ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup กลุ่ม AIF หนึ่งในที่ปรึกษานายกฯพันคำ วิพาวัน เข้าถือหุ้น 51% ไปรษณีย์ลาว

ASEAN Roundup กลุ่ม AIF หนึ่งในที่ปรึกษานายกฯพันคำ วิพาวัน เข้าถือหุ้น 51% ไปรษณีย์ลาว

8 พฤษภาคม 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 1-7 พฤษภาคม 2565

  • กลุ่ม AIF หนึ่งในที่ปรึกษานายกฯพันคำ วิพาวัน เข้าถือหุ้น 51% ไปรษณีย์ลาว
  • เวียดนามทำแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงใต้
  • เวียดนามจะส่งออกข้าวไปอาเซียนมากขึ้น
  • มาเลเซียตั้งเป้าชิงคืนส่วนแบ่งตลาดน้ำมันปาล์มในอียู
  • กัมพูชาเริ่มก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกกัมปอต
  • RCEP จีนกับเมียนมามีผลใช้แล้ว
  • กลุ่ม AIF หนึ่งในที่ปรึกษานายกฯพันคำ วิพาวัน เข้าถือหุ้น 51% ไปรษณีย์ลาว

    ที่มาภาพ: https://aifgrouplaos.com/News/NewsDetails?id=45

    บริษัทเอเชียการลงทุน พัฒนาและก่อสร้าง หรือ Asia Investment, Development & Construction (AIDC) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทเอเชียการลงทุนและบริการหรือ AIF Group (Asia Investment and Financial Services Co., Ltd) ได้เข้าซื้อหุ้นและเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน Enterprise de Postes Laos ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจไปรษณีย์ของลาว

    พิธีลงนามได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่หอประชุมกระทรวงการเงิน โดยมีดร.สอนเพ็ด อินทะวง อธิบดีกรมปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและการประกันภัย จากกระทรวงการเงินในฐานะตัวแทนของไปรษณีย์ลาว และนายลัดตะนะมะนี คูนนิวง รองประธานอาวุโส AIDC

    โดยมีนายบุนพน วันนะจิต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเงิน และ ดร.สันติสุข สมมะนีวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร และเจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่นๆ ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม

    ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรีที่อนุมัติการขายหุ้น 51% ของ Entreprise des Postes Lao ให้กับโลจิสติกส์ เวนเจอร์(Logistic Venture )บริษัทลูกของ AIDC โดยที่กระทรวงการเงินยังคงถือหุ้น 49% ซึ่งจะส่งผลให้ไปรษณีย์ลาวดำเนินธุรกิจในรูปกิจการร่วมค้า

    AIDC เป็นบริษัทในเครือของ AIF Group ซึ่งดำเนินธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรมในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการธนาคาร บริการ การขนส่ง โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาซอฟต์แวร์

    กลุ่ม AIF เป็น 1 ใน คณะที่ปรึกษานาย พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีลาว จากการแต่งตั้งในเดือนมิถุนายน 2564

  • เปิดชื่อ 7 นักธุรกิจชั้นนำลาว ที่ปรึกษาเศรษฐกิจนายกรัฐมนตรี
  • AIF Group เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่มีพลวัตและมีความหลากหลายมากที่สุดในประเทศลาว ครอบคลุม สาธารณูปโภคด้านพลังงาน โลหะมีค่า การก่อสร้าง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริการด้านการธนาคารและการเงิน อุปกรณ์เฉพาะทาง บริการโทรคมนาคมและไอทีโซลูชั่น ธุรกิจบริการต้อนรับ อีคอมเมิร์ซ บริการโลจิสติกส์และขนส่ง อีกทั้งขยายธุรกิจไปยัง 5 ประเทศอาเซียนประกอบด้วย กัมพูชา เมียนมา สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม

    โลหะมีค่าและการค้าทั่วไปเป็นรากฐานของธุรกิจของกลุ่ม AIF และเป็นองค์ประกอบใหญ่ที่สุดของรายได้ของกลุ่ม AIF โดยที่ AIF Precious Metal เป็นธุรกิจซื้อขายโลหะมีค่าเพียงแห่งเดียวที่ยังดำเนินการต่อเนื่องในลาว

    ข้อมูลเว็บไซต์บริษัทระบุว่า กลุ่ม AIF เป็นธุรกิจก่อตั้งโดยตระกูลพุมมะสักตั้งแต่ปี 2534 โดยมีนายลิดทิกอน พุมมะสัก เป็นประธานกลุ่มบริษัท AIF

