ThaiPublica > เกาะกระแส > วงจรอุบาทว์ “ราคาน้ำมัน” ของไทย

วงจรอุบาทว์ “ราคาน้ำมัน” ของไทย

29 พฤศจิกายน 2021


วงจรอุบาทว์ “ราคาน้ำมันไทย” เก็บเงินคนใช้เบนซินส่ง “กองทุนน้ำมันฯ” ตรึงราคาดีเซล-แก๊สหุงต้ม-ดึงราคาปาล์ม เงินหมดกู้-ไม่พอลดภาษี

ตามที่สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ออกมาเคลื่อนไหวช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการนำน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ หรือ “B100” มาผสมในน้ำมันดีเซล ร่วมกับปรับลดภาษีสรรพสามิตเป็นการชั่วคราว เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 25 บาท เฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น

ปรากฏว่าข้อเรียกร้องของสหพันธ์การขนส่งทางบกไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ยังมีมติยกเลิกน้ำมันไบโอดีเซล B6 และกลับไปใช้ B7, B10 และ B20 สูตรเดิม ตามข้อเรียกร้องของเกษตรกรชาวสวนปาล์ม รวมทั้งประกาศเดินหน้าตรึงราคาไบโอดีเซลที่ลิตรละ 30 บาทต่อไป โดยไม่ได้มีการเจรจากับผู้ประกอบการรถบรรทุกแต่อย่างใด เสมือนมองไม่เห็นความสำคัญกับปัญหาความเดือดร้อนของภาคขนส่ง

ถามว่าทำไม กบง. มีมติกลับลำยกเลิก B6 กลับไปใช้ไบโอดีเซลสูตรเดิมตามข้อเสนอของชาวสวนปาล์ม แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลให้ข้อมูลว่า การปรับลดสัดส่วนของ B100 ในน้ำมันดีเซลลงเป็นการตัดสินใจในช่วงจังหวะที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากรัฐบาลกำลังจะไปจัดประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดกระบี่ รวมทั้งมอบหมายให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ลงพื้นที่ไปพบปะผู้ประกอบการและเกษตรกร ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เช่น กระบี่, ตรัง, พังงา, ภูเก็ต, ระนอง และสตูล ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพปลูกปาล์ม ยางพารา และประมง เกรงว่าจะถูกชาวสวนปาล์มประท้วงในระหว่างที่มีการประชุม ครม.สัญจร จึงให้กระทรวงพลังงาน โดย กบง. ยกเลิก B6 ออกไปก่อน

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2546 สหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ระดมรถสิบล้อกว่า 500 คันเคลื่อนขบวนมาจัดกิจกรรม “Truck Power” เป็นครั้งที่ 2 ที่หน้าอาคารศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรีผ่านรองปลัดกระทรวงพลังงาน ขณะที่นายกรัฐมนตรีกำลังประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดกระบี่ โดยกลุ่มผู้เรียกร้องยืนยันข้อเรียกร้องเดิม คือ ให้ยกเลิกการนำ B100 มาผสมในน้ำมันดีเซลและปรับลดภาษีสรรพสามิตลง หากรัฐบาลยังเพิกเฉย ไม่ยอมรับข้อเสนอของสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ อีก ในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ทางผู้ประกอบการจะนำรถบรรทุกออกมาวิ่ง โดยเติมน้ำมันแค่ 20 ลิตร น้ำมันหมดที่ไหนก็จอดทิ้งไว้ที่นั่น พร้อมกับปรับขึ้นค่าขนส่ง

  • EIC ชี้วิกฤติพลังงาน สัญญาณเตือนความท้าทายที่จะเกิดในช่วง ENERGY TRANSITION
  • เบื้องหลัง กบง. กลับลำ ยกเลิก B6
  • ม็อบรถบรรทุกจี้พลังงงานตรึงดีเซล 25 บาท ไม่ได้ 1 ธ.ค. “ทิ้งรถ”
  • นายกฯ วอนม็อบรถบรรทุกอย่ากดดัน สั่ง รฟท.-บขส. รับส่งสินค้าเพิ่ม — มติ ครม. ขยายวงเงินกู้ตรึงราคาพลังงาน
  • ปฏิรูปโครงสร้างพลังงาน (2): กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง…รักษาเสถียรภาพพลังงาน หรือ ประชานิยม
  • พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
    ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

