ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ‘ประยุทธ์’ สะดุดขาตัวเอง ต้องลดภาษีดีเซล อุ้มน้ำมันแพง

‘ประยุทธ์’ สะดุดขาตัวเอง ต้องลดภาษีดีเซล อุ้มน้ำมันแพง

14 กุมภาพันธ์ 2022


‘ประยุทธ์’ สะดุดขาตัวเอง ยอมปรับลดภาษีดีเซล 3 บาท 3 เดือน พร้อมจัดงบอุดหนุนค่าแก๊สหุงต้มผ่าน ‘บัตรคนจน’ 3 เดือน 100 บาท แก้ปัญหาน้ำมันแพง หวั่นกระทบฐานะการคลัง

จากปัญหาราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2564 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับราคาขึ้นไปถึง 6 ครั้ง ท่ามกลางสถานการณ์ราคาสินค้า โดยเฉพาะในกลุ่มเนื้อหมู เนื้อไก่ สัตว์น้ำ และไข่ ปรับราคาเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10% ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิต ค่าขนส่งสินค้าไปจนถึงค่าครองชีพทุกอย่างปรับตัวสูงขึ้นตาม จนทำให้กลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกและคนขับรถแท็กซี่ ทนแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ไหวออกมาชุมนุมประทวงเป็นครั้งที่ 3 ขับไล่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ให้ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เนื่องจากไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำมันแพงได้ ปล่อยให้ราคาสินค้า “แพงทั้งแผ่นดิน” โดยกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุก ยังคงเดินหน้าเรียกร้องให้รัฐบาลตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 25 บาทด้วยข้อเสนอให้รัฐบาลปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ซึ่งปัจจุบันเก็บอยู่ลิตรละ 5.99 บาท พร้อมเสนอให้ยกเลิกการนำไบโอดีเซล B100 ลิตรละ 53 บาท มาผสมกับน้ำมันดีเซลเป็นการชั่วคราว ปรากฏว่าข้อเสนอดังกล่าวนี้ไม่ได้รับการตอบแต่ประการใด จึงประกาศปรับขึ้นราคาค่าขนส่งสินค้า 15-20%

ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการแท็กซี่ไม่สามารถปรับขึ้นราคาค่าโดยสารได้ เนื่องจากถูกควบคุมโดยกรมการขนส่งทางบก หลังจากทราบข่าวว่ากระทรวงพลังงานกำลังจะปล่อยลอยตัวก๊าซเอ็นจีวี NGV และก๊าซแอลพีจี (แก๊สหุงต้ม) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 จึงรวมตัวกันมายื่นหนังสือถึงนายสุพัฒนพงษ์ ขอให้รัฐบาลพิจารณาปรับลดราคาก๊าซ NGV ลงมาเหลือกิโลกรัมละ 10 บาท ส่วนแก๊สแอลพีจีลดเหลือลิตรละ 9 บาท ชั่วคราวจนกว่าจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งนี้

ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานพยายามแก้ปัญหาน้ำมันแพง โดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เก็บมาจากกลุ่มคนใช้น้ำมันเบนชินและแก๊สโซฮอล์เดือนละ 3,500 ล้านบาท เข้าตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท รวมทั้งพยายามปรับลดส่วนผสมของไบโอดีเซล B100 ลงมา จากน้ำมันไบโอดีเซล B7 ลดเหลือ B5 แต่ยังแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงไม่ได้ เพราะข้อจำกัดของกฎหมาย พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2562 ที่ยกร่างกันมาตั้งแต่สมัยของรัฐบาล คสช. กำหนดกรอบการใช้จ่ายเงินของกองทุนน้ำมันฯ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันไม่เกิน 40,000 ล้านบาท กรณีกองทุนน้ำมันฯมีเงินไม่เพียงพอที่จะใช้ในการแทรกแซงราคาน้ำมัน สามารถกู้เงินเสริมสภาพคล่องได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบวงเงิน 40,000 ล้านบาท และเสนอให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติ

การแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงถูกจำกัดด้วยกรอบวงเงิน เพื่อรักษาวินัยการใช้จ่ายเงิน ซึ่งแตกต่างจากในอดีตสามารถกู้เงินมาแทรกแซงราคาพลังงานโดยที่ไม่มีข้อจำกัด

อย่างในช่วงกลางปี 2548 ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกู้เงิน 85,000 ล้านบาท โดยการออกพันธบัตรเพื่อนำไปชำระหนี้และใช้ในการแทรกแซงราคาน้ำมัน รวมทั้งจัดงบประมาณมาให้กองทุนอีก 12,000 ล้านบาท จนทำให้กองทุนฯมีภาระหนี้สูงสุดถึง 82,988 ล้านบาท