    นายลิดทิกอน พุมมะสักประธานกลุ่มบริษัท AIF ลาว ที่มาภาพ:https://aifgrouplaos.com/Home/Management

    นายลิดทิกอนเริ่มเส้นทางอาชีพการงานด้วยเข้าร่วมกระทรวงการเงินของลาวในปี 2543 และได้รับมอบหมายให้เป็นคณะทำงานหลายคณะที่รับผิดชอบในการระดมทุนระหว่างประเทศและการออกพันธบัตรเพื่อการพัฒนาโครงการลงทุนของประเทศ ได้แก่ เขื่อนน้ำเทิน 2 โรงไฟฟ้าหงสา และ โครงการรถไฟลาวจีน เขายังทำงานอย่างใกล้ชิดกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย และสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือในการประเมินเศรษฐกิจลาวประจำปี นายลิดทิกอนดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่งในกระทรวงการเงินและยังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทในบริษัทพลังงานและโทรคมนาคมหลายแห่ง

    ในปี 2559 นายลิดทิกอนลาออกจากกระทรวงการเงินเพื่อเข้าร่วมกลุ่ม AIF ธุรกิจที่ก่อตั้งโดยตระกูลพุมมะสักตั้งแต่ปี 2534 ในฐานะที่ปรึกษาอาวุโส เขามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนกลุ่มให้กระจายจากธุรกิจการค้าไปยังธุรกิจอื่นๆ เช่น พลังงาน ทางด่วน , น้ำ, อสังหาริมทรัพย์, การธนาคาร, โทรคมนาคม, บริการไอที, โลจิสติกส์, เกษตรกรรมและการบริการ นอกจากนี้ เขายังรับผิดชอบในการขยายธุรกิจของ AIF ไปยังกัมพูชา ไทย สิงคโปร์ และเวียดนาม

    ในปี 2562 นายลิดทิกอนได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกลุ่ม AIF และในปี 2564 ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานธนาคาร BIC ลาว และในปีเดียวกันก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะผู้ช่วยงานนายกรัฐมนตรีของ สปป. ลาวจากภาคเอกชน โดยมีหน้าที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจและการส่งเสริมการส่งออกแก่รัฐบาล

    นายลิดทิกอนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาการจัดการธุรกิจ ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศและการเงินจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย และปริญญาเอกสาขาการจัดการธุรกิจจากมหาวิทยาลัย Hohai ประเทศจีน นอกจากนี้ยังได้เข้าร่วมการสัมมนาและการฝึกอบรมมากกว่า 30 ครั้งในสถาบันต่างๆ เช่น สถาบันไอเอ็มเอฟในกรุงวอชิงตัน ดีซี, สถาบันวิทยาการตลาดทุนไทย, สถาบันการบัญชีแห่งชาติเซี่ยงไฮ้, สถาบันการธนาคารเกาหลี, ศูนย์การเงินระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น, สถาบัน ADB และอื่นๆ

    เวียดนามทำแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงใต้

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/southeastern-region-oriented-towards-dynamic-development/227726.vnp
    เวียดนามจะเริ่มจัดทำแผนสำหรับภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงปี 2564 – 2573 พร้อมวางวิสัยทัศน์ไว้ถึงปี 2593 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาให้เป็นภูมิภาคที่มีพลวัต และเป็นผู้นำในการปฏิรูปรูปแบบการเติบโต หลังจากที่แผนงานนี้ได้รับอนุมัติโดยรองนายกรัฐมนตรีเลอ วัน ถันห์ เมื่อเร็วๆนี้

    ตามแผนการภาคตะวันออกเฉียงใต้จะครอบคลุมผืนดิน เกาะ หมู่เกาะ ใต้ดิน ทะเล และท้องฟ้าภายใต้อำนาจอธิปไตย สิทธิอธิปไตย และเขตอำนาจศาลของเวียดนามใน 6 ท้องที่ คือนครโฮจิมินห์ จังหวัดด่ง นาย, บิ่ญเซือง จังหวัดบ่าเหรี่ยะ – หวุงเต่า, บิ่ญเฟื้อก และ เต็ยนิญ

    การวางแผนระดับภูมิภาคต้องสอดคล้องกับเป้าหมายและแนวทางที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ปี 2564 – 2573 และแผนพัฒนาปี 2564 – 2568 รวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการเติบโตสีเขียวและการพัฒนาที่ยั่งยืน ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนทางทะเลของเวียดนาม เศรษฐกิจตลอดจนสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เวียดนามร่วมเป็นภาคี