    วันเดียวกันนั้น หลังเสร็จสิ้นการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “ขอความเข้าใจจากตัวแทนผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุกทั่วประเทศ อย่าใช้แรงกดดันรัฐบาล เพราะต้องดูแลประชาชนทุกกลุ่มและต้องพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบ และขอให้คำนึงถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้กระทรวงคมมนาคมไปจัดขนส่งทางรถไฟ และจัดรถ บขส. สำหรับขนส่งสินค้าอีกทางหนึ่งเพิ่มเติม

    รวมทั้งมีเตรียมมาตรการสำรอง กรณีภาคขนส่งหยุดเดินรถ ก็ให้นำรถทหารออกมาวิ่งรับส่งสินค้าแทน จากคำแถลงของนายกฯ กลายเป็นประเด็นดราม่าทางการเมือง ให้ฝ่ายค้านออกมาวิพากษ์วิจารณ์ลามไปถึงเรื่องการปลูกผักชีในค่ายทหาร

    สุดท้าย หลังเสร็จสิ้นภารกิจ ครม.สัญจร ที่จังหวัดกระบี่ สัปดาห์ถัดมา ที่ประชุม กบง. วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ก็มีมติกลับลำเป็นครั้งที่ 2 โดยปรับลดส่วนผสมของ B100 ลงในน้ำมันดีเซล จาก B7, B10, และ B20 เหลือแค่ B6 รวมทั้งกำหนดให้ปั๊มน้ำมันบวกค่าการตลาดได้ไม่เกินลิตรละ 1.40 บาท เป็นระยะเวลา 4 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565

    การลดส่วนผสม B100 ในน้ำมันดีเซลครั้งนี้ จะส่งผลทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันไบโอดีเซล B7 ลดลงมาอยู่ที่ไม่เกินลิตรละ 28 บาท เท่ากับว่ากระทรวงพลังงานยอมรับข้อเสนอของภาคขนส่งบางส่วน ทำให้สหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ต้องยอมถอยเช่นกัน โดยประกาศเลื่อนการยกระดับมาตรการปรับขึ้นราคาค่าขนส่ง และมาตรา “ทิ้งรถ” ที่จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ออกไปไม่มีกำหนด

    ปรากฏปัญหาก็ยังไม่จบ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนปาล์ม 5 จังหวัดภาคใต้ รวมตัวกันไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขอให้กระทรวงพลังงานยกเลิกมติ กบง. วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 เนื่องจากการปรับลดส่วนผสมของ B100 ในน้ำมันดีเซลเหลือแค่ 7% อาจมีผลกระทบต่อราคาผลปาล์มสด จึงขอให้กระทรวงพลังงานกลับไปใช้น้ำมันไบโอดีเซลสูตรเดิม คือ B7, B10 และ B20 หากไม่ทำตามข้อเสนอของชาวสวนปาล์ม อาจจะมีการยกระดับข้อเรียกร้องเช่นเดียวกับภาคขนส่ง

    ถามว่า การแก้ปัญหาแบบนี้เท่ากับไม่แก้ใช่หรือไม่ เพราะทุกครั้งที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ภาคขนส่งก็ออกมาเรียกร้องขอให้รัฐบาลลดภาษีหรือนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ออกมาชดเชยราคาน้ำมันจนต้องทำเรื่องเสนอ ครม. ขอความเห็นชอบให้กองทุนน้ำมันฯ สามารถกู้ยืมเงินได้เต็มเพดาน 40,000 ล้านบาท สำรองไว้ใช้รักษาเสถียรภาพราคาพลังงานในช่วงขาขึ้น ขณะที่เกษตรกรชาวสวนปาล์มเองก็ไม่ปรับตัว พอราคาดีก็ขยายพื้นที่เพาะปลูก จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่าในปี 2561 มีเกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมัน 338,131 ครัวเรือน ใช้พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 5.8 ล้านไร่ มีปริมาณการขายผลผลิต 15.5 ล้านตัน ปี 2562 ทั่วประเทศมีเกษตรกรปลูกปาล์มเพิ่มขึ้นเป็น 364,864 ครัวเรือน บนพื้นที่ 6.1 ล้านไร่ ปริมาณการขายผลผลิตเพิ่มเป็น 16.4 ล้านตัน

