ThaiPublica > เกาะกระแส > เปิดตัวกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย “รสนา โตสิตระกูล” แนะระยะสั้น ปรับลดราคา LPG ครัวเรือนเท่าขนส่ง-ห้ามโรงกลั่นน้ำมันบวกค่าใช้จ่ายเทียม

เปิดตัวกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย “รสนา โตสิตระกูล” แนะระยะสั้น ปรับลดราคา LPG ครัวเรือนเท่าขนส่ง-ห้ามโรงกลั่นน้ำมันบวกค่าใช้จ่ายเทียม

5 มิถุนายน 2014


จนถึงขณะนี้สังคมยังถกเถียงเรื่องข้อมูลพลังงานว่าอันไหนจริงอันไหนเท็จ หรือการถกเถียงเรื่องโครงสร้างราคาพลังงานบิดเบือน คนใช้น้ำมันต้องจ่ายเงินอุดหนุนคนใช้แก๊ส ก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม กิจการพลังงานไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ (ธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม) กลางน้ำ (ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ การขนส่งน้ำมัน โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้า) และปลายน้ำ (การจำหน่ายไฟฟ้า น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซ LPG และ NGV) อยู่ภายใต้การผูกขาดของกลุ่มธุรกิจพลังงานขนาดใหญ่เพียงไม่กี่กลุ่ม ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด และยังมีอิทธิพลเหนือกลไกของรัฐบาลในการกำหนดราคาเชื้อเพลิงได้ตามที่กลุ่มธุรกิจผูกขาดพลังงานต้องการ โดยมีนักการเมืองและข้าราชการที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายและการกำกับดูแลด้านพลังงานไปมีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ในกิจการพลังงานเหล่านี้ นี่คือสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้นเรื่องการปฏิรูปพลังงานไทย จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการแก้ไข

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2557 น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตวุฒิสมาชิก กรุงเทพมหานคร จัดแถลงข่าวเปิดตัว กลุ่มจับตาการปฏิรูปพลังงานไทย (จปพ.) หรือ “Thai Energy Reform Watch” ณ ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซอยราชวิถี 7 โดยกลุ่ม จปพ. นำเสนอแผนการปฏิรูปพลังงานแบบเร่งด่วนต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 4 แนวทาง ดังนี้

1. ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมเสนอข้อมูลและแสดงความคิดเห็นในการปกป้องผลประโยชน์ของตนเองโดยเท่าเทียมกับภาครัฐและภาคธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ประเด็นการแยกโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ และแปรรูปเพื่อจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงการขายหุ้น ปตท. เป็นต้น

2.ให้ยกเลิกการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) กับประชาชน และให้ดำเนินการดังนี้

2.1 ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 กำหนดให้จัดสรรก๊าซ LPG ที่ผลิตได้ในประเทศแก่ภาคปิโตรเคมีใช้เป็นลำดับแรกร่วมกับภาคครัวเรือนออกไปเสียก่อน เนื่องจาก LPG ที่ผลิตได้ในประเทศราคาถูก ขณะที่ภาคปิโตรเคมีมีปริมาณการใช้มากเป็นอันดับหนึ่งจนไม่พอเพียงต่อความต้องการใช้ของภาคส่วนต่างๆ จนต้องมีการนำเข้า โดยภาระการนำเข้าเป็นของประชาชนทั้งหมด

2.2 ให้มีมติในการจัดสรรก๊าซ LPG ขึ้นใหม่ โดยให้ LPG ที่ผลิตได้จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยอันเป็นทรัพยากรธรรมชาติของคนไทยทุกคน ต้องจัดสรรให้ประชาชนใช้ก่อนโดยเฉพาะภาคครัวเรือนด้วยราคาตามต้นทุนที่แท้จริงบวกกำไรที่เหมาะสมเป็นธรรมต่อผู้ใช้และผู้ผลิต มิใช่อิงราคาตลาดโลก เมื่อเหลือจึงแบ่งให้ภาคอื่นใช้ หากไม่พอให้ภาคอุตสาหกรรมทุกประเภทเป็นผู้รับภาระการนำเข้าเอง โดยให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติต้องเผยแพร่รายงานต้นทุนการประกอบการที่แท้จริง