    งานวางแผนต้องรับรองการพัฒนาทั่วทั้งภูมิภาค การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดสรร ใช้ประโยชน์ และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมเหตุสมผลและมีประสิทธิภาพ อนุรักษ์มรดกทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และธรรมชาติในท้องถิ่น และลดผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนท้องถิ่น

    นโยบายด้านอื่น ๆ จะต้องนำมาพิจารณาในระหว่างกระบวนการวางแผนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาในพื้นที่ด้อยโอกาสและเป็นหลักในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืนสำหรับคนในท้องถิ่น

    กระทรวงการวางแผนและการลงทุนมีหน้าที่รับผิดชอบในการเป็นประธานและประสานงานกับกระทรวง หน่วยงาน และราชการส่วนท้องถิ่นอื่นๆ เพื่อการปฏิบัติงาน

    เวียดนามจะส่งออกข้าวไปอาเซียนมากขึ้น

    ที่มาภาพ: https://en.nhandan.vn/business/item/11457002-vietnam-aims-to-boost-rice-export-to-asean.html

    สำนักงานส่งเสริมการค้าเวียดนาม (Vietrade) ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) จะประสานงานกับสำนักงานการค้าของเวียดนามในประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) เพื่อจัดประชุมหารือเกี่ยวกับการส่งออกข้าว โดยที่ปรึกษาการค้าของเวียดนามในอินโดนีเซียและลาว และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบกิจการการค้าในมาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย จะรายงานเกี่ยวกับตลาดส่งออกข้าวหลักของเวียดนาม

    ในปีที่แล้ว ฟิลิปปินส์เป็นผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยนำเข้า 2.45 ล้านตัน มูลค่ากว่า 1.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ในไตรมาสแรกของปีนี้ ฟิลิปปินส์ยังคงครองที่หนึ่ง โดยมีนำเข้าคิดเป็น 44.7% และ 42.6% ของปริมาณและมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมดของเวียดนามตามลำดับ

    นอกจากฟิลิปปินส์แล้ว ข้าวเวียดนามยังส่งออกไปยังตลาดสำคัญอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และบรูไน

    การส่งออกข้าวของเวียดนามไปยังมาเลเซียในเดือนมกราคมเพิ่มขึ้น 163.4% ในแง่ปริมาณและ 156% ในแง่มูลค่าเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 104% และ 67.5% เมื่อเทียบเป็นรายปีตามลำดับ

    กระทรวงฯ เห็นว่า เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการส่งออก ภาคส่วนควรสำรวจความต้องการข้าวในแต่ละตลาดอาเซียน โดยชี้ว่า เวียดนามควรให้ความสำคัญกับนโยบายการค้ากับประเทศในภูมิภาคมากขึ้น ใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบจากข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนและคู่ค้าทั่วโลก และยกระดับ ความสามารถทางเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสินค้า

    มาเลเซียตั้งเป้าชิงคืนส่วนแบ่งตลาดน้ำมันปาล์มในอียู

    Zuraida Kamaruddin, Malaysia’s Minister of Plantation Industries and Commodities
    ที่มาภาพ: https://www.theedgemarkets.com/article/malaysia-paving-way-palm-oil-regain-market-share-eu-says-zuraida
    กระทรวงอุตสาหกรรมการเพาะปลูกและสินค้าโภคภัณฑ์ (Ministry of Plantation Industries and Commodities:MPIC) จะใช้ประโยชน์จากปัญหาการขาดแคลนน้ำมันบริโภคทั่วโลก ท่ามกลางความตึงเครียดทางการเมืองในยุโรปเพื่อส่งเสริมน้ำมันปาล์มของมาเลเซีย ปูทางให้สินค้าโภคภัณฑ์ชิงคืนส่วนแบ่งการตลาด โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป

    ดาโต๊ะ ซูไรดา กามารุดดิน รัฐมนตรีกระทรวง MOIC กล่าวว่า การรุกรานยูเครนของรัสเซียเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ปีนี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อปริมาณน้ำมันพืชทั่วโลก เนื่องจากความไม่แน่นอนของการส่งออกในทะเลดำส่งผลให้ราคาน้ำมันพืช น้ำมันพืชเพื่อการบริโภคสูงขึ้น

    “ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันดอกทานตะวันและน้ำมันคาโนลา โดยทั้งสองประเทศส่งออกมากถึง 80% ของการส่งออกทั่วโลก

    “MPIC เชื่อว่าความตึงเครียดในทะเลดำจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกน้ำมันปาล์มของมาเลเซีย เนื่องจากหลายประเทศในยุโรปที่พึ่งพาน้ำมันดอกทานตะวันสูงได้เปลี่ยนความต้องการไปใช้น้ำมันปาล์ม” ซูไรดากล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ (6 พ.ค.)

