ThaiPublica > คอลัมน์ > เหตุผลที่ไม่ควรทำธนาคารน้ำใต้ดินใต้บึงน้ำสวนจตุจักร แก้น้ำรอระบาย

เหตุผลที่ไม่ควรทำธนาคารน้ำใต้ดินใต้บึงน้ำสวนจตุจักร แก้น้ำรอระบาย

21 กุมภาพันธ์ 2022


อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี

บึงน้ำสวนจตุจักร

เมื่อเริ่มเปิดตัวผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เราก็จะได้เห็นวิสัยทัศน์การแก้ปัญหาเมืองของว่าที่ผู้สมัครชิงตำแห่นงผู้ว่ากรุงเทพมหานครในเรื่องที่คนกรุงเทพให้ความสนใจ อย่างเช่น การแก้ปัญหาการจราจร การแก้น้ำรอระบาย การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 และอื่นๆอีกมากมาย

วันนี้ผมขอหยิบยกเรื่องการเสนอแนวความคิดการแก้ปัญหาน้ำรอระบาย ที่เป็นปัญหาใหญ่ของกรุงเทพ กรณีที่น้ำรอระบายนาน จนเป็นเหตุให้น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน โดยว่าที่ผู้สมัครบางคนได้ชูเรื่องการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ใต้บึงน้ำสวนจตุจักรในความจุขนาด 100,000 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) เพื่อแก้ปัญหาน้ำรอระบายในพื้นที่เขตจตุจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ 5 แยกลาดพร้าว

ประชาชนทั่วไปฟังดูแล้ว อาจจะเห็นว่ามันมีประโยชน์ แต่ถ้าหากเราได้เข้าไปดูโครงข่ายการระบายน้ำในพื้นที่นี้ จะพบว่าโครงการดังกล่าวไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปใช้เงินจำนวนมากในการก่อสร้าง เมื่อเทียบกับผลที่ได้ไม่คุ้มค่าการลงทุน

สาเหตุที่กล่าวเช่นนี้เพราะว่า หากเราย้อนกลับไปในช่วงปี 2560-2562 เมื่อเกิดฝนตกในพื้นที่เขตจตุจักรมากกว่า 60 มิลลิเมตร(มม.)/ชั่วโมง จะเกิดน้ำท่วมขังกินบริเวณกว้างตั้งแต่ 5 แยกลาดพร้าวไปจนถึงถนนรัชดาภิเษก บริเวณหน้าศาลอาญา อยู่เป็นประจำ ผมจึงขออธิบายง่าย ๆ ถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงปีดังกล่าวนั้น

    1.อุโมงค์คลองบางซื่อ ยังไม่ได้เปิดใช้งานแบบเต็มระบบ
    2.การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเป็นปัญหาขวางทางน้ำ
    3.การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองตามแนวถนนลาดพร้าวเป็นปัญหาขวางทางน้ำ

ทั้ง 3 ประเด็นที่กล่าวมาเป็นปัญหาอุปสรรคการระบายน้ำเป็นอย่างมาก

แต่หลังจากปี 2563 เป็นต้นมา อุโมงค์คลองบางซื่อเปิดใช้เต็มระบบ รถไฟฟ้าสายสีเขียวเปิดใช้งานและคืนพื้นที่การก่อสร้างทั้งหมด ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นก่อนปี 2563 กล่าวได้ว่าแทบจะไม่เกิดขึ้นอีก หากมีฝนตกหนักเกินกว่า 80 มม./ชั่วโมง

ปัจจุบันนี้พื้นที่ดังกล่าวได้ถูกพัฒนาให้สามารถรองรับน้ำรอระบาย โดยไม่ต้องไปลงทุนทำธนาคารน้ำใต้บึงสวนจตุจักรให้เสียเงินงบประมาณ ที่ผ่านมานอุโมงค์คลองบางซื่อ มีกำลังการสูบน้ำที่ 60 ลบ.ม./วินาที และมีอาคารรับน้ำตั้งแต่ถนนรัชดาภิเษก ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนกำแพงเพชร ครอบคุมพื้นที่ 56 ตารางกิโลเมตร พร้อมขยายคูน้ำถนนวิภาวดีรังสิต ทั้งขาเข้าและขาออก มีการทำธนาคารน้ำใต้ดินช่วงถนนรัชดาภิเษกตัดกับถนนวิภาวดีรังสิต ขนาด 10,000 ลบ.ม. เพิ่มกำลังโรงสูบน้ำทั้งโรงสูบน้ำหอวังและโรงสูบน้ำ กม.11 รวมถึงการเปิดใช้โรงสูบน้ำอาพาภิรมย์

นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้ใช้บึงน้ำที่อยู่รอบสวนวชิรเบญจทัศเป็นแก้มลิงในการบริหารจัดการน้ำในบริเวณนั้นอยู่แล้ว ขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครได้งบประมาณก่อสร้างอุโมงค์คลองเปรมประชากรจากรัฐบาล ซึ่งกำลังดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 ปีจะแล้วเสร็จ รวมทั้งยังได้รับให้ดูแลบึงฝรั่งที่อยู่ติดกับคลองเปรมประชากรในเนื้อที่ 50 กว่าไร่ ทำเป็นแก้มลิง

ผังการบริหารจัดการน้ำเขตจตุจักร

หากดูจากผังการเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำจะเห็นได้ว่าการเพิ่มประสิทธิภาพที่ทำอยู่เพียงพอต่อการระบายน้ำ โดยไม่จำเป็นต้องไปสร้างโครงการธนาคารน้ำใต้ดินที่สวนจตุจักรให้เสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ และที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร ได้พัฒนาบึงน้ำเบญจกิติที่มีความจุ 137,000 ลบ.ม. ให้เป็นแก้มลิงกลางเมืองด้วยงบประมาณไม่สูงจนเกินไป จนสามารถแก้ไขน้ำรอระบายในบริเวณถนนสุขุมวิท-อโศก ได้เป็นอย่างดี หากเราใช้รูปแบบเดียวกันนี้ไปบริหารบึงน้ำสวนจตุจักร จะได้ผลดีและงบประมาณไม่สูงจนเกินไป

การที่จะเสนอนโยบายนั้นต้องคำนึงถึงศักยภาพบนพื้นที่ที่กรุงเทพมหานครได้พัฒนาเอาไว้แล้ว ไม่ควรที่จะออกนโยบายที่ไม่เกิดประโยชน์และเสียงบประมาณประเทศ ในยามที่ต้องบริหารงบประมาณให้ใช้ในสิ่งที่จำเป็น

ตัวอย่างแก้มลิง บึงน้ำเบญจกิติ ศูนย์ประชุมสิริกิติ์

ตัวอย่างแก้มลิง บึงน้ำเบญจกิติ ศูนย์ประชุมสิริกิติ์
ตัวอย่างแก้มลิง บึงน้ำเบญจกิติ ศูนย์ประชุมสิริกิติ์