2.3 ปรับลดราคาก๊าซ LPG ของภาคครัวเรือนให้กลับไปเท่ากับราคา LPG ของภาคขนส่งที่ 21.38 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ข้ามประเภทระหว่าง 2 กลุ่มนี้ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการป้องกันการลักลอบใช้ LPG ผิดประเภทและการลักลอบส่งขายต่างประเทศอย่างเข้มงวด

3. ให้ยกเลิกโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปที่อ้างอิงราคาสมมติว่านำเข้าจากสิงคโปร์ โดยให้ยกเลิกการเก็บค่าพรีเมียม เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าความสูญเสียระหว่างการขนส่ง จากประเทศสิงคโปร์มายังโรงกลั่นในประเทศไทย ซึ่งไม่มีจริง และให้รัฐบาลกำหนดราคาจำหน่ายเชื้อเพลิงสำเร็จรูปตามราคาส่งออกจากไทย ซึ่งกำหนดโดยกลไกตลาดโลก และให้บริษัทน้ำมันเผยแพร่รายงานต้นทุนที่แท้จริงของโรงกลั่น

4. ให้ปรับปรุงโครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยให้มีตัวแทนของภาคประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรงต่อการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนา พลังงานของประเทศไทย

วันที่ 4 พฤษภาคม 2557 น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตวุฒิสมาชิก กรุงเทพมหานคร และสมาชิก แถลงข่าวเปิดตัว “กลุ่มจับตาการปฏิรูปพลังงานไทย (จปพ.)”
วันที่ 4 พฤษภาคม 2557 น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตวุฒิสมาชิก กรุงเทพมหานคร และสมาชิก แถลงข่าวเปิดตัว “กลุ่มจับตาการปฏิรูปพลังงานไทย”

น.ส.รสนาเปิดเผยว่า การกลับมาตรึงราคา LPG ที่ใช้ในภาคครัวเรือนของ คสช. เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชน แต่ในระยะยาวต้องปรับโครงสร้างราคากันใหม่ มาตรการเร่งด่วนที่ จปพ. ต้องการนำเสนอต่อ คสช. คือ ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งกำหนดให้ภาคปิโตรเคมีและภาคครัวเรือนมาใช้ก๊าซจากโรงแยกก๊าซเป็นลำดับแรก ส่วนที่เหลือถึงจะแบ่งให้กลุ่มอื่นใช้ และถ้าไม่พอให้นำเข้าจากต่างประเทศ โดยให้นำเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชย ปัจจุบันราคาก๊าซ LPG ที่ขายในประเทศไทยมี 4 ราคา คือ อุตสาหกรรมทั่วไปซื้อ LPG ที่ราคา 30 บาทต่อกิโลกรัม ภาคขนส่ง 21.38 บาทต่อกิโลกรัม ภาคครัวเรือน 22.13 บาทต่อกิโลกรัม และภาคปิโตรเคมี 16 บาทต่อกิโลกรัม

ปัญหาคือ ภาคปิโตรเคมีมีปริมาณการใช้ LPG เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีปริมาณการใช้มากกว่าทุกภาคส่วน มติ ครม. ดังกล่าวเปิดโอกาสให้ภาคปิโตรเคมีได้ใช้ LPG ราคาถูกที่ผลิตได้ในประเทศก่อนภาคอื่น ในขณะเดียวกัน ภาคปิโตรเคมีซื้อ LPG ถูกกว่าภาคอื่นๆ โดยใช้ราคา Net back อ้างอิงกับราคาเม็ดพลาสติกในตลาดโลก ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีบริษัทลูกของ ปตท. ซื้อ LPG ได้ถูกกว่าราคาตลาดโลกถึง 40-50% ขณะที่ปริมาณการใช้ LPG ของภาคปิโตรเคมีขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดก๊าซธรรมชาติราคาถูกในอ่าวไทยมีไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ทุกกลุ่มจึงถูกผลักให้ไปใช้ก๊าซ LPG นำเข้า รัฐบาลก็ต้องนำเงินกองทุนน้ำมันมาชดเชย