    ซูไรดากล่าวว่า ยูเครนและรัสเซียกำลังเข้าสู่เดือนสำคัญสำหรับการปลูกทานตะวัน ซึ่งควรจะเริ่มในเดือนเมษายน ดังนั้น สงครามที่ยืดเยื้ออาจมีผลต่อฤดูเพาะปลูก

    การส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันของยูเครนและรัสเซียคิดเป็น 10% ของการส่งออกน้ำมันพืชทั่วโลก และนักวิเคราะห์ตลาดคาดการณ์ว่า ความต้องการน้ำมันปาล์มจากภาคพื้นสหภาพยุโรปจะเพิ่มขึ้นในระยะใกล้นี้ เนื่องจากการส่งออกถั่วเหลืองจากบราซิล ปารากวัย รัสเซีย และยูเครนมีปริมาณที่น้อยลง รวมทั้งการส่งออกดอกทานตะวันที่ลดลงจากรัสเซีย คาซัคสถาน และยูเครน

    เมื่อผนวกกับการดำเนินการล่าสุดโดยประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก ที่ได้การขยายขอบเขตการห้ามส่งออกครอบคลุมวัตถุดิบสำหรับน้ำมันประกอบอาหาร รวมถึงน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มที่กลั่นแล้ว ราคาน้ำมันพืชทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะยังคงสูงในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ซูไรดากล่าว

    “นี่คือเหตุผลที่เชื่อว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม ที่น้ำมันปาล์มจะได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ซื้อในยุโรปอีกครั้ง จากชื่อเสียงสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงที่ผ่านมา”

    ซูไรดากล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ MPIC เช่นสภาน้ำมันปาล์มมาเลเซีย( Malaysian Palm Oil Council) และ คณะกรรมการนำ้มันปาล์มมาเลเซีย(Malaysian Palm Oil Board) ให้ดำเนินการอย่างจริงจังและรณรงค์ไม่เพียงแค่ให้สินค้าเข้ามาเสริมช่องว่างของตลาดโลกในช่วงนี้ หน่วยงานเหล่านี้ร่วมกับ MPIC จะต้องทำให้น้ำมันปาล์มของมาเลเซียยังคงเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ในตลาดโลกในระยะยาว โดยเฉพาะผู้บริโภคเคยประสบกับการโฆษณาชวนเชื่อผิดๆในอดีต

    ซูไรดาเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ เพิ่มความพยายามในการต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อที่ส่งผลเสีย ซึ่งบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของน้ำมันปาล์ม และแสดงประโยชน์ด้านสุขภาพมากมายจากน้ำมันปาล์ม

    ผลสำรวจของ Reuters ที่เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (6 พ.ค.) พบว่า สต็อกน้ำมันปาล์มของมาเลเซีย ณ สิ้นเดือนเมษายนมีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เนื่องจากการผลิตและการนำเข้าเพิ่มขึ้น

    ปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้น 5.2% จากเดือนก่อนเป็น 1.55 ล้านตัน ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม จากการประมาณการเฉลี่ยของผู้ปลูก ผู้ค้า และนักวิเคราะห์ 8 รายที่สำรวจโดย Reuters

    ผลผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่อันดับสองของโลกมองไว้ที่ 4.9% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือนที่ 1.48 ล้านตัน การส่งออกมีแนวโน้มลดลง 5.6% มาอยู่ที่ 1.2 ล้านตัน ในขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นเกือบ 12% ที่ 95,000 ตัน โดยผู้

    ผู้ตรวจสำรวจสินค้าประเมินว่าการส่งออกจะร่วงลงแรงราว 13.6-16% เพราะผู้ซื้อรายใหญ่ อย่าง จีน อินเดีย และยุโรปชะลอการสั่งซื้อเป็นผลจากราคาที่พุ่งสูงขึ้น

