ThaiPublica > สู่อาเซียน > EDL-Gen ในวิสัยทัศน์“หม้อไฟ”อาเซียน

EDL-Gen ในวิสัยทัศน์“หม้อไฟ”อาเซียน

22 พฤศจิกายน 2020


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ต่อจากตอนที่แล้ว น้ำงึม 1 “หม้อไฟ” ใบแรกของลาว

ธุรกิจหลักของบริษัทผลิต-ไฟฟ้าลาว (EDL-Gen) ทั้งเป็นเจ้าของ และมีส่วนถือหุ้นอยู่เขื่อนผลิตไฟฟ้าหลายแห่ง

อาจกล่าวได้ว่าธุรกิจของ EDL-Gen สะท้อนวิสัยทัศน์ของ สปป.ลาว (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) ที่วางตำแหน่งประเทศให้เป็น “หม้อไฟ” หรือแบตเตอรี่ของอาเซียนได้ระดับหนึ่ง

แต่ไม่ได้เป็นตัวแทน ฉายภาพวิสัยทัศน์นี้ทั้งหมด

เพื่อทำความเข้าใจประเด็นนี้ มีข้อมูลบางประการเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ “หม้อไฟ” อาเซียนของลาวที่ต้องกล่าวถึง…

ประการแรก ภูมิประเทศของลาวที่เต็มไปด้วยแม่น้ำลำคลองหลากหลายสาย เอื้อต่อการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า มีการศึกษาพบว่า แม่น้ำในลาวมีศักยภาพในการสร้างเขื่อนได้มากกว่า 140 แห่ง แม่น้ำบางสายมีโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าทั้งที่สร้างเสร็จแล้วหรืออยู่ระหว่างก่อสร้างมากกว่า 1 แห่ง เช่น

แม่น้ำงึม ที่แขวงเวียงจันทน์

1. แม่น้ำงึม ยาว 354 กิโลเมตร ต้นน้ำอยู่บนภูเขาสูงทางเหนือของแขวงเชียงขวาง ไหลลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านแขวงไซสมบูน แขวงเวียงจันทน์ ก่อนลงสู่แม่น้ำโขงที่เมืองปากงึม ตรงข้ามอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคายตลอดลําน้ำงึมมีเขื่อนผลิตไฟฟ้า 5 แห่ง กำลังการผลิตรวม 1,590 เมกะวัตต์ เขื่อนที่สร้างเสร็จและจ่ายกระแสไฟฟ้าแล้วมี 3 แห่ง ได้แก่

  • เขื่อนน้ำงึม 1 อยู่ห่างไปทางเหนือของนครหลวงเวียงจันทน์ 90 กิโลเมตร มีกำลังการผลิต 155 เมกะวัตต์ (รายละเอียดของน้ำงึม 1 ได้กล่าวถึงไปในคราวที่แล้ว)
  • เขื่อนน้ำงึม 2 ในแขวงเวียงจันทน์ อยู่เหนือเขื่อนน้ำงึม 1 ไปทางต้นน้ำประมาณ 35 กิโลเมตร มีกำลังการผลิต 615 เมกะวัตต์ สร้างเสร็จและจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ในปลายปี 2553 ไฟฟ้าที่ผลิตได้ขายให้กับประเทศไทยทั้งหมด
  • เขื่อนน้ำงึม 5 ในเมืองพูกูด แขวงเชียงขวาง กำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์ สร้างเสร็จและเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าเมื่อปี 2555

มีเขื่อนที่ยังสร้างอยู่อีก 2 เขื่อน คือ เขื่อนน้ำงึม 3 กำลังผลิต 480 เมกะวัตต์ อยู่ที่เมืองล่องแจ้ง แขวงไซสมบูน ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ขึ้นไป 130 กิโลเมตร กับเขื่อนน้ำงึม 4 กำลังการผลิต 220 เมกะวัตต์ อยู่ที่เมืองแปก แขวงเชียงขวาง

2. แม่น้ำอู ยาว 448 กิโลเมตร ต้นน้ำอยู่บนเทือกเขาบริเวณชายแดนลาว-จีน ที่บ้านลานตุย เมืองยอดอู แขวงผ้งสาลี ไหลลงใต้ผ่านแขวงอุดมไซ ก่อนลงสู่แม่น้ำโขงที่เมืองปากอู ตอนเหนือของหลวงพระบาง

ตลอดลำน้ำอูทั้งในแขวงผ้งสาลีและหลวงพระบาง มีการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าลักษณะขั้นบันได ไล่ตามระดับความสูงตั้งแต่บนลงล่าง 7 แห่ง

บริษัท Sinohydro Corporation จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้สัมปทานสร้างและดำเนินการเขื่อนน้ำอูทั้ง 7 แห่ง