ปัจจุบันนอกจากกองทุนน้ำมันฯ มีภาระในการดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาทแล้ว กองทุนน้ำมันฯยังมีภาระในการดูแลราคาราคาแก๊สแอลพีจี หรือ ‘แก๊สหุงต้ม’ ตามนโยบายรัฐบาล โดยกำหนดให้ตรึงราคาแก๊สแอลพีจีไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม เริ่มทำกันมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ใช้เงินไปแล้วกว่า 25,000 ล้านบาท

หลังจากกองทุนน้ำมันฯเริ่มนำเงินเข้าไปแทรกแซงราคาน้ำมันดีเซลได้ไม่ถึง 2 เดือน (เริ่มตุลาคม 2564) ปรากฏว่าเงินหมด วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 กระทรวงพลังงาน เสนอที่ปะชุม ครม.อนุมัติแผนการกู้ยืมเงิน เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันฯวงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะได้รับเงินกู้ก้อนนี้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะภายในเดือนเมษายน 2565 แต่ระหว่างที่ยังไม่ได้เงินกู้ กองทุนน้ำมันฯใช้วิธีโยกเงินจากบัญชีที่เตรียมไว้ชำระหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนด มาใช้ในการแทรกแซงราคาน้ำมันดีเซลและแก๊สไปพรางก่อน

ล่าสุด ฐานะเงินกองทุนน้ำมันติดลบไปเกือบ 16,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับวงเงินกู้อีก 20,000 ล้านบาท คาดว่าจะใช้แทรกแซงราคาน้ำมันดีเซลและแก๊สหุงต้มต่อไปได้อีกไม่เกิน 3 เดือน

จากปัญหาของกองทุนน้ำมันฯตามที่กล่าวมานี้ ทำให้กระทรวงการคลังต้องหาแหล่งเงินไปช่วยสนับสนุน เพื่อให้กองทุนน้ำมันฯกลับมาทำหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงได้ต่อไป

โดยก่อนหน้านี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการจัดหาแหล่งเงินไปช่วยสนับสนุนภารกิจของกองทุนน้ำมันฯว่ามีอยู่หลายแนวทาง อาทิ การจัดสรรงบกลาง หรือ การจัดสรรงบฯจากพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ส่วนการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลนั้น นายอาคมขอเก็บไว้พิจารณาเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อฐานะการคลังของรัฐบาล

หากย้อนกลับไปในช่วงที่มีจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 คงจะจำกันได้ว่าในปีนี้รัฐบาลตั้งวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลเอาไว้เต็มเพดาน ตามที่ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ 2548 กำหนด หรือที่เรียกว่า “กู้เต็มเพดาน”ตั้งแต่เริ่มต้นจัดทำงบประมาณ

โดยปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลตั้งวงเงินงบประมาณรายจ่ายเอาไว้ที่ 3,100,000 ล้านบาท ประมาณการรายได้ 2,400,000 ล้านบาท และกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 700,000 ล้านบาท ซึ่งการจัดทำประมาณรายได้ของรัฐบาลในปีนี้ ยังไม่ได้นับรวมผลกระทบจากการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเอาไว้ด้วย

สำหรับปีงบประมาณ 2565 กระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีน้ำมัน 225,597 ล้านบาท หากมีการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 1 บาท คาดว่าจะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้กว่า 2,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือ ประมาณ 25,000 ล้านบาทต่อปี หากมีการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลลงมากกว่านี้ ก็จะทำให้รัฐบาลมีความเสี่ยงที่จะเก็บภาษีหลุดเป้ามากยิ่งขึ้น และอาจจะมีผลทำให้กระทรวงการคลังต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเกินกว่าที่กฎหมายหนี้สาธารณะกำหนด เป็นสาเหตุที่ทำให้นายอาคมพิจารณาการปรับลดภาษีน้ำมันเป็นทางเลือกสุดท้าย

แต่หลังจากที่กระทรวงพลังงานทำเรื่องเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ฯ เพื่อขอใช้เงินกู้จากพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทไปแล้ว ปรากฎได้รับการยืนยันจากคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ฯว่าทำไม่ได้ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโควิดฯ ขณะที่งบกลางก็มีเหลืออยู่ไม่มากนัก ต้องเตรียมกันไว้ใช้ในยามฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน เช่น การแก้ปัญหาภัยพิบัติ น้ำท่วม ภัยแล้ง จึงเหลือทางเลือกสุดท้าย คือ การปรับลดภาษีน้ำมันดีเซล คู่ขนานไปกับมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้มีรายได้น้อยของกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน โดยการจัดสรรงบประมาณมาอุดหนุน เป็นส่วนลดค่าแก๊สหุงต้มให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยผ่าน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”ทุกๆ 3 เดือน 100 บาท ภายหลังจากกองทุนน้ำมันทยอยฯยกเลิกการอุดหนุนราคาแก๊สหุงต้ม จากถังละ 318 บาท ก็จะเพิ่มเป็นถังละ 333 บาท และ 363 บาทตามลำดับ

