ThaiPublica > เกาะกระแส > ม็อบรถบรรทุก-แท็กซี่ จี้ ‘สุพัฒนพงษ์’ ลาออก-แก้ “แพงทั้งแผ่นดิน” ไม่ได้

ม็อบรถบรรทุก-แท็กซี่ จี้ ‘สุพัฒนพงษ์’ ลาออก-แก้ “แพงทั้งแผ่นดิน” ไม่ได้

8 กุมภาพันธ์ 2022


ม็อบรถบรรทุกจี้ ‘สุพัฒนพงษ์’ตรึงดีเซลลิตรละ 25 บาท พร้อมประกาศขึ้นค่าขนส่ง 20% ขณะที่คนขับแท็กซี่ เมินข้อเสนอพลังงานแจกเงินอุดหนุน 3 เดือน 100 บาท ผ่าน “บัตรคนจน” วอนรัฐลดราคาแก๊ส LPG เหลือลิตรละ 9 บาท NGV กิโลกรัมละ 10 บาท หากทำไม่ได้ “ลาออก” ไป

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 10.00 น. นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศ พร้อมตัวแทนผู้ประกอบการรถบรรทุกสินค้าได้จัดกิจกรรม Truck Power เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ และกดดันให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่สามารถแก้ปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นได้ และปล่อยให้สินค้า “แพงทั้งแผ่นดิน” นอกจากนี้ยังมีนายวิฑูรย์ แนวพานิช นายกสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย พร้อมสมาชิกสมาคมฯ มายื่นหนังสือถึงนายสุพัฒนพงษ์ ขอให้ลดราคาก๊าซ NGV และ LPG บริเวณด้านหน้าทางเข้า-ออก กระทรวงพลังงาน

โดยนายอภิชาติ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมวันนี้ เพื่อมาขับไล่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่มีผลงานและไม่เคยมาดูแลทุกข์สุขของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกสินค้าต้องจ่ายภาษีน้ำมันให้กับกรมสรรพสามิตลิตรละ 5.99 บาท ที่ผ่านมายังไม่เคยปรับลดภาษีให้กับพวกเราเลย แต่กลับไปลดภาษีน้ำมันเครื่องบินให้กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจสายการบินถึงลิตรละ 7.24 บาท จึงจำเป็นต้องมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในวันนี้ โดยมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลดังนี้

    1. ต้องลดภาษีสรรพสามิตลง ในช่วงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์เพิ่มสูงขึ้น
    2. ต้องปรับโครงสร้างราคาน้ำมันให้เป็นธรรมกับประชาชนและผู้บริโภค
    3. รัฐบาลต้องประหยัดการใช้งบประมาณเท่าที่จำเป็นและงบประมาณแบบผูกพันเป็นภาระ อาทิเช่น โครงการจัดซื้อจัดหาอาวุธ เป็นต้น ไม่ใช่บอกให้ประชาชนประหยัดการใช้พลังงาน
    4. ขอความร่วมมือจากประชาชนผู้บริโภคน้ำมัน ให้นำรถมาจอดบนถนนและเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนเพื่อประหยัดพลังงานทุกวันเสาร์ของสัปดาห์ จนกว่ารัฐบาลจะปรับลดภาษี
    5. ต้องปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานทันที เนื่องจากบริหารราชการล้มเหลวไร้ความสามารถขาดประสิทธิภาพ
    6. ปรับอัตราค่าขนส่งเพิ่ม 10-20% ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแบบการค้าเสรีและกลไกตลาด
    7. ยกเลิกการนำไบโอดีเซล B100 มาผสมกับน้ำมันดีเซล เป็นระยะเวลา 1 ปี
    8. ยกเลิกการอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปจากโรงกลั่นของประเทศสิงคโปร์ แต่ให้ใช้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปจากโรงกลั่นประเทศไทยแทน
    9. ลดภาษีสรรพสามิตลงให้เหลือ 0.10 บาท/ลิตร และลดภาษีอื่น ๆ ลงด้วย เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี
    10. กรณีมีความจำเป็นต้องปรับราคา ต้องปรับราคาน้ำมันสำเร็จรูปขายปลีก 2 ครั้ง/เดือน เพื่อรักษาเสถียรภาพของต้นทุนสินค้าและบริการ
นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศ

“วันนี้เราจำเป็นต้องปรับราคาค่าขนส่งขึ้น 15-20% เพราะได้ส่งสัญญาณถึงรัฐบาลมา 4 เดือนแล้ว ก่อนที่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น แต่รัฐบาลก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ถามว่าการปรับค่าขนส่งขึ้น 15-20% มีฐานหรือที่มาอย่างไรนั้น จุดคุ้มทุนของภาคขนส่งจริงๆแล้วอยู่ที่ราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 25 บาท หากราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นมาทุก ๆ 1 บาท ต้นทุนจะเพิ่ม 3% ดังนั้น หากกระทรวงพลังงานตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละ 30 บาท ต้นทุนของผู้ประกอบการก็จะเพิ่มขึ้น 15% ส่วนอีก 5% ที่ต้องปรับขึ้นมานั้น เนื่องจากราคาสินค้าเกือบทุกประเภทปรับตัวสูงขึ้น ทั้งยางรถบรรทุก , น้ำมันเครื่อง , อะไหล่ชิ้นส่วนต่าง ๆ รวมทั้งอาหารและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันปรับตัวสูงขึ้นทั้งหมด จึงจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาค่าขนส่งให้ครอบคลุมต้นทุนทั้งหมดรวม 20%” นายอภิชาติ กล่าว

นายอภิชาต กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่กลุ่มเกษตรกรชาวสวนปาล์มออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคาปาล์มลดลงเหลือกิโลกรัมละ7 บาท ตนอยากจะขอร้อง อย่าเอาประชาชนคนไทย 67 ล้านคน เป็นตัวประกัน เพราะในอดีตที่ผ่านมาชาวสวนปาล์มเคยขายปาล์มกิโลกรัมละ 2 บาท แต่วันนี้ราคาขึ้นมาเป็นกิโลกรัมละ 7 บาท ก็ยังสูงกว่าที่เคยขายในอดีตมาก ซึ่งตนอยากขอร้องเฉพาะในช่วงที่น้ำมันแพง ขอให้ชะลอการผสมน้ำมันบี 100 มาผสมเป็นการชั่วคราวเท่านั้น หากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง จึงค่อยกลับไปเพิ่มส่วนผสมของบี 100 อย่างในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานมีการปรับสูตรไบโอดีเซลลงมาบี 20 ,บี 10 และบี 7 ลงมาเหลือบี 5 ราคาน้ำมันไบโอดีเซลลดลงทันทีลิตรละ 2 บาท

นายอภิชาติ กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงพลังงานแถลงข่าวว่า ไม่รู้ว่าจะหาเงินจากไหนมาอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ลิตรละ 25 บาท เพราะต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลที่แท้จริงอยู่ที่ลิตรละ 34 บาท ก็ต้องถามย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านมา อย่างในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ตอนนั้นน้ำมันดิบในตลาดโลกขึ้นไปถึง 152 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล น้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 40 บาท ก็ใช้วิธีลดภาษีสรรพสามิตทันที ทำให้ผ่านพ้นวิกฤตมาได้ ส่วนในสมัยรัฐบาลไทยรักไทยก็ปรับภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงมาเหลือ 2 สตางค์ต่อลิตร และในสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ปรับลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 0% ขณะที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่เคยพิจารณาข้อเสนอของสหพันธ์การขนส่งฯแม้แต่ครั้งเดียว ทำให้พวกเราหมดความอดทนต้องมาจัดกิจกรรมในวันนี้

นายวิฑูรย์ แนวพานิช นายกสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย

ด้านนายวิฑูรย์ แนวพานิช นายกสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มผู้ประกอบการรถแท็กซี่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดฯมา 2 ปี แต่ไม่สามารถปรับขึ้นราคาค่าโดยสารได้ ขณะที่ต้นทุนราคาพลังงานและค่าใช้จ่ายต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะต้นทุนค่าก๊าซ NGV และ LPG ทุกวันนี้คนขับรถแท็กซี่หาเงินมาได้ 700-800 บาท ต้องเติมแก๊ส 500 บาท คิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของรายได้ ที่เหลืออีก 200-300 บาท ต้องกันไว้จ่ายค่าเช่า หรือ ค่าผ่อนรถ ตอนนี้ก็แทบจะไม่มีเงินเหลือไว้ใช้จ่ายในครอบครัวอยู่แล้ว กระทรวงพลังงานยังมาประกาศลอยตัวก๊าซ NGV และ LPG อีก เท่ากับเป็นการซ้ำเติมกลุ่มคนขับรถแท็กซี่ ดังนั้น ในวันนี้จึงมายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ขอให้พิจารณาปรับลดราคาก๊าซ NGV ลงมาเหลือกิโลกรัมละ 10 บาท ส่วน LPG ปรับลดลงมาเหลือลิตรละ 9 บาท เป็นการชั่วคราว หากเศรษฐกิจดีขึ้น หรือมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าปรับเทศมากขึ้น จึงค่อยพิจารณาปรับราคาแก๊สขึ้นไป ทางกลุ่มคนขับรถแท็กซี่ก็ไม่ขัดข้อง

