารต่างๆ ไว้บริการ ซึ่งอาจพูดได้ว่า คนที่มานครหลวงเวียงจันทน์ ต้องมาเดินชมสวนน้ำพุแห่งนี้

แต่หลังจากที่น้ำพุได้รับการสัมปทาน และปรับปรุงใหม่ในปี 2555 แลนด์มาร์คแห่งนี้ก็ค่อยๆ จางหายไป เพราะหลายคนคิดว่า มันมีเจ้าของและไม่ใช่สถานที่สาธารณะให้คนไปเดินเล่นได้เหมือนแต่ก่อนแล้ว ครั้นจะเข้าไปเซลฟี่เพื่ออวดเพื่อน ก็อายสายตาแขกที่อยู่ในร้านอาหาร ทำให้คำว่าน้ำพุจางหายไปตามกาลเวลา และแทนที่ชื่อด้วยร้านอาหาร “มิกซ์”

ในปี 2560 ผู้ได้รับสัมปทานน้ำพุ ตัดสินใจปรับปรุงพื้นที่น้ำพุครั้งใหม่ ด้วยงบประมาณ 3,000 ล้านกีบ โดยเน้นให้เป็นพื้นที่สาธารณะมากขึ้น และรองรับการจัดกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในปีท่องเที่ยวลาว 2561 โดยใช้เวลาปรับปรุง 3 เดือน และได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนชื่อร้านอาหารจาก “มิกซ์” เป็นร้าน “สวนน้ำพุ” หวังดึงดูดความสนใจให้กลับมา กลายเป็นแลนด์มาร์คของเมืองเวียงจันทน์อีกครั้ง

สวนน้ำพุยุคใหม่ ในยามค่ำคืน ที่มาภาพ : AIDC

ดาลุนี พุมมะสัก ผู้อำนวยการสวนน้ำพุ ให้สัมภาษณ์ว่า เหตุผลและแนวความคิดในการปรับปรุงสวนน้ำพุครั้งนี้ คืออยากพัฒนารูปแบบร้านอาหารให้กลายเป็นสวนมากขึ้น มีสิ่งแวดล้อมโดยรอบที่สวยงาม กลายเป็นสวนสาธารณะที่นักท่องเที่ยวทั้งภายในและต่างประเทศมาพักผ่อนได้ ถ่ายรูปได้โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ …

เว็บไซต์ “ม่วน” โดยสนุกดอทคอมรายงานข่าวในวันที่ 22 ธันวาคม 2560 พาดหัวว่า “สวนน้ำพุ เปลี่ยนรูปลักษณ์ใหม่ สร้างความโดดเด่น ต้อนรับปีท่องเที่ยวลาว” เนื้อข่าวโดยสังเขป เขียนว่า…

ถือเป็นการเปลี่ยนโฉมครั้งใหญ่ เพื่อเน้นต้อนรับและสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวทั้งภายในและต่างประเทศ เนื่องในโอกาสปีท่องเที่ยวลาว 2561 ผู้บริหารได้เปลี่ยนชื่อร้าน “มิกซ์” เป็นร้าน “สวนน้ำพุ” เพื่อให้สอดคล้องกับจุดที่ตั้งใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์ อันเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ มีบทบาทต่อวิถีชีวิตชาวเมือง พร้อมเรื่องเล่าในแต่ละยุคสมัย สวนน้ำพุจึงได้รวมเอาสัญลักษณ์อันโดดเด่นของใจกลางเมืองเอกของประเทศมาไว้ ณ สถานที่นี้

ดาลุนี พุมมะสัก ผู้อำนวยการสวนน้ำพุ ให้สัมภาษณ์ว่า การปรับปรุงครั้งนี้ ใช้งบประมาณ 3,000 ล้านกีบ โดยตกแต่งภายในให้มีหลากหลายสีสัน เพื่อเนรมิต เพิ่มเสน่ห์ที่น่าประทับใจให้แก่สถานที่ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งภายในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ ได้แบ่งโซนการบริการให้หลากหลายขึ้น มีทั้งเขตบันเทิงของวัยหนุ่ม และเขตวีไอพี มีโซนอาหารนานาชาติ อาหารญี่ปุ่น มีชั้นดาดฟ้าที่สามารถมองมุมกว้างของใจกลางนครหลวงได้อย่างมีชีวิตชีวา มีโซนบาร์และคอกเทล นอกจากนั้น ยังมีมุมสวนอาหาร ที่สามารถนั่งชมสีสันของน้ำพุยามค่ำคืนได้อย่างใกล้ชิด

สวนน้ำพุแห่งนี้ ถือเป็นแลนด์มาร์กที่โดดเด่นด้วยหอนาฬิกาใหญ่ ล้อมรอบด้วยอาคารแบบฝรั่งเศส มีการนำเสนอรูปภาพ บรรยากาศของสวนน้ำพุในแต่ละยุคสมัยไว้บนกำแพงด้านซ้าย ส่วนด้านในก็จะเห็นสีสันและการเคลื่อนไหวของสายน้ำ ท่ามกลางเสียงดนตรีที่สนุกสนาน สามารถเข้าไปถ่ายภาพเซลฟี่ได้โดยไม่เสียค่าเข้า…

แต่การปรับปรุงครั้งใหม่ ก็ไม่สามารถล้างความรู้สึก “เสียดาย” ที่อยู่ในใจของผู้ที่ยังระลึกถึงความคลาสสิคของ “สวนน้ำพุ” ดั้งเดิมอยู่