ถามว่าลดภาษีน้ำมันดีเซลเท่าไหร่ นานแค่ไหนถึงจะเพียงพอที่จะใช้รับมือกับวิกฤตการณ์น้ำมันในครั้งนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าว่า ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯใช้เงินเข้าไปดึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 4 บาท (จากราคาที่แท้จริงลิตรละ 33 บาท ลงมาเหลือลิตรละ 29 บาท) แต่ภายใต้สถานการณ์รัสเซียเคลื่อนทัพเข้าประชิดชายแดนยูเครน และกลุ่มโอเปกพลัสประกาศคงกำลังการผลิตน้ำมันไว้ที่ 400,000 บาร์เรลต่อวัน คาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจจะปรับตัวสูงขึ้นเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลนั้น

“หากมีการปรับลดภาษีดีเซลลิตรละ 2 บาท อาจไม่เพียงพอ เนื่องจากการปรับภาษีลงมา 2 บาท จะช่วยดึงราคาน้ำมันดีเซลลงมาอยู่ที่ลิตรละ 29-30 บาทเหมือนเดิม ไม่มีผลในทางการเมือง ดังนั้น การพิจารณาปรับลดภาษีในเบื้องต้นจึงไม่ควรต่ำกว่าลิตรละ 3 บาท โดยทำคู่ขนานไปกับการใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯเข้าไปแทรกแซง คาดว่าจะช่วยดึงราคาน้ำมันดีเซลลงมาอยู่ที่ลิตรละ 27-28 บาทได้ และควรมีการพิจารณาทบทวนต่อขยายมาตรการภาษีกันทุกเดือน คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน ก็น่าจะจบ”แหล่งจากกระทรวงการคลัง กล่าว

ส่วนข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการรถบรรทุกที่เสนอให้รัฐบาลปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลจากลิตรละ 5.99 บาท ลงมาเหลือ 5 สตางค์เหมือนกับในสมัยของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนั้น แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะสถานการณ์แตกต่างกัน ในสมัยของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์และรัฐบาลนางสาวยิงลักษณ์ ไม่ติดข้อจำกัดในเรื่องของกฎหมายหนี้สาธารณะ หรือกฎหมายวิธีการงบประมาณ ยังเหลือความยืดหยุ่นทางการคลัง ให้สามารถปรับลดภาษีได้

ขณะที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แทบจะไม่มีช่องว่าง หรือ ความยืดหยุ่นทางการคลังให้ปรับลดภาษี มีแต่จะปรับขึ้นภาษี หรือ ขยายฐานไปเก็บภาษีแหล่งใหม่ ๆ ที่ยังชำระภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วน เช่น ภาษีคริปโทฯ หรือ ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เป็นต้น

ดังนั้น หากมีการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลลงลิตรละเกือบ 5.94 บาท ตามข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการรถบรรทุก อาจจะทำให้รัฐขาดรายได้กว่า 12,000 ล้านบาทต่อเดือน และถ้าลดภาษีต่อเนื่อง 1 ปี เหมือนรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ก็จะทำให้รัฐขาดรายได้ 150,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน จึงไม่สามารถทำได้

จึงสะท้อน 7 ปี การบริหารจัดการประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในที่สุดต้องสะดุดขาตัวเอง ท่ามกลางความอ่อนแอและอ่อนด้อยที่ถูกกดทับมายาวนาน อาจจะถึงจุดพลิกที่นำไปสู่ปัญหาที่ยากจะรับมือก็เป็นได้

  • “กุลิศ” แจงลอยตัว LPG-NGV เร่งหาเงินเยียวยา “บัตรคนจน” 3 เดือน 100 บาท
  • “กองทุนน้ำมันฯ” เงินหมด เร่งกู้ 2 หมื่นล้านบาท
  • มติ กบง. ลดชดเชย “ดีเซล” ชง กพช. เก็บเงิน LPG ส่งออกเข้ากองทุนน้ำมันฯ ตรึงราคาแก๊สหุ้งต้มถังละ 363 บาท
  • EIC ชี้วิกฤติพลังงาน สัญญาณเตือนความท้าทายที่จะเกิดในช่วง ENERGY TRANSITION
  • เบื้องหลัง กบง. กลับลำ ยกเลิก B6
  • ม็อบรถบรรทุกจี้พลังงงานตรึงดีเซล 25 บาท ไม่ได้ 1 ธ.ค. “ทิ้งรถ”
  • นายกฯ วอนม็อบรถบรรทุกอย่ากดดัน สั่ง รฟท.-บขส. รับส่งสินค้าเพิ่ม — มติ ครม. ขยายวงเงินกู้ตรึงราคาพลังงาน
  • ปฏิรูปโครงสร้างพลังงาน (2) : กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง…รักษาเสถียรภาพพลังงาน หรือ ประชานิยม