    ความต้องการส่งออกของมาเลเซียน่าจะเพิ่มขึ้นหลังจาก อินโดนีเซียผู้ผลิตรายใหญ่ห้ามการส่งออกเพื่อบรรเทาราคาในประเทศที่พุ่งสูง ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อหันมาซื้อจากมาเลเซีย และไทย

    กัมพูชาเริ่มก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกกัมปอต

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/construction-begins-15b-kampot-seaport

    โครงการ International Multi-Purpose Logistics and Port Centre ซึ่งมีมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์และมี Kampot Logistics and Port Co Ltd เป็นผู้ลงทุนหลัก ได้เริ่มการก่อสร้างอย่างเป็นทางการแล้ว ในเมืองโบกอร์ จังหวัดกัมปอต

    ศูนย์โลจิสติกส์และท่าเรืออเนกประสงค์ จะสร้างขึ้นบนที่ดินริมทะเลขนาด 600 เฮกตาร์ที่ระดับความลึกของน้ำ 15 เมตร ซึ่งจะสามารถรองรับเรือที่มีน้ำหนักมากถึง 100,000 ตันได้

    นายซุน จันทอล รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและคมนาคม กล่าวในพิธีวางศิลาฤกษ์ของโครงการเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมว่า โครงการจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาของกัมพูชาและช่วยให้บรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2593

    นายจันทอลชี้ว่า โครงการจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยจัดระบบโลจิสติกส์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) และภาคน้ำมันและก๊าซในกัมพูชา

    “ท่าเรือนี้จะช่วยเสริมการทำงานของท่าเรือพระสีหนุและท่าเรืออิสระในพนมเปญ และการมีที่ตั้งตามแนวแม่น้ำบาสักหมายความว่าท่าเรือนี้จะมีบทบาทสำคัญในการขนส่งสินค้าเกษตรทั่วประเทศและเพื่อจำหน่ายในต่างประเทศ”

    โครงการแบ่งดำเนินการใน 3 ระยะ โดยระยะแรกคาดว่าจะมีมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ และจะเริ่มดำเนินการในปี 2568 โดยจะบริการจัดการสินค้าแบบยกขนตู้สินค้า(Lift-On Lift-Off)ในขนาด 20 ฟุต ได้มากถึง 300,000- 600,000 ตู้ ภายในปี 2573 ซึ่งTEU ย่อมาจาก Twenty foot Equivalent Unit คือ ตู้สินค้าที่มีขนาด 20 ฟุต ภายในมีความยาว 20 ฟุต กว้าง 8 ฟุต สูง 8 ฟุต โดยประมาณ ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมเดินเรือ

    นายเจีย โสภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการจัดการที่ดิน การวางผังเมืองและการก่อสร้าง กล่าวว่า ศูนย์โลจิสติกส์และท่าเรือจะสามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าทั้งแห้งและของเหลวได้ ซึ่งจะทำให้การค้าขายได้หลากหลายขึ้นและลดต้นทุนในการขนส่ง

    “เรารู้สึกตื่นเต้นมากที่มีท่าเรือขนาดใหญ่ … ท่าเรือมีอุปกรณ์ที่ทันสมัยที่สามารถอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายเรือขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวมถึงการจำหน่ายสินค้าไปยังส่วนต่างๆ ของประเทศ”

    นายสิน จันธี ประธานสมาคมโลจิสติกส์แห่งกัมพูชา (CLA) ที่เข้าร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์ ชี้ว่า โครงการนี้มีขอบเขตและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

    “เมื่อท่าเรือกัมปอตเปิดใช้งาน มีแนวโน้มว่าจะทำกำไรได้มากกว่าท่าเรือสีหนุวิลล์ เนื่องจากกัมปอตอยู่ใกล้กับพนมเปญ ดังนั้นจึงสะดวกกว่าสำหรับผู้ค้า ท่าเรือสีหนุวิลล์มักจะแออัด ดังนั้นหวังว่าท่าเรือกัมปอตจะเป็นทางเลือกที่สะดวกกว่า”

    RCEP จีนกับเมียนมามีผลใช้แล้ว

    ที่มาภาพ: https://elevenmyanmar.com/news/border-trade-between-myanmar-and-china-reaches-nearly-us-5-m-till-feb-11
    ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(Regional Comprehensive Economic Partnership:RCEP) ระหว่างจีนกับเมียนมามีผลแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ซึ่งจะทำให้เมียนมาสามารถเข้าถึงโอกาสของข้อตกลงได้รวมทั้งสิทธิภาษีศุลกากรของจีนและอื่นๆ