    รู้หรือไม่ว่าการที่ราคาผลปาล์มสดแพงขึ้น 3 เท่าตัว นับจากสิ้นปี 2562 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 3.05 บาท/กิโลกรัม พอมาถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564 ราคาขึ้นมาอยู่ที่ 8.80 บาท/กิโลกรัม (ข้อมูลจากกรมการค้าภายใน) เป็นผลทำให้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์มีราคาแพงกว่าตัวเนื้อน้ำมันดีเซลถึง 2 เท่าตัว เมื่อนำมาผสมกันแล้ว ทำให้คนไทยทั้งประเทศต้องใช้น้ำมันราคาแพง แถมยังไปเก็บเงินจากคนที่ใช้น้ำมันเบนซินมาใช้ในการตรึงราคาไบโอดีเซล และแก๊สหุงต้ม ช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดลดลง ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศก็ลดลงได้ไม่มาก เพราะมีต้นทุนเหล่านี้แฝงอยู่ ขณะที่กองทุนน้ำมันฯ (ขณะนี้มีเงินกองทุนเหลืออยู่ประมาณ 7,000 ล้านบาท) หากเงินหมดเมื่อไหร่ก็ต้องกู้ และหากกู้จนชนเพดานที่ 40,000 ล้านบาท ทางเลือกต่อไปก็คือต้องลดภาษีสรรพสามิต

    นี่คือวงจรอุบาทว์ของ ราคาน้ำมัน ของไทย

    ถึงเวลาที่ต้องสะสางปมการอุดหนุน แบบไม่รู้จบเสียที เพื่อให้ทุกคนยืนบนการแข่งขันที่แท้จริง สร้างความแข็งแกร่งและสู้กันในเวทีโลกได้

      ที่มาที่ไป “ไบโอดีเซล”

      การแก้ไขปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ เริ่มต้นในสมัย ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้จัดทำ “โครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20” สำหรับรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) แต่ก็ไม่มีผลต่อราคาน้ำมันปาล์มมากเท่าไหร่ เพราะปริมาณการใช้ยังไบโอดีเซลยังจำกัดอยู่เฉพาะรถโดยสารของ ขสมก. และ บขส. เท่านั้น

      จนกระทั่งมาถึงสมัยของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ เลขาธิการ พรรคพลังประชารัฐ ต้องการขยายฐานเสียงลงไปยังพื้นที่ภาคใต้ จึงมีนโยบายส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล โดยออกกฎหมายกำหนดให้นำ B100 มาผสมในน้ำมันดีเซล ซึ่งครั้งนี้ขยายการใช้ไปยังรถยนต์ส่วนบุคคล รถกระบะ และรถบรรทุกทั่วไป รวมทั้งกำหนดน้ำมันไบโอดีเซล B10 เป็นน้ำมันดีเซลเกรดพื้นฐาน ทำให้ราคาขายปลีกไบโอดีเซล B10 ถูกกว่า B7 ลิตรละ 2 บาท ส่วนไบโอดีเซล B20 กำหนดราคาให้ถูกกว่า B7 ลิตรละ 3 บาท โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา

      เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2561 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมเป็นประธานใน พิธีเปิด “โครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20” สำหรับรถโดยสาร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ณ อู่ ขสมก. เมกาบางนา ต. บางแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
      เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานพิธี เปิดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 ณ ศูนย์เอ็นเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคาร C
      ที่มาภาพ: กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

      ปรากฏว่าได้ผลดีเกินความคาดหมาย ราคาน้ำมันปาล์มดิบปรับตัวสูงขึ้นมาเป็นลำดับ จากกิโลกรัมละ 3-4 บาท ปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 9 บาท ซึ่งมีผลทำให้ราคาน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ หรือ B100 ที่โรงกลั่นน้ำมันนำไปผสมกับดีเซลมีราคาซื้อขายอยู่ที่ลิตรละ 47 บาท ขณะที่ตัวเนื้อน้ำมันดีเซลราคาไม่ถึงลิตรละ 20 บาท ทำให้ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ มีภาระที่จะต้องนำเงินไปใช้รักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนละ 4,000 ล้านบาท