“สาเหตุที่บริษัทปิโตรเคมีซื้อ LPG ได้ในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโลก 40-50% เพราะประเทศไทยมีแหล่งก๊าซธรรมชาติ หากประเทศไทยไม่สามารถผลิต LPG ได้เอง ภาคปิโตรเคมีจะไปขอซื้อ LPG โดยใช้ราคา Net back อิงราคาเม็ดพลาสติกจากประเทศไหน ใครจะขายให้ ปตท. ภาคปิโตรเคมีควรใช้ LPG ราคาตลาดโลกเหมือนภาคอื่นๆ ไม่ใช่จะมาใช้ราคาถูกๆ และการที่กลุ่มปิโตรเคมีไม่สามารถซื้อ LPG ในราคาตลาดโลกได้แสดงว่าการบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ จึงต้องตีตั๋วเด็กซื้อ LPG ในราคาต่ำกว่าตลาดโลก 40% ขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ไม่สามารถซื้อ LPG ได้ในราคานี้ ในระยะต่อไปต้องมาศึกษาดูว่าธุรกิจที่ไม่มีการแข่งขันควรอยู่ต่อไปหรือไม่ แต่ไม่ใช่ต้องการดำรงอยู่แล้วให้คนอื่นมาแบกรับภาระแทน”น.ส.รสนากล่าว

น.ส.รสนากล่าวต่อว่า เหตุผลที่ทำให้ภาคปิโตรเคมีซื้อ LPG ได้ในราคาถูก กระทรวงพลังงานมักจะให้ข่าวอยู่เสมอว่า LPG ที่ใช้ในปิโตรเคมีคือวัตถุดิบ จึงไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน กระทรวงพลังงานดูแลเฉพาะกลุ่มที่ใช้ LPG เป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น ดังนั้นกลุ่มปิโตรเคมีจึงอยู่นอกเหนือการควบคุมของกระทรวงพลังงาน เปิดโอกาสให้บริษัทแม่กับบริษัทลูกตกลงราคาซื้อ-ขาย LPG กันเองที่ราคา 16 บาทต่อกิโลกรัม ประเด็นนี้ จปพ. เห็นว่าไม่เป็นธรรมกับประชาชน ในระยะต่อไป คสช. ควรเข้าไปดูโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ให้เกิดความเป็นธรรม เพราะทรัพยากรเหล่านี้เป็นของคนไทยทั้งประเทศ

กรณีสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัทเชฟรอน กำลังสิ้นสุดลงในอีก 5 ปีข้างหน้า น.ส.รสนากล่าวว่า ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ตอนนี้เหลือประเทศไทยเท่านั้นที่ยังใช้ระบบสัมปทาน ส่วนประเทศอื่นเปลี่ยนไปใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ทั้งหมดแล้ว เหตุผลที่กระทรวงพลังงานไม่ใช้ระบบ PSC เพราะแหล่งก๊าซธรรมชาติของไทยเป็นกระเปาะเล็กๆ แต่ประเทศอื่นๆในอาเซียนก็มีทั้งกระเปาะเล็กและกระเปาะใหญ่ ทำไมถึงใช้ระบบ PSC ได้ และไม่แบ่งแยกด้วยว่าถ้าเป็นกระเปาะเล็กใช้ระบบสัมปทาน กระเปาะใหญ่ใช้ PSC