    เมียนมา สมาชิกอาเซียนที่ยังม่ได้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนนัก(ACFTA)ที่ได้ลงนามในปี 2010 อย่างไรก็ตาม ACFTA เป็นข้อตกลงการค้าเสรีฉบับแรกระหว่างอาเซียนกับคู่ค้า ดังนั้นรายการสินค้าและบริการภายใต้ข้อตกลงจึงมีไม่มาก แต่ข้อตกลง RCEP ครอบคลุมกว้างกว่า ดังนั้นความร่วมทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับเมียนมาภายใต้ข้อตกลงนี้จะทำได้มากขึ้น และผู้ประกอบการเมียนมาที่ใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลง ACFTA จะมีโอกาสมากขึ้นจาก RCEP

    ข้อตกลง RCEP จะกำหนดผลิตภัณฑ์ที่จะส่งออกล่วงหน้าตามขั้นตอนทางศุลกากรที่ไม่รวมอยู่ใน ACFTA มูลค่าศุลกากรและผลิตภัณฑ์/ผลิตโดยเมียนมา จะต้องผ่านพิธีการทางศุลกากรภายใน 48 ชั่วโมงนับจากเวลาที่สินค้ามาถึง ดังนั้นสินค้าที่ส่งออกไปยังประเทศจีนจึงสามารถนำออกไปได้เร็วกว่าเดิม

    นักธุรกิจเมียนมาได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับสินค้า 5,969 รายการในขณะนี้ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ 368 รายการ สินค้าเกษตร 389 รายการ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำหรับรับประทาน 10 รายการ อาหาร 163 รายการ ผลิตภัณฑ์จากแร่ 181 รายการ ผลิตภัณฑ์เคมีและวัสดุในการทำงาน 1,127 รายการ วัสดุพลาสติก 125 รายการ ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง 67 รายการ ผลิตภัณฑ์จากป่า 234 รายการ ปูนซีเมนต์ 146 รายการ กระจกและวัสดุที่เกี่ยวข้อง ไข่มุกและอัญมณีล้ำค่า 62 ชิ้น โลหะและวัสดุที่เป็นโลหะ 554 ชิ้น วัสดุโลหะและโลหะ 554 ชิ้น เครื่อง 1,058 เครื่อง ยานพาหนะ 124 คัน เครื่องบิน เรือและชิ้นส่วนการขนส่ง ยา 240 ชิ้น วัสดุภาพยนตร์และเครื่องมือ เป็นต้น สินค้าที่เหลือยังได้รับภาษีศุลกากรที่ลดลงซึ่งต้องชำระเป็นรายปี

    ในภาคบริการ เมียนมาได้ผ่อนปรน 52 ภาคธุรกิจภายใต้ ACFTA และ 80 สาขาในด้านเศรษฐกิจ การสื่อสาร การก่อสร้าง การกระจาย การศึกษา สิ่งแวดล้อม การเงิน สุขภาพ การท่องเที่ยว การขนส่ง และบริการอื่นๆ ภายใต้ข้อตกลง RCEP ส่วนจีนผ่อนคลาย 88 ภาคธุรกิจภายใต้ ACFTA และ 95 ภาคส่วนภายใต้ RCEP

    การค้าระหว่างเมียนมาและจีนมีมูลค่าการส่งออก 5420.052 ล้านดอลลาร์ในปี 2562-2563 ส่วนปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 6729.174 ล้านดอลลาร์ ในปี 2563-2564ปริมาณการส่งออกอยู่ที่ 5160.825 ล้านดอลลาร์ และปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 4647.096 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโควิด-19

  • ASEAN Roundup จีนลดภาษีนำเข้า 9 ประเทศอาเซียนภายใต้ RCEP เริ่ม 1 ม.ค.นี้

  • จีนยังคงเป็นประเทศส่งออกที่ใหญ่ที่สุดสำหรับเมียนมา ในช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้วถึงมีนาคมปีนี้ จากการรายงานของกระทรวงพาณิชย์ในวันพุธ (4 พ.ค.)

    การส่งออกของเมียนมาไปยังจีนมีมูลค่ากว่า 1.98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคิดเป็นเกือบ 24% ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ จีนยังครองอันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศส่งออกของเมียนมาในปีงบประมาณ 2563-2564 ทั้งปี และปีงบประมาณ 2562-2563