เขื่อนน้ำอูทั้ง 7 มีกำลังการผลิตรวม 1,332 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนรวม 2,800 ล้านดอลลาร์ อายุสัมปทาน 29 ปี

การก่อสร้างแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 เขื่อนน้ำอู 2, 5 และ 6 กำลังการผลิตรวม 600 เมกะวัตต์ จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 7 เครื่อง เริ่มสร้างเมื่อเดือนตุลาคม 2555 สร้างเสร็จและเริ่มเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหน่วยที่ 1 ปลายปี 2558 ที่เหลืออีก 6 หน่วย เริ่มเดือนเครื่องผลิตเมื่อปลายเดือนเมษายน 2559ไฟฟ้าที่ผลิตได้ ใช้ในภาคเหนือของลาวเป็นส่วนใหญ่

แม่น้ำอู ที่แขวงหลวงพระบาง

ระยะที่ 2 คือเขื่อนน้ำอู 1, 3, 4 และ 7 กำลังการผลิต 732 เมกะวัตต์ เริ่มสร้างวันที่ 28 เมษายน 2559 ตามกำหนดการ 4 เขื่อนนี้ต้องเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคมปีนี้(2563)

3. แม่น้ำเทินหรือแม่น้ำกะดิง ยาว 138 กิโลเมตร ต้นน้ำอยู่ในเขตที่ราบสูงนากาย ชายแดนลาว-เวียดนามในแขวงคำม่วน ไหลมาทางทิศตะวันตกลงแม่น้ำโขงที่เมืองปากกะดิง แขวงบอลิคำไซ

ชาวบ้านเรียกชื่อแม่น้ำสายนี้ตามสีของน้ำ ช่วงต้นน้ำซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเข้ามาถึงตอนกลางของประเทศ น้ำมีสีเข้ม ชาวบ้านเรียกว่าน้ำเทิน ฟากทิศตะวันตกซึ่งเป็นปลายน้ำ สีจางกว่า ชาวบ้านเรียกว่าน้ำกะดิง ตอนกลางแม่น้ำยังมีลำน้ำสาขาแยกลงไปทางใต้ ถูกเรียกว่าน้ำเทินด้วยเช่นกัน

แม่น้ำเทินเป็นที่ตั้งของเขื่อนไฟฟ้า 3 แห่ง เขื่อนที่สร้างเสร็จและจ่ายกระแสไฟฟ้าแล้ว 2 แห่ง ได้แก่

-เขื่อนไฟฟ้าเทิน-หินบุน กำลังการผลิตรวม 520 เมกะวัตต์ ขายให้กับประเทศไทย 440 เมกะวัตต์ ที่เหลืออีก 80 เมกะวัตต์ ใช้ภายในประเทศ

สัมปทานเขื่อนไฟฟ้าเทิน-หินบุน มีอายุ 30 ปี ผู้ถือหุ้นประกอบด้วย EDL-Gen 60% บริษัทจีเอ็มเอส ลาว ในเครือบริษัทเอ็มดีเอ็กซ์จากไทย และกลุ่ม Nordic Hydropower AB จากนอร์เวย์ ถือฝ่ายละ 20%

โครงการนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นเขื่อนไฟฟ้าสร้างกั้นน้ำเทินตอนล่างในแขวงบอลิคำไซ มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 2 เครื่อง กำลังการผลิตรวม 210 เมกะวัตต์ สร้างเสร็จและจ่ายกระแสไฟฟ้าแล้วตั้งแต่ปี 2541

ส่วนที่ 2 เป็นส่วนขยาย สร้างเขื่อนกั้นลำน้ำยวงที่เป็นสาขาของน้ำเทิน อยู่เหนือเขื่อนเดิมขึ้นไปในบริเวณเขตรอยต่อเมืองเวียงทองกับเมืองคำเกิด ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 3 เครื่อง กำลังการผลิตรวม 290 เมกะวัตต์ สร้างเสร็จและเริ่มจ่ายไฟในปี 2555

-เขื่อนไฟฟ้าน้ำเทิน 2 อยู่บริเวณที่ราบสูงนากาย เมืองยมมะลาด แขวงคำม่วน กำลังการผลิต 1,070 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนรวม 1,450 ล้านดอลลาร์ ผู้ถือหุ้นประกอบด้วย EDFI บริษัทลูกของการไฟฟ้าฝรั่งเศส (Electricite de France) 40% บริษัทผลิตไฟฟ้า (EGCO) ของไทย 35% และรัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว (LSHE) 25%

น้ำเทิน 2 สร้างเสร็จและจ่ายไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2553 ไฟฟ้า 995 เมกะวัตต์ ขายให้กับไทย ที่เหลือ 75 เมกะวัตต์ ใช้ในประเทศ

มีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง คือ เขื่อนน้ำเทิน 1

เดิมเขื่อนน้ำเทิน 1 เป็นความร่วมมือของรัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว บริษัทผลิตไฟฟ้า (EGCO) จากไทย และกลุ่ม Gamuda จากประเทศมาเลเซีย มีกำลังการผลิต 650 เมกะวัตต์ สร้างที่เมืองปากกะดิง แขวงบอลิคำไซ แต่ได้ยุติโครงการไปในปี 2551 เนื่องจากมีปัญหาเรื่องเงินทุน

ทางการลาวฟื้นโครงการนี้มาอีกครั้งในปี 2555 เปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นเป็นพอนสักกรุ๊ป 60% EGCO 25% และ EDL-Gen 15%

เขื่อนน้ำเทิน 1 เริ่มสร้างในปี 2560 คาดว่าจะแล้วเสร็จและจ่ายไฟฟ้าได้ในปี 2565

เพียงแม่น้ำ 3 สายที่ยกตัวอย่างมา มีเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่สร้างเสร็จแล้วหรืออยู่ระหว่างก่อสร้างรวม 15 แห่ง แต่มีเขื่อนที่ EDL-Gen เป็นเจ้าของเพียงแห่งเดียว คือเขื่อนน้ำงึม 1 และเป็นเขื่อนที่ EDL-Gen ร่วมถือหุ้นด้วย 7 แห่ง คือ เทิน-หินบุน ถือหุ้น 60% น้ำงึม 2 ถือหุ้น 25% น้ำงึม 5 น้ำเทิน 1 น้ำอู 2 น้ำอู 5 และน้ำอู 6 ถือเขื่อนละ 15% เท่ากัน

ดังนั้น ภายใต้วิสัยทัศน์ “หม้อไฟอาเซียน” แม้ว่าลาวมีศักยภาพจะสร้างเขื่อนได้เป็นร้อยๆ แห่ง แต่ EDL-Gen ก็มิได้มีส่วนร่วมกับเขื่อนเหล่านั้นทั้งหมด…

ประการที่ 2 ใน สปป.ลาว มีองค์กรซึ่งเป็นตัวแทน “อย่างเป็นทางการ” ของรัฐบาล ที่เป็นผู้ลงทุนหรือเข้าไปถือหุ้นในเขื่อนหรือโรงไฟฟ้า อยู่ 3 องค์กร แยกจากกันเป็นเอกเทศ

องค์กรแรก รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (Electricite du Laos: EDL) องค์กรเก่าแก่ที่ตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2504 เดิม EDL มีบทบาทเรื่องไฟฟ้าในลาวแบบครบวงจร ตั้งแต่ผลิต วางสายส่ง ตลอดจนส่งไฟฟ้าขายแก่ประชาชนตามบ้าน

แต่หลังจากลาวจัดตั้งตลาดหุ้นและต้องการให้กิจการไฟฟ้าเป็นสินค้าดึงดูดนักลงทุน มีการนำเขื่อนจำนวนหนึ่งมารวมบัญชี แยกออกจาก EDL ตั้งเป็น EDL-Gen ขึ้นมา แล้วนำไปจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ลาว

11 เขื่อนที่รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว(EDL) เป็นเจ้าของ ที่มา : รายงานประจำปี 2561 ของ EDL

บทบาททางด้านผลิตของ EDL ก็ค่อยๆ ลดลง เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการสร้าง ขยาย และควบคุมสายส่ง กับการขายไฟให้กับประชาชนตามบ้าน

รายงานประจำปี 2561 ของ EDL ระบุว่า ปัจจุบัน EDL เป็นเจ้าของเขื่อนผลิตไฟฟ้า 11 แห่ง กำลังการผลิตรวม 190.21 เมกะวัตต์ (ดูรายละเอียดในตารางประกอบ) และเข้าไปถือหุ้นร่วมกับ EDL-Gen ในอีก 5 เขื่อน กำลังการผลิตรวม 1,487 เมกะวัตต์

องค์กรที่ 2 รัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว(Lao Holding State Enterprise: LHSE) สังกัดกระทรวงการเงิน จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นบริษัทลงทุนของรัฐบาลในโครงการผลิตไฟฟ้าเพื่อการส่งออก เน้นโครงการที่มีศักยภาพ สามารถจ่ายเงินปันผลในอัตราสูง เพื่อนำเงินรายได้เข้าสู่ระบบงบประมาณของรัฐ

ปัจจุบัน LHSE ลงทุนในเขื่อนและโรงไฟฟ้า 4 แห่ง กำลังการผลิตรวม 3,648 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย

  • ถือหุ้น 25% ในเขื่อนน้ำเทิน 2 กำลังการผลิต 1,070 เมกะวัตต์ ที่เมืองยมมะลาด แขวงคำม่วน
  • ถือหุ้น 20% ในโรงไฟฟ้าปากเหมืองหงสา กำลังการผลิต 1,878 เมกะวัตต์ และอีก 25% ในเหมืองถ่านหินที่เมืองหงสา แขวงไซยะบูลี
  • ถือหุ้น 24% ในเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย กำลังการผลิต 410 เมกะวัตต์ ในพื้นที่รอยต่อระหว่างแขวงจำปาสักและแขวงอัตตะปือ
  • ถือหุ้น 25% ในเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำเงียบ 1 กำลังการผลิต 290 เมกะวัตต์ ที่เมืองบอลิคัน แขวงบอลิคำไซ

องค์กรที่ 3 EDL-Gen บริษัทผลิต-ไฟฟ้าลาว หรือ EDL-Gen ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2553 ก่อนตลาดหลักทรัพย์ลาวเริ่มเปิดซื้อขายวันแรกไม่ถึงเดือน ด้วยทุนจดทะเบียน 2,605.8 พันล้านกีบ โดยรับโอนเขื่อนไฟฟ้า 7 แห่งมาจาก EDL

เขื่อนที่ EDL-Gen เป็นเจ้าของ ที่มาภาพ : เว็บไซต์ EDL-Gen

จากนั้น ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนและรับโอนเขื่อนไฟฟ้าเพิ่มเข้ามามากขึ้น ทุนจดทะเบียนล่าสุดของ EDL-Gen อยู่ที่ 6,717.2 พันล้านกีบ

ด้วยความที่เป็นบริษัทจดทะเบียน EDL-Gen ได้ระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้มาแล้วหลายล็อต เริ่มออกล็อตแรกเมื่อปี 2557 เป็นหุ้นกู้สกุล “บาท” มูลค่า 6,500 ล้านบาท ได้รับการจัดอันดับที่ BBB+ จาก TRIS Rating ล็อตล่าสุดออกเมื่อปีที่แล้ว มูลค่า 3,839.6 ล้านบาท

ณ วันที่ 20 กรกฎาคม ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ EDL-Gen 5 อันดับแรก ได้แก่

1. EDL 75%
2. บริษัทราช-ลาว บริการ (บริษัทในเครือบริษัทราชกรุ๊ป หรือบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิงเดิม ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในลาว) 5.64%
3. RH International (Singapore) Coporation PTE 4.46%
4. Banque pour le Commerce Exterieur Lao 2.28%
5. ธนาคารกรุงไทย 1.54%

EDL-Gen เป็นเจ้าของเขื่อนผลิตไฟฟ้า 10 แห่ง กำลังการผลิตรวม 619 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย

นอกจากนี้ ยังถือหุ้นอยู่ในเขื่อนของผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ 12 แห่ง กำลังการผลิตรวม 3,633 เมกะวัตต์ ได้แก่

รวมถึงถือหุ้น 15% ในเขื่อนน้ำเทิน 1 กำลังการผลิต 650 เมกะวัตต์ ที่กำลังสร้างอยู่ในแขวงบอลิคำไซ คาดว่าจะเสร็จและจ่ายไฟฟ้าได้ในปี 2565

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2558 EDL-Gen ได้ร่วมทุนกับบริษัทพัฒนาพลังงานบริสุทธิ์ จัดตั้งบริษัท EDL-Gen Solar Power ขึ้น โดย EDL-Gen ถือหุ้น 60% เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตรวม 100 เมกะวัตต์ เฟสแรก 32 เมกะวัตต์ ได้สร้างโซลาร์ฟาร์มบนพื้นที่ 5 จุด ในนครหลวงเวียงจันทน์ เฟสที่ 2 อีก 68 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการจัดหาที่ดิน

เขื่อนน้ำคาน กำลังการผลิต 130 เมกะวัตต์ ที่แขวงหลวงพระบาง ที่มาภาพ : เว็บไซต์ EDL-Gen)

ข้อมูลจากเวทีสัมมนาเรื่อง “ราคาไฟฟ้าและไฟฟ้าลาว ปี 2021-2025” ที่ห้องประชุมคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่ผ่านมา ระบุว่าปัจจุบันลาวมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 9,972 เมกะวัตต์ จากแหล่งผลิตไฟฟ้าในประเทศ 78 แห่ง

ใน 78 แห่ง เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้า 67 แห่ง โรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 แห่ง โรงไฟฟ้าชีวมวล 4 แห่ง และโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ อีก 6 แห่ง

เปรียบเทียบข้อมูลทั้งหมดแล้ว น่าจะพอเห็นภาพได้ระดับหนึ่งว่า EDL-Gen บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาว มีบทบาทอยู่ในวิสัยทัศน์ “หม้อไฟ”อาเซียน ซึ่งเป็นจุดขายสำคัญของ สปป.ลาว มากน้อยเพียงใด…