การแถลงข่าวของ AIDC เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ที่มาภาพ : Lao Youth Radio FM 90.0 Mhz

การแถลงข่าวครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 พึดสะพา พุมมะสัก ประธาน AIDC กล่าวว่า ที่ผ่านมา สวนน้ำพุได้รับใช้ เป็นสถานที่รับแขก ทั้งจากภายในและต่างประเทศ เช่น รับใช้การประชุม ASEM ต้อนรับนักท่องเที่ยว เป็นสถานที่จัดกิจการซาวหนุ่ม การแสดงศิลปะ เผยแพร่วัฒนธรรม มีผู้เข้ามาใช้พื้นที่นี้แต่ละปี มากกว่า 20,000-30,000 คน

มาถึงปี 2564 ตามการเรียกร้องของสังคมและรัฐบาล โดยเฉพาะท่านนายกรัฐมนตรี พันคำ วิพาวัน เมื่อครั้งที่ท่านขึ้นมารับตำแหน่งใหม่ๆ ได้มีความเป็นห่วงเป็นใยต่อมรดกของชาติ มูลค่าทางด้านวัฒนธรรม และจิตใจของประชาชน AIDC จึงได้สมัครใจตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี และเป็นการแสดงการรับรู้ถึงบุญคุณของประเทศชาติ จึงขอมอบสวนน้ำพุคืนสู่รัฐบาล คือ องค์กรพัฒนาและบริหารนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อให้เป็นสวนสาธารณะ 100% โดยที่ ADIC จะไม่เรียกร้องการชดเชยใดๆ และบริษัทยังพร้อมให้การสนับสนุน สวนน้ำพุแห่งนี้ต่อไป

……

พึดสะพา พุมมะสัก ประธาน บริษัทเอเชียลงทุนพัฒนา และก่อสร้าง จำกัด (AIDC)

บริษัท เอเชียลงทุนพัฒนา และก่อสร้าง จำกัด เป็นบริษัทในเครือบริษัทเอเซียการลงทุนและบริการ หรือ AIF Group กลุ่มธุรกิจของตระกูลพุมมะสัก ซึ่งเติบโตขึ้นจากกิจการร้านขายทองในนครหลวงเวียงจันทน์

พึดสะพา เป็นน้องชายของลิดทิกอน พุมมะสัก อดีตรัฐกร (ข้าราชการ) กระทรวงการเงิน ซึ่งเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งประธาน AIF Group

ทั้งคู่จบการศึกษาจากประเทศออสเตรเลีย

AIF Group ดำรงบทบาทเป็นบริษัทจัดการลงทุน ทำหน้าที่จัดสรรเงินทุนใส่เข้าไปในธุรกิจที่กำลังขยายตัว หรือมีอนาคตในหลายแขนงของลาว เช่น ธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค โดยมีการลงทุนในเขื่อนผลิตไฟฟ้า 7 แห่ง กำลังการผลิตรวม 616 เมกกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังลม 4 แห่ง กำลังการผลิตรวม 2,200 เมกะวัตต์ รวมถึงเป็นผู้ลงทุนหลักในธุรกิจน้ำประปาในพื้นที่ส่วนเหนือของนครหลวงเวียงจันทน์ ตลอดจนธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

ตามข้อตกลงฉบับที่ 50/นย. ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ว่าด้วยการแต่งตั้งคณะช่วยงานนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เสมือนที่ปรึกษาเศรษฐกิจให้กับพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีของลาว ลิดทิกอน พุมมะสัก เป็น 1 ใน 7 ที่ปรึกษาที่ได้รับการแต่งตั้ง โดยมีรายชื่ออยู่ในลำดับที่ 7

การเซ็นสัญญาซื้อ-ขายหุ้น 49% ในบริษัทรัฐวิสาหกิจไปรษณีย์ลาว ระหว่างกระทรวงการเงิน และ AIF Group เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 ที่มาภาพ : กระทรวงการเงิน

วันที่ 28 เมษายน 2565 AIF Group ได้รับเลือกจากรัฐบาลลาวให้เข้าไปซื้อหุ้น 49% ในบริษัทรัฐวิสาหกิจไปรษณีย์ลาว รัฐวิสาหกิจเก่าแก่ที่ตั้งขึ้นตั้งแต่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2518

ก่อนหน้านี้ เมื่อปลายปี 2563 รัฐบาลลาวในช่วงท้ายสมัยของนายกรัฐมนตรี ทองลุน สีสุลิด มีนโยบายให้แปรรูปบริษัทรัฐวิสาหกิจไปรษณีย์ลาวด้วยการนำหุ้น 49% ออกมาประมูลขายโดยไม่ได้ระบุเหตุผล มีประกาศเชิญชวนบุคคล นิติบุคคล หรือวิสาหกิจภายในประเทศ ให้เข้าร่วมประมูลซื้อหุ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กระทั่งได้มีการเปิดเผยผลการประมูลจากการเซ็นสัญญาซื้อ-ขายหุ้นบริษัทรัฐวิสาหกิจไปรษณีย์ลาว ระหว่างกระทรวงการเงินกับ AIF Group ในอีก 1 ปีถัดมา…

  • เปิดชื่อ 7 นักธุรกิจชั้นนำลาว ที่ปรึกษาเศรษฐกิจนายกรัฐมนตรี
  • ASEAN Roundup กลุ่ม AIF หนึ่งในที่ปรึกษานายกฯพันคำ วิพาวัน เข้าถือหุ้น 51% ไปรษณีย์ลาว