ThaiPublica > คอลัมน์ > จับตาพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร หลังกรมชลปล่อยน้ำเพิ่มขึ้นสู่คลองระพีพัฒน์

จับตาพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร หลังกรมชลปล่อยน้ำเพิ่มขึ้นสู่คลองระพีพัฒน์

30 กันยายน 2021


อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี

ประชาชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา โบกมือทักทายพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สำรวจแม่น้ำเจ้าพระยา วันที่ 30 กันยายน 2564

ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่หนักหนาสาหัสแล้ว ซ้ำด้วยอุทกภัยในภาคอีสานหลายพื้นที่ รวมทั้งพื้นที่ภาคกลาง อยู่ในภาวะน้ำท่วมสูงประชาชนต้องอพยพหนีน้ำ ไม่ต้องพูดถึงความเสียหายทั้งทรัพย์สินและผลผลิตด้านเกษตรกรรม และความเสียหายอื่นๆ เป็นความยากลำบากที่ทับซ้อนทวีคูณ

ขณะที่คนกรุงเทพก็หวาดหวั่นว่าจะเป็นมหันตภัยน้ำท่วมแบบปี 2554 หรือไม่ ลองมาเปรียบเทียบกัน

หากย้อนเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 กรุงเทพมหานครตอนเหนือฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เกิดน้ำท่วมขังเป็นอย่างมาก สาเหตุที่น้ำท่วมครั้งนั้น กรมชลประทานได้ปล่อยน้ำจากเขื่อนป่าสัก เข้าแม่น้ำน้ำป่าสักเชื่อมต่อมายังคลองระพีพ้ฒน์ ลงเข้าพื้นที่จังหวัดปทุมธานีและกรุงเทพมหานคร ในวันนั้นคลองระพีพ้ฒน์ มีมวลน้ำไหลที่ 212 ลบม./วินาที ที่ปริมาณน้ำ 18 ล้านลบม. ขณะที่วันที่ 29 กันยายน 2564 หลังจากที่กรมชลประทานระบายน้ำเพิ่มขึ้น ทำให้มีน้ำไหลผ่านที่อัตรา 148 ลบม./วินาที ที่ปริมาณน้ำ 13 ล้านลบม.

น้ำจากคลองระพีพัฒน์ จะเชื่อมต่อกับคลองรังสิตประยูรศักดิ์ โดยมีสถานีสูบน้ำจุฬาภรณ์ สูบน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา อีกส่วนจะไหลเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานคร ด้านคลองหกสายล่าง คลองเปรมประชากร คลองสองสายล่าง คลองพระยาสุเรนทร์ คลองสามวา คลองแปด คลองเก้า คลองสิบ คลองสิบเอ็ด คลองสิบสอง คลองสิบสาม (ดูทิศทางการไหลของน้ำตามรูป)

ในขณะที่น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูง การที่จะนำมวลน้ำจากคลองจะออกไป ทำได้ค่อยข้างยาก เนื่องจากระดับคลองจากฝั่งตะวันออกนั้นต่ำกว่าระดับแม่น้ำเจ้าพระยามาก เมื่อน้ำออกไปฝั่งตะวันตกไม่ได้ ก็ต้องลงใต้เท่านั้น คือต้องผ่านเข้าพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และคลองที่กล่าวมานั้นส่วนใหญ่จะไปบรรจบกับคลองแสนแสบที่ขวางอยู่ และคลองแสนแสบจะมีประตูระระบายที่มีนบุรี เป็นประตูคอยควบคุมระดับน้ำไม่ให้เข้าผ่านเมือง

หากพิจารณาจากระดับความลาดชันของคลองที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร ที่ต้องสูบน้ำออกแม่น้ำเจ้าพระยานั้น จะเห็นถึงระดับที่ปากน้ำทางออกสู่แม่น้ำค่อนข้างจะสูง หากมีผู้รุกล้ำขวางทางน้ำทำให้อัตราการไหลได้ช้า จะเป็นปัญหาต่อสถานีสูบน้ำ ไม่สามารถเดินเครื่องสูบน้ำได้เต็มประสิทธิภาพ

การแก้ปัญหาในตอนนี้ ได้อย่างต้องเสียอย่าง ในยามที่มวลน้ำมาเป็นจำนวนมากนั้น ต้องพิจารณาเปิดประตูระบายน้ำด้านมีนบุรีและบางชันเพื่อให้มวลน้ำผ่านไปได้แต่กรุงเทพมหานคร ต้องหยุดการเดินเรือคลองแสนแสบในช่วงนั้นเพราะเมื่อเปิดประตูระบายแล้ว จะไม่สามารถควบคุมระดับน้ำให้เรือวิ่งได้

เพราะกรุงเทพฝั่งตะวันออกมีโอกาสวิกฤติ น้ำในคลองระพีพัฒน์ วันนี้ (30 กันยายน 2564) สูงกว่าปี 2554 แล้วครับ

แนะนำให้เปิดประตูระบายน้ำคลองแสนแสบตอน มีนบุรี และ บางชัน และหยุดการเดินเรือในคลองแสนแสบชั่วคราวก่อน ช่วยการระบายน้ำฝั่งตะวันออกของ กรุงเทพมหานคร หลังกรมชลประทาน ผันน้ำผ่านคลองระพีพัฒน์เพิ่มขึ้นกว่าปี 2554

ระบายน้ำออกมา 251 ลบม./วินาที ขณะที่ความจุคลองระพีพัฒน์ 210 ลบม./วินาที
วันนี้ (30 กันยายน 2564) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สำรวจแม่น้ำเจ้าพระยา
วันนี้ (30 กันยายน 2564) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สำรวจแม่น้ำเจ้าพระยา

พร้อมกันนี้ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่ตอนเหนือและตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ยกของขึ้นที่สูง!!

อ่านเพิ่มเติม https://thaipublica.org/columnists/atthaseth-petchmeesri/