“หากไปดูเอกสารที่กระทรวงพลังงานแจกให้บริษัทที่จะเข้ามารับสัมปทานรอบที่ 21 เขียนไว้ชัดเจน บริษัทที่ได้สัมปทานได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง เช่น เจ้าของกรรมสิทธิ์ทุกอย่าง ทั้งในเรื่องผลผลิตปิโตรเลียม ข้อมูล และอุปกรณ์การผลิต นี่คือสิ่งที่กระทรวงพลังงานบอกกับเอกชนที่จะเข้ามารับสัมปทาน แต่บอกกับคนไทยว่าหากใช้ระบบ PSC รัฐบาลต้องลงทุน ขอบอกว่าถ้าหากจำเป็นต้องลงทุน ก็ต้องเป็นการลงทุนที่ประโยชน์ต่อประเทศชาติ ส่วนลงทุนหรือไม่ เป็นเรื่องของการเจรจากับคู่สัญญา ยกตัวอย่าง เปิดร้านขายของร่วมกัน ฝ่ายหนึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน อีกฝ่ายหนึ่งเข้ามาลงทุนเป็นผู้บริหารกิจการ ส่วนไหนเป็นค่าแรงก็จ่ายเป็นค่าแรง ส่วนไหนเป็นต้นทุนการผลิตก็หักออกไป ที่เหลือคือกำไรก็แบ่งกัน ซึ่งในหลายประเทศแฟร์มาก หากเป็นการดำเนินงานที่ยาก ก็ให้เอกชนรับส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น ถ้าเป็นการลงทุนไม่ยากนัก รัฐก็ได้รับส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้น แต่ระบบสัมปทานที่ใช้อยู่เวลานี้ เหมือนกับยกบ่อปลาให้เขา จับปลาได้ ปลาตัวใหญ่ เขาก็เก็บไว้เอง ปลาตัวเล็กให้เรา” น.ส.รสนากล่าว

ต่อกรณีที่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าทางกลุ่มให้ข้อมูลพลังงานไม่ถูกต้อง ครบถ้วน น.ส.รสนากล่าวว่า “ช่วงนี้ก็มีหลายฝ่ายพยายามดิสเครดิตข้อมูลของเรา ปัจจุบันมีภาคประชาชนให้ความสนใจเรื่องนโยบายพลังงานเกิดขึ้นหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มก็มีการนำเสนอข้อมูลกันไป แต่เวลากล่าวหาอย่ามาตีขลุมทั้งหมด อย่างเช่น ใต้พื้นพิภพประเทศไทยมีน้ำมันเป็นจำนวนมาก หรือประเทศไทยมีน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก เทียบเท่าซาอุดีอาระเบีย ตนไม่เคยพูด อย่ามาเหมารวม ไม่เคยพูดเลย”

น.ส.รสนากล่าวว่า ประเด็นที่ จปพ. ต้องการนำเสนอ คสช. ครั้งนี้เป็นมาตรการระยะสั้น คือ ทำให้ราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันเป็นราคาเดียว กล่าวคือราคาที่ขายในประเทศต้องเท่ากับราคาน้ำมันที่ส่งออก ไม่ใช่ราคาส่งออกอ้างอิงประเทศสิงคโปร์ แต่ขายคนไทยบวกค่าพรีเมียม ค่าขนส่งเทียมจากสิงคโปร์มาประเทศไทยและค่าประกันภัยต่างๆ ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงน้ำมันทุกลิตรผลิตในประเทศไทย แต่ไปบวกค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง โรงกลั่นส่งออกน้ำมันราคาเท่าไหร่ก็ควรขายให้คนไทยในราคานี้ด้วย