“กรณีที่กระทรวงพลังงานแถลงว่าไม่รู้จะหาเงินจากไหนมาอดุหนุนราคาแก๊สนั้น ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ ก็ควรจะลาออกไป หลีกทางให้คนที่มีความรู้ความสามารถ เข้ามาแก้ปัญหาของประเทศ แต่ก็น่าเห็นใจ หากรัฐบาลปรับลดภาษี ก็ไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนข้าราชการ แต่ถ้าไม่ลดภาษีประชาชน ก็เดือดร้อน ดังนั้น ก็ต้องยอมรับฝีมือ หรือ ประสิทธิภาพในการบริหารงานเรายังไม่ดีพอ ก็ควรปล่อยให้คนดี คนเก่ง เข้ามาบริหารประเทศ ผมเชื่อว่าถ้าได้คนเก่ง เขาหาทางออกในเรื่องนี้ได้” นายวิฑูรย์ กล่าว

นายวิฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อเสนอของกระทรวงพลังงานที่จะโอนอุดหนุนค่าแก๊สผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทุกๆ 3 เดือน 100 บาทนั้น คนขับรถแท็กซี่เติมแก๊สครั้งเดียวก็ 500 บาทแล้ว รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนแค่ 100 บาท ทุก ๆ 3 เดือน ถามว่าคนขับรถแท็กซี่จะอยู่รอดได้อย่างไร ซึ่งนโยบายดังกล่าวนี้ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และที่สำคัญคือ คนขับรถแท็กซี่ไม่สามารถทำบัตรคนจนได้ เพราะคุณสมบัติไม่ตรงตามเงื่อนไขมีรายได้เกิน 100,000 บาทต่อปี หากไปแจ้งว่ามีรายได้ไม่ถึง 100,000 บาทต่อปี จะเอาเงินที่ไหนจ่ายค่าแก๊สเติมครั้งละ 500 บาท ทุกวันนี้กลุ่มคนขับแท็กซี่ไม่ได้รับสวัสดิการอะไรเลย บัตรคนจนก็ไม่มี ค่าครองชีพทุกอย่างปรับสูงขึ้น ขณะที่ค่าโดยสารปรับขึ้นไม่ได้ เพราะถูกรัฐบาลควบคุม วันนี้จึงต้องออกมาเรียกร้องขอให้รัฐบาลปรับลดราคาแก๊สลงมาชั่วคราวจนกว่าจะผ่านพ้นวิกฤตโควิดฯ

  • “กุลิศ” แจงลอยตัว LPG-NGV เร่งหาเงินเยียวยา “บัตรคนจน” 3 เดือน 100 บาท
  • มติ กบง. ลดชดเชย “ดีเซล” ชง กพช. เก็บเงิน LPG ส่งออกเข้ากองทุนน้ำมันฯ ตรึงราคาแก๊สหุ้งต้มถังละ 363 บาท
  • EIC ชี้วิกฤติพลังงาน สัญญาณเตือนความท้าทายที่จะเกิดในช่วง ENERGY TRANSITION
  • เบื้องหลัง กบง. กลับลำ ยกเลิก B6
  • ม็อบรถบรรทุกจี้พลังงงานตรึงดีเซล 25 บาท ไม่ได้ 1 ธ.ค. “ทิ้งรถ”
  • นายกฯ วอนม็อบรถบรรทุกอย่ากดดัน สั่ง รฟท.-บขส. รับส่งสินค้าเพิ่ม — มติ ครม. ขยายวงเงินกู้ตรึงราคาพลังงาน