ข้อเสนอที่จะให้มีการแยกกิจการท่อก๊าซออกจากบริษัท ปตท. มาตั้งบริษัทใหม่ น.ส.รสนาให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องที่ขัดต่อคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งกำหนดให้มีการแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจรัฐ แต่ปรากฏว่ารัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ส่งคืนเฉพาะท่อก๊าซบนบก แต่ท่อก๊าซในทะเลไม่คืน ขณะที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า ปตท. ยังคืนทรัพย์สินไม่ครบ มาถึงวันนี้กำลังจะแยกกิจการท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ ต้องถามว่าแยกกิจการมาแล้วใครเป็นเจ้าของ ศาลตัดสินให้คืนท่อก๊าซเป็นสมบัติของแผ่นดิน ไม่ได้ตัดสินให้ไปตั้งบริษัทใหม่ อันนี้เป็นการลักไก่ แปรรูปรอบที่ 2 เรื่องนี้ต้องขอให้ คสช. ชะลอ และหากจะดำเนินการต่อต้องศึกษาให้รอบครอบ

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า หลายรัฐบาลที่ผ่านมาใช้มาตรการจูงใจให้โรงกลั่นในประเทศไทยบวกค่าพรีเมียมเข้ามาอยู่ในราคาน้ำมันได้ ประกอบด้วย ค่าขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์มาประเทศไทย ค่าประกันภัย ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะน้ำมันสำเร็จรูปทุกลิตรผลิตมาจากโรงกลั่นที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ปัจจุบันมีกำลังการผลิตมากกว่าความต้องการใช้ในประเทศ ส่วนที่เหลือส่งออก สถานการณ์การผลิตน้ำมันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตซึ่งผลิตน้ำมันไม่พอใช้ ดังนั้น จึงควรยกเลิกมาตรการจูงใจให้กับโรงกลั่นน้ำมัน ส่วนในระยะยาวต้องปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตน้ำมัน กองทุนน้ำมันที่เชื่อมโยงกับภาษีมูลค่าเพิ่ม จปพ. เสนอให้ คสช. ควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้นำเสนอข้อมูลอย่างเท่าเทียมกับภาคราชการ และภาคธุรกิจ

นายอิฐบูรณ์กล่าวต่อไปอีกว่า กรณี คสช. ไปสั่งชะลอการปรับขึ้นราคา LPG ภาคครัวเรือน แต่ไม่ปรับราคา LPG ที่ใช้ในภาคปิโตรเคมี ภาคปิโตรเคมี ยังคงใช้ LPG ที่ผลิตได้ในประเทศปริมาณสูงเหมือนเดิม และมีภาระการนำเข้าสูงเหมือนเดิม สภาพก็จะกลายเป็น “กับดัก” ทำให้กองทุนน้ำมันมีภาระเพิ่มขึ้น เพื่อปลดล็อกกับดักดังกล่าว ต้องตรวจสอบว่า LPG ที่ผลิตได้ในประเทศขาด หรือไม่พอใช้ ในขณะนี้ควรตรวจสอบการใช้ของภาคปิโตรเคมีด้วย

ผลประโยชน์ทับซ้อน

“ส่วนประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ข้าราชการที่กำหนดนโยบายและกำกับดูแลพลังงาน หากจำเป็นต้องเข้าไปนั่งเป็นบอร์ดของบริษัทพลังงาน ไม่ควรรับผลประโยชน์จากธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด หากมีพฤติกรรมไปรับผลประโยชน์จากการนั่งเป็นบอร์ดทุกรูปแบบให้ถือว่ามีความผิดตามระเบียบราชการ อย่างนี้ คสช. สามารถดำเนินการได้ทันทีหรือไม่” นายอิฐบูรณ์กล่าว

สำหรับรายชื่อสมาชิกกลุ่มจับตาการปฏิรูปพลังงานไทยมีดังนี้ นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, นายประสาท มีแต้ม นักวิชาการด้านพลังงาน, นายไพบูลย์ ช่วงทอง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, นายศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ, นายสันติสุข โสภณศิริ มูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป, ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการด้านพลังงาน, น.ส.จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการรณรงค์กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตวุฒิสมาชิกกรุงเทพมหานคร และ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม อดีตวุฒิสมาชิกสมุทรสงคราม

สำหรับประชาชนที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นสามารถติอตามข้อมูลได้ที่เฟซบุ๊กกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย และ http://terwatch.wordpress.com